แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมะสวัสดี เมื่อคราวที่แล้วเราคุยกันถึงเรื่องของชีวิตนะคะ แล้วเราก็จบลงด้วยว่ารางวัลของดารา ของเวทีชีวิตของโลกนี้นั้นที่ได้คือ ความสุข สงบใจ ที่นี้ทำอย่างไรล่ะ เราจึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยมีรางวัลของชีวิตอยู่ทุกขณะ ก็มีสิ่งที่กล่าวถึงอันเป็นสัจจะของชีวิต ก็กล่าวว่า ชีวิตของเรา คือของมนุษย์ทั้งหลายนี้จะดำรงอยู่ได้ก็คือด้วยหน้าที่ ด้วยหน้าที่เท่านั้นเอง ถ้าปราศจากหน้าที่ ชีวิตนี้ก็เหมือนกับตายแล้ว เห็นด้วยหรือเปล่าคะ
พิธีกรชาย: อาจารย์หมายความว่าหน้าที่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือว่าชีวิตมนุษย์นี่ที่ดำรงอยู่ได้ ที่ยังหายใจอยู่นะ ตราบใดที่ยังไม่หยุดหายใจ ชีวิตก็ยังเคลื่อนไหวไป แต่ที่มันยังดำรงอยู่ได้แล้วก็ยังมองหน้ามองตาผู้คนได้อย่างธรรมดา แล้วมีความสุขด้วย มีความพอใจด้วย เพราะมีหน้าที่นะ มีหน้าที่ไหมคะนี่ มีรึเปล่า
พิธีกรหญิง: ซึ่งคนที่เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นครู แล้วก็ใครที่ทำหน้าที่อะไรก็ต้องทำหน้าที่นั้นให้สมบูรณ์ ใช่ไหมคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค๋ะ คือผู้ที่ทำหน้าที่อันเรียกว่าเป็นงานการที่ตนรู้สึกว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น นี่อย่างเรา เรารู้สึกว่าเรามีหน้าที่ไหม เราทุกคนนี่ เรามีหน้าที่ไหมคะ เรา สมมติว่าเราทำหน้าที่เป็นอาจารย์ คือเรามีงานในตำแหน่งอาจารย์เราก็ทำหน้าที่ในฐานะอาจารย์ อย่างเต็มที่ เต็มภูมิความรู้ความสามารถ เต็มฝีมือ แล้วก็ลูกศิษย์ก็พึงพอใจในการสอนในการอบรม ในวิชาการที่ให้ เราเองก็พอใจในการงานที่เราได้ทำหน้าที่ของอาจารย์อย่างเต็มที่ หรือผู้ใดที่ทำหน้าที่เป็นพ่อ คือได้ชื่อว่าเป็นพ่อ ได้ชื่อว่าเป็นแม่ ก็ทำหน้าที่ของพ่อที่ดี ทำหน้าที่ของแม่ที่ดี ให้การศึกษา การเลี้ยงดูอบรมลูก พร้อมๆ กับดูแลบ้านช่อง ครอบครัว ให้ได้รับความสุขสงบสวัสดีกันทั่วถึง นี่ก็เรียกว่าทำหน้าที่ เรียกว่ามีหน้าที่ ที่ได้ชื่อว่ามีหน้าที่สิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น อย่างผู้ที่ทำหน้าที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบวช เราก็ทำหน้าที่ของนักบวชที่จะเป็นตัวอย่างได้ ว่านักบวชนั้นควรจะมีความประพฤติปฏิบัติอย่างไร มันจึงจะงดงามทั้งภายนอกและภายใน นี่เรียกว่าเราอยู่กันด้วยหน้าที่
