แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ ธรรมสวัสดีทุกคนนะคะ วันนี้เราก็ได้มาอยู่กับชีวิตธรรมชาติ มีความรู้สึกยังไงอยู่กับธรรมชาติอย่างนี้ สบาย แล้วยิ่งตอนนี้เป็นตอนที่อากาศโปร่ง เราเริ่มเวลารุ่งอรุณแจ่มใสนะคะ ลองมองไปทางข้างหลังของเราเห็นอะไรบ้าง สระน้ำ นอกจากสระน้ำแล้วเห็นอะไรอีก มีต้นมะพร้าว
ต้นมะพร้าวอันที่จริงก็เป็นต้นไม้ที่เรารู้จักดีอยู่แล้วตามธรรมดาใช่ไหมคะ แต่ว่ามีใครที่มีความเข้าใจต้นมะพร้าวต้นนี้เป็นพิเศษยังไงบ้างไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ได้ยินบอกว่าเป็นสระนาฬิเกร์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นี่เราเรียก มะพร้าว พร้าวนาฬิเกร์ ทางใต้มะพร้าวนี่เขาเรียกว่า นาฬิเกร์ แต่ว่านาฬิเกร์ในที่นี้ก็เข้าใจว่ามะพร้าวนี่แหละ และก็สำหรับที่ตรงนี้เราเรียกว่า สระนาฬิเกร์ เป็นที่ที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านสร้างขึ้นโดยเฉพาะเพื่อที่จะให้เป็นที่ๆ ใครๆ มาก็จะได้ลองศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม หรือว่าเป็นธรรมะอันสูงสุด เกี่ยวกับคำว่า นิพพาน
เราพูดถึงเรื่องของนิพพานกันมาสองสามครั้งแล้วใช่ไหมคะ วันนี้เราก็จะพูดถึงเรื่องของสระนาฬิเกร์ ที่มีความหมายเกี่ยวกับ นิพพาน อันที่จริง สระนาฬิเกร์นี่มันมาจากบทเพลงกล่อมเด็กของชาวภาคใต้
“พร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง
ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง
กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ”
แล้วก็ผู้เฒ่าผู้แก่สมัยโน้นเขาก็จะกล่อมลูกหลานด้วยบทเพลง มะพร้าวนาฬิเกร์ อย่างที่ว่านี้
ทีนี้เมื่อมาใคร่ครวญดูก็จะเห็นว่า บทเพลงกล่อมเด็กนี่แม้จะเป็นเพลงที่เขากล่อมให้เด็กเล็กๆ ฟัง แต่ผู้ใหญ่โบราณของเรานี่มีความรู้และก็มีความเข้าใจในธรรมะลึกซึ้งเชียวแหละ ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นจึงได้ชวนใจของผู้ฟังหรือแม้แต่เด็กๆ ก็ให้คุ้นเคยว่าการที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ให้ร่มเย็นเป็นสุขได้นั้น จะต้องรู้จักทำใจของเรายังไง ถึงเด็กๆ ยังไม่รู้จักทำใจ แต่เมื่อฟังไปๆ ก็คงจะคุ้นขึ้นๆ ทีละน้อย
“พร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง”
“โนเน” ก็รู้แล้ว ก็หมายถึง โดดเดี่ยว พร้าวนาฬิเกร์ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง อยู่โดดเดี่ยวกลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณา หรือควรนำมาพิจารณาก็มีคำว่าอะไรบ้าง
