แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมะสวัสดีค่ะ เมื่อคราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องของธรรมะคือธรรมชาติ แล้วก็ในธรรมชาตินี้เราจะต้องดูลงไปเราก็จะพบ 4 เรื่องหรือ 4 ความหมาย อันแรกที่สุดก็คือหมายถึงตัวธรรมชาติ ตัวธรรมชาติที่ทั้งรอบตัวเรา ภายนอก แล้วก็ภายใน คือตัวนี้ด้วย นี่ก็เป็นตัวธรรมชาติ ถ้าเราดูไป ดูไป เราก็จะเห็นว่าในตัวธรรมชาตินี่ มีสิ่งที่เรียกว่า กฎธรรมชาติ อยู่ด้วย มนุษย์เราอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติด้วยกันทุกคน เราจะรู้สึกหรือไม่ จะยอมรับหรือไม่ แต่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าหากว่าเรารู้ว่ากฎธรรมชาติคืออย่างนี้ ๆ คือกฎของไตรลักษณ์ กฎของอิทัปปัจจยตา ที่มันจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นเราก็ดูไป เราก็จะเห็นว่าในธรรมชาตินี้บอกเราเองด้วยว่า
"ถ้าต้องการจะมีชีวิตอยู่อย่างชนิดที่ว่าไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องมีปัญหา นั่นก็คือว่าดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ"
ในเมื่อกฎธรรมชาติมีความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และย้ำให้เห็นว่าไม่มีอะไรอื่นนอกจากนี้ นอกจากความเปลี่ยนแปลง ความคงที่ของความเปลี่ยนแปลง ถ้าหากว่าใครจะไปเอาตามใจของตัว จะไปยึดตามใจของตัวไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง พอเปลี่ยนแปลงเข้าก็ไม่ชอบ แสดงปฏิกริยาต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือความไม่สบาย อย่างที่เราเรียกว่าเป็นความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นถ้าดูไปก็จะเห็นได้ว่าธรรมชาติได้บอกเราอีกอย่างหนึ่ง
ถ้าต้องการจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความราบรื่น ด้วยความผาสุก อย่างที่เราว่ากันตามทางโลก นั่นก็คือว่า ต้องทำหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติจึงจะมีชีวิตรอดอยู่ในโลกนี้อย่างชนิดที่ว่าเป็นความรอดอันแท้จริง คือรอดทั้งกายแล้วก็รอดทั้งใจ กายก็มีความสะดวกมีความสบาย มีหลักฐาน มีเงินทองพอที่จะใช้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในฝ่ายกาย แล้วส่วนทางใจก็มีความสุขอิ่มเอิบเบิกบานในการที่จะทำหน้าที่นั้น เพราะเหตุว่าเมื่อทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ ก็คือทำหน้าที่โดยไม่หวัง ไม่ต้องกินยาพิษไปทีละน้อยละน้อย ได้ดื่มแต่น้ำฝน เป็นน้ำอมฤต ก็มีแต่ความชื่นอกชื่นใจ นี่ก็คือเป็นความหมายในข้อที่ 3
ซึ่งถ้าหากว่าเราดูไปในตัวธรรมชาติ เราจะพบ มันบอกเราเอง รู้ด้วยการดูไม่ใช่รู้ด้วยการคิด เมื่อบุคคลใดก็ตาม มนุษย์คนใดก็ตามทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติคือสอดคล้องกับกฎของธรรมชาติอย่างนี้ ผลก็เกิดตามมาเองโดยอัตโนมัติ หรือเรียกว่าตามเหตุตามปัจจัยของมัน นั่นก็คือไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหาที่จะเกิดขึ้น มีแต่ความสุขสงบเย็น ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองเป็นดาราที่มีความสำเร็จในชีวิตให้สมกับการที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ฉะนั้นนี่ก็เป็น 4 ความหมาย ก็คือตัวธรรมชาติ แล้วก็กฎของธรรมชาติ การทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และอันที่ 4 คือผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่นั้นอย่างสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ พูดสรุปในคราวที่แล้วว่าธรรมะคือหน้าที่ ถ้าเรานึกว่าจะจำยากว่าธรรมะคืออะไรนะ ธรรมะคือหน้าที่
ถ้าผู้ใดปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องเต็มกำลังความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นอะไรจะอยู่ที่ไหน ณ ที่ใด ผู้นั้นมีธรรมะเสมอ มีธรรมะอยู่ในใจ ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาที่ไหน
ถ้าจะพูดให้ตรง ๆ ก็ต้องบอกว่าไม่จำเป็นต้องมาวัด ไม่จำเป็นต้องฟังเทศน์ก็ยังได้ เพราะหากว่าพระที่ท่านเทศน์ให้ฟัง ท่านก็เทศน์บอกให้ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ทำหน้าที่โดยไม่หวังแต่เต็มฝีมือความสามารถอยู่เสมอ เมื่อนั้นเราก็มีความสุข เพราะฉะนั้นธรรมะก็คือหน้าที่ หน้าที่อะไร
ผู้ฟัง: ข้ออสำคัญคือจะต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต ใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ คำว่ายอมรับนี่หมายความว่ามันเป็นอย่างนี้จริง ๆ ถ้าสมมติว่าเราไม่ยอมรับว่านี่คือกฎของธรรมชาติ พออะไรเปลี่ยนแปลงเราก็บอกเปลี่ยนไม่ได้ ต้องไม่เปลี่ยน ถ้าฉันชอบ ฉันต้องการให้มันอยู่ แล้วมีใครฝืนได้ล่ะ ใช่ไหมคะ ถ้าย้อนดูในชีวิตของเราที่ผ่านมา ไม่มีใครฝืนได้สักคน มันจะต้องเป็นไปตามนั้น ถ้าฝืน ใครล่ะเป็นคนดิ้นรนทุรนทุราย ธรรมชาติดิ้นรนหรือคนฝืนดิ้นรน ตัวเรา ใครที่ฝืนกฎของธรรมชาติ ไม่ยอมรับ คนนั้นก็ดิ้นรนทุรนทุรายอยู่ตลอดเวลา ด้วยความกระเสือกกระสนที่จะต้องเอาให้ได้ นี่ก็คือไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับความจริง ที่ไม่ยอมรับก็เพราะเหตุว่าไม่ยอมดู จะเอาให้ได้อย่างใจของตัวเท่านั้นเอง
ฉะนั้นชีวิตกับธรรมะก็คือชีวิตกับหน้าที่ ชีวิตก็คือหน้าที่ ธรรมะก็คือหน้าที่ ถ้าหากว่าต้องการจะมีชีวิตรอดปลอดภัยก็ต้องรู้ว่าหน้าที่คืออะไรที่เราจะต้องปฏิบัติในชีวิตนี้แล้วทำหน้าที่นั้นอย่างไร ชีวิตนี้จึงจะรอดพ้นจากปัญหาทั้งปวง ทั้ง ๆ ที่รู้เราก็ไม่ค่อยจะรอดกัน รอดสันดอนนี้ไปได้ ทั้ง ๆ ที่รู้ เราก็ยังคงอยู่กันอย่างนี้เรื่อย เพราะฉะนั้นวันนี้เราก็น่าจะต้องหันมาพูดกันถึงสิ่งที่เราเรียกกันว่าทุกข์ หรือความทุกข์ที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึง เพราะสิ่งที่เราอยากพูดถึงก็คือสิ่งที่เราไม่ชอบ
