แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมะสวัสดีทุกคน เราได้เคยพูดกันถึงเรื่อง จิตตภาวนา มาแล้วนะคะ แต่ว่าเรายังไม่ได้พูดกันให้อย่างต่อเนื่อง หรือว่าอย่างละเอียดสักหน่อยหนึ่ง ก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจในความหมายของ จิตตภาวนาถูกต้องแล้วหรือยัง
จิตตภาวนา อันที่จริงที่เรียกว่า จิตตภาวนานี่ ก็คือหมายถึง การทำสมาธิภาวนา อย่างที่เราเข้าใจกันทั่วๆไปว่า ไปทำสมาธิ ไปทำสมาธิไปทำอะไร ทีนี้พอบอกว่าไปทำสมาธินี่ มันมักจะมีความรู้สึกของบางคนว่า ไปนั่งหลับตา ไปนั่งหลับตาใช่ไหม ไปทำสมาธิไปนั่งหลับตา แล้วก็เลยทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขว หรืออาจจะบอกว่า ทัศนคติที่ไม่ดีว่า ถ้าอย่างนั้นไปนั่งหลับตาแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้นล่ะ เท่ากับว่าไปเป็นคนขี้เกียจไม่ทำอะไรให้เป็นแก่นสารล่ะสิ ก็เลยอยากจะอธิบายว่า การไปทำสมาธิภาวนานั้น ก็คือการมาทำ จิตตภาวนา
จิตตภาวนา นั้นก็คือ การมาพัฒนาจิต มาพัฒนาจิตให้มันเจริญ ทีนี้ก็อาจจะรู้สึกว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับจิต มันเกิดอะไรขึ้นกับจิตของเรา จิตมันถึงจะต้อง มันถึงจะต้องมีการมาทำ ภาวนาจิตของเราด้วย มันเกิดอะไรขึ้นกับจิต อันที่จริง จิตของเรานี้ เราก็ว่าดีอยู่แล้ว ทำไมถึงต้องมามีการพัฒนา ก็นึกถึงอย่างพวกเพื่อนชาวต่างประเทศที่เขามาเข้าฝึกอบรมสมาธิกัน ก็มาจากหลายประเทศ เรียกว่าทั่วโลกก็ว่าได้ มากันทั่วโลก โดยเราไม่ได้ไปเชื้อเชิญเขามา ที่น่าสนใจคือเขามากันเองแล้วก็มาจากที่ต่างๆ โดยบางคนมาอย่างชนิดเป็นนักท่องเที่ยว ผ่านมาได้ข่าวก็มาแวะดู เขาสอนกันยังไง เขาทำกันยังไง แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเลยที่มาอย่างชนิดเจาะจงว่ามาเมืองไทยแล้วก็จะต้องมาเข้า Retreat คือมาเข้าฝึกการทำสมาธิ แล้วก็บางคนนี่ ต้องบอกว่าตรงดิ่งมาเลยจากบ้านเขาเพื่อมาเข้าสมาธิก็มี แล้วที่มานี่ก็ทุกอาชีพ อย่างจะว่าบางคนอาจจะเป็นนักท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ ไม่มีอาชีพเป็นที่แน่นอนก็มี แต่บางคนนี้เป็นครูบาอาจารย์ เป็น Professor โปรเฟสเซอร์ เป็นนายแพทย์ เป็นนักธุรกิจ เป็นศิลปิน เป็นข้าราชการนี่ก็มีทุกอาชีพ ฉะนั้นก็อาจจะบอกว่า ผู้มาเข้าฝึกสมาธิเนี่ย ตั้งแต่คนเดินถนน ตั้งแต่คนเดินถนนขึ้นไปถึงอาชีพของผู้ที่มีอาชีพอย่างที่เรียกว่ามีความรู้อย่างสูง และเมื่อเวลาที่เราถามเขาก่อนที่เราจะรับเขาเข้าอบรม เราจะต้องถามเขาว่า เขามาทำสมาธิทำไม สนใจอะไรที่มาเข้าสมาธิ เขาก็จะบอกว่า