แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สวัสดีค่ะ
เราได้พูดกันมาจำได้ไหมคะว่าเราเริ่มด้วยเรื่องของทุกข์และความทุกข์นะคะ เพราะว่าทุกข์เป็นสิ่งที่เราจะต้องรู้ และก็ต้องกำหนดรู้ และจากนั้นเราก็ได้พูดถึงเรื่องของสมุทัยคือต้นเหตุของความทุกข์ก็คือตัณหา แล้วก็ได้พูดถึงเรื่องตัณหามาเยอะเลย เรื่องของความอยากซึ่งเมื่อเกิดความอยากขึ้นในจิตเมื่อไรก็จะทำให้จิตนี้ร้อนรุ่ม ทุรนทุราย หาความสงบสุขไม่ได้เลย และก็พูดกันมามากแล้วนะคะ จนกระทั่งถึงเรื่องของนิวรณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ปิดกั้นหนทางแห่งความเจริญทุกอย่างทุกชนิดในชีวิต เมื่อเราพูดมาแล้วจนกระทั่งทราบว่าการที่จิตนั้นมีความร้อนรน มันเป็นโทษแก่การมีชีวิตอยู่เป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะได้พูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่านิโรธ อันเป็นข้อที่ ๓ ในอริยสัจ ๔ อริยสัจก็คือการรู้ความจริง รู้ความจริงที่รู้แล้วทำให้ผู้นั้นไปเสียจากข้าศึกคือความทุกข์ ไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป และก็เมื่อเรารู้ถึงเรื่องของสมุทัยก็คือต้นเหตุของความทุกข์แล้ว รู้จักมันแล้ว บัดนี้เราก็ควรที่จะต้องรู้จักทำให้มันหมดสิ้นไป เพราะฉะนั้นการที่จะพูดถึงนิโรธ ก็ต้องนึกถึงคำแปลของนิโรธซึ่งแปลว่า ดับไม่เหลือ หรือว่าดับไปโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าเรื่องของการดับไม่เหลือหรือเรื่องของนิโรธนี้เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้แจ้ง ทำให้แจ้งขึ้นในใจให้จงได้ทีเดียว แจ้งในเรื่องอะไรนึกออกไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ: แจ้งในปัญญา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ปัญญาในเรื่องของอะไร ความทุกข์ คือปัญญาในเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์ เพราะฉะนั้นที่แจ้งนี่แจ้งในเรื่องของการดับทุกข์ เรื่องของความทุกข์เราได้พยายามศึกษาเรียนรู้แล้วก็ใคร่ครวญในมันในข้อที่ ๑ ของอริยสัจ แล้วก็จนกระทั่งถึงสมุทัย บัดนี้มาถึงข้อที่ ๓ นิโรธก็คือต้องพยายามที่จะทำให้แจ้งในเรื่องของการดับทุกข์นะคะ ฉะนั้นการที่เราจะทำให้แจ้งในเรื่องของการดับทุกข์ได้นี้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ในเรื่องของทุกข์แล้วก็เรื่องของตัณหา
ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สมุทัยคือตัณหาเป็นสิ่งที่จะต้องละ ละเพื่อไม่ให้มันเกิดอีก ทีนี้เมื่อเรารู้แล้วว่าเราควรจะละอย่างไร พอรู้แล้วหรือยัง
ผู้ดำเนินรายการ: รู้แล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: รู้ยังไงคะ ถ้าเราจะละตัณหาเราจะต้องรู้ในเรื่องอะไรบ้าง
ผู้ดำเนินรายการ: รู้ในเรื่องของกิเลส