สมมติตรงกันข้ามกับความทุกข์คืออะไร ความสุข คือสิ่งที่เราพยายามจะไขว่คว้าหากันอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าพอพูดได้ พอรู้ความต้องการอะไร ต้องการความสุข แต่จะให้ตอบว่าความสุขคืออะไร ถ้าไปถามเด็ก ๆ เด็ก ๆ อาจจะบอกว่า ไอศกรีมนี่แหล่ะความสุข ขอสตรอเบอรี่เลยนะ มีเยลลี่นิดหน่อย นี่ล่ะสุขแล้ว เพียงได้แค่นั้น พอโตขึ้นมาอีกหน่อยเป็นหนุ่มเป็นสาว อะไรคือความสุข จำได้ไหม มีแฟน ต้องมีคนรัก ต้องมีคนรักให้ตรงกับสเปคของเราใช่ไหม เรามีสเปคไว้อย่างไร ผู้ชายมีสเปค หญิงในอุดมคติอย่างไร ถ้าได้อย่างนั้นเมื่อไหร่ก็สวรรค์รำไร ผู้หญิงก็เหมือนกัน ถ้าพบชายหนุ่มตามสเปคก็สวรรค์เหมือนกัน นี่คือความสุข อยู่ไปนาน ๆ ก็เบื่อ แล้วเคยพบแล้วยัง นั่นสินะเราก็ไม่แน่ ว่าเราพบแล้วหรือยัง แล้วพอพบแล้ว ตรงแล้ว แต่พอไปอยู่ร่วมกัน ร่วมชีวิตกันเข้า มันมีอะไรที่เปลี่ยนไปจากที่เราคิดเรานึก หรือเราคาดคะเนเอาไว้เยอะแยะ
เพราะฉะนั้นความสุขต่าง ๆ ที่คิดเอาไว้ก็ยังไม่ใช่สุขจริง เพราะเป็นสุขตามสมมติ
เป็นสุขตามคาดคะเน พอทำการงานได้งานที่ต้องการทำ สุขแล้ว อย่างที่ชอบพูดว่า ฉันนี้แฮบปี้เหลือเกิน อันนี้พูดภาษาไทยไม่พอ สุขไม่พอ ต้องพูดภาษาอังกฤษ แฮบปี้จริง ๆ ไม่ช้าแฮบปี้ก็เปลี่ยนเป็นอะไร ความสุขก็เปลี่ยนเป็นความเศร้า เพราะฉะนั้นมนุษย์เรานี่ชอบพูดกันถึงแต่เรื่องของความสุข มันก็ไม่ได้พบสักที เพราะอะไร เพราะหันหลังให้กับสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความสุขที่ตัวพยายามจะวิ่งหนี ก็คือสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ใช่ไหม พยายามวิ่งหนีสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ไม่ยอมศึกษาเลยว่าสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นี้คืออะไร แล้วก็ต้องผจญอยู่กับมันทุกข์เมื่อเชื่อวัน เรียกว่าบางคนนี่เรียกว่าตลอด 24 ชั่วโมงก็มี ที่รู้สึกเป็นทุกข์กระสับกระส่ายแม้จะมีบางครั้งที่มันจะผ่อนปรนให้พอได้หายใจเย็น ๆ แต่ก็ต้องพบมันอยู่เรื่อย
เพราะฉะนั้นการที่เราจะดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความผาสุก ชื่นบานแจ่มใสก็ควรจะได้ รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องการหลีกเลี่ยง เมื่อเราต้องการหลีกเลี่ยงสิ่งใด เราควรที่จะได้รู้จักสิ่งนั้น จริงไหม เราควรจะได้รู้จักมัน ถ้าหากว่าเราไม่รู้จักมัน เราไม่รู้ว่าเราจะหนีอะไร อะไรที่เรากำลังหนี แล้วเราจะหนีไปได้อย่างไร เพราะว่าถ้าท่านผู้ฟังท่านใดได้ติดตามศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของธรรมะหรือว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาก็คงจะนึกถึง อริยสัจ 4 ที่เราถือว่าเป็นหลักการทางพุทธศาสนา แล้วข้อแรกนั่นก็คือว่า ท่านกล่าวถึงเรื่องของทุกข์หรือความทุกข์ แล้วอริยสัจก็คงทราบแล้วว่าคือความจริงที่รู้แล้วจะทำให้เรารอดพ้นจากข้าศึก จะทำให้เราหนีไปจากข้าศึก อะไรคือข้าศึกของมนุษย์ ความทุกข์ ความทุกข์นี่แหล่ะคือข้าศึกของมนุษย์ เราอาจจะไปนึกว่าคนที่เป็นศัตรูนั่นแหล่ะเป็นข้าศึก คนนั้นเป็นข้าศึก คนนี้เป็นข้าศึก เพราะเขาไม่ชอบสิ่งที่เราทำอะไรที่ตรงกันข้ามกับใจของเรา แต่แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เป็นข้าศึกก็คือสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์
