แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา รัญจวน: ธรรมะสวัสดีค่ะ ที่เราพูดกันนี่ เราตกลงกันว่าเราจะพูดเรื่องชีวิตกับธรรมะ ใช่ไหมคะ ทีนี้เราก็ทำความเข้าใจเรื่องชีวิตไว้พอสมควร วันนี้ก็น่าจะมาพูดกันถึงคำว่า ธรรมะ สักหน่อย แม้ว่าท่านผู้ฟังก็คงจะฟังเรื่องของธรรมะ หรือคำว่าธรรมะ มาหลายครั้งแล้ว แต่เท่ากับว่าเรามาทบทวนเพื่อที่คราวนี้จะได้เข้าใจ ถึงความสอดคล้องเหมาะสมกัน ระหว่างชีวิตกับธรรมะนะคะ
เมื่อพูดถึงคำว่า ธรรมะ เป็นคำที่ชัดเจนในใจพวกเราทุกคน เผอิญคำว่า ธรรมะ ไม่มีใครสงสัย แต่ถ้าถามว่าธรรมะคืออะไร ตอบทันทีได้ไหมคะ ไม่ได้ ทำไมอย่างนั้นล่ะคะ ถ้าถามว่า ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ กล่าวโดยย่อหรือโดยสรุปที่สุด ธรรมะคือหน้าที่ ก็ไม่ผิดเลยนะคะ ถูก ถ้าสมมุติว่าเราท่อง ธรรมะคือหน้าที่ แล้วก็มนุษย์เราทุกคนต่างเข้าใจตรงกันเลยว่า คนที่มีธรรมะก็คือคนที่มีหน้าที่ แล้วก็ทำหน้าที่ มีหน้าที่แล้วก็ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง อย่างที่เราพูดกันแล้วนี่นะคะ ถูกต้องสมบูรณ์ คือเต็มความสามารถ โดยไม่พยายามหยิบยาพิษเพื่อฆ่าตัวเองทีละน้อยๆ เขาเรียกว่าฆ่าผ่อนส่ง หรืออะไรก็แล้วแต่นั่นน่ะ โดยไม่ทำอย่างนั้น นั่นคือเป็นผู้ที่มีธรรมะโดยแท้จริง มีหน้าที่แล้วก็ทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านจะพูดเสมอๆ เลยว่า
"ที่ใดมีการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ที่นั้นมีธรรมะ"
แม้ว่าจะไม่ใช่วัด ไม่ใช่ในโบสถ์ จะเป็นโรงเรียน จะเป็นโรงหนัง จะเป็นในที่ประชุมชนแห่งใด จะเป็นมหาวิทยาลัย หรือแม้จะเป็นกลางตลาดก็ตามที ถ้าสมมุติว่าเราเข้าไปในตลาด แม่ค้าก็บอกราคาขายของนะ อย่างมีมิตรจิตมิตรใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส คนซื้อก็ไม่ต่ออย่างโก่งราคา ไม่ใช่ต่ออย่างโก่งราคา ต่ออย่างกดราคา ไม่ต่ออย่างกดราคา คนขายก็ไม่บอกอย่างโก่งราคา ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน มีธรรมะ มีธรรมะ ในตลาดก็มีธรรมะ แทนที่เราจะได้ยินเสียงโต้เถียงวิวาทกันต่างๆ นาๆ เพราะฉะนั้นคำว่าธรรมะที่บอกว่า ธรรมะคือหน้าที่นะถูกต้อง เพราะฉะนั้นหน้าที่จึงมีได้ทุกหนทุกแห่งแล้วก็ยากมาก ทำไมถึงยากเพราะมีความรู้สึกเรายังบกพร่องอยู่ ก็ถ้าหาว่าเรารู้ การมีธรรมะคือการทำหน้าที่ เราก็พยายามทำให้มันถูกต้อง ที่เราทำไม่ถูกต้อง หรือที่ยากนี่ เห็นจะเป็นเพราะความไขว้เขว ในการเข้าใจความหมายคำว่าธรรมะใช่ไหม อันนี้ใช่