“พร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียว โนเน” ต้นเดียวอันหนึ่ง
อันที่สองก็ “ทะเลขี้ผึ้ง”
อันที่สาม “ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง”
และก็อันที่สี่ “กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ” ผู้พ้นบุญนี่เป็นจุดที่สี่ หรือประเด็นที่สี่ที่เราควรจะใคร่ครวญ
อันแรกก็อยากจะลองให้นึกดูว่า “ทะเลขี้ผึ้ง” มันหมายความว่าอะไร นี่ดูสิ น้ำนี่มองดูก็ใสสะอาดแล้วก็เยือกเย็นผ่องใสน่าจะสบาย แต่ท่านก็บอกว่า ในนี้ก็เปรียบเหมือนกับว่า เป็นทะเลขี้ผึ้ง
ผู้ดำเนินรายการ: ทำไมต้องทะเลขี้ผึ้งด้วยครับ ทะเลอื่นไม่ได้หรือ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ทะเลขี้ผึ้งนี้มันก็ต่างจากทะเลอย่างอื่น เพราะทุกคนรู้จักขี้ผึ้งใช่ไหม เรารู้จัก เทียน เทียนไข เทียนขี้ผึ้ง ใช่ไหมคะ ขี้ผึ้งนี่ พอเวลาที่เราทิ้งมันไว้เฉยๆ มันเป็นยังไง อ่อนหรือแข็ง มันแข็ง เมื่อมันแข็งแล้วมันมีความเย็นกระด้าง ขี้ผึ้งนี่มันแข็งมันเย็นมันกระด้าง คำว่ากระด้าง เพราะเราจับแล้วมันไม่อ่อนนุ่ม แต่ว่าบางทีเมื่อมันถูกความร้อนเข้า ขี้ผึ้งนี่ก็ทำไม ละลาย ละลายเป็นน้ำ มันก็กลายเป็นของเหลว ในเมื่อมันเป็นของเหลว มันก็สามารถที่จะถ่ายเทได้ และก็เมื่อของเหลวอันนี้ มันถูกปล่อยอยู่ มันก็จะมีความเย็น มีความอ่อนโยน ฉะนั้นทะเลขี้ผึ้งนี่ จึงมีความหมายได้ทั้ง ร้อนก็ได้ เย็นก็ได้ แข็งก็ได้ กระด้างก็ได้
ชีวิตของคนเราที่อยู่ในโลกนี้ ก็อยู่กับสิ่งที่เรียกว่าเป็นสิ่งคู่ ประเดี๋ยวก็อ่อนโยนนุ่มนวล ประเดี๋ยวก็แข็งกระด้างหยาบไม่น่าดู ประเดี๋ยวก็ละเอียด ประณีต ประเดี๋ยวก็หยาบ อย่างนี้เป็นต้น เหมือนอย่างกับที่ว่า รูปของ เอ็มมานูเอล เชอร์แมน จำได้ไหม อยู่ในปากงูให้เหมือนอย่างลิ้นงู นี่ทะเลขี้ผึ้งนี่ถ้าหากว่า ไม่ระมัดระวังก็อาจจะเกิดเป็นพิษขึ้นในใจก็ได้ เพราะว่า ตอนนี้ต้องการอ่อนนุ่มนวล อ้าวตอนนี้มันเกิดมาแข็งกระด้างเสียแล้ว เพราะฉะนั้นก็อาจจะชอบหรือไม่ชอบ ฉะนั้นก็บอกได้ว่า ชีวิตของคนนี่ ที่อาจจะเปรียบได้กับ สำหรับในที่นี้ ก็พร้าวนาฬิเกร์ พร้าวนาฬิเกร์มันต้นเดียวโนเนอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง โดยการเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับทะเลขี้ผึ้ง ก็เปรียบเหมือนกับโลกที่เราอยู่ เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายแต่ละคน แม้เราจะนั่งรวมกันแต่เราก็มีชีวิตของชีวิตของเรา เป็นหนึ่ง เป็นหนึ่ง เป็นหนึ่ง แยกกันไป แยกกันไป แยกกันไป แต่ละชีวิต แต่ละชีวิตนี่ ก็จะต้องดูแลจัดการกับชีวิตของตนเอง