และมนุษย์ใดที่รู้สึกว่าเมื่อตนมีหน้าที่ อย่างน้อยที่สุดก็คือหน้าที่ของคนนั่นละ เกิดมาเป็นคนควรดำรงชีวิตอย่างไรจึงจะสมกับเป็นคน แล้วยังมีต่ำกว่าคนใช่ไหมในโลกนี้ มันยังมีต่ำกว่าคน ถ้าเราไม่อยากจะลดลงไปให้ต่ำกว่าคน เกิดเป็นคนเราควรจะทำหน้าที่อย่างไร มันถึงจะเหมาะสม แล้วก็ภาคภูมิใจได้ ถ้าเราภาคภูมิใจได้เท่านั้นละ เราก็รู้สึกว่าเราจะเดินได้ พูดทางภาษาทางโลกธรรมดา ก็อย่างที่เขาบอกว่าเดินเชิดหน้าได้ ไม่ต้องหลบตาใคร แต่ไม่ใช่ยโส ไม่ใช่โอหัง ไม่ใช่ทระนงว่าเราวิเศษ แต่เรารู้ว่าเราได้ทำอะไรที่มีประโยชน์ ประโยชน์แก่ตัวเอง ประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่เบียดเบียนใคร อย่างนี้ท่านจึงบอกว่านี่เป็นสัจจะของชีวิตเลย ถ้าไปดูว่าทำไมชีวิตบางชีวิต รู้สึกว่ามันเฉา ชีวิตนี้มันเฉา มันเหี่ยว มันวังเวง มันเหมือนกับตายซาก มันมีเหมือนอะไรตายซาก ไปดูให้ดีๆ เถอะ เพราะว่าชีวิตนั้นรู้สึกว่าไม่สามารถจะภาคภูมิได้ใช่ไหมคะ ไม่สามารถจะภาคภูมิใจในการกระทำของตนได้
เพราะตนมีหน้าที่ อย่าลืม เพราะอย่างน้อยที่สุดเป็นคน แล้วเขาไม่เรียกเป็นคนเฉยๆ ด้วย เป็นมนุษย์ จะต้องพัฒนาจากคนให้เป็นมนุษย์ คือผู้มีใจประเสริฐ จิตใจสูง ถ้าทำไม่ได้อย่างนี้ มันก็รู้สึกอาย ถึงแม้ข้างนอกจะทำกร่าง อย่างที่เขาเรียกว่ากร่าง กร่างใส่คนโน้น กร่างใส่คนนี้ จนใครเขาอยากจะหักความกร่างนี้ซักที นั่นมันชวนให้หมั่นไส้อย่างนั้นน่ะ ก็มี แต่ในใจรู้อยู่เลย ที่เรากร่างนี่ เพราะข้างในมันโหวง มันเปล่า มันไม่มี ก็เลยทำข้างนอกกร่างเอาไว้ก่อน เรียกว่าข่มคนอื่นไว้ในที ตัดไม่ข่มนาม อะไรทำนองอย่างนั้น นี่ก็เพราะว่ารู้สึกว่า เราทำหน้าที่นี้ยังไม่พอ มันไม่เหมาะ ชีวิตนี้ก็เลยเดินไปอย่างเฉาๆ อับๆ หมองๆ น่าเวทนา น่าสงสาร
พิธีกรชาย: ขออนุญาตนิดนึง อาจารย์ครับ บางคนก็ทำหน้าที่ตัวเองอย่างสมบูรณ์ แต่มันก็ยังมีปัญหาในชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย มันก็เฉาเหมือนกันนะครับ เพราะหน้าที่ก็ทำอยู่ ไม่ใช่ไม่ทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนั้นหมายความว่า ทำหน้าที่ แต่ในการทำหน้าที่ได้ในระดับหนึ่ง เป็นคนดีในระดับของศีลธรรม ที่เขายอมยกให้เป็นคนดี แต่เสร็จแล้วก็ยังไม่รู้ว่า ยาพิษของชีวิตนี้คือความหวัง ใช่ไหมล่ะ ยาพิษของชีวิตคือความหวังไม่ใช่อย่างอื่น ทำดี ทำถูกต้อง ทำเพื่อคนอื่น แต่เราก็ยังมีความรู้สึกเป็นทุกข์ เฉา ก็เพราะมันหวังนะซิคะ แล้วมันไม่ได้อย่างหวัง มันก็เลยรู้สึกว่าชีวิตนี้มันเฉา จริงๆ ชีวิตนั้นดำรงอยู่ได้แล้ว แต่เพราะว่าไปหักมุมผิดนิดเดียว นิดเดียวนะ มันเลยเกิดความทุกข์เพราะไม่รู้ว่า ยาพิษของชีวิตคือความหวัง เพราะเราได้รับคำสอนมาตั้งแต่เด็กๆ ใช่ไหมค่ะ ว่าชีวิตนี้อยู่ได้เพราะมีหวัง เพราะมีความหวัง ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ ชีวิตนั้นยังมีหวัง มันก็ถูกเหมือนกัน มันก็ไม่ผิด แต่ถ้าหากว่าหวัง และจะเอาให้ได้อย่างหวัง ก็เท่ากับกำลังดื่มยาพิษ
