แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ เป็นยังไงคะการปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติมาพอสมควรก็ควรจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้วล่ะว่า การปฏิบัติราบรื่นดี หรือว่ามันมีอุปสรรค มันมีปัญหาในการปฏิบัติอะไรบ้าง
ผู้ดำเนินรายการ: ยังมีอุปสรรค
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อุปสรรคอะไรคะ
ผู้ดำเนินรายการ: มันไม่ได้ตามทฤษฎีที่อาจารย์สอนไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใครไม่ได้
ผู้ดำเนินรายการ: ตัวผม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นั่นน่ะสิ เพราะมีผม มีตัวผม ก็ได้เคยพูดไว้แล้วว่าในการปฏิบัติ แม้แต่การปฏิบัติสมาธินะคะ คือ ในการทำงานทุกอย่าง ในการดำรงชีวิตทุกอย่าง ถ้ามี “ตัวฉัน” เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อไหร่ มันมีเรื่องทุกทีแม้แต่ในการปฏิบัติธรรม พอมี “ตัวฉัน” เกิดขึ้นมาเกี่ยวข้องในการปฏิบัติ มันมีมาตรฐาน มันมีความหวัง ใช่ไหมคะ เพราะว่า พอ “ฉัน” ทำอะไรนี่ “ฉัน” ก็หวังว่า “ฉัน” จะต้องทำได้ และยิ่งบางคนเคยเป็นคนเก่ง ทำอะไรสำเร็จหมดไม่เคยพลาดพลั้งเลย แล้วพอมานั่งกำหนดจิตอยู่กับลมหายใจ ทำไมกำหนดไม่ได้ แค่นี้ทำไมไม่ได้ ก็ยิ่งขัดเคืองใหญ่ ขัดเคืองใคร ขัดเคือง “ตัวฉัน” ไง ทำไมฉันทำไม่ได้ๆ ไม่ชอบใจ กลุ้มใจ รำคาญใจตัวเอง
เพราะฉะนั้นแทนที่ว่าจะกำหนดจิตอยู่กับลมหายใจ จิตนั้นก็เลยไปวุ่นอยู่กับเรื่องของ “ตัวฉัน” ทำไมฉันทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ค่ะ ก่อนที่จะปฏิบัตินะคะ จึงควรที่จะทำจิตใจนี้ให้ว่าง ว่างจากความวุ่นวายอยู่กับตัวฉัน ว่างจากความยึดมั่นตัวฉัน ว่างออกจากความหวังทั้งหลาย ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องตั้งใจว่าจะทำให้ได้หรือไม่ได้ เพียงแต่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ และวิธีทำคืออย่างนี้ ก็ลงมือทำไป ลืม “ตัวฉัน” เสีย ยิ่งลืมตัวฉันได้มากเท่าใด จะรู้สึกว่าจิตมีความบางเบาสบายมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เคยชอบพูดเรื่องการ “ลืมตัว” ถ้าหากว่า ลืมตัว นี่ มันมีภาษาคน กับ ภาษาธรรม ถ้าภาษาทางโลก ยายคนนี้แกลืมตัว เป็นไง ดีไม่ดี ไม่ดี อีตาคนนั้นลืมตัว ก็หมายความว่า ยโสโอหัง จองหองอวดดี ทะนงตัวว่าวิเศษกว่าคนอื่นเขา ไม่มีใครอยากคบ แต่ถ้า ลืมตัว ในภาษาธรรมนี่ วิเศษอย่างยิ่ง หมายความว่าไง ถึงว่าวิเศษ
ผู้ดำเนินรายการ: ลืมตัวฉัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ มันจะตรงกันข้าม ในขณะที่ลืมตัวในภาษาคนนี่เกิดความยโสโอหังเพราะ เกิดความยึดมั่นในตัวเอง ทะนงตัวเกิดเป็น มิจฉาทิฐิ ว่าฉันวิเศษกว่าคนอื่น ฉันเก่งกว่าคนอื่น ฉันดีกว่าคนอื่น ก็เลยลืมตัวว่า ตัวนี่ก็เป็นคนเหมือนอย่างคนอื่นเขา แต่คิดว่าเราวิเศษกว่าคนอื่น
