แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมะสวัสดีทุกคนค่ะ เป็นยังไงคะชีวิต
ผู้ร่วมปฏิบัติ: ยังทุกข์เหมือนเดิม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มาพบกันอีกก็ยังทุกข์เหมือนเดิม มันน่าที่จะทุกข์น้อยลง น่ากลัวจะยังไม่ได้เอาไปใช้ ที่พูด ๆ กันมานี่ยังไม่ได้ลองใช้ใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมปฏิบัติ: ลองดูบ้าง บางครั้งก็ลืม บางครั้งพอนึกขึ้นได้ก็ทำบ้าง บางอย่างมันก็ยังเคยชินเหมือนเดิม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ลองคิดดูก็แล้วกันว่า เราจะเอาเหมือนเดิม ๆ หรือเราจะเปลี่ยนเหมือนเดิมนี้ ให้เป็นเดิมที่ดีขึ้นด้วยการพัฒนาที่ถูกต้อง
ผู้ร่วมปฏิบัติ: อยากให้มันดีขึ้นน่ะครับ
อุบาสิกาคุณรัญจวน : อยากเฉย ๆ ไม่ได้ ความอยากไม่เคยช่วยใครให้สมปรารถนา ความสมปรารถนาจะเกิดขึ้นจากการกระทำเท่านั้น เพราะฉะนั้นหยุดอยาก แต่ลงมือทำ และคราวหน้าถ้าเราพบกันอีก จะได้ถามว่าชีวิตเป็นยังไงหวังว่าจะสดใสขึ้น เราเคยพูดกันถึงว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ขอยืมเขามา ใช่ไหมคะ เราก็จะเห็นทุกอย่าง อย่างที่เรายกตัวอย่างว่า ตา มันก็ไม่ใช่ของเรา แต่หนุ่ม ๆ สาว ๆ ไม่ค่อยเห็นเพราะยังกำลังอยู่ในวัยที่กระชุ่ม กระชวย ใช่ไหมคะ แข้งขาก็ไม่ใช่ของเรา ประเดี๋ยวขาดี ๆ มันก็ปวดมันก็บวม โรคหัวเข่า โรคปวด โรคกระดูกนี่ เป็นโรคที่บรรดานายแพทย์ต้องทำงานหนัก ทำงานหนักมากเพราะว่ามันเป็นเรื่องของสิ่งที่ต้องขอยืมเขามา มันก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้
ก็นึกดูสิคะว่าถ้าเราไม่ได้ขอยืมเขามา มันเป็นของเรา ทำไมเราไม่รักษาเอาไว้บังคับมันล่ะ บังคับมันว่าอย่าเป็นนะ ตาก็ให้ใสแจ๋ว หูก็ให้มีประสาทที่รับฟังได้อย่างดี ฟันก็ให้แข็งแรงทนทานขาวสะอาด เนื้อหนังมังสาก็ให้เปล่งปลั่งงดงามอย่างเดิม แข้งขาก็ให้ว่องไวกระฉับกระเฉง ทำไมเราไม่บังคับมันเอาไว้อย่างนี้ มองเห็นหรือยังว่ามันเป็นสิ่งที่เราขอยืมเขามา ถ้าหากว่าผู้ใดยอมศึกษามองดูในเรื่องนี้ ให้เห็นว่าชีวิตนี้เป็นสิ่งที่เราขอยืมเขามาจริง ๆ นะ ประโยชน์จะเกิดขึ้นทันตา คืออะไรรู้ไหม
“เราจะมีสติ จะมีความไม่ประมาท”
อย่างที่บางคนบอก ไม่เป็นไรหรอก ฉันยังอีกนาน ยังอีกนานกว่าจะตาย เพระว่าฉันเพิ่งเกิดมา อันที่จริงแล้ว เราก็รู้ว่าเรื่องคิวของความตายนี่ มันจัดคิวกันไม่ได้ใช่ไหมคะ ว่าไม่เหมือนอย่างคิวเข้าโรงเรียน คิวทำงาน บางทีมันยังมีโอกาสกลับ แต่คิวความตายนี่ไม่แน่ ลืมตามาหายใจไม่กี่แป๊บไปละ ไม่ทันถึงชั่วโมงสองชั่วโมง ไปแล้ว กำลังน่ารักน่าเอ็นดู