แต่ถ้าหวังแล้วทำให้เต็มที่เลย อะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่พึงทำเพื่อให้ความหวังสมปรารถนา ทำอย่างถูกต้องนะคะ ถูกต้องคือไม่เบียดเบียนใคร แล้วตัวเองก็ไม่ต้องทุกข์ นี่เขาเรียกว่าเป็นความหวังด้วยสติปัญญา หวังด้วยสติปัญญา คือหวังแล้วก็ทำเต็มกำลังความสามารถที่ถูกต้อง แล้วก็พอผลเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็พอใจ พอใจอย่างนั้น เพราะมันภูมิใจได้ว่าเราทำดีเต็มที่แล้ว ทำเต็มฝีมือความสามารถแล้ว มันก็ไม่ทุกข์ นี่มันก็ไม่ต้องทุกข์ เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานเต็มที่แล้วก็ยังทุกข์ เพราะทำไปพร้อมๆ กับการกลืนยาพิษไป จิบยาพิษไปทีละน้อย ละน้อย ละน้อย ไม่ใช่ยาพิษอื่น ยาพิษของความหวัง
และอันที่จริงนั่นนะ ที่กินยาพิษเข้าไปก็เพราะหวัง ทีแรกพอเราทำไปเราก็หวังซักแค่นี้ เสร็จแล้วมันก็ได้ พอได้เท่านั้นแหละ มันควรจะได้แค่นี้นะ หรือมันควรจะได้แค่นี้นิ เห็นไหม ในความหวังนะ พอหวังเมื่อไหร่ มันมีความโลภ มีความโลภปนอยู่ ไม่มากก็น้อย โลภเพราะว่ามันไม่ได้มากอย่างที่คิด มันไม่ได้เร็วอย่างที่คิด อย่างที่พอใครได้สองขั้น แล้วมีเพื่อนมาแสดงความยินดี มันช้าเกินไป ฉันนะเซ็งซะแล้ว กว่าจะได้ หวังจนไม่อยากหวัง นี่นะเห็นไหม จิบยาพิษทีละน้อย ละน้อย ไม่มีใครบังคับให้กิน ตัวกินของตัวเอง แล้วก็ไปเที่ยวหามาเอง เสาะแสวงหายาพิษมากินเอง จะไปโทษใคร
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าชีวิตที่จะดำรงอยู่ได้นี้ ก็คือทำหน้าที่ ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง พร้อมกับดื่มน้ำฝนบริสุทธิ์ น้ำฝนบริสุทธิ์ ดื่มไปมันก็มีแต่ความหวาน เย็น ชุ่มชื่นใจ
พิธีกรชาย: อะไรคือน้ำฝนบริสุทธิ์ในชีวิตล่ะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็อะไรคือยาพิษละคะ
พิธีกรชาย: ความโลภ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: พูดเมื่อกี้นี่เอง
พิธีกรชาย: ความหวัง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ความหวังนะซิ คืออย่าไปดื่มยาพิษ ถ้าเราหยุดดื่มยาพิษ เราก็ได้ดื่มน้ำฝนเท่านั้นเอง ก็เลือกเอา
พิธีกรชาย: ทำอะไรไม่หวัง มันก็เซ็งเหมือนกันนะ