เพราะเป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่ปรารถนาใช่ไหม เราไม่ปรารถนา เราพยายามจะหลีกเลี่ยงไปให้พ้น แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น เกิดก็พบทุกข์ อยู่ก็พบทุกข์ ตายก็ดิ้นรนท่ามกลางทะเลทุกข์ มีอย่างนี้เราไม่พบ เราไม่รู้จัก นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไม่ศึกษามัน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราต้องการที่จะรอดพ้นไปจากข้าศึก เราก็ต้องศึกษาสิ่งที่เรียกว่าข้าศึกว่ามันคืออะไร สิ่งที่เรียกว่าข้าศึกนี่แหล่ะก็คือความทุกข์ ท่านจึงบอกว่าอริยสัจ 4 ก็คือหลักการที่จะบอกให้เรารู้ว่าความจริงอะไรที่เรารู้แล้ว แล้วจะช่วยให้เรารอดพ้นจากข้าศึก คือพ้นจากความทุกข์ได้ และสิ่งแรกในความจริง 4 ข้อนั้น สิ่งที่จะต้องศึกษาเป็นสิ่งแรกก็คือเรื่องของทุกข์หรือความทุกข์ ถ้าจะถามว่าความทุกข์คืออะไร อะไรคือความทุกข์ เป็นอย่างไรถึงจะบอกว่าทุกข์ จิตใจห่อเหี่ยวเศร้าหมอง แล้วเวลานี้มีความทุกข์ไหม ขณะนี้ทุกข์ไหม กุลวราทุกข์ไหม
ผู้ฟัง: ไม่ค่ะตอนนี้ไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำไมถึงว่าไม่ทุกข์
ผู้ฟัง: ก็ได้ฟังอะไรที่ดี อยู่ที่สงบ แล้วก็ถ้าเปรียบเทียบแล้วอยู่ที่กรุงเทพฯ นี่มันอึดอัด เรื่องภาวะแวดล้อม พอมาที่นี่รู้สึกสบาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ภาวะอึดอัด หรืออะไรอึดอัด
ผู้ฟัง: ภาวะอึดอัด สภาพการจราจร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็สภาพการจราจรก็เป็นอย่างนี้ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะที่กรุงเทพฯ ด้วย เมืองไหน ๆ เมืองใหญ่ ๆ อย่างในเมืองไทยเรา เมืองใหญ่ ๆ อย่างเช่นเชียงใหม่ โคราช นครสวรรค์ เป็นต้น พูดถึงเมืองใหญ่ ๆ การจราจรก็เริ่มติดขัด อึดอัดเหมือนกันหมด มันก็เป็นอย่างนี้ ก็ทำไมจราจร ภาวะของจราจรที่มันติดแน่น มันบอกเราไหมว่า อึดอัด ฉันอึดอัด รถยนต์วิ่งไปบอกไหมว่าอึดอัด อะไรบอก อะไรที่อึดอัด ใจต่างหาก ความอึดอัดมันอยู่ข้างใน ไม่อยู่ข้างนอก มันอยู่ข้างใน แต่เราชอบจะคิดว่าภาวะแวดล้อมนี่มันทำให้เราอึดอัด ทำให้เราห่อเหี่ยว มันทำให้เราไม่สบาย แต่อันที่จริงภาวะข้างนอกก็เป็นไปตามธรรมชาติอย่างนี้ อย่างบางคนก็บอกว่าไม่ชอบแดด ถ้าอยู่กลางแดดแล้วไม่สบาย บางคนไม่ชอบฝน พอละอองฝนมา ฉันไม่สบาย ฉันต้องเป็นหวัด ฉันต้องเป็นไข้ การเป็นไข้ก็เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง แต่ว่าสิ่งที่เราเรียกว่าความทุกข์นี่มันเกิดขึ้นจากข้างใน เกิดจากที่จิต
เพราะฉะนั้นอย่างที่เราพูดว่าชีวิตคืออะไร ชีวิตประกอบไปด้วยกายและจิต เพระฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้เกิดความทุกข์หรือจะไปคลุกคลีกับสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าจิตหรือใจ ที่เรามองไม่เห็นตัว แต่มันเป็นอาการของความรู้สึกที่เรารู้สึกขึ้นข้างใน บางที่เราก็รู้สึกเหี่ยวแห้ง บางทีก็รู้สึกยังไง ถ้าตรงกันข้ามกับเหี่ยวแห้ง สดชื่น พองฟู ตื่นเต้น ลิงโลด ท่านผู้ฟังอาจจะนึกว่า ไม่ดีหรือ พองฟู ตื่นเต้น สดชื่น