แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
...อย่างแท้จริง ก็ตามกฎอิทัปปัจจยตาอีกเหมือนกันใช่ไหมคะ ประกอบเหตุอย่างใดผลก็อย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็ดูเอาเองก็แล้วกันค่ะ กราบพระ ๓ ครั้ง แล้วกราบพระสงฆ์ พระสงฆ์ท่านก็กราบ ๓ ครั้งเหมือนกัน แล้วก็ให้แบมืออย่างที่ได้รับการบอกเล่าแล้ว ถ้ากราบผู้ที่เป็นผู้หญิงก็กราบเหมือนอย่างกับกราบฆราวาสคือกราบตั้งมือครั้งเดียว กราบศพก็ไม่ต้องแบมือกราบตั้งมือ
คำถาม : คนส่วนใหญ่คิดว่าตนมีความรู้ แค่สุตมยปัญญาและจินตมยปัญญาคือแค่ฟังแค่คิดถามจดจำก็พอแล้ว ไม่เคยรู้เรื่องภาวนามยปัญญาคือการภาวนา คือการพัฒนาจิตพัฒนาปัญญา เพราะไม่รู้เรื่องของจิต ก็ดูหมิ่นการฝึกสมาธิเป็นของคร่ำครึล้าสมัย ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างแรง จะมีวิธีใดเสนอต่อสื่อมวลชนให้พุทธศาสนิกชนรู้เรื่องเหล่านี้ให้เร็วที่สุดมากที่สุด
ตอบ : ทำที่ตัวเราเองก่อน แล้วก็ให้ตัวเราเองนี่แหละเป็นการประชาสัมพันธ์ โดยไม่ต้องประชาสัมพันธ์เพราะแสดงเป็นตัวอย่างให้ดู การที่เราจะไปขอให้บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายมาสนใจ..ยาก ก็ดูรายการทางทีวีสิคะ วิทยุโทรทัศน์มีรายการเกี่ยวกับเรื่องของธรรมะเรื่องของจริยธรรมสักเท่าไหร่ น้อยเต็มที ก็เพราะว่าคนเราอยู่ในโลกของมายา คือพอใจจะอยู่ในความหลอกลวง ลวงตัวเองไปวันหนึ่งๆ กลบทุกข์ไปวันหนึ่งๆ มากกว่าที่จะเผชิญกับความเป็นจริง ถ้าจะว่าไปแล้วก็มีคนขลาดมากกว่าคนกล้านั่นเอง
[เราจะพูดกันถึงปัญหาของเรื่องของการสอนจริยธรรม ซึ่งตั้งใจไว้ให้สำหรับผู้ที่เป็นครูอาจารย์ โดยเฉพาะที่มาจาก กทม. จากกรมการฝึกหัดครู เพราะฉะนั้นเราจัดรายการนี้เอาไว้สำหรับวันที่สิบสอง แต่สำหรับท่านผู้อื่นที่ไม่ได้มาในสังกัดของกรมการฝึกหัดครูหรือ กทม. นะคะ แต่ก็เป็นครูอาจารย์มีอยู่เยอะหลายท่านที่มาสมัครที่เสถียรธรรมสถานโดยตรง ก็ขอได้กรุณาไปจดชื่อ คือไปเขียนชื่อเอาไว้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะจัดไว้ให้ที่โต๊ะ ว่าต้องการจะอยู่ร่วม ที่จริงก็ขอเชื้อเชิญ ขอเชิญให้อยู่ร่วมด้วย เป็นครูบาอาจารย์ก็จะได้มาช่วยกันคิด มีประสบการณ์มาว่าเราจะช่วยกันปรับปรุงแก้ไขในเรื่องของการสอนจริยธรรมอย่างไร แต่โปรดไปลงชื่อเอาไว้ด้วยนะคะ เพื่อความสะดวกในการจัดสถานที่ นอกจากนั้นผู้ที่เป็นนิสิตนักศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ หรือในวิทยาลัยครู ก็อยากจะขอชวนให้อยู่ด้วย จะไปเป็นครูต่อไปก็จะได้ลองฟังดูซิว่าในฐานะเป็นครูควรจะสอนอบรมในเรื่องของจริยธรรมแก่ลูกศิษย์ต่อไปอย่างไร ส่วนท่านผู้อื่นที่รู้สึกว่าจำเป็นจะต้องใช้เรื่องนี้ไปสอนแก่ลูกหลานหรือแก่ผู้ที่อยู่ในอาชีพนั้นก็ขอเชิญได้เหมือนกัน อย่างคุณหมอหรือคุณพยาบาล หรือผู้ที่อยู่ในวงการที่จะต้องสอนนะคะ เชิญไปเซ็นชื่อไว้ ทีนี้เราก็ไม่ต้องการจะให้การประชุมในวันที่สิบสองใหญ่มากเกินไป ถ้าทั้งหมดอย่างนี้ไม่ใช่การประชุมเสียแล้วนะคะ เพราะฉะนั้นก็จึงขอให้โปรดไปเซ็นชื่อไว้ ก็กะว่าไม่น่าจะมากนัก ขณะนี้เรามีอยู่แล้วก็ประมาณสักสี่สิบ ฉะนั้นก็ไปเซ็นอีกซักอย่างมากสักสามสิบ คือรวมแล้วก็อย่างมากควรจะไม่เกินยี่สิบสามสิบ แต่ก็ขอเจาะจงดังที่กล่าวแล้ว โปรดไปเซ็นเอาไว้เพื่อที่จะได้เตรียมสถานที่ ส่วนท่านผู้อื่นที่มีความสนใจอยากจะฟังก็อาจจะเชิญฟังได้เหมือนอย่างนั่งข้างนอกในฐานะผู้สังเกตการณ์ถ้าต้องการจะฟัง ถ้าต้องการจะฟังอย่างเป็นผู้สังเกตการณ์เพราะว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการสอน เราก็จะจัดไว้อีกแผ่นหนึ่งนะคะ ไว้สำหรับผู้สังเกตการณ์ อันนี้สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของการสอน เพื่อที่ทางฝ่ายคุณชีศันสนีย์จะได้ทราบว่าควรจะจัดสถานที่ไว้สำหรับท่านผู้ใดเท่าไหร่ รวมทั้งเรื่องอาหารด้วย นี่ก็คงจะพรุ่งนี้ก็คงจะจัดให้ได้สำหรับเรื่องการเซ็นเอาไว้นะคะ คือเราไม่ต้องการให้มากเกินไป อันที่จริงจุดประสงค์นั้นตั้งใจจะจัดไว้ให้สำหรับผู้ที่เป็นครูอาจารย์โดยเฉพาะ และก็ทีแรกก็จัดไว้ให้ ๓ วันต่อจากนี้อีก แต่ว่าด้วยเหตุปัจจัยบางอย่างก็คิดว่าวันเดียวก็คงพอ ทีแรกนั้นจัดให้ถึงวันที่ ๑๔ แล้วเราก็จะพูดกันถึงหลักสูตรประมวลการสอนอะไรด้วย แต่ว่าในวันที่ ๑๒ เราคงไม่มีโอกาสพูดเรื่องนี้ แต่เราก็แตะต้องได้]
คำถาม: เป็นคนที่นอนแล้วจะฝัน ไม่ว่าจะเหนื่อยเพลียยังไงก็ต้องฝันว่าอย่างนั้นเถอะนะคะ ตั้งแต่มัธยมต้นฝันทุกคืน ไม่มีคืนไหนไม่ฝัน ขึ้นอยู่กับว่าจะจำได้ชัดหรือไม่ชัดเท่านั้น พยายามสังเกตตอนช่วงเคลิ้มที่จะเข้าภวังค์ คือก่อนหลับนะคะ รู้ตัวว่ากำลังคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้วแต่ความคิดจะพาไปก่อนจะหลับ ไม่ว่าจะหลับสั้นหรือหลับยาวก็ต้องฝัน