เขาอยากจะมาพัฒนาความสงบให้เกิดขึ้นแก่จิตข้างใน โดยเขาใช้ภาษาอังกฤษว่า Inner Peace ต้องการจะมา develop Inner Peace หรือว่า Inner Strength เพราะว่าเขารู้สึกว่าแม้ว่ากายข้างนอกนี่จะแข็งแรง แต่ไอ้จิตใจข้างในนี่มันอ่อนแอ มันโลเล มันไม่แน่ใจ มันมีแต่ความระส่ำระสาย ความมึนงงว่าจะเอายังไงกับชีวิตแน่อะไรอย่างนั้น เขาก็เลยรู้สึกว่า ในจิตใจนี่มันมีแต่ความวุ่น ความระส่ำระสาย ความทุรนทุรายอยู่ตลอดเวลาแล้วก็ทำให้จิตเขาไม่มีกำลัง เหมือนอย่างที่ กฤษณาเขาพูดวันก่อนนี้ ที่เขาบอกว่า เขาไม่รู้เลยว่าอะไรคือต้นเหตุของความสงบ ฉะนั้นหลายคนเลยบอกว่านี่เป็นต้นเหตุสำคัญที่เขาอยากจะมาพัฒนาความสงบให้เกิดขึ้นในภายในเพื่อที่จะทำให้จิตนี้จะได้มีกำลัง แล้วก็บางคนก็บอกว่า มาหาตัวเอง ใช้คำภาษาอังกฤษว่า To find myself นี่ก็น่าขันนะ น่าหัวเราะ เวลาจะไปไหนนะก็จะบอกว่า I (ไอ) นี่นะเป็นคนเดินทาง I (ไอ) นี่มาพร้อมกับ myself (มายเซลฟ์ ) เสร็จแล้วก็จะมาหา myself (มายเซลฟ์ ) นี่ก็แสดงว่า เขามีความเข้าใจอยู่ลางๆ นี่ว่าไอ้ตัวที่เรียกว่า I คือ ฉัน หรือ มายเซล์ฟ myself ตัวฉันเอง ที่เป็นรูปร่างที่มองเห็นนี่ มันคงไม่ใช่แน่น่ะกระมัง ก็พาตัวมานี่ใช่ไหม พาตัวมา ขึ้นมา วิ่งมา ขึ้นเรือบินมา แต่เสร็จแล้วก็ยังมาพูดอีกว่า จะมาหา มายเซล์ฟ อ้าว ก็และนี่น่ะไม่ใช่เหรอ ก็มันก็ใช่โดยนัยหนึ่งนะ โดยนัยหนึ่งมันก็ใช่ แต่อีกนัยหนึ่งมันก็ไม่ใช่ เพราะถ้าใช่จริงแล้วทำไมบางทีเราถึงบอกว่า เราไม่เห็นรู้จักเลย ตัวเราเอง ตัวเราเองต้องการอะไร ตัวเราเองจะเอาอะไรกันแน่ไม่เห็นรู้จักเลย เพราะฉะนั้นสาเหตุของความวุ่นวายต่าง ๆ ที่มันเกิดเป็นคำถามขึ้นในจิต จนบางทีมันเป็นปัญหา ปัญหาที่ขบไม่แตกและก็ทำให้ชีวิตนี้มันระหกระเหินลุ่มๆ ดอนๆ ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรแน่ เพราะจิตมันไม่มีเวลาพัก ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เพื่อนฝูงชาวต่างประเทศของเราเยอะแยะมาจากทั่วโลกนี้ เข้ามาสนใจที่จะศึกษาในเรื่องของ ธรรมะ ทีนี้เมื่อพอเขามาอย่างนี้แล้ว แล้วก็พอเขาฝึกไป สิ่งหนึ่งที่เขาจะพบคือว่า ไอ้ความคิดนี่ เขาจะค่อยๆ มองเห็นว่า สิ่งที่ทำให้จิตเขาวุ่นตลอดเวลา คือ “ความคิด” ความคิดที่มันหยุดไม่ได้ มันจะต้องไปอยู่ตลอดเวลา มันจะนิ่งไม่ได้เลย ความคิดที่มันวิ่งวุ่นอยู่ แล้วความคิดอันนี้มันไม่ได้เกิดจากอะไร มันเกิดจาก “ความอยาก” อยู่ในจิต อยากอย่างโน้น อยากอย่างนี้ คือ ไม่เอา อยากเอา กับไม่เอา อย่างใดอย่างนึง เอาเข้ามา กับ ผลักออกไปไม่เอา มันจะชักกะเย่อกันอยู่ในระหว่างสองสิ่งอยู่ตลอดเวลา