สามขวบสี่ขวบไปแล้ว ส่วนที่ตั้งห้าสิบหกสิบหรือว่า แปดเก้าสิบไม่น่าดูเลย คร่ำเครอะเงอะงะอยู่นั่นแล้ว ไม่ไปซักที ดังนั้นไอ้เรื่องคิวนี่มันก็ไม่แน่ เราจะเกิดความมีสติขึ้นจะไม่ประมาทต่อชีวิต เพราะฉะนั้นที่เคยทำอะไรอย่างตามใจที่เหมือนเดิม ๆ น่ะ จะต้องเริ่มรู้สึก ไม่ได้ละ ต้องแก้ไข เพราะถ้าเราไม่แก้ไขเดี๋ยวนี้ ไม่รู้ว่าโอกาสนี้จะยังมีอีกสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นอันนี้กฎเกณฑ์ของชีวิตที่สำคัญอันนึงน่าจะศึกษาเพราะว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ต้องยืมเขามา เมื่อยังยอมรับไม่ได้ ยังไม่สามารถจะสร้างสติเกิดขึ้นให้ได้กับสิ่งนี้ ก็ต้องนึกถึงกฎเกณฑ์ของชีวิตอีกอันนึงว่า ชีวิตนี้คือการต่อสู้ อย่างที่จเลิศเคยพูดใช่ไหมว่า ชีวิตคือการต่อสู้ เอาล่ะ
ถ้าเรายอมรับว่าชีวิตนี้คือการต่อสู้ ก็ดีแล้ว แต่จงต่อสู้ให้ถูกทาง ให้รู้ว่าอะไรคือตัวจุดเป้าหมายของการต่อสู้ อะไรคือ ศัตรู ที่เรากำลังต่อสู้อยู่ รู้ไหมคะ อะไรคือศัตรูที่มนุษย์ทั้งหลายกำลังต่อสู้อยู่
ผู้ร่วมปฏิบัติ: ต่อสู้กับกิเลสตัณหา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นั่นล่ะ เป็นศัตรูตัวร้ายกาจ เป็นศัตรูที่มีพลังอย่างยิ่งเลย แต่มนุษย์เราไม่รู้ เรานึกว่าเราสู้กับคู่แข่งขัน คนนี้แข่งขันกันทีไรเรียงคู่กันมาประเดี๋ยวมันก็แย่งที่ ๑ ประเดี๋ยวเราก็ได้ที่ ๒ สลับกันไปเรื่อย ถึงเวลาเข้าทำงาน ก็มาแย่งสองขั้น แย่งตำแหน่งกันเรื่อย มารักผู้หญิงเผอิญมารักคนเดียวกันอีกแย่งกันไปเรื่อย ที่จริงเปล่าเลยคู่ต่อสู้ที่สำคัญที่สุด หรือ ศัตรูที่สำคัญที่สุดนั่นแหละ คือสิ่งที่มันอยู่ในจิตของเรา เราจะต้องต่อสู้ด้วยความมีสติ ถ้าเรามองเห็นว่าสิ่งนี้ยืมเขามาแล้วจะไปต่อสู้เพื่ออะไร ที่เราต่อสู้เพราะเรานึกว่าของเรา ใช่ไหมคะ เราจึงพยายามต่อสู้เพื่อให้ฉันได้มา เพื่อให้ฉันได้มา แท้จริงมันไม่ใช่ของเรา พอรู้สึกอย่างนี้ สติ เกิดขึ้น แล้วก็จะรู้ว่าคู่ต่อสู้ที่แท้จริงนั้นน่ะ มันอยู่ในนี้ มันอยู่ข้างใน ภายในร่างกายยาววาหนาคืบ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องต่อสู้คือตัวรัก ตัวเกลียด ตัวชัง ตัวหลงทั้งหลายที่มันอยู่ เราจะต้องต่อสู้กับมันให้ชนะ
