แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมะสวัสดีค่ะ คราวก่อนเราพูดกันถึงเรื่องของความทุกข์ จนคิดว่าเราค่อนข้างจะคุ้นเคยแล้วก็รู้จักกับความทุกข์ดีพอสมควร แล้วนะคะ ใช้คำว่าพอสมควรก็เพราะว่าเรายังต้องการเวลาอีกสักระยะหนึ่งที่จะต้องศึกษาจนกระทั่งรู้จักมันดีจริงๆ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จักให้ดียิ่งขึ้น เมื่อเราได้กำหนดรู้แล้วว่า ความทุกข์คืออย่างไร มีลักษณะอาการอย่างไร เราก็ควรที่จะได้ศึกษาถึงว่าอะไรคือต้นเหตุของความทุกข์ พอจะนึกได้ไหมคะ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ อะไรคือต้นเหตุของความทุกข์ ความอยาก ความอยากที่เราเรียกกันว่า ตัณหา ที่เป็นสมุทัย เป็นต้นเหตุของความทุกข์ อันเป็นข้อที่สองในอริยสัจสี่ ต้นเหตุของความทุกข์ที่ท่านบอกว่าเป็น ตัณหา ก็โปรดเข้าใจว่าตัณหาในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง คนที่มีความต้องการเรื่องของกามารมณ์มาก แต่เราหมายถึง เป็นเรื่องของความอยาก ความอยากแต่เป็นความอยากที่ดิ้นรน เพราะเหตุว่ามันอยากด้วยอำนาจของอวิชชา คือมันจะดิ้นรนกระเสือกกระสนไปอยู่ตลอดเวลา อวิชชาคืออะไร
ผู้ฟัง: ความไม่รู้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อวิชชาคือความไม่รู้ ความไม่รู้แค่นั้นยังไม่พอ ต้องต่อไปด้วยว่า ความไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ คือถ้าจะไปบอกใครว่าคุณนี่ไม่รู้เลยเขาคงโกธร แล้วเขาจะบอกว่า ฉันเรียนจบมาปริญญาโท ปริญญาเอก ฉันทำงานมีตำแหน่งการงานสูง มีคนนับหน้าถือตา ทำไมจะบอกฉันเป็นคนไม่รู้ ก็เรียกได้ว่ารู้ สารพัดรู้ รู้โน่น รู้นี่ รู้ทุกอย่างแต่ไม่รู้ว่า ทำไมชีวิตนี้ถึงได้เผชิญกับปัญหาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นั่นก็ปัญหา นี่ก็ปัญหา ล้วนแล้วเป็นคนเจ้าปัญหา เป็นพ่อเจ้าปัญหา หรือแม่เจ้าปัญหาอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่รู้ว่านี่ละคือ ความทุกข์ เพราะในขณะที่ชีวิตจมปัญหาอยู่ตลอดเวลา จิตก็ขึ้นลงซัดส่าย ตามความรู้สึกที่ว่าเป็นปัญหาใหญ่หรือปัญหาเล็ก ถ้าคิดว่าปัญหาเล็กๆ ก็กระเพื่อมขึ้นลงๆ เล่นๆ ถ้าปัญหาใหญ่ก็โยนไปอย่างแรง หรือซัดส่ายสุดเหวี่ยง หรือบางทีมันก็ขยุ้มขย้ำตลอดเวลา จิตนี้มันจะหนักจึงเหน็ดเหนื่อย เพราะไม่รู้ นี่ล่ะจึงบอกว่าอวิชชา คือสภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ก็สิ่งที่มนุษย์ควรจะรู้ ควรจะศึกษาคืออะไร
ผู้ฟัง: เรื่องของจิต