พิธีกรหญิง: ไม่ก้าวหน้าหรือเปล่าคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ขา
พิธีกรชาย: เซ็งเหมือนกันนะ ทำอะไรไม่หวัง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ขอถามนิดนึง ที่จริงเคยถามมาหลายครั้งแล้วนะคะ ท่านผู้ฟังที่ติดตามรายการนี้คงตอบได้เร็วกว่าอีกด้วยซ้ำไป เพราะว่าได้เคยถามมาแล้วว่าเวลาที่เราทำอะไรอย่างเต็มที่ เต็มฝีมือความสามารถเลย อยู่เสมอเลยนะคะ เต็มที่จะหวังหรือไม่หวัง ผลมันจะแตกต่างกันไหม
พิธีกรชาย: ไม่ต่าง
พิธีกรหญิง: ก็ไม่แตกต่างกันเลยซิคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วทำไมถึงจะต้องหวังให้เป็นทุกข์ด้วยละ ในเมื่อถึงเราจะหวังก็ตาม เราก็ทำดีกว่านี้อีกไม่ได้แล้ว ถ้าหันมาถามตัวเองว่าฉันทำดีกว่านี้ได้อีกไหม มีอะไรที่ฉันยังไม่ได้ทำ แล้วคำตอบก็ออกมาว่าทำเต็มที่หมด ไม่มีอะไรเลยที่ละเลยไม่ทำ แล้วทำไมถึงต้องไปหวังให้ความทุกข์ซ้ำสอง อย่างที่ท่านบอกว่าเป็นถูกลูกศรอาบยาพิษดอกที่สอง ทำไมถึงต้องทำอย่างนั้น
ก็ทำเต็มที่แล้วนี่ หวังหรือไม่หวังก็ให้ผลเท่ากัน เพราะฉะนั้นหากเราทำเต็มที่แล้วเราไม่หวัง ก็เหมือนกับว่าเรากำลังดื่มน้ำบริสุทธิ์ นี่เป็นสัจจะของชีวิตเลย
แล้วถ้าหากคนไหนที่รู้สึกว่าชีวิตฉันไม่มีค่า ไม่มีความหมาย นั่นแหละคือชีวิตที่ดำรงอยู่โดยไม่ได้ทำอะไร หรือก็อาจจะเถียงว่า ฉันทำจนเต็มที่จนฉันทนไม่ไหวแล้ว ฉันจึงไม่อยากอยู่ ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ เขาทำไปดื่มยาพิษไป ทำไปดื่มยาพิษไป ชีวิตนี้มันก็เลยถูกยาพิษเข้าไปอาบอยู่ในจิตจนจิตนี้มันขม มันขม มันเจ็บปวด มันทนทรมาน จนรู้สึกว่าไม่มีที่ในใจ
พิธีกรชาย: ขอวิธีถอนยาพิษสั้นๆ ซิครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หยุดหวัง ทำโดยไม่หวัง นี่คือการถอนยาพิษ
พิธีกรหญิง: คือทำให้ดีที่สุดแต่ไม่ต้องหวังสิ่งตอบแทนว่าจะได้อะไร
พิธีกรชาย: พูดได้ทำยาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะฉะนั้นนะซิคะ คนที่จะได้รางวัลตุ๊กตาทองของชีวิตโดยสมมติมันจึงน้อยไง มันจึงได้ถ้วยยาพิษ ได้ถ้วยทองคำนั่นละ แต่มันมียาพิษอยู่ในนั้นแทน ตลอดเวลา แทนที่จะได้ถ้วยน้ำฝนซึ่งแม้แต่ว่าจะใส่ในถ้วยแก้วธรรมดา หรือถ้วยกระเบื้องธรรมดาแต่ดื่มแล้ว มันชุ่มชื่น มันชุ่มชื่นอิ่มเอิบเยือกเย็น นี่เพราะไปหวังถ้วยทองคำ เลยไม่รู้ว่าในนั่นมียาพิษเต็มอยู่ทั้งถ้วย เพราะฉะนั้นนี่เป็นสัจจะของชีวิต ผู้ที่ท่านมีปัญญา ท่านจึงเคารพการทำหน้าที่เป็นสิ่งสูงสุดเลยในชีวิต
เพราะชีวิตนี้จะอยู่ ขอให้ได้ทำหน้าที่ แล้วก็ให้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องด้วย