ผู้ร่วมปฏิบัติ: จริง ๆ ใครรักครับอาจารย์ครับ ตัวเรารัก ตัวเราหลง หรือจิตรักจิตหลง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือ อวิชชา ที่มันครอบงำจิต จิตที่ไม่เคยศึกษาไม่เคยฝึกฝนที่จะให้รู้ว่าความรู้ที่ถูกต้องคืออะไร มันก็เลยคิดไปว่า สิ่งนี้จริง สิ่งนั้นจริง จะต้องเอาให้ได้ ไม่มองเห็นว่า ชีวิตนี้มันเป็นสิ่งที่ขอยืมเขามา ถ้าเราเริ่มมองเห็นก็เรียกว่าอวิชชาค่อย ๆ จางคลายเบาบางลง ปัญญาค่อย ๆ เกิดขึ้น เราก็ต้องหาวิธีที่จะฝึกปรือด้วยเครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่าง ด้วยศิลปะหลายอย่างนี่แหละ เมื่อการที่รู้ว่าชีวิตคือการต่อสู้ เพื่อสู้กับไอ้สิ่งที่มันรบเร้าอยู่ข้างใน มันกระตุ้นให้เราร้อนให้เราดิ้นรนอยู่ข้างใน ให้รู้อันนี้ให้มากขึ้น แล้วเราก็ต้องสู้ สู้เพื่อสละ นึกออกหรือเปล่า สละมันออกไป “จาคะ” ทำทาน ทำทานกันได้ทั้งนั้นใช่ไหมคะ เราทำทานกันมามาก แต่เราไม่เคยนึกว่าทานที่สำคัญ เราควรจะทำแล้วไปทานที่สูงสุดนี่คืออะไร คือ ทำทานความโกรธ บริจาคมันไปซะ ทำทานความโลภ บริจาคมันไปซะ ทำทานความหลง บริจาคมันไปซะ บริจาคมันออกไปเสีย ได้มากเท่าไหร่ ใครเป็นคนได้ ตัวเรา ผลของทานนั้นอยู่ที่ตัวเรา เราจะมีแต่ใจที่เบาสบายขึ้น
แต่ถ้าหากเราไม่ยอมให้ บริจาคไปเถอะเงินทอง เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน แต่ว่าในใจไม่ยอม ไม่ยอมที่จะยอมอะไรสักอย่างเดียว ข้างนอกก็บริจาคไป ข้างในนี่ก็แน่น แน่นด้วยความจะเอา แน่นด้วยความร้อน แน่นด้วยความอยาก แม้จะมีความปิติยินดี ยกย่อง บริจาคมากจริงนะ มีบุญจริงนะ ก็ชั่วแป๊บเดียว ประเดี๋ยวก็เกิดความร้อนเพราะไม่สามารถจะบริจาค โลภะโทสะ โมหะ ออกไปได้แล้ว เพราะฉะนั้นการทำทานจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้ามีโอกาสเราคงจะคุยกันต่อไป ในเรื่องของการบริจาคทานที่ถูกต้อง ที่จะได้ถือว่าเป็นทานอันสูงสุด ทีนี้ถ้าเรารู้การต่อสู้ คือต่อสู้ด้วยวิธีนี้ ก็จะเป็นการต่อสู้ที่ถูกต้อง
แล้วถ้ากฎเกณฑ์ของชีวิตอีกข้อหนึ่งที่อยากจะฝากให้รู้ไว้ก็คือว่า ใครไม่รู้เคยบอก วันก่อนนี้ จำไม่ได้ที่บอก ชีวิตคือการเดินทาง นี่แหละ ชีวิตคือการเดินทาง แต่การเดินทางของชีวิตในที่นี้ แน่นอนที่สุด ไม่ได้หมายถึงการเดินทางทางกายใช่ไหมคะ ขาของเรามันก็พาเราไปโน่นไปนี่อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้หมายถึงการเดินทางทางกายอย่างนี้ แต่มันหมายถึงการเดินทางทางจิต ที่มันรวดเร็วว่องไว และก็ไปไกล ไกลได้ยิ่งกว่าการเดินทางทางกายอีก นั่งอยู่ที่นี่ ไม่รู้ว่าเดินทางหรือเปล่า เดินทางไปไหนหรือเปล่าขณะที่นั่งอยู่ที่นี่ เราไม่รู้ใช่ไหมคะ ว่าใจเราเดินทางไปไหน และก็ เดินกันไปรอบโลก ไปไม่รู้จักกี่ครั้ง ไม่รู้จักกี่เที่ยวในวันหนึ่ง ๆ เพราะฉะนั้นชีวิตคือการเดินทาง แต่ไม่ใช่เดินทางอย่างนั้น เพราะถ้าเดินทางอย่างนั้นยิ่งทำให้ใจเหนื่อย ถ้าเดินทางแบบที่ว่า เหนื่อย วุ่นวาย เพราะมันเดินทางด้วยความอยาก เดินทางด้วยความโกรธ เดินทางด้วยความหลง มันเดินทางอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เดินทางด้วย โลภะ ด้วยโทหะ ด้วยโมหะ มันก็ทำให้จิตนี้ดิ้นรน