ทีนี้ถ้าชีวิตนี้เมื่ออยู่กลางทะเลขี้ผึ้งอย่างนี้ ทำอย่างไรจึงจะให้ชีวิตนี้มีความสงบเย็น ทำอย่างไรจะให้ชีวิตนี้สงบเย็นได้ นั่นก็คือว่า ต้องรู้จักทะเลขี้ผึ้งให้ถูกต้อง ต้องรู้จักทะเลขี้ผึ้งให้ชัดเจน
ทะเลขี้ผึ้งนี้ที่ประเดี๋ยวก็ร้อนประเดี๋ยวก็เย็น ประเดี๋ยวก็เหลว ประเดี๋ยวก็แข็ง ประเดี๋ยวก็อ่อน ประเดี๋ยวก็กระด้าง เราควรจะมองดูทะเลขี้ผึ้งในลักษณะที่เกิดความเข้าใจให้ถูกต้อง นั่นก็คือว่า อะไรล่ะที่ประเดี๋ยวก็ทำให้จิตของเราสบายพอใจ ประเดี๋ยวก็ทำให้จิตของเราไม่ชอบใจไม่ถูกใจ มันอะไรล่ะ เราควรจะต้องมองดูอันนี้
ถ้าเราจะหยิบขึ้นมาดูง่ายๆ มันก็เหมือนกับสิ่งที่เรียกว่า “โลกธรรม ๘”
ถ้าเราได้ลาภ ได้ยศ ได้รับฟังคำสรรเสริญ เราก็มีความสุข พอใจ และก็อยากได้สิ่งเหล่านี้ แต่เมื่อใดที่ลาภที่เคยได้ เปลี่ยนเป็นเสื่อมลาภ ยศที่เคยมี เปลี่ยนเป็นเสื่อมยศ คำสรรเสริญยกย่องที่เคยได้ยิน เปลี่ยนเป็นคำนินทาว่ากล่าว เพราะฉะนั้นความสุขที่เคยมีก็เปลี่ยนเป็นความทุกข์ และก็ผลักออกไป ผลักออกไปไม่เอา ไม่ต้องการ ใช่ไหมคะ คนจะบอกไม่ต้องการไม่อยากได้ แต่ว่าชีวิตในโลกนี้ ใครจะหลีกเลี่ยงจากของสิ่งคู่นี้ได้ มันเป็นธรรมดาโลกที่ต้องพบอยู่เป็นประจำ ประเดี๋ยวมันก็มาด้วยความพอใจ นำความพอใจมาให้ ประเดี๋ยวมันก็มา ด้วยการนำความไม่พอใจมาให้ ถ้าหากว่าบุคคลผู้ใดไม่รู้จักรักษาศีล ยอมจิตให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของโลกธรรม ๘ พอชอบ น่ารักน่าชมมา ก็ผวาเข้าไปหา กอดรัดยึดมั่นถือมั่นเอาไว้เหนียวแน่นไม่ยอมปล่อย พอถึงเวลาที่มันจางคลายหายไป เกิดความทุกข์ เกิดความทุกข์เพราะไม่รู้ อะไรที่ไม่น่ารัก ไม่น่าชม น่าเกลียดมาอยากจะผลักออกไป เพราะฉะนั้นอันนี้ ท่านจึงบอกว่า ต้องทำใจให้รู้ ต้องทำใจให้รู้ ถ้าสมมติว่ารู้ได้ว่าสิ่งที่น่ารักน่าชมมันก็อย่างนั้นเอง ทำไมถึงอย่างนั้นเอง เพราะอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: เดี๋ยวมันเกิด เดี๋ยวมันก็ไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ประเดี๋ยวมันก็เกิด ประเดี๋ยวมันก็ดับ นี่แสดงว่าเข้าใจมากขึ้นแล้ว ประเดี๋ยวมันก็เกิดประเดี๋ยวมันก็ดับใช่ไหม ประเดี๋ยวมันก็มา ประเดี๋ยวมันก็ไป มันไม่เคยมีอะไรที่อยู่คงที่เลยสักอย่างเดียว มันจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนี้ตลอด เพราะฉะนั้นถ้าพอเวลาที่อะไรน่าเกลียดไม่น่าดูผ่านเข้ามา ก็เห็นเป็นธรรมดาอีกเหมือนกัน เพราะอะไร เดี๋ยวมันก็มา เดี๋ยวมันก็ไป