นี่ผู้มีปัญญานะ เพราะท่านได้มองเห็นแล้วว่าการที่เราหวังนี่ละ นั่นละคือการที่เรากำลังดื่มยาพิษ เอายาพิษกรอกใส่ปากตัวเอง ไม่มีใครเขากรอกให้ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์นี่ ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่ว่าดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติบอกว่าอย่างไร เราก็ทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นั่นก็คือว่า เราต้องยอมที่จะเตรียมใจให้พร้อมอยู่เสมอที่จะรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเปลี่ยนแปลงในทางดีก็ตามหรือจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ดีก็ตาม นี่คือกฎของธรรมชาติ ซึ่งเราจะพูดเรื่องกฎของธรรมชาติต่อไป เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะไม่พูดมาก ไม่เสียเวลามากในการที่จะพูดเรื่องกฎของธรรมชาติ
ถ้าสมมติว่ามนุษย์เรายอมดำรงชีวิตให้สอดคล้องตาม หรือสงเคราะห์ให้กับกฎของธรรมชาติ ชีวิตนี้ก็จะอยู่รอดปลอดภัย คำว่ารอดปลอดภัยหมายความว่า รอดปลอดภัยด้วยความสุขสงบเย็น ความสุขสงบเย็นไม่มีสิ่งที่จะทำให้จิตนี้ต้องระหกระเหินหรือว่าซัดเซพเนจร ฉะนั้นนี่เป็นหน้าที่ของคนต่อสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ควรจะรู้ว่าในการดำรงชีวิตอยู่ ควรจะดำเนินชีวิตอย่างนี้ แล้วก็หน้าที่ของตัวชีวิต ที่จะต้องมีแต่การกระทำ ก็คือการกระทำเพื่อต่อสู้ ต่อสู้เพื่อให้เกิดความเหมาะสม คือความถูกต้องที่จะดำรงชีวิตนี้ แล้วชีวิตนี้ก็จะอยู่รอดด้วยความสุขสงบใจ แล้วก็มีความเจริญไปตามลำดับขั้นจนอาจจะถึงที่สุดของความเจริญที่เรามีเป้าหมายอยู่ในใจ เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นสิ่งที่เราควรจะพิจารณา ถ้าหากว่าเราจะมาถามว่า สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้คืออะไร เพราะถ้าบอกว่าอันนั้นสิ่งมีชีวิต อันนี้สิ่งมีชีวิต สิ่งที่เรียกว่าสิ่งมีชีวิตนี้คืออะไร
พิธีกรชาย: สิ่งมีชีวิตหมายถึง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าเราจะบอกว่าอะไรนี่ ไอ้สิ่งนั้นนะยังมีชีวิตอยู่ตามภาษาคนที่พูดกัน
พิธีกรชาย: กายกับใจ
