แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมะสวัสดีค่ะ วันนี้เราจะได้พูดถึงสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนานะคะ เพราะว่าเป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ในคืนที่ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า จากความเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะได้ตรัสรู้สิ่งนี้ด้วยพระองค์เอง ไม่มีผู้ใดบอก ธรรมะเรื่องนี้ชื่อว่า “ปฎิจจสมุปบาท” หมายถึง อาศัยกันและเกิดขึ้นพร้อมกัน ปฎิจจสมุปบาทนั้นจะต้องอาศัยสิ่งที่เป็น “เหตุ” และก็มีสิ่งที่เป็น “ผล” และก็เหตุผลนี้ก็ปรุงแต่งซึ่งกันและกัน และก็จะมีความต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ แต่ว่ามันจะมีแต่อาการเท่านั้น มันจะไม่มีตัวมีตนอยู่ในนี้ ฉะนั้นถ้าหากว่าเราศึกษาปฎิจจสมุปบาทให้ครบรอบสิบเอ็ดอาการ แล้วเราก็จะเข้าใจได้ว่าที่มันต่อเนื่องกันอย่างลูกโซ่นั้น และมันไม่ได้มีถึงว่าแสดงถึงว่า เป็นบุคคล หรือเป็นตัวตน หรือว่าเป็นสัตว์ หรือเป็นสิ่งมีชีวิตใดสิ่งมีชีวิตหนึ่งนั้น หมายความว่าอย่างไร
การศึกษาปฎิจจสมุปบาท อาจจะศึกษาได้สองอย่าง อย่างหนึ่งคือ ศึกษาจาก “ต้นเหตุ” ต้นเหตุเริ่มต้นจากทางมุมขวาลงมาทางด้านนี้นะคะ คือ ศึกษาว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเกิด ก็คือสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นี้ อาศัยอะไรแล้วเกิดขึ้นเป็นความทุกข์ นี่ท่านเรียกว่า ศึกษาอย่าง “สมุทยวาร” เราเริ่มต้นจากมุมขวานี้ลงมาเรื่อย แล้วก็จะลอดมาถึงมุมซ้าย ถ้าหากว่าศึกษาอีกทางหนึ่ง ก็คือ ศึกษาจากสิ่งที่เรียกว่าเป็น “ผล” คือผลที่เกิดขึ้นนี่ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องแก่ด้วย ทำไมต้องเจ็บด้วย ทำไมต้องตายด้วย ทำไมถึงต้องประสบปัญหาอย่างโน้นอย่างนี้ ทำไม ถ้าเราจะถามจะศึกษาด้วยผลว่า ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ เราก็จะศึกษาจากทางด้านนี้ ในด้านของความทุกข์นี่ ผลของความทุกข์ที่เป็นอย่างนี้มันเกิดมาจากอะไร นี่เรียกว่าศึกษาจากผล แต่จะศึกษาจากเหตุหรือศึกษาจากผล ในประเด็นที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ ก็เรียกว่าศึกษาในเรื่องของทุกข์ที่เกิดขึ้น หรือ “ความเกิดทุกข์” นะคะ
ทีนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่ท่านใคร่ครวญในเรื่องนี้ ท่านไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ เมื่อท่านทรงทราบแล้วว่า เหตุแห่งทุกข์นี้มันอาศัยอะไรแล้วก็เกิดขึ้นมา ท่านก็ศึกษาต่อไปว่า แล้วถ้าจะดับความทุกข์นี้จะดับได้อย่างไร จะต้องมีเหตุอันใด อาศัยอะไรแล้วความทุกข์นั้นจึงจะดับ อย่างนี้ถ้าเราศึกษาว่า ทุกข์นี้ดับได้อย่างไร ก็เรียกว่าศึกษาในลักษณะของ “นิโรธวาร” ทีนี้ก็ให้เรามาดูเสียก่อนว่า ถ้าเราจะศึกษาว่าทุกข์อาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิด อยากจะศึกษาหยั่งจากเหตุ หรือจากผล