พวกเราก็เป็น และเขารู้สึกว่าเป็นแต่เขาเวลาเขามา เขาจะรู้สึกว่าเป็นแต่พวกเขา คนอื่นไม่เป็นหรอก เพราะเขาบอกว่าโดยเฉพาะคนไทยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นคงแสดงว่าคนไทยไม่ค่อยมีความทุกข์เพราะว่ายิ้มแย้มแจ่มใส อันที่จริงเขาก็ไม่รู้ว่าข้างนอกเรายิ้มแย้ม แต่บางทีข้างในเราร้องไห้ก็มี พวกเขาก็เป็นเหมือนกัน เขาก็เลยไม่ค่อยรู้ว่าคนอื่นก็เป็นเหมือนเขา เขานึกแต่เพียงว่าเขาเป็นเอง สภาวะสังคมสิ่งแวดล้อมของเขามันทำให้เขาเป็นอย่างนั้น ซี่งอันที่จริงมันเป็นเพราะ “ธรรมชาติภายในที่มนุษย์รู้ไม่เท่าทัน ควบคุมมันไม่ได้” มันก็จึงทำให้เกิดอาการของความดิ้นรนระส่ำระสายอย่างนี้ แล้วเขาก็บอก ความคิดนี้มันวิ่งวุ่นอยู่ตลอดเวลามันหยุดไม่ได้ ก็ต้องบอกให้เขาเห็นว่า ก็เพราะเหตุว่า เราบังคับความคิดอันนี้ไม่ได้ แล้วความคิดที่มันเกิดขึ้นในจิต มันทำให้จิตนี้วุ่นวายระส่ำระสาย เพราะฉะนั้นความคิดอันนี้ ลองคิดดูสิว่า เป็นความคิดที่ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าเป็นความคิดที่ถูกต้อง มันก็น่าแต่จะทำความสบาย นำความสบายให้เกิดขึ้นมากๆ ฉะนั้นการที่จะมาฝึกสมาธิ หรือมาปฏิบัติ จิตตภาวนา เพื่อพัฒนาจิตให้เจริญนี่ เพื่ออะไร อะไรเป็นสาเหตุ สาเหตุ ก็คือ “ความร้อน” ความรู้สึกร้อนที่เกิดขึ้นในจิต ความรู้สึกที่มันโหวงเหวงเหมือนกับอ้างว้าง เหมือนกับหลงทางไม่รู้ว่าชีวิตเรานี้ต้องการอะไรแน่ นี่ไอ้จุดที่มันเกิดขึ้นเป็นคำถาม ชีวิตนี้ต้องการอะไรแน่ บ้านช่องก็มีอยู่ บ้านช่องก็มี พ่อแม่พี่น้องก็มี ครอบครัวสามีภรรยาก็มี ลูกเต้าก็มี ลูกก็น่ารัก ทรัพย์สินเงินทองก็มีมากมาย เครื่องอำนวยความสะดวกอะไรๆ ทุกอย่างก็มี ตำแหน่งการงานก็มี แต่ว่ายังรู้สึกเหมือนชีวิตนี้ยังขาดอะไรอยู่ และความรู้สึกที่ยังขาดอยู่ในจิตนี่ มันทำให้ดิ้นรนกระวนกระวาย อยากรู้อยากแสวงหา เพราะฉะนั้นเขาทั้งหลายเหล่านี้ ก็พากันเดินทาง นอกจากเป็นการเดินทางเพื่อไปดูประเทศอื่นเขาอยู่กันยังไง วัฒนธรรมประเพณีเขามีอย่างไร อันหนึ่งก็คือ เพื่อแสวงหาตัวเองอย่างที่เขาว่า ว่าความต้องการของตัวเองแท้ๆ นี่มันคืออะไร เขาก็พากันแสวงหาอย่างนี้ และก็ถามว่าพบหรือยัง ก็ยังไม่พบ ก็ยังแสวงหาเรื่อย ๆ และก็หาคำตอบมาต่างๆ นานา จนผลที่สุด หาคำตอบจากทั่วสารทิศทุกหนทุกแห่ง เขาก็มาสรุปว่า บางที Meditation เมดิเทชั่น หรือ การทำสมาธิภาวนา อาจจะให้คำตอบแก่เขาได้บ้าง อาจจะให้คำตอบที่ถูกต้องแก่เขาได้บ้างกระมัง เขาก็เลยมาทดลองดูแล้วก็ หลายคนก็ยอมรับว่า สิ่งที่เขาได้รับนี่ มันก็ช่วยให้คำตอบเหล่านี้ ที่ถูกต้องแก่เขาเกิดขึ้นได้บ้างเหมือนกัน ฉะนั้นก็ถ้าเราจะบอกว่า มนุษย์เรานี่มาสนใจการปฏิบัติ จิตตภาวนาทำไม เพื่ออะไร หรือว่ามนุษย์เรามาสนใจที่จะทำสมาธิเพื่ออะไร