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ศึกษาเรื่องของจิตเพื่ออะไร
ผู้ฟัง: เพื่อเรามีความสุข
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพื่อให้จิตนี้ ไปเสียจากข้าศึก คือ ความทุกข์ นี่คือจุดหมาย ไม่มีความสุข เราไม่พูดถึงความสุข เพราะเหตุความสุขจริงๆ นั่นน่ะ เรากำลังพยายามไปแต่มันยังไปไม่ถึงนะคะ เราจึงพูดแต่เพียงว่ามีเรื่องของความทุกข์เกิด กับเรื่องของความทุกข์ดับ เพราะฉะนั้นการที่เราจะศึกษานี่เพื่อให้รู้ รู้ว่าอะไรล่ะ ที่มันจะช่วยทำให้จิต มีความสงบเยือกเย็นผ่องใส สิ่งนั้นล่ะเป็นสิ่งที่เราจะศึกษาให้รู้ เพราะว่าที่เราตะเกียกตะกายกันอยู่ทุกวัน อย่างที่เราเคยพูดกันบ่อยๆ ว่า เพราะเราต้องการจะมีสิ่งที่เราเรียกว่าความสุขตามสมมุติ แล้วความสุขในที่นี้ เราก็หมายถึงความสุขเย็นข้างใน ให้จิตมันเยือกเย็นผ่องใสเป็นสุขอยู่ข้างใน คือสิ่งที่เราต้องการ เราไม่อยากเดือดร้อน เราไม่อยากวุ่นวาย เพราะความชอบความไม่ชอบใช่ไหมคะ นึกดูชีวิตคนเราทุกวันนี้ มันอยู่กับความชอบ ความไม่ชอบ มันวุ่นวายอยู่กับความชอบไม่ชอบ แล้วก็ชอบไม่ชอบของใคร อย่าลืมถามต่อไป ของฉัน ฉันตัวเดียวนี่ล่ะ นั่นฉันก็ไม่ชอบ นี่ฉันก็ไม่ดี ฉันว่าอย่างนี้ดี อย่างนี้ถูก ที่ถูกที่ดี เพราะฉันเคยทำมาตั้งแต่เล็กๆ ฉันคุ้นเคยกับสิ่งนี้ อะไรที่ฉันไม่คุ้นเคยก็ไม่ถูก นี่ล่ะชีวิตถึงวุ่นวายอย่างนี้
เอา-ไม่เอา ชอบ-ไม่ชอบ สรุปรวมก็คือว่า ได้อย่างที่ฉันต้องการ เสียล่ะ ก็ฉันไม่อยาก มันวุ่นอยู่สองอย่างแค่นี้เอง ท่านจึงบอกว่า นี่เป็นตัณหาตามอวิชชา คือด้วยอำนาจของอวิชชา จึงผลักให้จิตนี้ ดิ้นรนอยู่ด้วยความอยาก อยากจะเอา อยากจะได้ อยากจะมี อยากจะเป็น แล้วเมื่อได้มา ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง เมื่อมีเข้า ก็ไม่รู้จะมีอย่างไรถึงจะถูกต้อง เมื่อเป็น เป็นอย่างไรถึงจะถูกต้อง เข้าใจไหม ที่ว่าอย่างนี้ เพราะเราทุกคนเคยมี เคยเป็น เคยได้กันมาแล้วทั้งนั้น ที่บอกว่าไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง มีเงินเยอะเลย เผอิญถูกลอตเตอร์รี่รางวัลที่หนึ่ง จับพลัดจับผลูไปถูกตามเหตุปัจจัย ทำไมถึงเหตุปัจจัยเพราะว่าวงล้อนั่นหมุนตรงเลขที่เรามีพอดี ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยมันไม่พอเหมาะพอเจาะกัน ซื้อทีสิบใบ ร้อยใบ ไม่เคยถูกสักที ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ส่งเสริมให้ไปซื้อลอตเตอร์รี่นะคะ แต่พูดถึงว่าถ้าเผอิญเกิดโชคปะเหมาะเคราะห์ดีมันลอยมา ไม่รู้เผอิญญาติผู้ใหญ่ท่านเกิดสิ้นชีวิต มีความเมตตาปราณีมาก มอบมรดกให้ก้อนใหญ่ ที่เคยเดิน โหนรถเมล์ บัดนี้ไปซื้อรถเบนซ์คันใหญ่ขับขี่เข้าแล้ว