แต่ว่า ลืมตัว ในภาษาธรรม ก็คือ ลืมความเป็นตัวฉัน ลืมศักดิ์ศรี ว่าฉันเป็นคนมีศักดิ์ศรี ฉันเป็นคนมีตำแหน่ง ฉันเป็นคนมีเกียรติยศ ลืมความเป็น ความมีอะไรทั้งหลายให้มันมีแต่เพียง “สิ่งสักว่า” เท่านั้น เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติในทางสมาธินะคะ การปฏิบัติธรรมนี่ พอฝึกลืมตัวให้ได้มากเท่าไร อย่าให้ตัวฉันเข้ามาเกี่ยวข้องในการปฏิบัติ การปฏิบัตินั้นจะเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ลองดูนะคะ มีปัญหาอะไรอย่างอื่นอีกไหมคะ
ทีนี้ ถ้าความคิดมันวุ่นวายเข้ามาในจิต ความคิดมันเข้ามาเรื่อย จะกำหนดจิตอยู่กับลมหายใจ ความคิดมันสอดแทรกเข้ามาเรื่อย นอกจากว่าจะฝึก การลืมตัวฉันแล้ว ก็เราใช้อะไรเป็นอารมณ์ล่ะ เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือ ลมหายใจ ก็อย่าลืม ใช้ลมหายใจนี่แหละ
ยืดตัวตรง ขับไล่มันออกไป หายใจยาวลึก ขับไล่มันออกไป แล้วพอ สติ มันกลับมา รีบกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจ อยู่กับลมหายใจๆ ให้ตลอดเวลาเลย ให้มากยิ่งขึ้นๆๆ จิตนั้นก็จะเป็นสุขสงบยิ่งขึ้น อยู่กับลมหายใจได้มากยิ่งขึ้น มีปัญหาอะไรอีกไหมคะ ในการปฏิบัติ
ผู้ดำเนินรายการ: ส่วนมากจะถูกรบกวน ความคิดที่เป็นอดีต
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หมายความว่า อยู่กับอดีตบ้าง อยู่กับอนาคตบ้าง นี่ก็เพราะไม่ได้ปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมท่านจะบอกว่า ให้อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบันคือการอยู่กับขณะนี้ เพราะฉะนั้นการที่เราปฏิบัติจิตตภาวนา แล้วเราก็ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ ก็นี่แหละคือการดึงจิต ที่ประเดี๋ยวก็ชอบวิ่งกลับไปอดีต ถ้าสมมติว่าไปนั่งรำลึกถึงอดีต อดีตนั้นแหมมันหอมหวานยิ้มย่องผ่องใส แม้แต่นั่งอยู่คนเดียวใช่ไหม ยิ้ม ใครเขาผ่านมาก็นึกว่ายายคนนี้เป็นอะไร ยิ้มเอาๆ เพราะว่าหวนไปนึกถึงอดีตที่เคยฟูฟ่องชื่นบานผ่องใส หรือไปนึกถึงประสบการณ์อะไรในอดีตที่ผ่านมา แหม มันเจ็บแค้น หดหู่บางทีน้ำตาไหล ทั้งที่มันผ่านไปแล้วตั้งหลายปี นี่ก็อีกเหมือนกันเห็นไหม “ไม่มีสติ”
เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า “ให้ดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจเพื่อให้อยู่กับปัจจุบัน” ไม่ให้ไปครุ่นคิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว มันไม่กลับมาอีกแล้ว แก้ไขได้ไหม ไม่ได้ เพราะอะไรมันผิดพลาดไปแล้วมันก็ผ่านไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ ถ้าอะไรมันดีมันงาม จะย้อนกลับให้มันเกิดอีกได้ไหม ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน แล้วจะเสียเวลาไปครุ่นคิดถึงทำไม ซึ่งเราไม่สามารถจะแก้ไขตัวเราเองได้เลย เราควรที่จะรู้จักแก้ไขตัวเองในเรื่องนี้ มิฉะนั้นจะสูญเสียเวลาเปล่า