อุบาสิกา คุณรัญจวน: รู้ในเรื่องของกิเลส ด้วยการดูอาการที่มันเกิดขึ้นในจิตใช่ไหมคะ ว่าอาการอย่างใดที่มันเกิดขึ้นในจิต เช่นอาการดึงเข้ามาก็นี่ละโลภะ อาการผลักออกไปก็นี่ละคือโทสะ อาการที่หมุนเวียนวิ่งไปรอบๆ ตัวอย่างหาจุดหมายไม่ได้แล้วก็ไม่พบสักทีก็คืออาการของโมหะ ถ้ามันรุนแรงก็เป็นกิเลส เรารู้แล้วว่าเมื่อตัณหาเกิดก็เลยทำให้จิตนี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสเพราะตัณหานี้มันเป็นไปตามอำนาจของอวิชชา แล้วก็เมื่อไม่มีกิเลสจรรุนแรงมันก็จะลดลงมาเหลือเป็นนิวรณ์ มันก็จะรำคาญกรุ่นอยู่ตลอดเวลา นั่งคิดนอนคิดไม่มีความสุขสงบได้เลย เพราะฉะนั้นสมุทัยจึงเป็นสิ่งที่ต้องละ แล้วก็เมื่อละแล้วมันก็จะถึงนิโรธคือความดับ เพราะฉะนั้นนิโรธนี้จึงจะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้แจ้ง ก็ต้องขอย้ำว่าแจ้งในเรื่องอะไร แจ้งในเรื่องของความทุกข์ กำหนดรู้ลักษณะของความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็แจ้งในเรื่องของตัณหาความอยากจนเห็นโทษทุกข์ของการปล่อยใจให้กระทำตามตัณหาที่เกิดจากอำนาจของอวิชชา โดยรู้ว่ามันร้อน มันร้อน ร้อนเหลือเกิน แล้วก็ร้อนอย่างไรก็รู้ด้วย ทุกข์อย่างไรก็รู้ด้วย เมื่อไม่อยากทุกข์อีกไม่อยากร้อนอีกก็ต้องทำให้มันดับ ดับความร้อนเสีย หยุดความร้อนเสียเพื่อมันจะได้เย็น ดับความอยากด้วยอวิชชานั้นเสีย เปลี่ยนให้เป็นความอยากด้วยวิชชา วิชชา “ช” สองตัวนะคะ คืออะไร คือปัญญา ปัญญาที่จะเกิดจากความรู้ภายใน แล้วจิตนี้ก็จะมีความสุขสงบเย็นยิ่งขึ้นตามลำดับ เรียกว่าพอตัณหาจางคลาย ความอยากจางคลาย ดับไป ความสงบสุขก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ฉะนั้นเมื่อเราจะพูดถึงการทำให้แจ้งซึ่งนิโรธคือการดับ เราก็จะต้องพูดถึงสิ่งที่เรียกว่านิพพานอันเป็นผลของการดับ พอพูดถึงนิพพาน เป็นไงคะ รู้สึกตกใจไหม
ผู้ดำเนินรายการ: สมัยก่อนตกใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สมัยนี้ไม่ตกใจละ
ผู้ดำเนินรายการ: สมัยนี้คือค่อนข้างจะคุ้นว่าความหมายนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วก็เลยไม่ตกใจ สมัยก่อนตกใจทำไม พอได้ยินนิพพานนี่
ผู้ดำเนินรายการ: นิพพานนี่คือตาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตาย บางคนเข้าใจว่านิพพานแปลว่าตาย เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าเธอจะนิพพานเดี๋ยวเธอจะตาย แต่อันที่จริงแล้วก็จงรู้เถิดว่าเรื่องของนิพพานนั้นไม่เกี่ยวข้องกับความตายเลยสักนิดเดียว แล้วทำไมถึงตกใจจเลิศ
ผู้ดำเนินรายการ: นิพพานแล้วกลัวครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ จเลิศรู้จักว่านิพพานว่าเป็นตายเหมือนกัน ไม่ใช่ตกใจเพราะอย่างอื่น
