แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฉะนั้นอริยะสัจคืออะไร ก็สรุปได้ว่า อริยะสัจ เป็นที่รวมของคำสอนที่จำเป็นทั้งหมด ที่กล่าวไว้ใน 84,000 พระธรรมขันธ์ ก็รวมอยู่ในอริยะสัจ แต่ว่ารวมแล้วสั้นๆ ก็รวมลงในคำว่า เรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ นี่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา และตลอดพระชนม์ชีพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เคยทรงสอนเรื่องอื่นเลย เรื่องของความทุกข์ และการดับทุกข์เท่านั้น เพราะเชื่อว่าจะต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งกระทบเข้ามาในพระทัยว่า สิ่งที่ทรงมีแล้วนี้จะอยู่ตลอดไปไหม พอวันหนึ่งถึงเกิดการจากพรากขึ้น ความทุกข์ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ความสูญเสียจะเกิดขึ้นไหม
และพระองค์ทรงพระปรีชาเลิศล้ำนั่นเอง จึงเข้าไปกระทบทั้งๆ ที่พระองค์ทรงอยู่ในท่ามกลางสิ่งที่ชาวโลกแสวงหาไขว่คว้าเพื่อจะให้ได้ ก็บอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นอุปกรณ์เครื่องมือของความสุข แต่พระองค์สลัดทิ้ง ก็เพราะทรงรู้ว่า ถ้าหากว่ามันเกิดการสูญเสียสิ่งเหล่านี้ขึ้นไป เราจะรับความสูญเสียนี้อย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นสิ่งที่พระองค์ค้นคว้าตลอด 6 ปีนั้น เป็นเรื่องของความทุกข์ คืออริยะสัจ 4 ทุกข์คืออะไร จนทรงทราบชัดเจน และก็เห็นไปจนเหตุของความทุกข์ ก็มันคือตัณหาอุปาทาน อวิชชาเป็นรากเหง้า แล้วก็ทรงกระทำขัดเกลาถอนรากถอนโคนของตัวตัณหาอุปาทานอวิชชาเกลี้ยง จนจิตถึงซึ่งนิโรธ ด้วยวิธีไหน ก็ด้วยวิธีอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งพระองค์ประจักษ์แจ้งแล้ว จึงได้นำมาประกาศบอกกับเพื่อนมนุษย์ว่า ทุกข์คืออย่างนี้ ทุกข์คืออย่างนี้ และการดับทุกข์คืออย่างนี้ ถ้าจะถึงจนทางดับทุกข์ต้องเดินตามทางนี้ ถ้าเดินตามทางอื่นไม่มีวันถึงซึ่งความดับทุกข์ ฉะนั้นจึงได้พูดว่า
ผู้ใดปรารถนาจะให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ ต้องหันหน้าเข้าเผชิญความทุกข์
อย่าเกลียดกลัวความทุกข์ กล้าหาญที่จะเผชิญมัน ถ้าไม่เผชิญมันจะไม่รู้จักตัวมันที่จะถูกมันทิ่มแทง ฟาดฟันให้เจ็บปวด ขมขื่น ชอกช้ำทรมานอยู่ตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้าง ถ้ามากจะเห็นเร็วหน่อย ถ้ามันถูกนิดๆ ถูกมันนิดๆ ทิ่มแทงนิดๆ อึดอัด ขัดใจ รำคาญ ไม่ชอบต้องทน ไม่คิดว่ามันเป็นความทุกข์ ก็จมอยู่ในความทุกข์อย่างนั้น เพราะคิดว่ามันเป็นสุข มันนิดๆ หน่อยๆ จะไม่มีวันพบ ฉะนั้นจึงต้องหันหน้าเผชิญเข้าหา จนกระทั่งวันหนึ่งรู้แน่ถึงจะเริ่มรู้สึกว่า อ้อ..ต้องหาวิธีออก มิฉะนั้นจะยิ่งจม จม จม หนักเข้า จนเหมือนอยู่ท่ามกลางไฟเผา
พระองค์จึงทรงสอนเรื่องความทุกข์ และการดับทุกข์ ฉะนั้นเมื่อเวลาที่จะพูดจะคุยกัน ที่เป็นสัมมาวาจาของผู้ปฏิบัติธรม ควรจะพูดสนทนาปรึกษากันให้มาก ในเรื่องของความทุกข์ และการดับทุกข์ พูดไปแล้วจะเห็นว่า อ้อ..นี่มันเป็นความสวยงาม แทนที่ความทุกข์จะเป็นสิ่งน่าเกลียดน่ากลัว จะเห็นว่าเป็นความสวยงาม เห็นได้ไหมคะ ว่าความทุกนี้เป็นความสวยงาม เห็นได้ไหมคะ ดูไปเถอะคะแล้ววันหนึ่งจะเห็นความสวยงามในความทุกข์ ว่า อ้อ..เพราะความทุกข์นี้เอง เราจึงมีโอกาสได้ออกมาพ้นจากความทุกข์ มาพบกับความสุขที่เยือกเย็นผ่องใสสงบหาที่เปรียบไม่ได้