ตอบ: ก็เวลานี้นะคะก็มาฝึกปฏิบัติแล้ว เพราะฉะนั้นก็เอาลมหายใจเข้ามาอยู่เพื่อที่จะได้หยุดคิด ถ้าเราคิดมาตลอดวัน เรียกว่ามีอุทธัจจกุกกุจจะ นึกได้ไหมคะ นิวรณ์ตัวที่สี่ อุทธัจจกกุจจะอยู่ตลอดเวลา ก็ฝันเฟื่องอยู่มากก็สะสมเอาไว้ แล้วยังมาถึงตอนก่อนนอน เพราะฉะนั้นก็ออกมาในรูปของการหลับไม่สนิท แล้วก็ฝันไปต่างๆ นานา คำแนะนำก็คือจงพยายามอยู่กับลมหายใจให้ได้มากที่สุดทุกขณะ แล้วความฝันจะลดลงนะคะ
คำถาม: คนบางคนมาปฏิบัติธรรมเพราะกลัวว่าถ้าไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อกำหนดจิตให้ได้ เมื่อตายไปแล้วจะไปจุติในภพที่ไม่พึงปรารถนา พูดง่ายๆ ไปเป็นเปรต แล้วก็ถ้าเมื่อตายไปพร้อมกับจิตที่มีสติก็จะไปจุติในภพที่ปรารถนา เช่น ไปสวรรค์ ถูกหรือไม่
ตอบ: ไม่ถูก ยึดมั่นถือมั่น เราปฏิบัติธรรมจริง แต่ปฏิบัติโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น เราพูดมาเมื่อกี้นี้เองใช่ไหมคะเรื่องของภพ ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นขณะนั้นก็ทุกข์ตลอดเวลา เพราะกลัวว่าจะได้ไปสวรรค์ไหม จะตกนรกรึเปล่า แล้วพอถึงเวลาที่จะหยุดหายใจ นรกสวรรค์ๆ เหมือนกับเสี่ยงทาย ก็เลยอาจจะพลัดผลูลงไปไหนเลยไม่รู้ แต่อันที่จริงไม่ลงไปไหนและไม่ขึ้นไปไหน อยู่ตรงนั้นเอง ขึ้นอยู่ว่าการกระทำนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะฉะนั้นฝึกปฏิบัติธรรมอย่างพุทธศาสตร์ อย่าไปฝึกปฏิบัติธรรมอย่างไสยศาสตร์เลย
คำถาม: พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีบัวสี่เหล่า ให้เรียนรู้เอาเอง บัวเหล่าที่สี่ถ้าให้เรียนรู้เอาเอง บัวเหล่าที่สี่คงไม่มีโอกาสพ้นน้ำ จะกลายเป็นเหยื่อของเต่าปลาไปในที่สุด จะช่วยบุคคลกลุ่มนี้ได้อย่างไร รวมทั้งประเภทน้ำชาล้นถ้วยด้วย
ตอบ: ช่วยตัวเราเองก่อน ถ้าเราช่วยตัวเราเองได้เมื่อไหร่ เราจะช่วยคนอื่นได้เมื่อนั้น แล้วก็เรื่องของบัวสี่เหล่านี่นะคะ หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่าแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ยังไม่สามารถโปรดคนทุกคนให้เข้าถึงธรรมได้ เคยได้ยินแล้วใช่ไหมคะที่มีนายฝึกม้าน่ะ ที่เขาฝึกม้าเขาเลี้ยงม้าอาชาไนย เขาเลี้ยงม้าสารพัด แล้วเขาก็มาเล่าทูลถวาย เขาเล่าถวายว่า ตัวเขานี่เขามีวิธีฝึกม้าอย่างนี้ๆๆ แล้วก็ผลที่สุดแล้วม้าตัวใดที่พ้นวิสัยที่เขาจะฝึกได้เขาก็ฆ่าเสีย แล้วเขาก็ทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า แล้วพระองค์ล่ะฝึกคนฝึกมนุษย์อย่างไร