ทีนี้ที่บอกว่า นี่ตรงนี้มีไม่ถูก เรียกว่า "มีไม่เป็น ได้ก็ได้ไม่เป็น เป็นอะไรก็เป็นไม่ถูกต้อง" นี่หมายความว่า ได้มาก็ได้อย่างยึดมั่น ยึดมั่นว่าอะไร ว่าเป็นของฉัน ของเรา เป็นของฉัน เพราะฉะนั้นฉันก็จะใช้สิ่งที่ฉันมี ถ้ามีเงินจะใช้เงินตามอะไร ตามใจฉัน ฉันชอบอะไรฉันก็จะซื้อใช้ ฉันอยากกินอะไรฉันก็จะกิน ฉันอยากจะเอาอะไร ฉันก็จะเอาเงินไปคว้ามาให้หมดเลย โดยไม่คำนึงถึงว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร คำว่าเป็นอย่างไรหมายความว่า จะไปกระทบผู้อื่นอย่างไร จะเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นอย่างไร จะเป็นการทำร้ายผู้อื่นอย่างไร ไม่เคยคิด เพราะว่าฉันมีเงิน ฉันก็จะใช้เงินอันนั้นน่ะ ตามใจของฉัน นี่เรียกว่าใช้ไม่เป็น ทำไมถึงว่าใช้ไม่เป็น เพราะในขณะเอาเงินหว่านไปนั่นน่ะ ใจของคนหว่านเป็นสุขหรือเปล่า ขอโทษเถอะ ในความทุกข์หรือเปล่า มีไหม ทุกข์อย่างไร มีแบบดิ้นรนต้องการ ต้องการอยากได้ จิตนั้นก็กระเพื่อม ดิ้นรนอยากได้นั้นก็กระเพื่อม กระเพื่อมด้วยอะไร กระเพื่อมด้วยความฮึกเหิม ฮึกเหิมว่าเรามีเงินแล้ว เราก็หว่านได้ ซื้อได้ตามที่เราต้องการ หรือว่ามีอำนาจ
พอฉันมีอำนาจ ฉันไม่เคยมีอำนาจ เพราะฉะนั้นก็ใช้อำนาจเต็มที่ สั่งโน้นสั่งนี่ สั่งผิดสั่งถูก สั่งตามอะไร ตามใจฉัน ใจฉันอีกหมือนกัน ไม่ใช่คนอื่น สั่งตามใจฉัน เพื่อจะแสดงว่าฉันใหญ่นี่แหละศักดิ์ศรีฉันใหญ่ อัตตาตัวโตตามขึ้นมาเลย แล้วในขณะเดียวกัน จิตนี้มันก็ไม่ปรกติอีกเหมือนกัน กระเพื่อมๆ ด้วยความฮึกเหิม อย่างที่เรียกว่าลืมตัว ลืมตัวในทางโลก หยิ่งยโสโอหัง เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว นี่เพราะเหตุว่ามันเป็นความอยากตามจิต จึงทำให้ แม้ว่าได้ก็ได้ไม่เต็ม คือใช้มันไม่ถูก เป็นก็เป็นไม่ถูก เพราะมันใช้อำนาจ บาทใหญ่ข่มขู่ ข่มเหงเขา หรือว่ามีเงินก็มีไม่ถูกอีกเหมือนกัน ก็ไม่รู้จะใช้ยังไงให้เกิดประโยชน์ เพราะอะไร สรุปก็คือว่าการใช้นั้นไม่ว่าจะใช้อำนาจ ใช้เงิน ใช้สิ่งที่ตนเป็นตนมีก็ตาม ใช้เพื่อสนอง สนองหรือว่าบำเรอความอยากของตน บำเรอตัณหาของตน ที่ตัวมีอยู่เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นก็เลยยิ่งฮึกเหิมพองฟู ตีนไม่ติดดิน พอตีนไม่ติดดินมันลอยล้มลงมาเมื่อไหร่เท่านั้น ฟาดขวาง