เพราะฉะนั้นการเดินทาง ถ้าชีวิตคือการเดินทางที่ถูกต้อง ก็คือว่าต้องเดินทางให้ถึงที่สุดของความดิ้นรน
เดินทางให้มันถึงที่สุดของความดิ้นรน ให้รู้ว่าหนทางที่จะสุดแห่งความดิ้นรนนั้นคืออะไร และก็คืออย่างไร ซึ่งมีหลายวิธีนะคะ แต่วันนี้เราอยากจะดูสักวิธีนึงว่า วิธีของการเดินทางเพื่อให้สิ้นสุด เพื่อให้ชีวิตนี้เป็นชีวิตที่ดำเนินไปอย่างประสานกลมกลืนกันของกายกับใจ ที่มันจะต้องทำงานด้วยกัน และก็ให้ระบบของชีวิตนั้นดำเนินไปอย่างต่อเนื่องถูกต้อง
ก็อยากจะขอชวนให้มองดูรูปนี้นะคะ แล้วก็เชื่อไหม คนที่เขียนภาพนี้คือใคร ไม่น่าเชื่อ เป็นฝรั่งนะคะ เป็นฝรั่งอเมริกัน ชื่อว่า เอมมานูเอล เชอร์แมน (Emanuel Sherman) เป็นชาวอเมริกัน เขาบอกว่าเป็นศิลปินชาวอเมริกัน และก็บางคนบอกว่าอยู่ ฮอลลีวูดด้วยนะ ทำงานที่ฮอลลีวูด พอเอ่ยชื่อฮอลลีวูด เราก็นึกวิลิศมาหราเมืองมายาแค่ไหน แต่ว่าเอมมานูเอล เชอร์แมน กลับมาสนใจ เขียนภาพธรรมะ เขาเป็นคนที่สนใจในทางธรรมะมาก แต่ว่าอะไรเป็นเหตุบันดาลใจ อันนี้บังเอิญไม่ทราบประวัติอย่างละเอียดของเขานะคะ แล้วเขาก็เดินทางมาเมืองไทย แล้วก็มีผู้เล่าว่าแล้วเขาก็ตั้งใจจะมาที่นี่ แต่เผอิญมาไม่ทันถึง เพราะเขาไปอยู่ที่เกาะพงัน แล้วก็เกิดเป็นไข้แล้วก็เสียชีวิตที่เกาะพงัน หลังจากที่เอมมานูเอล เชอร์แมนเสียชีวิตไป มีเพื่อนฝูงบางคนไปค้นดูว่าเขามีทรัพย์สมบัติอะไรบ้าง ก็ไม่มีอะไรเท่าไหร่ แต่พบภาพเก่า ๆ คือ ภาพที่เขาเขียนเอาไว้ ก็ไม่ใช่เก่า แต่เก็บไว้ในหีบเก่า ๆ เยอะเชียวหลายภาพ ก็นำมาถวายเจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาสที่สวนโมกข์
พอท่านอาจารย์ท่านมองเห็นภาพต่าง ๆ ของเอมมานูเอล เชอร์แมน ที่ตั้ง ๆ อยู่ที่เห็นกันอยู่นี่คะ เป็นถาพของเอมมานูเอล เชอร์แมนเขียน ท่านอาจารย์ท่านก็บอกว่า มีคุณค่าสูงยิ่งเลย ใครจะมาขอซื้อเท่าไหร่ ๆ ไม่ขายหรอก เพราะความหมายของชีวิต ความหมายของธรรมะ ที่ซ่อนอยู่ข้างหลังภาพนี่มีค่าสูงสุด เราจะประเมินหรือประมาณกับราคาค่างวดอะไรไม่ได้เลย นี่ก็เป็นภาพ ๆ หนึ่งที่เขาเขียน ก็ลองดูก็แล้วกันว่าความสนใจในธรรมะ ความเข้าใจในธรรมะ และก็เชื่อว่าการปฏิบัติธรรมะของเอมมานูเอล เชอร์แมนนี้มีมากเพียงใด เขาบอกว่า อยู่ในปากงู ให้เหมือนลิ้นงู อยู่ในปากงูให้เหมือนลิ้นงู (Sit like a tongue in the Serpent’s Mouth) อยู่ในปากงูให้เหมือนลิ้นงู เราทุกคนรู้จักงู ใครอยากได้งูเป็นเพื่อนเล่น ไม่มีใครอยากเข้าใกล้งู ไม่อยากได้งูเป็นสัตว์เลี้ยงเพราะอะไร กลัว กลัวอะไร อันตรายของงูอยู่ที่ไหน พิษของงูอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่เขี้ยวในปากงูใช่ไหมคะ แล้วเคยคิดบ้างไหมว่า ลิ้นที่อยู่ในปากของงูนี่ ทำไมถึงอยู่ได้อย่างสุขสบาย ไม่เคยปรากฏว่าลิ้นงูถูกพิษของงูแล้วก็เน่าเปื่อยสลายไปในปากงูเลย