ไม่เคยอยู่นานเลย อะไรที่ดีมันก็เท่านั้นเอง อะไรที่ไม่ดี มันก็เท่านั้นเอง มันมีแต่ความเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด เพราะฉะนั้นถ้าเราปล่อยใจนี้ให้ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่มันผ่านเข้ามาทั้งดีและทั้งไม่ดี ทั้งชอบและทั้งไม่ชอบ จิตนี้ก็ต้องเต้นอยู่ตลอดเวลา ใช่ไหมคะ เต้นขึ้นเต้นลง เรียกว่า กระโดดขึ้นกระโดดลง หรือว่าซัดซ้ายซัดขวาไม่มีวันได้อยู่นิ่งได้ ถ้าจะเปรียบก็อาจจะเหมือนกับว่า ถูกเขาตบ เขาตบซ้ายตบขวาๆ จนแก้มนี่ทั้งแดงทั้งร้อนทั้งช้ำ และก็ยังไม่รู้สึก ตัวก็เซไปเซมาก็ยังไม่รู้สึกอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าไม่อยากเป็นอย่างนี้ ก็ต้องฝึกใจ ให้รู้จักว่า มันเป็นสิ่งธรรมดา มันก็เป็นของธรรมดา มันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าหากทำได้อย่างนี้เองเมื่อไหร่ ก็เท่ากับว่าสามารถที่จะอยู่ในโลกนี้ได้เช่นเดียวกับลิ้นที่อยู่ในปากงูโดยไม่ถูกพิษงูเลย
ผู้ดำเนินรายการ: ก็อยู่กลางทะเลขึ้ผึ้งได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะฉะนั้นที่พูดต่อไปนั่นท่านก็บอกว่า พร้าวนาฬิเกร์ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกก็ไม่ต้อง ก็อยู่กลางแดดกลางฝนใช่ไหมคะ ฝนตกธรรมดาก็ต้องเปียก ถ้าสมมติเราอยู่กลางฝน ฝนตกก็ต้องเปียก แต่ความเปียกนี่มันเปียกเพียงแค่ไหน เปียกเพียงข้างนอก เปียกเพียงกาย เปียกเพียงเสื้อผ้า ผมเผ้า มันก็เปียกเพียงแค่นี้ แต่ทว่าจิตนั้นมั่นคง ไม่หวั่นไหว อะไรมาดีก็เท่านั้น อะไรมาชั่ว มันก็เท่านั้น จิตนี่อยู่นิ่งคงที่ แต่ถ้าหากว่าควรจะจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดความถูกต้องก็จัด จัดอย่างเต็มที่ด้วยสติปัญญาของเราอย่างสุดฝีมืออยู่เสมอเลย เพราะฉะนั้นก็เรียกว่า ฝนตกก็ไม่เปียก เปียกแต่ข้างนอก แต่จิตนั้นยังคงเยือกเย็นผ่องใส ฟ้าร้อง หรือแม้แต่ฟ้าผ่า ก็ไม่ถึง ฝนตกก็ไม่ต้อง ฟ้าร้องก็ไม่ถึง อันที่จริงหูไม่หนวกก็ต้องได้ยิน หูไม่หนวกนี่เสียงฟ้าร้องก็ต้องได้ยิน เพราะบางทีอาจจะรู้สึกว่ามันแปล๊บเข้าไปในแก้วหู แต่นั่นมันเป็นแต่เพียงประสาททางกาย ได้ยิน ได้ยินเป็นเรื่องของทางกาย เรื่องของประสาททางกาย แต่จิตนั้นก็ไม่รู้สึกหัวซุกหัวซุนไปกับเสียงที่ได้ยิน จิตนั้นคงมั่นคงไม่หวั่นไหวตลอดเวลา