มนุษย์เราที่บอกว่า ทำงานไม่ค่อยได้อะไรเลยวันหนึ่งๆ ลองดูเข้าจริงๆ บางทีเวลา ๑ ชั่วโมงลองแยกเวลาสิว่า เราต้องเสียไปให้กับการที่ครุ่นคิดต่างๆ ถึงอดีต บางทีก็โน่นไปอนาคต วาดภาพ อนาคตควรจะอย่างโน้น ควรจะอย่างนี้ ทั้งที่อนาคตยังมาไม่ถึง
ผู้ดำเนินรายการ: ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งก็ดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ หรือบางทีไม่ถูก ก็นึกวาดภาพว่าตำแหน่งการงานอันโน้นอันนี้มันควรจะเป็นของเราอะไรต่างๆ เหล่านั้น ก็เสียเวลาสูญเปล่าไปอีกโดยไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจิตตภาวนา คือ การฝึกจิตให้รู้จักอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งมันยากนะคะ
ใหม่ๆ มันก็อยู่ประเดี๋ยวแล้วก็วิ่งไปอีก วิ่งไปอดีต วิ่งไปอนาคต เราก็ต้องใจเย็นๆ ดึงมันกลับมา ยิ้มแย้มแจ่มใสดึงมันกลับมาอย่าโกรธขึ้ง ดึงด้วยความรู้สึก ดึงความรู้สึกที่วิ่งไปนั้นให้กลับมาอยู่กับลมหายใจ ให้มันกลับมาอยู่กับปัจจุบัน แล้วก็ตั้งสติ กำหนดลมหายใจ ยาว ลึกให้มันอยู่กับลมหายใจอยู่เสมอ แล้วก็ความคิดที่วิ่งวุ่นไปกับอดีตก็ตาม ไปกับอนาคตก็ตาม มันจะหยุด และจิตนั้นก็จะมีความเบาสบายยิ่งขึ้นตามลำดับ
ถ้าเรารู้ว่าการที่เราไปครุ่นคิดอยู่กับอดีตก็ตาม กับอนาคตก็ตาม เป็นความสูญเสีย เราก็จะเสียดาย เราจะค่อยๆ เสียดายเอง เคยรู้สึกไหมคะ ว่าสิ่งที่มีค่าของเรานอกจากเงิน เวลา นี่ก็มีค่าอย่างยิ่งเลย อย่างที่เราพูดกันว่า เวลาไม่พอ เวลาไม่พอในการทำการงาน แล้วทำไมไม่รวบรวมเวลาเหล่านั้นมาไว้กับการทำการงาน ไปยอมเสียทำไมกับความคิดที่ไร้สาระ กับสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ ใช่ไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ: อาจารย์คะ เวลานั่งแล้วเมื่อยทนไม่ค่อยได้ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นั่งแล้วเมื่อย อันนี้ก็เป็นธรรมดาล่ะ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เราก็คุ้นเคยกับการนั่งเก้าอี้ ใช่ไหมคะ เรานั่งเก้าอี้แล้วห้อยแข้งห้อยขา นี่เรามานั่งฝึกสมาธิ เรานั่งพับเพียบ หรือว่าเรานั่งขัดสมาธิ แข้งขามันก็ต้องพับ มันก็เป็นธรรมดา แต่ถ้าหากว่าจิตสามารถอยู่กับลมหายใจได้ เชื่อไหม มันจะไม่คิดถึงความปวดความเมื่อย ไม่คิดถึงอดีต ไม่คิดถึงอนาคต เพราะมันมีความสุข มีความพอใจอยู่กับความสงบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