ผู้ร่วมปฏิบัติ: ลิ้นงูมันไม่มีพิษหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็กำลังถาม ว่าลิ้นงูนี่มันอยู่เสียดสีกับเขี้ยวงู ซึ่งมีพิษใช่ไหมคะ แต่ทำไมล่ะมันจึงไม่ถูกพิษงู ลิ้นงูนั่นมันจึงไม่ถูกพิษงูจนกระทั่งเน่าเปื่อย พองแล้วก็เสื่อมสลายไป เพราอะไร นี่เอมมานูเอล เชอร์แมน เขาก็เขียนรูปพระพุทธรูปขึ้นที่ปากพิษงู เราก็จึงควรจะเข้าใจความหมาย ประการแรกที่ เอมมานูเอล เชอร์แมนอยากจะบอก อยากจะบอกเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งไม่เลือกชาติศาสนา เพื่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายให้รู้ว่า โลกมนุษย์ที่เราอยู่กันทุกวันนี้มันเปรียบได้กับปากของงู มันเปรียบได้กับปากของงูซึ่งเต็มไปด้วยพิษร้ายอย่างยิ่ง มนุษย์ในโลกนี้ถูกขบกัดด้วยงูอยู่ทุกวัน รู้หรือเปล่า รู้ไหมว่าถูกขบกัด
ผู้ร่วมปฏิบัติธรรม: คงใช่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ยังจะมีการคงอยู่อีกเหรอคะ ยังไม่ใช่จริง ๆ อีกเหรอคะ ที่เราเรียกว่าถูกขบกัดด้วยพิษ พิษของงูที่อยู่ในโลกนี้ ที่เขาเปรียบปากงูเหมือนกับโลกที่เราอยู่ อะไรล่ะ ที่เราถูกขบกัด ที่เราถูกขบกัดคืออะไร คืออะไรที่เป็นพิษของการขบกัดที่มันเกิดขึ้นแก่มนุษย์ คือสิ่งที่เรียกว่า “ความทุกข์” ใช่ไหม ความทุกข์ ความไม่สบายใจ นี่แหละคือผลของการถูกขบกัด ใช่หรือเปล่า พิษที่วุ่นวายเดือดร้อน ระส่ำระสายทุรนทุราย กระอักกระอ่วน กังวลขมขื่น เจ็บปวดทรมาน ผิดหวัง ไม่สมปรารถนาด้วยประการต่างๆ และก็ทำให้จิตนี้เดี๋ยวฟู เดี๋ยวแฟบห่อเหี่ยวซัดส่ายไปมา ตูม ๆ ตาม ๆ อยู่ตลอดเวลา แน่นอึดอัดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาว่างสบายเลย นี่แหละท่านเรียกว่า มนุษย์นี้ถูกพิษขบกัดอยู่ตลอดเวลา แต่ไอ้พิษที่มันขบกัดนี่ พิษอันนี้คืออะไร ใครมาพ่นพิษใส่ “ตัวเราเอง”
ถ้าหากว่ากายของเราถูกงูกัด นั่นก็พิษของงูมันก็เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย เพราะสถานที่นั้นมีงูมาก นี่พูดถึงด้านกายนะคะ และก็อาจจะระมัดระวังไม่เพียงพอก็ถูกพิษงู แต่ถ้าจิตนั้นเกิดความทุกข์เดือดร้อนวุ่นวายดิ้นรน นั่นก็เป็นเพราะเหตุว่า ยอมให้กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำจิต ไม่สามารถจะบริจาคเป็นทานออกไปได้ มันก็ขบกัดให้จิตนี้เจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา เพราะอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง และก็ถูกขบกัดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอำนาจของความโกรธ ความโลภ ความหลงนี้ แล้วมันก็จะโยงไปถึงสิ่งที่ให้มนุษย์เดี๋ยวก็ดีใจเสียใจ คือ โลกธรรม ๘ เราจะยังไม่พูดกันในตอนนี้ เพราะเวลาของเรายังมีไม่เพียงพอ เราก็จะพูดกันถึงแต่เพียงว่า นี่แหละคือสิ่งที่ท่านเรียกว่า “เป็นพิษ” พิษที่ถ้าหากว่าคนใดยอมใจให้ตกเป็นทาสของกิเลส แล้วก็เลยยึดมั่นติดมั่นอยู่กับ โลกธรรม ๘ โลกธรรม ๘ ก็ฝ่ายที่พึงพอใจ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สิ่งที่ไม่พึงพอใจไม่อยากได้ ก็ตรงกันข้าม เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ อยากได้แต่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เอามา เอามาให้ฉัน เอามามาก ๆ แต่พอถึงเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ปั๊บ ไล่ไป ไปเป็นของคนอื่น อย่ามาเป็นของเรา ถ้ายอมรับไม่ได้ว่าชีวิตนี้ยืมเขามาใช่ไหม ลืมไป นี่ขาดสติ ปล่อยชีวิตตามความเคยชินก็ถูกกัดตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น เอมมานูเอล เชอร์แมนเขาจึงเขียนรูปเอาไว้ให้เห็นว่า รูปของธรรมะ รูปพระพุทธเจ้า หรือรูปของพระพุทธรูปก็ เท่ากับเป็นสัญลักษณ์แทนถึง ธรรมะทำไมลิ้นงูมันจึงไม่ถูกเขี้ยวพิษของงู มันจึงอยู่ได้อย่างปกติ ไม่เคยถูกขบกัดเลย เพราะมันมีธรรมะนั่นเอง มันมีธรรมะ เป็นธรรมประจำใจ ธรรมประจำใจนั้นคืออะไร ก็คือมันศึกษาอยู่เสมอ หากจะใช้ว่า “มัน” ลิ้นงูก็เป็นตัวแทนของชีวิตหรือของจิต ที่ควรจะศึกษาและรู้อยู่เสมอว่า แท้จริงแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ มันเกิดทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ในส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์ ที่พึงพอใจก็ตาม หรือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ที่เป็นฝ่ายอนิฏฐารมณ์ ที่ไม่พึงพอใจก็ตาม มันล้วนแล้วแต่เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง คือมันมีแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ได้ลาภมาแล้วมันก็หมดไป เสียงสรรเสริญมาน่าพึงพอใจ แล้วมันก็ละลายหายจางไปในสายลมไม่ช้าคนก็ลืม
เพราะฉะนั้นลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี มันก็มีการเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็เสื่อมลาภเสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ฉะนั้นทางลบก็ดี ทางบวกก็ดี ที่เกิดขึ้น มันเป็นแต่เพียงปรากฏการณ์ของธรรมชาติ
ปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เช่นอะไร ถ้าภายนอกนะคะ แดดออก ฝนตก ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด เหล่านี้คือ ปรากฏการณ์ของธรรมชาติภายนอกที่เป็นรูปธรรม ที่เรามองเห็น ส่วนปรากฏการณ์ภายในที่เกิดขึ้นในจิตคืออะไร ความรุ่มร้อน จิตที่มันเป็นทุกข์ที่มันระส่ำระสายทุรนทุราย มันหวั่นไหว มันเป็นทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา นั่นก็คือ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในจิต แต่มันตลอดเวลาหรือเปล่าคะ ร้อนอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า ถ้าขืนร้อนอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมงนะ ไหม้เป็นจุณกันไปหมดแล้ว ไม่ได้มายิ้มย่องผ่องใสกันอยู่อย่างนี้ แต่นี่มันมีเวลาหยุด ใช่ไหมคะ มันเกิด แล้วก็ดับ ๆ เป็นปรากฏการณ์ เหมือนอย่างน้ำท่วม ถ้ามันท่วมอยู่ตลอดเวลา ป่านนี้เราก็ไม่ได้มานั่งอยู่อย่างนี้อีกเหมือนกัน โรงเรียนหินนี่ มันก็คงไม่มีให้เรามานั่งอยู่เหมือนกัน
นี่เห็นไหมคะ ทุกอย่างเป็นแต่เพียงปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอก และสิ่งที่เกิดขึ้นข้างใน แต่สิ่งที่เราควรจะมองกันมากที่สุดคืออาการที่เกิดขึ้นข้างในเรา ควรจะมองให้มากที่สุด และก็กลัวให้มากที่สุด เพื่อที่จะให้ชีวิตของเรานั้นแก้ไขชีวิตของเรานั้น ให้เป็นชีวิตที่สามารถอยู่ได้ย่างกลมกลืนกับกฎของธรรมชาติ ถ้าผู้ใดสามารถทำได้อย่างนี้ เอมมานูเอล เชอร์แมน เขาก็บอกว่า ผู้นั้นสามารถสร้างและพัฒนาดวงตาแห่งธรรมะให้เกิดขึ้น เห็นไหมคะ เขาเขียนเป็นรูปเด็กผู้หญิงพนมมือ แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ความที่ไม่มีความยึดมั่นอยู่ในตน อยู่ในฉัน ไม่มีมานะ ยึดมั่นถือตัวถือตน เพราะมองเห็นแล้วว่า ทุกสิ่งมันมีแต่เพียง เกิด และก็ดับ เป็นแต่เพียงปรากฎการณ์ของธรรมชาติ และแท้ที่สุด ที่จริงที่สุดนั้น ให้สิ่งนี้ชีวิตนี้เป็นแต่เพียงสี่งที่ขอยืมเขามา ใช่ไหม จะไปยึดมั่นเอะไรกับมันนักหนา รู้จักใช้มันให้มันเกิดประโยชน์ที่สุด ให้ถูกต้องที่สุด แล้วก็ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความสุขสงบเย็นแก่ชีวิตนี้
ผู้ร่วมปฏิบัติธรรม: ให้คิดว่า มันเกิดแล้วดับ ก็จะสบายใจขึ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ฝึกเช่นนั้น ฝึกเช่นนั้นตามที่พูดมา ใคร่ครวญช้า ๆ แล้วเสร็จแล้วเราก็จะเข้าใจได้ แล้วก็จะมีชีวิตที่สงบเย็นยิ่งขึ้น
ธรรมะสวัสดีนะคะ