ถ้าหากถามว่า ธรรมะคืออะไร ตั้งแต่สมัยครูเรียนหนังสือ ยังเล็กๆ ก็จำได้เลย ก็ได้รับคำสอนว่า ธรรมะ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าใช่ไหมคะ แล้วก็คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่เขาก็บอกกันว่ามีแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ สักขันธ์เดียวเราจำได้ยัง ขันธ์คือกอง เราจำได้ยัง กองหนึ่ง หมู่หนึ่ง เราก็ยังจำไม่ได้ แล้วเราก็ไม่เคยได้รับคำอธิบายว่า แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ รวมความว่ามีว่าอะไร แล้วนอกจากนั้นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าน่ะ มีว่าอะไร เพราะเหตุว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เคยตรัสกับพระพุทธสาวก ใช่ไหมคะว่า วันหนึ่งที่ท่านคงเคยได้ยินว่า กำใบไม้ไว้ในพระหัตถ์ แล้วก็มาถามว่านี้ ใบไม้ในกำมือเรา กับใบไม้ในป่า อะไรจะมีมากกว่ากัน ก็แน่นอนละ ใบไม่ในป่าก็มีมากว่าใบไม้ในกำมือ กำมือนี้ก็กำไม่ได้กี่ใบ ใช่ไหมคะ
แต่แล้วท่านก็รับสั่งว่า สิ่งที่ท่านทรงนำมาสอนพวกเราทั้งหลาย คือใบไม้กำมือเดียว คือสิ่งที่เป็นหัวใจของคำสอน สิ่งที่เป็นหัวใจของธรรมะสิ่งที่เป็นหัวใจจะบอกว่ามนุษย์เราจะอยู่ในโลกนี้อย่างไร จึงจะคุ้มค่าแก่การเป็นมนุษย์ คือไม่สูญสิ้นคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ จะอยู่กันได้อย่างไร สิ่งที่เป็นหัวใจของคำสอนก็คือเรื่องของความทุกข์ และการดับทุกข์แต่ว่าเราไม่ค่อยอยากสนใจ เราไปสนใจใบไม้ในป่า เพราะมองดูมันเขียวชอุ่ม ต้นนั้นต้นนี้มันน่าศึกษา มันน่าสนใจ มันน่าสนุก แล้วก็สนใจไปศึกษาไปทั้งที่งูๆ ปลาๆ รู้บ้างไม่รู้บ้าง เพราะฉะนั้นอันนี้เราจึงมีความไขว่เขว ในเรื่องความหมายของคำว่าธรรมะ เราไม่รู้นะว่า ธรรมะคือหน้าที่ ถ้าเรารู้ว่าธรรมะคือหน้าที่ ที่ใดมีการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง ที่นั้นก็มีธรรมะแล้ว หรือที่นั้นก็เป็นโบถส์แล้ว เป็นวัดแล้ว
ท่านผู้ฟังก็คงแน่ใจเชียวนะคะว่า ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้วละก็ไม่ยากเลยที่เราจะร่วมด้วยช่วยกัน ที่เราปฏิบัตหน้าที่ให้สิ่งนั้น หรือ ในที่นั้นมีธรรมะขึ้นมา แล้วทำไมจึงมีการสอนแต่เด็กๆ มันยากไปหรือเปล่า ถ้าได้ฟังท่านอาจารย์พูดก็ดูเหมือนว่า ท่านพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนยาก เราจะไม่อภิปรายกันตรงนี้นะคะ จะไม่อภิปรายตรงนี้ว่าทำไมถึงมีการสอนให้ยากอย่างนี้ แล้วทำไมจึงทำให้เกิดความไขว้เขว เกิดความเข้าใจผิด ทำให้เราต้องเดินทางอ้อมกันเป็นเวลานานเลย แทนที่เราจะเดินลัดตัดตรงสู่หัวใจของพระพุทธศาสนา แล้วทุกคนจะรู้สึกเลยว่า เรามีสิทธิ์ เรามีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้ปฏิบัติธรรม แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้มีธรรม เพราะเรารู้แล้วว่าการปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นต้องทิ้งบ้านทิ้งเรือนทิ้งการทิ้งงาน