ผู้ดำเนินรายการ : จากเหตุ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : จาก “เหตุ” อยากจะรู้ว่าอะไรเป็นเหตุของความทุกข์ เราก็ต้องดูจากมุมขวาบนสุดนี้ ว่าอะไรคือเหตุของความทุกข์ เราก็มองดูก็จะเห็นว่า คนพิการจูงคนตาบอด ที่เขาทำเป็นรูปเป็นตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่า “อวิชชา” อวิชชา ช สองตัวนะคะอย่าลืม ก็คือแสดงถึง สภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ จิตที่มันปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ คือ รู้สารพัดอย่างที่เราพูดกันมาแล้ว แต่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรจิตนี้จึงจะเย็น ทำอย่างไรจิตนี้จึงจะไม่ดิ้นรนกระสับกระส่าย ทำอย่างไรจิตนี้จึงจะมีความสงบ เยือกเย็น ผ่องใส อยู่เรื่อย ไม่รู้วิธีทำอันนี้ แล้วก็ร้องแต่ว่า ทุกข์ ๆ ๆ มีแต่ความทุกข์จริง เพราะฉะนั้นจิตที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชา ท่านจึงบอกว่าเหมือนกับสภาวะของจิตที่อยู่ในความมืดมน มันมืด มันมืดด้วยความเขลา เขลาที่ไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ แล้วเขาจึงทำรูปเป็นคนพิการจูงคนตาบอด ซึ่งคนพิการเองเดินเหินก็ไม่คล่องแคล่ว เดี๋ยวหกล้มหกลุก ยังอาสามาจูงคนตาบอดทั้งสองข้าง ซึ่งยิ่งไม่เห็นอะไรเลย มันต้องพึ่งพิงกันเต็มที่เลย เพราะฉะนั้นนี่แหละคือสภาวะของจิตที่ประกอบด้วยอวิชชา มันมืดครึ้มมัวสลัว ไม่รู้ทิศรู้ทางที่ถูกต้องที่จะเดินไป
เพราะฉะนั้นเมื่อจิตนี้ถูกอวิชชาครอบงำ มันก็เลยเป็นเหตุให้เกิด “สังขาร” เห็นไหมคะ ปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา เคยนึกไหม ยกตัวอย่างง่าย ๆ เหมือนอย่างว่า เราเดินทางไปที่แห่งหนึ่งซึ่งเราไม่เคยไปเลย หรือจะว่ารถมันเผอิญไปจอดตรงนั้นเข้า ท่าทางเข้าทีก็ลงจากรถไป ไม่รู้เหนือรู้ใต้เพราะเราไม่เคยไป เป็นอย่างไรล่ะ คนที่นั่งอยู่ด้วยกันในรถจะเป็นอย่างไร ต่างคนต่างออกความเห็นกันใหญ่ใช่ไหม ไอ้นี่ต้องเป็นอย่างนี้ ไอ้นี่ต้องเป็นอย่างนั้น เราต้องไปทางนี้มันคงจะมีไอ้โน่น ไปดูสิหมู่บ้านมีไหม นี่แหละสังขาร ปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา เพราะไม่รู้ ไม่รู้จริง ๆ เป็นอย่างไร นี่เปรียบเทียบอุปมาให้ฟัง นี่ก็เหมือนกับจิตที่ไม่รู้ พอไม่รู้เข้ามันก็นึกคิดปรุงแต่งไปว่า ถ้าอยากไอ้นี่ล่ะก็ เราต้องทำอย่างนั้น ๆ นะ มันจะไปเบียดเบียนใครก็ช่างหัวมันเถอะ ขอให้มันได้มาเถอะ แล้วเราจะคิดวิธีใดนะ แล้วมันจะได้หรือไม่ได้นะ เผื่อมันไม่ได้จะทำอย่างไร นั่งอยู่กับที่ยังไม่ได้ทำอะไร นั่งอยู่กับที่เฉย ๆ ก็คิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา สารพัดคิด ประเดี๋ยวก็คิดไปอดีตบ้าง