ท่านก็ตรัสว่า เราก็ฆ่าเสียเหมือนกัน เขาก็ทูลถามว่า พระองค์รับสั่งสอนให้รักษาศีลไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แล้วทำไมพระองค์ถึงฆ่า ท่านก็ทรงเล่าให้ฟังว่า วิธีฆ่าของพระองค์ก็คือฆ่าอย่างพรหม หมายความว่าไม่เกี่ยวข้องเพราะสุดที่จะสอน สอนไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้วิธีไม่เกี่ยวข้อง ต้องปล่อยเขาตามเหตุปัจจัยของเขา เพราะว่าบุคคลมีสี่เหล่า บัวพ้นน้ำ บัวปริ่มน้ำ บัวยังอยู่ใต้น้ำแต่ว่าไม่ลึกนักพร้อมที่จะบาน ส่วนเหล่าที่สี่นั้นน่ะอยู่ก้นสระที่จะยังไงๆ ก็ดึงไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นพระองค์ไม่สามารถที่จะทรงสอนได้ทุกคน ก็ต้องปล่อยเสีย
แม้แต่นายฉันนะ จำนายฉันนะได้ไหมคะ นายฉันนะที่เป็นสารถีของพระองค์ เป็นผู้ที่จงรักภักดีอย่างที่สุดที่พาพระองค์ออกจากพระราชวังในคืนที่ตัดสินพระทัยจะออกป่าเพื่อผนวชนั่นน่ะ แล้วก็ต่อมาภายหลังนายฉันนะก็ขอบวชเป็นพระภิกษุในพระศาสนาของพระองค์ แต่ก็มีความถือตัวถือตนทั้งๆ ที่บวชแล้วฝึกปฏิบัติธรรมพอสมควร แต่ยังถือตัวถือตนว่าเรานี่เป็นคนสนิทของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็เป็นผู้ที่ได้นำพระองค์ออกมาจากพระราชวัง ก็ถือตัวตนว่าตัวเป็นคนสนิทตัวมีความสำคัญต่างๆ ฉะนั้นในการที่วางตัวกับพระภิกษุองค์อื่น พูดง่ายๆ ก็คือค่อนข้างวางโต แล้วก็ไม่ค่อยจะทำอะไรให้อยู่ในระเบียบวินัย ในขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ยังไม่สามารถที่จะปราบพระฉันนะนี่ให้เชื่องได้ คือให้เชื่อฟังได้ให้ลดละความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้นก่อนเสด็จปรินิพพานพระองค์ถึงได้รับสั่งกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายที่เป็นพระเถระว่า ขอให้ลงพรหมทัณฑ์กับพระฉันนะเมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว การลงพรหมทัณฑ์ก็คือการไม่เกี่ยวข้อง ปล่อย เมื่อพยายามบอก พยายามสอน พยายามแนะนำต่างๆ ทำดีด้วยชี้หนทางด้วยก็ไม่เอา ก็ต้องปล่อย ปล่อยแล้วแต่จะต้องการทำอะไรอย่างไร ไม่เกี่ยวข้อง เหมือนกับไม่มีพระฉันนะอยู่ในที่นั้น ไม่มีบุคคลอยู่ในที่นั้น นั่นเรียกว่าเป็นพรหมทัณฑ์ แล้วผลที่สุดพระฉันนะก็รู้ตัว กลับตัวได้ ก็หันมาปฏิบัติธรรมอย่างเพื่อขัดเกลาความยึดมั่นถือมั่นในตนเอง