ผู้ดำเนินรายการ: คล้ายได้ยินเสียงนินทาว่าร้ายใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ เพราะฉะนั้นถ้าหากเราจะเปรียบว่า ฝนตกก็ไม่ต้อง ฟ้าร้องก็ไม่ถึง ก็หมายถึงฝ่าย “อนิฏฐารมณ์” ฝ่ายเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ฝ่ายที่ไม่พอใจ ฝ่ายที่ไม่ชอบ ถ้ามันเกิดเข้ามาถูกใจ คือมากระทบใจเข้าเมื่อไหร่ ใจก็นิ่งไม่หวั่นไหว เพราะมองเห็นแล้วว่า เท่านั้นเอง
ผู้ดำเนินรายการ: ยากมากเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะถ้าหากเป็นฝ่าย “อิฏฐารมณ์”นะ พร้อมที่จะรับ ลาภเอามา ยศเอามา สรรเสริญยกย่อง เอามา ความสุขเอามา เอามา เอามาให้ฉัน เอามาเป็นของฉัน แต่พอถึงเวลาจะเสีย ไม่ยอม นี่แหละจุดของความทุกข์อยู่ตรงนี้ จะเอาแต่ได้แต่ไม่ยอมเสีย เคยมีไหมในชีวิตเราที่มีแต่ได้แล้วไม่เสีย ไม่มีเลย แม้แต่เราอยากกินอาหาร เรากินให้อิ่มเต็มที่ ไม่ช้าเราก็ต้องเสีย จริงไหม เราก็ต้องเสีย เสียเวลาปล่อยมันออกไป ถ้าเราขืนไม่ปล่อย ไม่ทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตาย อับอายขายหน้าไปทั่วพื้นพิภพ อาจไม่กล้าไปที่นั้นอีกนาน เพราะฉะนั้นอันนี้ถ้าเราวางใจด้วยการศึกษาให้มองเห็นได้ว่า โลกธรรม ๘ มันเป็นของธรรมดา เมื่อมีลาภได้ มันก็เสื่อมลาภได้ มียศได้ มันก็มีวันหมดไป วันนี้เขาสรรเสริญ อีกห้าวันเขาอาจจะนินทาก็ได้นี่คือของธรรมดา สุขทุกข์ มันก็เป็นความขึ้นลงของชีวิต ที่เป็นธรรมดาของโลก เพราะว่าเราอยู่ภายใต้กฎอนิจจัง ของความเปลี่ยนแปลงที่เป็นกฎของธรรมชาติ ไม่มีใครที่จะสามารถฝ่าฝืนกฎของธรรมชาติที่เรียกว่า“กฎอนิจจัง”นี้ได้เลย มันต้องเป็นอย่างนี้
ถ้ามองเห็นอย่างนี้ได้ ไม่ช้า เราก็จะค่อยๆ มองเห็น “ความงามที่ซากผี” นึกออกไหม เหมือนอย่างที่เราดูที่โรงธรรมน่ะ
งามที่ซากผี นี่แหละถ้าเราทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ได้ เราจะเห็นว่า มันไม่มีอะไร ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎอนิจจัง งามอยู่ที่ซากผี คือเห็นของจริง ผลที่สุดก็คือว่าทุกอย่างมันอยู่ที่ “อนัตตา” ตัวเดียว มีตัว แต่มันไม่ใช่ตัว มันเป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้นเอง แล้วก็ในตอนท้ายของบทความนี้ ก็บอกว่า “ถึงได้ แต่ผู้พ้นบุญ” “ถึงได้” คำว่า “ถึง” ในที่นี้ อะไรถึง ใจของคน คือใจของมนุษย์เรานี่ จะถึงความรู้สึกเช่นนี้ได้ จะถึงความรู้สึกเช่นนี้ได้ ผู้พ้นบุญเท่านั้น เข้าใจไหมคะ จุดสำคัญ หรือ ประเด็นสำคัญของประโยคนี้อยู่ที่ “ผู้พ้นบุญ” หมายความว่าอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ปกติ เราทำอะไรก็ต้องได้บุญ ใช่ไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คำว่า “บุญ” เป็นคำที่ปรารถนากันใช่ไหม บาปไม่เอา เอาแต่บุญมาหาฉัน