ผู้ดำเนินรายการ: สมัยก่อนนะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สมัยก่อนตกใจเมื่อพูดถึงนิพพานจะตาย และอันที่จริงแล้วนิพพานไม่เกี่ยวข้องกับความความตายเลย
นิพพานนี้โดยพยัญชนะคือตามตัวอักษรมันแปลว่า “ดับไม่เหลือ” และการดับไม่เหลือนี้ไม่ใช่ดับเอง คือดับความร้อน ให้ความร้อนไม่เหลือเลย เมื่อมันไม่เหลือมันก็เป็นความเย็นใช่ไหมคะ แล้วก็ในอินเดียสมัยก่อนโน้นท่านก็บอกว่าเขาใช้คำว่านิพพานในภาษาธรรมดา เป็นภาษาที่เราพูดคุยกันอย่างนี้เขาก็ใช้คำว่านิพพาน เหมือนอย่างเช่นในกองไฟ กองไฟที่เราก่อกองไฟขึ้นเหมือนอย่างเราเห็นไฟ แล้วพอไฟนั้นดับคือเราเอาน้ำราดลงไปแล้วไฟนั้นดับ แทนที่เขาจะบอกว่าไฟดับแล้ว เขาก็พูดเป็นภาษาว่าไฟนิพพานแล้ว ก็คือหมายความว่าบัดนี้ไฟนั้นน่ะเย็นแล้ว เขาเอาน้ำไปราดแล้วเอามือไปจับ มันก็เย็นมันไม่ไหม้มือเหมือนอย่างเมื่อก่อน หรือน้ำที่เราต้มเดือด พอเราต้มเดือดมันก็ร้อนจัดเราก็ยกกาน้ำวางลงข้างล่าง ประเดี๋ยวกาน้ำนี้ก็เย็น เขาก็บอกได้ว่ากาน้ำนี้ น้ำนี้นิพพานแล้ว เพราะฉะนั้นความหมายแท้ๆ ของนิพพานคือคำว่าเย็น
เมื่อเราพูดถึงนิพพาน เพื่อความเข้าใจอันถูกต้องก็จำเป็นอย่างยิ่งเลยที่เราจะต้องรู้ความหมายของคำว่านิพพานเสียก่อนว่าหมายความว่าอะไร โดยพยัญชนะมันก็แปลว่าเย็น เย็นจากความร้อน คือความร้อนหมดไป ดับไปหายไปมันก็เย็น แต่ถ้าโดยอรรถคือโดยความหมาย โดยความหมายในทางธรรมะนั้นก็เรียกว่าเมื่อพูดถึงว่านิพพานก็คือหมายถึงอาการของนิพพานที่เกิดขึ้นภายใน คือความเย็นที่เกิดขึ้นภายใน ภายในจิตของเรา จิตของเรานี่ร้อน มันมีความเย็นเกิดขึ้น และความเย็นอันนั้นนั่นน่ะมันเกิดขึ้นได้เพราะมันเป็นการดับของความร้อน และความร้อนในที่นี้ที่ทำให้จิตร้อนนี้ก็คืออะไร ก็คือกิเลส คือการดับแห่งความร้อนคือดับกิเลส กิเลสที่เรียกว่าโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อมันไม่มารบกวนจิต จิตนี้มันก็เย็น หรือพูดอีกอย่างง่ายๆ คือแม้แต่นิวรณ์ก็ไม่มารบกวน นิวรณ์ที่เราพูดกันแล้วแม้แต่นิวรณ์ก็ไม่มารบกวน เพราะฉะนั้นจิตนี้มันก็จะมีแต่การดับคือมีแต่ความเย็นเกิดขึ้น เป็นความเย็นที่ปราศจากไฟ ไฟอันนี้ก็คืออะไรอีก ก็คือกิเลส ปราศจากไฟคือกิเลส ไม่มีกิเลสมารบกวนเลย เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงนิพพานนี่นะคะก็ย่อมเข้าใจได้ว่ามันเป็นความเย็นที่เป็นผลของการดับแห่งความร้อน เป็นความเย็นที่เกิดขึ้นจากผลของการดับแห่งความร้อน เพราะฉะนั้นความเย็นอย่างนี้น่ะถ้าจะถามว่าเย็นอย่างไรที่เรียกว่าเย็นของนิพพาน ก็ตอบได้ว่าความเย็นของนิพพานนี้ต้องเข้าใจง่ายๆ ถึงคำสามคำที่เราเรียกกันว่า “๓ ส” ซึ่งท่านเจ้าประคุณท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์ท่านอธิบายคำว่า “๓ ส” นี่มาเป็นเวลานานเชียว แล้วก็เป็นคำธรรมดาๆ ถ้าหากว่าเราสนใจในคำธรรมดาอย่างนี้นะคะแล้วก็ลองเอามาใคร่ครวญดูเราจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องไม่ยาก เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน พอได้ยินว่า “๓ ส” นึกออกไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ๓ เสือ หรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถูกแล้ว ๓ ส นี่คืออะไร ถูกแล้ว ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ๓ อย่างนี้ที่ถ้าหากว่าสามารถที่จะสร้างลักษณะแห่งความสะอาด ความสว่าง ความสงบให้เกิดขึ้นในจิตได้ นี่คือลักษณะของนิพพาน แต่เราจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่าความสะอาด ความสว่าง ความสงบที่จะเป็นลักษณะของจิตที่เย็นนี่นะคะ มันมีความหมายว่าอย่างไร
ความสะอาดของจิตที่เย็นก็ต้องบอกว่ามันสะอาดจากความสกปรกเศร้าหมองของกิเลส ใช่ไหม กิเลสเป็นสิ่งสกปรก เพราะฉะนั้นขณะใดที่ผู้ใดสามารถขัดเกลาความโลภ ความหลง ความโกรธให้ออกไปจากจิต ขณะนั้นจิตก็ว่าง เย็นสบายมันก็สะอาด มันไม่มีฝุ่นละอองแม้แต่ของนิวรณ์เข้ามารบกวน ไม่มีกองขยะใหญ่ๆ ของโลภะ ของโทสะ ของโมหะ ไม่มีฝุ่นละอองของนิวรณ์ที่จะเข้ามารบกวนจิต แน่นอนขณะนั้นจิตมันก็สะอาด แต่ว่าจิตที่มันสะอาดได้นี้เราไม่ได้ใช้ไม้กวาดกวาด ไม่ได้ใช้ผ้าขี้ริ้วเช็ดถู แต่เรากวาดมันให้สะอาดด้วยอะไร ด้วยสติและปัญญา เรากวาดมันให้สะอาดด้วยสติและปัญญา ถ้าจะเรียกว่าเราใช้ไม้กวาด ไม้กวาดนั้นจะต้องเป็นไม้กวาดอะไร ไม้กวาดของธรรมะ ไม้กวาดแห่งธรรมะที่เราเอามาใช้กวาด กวาดความสกปรกของกิเลส กวาดความสกปรกของนิวรณ์ที่มันเข้ามากลุ้มรุมจิตให้จางหายไป ซึ่งไม้กวาดอย่างนี้มันไม่ได้ใช้ต้นหญ้าที่เรามามัดเป็นไม้กวาด เราจะต้องใช้อะไรเอามามัดเป็นไม้กวาด ไม้กวาดธรรมะนี่จะใช้อะไรมามัดเป็นไม้กวาด ลองนึกดูสิจะใช้อะไร ลองนึกดูสิคะว่าผู้ใดที่สามารถจะผลิตไม้กวาดธรรมะขึ้นในใจได้ท่านจะใช้อะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ปัญญา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วปัญญาอันนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยอะไร ก็ต้องศึกษาอะไรด้วย กฎของธรรมชาติใช่ไหม กฎของธรรมชาติ สิ่งที่จะเอามามัดเป็นไม้กวาดเพื่อให้เป็นไม้กวาดของปัญญาหรือไม้กวาดของธรรมะก็ต้องศึกษากฎของธรรมชาติ คือหมายถึงกฎของอะไร ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนชัดเจนแล้วก็ต้องไม่ลืมกฎอิทัปปัจจยตา ที่รู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมันย่อมมาจากเหตุปัจจัย ผลที่มันก่อขึ้นที่มันเกิดขึ้น ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้ลอยๆ มันต้องมีเหตุ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามีอะไรเกิดขึ้นและเราจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม หันไปดูเหตุทันทีแทนที่จะร้องว่าทำไม ทำไมอย่างที่ว่า แล้วก็แก้เหตุนั้นเสีย นี่ก็เรียกว่าเรามีไม้กวาดธรรมะอยู่ในมือโดยไม่มีใครทำให้ เราทำของเราเองและเสร็จแล้วเราก็ใช้ไม้กวาดอันนี้กวาดความสกปรกนั่นออกไป จิตนี้ก็จะสะอาด ทั้งกิเลสทั้งนิวรณ์ไม่เข้ามารบกวน นอกจากนี้ก็เป็นความสะอาดที่เกิดจากการปราศจากความยึดมั่นถือมั่นใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยึดมั่นในอัตตาตัวตนนี้ ตัวตนที่มองเห็นอยู่นี่เราก็รักนะเพราะเราอยู่กับมันมาตั้งแต่เกิด เราก็รักว่ามันสวยมันงามมันดีมันประกอบมาเป็นตัวฉัน แล้วเราก็ยึดมั่นถือมั่น ถ้าใครเขาเอ่ยชื่อถึงตัวฉันเช่นฉันชื่อจิตใส แหมจะต้องพูดเพราะๆ เพราะชื่อจิตใส ถ้าหากว่าใครจะมาพูดเอ่ยถึงชื่อนี้ในทางที่ไม่สวยไม่งาม ถึงแม้ว่าจะชื่อจิตใสแต่ว่าจิตตอนนั้นใสไหม ไม่ใสเลย มันขุ่นมัว ก็เขามาว่าตัวนี้ที่ชื่อว่าจิตใสตั้งแต่เกิด แล้วเขามาว่าในทางที่ไม่งดงามในทางที่ไม่ดี ความใสหมดไป อย่างนี้ความสะอาดมีไหม ไม่มี ความสะอาดไม่เกิดแล้วในจิต เพราะงั้นชื่ออะไรก็ตามของฉัน ชื่อตามสมมตินี่ไม่สำคัญ ความหมายตามชื่อหรือเปล่า ไม่
ถ้าหากว่าผู้ที่ชื่อจิตใสสามารถจะทำให้จิตมีความใสสะอาดอยู่ได้ตลอดเวลานั่นแหละจึงจะเหมือนกับชื่อ และชื่อนั้นจากสมมติก็กลายเป็นจริงขึ้นมา เป็นจริงได้เพราะจิตนั้นปราศจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวนี้เสียแล้ว นี่คือความสะอาด ความสะอาดที่จะเกิดจากความไม่มีความสกปรก ความเศร้าหมองเพราะกิเลสเหลืออยู่เลย แล้วก็สะอาดเพราะมันปราศจากความยึดมั่นถือมั่นใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นตัวตนนี้ หรือว่ารูปนี้ ชื่อนี้ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือว่ามันสะอาดเพราะว่ามันสิ้นสุดการปรุงแต่ง การปรุงแต่งคือหมายความว่าอย่างไร ผู้ที่ชำนาญในการทำกับข้าวรู้แหละในการประกอบอาหารเราก็ต้องปรุงแต่งใช่ไหมคะ เราต้องปรุงแต่ง แล้วก็มีเครื่องประกอบต่างๆ มีหอมมีกระเทียมมีพริกมีเนื้อมีผักมีมะพร้าวมีน้ำตาลน้ำปลา มีสารพัด ในเรื่องนี้เก่งมากในเรื่องของการปรุงแต่งในเรื่องของอาหาร เพราะฉะนั้นพอมาวางๆ เข้ากันแล้ว แต่ว่าผู้ที่ปรุงอาหารเก่งพอปรุงเสร็จแล้วคนชอบไหม ชอบ ชอบรับประทานที่มันอร่อย แต่คนที่ปรุงแต่งอย่างที่เรียกว่าสังขารปรุงแต่งในทางธรรมอร่อยไหม ไม่อร่อยเลย ปรุงแต่งในทางธรรมนี่ไม่อร่อยเพราะปรุงแต่งที่ไหน ที่จิตมันคิดไป มันคิดไปต่างๆ นานา คิดฟุ้งซ่านเพ้อเจ้อในประเภทนิวรณ์ตัวไหน
ผู้ดำเนินรายการ: ประเภทที่ ๔