เดี๋ยวก็คิดไปอนาคตบ้าง นี่คือความหมายของคำว่า สังขาร ในที่นี้คือปรุงแต่ง ไม่ใช่ว่าร่างกาย เดี๋ยวก็ปรุงแต่งสารพัด แล้วผู้เขียนรูปซึ่งเป็นชาวทิเบต เขาก็เขียนเป็นรูปชายคนหนึ่งนั่งปั้นหม้อ ปั้นเอา ๆ ๆ ก็เหมือนกับความคิดที่เกิดขึ้นในหัว ก็ปั้นเรื่องปั้นราวขึ้นต่าง ๆ นานา แล้วจิตใจนี้ก็อาจจะสนุกสนานเพลิดเพลินถ้าปั้นเรื่องที่สนุก ถ้าไปปั้นเรื่องที่ชวนเศร้าหมองเข้าหน้าตาก็ห่อเหี่ยว และสังขารนี้ก็เป็นผลของเหตุที่มาจากอวิชชา แล้วเสร็จแล้วสังขารที่เป็นผลนี้ มันก็กลายมาเป็นเหตุที่ทำให้เกิด “วิญญาณ” เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณคือการตามรับรู้ วิญญาณในที่นี้ไม่ใช่ผีสางปีศาจอะไรนะคะ วิญญาณในพระพุทธศาสนานั้น อันที่จริงก็หมายถึงสติปัญญา การตามรับรู้ด้วยสติปัญญาที่สามารถจะรับรู้ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ วิญญาณนี้คือการตามรับรู้ ทีนี้เขาทำเป็นรูปลิงที่มันชอบซอกแซกสอดส่าย โผล่หน้าต่าง โผล่ประตูบ้าน แอบดูว่าใครเขาทำอะไรกัน เขามีอะไรกัน ฉะนั้นวิญญาณนี้ก็ตามรู้ ตามรู้ตามเหตุที่มันเป็นมา เหตุเป็นอย่างไรวิญญาณนี้ก็ตามรู้ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง วิญญาณนี้มันยังไม่ได้ฝึกฝนอบรม เพราะฉะนั้นเหตุมันตั้งต้นผิด มันก็รู้ผิดตามกันมาเรื่อย ๆ แล้ววิญญาณนี้ก็เป็นเหตุให้เกิด “นามรูป” นามรูปก็คือกายใจ เราก็รู้แล้วว่าชีวิตนี้ประกอบด้วยนามรูป เขาทำเป็นรูปคนสองคนนั่งอยู่ในเรือลำเดียวกัน คนหนึ่งนั่งเฉย ๆ ท่าทางเป็นนาย อีกคนหนึ่งก็ทำท่าพายเรือ คือถือพายพายเรือไปตลอดเวลา ก็ต้องเป็นบ่าว เพราะฉะนั้นก็โดยสมมติ คนที่พายเรือก็สมมติว่าเป็นกาย คนที่นั่งอยู่ก็สมมติว่าเป็นใจ เพราะว่าชีวิตนี้กายใจ อะไรเป็นนาย อะไรเป็นบ่าว
ผู้ดำเนินรายการ : ใจเป็นนาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : “ใจ” ใจมันบงการเราตลอดเวลา บงการให้ทำโน่นทำนี่ บงการให้คิดดี บงการให้คิดไม่ดี บงการอย่างโน้นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอันนี้แหละนามรูป ซึ่งมันเป็นแต่สักว่าเป็นนามรูปใช่ไหมคะ มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้นเอง นามรูปนี้เป็นเพียงสิ่งสักว่า แต่เพราะความที่ไม่รู้ก็เลยยึดมั่นถือมั่น เอาเป็นจริงเป็นจังว่า นี่เป็นรูปของฉัน นี่เป็นกายของฉัน นี่เป็นตัวของฉัน และอัตตานี้ก็โตขึ้น ๆ ทั้ง ๆ ที่มันมาจากธรรมชาติ และผลที่สุดมันก็จะกลับสู่ธรรมชาติ แต่ยึดมั่นถือมั่น ทำไมจึงว่าเป็นธรรมชาติ นี่ที่เราพูด เราได้ยิน เรารู้เรื่อง เรายังทำอะไรได้ ยังเคลื่อนไหวได้ มันเป็นระบบของร่างกายใช่ไหมคะ ที่เรามีกระดูก มีเลือด มีเนื้อ หรือที่สำคัญเรามีประสาท เส้นประสาทที่จะคุมความเคลื่อนไหว ความรู้ดีรู้ชั่ว ความรู้ที่จะทำอะไรให้ถูกต้อง “รู้ดีรู้ชั่ว” ในที่นี้หมายถึงว่า