นั่นเป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผล เข้าวัดมาบวช ก็เพราะพระพุทธศาสนา เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เป็นอย่างอื่นเลย นี่ก็อีกเหมือนกัน เราเข้าใจพุทธศาสนาเป็นปรัชญา เป็นอะไรต่ออะไรหลายๆ อย่าง พุทธศาสนาจึงเหมือนกับว่าไกลออกไป ไกลออกไปจากใจของพวกเราทุกที ซึ่งวันหนึ่งเราคงมีโอกาสอภิปราย แต่วันนี้เรายังไม่พูด เดี๋ยวจะห่างไกลจากสิ่งที่เราอยากจะสนทนากันนะคะ
ถ้าเราพูดอย่างโดยสรุป ธรรมะคือหน้าที่ ทีนี้ก่อนที่เราจะสรุปมาว่าธรรมะคือหน้าที่เราก็น่าจะลองศึกษาให้กว้างอีกสักนิดหนึ่งว่า มันหมายถึงอะไร ก่อนที่เราจะสรุปมาถึงอย่างนี้ พอจะจำได้ไหมคะที่เราเคยพูดกันถึงเรื่องของธรรมะ ว่าธรรมะคืออะไร หรือธรรมะหมายถึงอะไร นอกจากจะมาสรุปลงคำสุดท้าย ว่าธรรมะคือหน้าที่ก็นึกดูนะคะว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากวัง ตัดสินพระทัยว่าจะต้องทรงค้นคว้าหาความจริงของชีวิตให้ได้เชียว ที่จะให้คำตอบแก่พระองค์ได้ พระองค์เสด็จไปไหน นึกออกไหมคะ ครั้งแรกเลย ไปอยู่ไหน ไปอยู่บ้านอยู่เมือง ไปอยู่ไหน อยู่ป่า เสด็จไปอยู่ป่า ไปอยู่ป่าตามลำพังพระองค์เดียว เมื่อเสด็จเข้าอยู่ป่านี่ ก็เป็นที่แน่ใจแล้วว่า ในป่านั้นมีอะไรล่ะ เหมือนอย่างเราต้องการไปเที่ยวป่า ไปทะเล ไปขึ้นเขา เราบอกว่าเราไปทำไม มีธรรมชาติไปอยู่กับธรรมชาติ
อันที่จริงคำ ธรรมชาติ มีความหมายกว้างกว่านั้น แต่ว่าสิ่งที่เราสามารถที่จะมองเห็นได้ด้วยตา หรือรู้สึกได้ง่ายๆ ก็คือการเข้าป่า เพราะว่าเราบอกว่าต้นไม้คือธรรมชาติ ใบไม้คือธรรมชาติ อิฐหินดินทรายคือธรรมชาติ ต้นหญ้าคือธรรมชาติ เราคิดว่าสิ่งที่เป็นตึกรามบ้านช่อง มีถนน มีรถยนต์ มีรถไฟขวักไขว่นั่นน่ะเป็นเมือง แต่สิ่งทุกอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ก็เจ้าชายสิทธัตถะก็เสด็จทิ้งปราสาทราชวัง ออกจากบ้านเมืองของพระองค์เข้าไปอยู่ในป่าก็เพื่อไปศึกษาที่จะหาความจริงให้ได้ว่า อะไรที่เป็นต้นเหตุให้มนุษย์เรามาพบปัญหาของชีวิต แล้วก็จะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นพระองค์ก็เสด็จไปศึกษาที่ไหน ในป่าศึกษาอะไรจากในป่า ธรรมชาติ ก็ศึกษาธรรมชาติ แล้วพระองค์ก็ทรงค้นพบความจริง ค้นพบธรรมะ ได้ธรรมะ มีธรรมะในป่านั่นเองในธรรมชาตินี่เอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระองค์ทรงค้นพบนี่ หรือที่พระองค์ทรงได้รับเมื่อตรัสรู้แล้วก็เรียกว่าตรัสรู้ธรรมใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ธรรมะก็คือธรรมชาติ