แต่ที่มันไปคิดโน่นคิดนี่ รวมทั้ง แหมปวดจริงเมื่อยจริงนี่ เพราะจิตไม่ได้อยู่กับลมหายใจ มันก็เลยไปคิดโน่นคิดนี่อยู่เรื่อย
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราอยากจะทดลองว่าเราแข็งจริงมั้ย คือ จิตนี่แข็งจริงไหม พอรู้สึกปวดเมื่อย ตั้งสติ กำหนดลมหายใจ แล้วกำหนดจิตเพ่งลงไปอยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น ลืมความปวดเมื่อย ลองดูสิ นี่พูดถึงว่าร่างกายเราแข็งแรงนะคะ เราไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับแข้งขา เคยประสบอุบัติเหตุหักมาหรืออะไรมานะคะ ร่างกายเราแข็งแรง เพราะฉะนั้นเราก็ทดลองดูว่าเราจะมีใจเข้มแข็งพอไหม หากว่าเราสามารถทำได้ ความปวดเจ็บมันจะหายไปเองโดยอัตโนมัติ
ผู้ดำเนินรายการ: ผู้ใหญ่อายุมาก ท่านจะนั่งได้หรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากว่าท่านไม่เคยฝึกมา ตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ก็ลำบาก ถ้ามาฝึกเมื่ออายุมากแล้ว อย่างนั้นเราก็อนุโลมได้ ถ้าหากว่ารู้วิธีและก็กำหนดจิตบังคับจิตได้ ก็อาจนั่งเก้าอี้ก็ได้ แต่ว่าต้องนั่งอย่างสำรวม คือว่าไม่ใช่นั่งตามสบาย ต้องนั่งอย่างสำรวม สำรวมจิตให้อยู่กับลมหายใจด้วยการสำรวมกายในท่านั่ง ให้รู้สึกตัวอยู่เสมอในการนั่ง
ผู้ดำเนินรายการ: ต้องหลับตา จำเป็นไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: การที่หลับตานี่ อาจจะบอกได้ว่า ในตอนแรกไม่จำเป็น เพราะถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าใจเรายังไม่พร้อมที่จะหลับตาแล้วไปบังคับให้หลับตา เราจะรู้สึกปวดตรงหัวคิ้วใช่ไหมคะ บางทีก็เครียดไปหมดเลยตรงแถวหน้าผาก เพราะฉะนั้นก็ขอแนะนำว่า ในตอนแรกไม่จำเป็นต้องหลับตา แต่ว่าอย่ามองไกล อย่ามองให้กว้างไปโน่นไปนี่ เพราะอะไร เพราะถ้าเรามองไกลมองกว้างไปโน่นไปนี่ คิด ชมนกชมไม้ชมโน่นนี่ สายตาเห็นอะไรเข้า หูได้ยินอะไรเข้า ก็ผวาไปเอากับมัน ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็ หลบตาลงต่ำประมาณจากหน้าตักไปประมาณสักหนึ่งเมตร เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะการพบการเห็นกับสิ่งโน้นสิ่งนี้ แล้วกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจเรื่อยๆ ถ้าจิตอยู่กับลมหายใจ จนกระทั่งจิตนี้สงบเข้าๆ ไม่ช้าหรอก ตามันหลับเอง พอจิตเริ่มเป็นสมาธิ ตาหลับเองโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่หลับง่วงนะ แต่หมายความว่า มันหลับเพราะมันมีความสงบมากยิ่งขึ้น ตานี่มันก็ปิด มันก็หลับลงมาเอง อย่างที่โดยไม่ต้องบังคับให้มันหลับ และการที่ตามันหลับเองโดยอัตโนมัติอย่างนี้นี่ มันเบาสบาย และไม่รู้ปวดรู้สึกเครียดที่หน้าผากเลย