รู้ผิดรู้ถูกตามครรลองของคนโลกที่จะดำรงชีวิตไป แต่ว่าเพราะอวิชชาครอบงำจิต นี่มันกำกับอยู่ข้างบน อวิชชามันครอบงำจิต สังขารนี้มันก็ปรุงไปเลย สังขารนี้มันเกิดขึ้นครั้งเดียว คือในวงปฎิจจสมุปบาท สังขารนี้มันแสดงตัวอยู่ในอาการเดียว แต่แท้ที่จริงแล้วมันแทรกอยู่ทุกอาการเลย มันก็มาแทรกทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น นี่มันยังมองไม่เห็นชัด แต่นี่มันเป็นเงา เป็นเงาที่มีมาตลอดว่า มันก็มองเห็นว่านามรูปนี้เป็นเพียงสักว่านามรูปไม่ได้ แล้วเสร็จแล้วนามรูปนี้ก็เป็นเหตุให้เกิด “อายตนะ” อายตนะภายในหกอย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า เวลาเรานอนหลับเรารู้สึกเรามีตาไหม ไม่มี มีหูไหม ไม่มี หูจะมีต่อเมื่อได้ยินเสียง เช่น มีใครมายิงปืนปั้ง หรือว่าเกิดยางระเบิด เรานอนหลับก็สะดุ้งตื่นขึ้นมา โอ๊ย ฉันได้ยิน นี่เรียกว่ามีหูขึ้นมาแล้ว เพราะหูนั้นทำหน้าที่ มันทำหน้าที่หู หูทำหน้าที่ได้ยินใช่ไหมคะ แล้วตาก็รีบลืมมองดู มีอะไร ๆ บ้าง ตอนนี้ตามีหรือยัง มีแล้ว เพราะตานั้นทำหน้าที่ เห็นไหมคะ แต่เสร็จแล้วอวิชชาครอบงำ อย่าลืม มันบังคับอยู่ตรงนี้ มันก็เลยทำให้มายึดมั่นถือมั่นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันอยู่ในรูปนี้ หรือมีอยู่กับรูปนี้ตามธรรมชาติ มาเป็นตาของฉัน หูของฉัน จมูกของฉัน ลิ้นของฉัน แล้วเสร็จแล้วตาอันนี้ อายตนะภายในนี้มันก็มีคู่ของมันอีกหก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสหรือโผฏฐัพพะ แล้วก็ธรรมารมณ์ ทีนี้พอตาทำหน้าที่ มันก็ต้องเห็นรูป รูปใดรูปหนึ่ง จะเป็นรูปคน รูปวัตถุสิ่งของ มันก็ต้องมองเห็น นี่เรียกว่า อายตนะภายในพบกับอายตนะภายนอก อย่างนี้มันก็เกิดผัสสะ แต่ผัสสะที่พบกันเพียงสองยังไม่มีโทษทุกข์อะไร ท่านเรียกเป็นแต่เพียง “ปฏิฆสัมผัส” มันมาโขกกันมาพบกัน อย่างเราแลไป เราพบต้นไม้ ตามันยังไม่บอดมันลืมอยู่ เราก็เห็นต้นไม้ เกิดอะไรไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ยังไม่เกิด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่เกิด ก็สักแต่ว่าต้นไม้ มองดูนี่เราก็เห็นทราย เกิดอะไรไหมในจิต มันก็ไม่เกิด มันก็สักแต่ว่าทราย นี่เรียกว่า ถ้าเพียงแต่อายตนะภายในกับภายนอกพบกันแค่นี้ ยังไม่เกิดอะไรขึ้น คำว่า “เกิด” นี้หมายความว่า ยังไม่เกิดความรู้สึกในใจที่จะทำให้จิตนี้ขึ้นลงหรือวุ่นวาย ต่อเมื่อ “จักษุวิญญาณ” คือ วิญญาณทางตาทำหน้าที่มาเป็นทราย เพิ่มเป็นสามตัว เป็นปัจจัยสามอย่างทำหน้าที่เข้า เกิดการรับรู้ พอมองต้นไม้ ทีแรกก็ต้นไม้ นี่ต้นอะไร เห็นไหม นี่ต้นอะไร คำถามเกิดขึ้น เออ ต้นนี้คล้ายที่บ้านเรานะ ที่บ้านเรามี เกิดเรื่องหรือยังนี่