แล้วก็เวลาที่มีใครมากราบทูลถามพระองค์ว่า ใครเป็นครูของท่าน ท่านก็จะทรงตอบว่า ธรรมะ หรือ พระธรรม ก็หมายถึงอ้างถึง หรือว่าหมายถึงธรรมชาตินั่นเอง ธรรมชาตินี่แหละเป็นครู เป็นครูอันยิ่งใหญ่เลย อย่างในขณะนี้เราก็กำลังอยู่กับครูผู้ยิ่งใหญ่ รู้สึกไหม หรือว่าพยักหน้าอย่างนั้นเอง รู้สึกหรือเปล่าว่าเรากำลังอยู่กับครูอย่างยิ่งใหญ่ นี่ถ้าเราศึกษาดูรอบตัวเรา เราจะมองเห็นครูกำลังสอนเราอยู่ ทุกขณะ ที่ใบไม้หล่นลงมา ความไม่เที่ยงแท้ ใช่ สอนให้เห็นความจริงตามธรรมชาติ นี่แหละคือธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมชาติทั้งข้างนอกกายเรา แล้วก็ธรรมชาติที่กายนี้ แล้วธรรมชาติภายในที่มีอยู่ในกายนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างในจักวาลนี้ ไม่หนี หนีไม่พ้นคำว่าธรรมชาติ เรากำลังอยู่ในธรรมชาติ เพราะฉะนั้นธรรมะคือ อะไร ธรรมะก็หมายถึงธรรมชาติ
แต่ถ้าเราพูดถึงธรรมชาติกว้างๆ อย่างนี่ ก็อาจจะจับยากว่าอะไรบ้างคือธรรมชาติ ก็ควรจะแยกออกไปได้ 4 ความหมาย อันแรก ก็คือ ตัวธรรมชาติ คือสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น สิ่งที่มองเห็น ที่มันเป็นอยู่ เป็นธรรมดา อย่างนี้เป็นสภาวะธรรม เป็นตัวธรรมชาติ เหมือนอย่างที่พูดแล้ว เหมือนตัวเรานี่ เราด้วย และถ้ามนุษย์เรายอมใช้เวลาศึกษาใคร่ครวญ ถ้าเรามานั่งในธรรมชาติบนก้อนหินตามลำพังนะคะ แล้วก็แทนที่จะปล่อยใจลำพึงถึงความหลังที่ผ่านมามันสดชื่น มันแจ่มใส มันหวาน มันอะไรต่ออะไรก็ตาม หรือจะลำพึงถึงอดีตที่ขมขื่น เจ็บปวดแล้วก็นั่งร้องไห้ สะอึกสะอื้น แทนที่จะใช้เวลาอย่างนั้น หรือไปวิตกังวลถึงอนาคตที่ยังไม่มาถึงเป็นห่วงประหวั่นพรั่นใจอย่างงั้นอย่างนี้ แทนที่เราจะใช้เวลาอย่างนั้นจริงมั้ยคะ เมื่อท่านผู้ฟังไปป่า ไปเขา ไปทะเล แทนที่จะไปนึกถึง ทั้งที่มาทะเล แต่ใจมันยังวิ่งไปบ้าน หรือใจมันวิ่งไปอดีต หรือไปมัวนั่งวิตก กอดเข่าอยู่ข้างทะเลนึกถึงอนาคตว่าเราจะไปไหน แล้วก็บางคนเดินลงทะเลไปเลย เพราะแทนที่จะไปศึกษาธรรมชาติกลับเอาใจนี้ไปฟุ้งซ่าน แล้วก็ร่อนเร่พเนจรคิดถึงไปอย่างอื่น
ถ้าเราไปอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติเช่นนั้น ก็ลองศึกษาธรรมชาติ ลองเอาใจนี่ใคร่ครวญมองดูในสิ่งที่ล้อมรอบตัวเรา ดูซิว่าธรรมชาติบอกอะไรเราบ้าง ธรรมชาติบอกอะไรเราบ้าง ถ้าหากว่าเราดูจริงๆ เราจะรู้ว่าธรรมชาตินี้พูดได้ บอกเราอยู่ทุกขณะ จะเป็นใบไม้ จะเป็นต้นไม้ จะเป็นก้อนหินดินทราย พูดกับเราอยู่ทุกขณะ ถ้าเราศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมชาติตัวนี้ เพราะเอาตัวธรรมชาติวิ่งอยู่ในธรรมชาติ แล้วก็วิ่งไปหาอีกสิ่งหนึ่งที่เราสมมุติว่าเป็นธรรมชาติ แท้ที่จริงวิ่งวนอยู่ในธรรมชาติ ตัวนี้คือตัวธรรมชาติ แต่มนุษย์เราไม่ค่อยเปิดตาที่จะศึกษาฉะนั้นอันแรกนี่ธรรมชาติหนึ่งความหมายก็ตัวธรรมชาติ ก็มันมีอยู่ในทุกอย่างที่เราเห็น