ฉะนั้นอย่าไปคิดว่าเราจะวิเศษกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะสอนจะแนะนำได้ทุกคน เป็นไปไม่ได้ อย่างเวลาที่ดิฉันอบรมไปแต่ละครั้งๆๆ ไม่เคยนึกหรอกว่าทุกคนนี่จะได้ฟังสิ่งที่ดิฉันพูดอย่างเข้าใจเหมือนกัน และยิ่งกว่านั้นไม่หวังว่าจะนำสิ่งเหล่านี้ไปปฏิบัติ แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละคน แล้วแต่ปัญญาของแต่ละคน ว่าเห็นคุณค่าของชีวิตที่จะเกิดขึ้นด้วยวิธีใด ดิฉันไม่เคยหวัง ถ้าดิฉันหวังน่ะเหรอดิฉันหยุดสอนเสียนานแล้ว แต่นี่เพราะไม่หวัง แล้วก็เห็นว่ายังมีอีกไม่น้อย อย่างน้อยรุ่นหนึ่งนี่มีสัก ๓-๔ คน ที่เรารู้ว่าได้ประโยชน์และเอาไปทำอย่างต่อเนื่อง เท่านั้นก็รู้สึกว่าคุ้มเหนื่อย แล้วก็คนอื่นๆ นั้นอย่างน้อยได้รับความรู้ความเข้าใจที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็คุ้ม คุ้มแก่การที่จะนำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบอกกล่าว เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดสอนคนอื่นเลยนะคะ เพราะว่าเราสอนได้แต่เฉพาะผู้ที่พร้อมที่จะรับ แต่ผู้ที่ยังไม่พร้อมที่จะรับจงทำตัวอย่างให้ดูเท่านั้นพอแล้ว
คำถาม: มีผู้ถามเกี่ยวกับคำภาษาไทยในทางธรรมะนี่ว่าภาษาอังกฤษว่ายังไง เช่น การปฏิบัติธรรม สติ สมาธิ สัมปชัญญะ อะไรเหล่านี้นะคะ
ตอบ: ก็ถ้าจะพูดกันในที่นี้ก็จะเสียเวลาเป็นอันมาก ก็ขอแนะนำให้ไปหาหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่านเจ้าคุณพระเทพเวทีดู แล้วก็คงจะเข้าใจว่าเราควรจะใช้คำอะไร แต่ก็ขอให้คำแนะนำว่าถ้าใครที่จะไปพูดธรรมะกับคนต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษนะคะ หรือใช้ภาษาต่างประเทศอื่นก็ตาม
(๑) ต้องมีความเข้าใจธรรมะถูกต้องเสียก่อน ถ้ามีความเข้าใจธรรมะไม่ถูกต้องแล้วไปใช้ภาษาต่างประเทศที่ไม่ใช่ภาษาของเรา อาจจะผิดเพี้ยนความหมายไปได้เยอะเลย เพราะแม้แต่จะพูดธรรมะเป็นภาษาไทยก็ไม่ใช่ของง่ายใช่ไหมคะ ที่จะทำให้เข้าใจได้ อย่างเรื่องของจิตคำเดียวเท่านี้ จนปัญญากันเป็นอันมากเลย แล้วยิ่งฝรั่งนี่เขาไม่เข้าใจหรอกเรื่อง Mind เพราะว่าเราจะแปลคำว่าจิตว่า Mind (m-i-n-d) จิตภาวนาก็ Mind Development เขาไม่รู้หรอกว่า Mind Development เป็นยังไง เพราะ Mind คืออะไร อยู่ที่ไหน เขาก็ไม่รู้ เขาเข้าใจหรือว่าคุ้นเคยแต่กับคำว่า Heart เขาใช้คำว่า Heart คำเดียว เราก็ต้องมานั่งใคร่ครวญดูจะพูดให้พวกนี้เข้าใจว่ายังไงดีนะ เราก็พยายามจะบอกเขาว่า Heart