จุดมุ่งหมายของการทำสมาธิ ที่เราควรจะรู้ก็คือ เริ่มแรกเพื่อทำจิตให้สงบเสียก่อน ถ้าไม่สงบมันจะไม่เห็นอะไร หรือถ้าไม่สงบมันจะไม่มีเวลานึก ไม่มีเวลาใคร่ครวญ เพราะว่าพอจิตมันไม่สงบนี่ เราก็อาจเปรียบเหมือนกับน้ำในบ่อ หรือเหมือนกับน้ำในคูที่เราไปนั่งอยู่ข้างๆ แล้วมันพลิ้วอยู่ตลอดเวลา พลิ้วเพราะลมพัดแรง หรือพลิ้วเพราะปลาว่ายวนเวียนไปมากระโดดผลุงผลัง หรือพลิ้วเพราะใครเอาก้อนอิฐก้อนหินโยนลงไป น้ำมันก็กระเพื่อมตลอดเวลา นี่อาจจะเปรียบกับสภาพของใจข้างใน ที่มันวุ่น วุ่นวายกระเสือกกระสน กระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา มันก็อย่างนี้ ระส่ำระสายขึ้นลงอย่างนี้บ้าง ซัดส่ายอย่างนี้บ้างไม่มีวันนิ่ง และถ้าเรามอง เราไปนั่งข้างคูน้ำแล้วเราก็มองลงไปเห็นอะไรไหมที่ใต้น้ำ ไม่เห็น เพราะน้ำที่มันกำลังกระเพื่อมมันก็จะทำให้เราไม่เห็นอะไรจริง หรือเห็นก็เป็นการเห็นอย่างเป็นมายาหลอกลวง เรานึกว่าก้อนหินอยู่ตรงนั้น แต่พอจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ แต่เพราะน้ำมันกระเพื่อมเช่นเดียวกับใจที่วุ่นวาย ถ้าเราจะไปนั่งมองดู คิดดู มันมีอะไรนะ มันเป็นยังไง มันก็ไม่เห็นอีกเหมือนกัน เห็นแต่ความวุ่นวาย เห็นแต่ปัญหา เห็นแต่ความร้อนที่มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการมาทำสมาธิ ขั้นแรกก็คือทำจิตที่วุ่นวายให้เป็นจิตที่ว่าง เบาบาง เบาบางจากความวุ่นวาย จากความไม่สบายให้เกิดความสงบเยือกเย็นขึ้นทีละน้อย ก็เหมือนกับน้ำที่เราปล่อยให้มันนิ่ง อะไรที่เคยรบกวน ไม่ให้รบกวน และก็เป็นเวลาที่นิ่งสงบไม่มีลมพัดแรง น้ำนั่นก็จะค่อยๆ นิ่งเรียบใสเย็นไม่ขุ่น ทีนี้ตอนนี้เราก็มองลงไป เห็นไหม ว่าอะไรอยู่ใต้น้ำ ก็จะเห็น ตรงนั้นก้อนอิฐก้อนหิน ตรงนี้มีกิ่งไม้ที่มันติดอยู่นานแล้ว นั่นเป็นดอกไม้ นั่นมีซากอะไรที่จมอยู่ เราจะมองเห็นชัดเจน เพราะเหตุว่ามันเกิดความสงบขึ้น ฉะนั้นการทำสมาธิภาวนา หรือ การทำจิตตภาวนา วิธีจะพัฒนาจิตจะทำยังไง ก็คือ เริ่มต้นด้วยการทำจิตที่วุ่นวายให้สงบ คือให้สงบแต่ไม่ใช่เงียบเฉย ไม่ใช่เงียบไม่รู้เรื่องอะไร ให้มันสงบและก็เยือกเย็น ในความเยือกเย็นมีความผ่องใสด้วย จากนั้นเราก็จะพยายามรักษาความสงบ สภาวะของความสงบที่เกิดขึ้นในใจนี่เอาไว้ ให้มันอยู่นานที่สุดเท่าที่จะนานได้เพราะอะไร เคยจิตสงบบ้างแล้วใช่ไหมคะ ที่เราฝึกสมาธิจิตสงบบ้างแล้ว พอจิตสงบแล้วเป็นไง