เมื่อเราศึกษาตัวธรรมชาตินี่นานๆ ศึกษาจนกระทั่งการศึกษานี้มันลึกซึ้งขึ้น ลึกซึ้งแล้วก็มันผ่านตาเนื้อเข้าสู่ตาใน เรียกว่าตอนนี้ เรียกว่าศึกษาด้วยความรู้สึก ตาในนี่เรียกว่าความรู้สึก ไอ้ตาเนื้อนี้ศึกษาตามประสาท ตามประสาทที่ให้ ตามประสาทธรรมชาติ ประสาทที่เขาบอกว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่นี่ใช่ไหมคะ แล้วก็พอตาเห็นอะไร ประสาทนี่ก็จะส่งไปที่ศูนย์กลางแล้วก็จะบอกเราว่านี่คืออย่างไร ตามที่เรียนได้รู้ได้ศึกษามา ที่จำได้มา หรือหูได้ยินเสียง หรือจมูกได้กลิ่นก็เหมือนกัน ที่มันรู้มันเห็นตามประสาท
แต่ถ้าศึกษาไปศึกษาไปด้วยการใคร่ครวญ ดูเฉยๆ หยุดปิดสวิตซ์มันสมอง ไอคิวสูงนี่เสียที ปิดเหลือแต่ดู ดูอย่างเดียว ดูอย่างเดียวดูด้วยความรู้สึก นี่เรียกว่าเราปิดตา ด้วยการศึกษานี่ก็ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ เราดูเข้าไปดูๆ ไอ้สิ่งรอบตัว ด้วยความรู้สึกจนค่อยๆ กลมกลืนซึมซาบไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ เราก็จะค่อยๆ เห็นสิ่งหนึ่งที่มันแผงอยู่ในธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว สิ่งนั้นก็คือสิ่งที่ท่านเรียกว่า กฎของธรรมชาติ ทำไมถึงเรียกว่าเป็นกฎ ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เกิดซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เกิดซ้ำแล้ว คงที่อยู่อย่างนี้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง คงที่อยู่อย่างนี้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง จะฟ้าดินสลายอย่างไร จะฝนตกแดดออก ภูเขาไฟระบิด แผ่นดินไหว จะให้เกิดวิกฤติตระการอย่างไร สิ่งนี้มันจะคงตัวของมัน จะบอกว่านี่คืออย่างนี้ นี่คือย่างนี้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนั้นคืออะไร กฎของธรรมชาติคือ
ผู้ฟัง: คือความไม่เที่ยง คือความเปลี่ยนแปลงครับ
อุบาสิกา รัญจวน: น่าขันไหม สิ่งที่เรามองเห็นนี้ ที่แสดงความคงที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นอย่างนี้เป็นอย่างนี้เป็นอย่างนี้ไม่มีวันเป็นอื่น สิ่งนั้นคืออะไร ท่านผู้ฟังก็คงจะต้องนึกถึง ต้องขำเหมือนกัน สิ่งนั้นคือความเปลี่ยนแปลง ก็กฎของธรรมชาติ ที่เราเรียกว่า อนิจจัง ใช่ไหมคะ ที่เกิดขึ้นทุกขณะ แสดงความเปลี่ยนแปลง แสดงอาการของความเปลี่ยนแปลงที่เรารู้สึกทุกขณะ เปลี่ยนแปลงทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุ รูปธรรม เปลี่ยนแปลงทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรม คือความรู้สึกอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิตของเราเอง คือภายในที่เราเรียกว่าจิตของเราเอง เคยเห็นไหมมีอะไรคงที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรามีอะไรคงที่ ไม่มีเลยสักกอย่าง มันมีแต่อาการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงผ่านไปไหลไป แล้วมันก็กลับมาใหม่ แล้วมันก็เปลี่ยนไป มีแต่เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ นี่สิ่งที่ถ้าเราดูไปแล้วเราจะเห็นในธรรมชาติ แม้แต่เราไปนั่งริมทะเล เรามองไปที่คลื่น น้ำในทะเล มีอะไร มีแต่คลื่นโถมเข้ามา แล้วก็ตีจากฝั่งกลับออกไป โถมมากลับไป คลื่นใหญ่ท่วมหัวบ้าง คลื่นเล็กบ้าง บางทีก็เป็นระลอกคลื่น แต่ว่าจะเป็นระลอกคลื่น จะเป็นคลื่นเล็ก จะเป็นคลื่นใหญ่มหึมาก็ตาม มันคงตัวอยู่ไหม มันทรงตัวอยู่คงที่ไหม ไม่เลย จะมีแต่ความเกิดดับ มาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป ท่านผู้ฟังก็คงได้เคยสังเกตุเห็นเช่นนี้เหมือนกัน หรือเมื่อลมพัดมาผ่านกาย ลมนี้เย็นสบาย เย็นสบายอยากให้พัดอยู่เรื่อย ลมก็หาพัดอยู่อย่างนี้ไม่ พัดมาแล้วก็ไป พัดผ่านมาถูกแล้วก็ไป เสร็จฝนตก ก็เวลานี้ ดินแห้งแล้ง
อยากให้ฝนตก ตกมาแล้วอย่าเพิ่งหยุด อย่างเพิ่งหยุด ตกนานๆ หน่อย ต้นไม้ใบหญ้าจะได้ชุ่มชอุ่ม ตกไหม ไม่ตก ถึงเวลาจะต้องหยุดตามเหตุตามปัจจัย ฝนก็หยุด ถึงเวลาเหตุปัจจัยสมควรฝนก็ตกลงมา
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าแสดงตัวให้เห็นเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ไม่มีอะไรเลย นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เราเรียกว่า อนิจจัง นี่คือกฏของธรรมชาติ และอนิจจังหรือความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นก็จะเป็นไปเหตุตามปัจจัย คือมันมีเหตุปัจจัย พอเหตุปัจจัยประกอบกันพอสมควรความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น เหมือนอย่างเช่นคลื่นในทะเล ถ้าสมมุติว่ามันต้องมีเหตุปัจจัย มีน้ำ มีลม แล้วก็มีความพอเหมาะพอสม มันก็มีคลื่น คลื่นนั้นจะใหญ่มากก็แล้วแต่ว่าลม ในขณะนั้นมีลม ลมธรรมดา หรือลมเป็นพายุ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัย ถ้าไม่มี มันก็จะลมพลิ้วๆ จะเป็นระลอกคลื่น พลิ้วๆ มา นี่เรียกว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นมิได้เกิดขึ้นเอง แต่มันเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เหตุปัจจัยอย่างไรความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นี่คือกฎของธรรมชาติ เหตุปัจจัยนี้ก็ที่ท่านเรียกว่า อิทัปปัจจยตา ที่เราเคยพูดกันมาหลายครั้งแล้ว อนิจจังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ตามอิทัปปัจจยตา คือตามเหตุตามปัจจัย แต่นี่แหละถ้าศึกษาธรรมชาติมากๆ ก็จะเห็นว่า กฎของธรรมชาติ ก็คือกฎที่เราเรียกว่า ไตรลักษณ์