ล้มสลบ เจ็บปวดสาหัสจนจะตาย นี่เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ถ้าหากว่าตัณหา เกิดขึ้นเพราะอำนาจอวิชชา มันมีผลร้าย ผลร้ายถึงขนาดที่น่ากลัวเหมือนกัน ไม่ใช่น่ากลัวเหมือนกัน น่ากลัวจริงๆ น่ากลัวอย่างมากเลย นี่ก็เพราะไม่เคยศึกษา สิ่งที่เรียกว่าความคิดว่าคืออะไร ไม่เคยรู้ เมื่อยิ่งลอยอยู่กับความฮึกเหิม ไม่เคยได้สังเกตุทั้งที่ในชีวิตความเป็นจริง
เราจะมองเห็นความเกิดดับ ที่เป็นไปตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ทุกขณะเลย จะทั้งข้างนอก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมภายนอกรอบตัว เราก็เห็นความเกิดความดับ มีอำนาจ อำนาจก็ดับไป มีเงิน เงินนั่นก็มลายไป มีชื่อเสียงเกียรติยศ ชื่อเสียงเกียรติยศก็สลายไป วันหนึ่งมันก็ขจรขจาย แล้วมันก็สลายไป ถ้าหากว่าไม่รู้จักใช้ชื่อเสียงเกียรติยศที่มีนะให้มันถูกต้อง มันก็สลาย นี่เรามองเห็นความเกิดดับ เกิดดับ ที่เป็นกฎของธรรมธรรมชาติตลอดเวลา แต่เพราะไม่เคยสำนึก ไม่เคยศึกษาก็เลยมองข้าม แล้วจิตนี้ก็คลุกเคล้า ฮึกเหิม แล้วก็ดิ้นรนทุรนทุราย ก็เรียกว่ามีชีวิตอยู่อย่างประมาทตลอดเวลา เพราะเหตุว่ายอมให้ใจตกอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา ที่มันเป็นไปตามอำนาจของอวิชชา น่ากลัว น่ากลัวมากเลยจริงๆ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นความอยากที่พรรณนาไม่ถูกเลยว่ามีสักกี่สิบอย่าง กี่ร้อยอย่างเรียกว่าเป็นสารพัดอย่าง สารพัดอย่างจริงๆ แต่ถ้าหากว่าเราจะสรุปออกมาว่า สารพัดอย่างนี่ อะไรที่เป็นความอยากเรื่องใหญ่ๆ ก็เห็นจะต้องเริ่มต้นด้วย เกี่ยวกับเรื่องของอยากในเรื่องของความรัก สารพัดอย่างในเรื่องของความรัก อาจจะบอกว่าความหิว ความกระหายในเรื่องของความรัก มันเป็นต้นตอก็ได้ เป็นต้นตอ เป็นรากเหง้า ที่ทำให้ชีวิตนี้เกิดปัญหา กระหายความรัก ความรักใคร รักตัวเอง ความรักตัวเอง อยากให้คนอื่นรักเรา อยากจะให้ตนนี้เป็นที่รักของคนอื่น แต่ต้องรักตามวิธีที่ฉันบอกด้วยนะ ตามวิธีที่ฉันต้องการด้วย
ถ้าคนบางคน เขาก็มีความรักที่จะให้ แล้วมีความรักเพื่อความถูกต้องเข้าใจใช่ไหม ความรักเพื่อความถูกต้องเป็นยังไง ความรักเพื่อความถูกต้องก็เพื่อที่จะบอกว่านี่นะคือหนทางที่จะเดินเพื่อความถูกต้อง ความถูกต้องนี้ก็คือว่าเดินไปแล้วชีวิตก็จะหมดปัญหา จางคลายจากปัญหาจนกระทั่งหมดปัญหา นั่นก็คือหมดความทุกข์ ความทุกข์ดับได้ถึงฝั่ง แต่แน่นอนล่ะ มันจะต้องฝืนมันจะต้องข่ม ความอยากตามกิเลส