มันร้อนหรือมันเย็น มันเย็นมันรู้สึกว่า เป็นความเย็นที่ไม่เหมือนกับกินน้ำแข็งอย่างที่เคยว่านะ ไม่เหมือนความเย็นจากแอร์คอนดิชั่นอย่างที่ว่า แต่เป็นความเย็นที่เบาสบายอย่างบอกไม่ถูก เป็นความเย็นที่มันเบา เบาจากสิ่งที่เรายกเราแบกเอาไว้ในจิตของเราจนเราหนัก ทั้งที่อาการยกอาการแบกมองไม่เห็น ไม่เหมือนอย่างแบกระสอบข้าวสารหรือว่าแบกเสาแบกอะไร แต่มันหนัก หนักอยู่ในอก ทั้ง ๆ ที่ก็เดินเบา ตัวปลิวไม่มีอะไร แต่ข้างในมันหนัก นี่ไอ้ความเย็นที่มันเกิดขึ้นอย่างนี้ เรารู้สึกว่าเราพอใจ เราก็อยากจะรักษาเอาไว้ให้นานๆ มันก็ต้องมีวิธี ฉะนั้นการพัฒนาจิตนี่ ก็เพื่อที่จะพัฒนาจิตที่วุ่นให้ว่าง จิตที่ระส่ำระสายให้สงบเงียบ จิตที่หวั่นไหวอยู่ตลอดเวลาเพราะโดน โลกธรรม ๘ เข้ามากระทบนั่นน่ะ ให้เกิดความมั่นคง เกิดความมั่นคงหนักแน่น แล้วก็ จากจิตที่โอนเอนไปมาให้กลายเป็นจิตที่มีความตั้งมั่น ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวง่าย ไม่ซวดเซง่าย แต่มีลมพัดอันเกิดจาก โลกธรรม ๘ มากระทบ ก็ยืนนิ่งอยู่ได้เหมือน พร้าวนาฬิเก ต้นนั้น แล้วจิตก็จะมีแต่ความเย็น เย็นอย่างนี้ที่เราบอกว่า เราได้ลิ้มชิมรสของสิ่งที่เรียกว่า ความเย็นแห่งนิพพาน แม้ว่าจะยังมิใช่เป็นความเย็นที่ถาวร แต่เราก็ได้ลิ้มชิมรสนิดนึง รสชาดอย่างนี้เอง แต่ยังไม่ถนัดใจ แต่ถ้าได้ลิ้มชิมรสแล้วติดใจ ติดใจเพราะมองเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ ก็จะมีกำลังใจที่จะทำให้มากยิ่งขึ้น ฉะนั้นนี่ ทีนี้พอจิตสงบแล้ว เราจะทำยังไงกับจิตที่สงบนี้ ในการที่จะมาทำสมาธิภาวนา หรือในการที่จะมาทำจิตตภาวนา มันมีลำดับขั้นตอน เราเริ่มแรกลำดับขั้นตอนด้วยการทำจิตให้สงบเสียก่อน อย่างที่เรียกว่า ให้มันมีความสงบเย็น บางคนอาจจะใช้คำว่า “สมถะ” ในความเป็นสมถะ จิตนี้จะเป็นสมาธิ คือมีความบริสุทธิ์ มีความตั้งมั่น แล้วก็มีความว่องไว อย่าลืมนะคะ มีความตั้งมั่นด้วย มีความว่องไวด้วย ว่องไวพร้อมที่จะทำการงาน ไม่ใช่ตั้งมั่นอย่างหลับ หลับใหล งัวเงีย มัวเมาไม่รู้อะไร ไม่ใช่อย่างงั้น ไม่ใช่หลับสบาย แต่ทว่ามันเป็น “ความตั้งมั่นที่รู้ตัวทั่วพร้อม” พร้อมด้วยสติ ทีนี้ตอนนี้น่ะนะคะเราก็จะพัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้น แล้วก็ใช้จิตที่สงบนี่แหละ มองทะลุลงไปว่า ไอ้สิ่งที่มันเป็นสัจจะของธรรมชาติ มันเป็นกฎธรรมชาติที่เรารู้อยู่แล้วว่า ที่ท่านบอกว่า “กฎของอนิจจังความไม่เที่ยง” แล้วก็จะนำให้ไปสู่ “ทุกขัง” แล้วก็จะนำให้ไปสู่การเห็น “อนัตตา” มันเห็นกันยังไง มันเกิดขึ้นได้ยังไง นี่เราจะต้องเกิดขึ้นด้วย “การเห็น” และ “การดู”ไม่ใช่ด้วยการ คิด ก็เหมือนอยู่ที่เรานั่งข้างน้ำ คูน้ำ หรือบ่อน้ำที่ใสเย็นสงบเงียบ แล้วเราก็ค่อยๆ มองลงไปอย่างช้าๆ อย่างให้รอบให้ทั่วอย่างละเอียดลออ ก็จะรู้ว่าใต้น้ำมีอะไรบ้างถ้าหากว่าน้ำนั้นไม่ลึกเกินไป นี่เป็น “รูปธรรม” แต่ในจิตของเรานั้นน่ะมันจะลึกมาก ลึกมาก แต่ในความลึกนั้น ถ้าเราค่อยๆ ใคร่ครวญดูไปทีละน้อย ช้า ๆ โดยไม่ต้องเร่งรีบ เราจะค่อยๆ เห็น นี่คือการก้าวเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า “วิปัสสนา” ซึ่งเป็นอีกขั้นหนึ่งของการปฎิบัติ เราจะต้องเริ่มโดยการทำจิตให้สงบเสมอ แล้วก็ใช้จิตที่สงบนี่ใคร่ครวญธรรม คือ ธรรมะ เพื่อที่จะดูให้เห็นแจ้ง
วิปัสสนา นี่คือ ดูให้เห็นแจ้ง รู้ให้เห็นแจ้งซึ่งความเป็นจริงของธรรมชาติว่ามันมีอะไรอยู่ แล้วถ้าหากว่าจิตนั้นวุ่นวายจะไม่มีโอกาสดู นี่เราก็ใคร่ครวญดู ใคร่ครวญดู ๆ จนเห็นชัดในความเป็นจริงของธรรมชาติยิ่งขึ้น ยิ่งเห็นชัดมากเท่าใด จิตจะร้อนหรือเย็น ยิ่งเย็นมากขึ้นเท่านั้น จิตก็มีความเย็น มากขึ้น มากขึ้น ๆ ในความเย็นนี้ ก็มีความหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหวประกอบอยู่ด้วยตลอดเวลา แต่ข้อสำคัญในการปฏิบัตินี้ ที่จะต้องใคร่ครวญและจดจำ ก็คือว่า เราจะรู้ธรรมะ หรือ จะมองเห็นธรรมะจากการปฏิบัติสมาธิภาวนานี้ด้วย “การดู” ด้วยการดู ดูลงไป ดูลงไปด้วยอะไร ดูลงไปด้วย ความรู้สึก “ด้วยความรู้สึก ไม่ใช่คิด” ไม่ใช่คิดว่า ฉันกำลังนั่งทำความสงบนะ กำลังนั่งให้ลมหายใจเข้านะ ออกนะ เข้านะ ออกนะ คิดเอ ลมหายใจกำลังเข้า ลมหายใจกำลังออก “ถ้าคิดจะไม่มีวันเห็น” อันนี้เป็นจุดสำคัญมากนะคะที่จะต้องใคร่ครวญให้ดี คิดแล้วไม่มีวันเห็น ต้องดู จะสำเร็จได้ด้วยการ “ดู” เท่านั้น ดูลงไป ดูลงไป ด้วยความรู้สึก ยิ่งดู จะยิ่งเห็นชัด เพราะฉะนั้นนี่เป็นประเด็นสำคัญมาก ของการปฏิบัติภาวนา คือจะต้องปฏิบัติด้วยการดู หยุดคิด แล้วก็หลายคนก็จะบอกว่า ถ้าไม่คิดมันก็โง่ล่ะสิ เป็นคนโง่น่ะสิ เพราะเราปัญญาชนต้องคิด ถ้าไม่คิดก็โง่น่ะสิ ยอมโง่ ยอมโง่เสีย สักขณะหนึ่งชั่วระยะนึงในขณะปฏิบัติ แล้วจะกลายเป็นคนฉลาดทีหลัง และความฉลาดนี้จะเป็นความฉลาดที่แหลมคม เพราะจะนำเอาความรู้ที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในจิต นี่เราพูดกันแต่เพียงว่า สมาธิภาวนา คืออะไร จิตภาวนา คืออะไร และก็เหตุใด เราจึงมาสนใจ เราทำทำไม เพื่ออะไร และวิธีการทำความเข้าใจอันถูกต้องนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เราคงจะได้มีโอกาสพูดกันอีกต่อไปนะคะ ธรรมะ สวัสดีค่ะ