ลิงโลด นี่มันอาการดีนี่ สนุกนี่ แล้วทำไมจึงไปจัดอยู่ในพวกความทุกข์ ทำไมถึงจะบอกว่าอยู่ในพวกความทุกข์ ทำไม เป็นด้วยหรือ ทำไมถึงมาเป็นความทุกข์ อันนี้เราต้องหันมาดูว่า เมื่อเวลาที่ปกติ ภาวะของความเป็นปกติที่ข้างใน ที่ใจเมื่อปกติมันสบาย มันโปร่ง มันราบรื่น อาการของจิตท่านบอกมันต้องเป็น มันราบเรียบ มันไม่ขึ้นลง ถ้าเมื่อใดที่มันมีอาการขึ้นลงอย่างนี้จะรู้สึกอย่างไร วูบวาบ เหน็ดเหนื่อยไหม มีอาการเหน็ดเหนื่อย ไม่มากก็น้อย มันต้องเกิดอาการเหน็ดเหนื่อยขึ้น ถ้าสมมติว่าภาวะของจิตที่ปกตินี่ มันราบรื่น มันผ่องใส มันเยือกเย็น มันโปร่ง มันเป็นความสบายจริง ๆ ไม่ใช่สบายขึ้น ไม่ใช่สบายลง มันสบายของมันราบเรียบ เราจะต้องรู้ถึงภาวะของจิตอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่าห่อเหี่ยว ขึ้นหรือลงคะ
ผู้ฟัง: ลง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ลง แล้วก็ตก ตก ตกลง แล้วแต่ว่ามันจะเหี่ยวมากเหี่ยวน้อย ถ้าเหี่ยวน้อย ๆ มันก็สักแค่นี้ เหี่ยวมากมันก็พรวด พรวด พรวดไปเลย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าพองฟูหรือลิงโลดมันก็เป็น ขึ้น อาการที่ขึ้น ๆ เหมือนกับเราเดินขึ้นเขา นี่พูดถึงทางกายเราก็เหนื่อยไม่มากก็น้อย ถ้าเราเดินลงเขามันก็เหนื่อยอีกเหมือนกัน เพราะเราต้องยั้งตัว ต้องบังคับตัวให้เดินตามธรรมชาติให้ได้ แต่เมื่อใดที่เราได้เดินตามธรรมชาติ อยู่ในป่า เดินเล่นตามใจ สบาย สบาย สบายทั้งกายทั้งใจ นี่เป็นภาวะปกติ ภาวะปกติของจิตของชีวิตจะต้องเป็นอย่างนี้ นี่เป็นภาวะปกติ เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่มันพองฟู มันลิงโลดมันตื่นเต้น มันก็เหนื่อยเพราะว่ามันจะมีอาการอะไรที่มาควบคู่เป็นอาการแสดงออก เช่น หัวเราะเสียงดัง ร้องเรียกเพื่อน ตะโกนเสียงดัง มาดีใจกับเรา นี่นะเราได้พบอะไรที่วิเศษมากเลย เราก็จะต้องร้องบอกเพื่อนด้วยประการต่าง ๆ มันก็เหน็ดเหนื่อย หรือถ้าหากว่าห่อเหี่ยวมันก็อาจจะออกมาในอาการฮึดฮัด กัดฟัน ร้องห่มร้องไห้รำพันไปต่าง ๆ เหล่านี้ มันก็ล้วนแล้วแต่เสีย Energy คือเสียพลังงาน เสียพลังงานภายใน แล้วเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนี้เขาเรียกกันว่าความทุกข์ แล้วเราก็เป็นกันอยู่ทุกวัน ๆ
มนุษย์ส่วนมาก เราเป็นกันอยู่ทุกวันเลยแล้วเราไม่รู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่าความทุกข์ แทบทุกเรื่อง แล้วเราก็บอกว่านี่ธรรมดา ธรรมดาของคนก็เป็นอย่างนี้ พอใครบอกว่าต้องรู้จักที่ต้องรักษาใจ รู้จักทำหน้าที่อย่างถูกต้องโดยธรรม แล้วชีวิตจะไม่มีความทุกข์ อย่างนี้ก็ธรรมดา ใคร ๆ เขาก็เป็นกัน เห็นไหม คนฉลาด ๆ น่ะ พอถึงเวลาพูดอะไรไม่ฉลาด ฉลาดนี่ไม่น่าฟังเลย สิ่งที่ธรรมชาติบอกอยู่ตลอดเวลาว่านี่นะ สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรคงที่ แต่ไม่ยอมรับ กลับไปยอมรับว่าอาการที่ดิ้นรนไปตามกิเลสนี่แหล่ะคือความคงที่หรือความเป็นธรรมดาของมนุษย์ เพราะฉะนั้นจิตมันก็เลยกลิ้งเกลือก อยู่กับความทุกข์มาเรื่อยโดยตลอด ไม่มีวันที่จะพ้นได้เลยสักทีเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงควรจะรู้จักอาการของความทุกข์ว่า ห่อเหี่ยว อึดอัด ตื่นเต้น แม้แต่รำคาญ รำคาญที่ทำให้จิตกระดิก หรือที่เขาเรียกว่ากระเพื่อม กระเพื่อมเหมือนกับระลอกคลื่นพลิ้วพลิ้วมา ที่มันกระเพื่อม ๆ แม้แต่น้อย ๆ