กุศลมาหาฉัน อกุศลเอาไป ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราก็พอใจแต่คำว่า บุญ ไปทำบุญๆ เพื่อให้ได้บุญ ได้บุญมาทำไม ได้บุญไปสวรรค์ สวรรค์อยู่ที่ไหน นี่มันซักกันไปเรื่อยๆ เพราะเราคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น ร้อยกรองอันนี้มีจุดหมายที่สำคัญและก็จี้ลงไปที่ใจของคนเลย จิตของใครที่จะถึง คือถึงฟ้าร้องก็ไม่ถึง ฝนตกก็ไม่ต้อง คือจิตจะไม่หวั่นไหว ไม่กระทบกระเทือน คงทน นิ่งอยู่ได้ จิตเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ แก่บุคคลที่พ้นบุญเท่านั้น
พ้นบุญแปลว่า ตาย หรือเปล่า ไม่ใช่ ไม่ใช่หมดบุญ ที่หมดบุญก็เป็นคำสมมติกันตามชาวบ้านว่าตาย แต่อันที่จริงแล้ว ในความหมายในทางธรรมก็ไม่ใช่อย่างนั้น ทีนี้ “ผู้พ้นบุญ” นี่คืออะไร คือ อยากจะให้ใคร่ครวญในจุดของผู้พ้นบุญให้มากๆ ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ ก็คือหมายความว่า “ไม่ยึดทั้งในบุญและในบาป”
อย่างเรามักจะพูดว่า โอย คนนั้นเขามีบุญจริง ถ้าเราชมใคร คนนั้นเขามีบุญจริง เราก็จะมองเขาในแง่ไหน ที่ว่าเขามีบุญ เพราะเขามีอะไร ที่ว่าเขามีบุญ เพราะเขามีอะไร เขามี ลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีสุข มีทรัพย์ มีบริวาร มีบ้านช่องใหญ่โต มีอะไรๆ ที่เราทั้งหลายอยากจะได้ โดยเรามาตั้งเป็น ค่านิยม เป็นค่านิยมของความสุข ค่านิยมของคนมีบุญนี่จะต้องประกอบด้วย อย่างนี้ๆ แต่เราได้พูดถึงองค์ประกอบของชีวิตมาแล้ว มันไม่ได้หมายถึงอย่างนี้ เราคงไม่ต้องพูดซ้ำอีกล่ะ นะคะ
เพราะฉะนั้นอันนี้ เราจึงต้องตีความหมายของคำว่า “บุญ” ให้เข้าใจ ว่าบุญนี่หมายความว่าอะไร บุญในที่นี้ถ้าพูดอย่างง่ายที่สุด ก็คือหมายถึง ผลที่เกิดจากการกระทำที่ทำไปแล้วนำความสบายใจมาสู่ ใช่ไหม นำความสบายใจมาสู่
อย่างผู้หลักผู้ใหญ่ หรือ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ท่านไปทำบุญกัน ไปวัดกัน พอกลับมาก็ยิ้มย่องผ่องใส เพราะพอใจที่ได้ไปบริจาคทาน เช่น นำอาหารไปถวายพระบ้าง และก็เลี้ยงหมู่เพื่อนฝูง อุบาสก อุบาสิกาด้วยกันบ้าง หรือ นำเงินไปบริจาคที่วัดบ้าง นี่ก็เรียกว่า ทำแล้วก็สบายใจ รู้สึกว่าเราได้ช่วยเหลือผู้อื่น เอาบุญมาฝากแล้วก็กลับมาบ้าน กลับมาบ้านเพราะเหตุว่า มีบุญมาฝากเพื่อนฝูง แต่ว่าบุญอย่างนั้นน่ะเดี๋ยวก็ต้องกลับไปทำใหม่ เพราะรู้สึกว่ามันหมดแล้ว ถ้าหยุดทำไปนานๆ นี่มันหมดแล้ว ต้องกลับไปทำใหม่ และก็พอเวลาจะไปทำใหม่ถ้าเผอิญไม่มีนะ ก็รู้สึกเดือดร้อนในใจ เพื่อนฝูงเขาไปทำบุญกันได้ทุกวันๆ เรานี่นานปีทีหนได้ไปทำกับเขาเสียที นี่ก็เพราะยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “บุญ” อย่างถูกต้อง