อุทธัจจกุกกุจจะ ถูกแล้ว ความคิดฟุ้งซ่านเพ้อเจ้อเลื่อนลอยหยุดไม่ได้ๆ คิดไปอดีตบ้าง คิดไปอนาคตบ้าง คิดสารพัดจะคิด ไม่มีรากฐานไม่มีพื้นฐานความจริงอยู่สักนิดเดียว เรียกว่าไม่มีเหตุอะไรเลย ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยนอกจากใจที่มันหยุดคิดมันหยุดไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจิตสะอาดไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่สะอาดเลย สกปรกอย่างยิ่ง แม้ว่าข้างนอกจะแต่งตัวสวยงามกลิ่นหอมฉุยมาจากห้องน้ำเชียว เกลื่อนละออเลยข้างนอกแต่ข้างในนี่สกปรก สกปรกที่สุด ตัวเองไม่รู้ว่าสกปรกเพราะมองข้างนอกนี่สะอาดแต่แท้ที่จริงข้างในสกปรก ลักษณะของความสกปรกออกมายังไง ก็คือออกมาในลักษณะของความวุ่นวาย ความวุ่นวายภายใน ความที่ไม่มีความสุขสงบเลย ความดิ้นรนเดือนร้อนทะเยอทะยานกระเสือกกระสน ระหกระเหินอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่ตัวนั่งอยู่นี่ นั่งเงียบนั่งเฉยนั่งตัวตรงแต่ข้างในจิตมันระหกระเหินมันระส่ำระสายมันไม่ได้อยู่เฉยเลย นี่มันจึงมีความสะอาดไม่ได้ ในทางธรรมะเราเรียกได้ว่าจิตนี้สกปรก น่าสงสารเพราะมันวุ่นวายอย่างที่เห็น เพราะฉะนั้นความสะอาดที่เราบอกว่าเป็นลักษณะความเย็นประการหนึ่งจะต้องสะอาดในลักษณะไหน คือสะอาดจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง สะอาดจากความเศร้าหมอง ไม่มีความเศร้าหมองของกิเลสหรือของนิวรณ์เข้ามารบกวนเลยแม้แต่น้อย แล้วก็สะอาดจากความคิดปรุงแต่งต่างๆ นานาเพราะรู้แล้วว่ายิ่งปรุงแต่งยิ่งเป็นทุกข์ ยิ่งปรุงแต่งยิ่งเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าผู้ใดยังปรุงแต่งอยู่ก็แสดงว่ารู้เรื่องของความทุกข์แล้วหรือยัง ที่บอกว่าทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ รู้แล้วหรือยัง
ผู้ดำเนินรายการ: ยังไม่รู้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ยังไม่รู้ แล้วก็รู้เรื่องสมุทัย ตัณหาแล้วหรือยัง
ผู้ดำเนินรายการ: ยังไม่รู้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ยังไม่รู้ ใช่ไหม ยังไม่รู้อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นยังไม่รู้เรื่องของความทุกข์ ยังไม่รู้เรื่องของสมุทัยคือตัณหา แล้วก็จะมาดับจนมาถึงซึ่งนิโรธได้อย่างไร ไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นในอริยสัจ๔ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอนว่าเราต้องรู้สัจจะ สัจจะหรือความจริงที่รู้แล้วจะทำให้ไปเสียจากข้าศึก ต้องรู้ กำหนดรู้ในเรื่องของความทุกข์อย่างชัดเจน แล้วก็เมื่อรู้ถึงตัณหาคือที่เป็นสมุทัยแล้วก็ต้องละมันให้ได้ แล้วเสร็จแล้วนี่แหละจึงจะถึงซึ่งนิโรธ แล้วก็ทำนิโรธนี้ให้แจ้ง ให้แจ้งยิ่งขึ้นด้วยการที่รู้จักธรรมที่เป็นไวพจน์ของนิโรธนั่นคือนิพพาน
ธรรมสวัสดีนะคะ