ถ้าเห็นความทุกข์สวยงามเมื่อไหร่ จะรู้สึกมันเป็นเพื่อน แล้วก็พยายามที่จะหาหนทางที่จะออกให้พ้นจากความทุกข์นั้น โดยไม่ต้องทุกข์เพราะมันอีกต่อไป
เพราะสามารถที่จะเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ มันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า แค่นั้นเอง มันเป็นสิ่งสักว่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทุกข์ แล้วก็หมดทุกข์ ทุกข์ แล้วก็หมดทุกข์ ท่านจะไม่พูดว่าสุขนะคะ เพราะว่าในความเป็นจริงนั้น มันมีแต่ความทุกข์ แล้วก็ทุกข์ดับ ทุกข์ แล้วก็ทุกข์ดับ เพียงแต่ว่าพอทุกข์ดับมนุษย์ก็ยึดตามสมมติสัจจะ ตามที่เรียกันว่า นี่เค้าเรียกว่าสุข พอความทุกข์หมดไปเราก็เรียกว่าสุข วันนี้ไม่ได้มีเงินเลย อ้อ..พรุ่งนี้โบนัสออก สุขแล้ว ใช้อย่างประมาท พอเงินหมดทุกข์อีก เห็นไหมคะ ที่ทุกข์กับสุขมันสลับกันอยู่อย่างนี้เรื่อย ฉะนั้นถ้ามองเห็นอย่างนี้ จนเห็นได้ว่าทุกข์มันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่ว่าในภพในกระการใดก็ตาม มันมีอยู่เพียงแค่นี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่สมมติเรียกว่าความทุกข์นี่มันสูญหายไปจากโลก มันไม่ได้สูญหายไปจากไหน มันก็ยังเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างนั้น แต่บัดนี้ใจข้างในไม่เอากับมันอีกแล้ว พอกันที ถ้าไม่พอก็ต้องจมอยู่ในมันเรื่อย เพราะไปหลงใหลว่ามันดี แต่พอวันใดที่บอกว่าพอกันที ก็พอได้อย่างยิ้มๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ร้องไห้ ไม่ขมขื่น ไม่เจ็บปวด แม้จะผ่านมาชอกช้ำ ระทมระกำซักแค่ไหน อ้อ..มันก็เป็นเช่นนั้นเอง มันเกิดแล้วก็ดับ มันผ่านมาแล้ว มีแต่จะทำให้ถูกต้องต่อไป และต่อไปนี้ความทุกข์ก็จะเข้ามารบกวนจิตอีกไม่ได้เลย
ฉะนั้นอริยะสัจ 4 จึงเป็นที่รวมคำสอนที่จำเป็นทั้งหมด คือเรื่องของความทุกข์ และการดับทุกข์ ไปอ่านเถอะค่ะ ผู้ใดสนใจในพระไตรปิฎก ก็ไปอ่านดู ไม่ว่าพระองค์จะทรงสอนเรื่องอะไร จะพูดยืดยาวเพียงใด ก็รวมอยู่ในเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่พระองค์ทรงเป็นพระบรมครูผู้ทรงฉลาดล้ำ จึงประกอบไปด้วยศิลปะของวิธีการสอน วิธีการพูด อย่างเหมาะเจาะเฉียบแหลม ให้ลงลอยกับจริตอัธยาศัยของคนแต่ละคน เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสไว้มากมายในพระไตรปิฎกที่เรียกว่าพระสูตร และก็มากที่สุด เป็นช่วงที่มากที่สุด ที่มีมากอยู่ในชุดของพระไตรปิฎกนั้น ล้วนแล้วแต่เรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ถ้าหากว่าเราศึกษา อริยะสัจ คือวิธีที่พระองค์ทรงสอน เกี่ยวกับเรื่องของอริยะสัจ เราก็จะเรียนรู้ได้ว่า ถ้าสมมติว่าเราสนใจ ว่าเราจะศึกษาวิธีการ ว่าการที่เราจะ ไปถึงจุดหมายปลายทาง ตามความต้องการนั้น ควรจะดำเนินวิธีการในการศึกษา จนกระทั่งถึงผลของเรื่องนั้นอย่างไร ซึ่งเราอาจจะมาใช้ได้ในชีวิตของเรา นั่นก็คือว่า อริยสัจจะบอกให้เรารู้ว่า เริ่มแรกด้วยคืออะไร ใช่ไหมคะ ทุกข์คืออะไร พอต่อไปก็มาจากอะไร คือมาจากเหตุอะไร ต่อไปก็เพื่ออะไร จะทำสิ่งนี้เพื่ออะไร ทวนซ้ำ จุดหมายปลายทาง ประโยชน์เพื่ออะไร เสร็จแล้วก็โดยวิธีใด นี่เป็นวิธีของอริยะสัจ 4 ซึ่งผู้ที่เป็นนิสิตนักศึกษา หรือเป็นผู้ใหญ่ทำงานทำการ อาจมาใช้ได้ทั้งนั้น