ผู้ดำเนินรายการ : เรื่องเกิดแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เรื่องเกิดแล้ว ใจอยู่นิ่งไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่นิ่งครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่นิ่งแล้ว เริ่มซัดส่ายแล้ว และอะไรที่เข้ามาที่บอกว่าแทรกอยู่ตลอดเวลา สังขาร เห็นไหมคะ สังขารมันปรากฏตัวครั้งเดียวแต่มันแทรก พอสามอย่างนี้พบกันเข้า จักษุวิญญาณทำหน้าที่ มันก็เกิดเป็น “ผัสสะ” ผัสสะนี้มันก็ทำให้จิต จิตคือวิญญาณนี้ที่ยังไม่ได้รับการฝึกอบรม ที่จะให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่ากฎของธรรมชาติ ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งจนเกิดปัญญาอันแท้จริง เพราะฉะนั้นมันก็ผวาเข้าไป ทีนี้พอเห็นผัสสะนี่ผวา เออ ต้นไม้นี้มันเหมือนที่บ้านเรา เริ่มมีของเรา เออ ต้องไปดู มันเหมือนกันไหม อืม ของเราสวยกว่า แข็งแรงกว่า หรือจะอายุอ่อนกว่านี้สักหน่อยก็ได้ เห็นไหมคะสารพัดจะเป็นไป เรียกว่าจิตนี้ไม่อยู่นิ่งแล้ว มันเกิดความรู้สึก มันมีเวทนา ผัสสะนี้ก็เป็นเหตุให้เกิด “เวทนา” อายตนะเป็นเหตุให้เกิดผัสสะ อย่าลืมนะคะ ผัสสะนี้จะต้องสามอย่างมารวมกันเข้า มันจึงจะเกิดเป็นผัสสะที่จะเป็นผลทำให้เกิดเวทนา ถ้าเพียงแต่สองอย่าง คือ อายตนะภายในพบอายตนะภายนอก ไม่มีอะไร มันก็จะผ่านไปผ่านมาเฉย ๆ มันเพียงแต่ว่าท่านใช้ว่า ปฎิฆสัมผัส คือ มันจะมากระทบกันหรือมาโขกกัน แล้วมันก็แล้วก็แล้วไป ไม่เกิดไม่ถึงกับเป็นผัสสะที่จะเป็นผลให้เกิดเวทนา ต่อเมื่อสามอย่างมาพบกัน คืออายตนะภายในพบอายตนะภายนอก แล้ววิญญาณของอายตนะภายในนั้นทำหน้าที่ เช่น ตาเห็นรูป จักษุวิญญาณทำหน้าที่ แล้วก็วิญญาณนี้ยังไม่ได้รับการฝึกอบรมให้เป็นวิญญาณที่ฉลาดหรือมีปัญญา มันก็จะเป็นเหตุให้เกิดเวทนา เวทนาขึ้นมาทีเดียว เกิดเวทนา เกิดความรู้สึก เอ ชักจะชอบต้นไม้ต้นนี้ เพราะอะไร เพราะอะไรชอบ มันคล้ายต้นไม้ของเราที่บ้าน ชักจะชอบ ถ้าหากว่า เอ ท่าทางว่ามันคงไม่ใช่ ใจมันก็อาจจะเฉย ๆ คำว่าเฉย ๆ นี่เพราะว่ายังไม่แน่ใจ ไม่แน่ใจที่เรียกว่าเป็น “อทุกขมสุขเวทนา” แต่ถ้าหากว่าพอเกิดความรู้สึกชอบขึ้นมา มันก็รู้สึกเป็นสุขพอใจ ถ้าไม่ชอบ มันก็รู้สึกอึดอัดหงุดหงิด เพราะฉะนั้นเวทนานี้มันจะไม่หยุดแค่นี้ แต่มันจะเป็นเหตุให้เกิด “ตัณหา” คือ ความอยาก และตัณหานี้จะออกมาในรูปใดลักษณะใด ก็สุดแล้วแต่ว่าเป็นเวทนาในลักษณะไหน ถ้าเวทนาชอบ ตัณหานี้ก็จะมีอาการดึงเข้ามา จะเอา แต่ถ้าหากเวทนาไม่ชอบ ตัณหานี้ก็ตามกิเลส ไม่ชอบ ผลักออกไป โทสะ แต่ถ้าหากเวทนานี้ไม่แน่ใจ ใช่หรือไม่ใช่ ดีหรือไม่ดีอย่างนี้ ตัณหาก็วนเวียนไม่แน่ใจอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสังเกตนะคะมันต่อเนื่องกัน เสร็จแล้วตัณหานี้ก็เป็นเหตุให้เกิด “อุปาทาน” พอมีความรู้สึกชอบ ตัณหาอยาก อยากจะเอา ใครอยากล่ะ ฉันอยาก แล้วหยุดไม่ได้ หยุดไม่ได้ มันก็แรงขึ้น มันก็เกิดเป็นอุปาทานยึดมั่นจะต้องเอา