นี่มีสองอย่างนะ อย่างหนึ่งเป็น Material คือจับต้องได้ เป็นวัตถุ นั่นหมายถึงหัวใจที่สูบฉีดโลหิต เราถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่ใช่อันนี้นะที่เราพูดถึง แต่ Heart ยังมีอีกส่วนหนึ่งใช่ไหมที่เป็น Immaterial คือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราจับต้องไม่ได้ แต่เรารู้สึกได้ เหมือนอย่างที่อธิบาย เรารู้สึกในความรัก เรารู้สึกในความเกลียด เรามีความรู้สึกชอบไม่ชอบ เรามีความรู้สึกทุกข์รู้สึกสุข ส่วนของ Heart ที่เราไม่สามารถจะจับต้องได้แต่รู้สึกได้ นี่แหละเราหมายถึง Mind แล้วก็ยังจะต้องพูดอีกเยอะเชียว เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดต้องทำความเข้าใจในเรื่องของธรรมะที่จะพูดให้ชัดเจนเสียก่อน มิฉะนั้นจะเข้าใจผิด
นอกจากนี้ก็พยายามหาหนังสือธรรมะที่เป็นภาษาอังกฤษมาอ่าน ซึ่งมีอยู่ไม่น้อย อย่างของหลวงพ่อท่านอาจารย์ชาก็มีอยู่หลายเล่ม ลูกศิษย์พระฝรั่งของท่านแปล แล้วก็แปลเป็นภาษาง่ายๆ การที่จะพูดธรรมะกับชาวต่างประเทศอย่าไปเลือกสรรศัพท์คำโตๆ เพื่อจะแสดงว่ารู้ศัพท์มาก ไม่มีประโยชน์ เราต้องรู้ให้เข้าใจแล้วเราจึงอธิบาย เป็นคำที่ง่ายๆ ธรรมดาอย่างที่มนุษย์พูดกันอย่างชาวบ้าน แล้วจะทำให้เขาเข้าใจ เพราะฉะนั้นก็ลองหาหนังสืออ่านนะคะ ของหลวงพ่อก็มีแปล แล้วก็ของท่านอาจารย์สวนโมกข์ก็มีหลายเล่มที่เป็นภาษาอังกฤษ พอเราอ่านมากเข้าก็จะคุ้นเคยกับความหมายของธรรมะนั้น
คำถาม: การทำวัตรที่จะต้องกล่าวคำที่แม่ชีดังฤดีพูดหรือไม่นี่นะคะ ถ้าจะกล่าวคำนำแปลว่าอะไร
ตอบ: ก็ไม่ทราบว่าหมายถึงอะไรนะคะ แต่การที่เราจะทำวัตรนี่ก็คืออย่างที่เชื่อว่าแม่ชีดังฤดีอธิบายไว้แล้ว ก็คือต้องเตรียมใจให้พร้อมที่จะทำวัตร แล้วก็ทำใจนั้นให้สงบเยือกเย็น พร้อมที่จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อความสุขสงบ เพื่อความเจริญ หรือถ้าพูดอย่างชาวโลกก็บอกเพื่อความเป็นมงคล ฉะนั้นก็ทำใจนี้ให้สุขสงบ ให้พร้อมที่จะอยู่กับถ้อยคำที่สวด
[นี่ก็เกินเวลาไปมากแล้วนะคะ ยังไม่จบ เหลืออีก ๔-๕ แผ่น ประเดี๋ยวจะไปอาบน้ำอาบท่าไม่ทัน ยังไงก็ต้องขอเป็นหนี้ไว้อีกนะคะ เอาไว้พรุ่งนี้ต่ออีกสัก ๔-๕ คำถาม ถ้าไม่มีต่อ หวังว่าจะไม่มีแล้วนะคะ หยุดปฏิบัติ ดูในใจกันเสียที อย่าคิดมากนัก คิดมากเท่าไหร่ตอบก็ไม่เสร็จสักทีไม่หมดสักที ขอให้อยู่กับลมหายใจ ขอโทษด้วยค่ะที่พูดเพลินไปเกินเวลาไป เชิญพักได้ค่ะ]