ความอยากตามใจตัวมากมายก่ายกองเลย ก็บอกว่าอย่างนั้นไม่ใช่ความรัก ที่จะบอกว่าต้องเดินอย่างนี้นะ จึงจะเป็นการเดินอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะให้ความทุกข์มันดับไป ก็กลับไม่ยอมรับ ถ้าไม่ตามใจตน ไม่ส่งเสริมอัตตานี้ของตนในกองกิเลส นี่ล่ะ เสร็จแล้ว พอรักแล้วไม่ได้อย่างต้องการ ความรักก็จะเปลี่ยนเป็น ความโกธร ใช่ไหม รักแล้วไม่ได้ ก็โกธร โกธรแล้วก็ยังไม่ได้อีก เกลียด เกลียดมากๆ เข้า อาจจะเปลี่ยนเป็นกลัว เขารู้ว่าเรานี่โกธรเขาด้วย แล้วเราก็ทำอะไรตามความโกธร แล้วความโกธรเปลี่ยนเป็นความเกลียด นี่นะเขารู้ว่าเราเกลียดแล้วทำอะไรต่ออะไร ความรักตัวเองอีกเหมือนกัน ทำให้เกิดความกลัว เกิดความกลัวขึ้นมานี่ เขาจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเขาจะคิดร้ายเรา กลัวว่าชีวิตนี้จะไม่ปลอดภัย เดี๋ยวจะมีอันตรายเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเรื่องของความกลัวนี่เป็นเรื่องใหญ่ บางทีก็มีมาจากสาเหตุอื่น หลายสาเหตุ
เมื่อเราอาจจะพูดได้ ในอีกหลายแง่มุมนะคะ แต่ในวันนี้ เพียงแต่อยากจะพูดว่า ไอ้สารพัดอย่างนี่ มันอยากไปตามอำนาจของความรักก็มี อยากไปตามอำนาจของความโกธรก็มี อยากไปตามอำนาจของความเกลียด ความกลัว หรือ ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ความวิตกกังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ในอนาคตเป็นต้น มีอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ว่า ถ้าจะมาดูจริงๆแล้ว มันพ้นไหมคะ จากเจ้าสิ่งสกปรกสามอย่าง ไม่พ้น มันวนเวียนอยู่ในอาการที่จะดึงเข้ามา อยากดึงเข้ามาอยากพลักออกไป แล้วก็อยากวนเวียนครุ่นคิด เพราะว่า บางทีมันอร่อย คิดแล้วมันอร่อย มันสนุก ก็ครุ่นคิดจนกระทั่งนอนไม่หลับกินไม่ได้ ใช้เวลาครุ่นคิดก็ได้ หรือบางทีก็ครุ่นคิดเพราะเหตุว่า คิดไม่ตก คิดไม่ตกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะแก้ใขปัญหานี้อย่างไรดี ก็เลยครุ่นคิดไปเรื่อย ถ้าจะว่าไปแล้วก็อยู่ที่จิตวุ่นวาย วุ่นวายไปสารพัดเลย อยู่กับเรื่องของความอยากไม่รู้จบเพราะฉะนั้นตัณหา ที่เป็นไปตามอำนาจของอวิชชา จึงเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง และจะแก้ใขได้ก็ด้วยการศึกษา ดูเรื่องของความคิดนี้ เพื่อจิตนี้จะได้มีสติมากขึ้นแล้วก็มีความไม่ประมาท