จะต้องเอา จะต้องเอา อุปาทานเขาทำเป็นรูปอะไร เห็นไหมคะ เขาทำเป็นรูปลิงนั่งบนต้นไม้ แล้วมือหนึ่งก็ถือผลไม้เอาไว้ในมือ ถ้าดูใกล้ ๆ จะเห็น ท่าทางมันยโสมากเลย ยโส กร่าง อวดดี ลองสิ ๆ มาแย่งผลไม้ในมือฉัน ลองดูจะได้เห็นดีกัน เพราะนี่มันของฉัน นี่ความยึดมั่นถือมั่นมันมีในใจ มันหนักขึ้นทุกที อาการมันหนักขึ้น เสร็จแล้วอุปาทานนี้ก็เป็นเหตุให้เกิด “ภพ” ภพเขาทำเป็นรูปผู้หญิงกำลังท้อง กำลังตั้งครรภ์ ทำไมเขาจึงทำเป็นรูปผู้หญิงกำลังตั้งครรภ์ ภพ คือ ความมี ความเป็น ภพ หรือ ภว หมายถึง ความมี ความเป็น ความรู้สึกมี ความรู้สึกเป็น รู้สึกมีตัวฉันมันเริ่มแรงขึ้น ชัดขึ้น ความรู้สึกเป็นตัวฉันเริ่มแรงขึ้น ชัดขึ้น เขาจึงเปรียบเหมือนกับผู้หญิงที่กำลังท้อง ผู้หญิงท้องนี่เป็นอย่างไร พอเริ่มรู้สึกตัวว่าท้อง ธรรมชาติของผู้หญิงนี้เป็นอย่างไร ของคนที่จะเป็นแม่ รักแล้วใช่ไหม รักลูกที่อยู่ในท้องถึงแม้จะยังไม่เคยเห็นหน้าเลย เพียงแต่เป็นก้อนเลือดยังไม่ทันเป็นเนื้อเป็นตัว รักก็ทะนุถนอม ระมัดระวังรักษา ผู้ใหญ่บอกอย่างไร พ่อแม่บอกอย่างไร หมอบอกอย่างไรก็ระมัดระวัง เดินก็ค่อย ๆ นอนก็ค่อย ๆ กินก็ให้ถูกสุขภาพ รักษาอารมณ์ดี ๆ เพื่อลูกจะได้ออกมาเป็นคนดี แข็งแรงแจ่มใส ผู้หญิงท้องที่พยายามรักษาครรภ์ของตนเพื่อให้ปลอดภัยเพียงใด จิตที่มันมีความรู้สึกของภพ คือ ความมีตัวฉัน ความเป็นตัวฉัน มันทะนุถนอมเอาไว้ ทะนุถนอมความรู้สึกเป็นตัวฉัน มีตัวฉันนี้เอาไว้ เพราะฉะนั้นสุดท้ายมันแท้งไม่ได้ คนที่ท้องผู้หญิงที่ท้องอาจจะแท้งได้ แต่ว่าในปฏิจจสมุปบาทนี้ เมื่อความรู้สึกที่มีฉัน เป็นฉันเกิดขึ้น มันแท้งไม่ได้ มันเกิด “ชาติ” เลย ชา-ติ เกิดชาติ ความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน คือเป็นอัตตา คลอดออกมาเต็มที่เบ่งบาน แล้วผลที่สุดมันก็ตามมาด้วย “ความทุกข์” ความทุกข์นี้ก็เป็นผล ไม่่ว่าจะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นอาการของธรรมชาติ ก็ไปคว้ายึดเอามาเป็นฉัน เป็นของฉัน ทำไมฉันต้องแก่ ทำไมพ่อฉันต้องเจ็บด้วย ทำไมแม่ฉันต้องตายด้วย ฉันกับของฉัน ฉันกับของฉัน หรือมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แล้วทำไมต้องเป็นฉันด้วย ทำไมต้องเป็นลูกฉันด้วย นี่แหละ แล้วปฎิจจสมุปบาทนี้ สังสารวัฏนี้ก็หมุน หมุนตลอดเวลา จะหมุนเร็ว หมุนช้า หมุนเหวี่ยงมาก เหวี่ยงน้อย ก็สุดแท้แต่อัตราของความรู้สึกที่มีอยู่ภายในว่าจะรุนแรงเพียงใด นี่ก็คือ ปฎิจจสมุปบาท ที่หมายถึงชีวิตนี้หมุนไปรอบหนึ่ง ก็จะบอกเราว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ไปแล้วในรอบหนึ่ง ๆ แล้วมันก็เกิดวันละหลาย ๆ รอบ เรายังพูดไม่จบนะคะ แต่ในที่นี้ก็เพื่อจะแสดงแต่เพียงว่า อะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์เกิด คราวหน้าเราจะได้พูดกันต่อไป ธรรมะสวัสดีนะคะ