พิธีกรหญิง: มีลมหายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มีลมหายใจอยู่ อะไรยังหายใจอยู่ เราก็จะบอกว่าสิ่งนั้นยังอยู่ เพราะมันยังไม่ตาย ใช่ไหม นี่ภาษาคนที่เราพูดกันว่า สิ่งมีชีวิต ก็คือไอ้สิ่งที่ยังไม่ตาย ถ้าอะไรที่มันแห้งกรอบ อย่างเช่นใบไม้สีน้ำตาลที่อยู่ต่อหน้าเรา เราก็จะบอกว่าไอ้นี่ตายแล้ว อย่างใบไม้อย่างนี้ ก็เป็นใบไม้ตายแล้ว ยังไงๆ เอาไปปักที่ไหนมันก็ไม่ฟื้นอีกแล้ว อย่างนี้ มันไม่ฟื้นอีกแล้ว ใช่ไหม นี่มันตายแล้ว มันแห้งกรอบ มันมีแต่จะกลายเป็นปุ๋ย คืนสู่ธรรมชาติไป มันไม่เหลืออีกแล้ว นี่ ถ้าหากว่าในความหมายของคนทั่วไป เขาถามว่าสิ่งมีชีวิตคืออะไร ก็คือสิ่งที่ยังไม่ตาย แต่ว่าในภาษาธรรมนะ เราไม่ได้หมายว่าชีวิตนี่ คือการที่ยังหายใจอยู่เท่านั้น แต่ในความหมายของทางธรรมนั้นหมายความว่าความยังไม่สูญสิ้นคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ นี่แหละคือชีวิต ชีวิตที่ยังไม่ตายคือชีวิตที่ยังรักษาความมีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ไว่ได้อย่างครบถ้วน นี่คือชีวิตที่ยังไม่ตาย ฟังเข้าใจไหมคะ รับได้ไหมคะ
พิธีกรชาย: ตอนนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตอนนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจ ลองอธิบายซิ ที่ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจอย่างไร
พิธีกรชาย: ไม่สูญสิ้นคุณค่าความเป็นมนุษย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็มนุษย์แปลว่าอะไร มนะ (มะนะ) บวก บุษยะ (บุด สะ ยะ) มนะ ใจ บุษยะ ประเสริฐ มนุษย์ก็แปลว่าผู้มีใจประเสริฐ เป็นผู้มีใจสูง การที่เราจะยอมรับใครมีใจสูง หรือมีใจประเสริฐ เราเน้นไปที่ไหน เน้นไปที่ตำแหน่งการงาน
พิธีกรชาย: เปล่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ใช่ เน้นไปที่ทรัพย์สินเงินทอง
พิธีกรหญิง: ไม่ใช่
พิธีกรชาย: ไม่ใช่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ใช่ เน้นไปที่อำนาจ
พิธีกรชาย พิธีกรหญิง: ไม่ใช่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เน้นไปที่บริวาร มีครอบครัวเป็นสุข ไม่ใช่ แล้วคุณค่าของมนุษย์อยู่ที่ไหน
พิธีกรชายหญิง: งง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อยู่ที่คุณธรรม ใช่แล้ว อยู่ที่จิตที่มีคุณธรรม แล้วคุณธรรมในที่นี้เราหมายถึงอะไร คุณธรรม
พิธีกรชาย: การเป็นคนดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ดีอย่างไร ดีเยอะ ดียังไงที่มีคุณธรรม
พิธีกรหญิง: ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือ
พิธีกรหญิง: ไม่ทำร้ายตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือ ผู้ที่ไม่ทำร้ายตัวเอง ดีนะความหมายที่คำพูดอันนี้ ที่ไม่ทำร้ายตัวเอง เป็นยังไง คนที่ไม่ทำร้ายตัวเอง