อย่างเรานั่งรถกระแทก ถ้าพูดถึงทางกาย การนั่งรถกระแทกเรายังเหนื่อย ถึงแม้จะกระแทกน้อยกระแทกมาก ถ้ากระแทกมากก็หัวปังข้างบน หรือว่าตัวเราก็ตะแคงซัดเซไป ซี่โครงก็ไม่ค่อยจะสบาย อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอาการของความทุกข์นี่เราควรจะต้องรู้จักกันอย่างละเอียด อย่าไปนึกแต่เพียงว่าต้องถูกไฟไหม้ หรือว่าถูกอุบัติเหตุที่ร้ายแรง หรือว่าถูกโจรปล้นจี้ อะไรอย่างนี้ ถูกทอดทิ้ง ล้มละลายเสียหาย อย่างนั้นถึงจะเป็นความทุกข์ นั่นน่ะ นาน ๆ ถึงจะเกิดขึ้นสักที แล้วก็ไม่เกิดขึ้นกับทุกคน มันก็ไม่เป็นไร เราก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน เวลาที่เกิดอะไรขึ้นอย่างนี้กับเพื่อนฝูง เราก็มีแต่ความเห็นใจ มีความรู้สึกร่วมในความทุกข์ของเขา แต่เราก็ไม่เป็นอะไรมากเกินไป
แต่สิ่งที่เราพบอยู่ทุกวัน ความอึดอัด หงุดหงิดต่าง ๆ แล้วเราก็สะสมเอาไว้เป็นความไม่ชอบใจทีละน้อย ละน้อย เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนี้คือความทุกข์ จนกระทั่งวันหนึ่งมันระเบิดออกมา ทนไม่ได้ นี่เพราะความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอาการของความทุกข์คืออะไร
แม้แต่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ที่ใคร ๆ เขาก็เป็นกันทั้งโลก เราก็ไปคว้ามาเป็นของเรา พอแก่เข้าก็เริ่มไม่สบาย คือเริ่มเป็นทุกข์ เริ่มกังวล เริ่มวิตก แย่แล้วแก่เข้ามันจะหมดสมรรถภาพ จะไม่มีใครชอบใครรัก ทำงานทำการจะไม่ได้ ยิ่งพอปลดเกษียณเข้ายิ่งรู้สึกเหมือนกับชีวิตไม่มีความหมาย นี่เพราะไม่เคยเตรียม ไม่เคยเรียนมาว่าเรื่องของความทุกข์คืออะไร จึงไปคว้าอะไร ๆ ที่มันไม่ถูกใจตัว ไม่เป็นไปอย่างที่ตัวคิดมาว่าเป็นความทุกข์ไปหมดสิ้นเลย เสร็จแล้วชีวิตนี้ก็เลยขึ้นลง ๆ กระสับกระส่ายแล้วก็เหน็ดเหนื่อย แล้วก็บอกว่า ทุกข์ ทุกข์ โดยไม่หันมาศึกษาว่าทุกข์คืออะไร
นี่ดูสิพูดเรื่องทุกข์นิดเดียวจะหมดเวลาสนทนากันเสียแล้ว เพราะว่าเรื่องของความทุกข์นี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่ามีอยู่ในชีวิตประจำวัน และมนุษย์ทั้งหลายมักจะมองผ่านเลย ผ่านเลยคำว่าความทุกข์ไป แล้วก็มากลิ้งเกลือกกับความทุกข์ เพราะฉะนั้นนี้จึงเป็นหัวใจของคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านรับสั่งว่า สิ่งที่เราจะพูดอยู่ทุกเวลานี้ ไม่มีเรื่องอื่น นอกจากเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น เพราะนี่คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จริงหรือไม่ ก็เชื่อว่าท่านผู้ฟังทุกท่านย่อมจะเข้าใจและก็ซึมทราบในสิ่งนี้ดี เพราะเราต่างมีประสบการณ์ในเรื่องของความทุกข์มาไม่มากก็น้อย แต่วันนี้เวลาหมดเสียแล้วเราเอาไว้สนทนาต่อในคราวหน้า
ธรรมะสวัสดีค่ะ