เพราะฉะนั้นถ้าฝึกปฏิบัติทีแรกรู้สึกว่ายังหลับตาไม่ได้ ก็ไม่ต้องหลับ ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ฝึกจิตให้อยู่กับลมหายใจให้ได้เสมอ
ผู้ดำเนินรายการ: แต่มันง่วงนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าง่วง ก็ต้องดูว่าความง่วงเกิดจากอะไร มีอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ง่วง ถ้าสมมติว่าง่วงเพราะว่าเราทำงานหนักเหน็ดเหนื่อยมาตลอดเวลาการพักผ่อนไม่พอ อย่างนี้มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของร่างกาย ของสังขารร่างกาย ก็ต้องพัก
คือ ต้องพัก พักนี่หมายความว่า สมควรจะนอน เราก็ไปนอนงีบสักครึ่งชั่วโมง หรือ หนึ่งชั่วโมงให้หลับให้สนิทให้สบาย เสร็จแล้วเราก็ลุกขึ้น พอเรารู้สึกว่าอิ่มเพียงพอแล้วก็ลุกขึ้น อาบน้ำอาบท่า แต่งตัวใหม่อย่าไปนอนกลิ้งไปกลิ้งมา ถ้ารู้สึกว่าหลับพอแล้ว พอลืมตาตื่นแล้วยังนอนกลิ้งไปกลิ้งมา นี่มันขี้เกียจ มันไม่ใช่พัก มันไม่ใช่การพักผ่อน มันเกียจคร้าน แล้วลุกขึ้น แล้วก็พออาบน้ำอาบท่า เนื้อตัวเบาสบาย สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดตึงแน่น เพื่อที่การนั่งจะได้สบายด้วย เราก็เริ่มมาทำสมาธิใหม่
ถ้าหากความง่วงมันเกิด เพราะเหตุที่ร่างกายต้องการการพักผ่อน เราก็ต้องให้ แต่ถ้าหากมันง่วง เพราะว่าร่างกายก็แข็งแรงดี นอนก็เต็มอิ่มแต่มันง่วงเพราะว่า เป็นคนขี้ง่วง อย่างนี้เราก็ต้องแก้ไข เราก็ต้องแก้ไขความขี้ง่วงของเรานั้น ด้วยวิธีที่นั่งตัวตรงนะคะ หายใจยาวลึก เพื่อขับไล่ความง่วงนั้นออกไป ให้หลายๆ ครั้ง หลายๆ ที ยาว ลึก ยาว ลึก หายใจไปเถอะ ไม่กี่ครั้ง แล้วมันก็ไม่ได้สักกี่ครั้ง มันก็ต้องกลับมาหายใจธรรมดา อย่างที่เราหายใจอยู่นี่ เพราะหายใจ ยาวลึก มันไม่ใช่ธรรมชาติ มันเหนื่อย ไม่ช้ามันก็กลับมาอยู่กับลมหายใจธรรมดา เสร็จแล้วกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจธรรมดานี่ให้ได้ ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมทุกขณะที่หายใจเข้าและออก ลองดูสิ ความง่วงหายไปไหม ถ้ายังไม่หาย ก็นวดตรงหัวคิ้วตรงหน้าผากนี่ แล้วก็ขยี้ตา บางคนเขาก็ใช้มือสองมือนี่ ถูกันเข้า ถูกันเข้าให้แรงๆ จนเกิดความร้อน แล้วเสร็จแล้วก็ใช้ตรงนี้ประคบเข้าไปที่ลูกนัยน์นาเพื่อให้ได้รับความร้อน ก็จะทำให้คลายง่วงได้อีกเหมือนกัน
หรือมิฉะนั้นก็ให้ลองนึกถึงว่า ขณะที่เราปฏิบัตินี่มันเป็นสว่าง เวลาสว่างเที่ยงวัน แสงแดดจ้า มันเรื่องอะไร นี่มันไม่ใช่เวลานอน อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็พยายามย้อนนึกถึงอะไรที่ช่วยให้จิตนี้มีความบันเทิง ก็ลองใช้ศิลปะหลายอย่าง นอกจากนั้นถ้าเรากำลังนั่งอยู่ ก็เปลี่ยนเป็นเดิน ลุกขึ้นยืน หายใจยาว บริหารร่างกายเสียบ้างให้กล้ามเนื้อคลายตัว แล้วก็แทนที่จะนั่งก็เปลี่ยนเป็นเดิน เดินจงกรม คือ เดินกลับไปกลับมา เดินตามยาวนะคะ