ในวิธีการที่จะใช้กับชีวิตของเรา พอมีอะไรที่เป็นปัญหาเกิดขึ้น เหมือนอย่างเช่น อยากจะแต่งงาน ไม่แน่ใจวิจิกิจฉา แต่งดีหรือไม่แต่งดี แทนที่จะมัวมานั่งแต่งดีหรือไม่แต่งดี เด็ดใบไม้มากำหนึ่ง แต่งดี ไม่แต่งดี แต่งดี ไม่แต่งดี นี่มันไสยศาสตร์ เพราะฉะนั้นแก้ปัญหาก็คือ การแต่งงานคืออะไร ถามตัวเอง เขาเรียกว่าค้นหาเหตุผลให้ถี่ถ้วน การแต่งงานคืออะไร การแต่งงานเป็นความสวยงาม หรือเป็นความน่าเกลียด คิดดูใช้สติปัญญาตามอริยมรรคมีองค์ 8 ลองคิดดู การแต่งงานมาจากอะไร ทำไมมันถึงต้องมีการแต่งงานกันด้วย มันก็มาจากความอยากความต้องการนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมดา หรือว่าเป็นเรื่องธรรมะชั้นสูง มันก็มาจากสิ่งเดียวกันเนี่ย มาจากความอยาก ความต้องการ ทำไมถึงต้องอยาก ทำไมถึงต้องการ ใครครวญเอา จะค่อยๆ เห็นกระจ่างขึ้นเองในปัญหาหรือในเรื่องเกี่ยวกับการแต่งงาน โดยไม่ต้องมาตั้งให้มันเป็นปัญหา
แล้วจะแต่งงานเพื่ออะไร ถามซ้ำลงไปอีก แต่งงานเพื่ออะไร แต่งงานทำไม แต่งงานเพื่ออะไร ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเพื่ออะไร แล้วก็จะแต่งงานโดยวิธีใด การแต่งงานนี้จึงจะสวยงาม สวยงามในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงว่า ชุดเจ้าสาวต้องราคาเป็นล้าน ชุดเจ้าบ่าวก็อีกล้านนึง Hotel ที่ใหญ่ที่สุด Hotel เดียวโรงแรมเดียวไม่พอเช่ามันต้องสองสามโรงแรม ปิดถนนมันสักสองสามสาย แล้วก็เชิญแขกเป็นหลายๆ พัน ไม่ได้หมายความว่าการกระทำข้างนอกอย่างนี้ คือการทำให้การแต่งงานสวยงาม เราต้องมองเห็นความสวยงามของการแต่งงานละโดยวิธีการ และการแต่งงานนี้จึงจะนำความสุขสงบเย็นมาสู่ เป็นชีวิตคู่ที่อยู่กันได้เข้าอกเข้าใจกัน เป็นกัลยาณมิตรต่อกันจนตลอดชีวิต จะทำโดยวิธีใด ต้องการอุปกรณ์อะไรบ้าง ต้องการเหตุปัจจัยอะไรบ้าง
ฉะนั้นพอนั่งคิดอย่างนี้แล้ว จะค่อยๆ ประจักษ์ชัด ในเรื่องของการแต่งงานแล้วก็แต่งงานให้สวยงาม จะเข้าใจความหมายของคำว่าสวยงาม สวยงามในที่นี้สวยงามอย่างไร คือความสวยงามของความสุข ความสุขที่แท้จริงที่จะอยู่ร่วมกันกับคนที่เข้าใจกันได้ ให้อภัยกันได้ ยอมรับกันทั้งส่วนดี และส่วนบกพร่องของกันและกัน เป็นต้น แล้วก็มีอื่นๆ อีกเยอะ เนี่ยพอปัญหาเกิดขึ้นไม่ต้องวิจิกิจฉา
หรือการทำงานก็เช่นเดียวกัน เราจะรับตำแหน่งนี้ดีหรือไม่ดี ก็ไม่ต้องไปเที่ยวถามคนโน้นคนนี้ให้เสียเวลา ถามลงไปทีเดียวว่า การทำงานในตำแหน่งนี้มันคืออะไร ซักไซร้ไปตามหลักของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเท่ากับว่า เราใช้วิธีของพระบรมครูที่ท่านทรงค้นคว้า และท่านก็ทรงค้นพบและใช้หลักการตามนี้ ซึ่งจะนำมาใช้ได้ในเรื่องของชีวิตประจำวันในทุกกรณี และจะตัดวิจิกิจฉาไปได้เยอะเลย เชื่อหรือไม่เชื่อก็ลองดูเองนะคะ