เริ่มต้นด้วย อนิจจัง เมื่อมันเปลี่ยนแปลงๆ ลงไปจนกระทั่งเราเห็นสภาวะของความทนไม่ได้ ความทนไม่ได้ของมันที่มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้เรื่อยตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ความเปลี่ยนแปลงนี้ เมื่อมันเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น มันก็มีสภาวะของความน่าเกลียด มันก็ไม่สวย ไม่มีใครอยากเป็นใบไม้แห้ง ใบไม้สีน้ำตาลกรอบแกรบแล้วก็จะมีแต่ผุ ผุพังไป ไม่มีใครอยากเปลี่ยนแปลง ใครๆ ก็อยากเป็นใบไม้เขียวสด ชอุ่มมันงามใครๆ ก็ชม ใช่ไหมคะ ที่ยังแรกผลิ ยังคงดำรงอยู่อย่างนั้น นี่คือสภาวะของสิ่งที่เรียกว่า ทุกขัง คือน่าเกลียด ทนได้ยาก น่าเกลียด แล้วถ้าใครเผลอๆ ไป แล้วระวังจิตไม่ทัน ก็เกิดความเจ็บปวดทรมาน ขมขื่น มันไม่น่าเลยที่จะเปลี่ยนอย่างนั้น แล้วถ้าดูไปๆ ไม่ช้าก็จะเห็นว่า สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นว่า ต้องอย่างนั้นอยู่ที่ไหน นี่แหละ จิตก็จะถึงซึ่งถึงความเป็น อนัตตา คือเห็นความเป็นอนัตตาที่มันตาม ที่มันเกิดตามมา เกิดตาม ตามธรรมชาติ
เมื่อเราเห็นอนิจจัง จะเห็นทุกขัง แล้วจะเห็นอนัตตา ความไม่เที่ยง นี่แหละ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนความไม่มีแก่นสารสาระที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่าง นี่คือกฎไตรลักษณ์ที่แสดงสามัญลักษณะ สามอย่างอันเป็นธรรมดา ให้มนุษย์เห็นอยู่เสมอ
นี่ก็คือ เราจะมองเห็นกฎของธรรมชาติโดยไม่ต้องมีใครบอก ไม่ต้องมีใครบอกแต่มันเห็นเป็นขึ้นเอง สิ่งที่เรียกว่าเป็นกฎ ก็คือว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้ แล้วทีนี้มนุษย์เราไม่ค่อยยอมรับ ใช่ไหมคะ ไม่ค่อยยอมรับแล้วฉะนั้นมันจึงอยู่โดยดื่มยาพิษ จิบยาพิษไปทีละนิดทีละนิดเพราะมันหวัง หวังว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ ตามที่ฉันหวัง แต่ว่าความจริงทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องเกิดดับมาไป เกิดดับมาไป เป็นสภาวะอย่างนี้เรื่อย มันไม่มีอะไรเป็นอัตตา ให้ยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียว ทีนี้นี่คือกฎของธรรมชาติ ถ้าเราดูไปดูไป แล้วถ้ามนุษย์ฉลาดก็จะมองเห็นว่า ถ้าอย่างนั้น ทำยังไงละ ถึงจะดำรงชีวิตนี้อยู่ได้โดยมีความสุข แล้วก็สามารถที่จะเรียกได้ว่า หรือเข้าใจได้ว่า
ชีวิตคือหน้าที่ ก็คือทำตามหน้าที่ ทำตามหน้าที่ที่เกิดขึ้น ให้สมคล้อยกับกฎของธรรมชาติ ยอมรับความเปลี่ยนแปลงด้วยสติ สมาธิ ด้วยปัญญา โดยไม่หวัง แล้วก็แก้ไข แล้วผลที่ได้รับก็คือ ความสุขสงบเย็นรางวัล เพราะฉะนั้นนี่แหละ ธรรมะคือหน้าที่ ที่จ่าเลิศบอกตอนต้น แล้วชีวิตกับธรรมะคืออะไร ก็คือ ชีวิตคือหน้าที่ใช่ไหมคะ ชีวิตกับหน้าที่ ไม่มีอย่างอื่นเลย สรุปก็คือ ชีวิตคือหน้าที่
ธรรมะสวัสดีค่ะ.