คำว่าเดินจงกรมนี่ กรม คือ ก-ไก่ ร-เรือ ม-ม้า ไม่ใช่ กลม ที่แปลว่า วงกลม ไม่ใช่เดินเป็นวงกลม แต่ว่าเดินตามยาว ให้เราเลือกระยะทางของการเดินจงกรมประมาณสัก ๑๕ ก้าว สมมติว่าเราตั้งต้นจากจุดนี้ แล้วก็ไปสุดที่จุดโน้น เวลาเดินนี่ก็เลือกที่เดินที่มันเกลี้ยงเกลา ถ้าสมมติว่ามันมีหนาม มีใบไม้กิ่งไม้ ก็กวาดทำความสะอาดเสียก่อน เพื่อว่าเราจะเดินได้สบายไม่ต้องคอยระวังว่าเดี๋ยวหนามจะตำหรือว่ากิ่งไม้ดังกรอบแกรบอะไรอย่างนี้ ทำความสะอาดแล้วก็ยืนนิ่ง ให้จิตเป็นสมาธิกำหนดจิตอยู่กับลมหายใจแล้วถึงค่อยๆ ก้าวเท้า ไปช้าๆ โดยไม่ต้องเอาใจใส่กับฝีเท้า แต่กำหนดจิตอยู่กับลมหายใจเรื่อยๆ รู้สึกเหมือนกับเราเดินเล่นอยู่ในป่า ตอนแรกๆ นี่มันก็จะงุ่มง่าม เท้านี่มันก็จะงุ่มง่าม มันจะรู้สึกเหมือนมันจะพันกัน ประเดี๋ยวก้าวสั้น ประเดี๋ยวก้าวยาว ช่างมัน อย่าไปใส่ใจ คงบังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจเรื่อยๆ ไม่ช้าพอจิตสงบดี การเดินย่างก้าวจะเป็นธรรมชาติ นี่เราก็เปลี่ยนด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถ ก็จะช่วยให้ความง่วงหาย
ผู้ดำเนินรายการ: เวลาเช้าหรือดึกจะดีกว่ากันครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนี้ก็แล้วแต่แต่ละคน ที่จริงแล้วถ้าสามารถทำได้ทั้งตอนกลางคืนก่อนนอนถ้าไม่เหนื่อยเกินไป และก็ตอนเช้าที่พอตื่นขึ้นนะคะ ถ้าสามารถทำได้ในขณะที่จิตใจมันก็ยังสบาย ถ้ายังไม่ได้ใช้พลังงานในตอนเช้าเลยก็จะดีทีเดียว
ผู้ดำเนินรายการ: ช่วงเวลากี่นาทีต่อครั้ง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนี้อย่ากำหนด ถ้าหากเราเป็นคนทำงาน ก็ให้แล้วแต่ว่าเราจะมีเวลาเท่าไหร่ ถ้าสมมติว่าเราสามารถจะสละเวลาได้สักครึ่งชั่วโมงโดยเฉลี่ยเราก็ทำ แต่การปฏิบัติให้สม่ำเสมอติดต่อกันนี่แหละสำคัญมาก สิบห้านาทีก็ยังดี แต่ขอให้ทำทุกวัน ครึ่งชั่วโมงก็ยังดี ขอให้ทำทุกวัน
ผู้ดำเนินรายการ: เหมือนกับการรับประทานอาหาร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ ทำจนเป็นกิจนิสัยแล้วมันจะต่อเนื่องกัน และก็นอกจากนี้ พอถึงในระหว่างวัน พอจิตของเรานี่ เราเคยสงบมาจากการนั่งสมาธินะคะ ทีนี้พอเราออกจากสมาธิแล้ว รักษาจิตที่สงบนิ่งเอาไว้ รักษาสภาวะประคองจิตที่สงบเอาไว้ แล้วก็รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่กับลมหายใจอยู่เสมอ พอเราจะเดิน เราจะทำกิจวัตรอะไร เข้าห้องน้ำหรือว่าทำงาน หรือว่ารับประทานอาหาร หรือว่า เดินทางนั่งรถเมล์ หรือแม้แต่อยู่ในที่ทำงาน ให้รู้ลมหายใจทุกขณะ นี่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติสมาธิเช่นเดียวกัน