อันที่จริงถ้าเราเข้าใจความหมายของคำว่า “บุญ” ว่า การกระทำใดที่ทำแล้วทำให้เกิดความสบายใจ ซึ่งความสบายใจที่แท้จริงเกิดขึ้น ก็เพราะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ทำแล้วมันเกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าเป็นใคร แต่มันเกิดประโยชน์ พอทำแล้วเห็นประโยชน์เกิดขึ้นใจมันก็สบาย
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่จำเป็นต้องไปวัด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไปก็ดี แต่ถ้าไม่มีเวลาจะไป ไม่สามารถจะไปได้ ก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่ว่าไม่จำเป็นจะต้องไปวัด ไปก็ดี ไปดี แต่ถ้าหากว่าไปไม่ได้ ก็อย่าเป็นทุกข์ อย่าเป็นทุกข์ว่าเพราะไม่ได้ไปวัด ไม่ได้ไปทำบุญ
บุญนี้คือการกระทำที่ทำแล้วเกิดความสบายใจ เพราะฉะนั้นอย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าหากว่าทำแล้วเกิดความสบายใจ ก็ไม่ต้องมายึดว่าบุญนี้เป็นของฉัน ฉันจะต้องทำบุญอย่างนี้ๆ
เพราะฉะนั้นเมื่อจิตใด รู้จักความหมายของคำว่าบุญอย่างถูกต้อง แล้วก็ ทำบุญเพื่อบุญ คือเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น จิตนั้นก็จะเป็นจิตที่มีแต่ความมั่นคง แช่มชื่น เบิกบาน อิ่มใจ พอใจอยู่กับการกระที่ที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้นจะมี “อิฏฐารมณ์” มา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เท่านั้นเอง ไม่ต้องตื่นเต้นลิงโลด ก็รับอย่างที่สมควรจะรับให้เหมาะสมแก่ กาลเทศะ เหมาะสมแก่บุคคล เหมาะสมแก่กรณี พอเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์มา ก็เช่นนั้นเอง ไม่ต้องสลบไสล ทอดเนื้อทิ้งตัว และก็ดิ้นรนรำพัน ไม่ไหวแล้วว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ เพราะนี่เป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง
นี่จิตก็จะมั่นคงเหมือนพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง เราอยู่ในโลกที่มีทั้งดีทั้งชั่ว มีทั้งถูกใจไม่ถูกใจก็ต้องเลือกว่าจะอยู่อย่างไหน อยู่อย่างชนิดถูกตบซ้ายตบขวาเซถลาตลอดเวลาหรือจะอยู่อย่างสง่าผ่าเผย ด้วยความมั่นคง หนักแน่นกับจิตของเราที่รู้แล้วว่า อ๋อ บุญนี้คือความสบายใจ ที่ได้เกิดจากการกระทำที่ถูกต้องนะ ทำเมื่อไหร่สบายใจเมื่อนั้นเพราะทุกคนได้รับประโยชน์จากการกระทำ ลองคิดดูนะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