นอกจากนั้น ถ้าหากว่าเรารู้แน่นอนว่า เรื่องของอวิชชา คือเรื่องของความไม่รู้ ในสิ่งที่ควรรู้ จากนั้นก็ฝึกจิตของตนให้รู้จักรู้ ในสิ่งที่ควรรู้ให้มากขึ้น นี่ก็ใช่อวิชชา เรียกว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อาการที่เกิดขึ้นนี่ ถ้าจะบอกว่า เอ้ ทำไมเราถึงต้องสำลัก ทำไมต้องเป็นฉันสำลักด้วย ถ้าบอกว่าทำไมต้องเป็นฉันสำลักด้วย หมายความว่าอย่างไร รู้จักกฎอิทัปปัจจยตาไหม มันไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเรารู้กฎอิทัปปัจจยตาที่ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เราก็ยอมสำลัก ยอมไอสักหน่อย แล้วมันก็หายไป แล้วก็ไม่ต้องร้องว่า ทำไม จึงเป็นฉัน ทำไมฉันต้องไอ นั่งกันอยู่ตั้งหลายคน ไม่เห็นมีใครไอสักคน ก็เพราะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าหากเรานึกอย่างนี้ ตัณหาก็ไม่ต้องไปยึด คือว่า ไม่ต้องรู้สึกว่า อยากโกธร อยากโกธรคอที่มันต้องมาไอ ไม่ต้องอยากโกธร ไม่ต้องเกลียด ไม่ต้องเกลียดคอ อันนี้ไม่ต้องรำคาญ แล้วมีนก็จะเป็นปรกติเป็นธรรมดา นั้นท่านจึงบอกว่า "สิ่งที่มนุษย์ควรศึกษาเพื่อให้รู้ ที่จะได้จัดการเรื่องของความทุกข์ได้ ก็คือจัดการกับเรื่องของสมุทัย" คือ รู้ว่าอะไรคือเรื่องของตัณหา แล้วจะหยุดเพียงแค่นี้ได้
ทำไมตัณหามันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ก็เพราะเกิดตัณหาความอยากขึ้นมา มันเกิดอะไร พออยากมากๆ เข้าเป็นอย่างไร พออยากมากๆ เข้า ที่จัดการ ที่จะทำให้ได้ แล้วผลที่สุดก็จะเกิดการท่องขึ้นมาในใจว่าต้องเอาให้ได้ๆ ฉันต้องเอาให้ได้ ที่ท่านเรียกว่าก็เป็นอะไร เป็นอะไรขึ้นมาแล้ว ต้องเอาให้ได้ โลภะ ถูกล่ะ ตัณหานี่ ตัณหานี่มันจะเกิดขึ้น ตามโลภะ หมายความว่า ถ้าหากว่าความรู้สึกเป็นโลภะมันเกิดขึ้น ตัณหาคือจะเอาให้ได้ ถ้าหากว่า ตัณหานั้นมันตามโทสะ นี่เอา ไม่เอา ไม่ชอบไป ถ้าตัณหามันตามโมหะ มันก็ยังอยู่ในระหว่างที่ไม่แน่ใจ เหมือนกับชักคะเย่อ หรือบางทีก็มัวเมา มึนงง ว่าอะไรแน่ จะเอาดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ตัดสินใจไม่ถูก แต่ถ้าหากว่าเราคงจมอยู่กับความรู้สึกอันนั้น จมอยู่กับความอยากอันนั้น ยิ่งอยากมากๆเข้า มันกลายเป็นอุปาทาน ท่านเรียกว่าเป็นอุปาทาน ทุกข์นั่นทุกข์แน่ มันทุกข์มาตลอด ตั้งแต่มีความอยากที่ปล่อยให้สิ่งสกปรกเข้ามา มันทุกข์มาเรื่อย ทุกข์มาตามลำดับ