พิธีกรหญิง: ไม่ทำความเลว สิ่งที่ไม่ดี แล้วทำใจให้สบายๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ทำความเลวให้คนอื่นดูถูกเหยียดหยาม นี่คือการไม่ทำร้ายตัวเอง แล้วอะไรอีก นี่เรียกว่าในระดับหนึ่ง ในระดับหนึ่ง ที่ไม่ทำความเลวเพื่อให้เป็นที่ดูถูกเหยียดหยามจากคนอื่น นี่เขาเรียกว่าเป็นการไม่ทำร้ายตัวเองในระดับหนึ่ง แต่มันน่าจะมีอีกระดับหนึ่งคืออย่างไร ลองนึกซิ ที่ไม่ทำร้ายตัวเองยิ่งไปกว่านั้น คนที่รักษาชื่อเสียงเกียรติยศเป็นอย่างดีเลย แล้วคนนั้นยังทำร้ายตัวเองอยู่ มีไหม
พิธีกรหญิง: มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เคยเห็นไหม เป็นยังไงคะ ทำร้ายด้วยวิธีไหน ยังทำร้ายตัวเองอยู่ คิดว่ามี คุณว่ามี เป็นยังไง
พิธีกรหญิง: ยกตัวอย่างไม่ออก ว่าเคยเห็นที่ไหน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เราเองนี่ละ ที่นั่งอยู่ตรงนี้ละ เราเคยทำร้ายตัวเองบ้างไหม ทั้งๆที่เราก็เป็นคนดีนี่ละ เราเป็นคนดี เราทำความดีให้ใครใครยอมรับว่าเราเป็นคนดี ไม่มีใครดูถูกเรา ที่เรานั่งอยู่ด้วยกัน ไม่มีใครดูถูกเรา เขายอมรับว่าเราพยายามทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นอยู่เสมอ ให้มากเท่าที่เราทำได้ แต่ในขณะเดียวกันนี่ ยังทำร้ายตัวเองอยู่หรือเปล่าคะ ทำหรือเปล่า ทำไหมคะ ยึดมั่นแล้วเป็นไง ยึดมั่นในความดีแล้วเป็นทุกข์ นั่นแหละ คนที่ทำร้ายตัวเอง นี่ที่เรียกว่าขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ระดับที่คุณวราบอกทีแรกนั้นก็คือว่า ไม่ทำร้ายตัวเอง เพื่อรักษารูปภายนอกเอาไว้ ที่เขาบอกว่ารักษาฟอร์มนะ
รักษาฟอร์มให้มันดี มีมาดดี มีชื่อดี มีหน้าดี ไม่ให้ใครเขามาดูถูกได้ว่าไอ้นี่ทำไอ้นั่นไม่เหมาะสม ไปแอบทำอะไรลับๆ อย่างนี้ พยายามไม่ทำ เรียกว่ารักษาฟอร์ม แต่ว่านี่ก็เป็นระดับหนึ่ง เรียกว่าในระดับของศีลธรรม ในระดับของศีลธรรมนี้ ก็จะเป็นคนดีมีคุณธรรม ก็เป็นมนุษย์แต่ในขณะเดียวกันนี้ มนุษย์นี้ก็ยังไม่มีคุณธรรมสูงสุดอยู่เพราะยังทำร้ายตัวเองอยู่ ยังทำร้ายตัวเองอยู่ก็คือว่า ข้างนอกนี่มันสวยมันงาม น่าดู โก้เก๋ทุกอย่าง แต่ข้างในนี่มันร้อน มันร้อนอยู่เรื่อยก็เหมือนอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่ามันร้อนเพราะความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นจะเอาให้ได้อย่างใจของตัว แล้วประเดี๋ยวก็มีความไม่พอใจ ความไม่ถูกใจในสิ่งที่เข้ามากระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ประตูใจเปิด ที่เรียกว่าทนต่อผัสสะอะไรไม่ได้ ที่ทนไม่ได้ มันก็หันกลับมา ก็เพราะว่ายึดมั่น ยึดมั่นเพราะอะไร ใครยึด ตัวฉันยึด ขอให้ถามเสมอนะคะ ถ้าพอรู้สึกเจ็บขึ้นมา เราถาม ใครเจ็บ ฉันเจ็บ ใครทำให้เจ็บ