แล้วพอถึงเวลาที่เราจะนั่งสมาธิ สังเกตนะคะจิตมันรวมได้เร็ว นี่เรียกว่าเราได้ฝึกจิตให้มีสมาธิ ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา มีคำถามอะไรอีกไหมคะ มีปัญหาอะไรในการปฏิบัติอีกไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ฝึกแล้วเหมือนไม่ทราบว่าลมหายใจเข้า หรือ ออก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ นั่นก็คือไม่ได้ฝึก ไม่มีสติ มานั่งลอยๆ อยู่เฉยๆ เท่านั้นเอง ถ้าเรานั่งกำหนดสติลงไปเราจะต้องรู้ ว่าลมหายใจนั้นมันมีเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มันจะต้องเข้า มันจะต้องออก ต้องรู้อยู่ตลอดเวลา ถ้าสมมติเราฝึกเราจะต้องรู้ ถ้าเราไม่ได้ฝึก แล้วเราไม่รู้เมื่อไหร่เข้าเมื่อไหร่ออก รู้แต่ว่านั่นจิตเรามันลอยไปไหนก็ไม่รู้ ลอยไปอยู่กับอดีต หรือลอยไปอยู่กับอนาคต คิดโน่นคิดนี่จิตไม่ได้อยู่ นี่ล่ะเป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นการตัดสินว่า กำลังปฏิบัติอยู่หรือเปล่า กำลังกำหนดจิตอยู่กับลมหายใจอยู่หรือเปล่า
เพราะฉะนั้นจึงได้เน้นย้ำแล้วว่า เราต้องรู้สึก การปฏิบัติ ปฏิบัติด้วยความรู้สึก รู้สึกทุกขณะที่ลมหายใจเข้า อ้อ มันกระทบช่องจมูกนี้ พอออกมันกระทบช่องจมูกนี้ เห็นมั้ยคะ หายใจเข้าลองดู มันต้องกระทบ พอออกมันก็ต้องกระทบ กำหนดจิตลงไปตรงจุดที่ลมหายใจกระทบ ทั้งเข้าและออก ทั้งเข้าและออกให้รู้สึกอยู่ทุกขณะ นี่ จิตมีสติ แล้วมันจะตื่น มันจะไม่ไปไหน ถ้าหากมันหลุดมันไม่รู้เมื่อไหร่ ก็นั่นแหละแสดงว่าจิตนั้นไม่ได้อยู่กับลมหายใจ ถ้าเราดูด้วยความรู้สึก เราจะไม่หลง และก็ไม่หลุดเลย แต่ถ้าเราคิดว่าเรากำลังอยู่กับลมหายใจ มันจะไม่เกิดการปฏิบัติที่แท้จริง จิตก็จะวุ่นจะไม่สงบ เพราะฉะนั้น ขอให้ลอง ทดลองดู แล้วก็ต้องปฏิบัติอย่างชนิดซื่อสัตย์กับตัวเอง อย่าหลอกตัวเอง ถ้ายังมาหลอกตัวเองในการปฏิบัติจิตตภาวนาอีก จะหมดหนทาง ไม่มีหนทางอีกแล้ว ว่าจะทำยังไงที่จะให้ชีวิตมีความสงบเย็นได้ ไม่มีหนทาง นี่เป็นหนทางสุดท้าย ฉะนั้นขอให้ตั้งใจ แล้วก็ลองปฏิบัติจนประจักษ์ในคุณค่า แล้วก็จะรู้สึกว่ามันคุ้มค่าแก่ชีวิตของเราที่จะทุ่มเทลงไปในการปฏิบัติ
ผู้ดำเนินรายการ: เวลานั่งสมาธิ จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่จำเป็น ถ้าหากว่าเราได้รับการสอนที่ถูกต้อง เราก็จะรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง แล้วก็เอาจิตอยู่กับลมหายใจตลอด อะไรเกิดขึ้น เป็นเช่นนั้นเอง ดึงกลับมาอยู่กับลมหายใจให้ตลอด ก็ขอให้ทดลองใหม่นะคะ ลองทดลองใหม่ ลองฝึกปฏิบัติให้ติดต่อกัน แล้วก็จะเห็นผล สำหรับวันนี้ ธรรมสวัสดีนะคะ