แต่ทีนี้ทุกข์นี้จะเพิ่มมากขึ้นๆ มากขึ้นตามลำดับจนถึงขนาดที่ว่าเกิดเป็นอุปาทาน อุปาทานคือยึดมั่นถือมั่นที่ต้องเอาให้ได้ มันมีสัญญาในใจ แต่สัญญาอันนี้ไม่ใช่ความหมาย ไม่ใช่สัญญาที่ถูกต้อง คือต้องเอาให้ได้ๆ แล้วไม่ได้นี่ยิ่งเกิดเป็นตัณหา หรือทำให้เกิดอุปาทาน แล้ว อุปาทานอก็จะทำให้เกิดเป็นภพ คือความรู้สึกเป็นความมี ความเป็น เช่นนั้น ความมีความเป็นฉัน ความมีตัวฉัน มันค่อยๆฟูมฟักขึ้นมา ที่ท่านเปรียบเหมือนกับ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่กำลังท้อง จะต้องทนุถนอมเหลือเกิน ความรู้สึกนี้ ความ รู้สึกมี ความรู้สึกเป็นที่เกิดขึ้นในจิต ทนุถนอมมาก เพราะกลัวลูกในครรภ์ จะเป็นอะไร มนุษย์เราที่ต้องทนุถนอม การที่จะรักษาความเป็นตัวฉันออกมากถึงขนาดนั้น แล้วผลที่สุดมันหยุดไม่ได้ ก็เบ่งบานออกมาจน กลายเป็นชาติ หรือ ชา-ติ คือ ความรู้สึกเป็นตัวตน เป็นตัวตน เป็นตัวฉันออกมากๆ ทีนี้อะไรที่เกิดขึ้นเป็นตัวฉัน เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ๆ เป็นทุกข์หมดเลย เอาเป็นตัณหาของฉันหมดเหมือนอย่างที่พูดกันว่า แม้แต่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่มันเป็นของธรรมขาติ ก็เอามาเป็นความแก่ของฉัน ความเจ็บของฉัน ความตายของฉัน แล้วความเกิดที่น่ากลัว ที่ทำให้เอาไปยึดทุกอย่างเป็นของฉัน ก็ยังไม่รู้ความเกิดที่น่ากลัว คืออะไร ความเกิดที่น่ากลัว คือความรู้สึกที่เป็นตัวตน เป็นอัตตาขึ้นมา แล้วเสร็จแล้ว ก็จะเอาของทุกอย่างมาเป็นของฉัน แล้วก็ทุกข์
เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้ว่า ตัณหาที่เกิดขึ้น เพราะความอยาก ด้วยอำนาจของอวิชชา ต้องแก้ไข ต้องขัดเกลา ต้องปรับใหม่ให้ถูกต้อง
ให้มันเปลี่ยนเป็นความต้องการ ด้วยสติปัญญา ความต้องการที่ฉลาด ที่ท่านจะเรียกว่าเป็น สังกัปปะ (สัง-กัป-ปะ) เพราะมันจะรู้ว่าความต้องการนี้เป็นความพอดี หรือความเหมาะสม ความถูกต้องที่จะไม่ก่อปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ใด รวมทั้งผู้ที่เป็น ผู้ที่จะกระทำ โดยจุดนัดร่วม แล้วผู้ใดที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่ต้องรับปัญหา ทุกคนก็จะได้รับประโยชน์ตามความสมควรแก่ตัวเอง อย่างนี้จึงจะเรียกว่า เป็นความต้องการด้วยสติปัญญา ฉะนั้นที่ใครบอกว่าถ้าไม่อยากแล้ว มันก็ไม่พัฒนา มันก็ไม่สร้างสรรค์ มันก็เป็นคนไม่ก้าวหน้า ไม่จริง เราเปลี่ยนความอยากอันนั้นให้เป็นความต้องการด้วยสติปัญญา เพื่อจะได้สงวนพลังเอาไว้ แล้วกระทำสิ่งที่ถูกต้อง แล้วมันก็จะเกิดประโยชน์ กับทุกฝ่าย เราเปลี่ยนความอยากด้วยตัณหา อุปาทาน ให้เป็นความต้องการด้วยสติปัญญาแค่นั้นเอง ด้วยชีวิตนี้จะได้พ้นจากตัณหา เป็นชีวิตที่มีความสุข
ธรรมะสวัสดีนะคะ