พิธีกรชายหญิง: ฉัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ฉันทำฉันเอง ไม่มีใครทำฉันได้ ใช่ซิ ที่เรามองไม่เห็นนั่น สิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างยิ่ง อยู่ที่ไหน ยังไม่รู้เลย เรารู้ว่ามันอยู่ในชีวิตนี้ แล้วมันอยู่ตรงไหน ยังไม่รู้เลย แต่เรารู้ว่าจิตนี้เจ็บ จิตนี้ช้ำ จิตนี้ปวด จิตนี้ทรมานเหลือเกิน เรารู้ เพราะงั้นเราเองยังไม่รู้ แล้วใครจะมารู้จิตเรา เพราะงั้นใครจะมาทำร้ายจิตเราได้ใช่ไหม นอกจากเจ้าของจิตนั่นแหละ
จิต เจ้าของจิตตัวนั้น ทำร้ายจิตเอง ด้วยความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นความเป็นมนุษย์นี่ จึงยังไม่สมบูรณ์อย่างที่สุด
หรือยังไม่เป็นมนุษย์ที่เรียกว่าเต็ม มันยังมีความพร่องอยู่ มันยังมีความพร่อง มันจึงยังมีความดัง ดังอยู่ด้วยอะไร ดังอยู่ด้วยความทุกข์เพราะฉะนั้นอันนี้นะ มนุษย์คือผู้มีใจสูง ถ้าสูงในระดับธรรมดาก็คือรักษาความเป็นคนดีเอาไว้ ถ้าสูงขึ้นมาอีกระดับนึงในความเป็นคนดีนั้น ดีสมบูรณ์ ดีจริง ก็จะไม่ทำร้ายจิตของตัวเองให้เป็นทุกข์ด้วยการยึดมั่นถือมั่น นี่ละ ในภาษาธรรมที่บอกว่าชีวิตคืออะไร ก็คือความยังไม่สูญสิ้นคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่สูญสิ้นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ นี่คือชีวิตที่แท้จริง
เพราะฉะนั้นชีวิตคืออะไร ก็เหมือนอย่างที่เราพูดในตอนต้น ชีวิตคือหน้าที่ ถ้าหากว่ามนุษย์เราทุกคนรู้ว่า เกิดมาเป็นมนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ที่จะต้องกระทำ ไม่ว่าจะอยู่ในชื่อสมมติที่ถูกเรียกว่าอะไรก็ตาม จะต้องทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด และต้องทำอย่างชนิดที่ไม่จิบยาพิษไปพร้อมๆ กัน ไม่ดื่มไม่กินยาพิษ ชีวิตนั้นก็จะเป็นชีวิตที่เรียกว่า สมบูรณ์พร้อมและเป็นชีวิตที่มีคุณค่าอันได้แก่รางวัลสูงสุดที่เราเรียกว่า รางวัลของความสุขสงบ เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง ก็หวังว่าเราทุกคน รวมทั้งท่านผู้ฟังนะคะ เราคงจะได้พยายามที่จะไขว่ขว้าหาให้ได้รับรางวัลเกียรติยศของชีวิต อันเป็นรางวัลสูงสุดที่มนุษย์ทุกคนต้องการ แล้วก็เราก็รู้ด้วยว่า เราควรจะเดินอย่างไร ประพฤติอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร เราจึงจะสามารถที่จะได้รับรางวัลเกียรติยศอันนี้ได้ ก็หวังว่าท่านผู้ฟังทุกคนจะมีโอกาส แล้วก็พวกเราทุกคนด้วยนะคะ ที่จะได้รับรางวัลเกียรติยศนี้สมแก่ค่าแห่งความเป็นมนุษย์
ธรรมะสวัสดีนะคะ.