แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้อริยสัจข้อที่ 3 ก็คือนิโรธ นิโรธสัจจ หรืออริยสัจจก็คือ นิโรธ นิโรธ เป็นข้อที่ 3 ซึ่งข้อที่ 3 หรือนิโรธนี้ก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติอย่างไร ถ้าเราดูที่อริยสัจ 4 มองเห็นอิทัปปัจจยตาอยู่ในนี้ไหมคะ มองเห็นกฏอิทัปปัจจยตาอยู่ในอริยสัจ4 ไหมคะ เห็นไหม เห็นไหมอะไรคือเหตุปัจจัยที่กระทำ ทั้งทุกข์ทั้งสมุทัยนั่นแหละคือเหตุปัจจัยที่ต้องประกอบให้ถูกต้อง ประกอบเหตุปัจจัยด้วยการศึกษาว่าทุกข์คืออะไร มีลักษณะอย่างไร ศึกษาจนทั่วถึง จะรู้ความเป็นมายาของความทุกข์ แล้วก็ไม่ตกเป็นเหยื่อของความทุกข์อีก จากนั้นก็ศึกษาเรื่องของเหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหา อุปาทาน สังขาร อวิชชาและก็กระทำการขัด ขูด ลอกชำระ กวาดเกลี้ยงไม่เหลือเลย นี่คือประกอบเหตุปัจจัยอย่างถูกต้อง นี่เป็นเหตุ 2 ข้อนี้เป็นเหตุ อริยสัจ 2 ข้อนี้เป็นเหตุ และเมื่อประกอบเหตุปัจจัยถูกต้อง ผลมันก็ต้องเป็นยังไง มันเป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องอยาก มันก็เกิดขึ้น ผลก็คือ นิโรธถึงซึ่งนิโรธ นิโรธก็คือดับ ความดับไม่เหลือ นิโรธแปลว่าความดับไม่เหลือ ดับอะไรที่ว่าดับไม่เหลือ ก็คือความดับของความทุกข์ มันเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ถ้าปฏิบัติถูกต้องกระทำถูกต้องอยู่ทุกขณะจิต เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เด็ดขาด ตัดมัน ตัดมันสิ่งที่เป็นต้นเหตุ ไม่ยอมให้มันเข้ามามีอำนาจในจิตเลยซักขณะเดียว ตัดมัน ตัดมันตลอดเวลา ตัดซะจนเหี้ยน ถอนรากถอนโคน มันก็ไม่มีโอกาสจะงอกอีก สมุทัยทั้งหลายนั้นมันก็ไม่มีโอกาสจะงอกอีก นั่นก็คือมันถึงซึ่งอาการดับ ความทุกข์ตายสนิท ถ้าพูดอย่างภาษาชาวบ้าน มันตาย มันตายสนิท มันเกิดขึ้นอีกไม่ได้ เพราะมันถูกถอนรากถอนโคนแล้ว โดยเฉพาะก็คืออวิชชา มันถูกถอนรากถอนโคนจนกระทั่งวิชชาเข้าไปแทนที่ เข้าไปแทนที่อวิชชาที่มันเคยครอบงำจิตทำให้จิตนี้มันเขลามันเห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูกอยู่ตลอดเวลา เห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่วอะไรอย่างนี้ มันเห็นผิดไปหมด บัดนี้มันเห็นถูกต้องตามที่เป็นจริง ตามหลักของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตามกฏของอิทัปปัจจยตา
พูดโดยสรุปก็คือ เห็นชัดแล้วว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่นเลยซักอย่างเดียว มันมีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น พอชัดอย่างนี้ ชัดอย่างนี้ สิ้นความอยากทั้งปวง มันก็จะเหลือแต่การกระทำที่ถูกต้องตามหน้าที่ๆพึงมี มีหน้าที่อะไรก็กระทำหน้าที่นั้นอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น ความดับ อาการของความดับมันก็เกิดขึ้น โดยมันเริ่มจากนิพพิทา อย่าลืมนะคะมันจะเริ่มจากนิพพิทาเสมอ นิพพิทาก็คือความเหนื่อยหน่ายอย่างที่ว่าแล้ว ความรู้สึกเหนื่อยหน่าย เหนื่อยหน่ายกับความยึดมั่นถือมั่นที่เราเคยเป็นเคยทำมา เหนื่อยหน่ายกับตัณหาที่อยากได้โน่นได้นี่ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ และประเดี๋ยวก็เป็นทุกข์ดิ้นรนเพราะไม่อยากเป็น มันเห็นชัดและก็มองเห็นว่าเป็นความหนักเหนื่อยที่ไร้สาระแก่นสาร ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เท่ากับมันดึงชีวิตทั้งชีวิตให้ตกจมลงไปในหม้อน้ำเดือดหรือในกองเพลิง หรือในสิ่งที่เราสมมติเรียกกันว่านรก นรกตลอดเวลา เหนื่อยหน่าย มือมันค่อยวาง ที่มือมันเคยกำและมันเคยยึดมั่น มันค่อยๆวาง และก็เกิดวิราคะ จางคลาย ที่ไปยื้อแย่งกับเค้า อยากจะได้ยศ ได้ศักดิ์ อยากจะได้ดวงตรา ตรานั้นตรานี้ พยายามเพื่อให้ได้มา เหนื่อย ได้มาก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน หนัก หนักเสียอีก แล้วก็มันก็ไม่มีความรู้สึกอยากจะได้อยากจะเป็น อยากจะแย่ง เหมือนอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในหนังสือพิมพ์ 2-3 วันนี้ กลับไปบ้านไปอ่านเองก็แล้วกัน น่าอาย ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันหมด วิราคะจางลงๆ แล้วมันก็มาถึงนิโรธะ คือดับ ดับสนิทเสียซึ่งความอยาก คือตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น สังขารความคิดปรุงแต่งไปสารพัด วิชชาเข้ามาแทนที่ เข้ามาแทนที่ภายในมากเข้าๆ มันหมดความรู้สึกอยากแก่งแย่งแข่งดี แต่ แต่ตัวนี้ตัวใหญ่นะคะ ไม่ใช่นอนงอมืองอเท้า เหี่ยวไปเลยแห้งไปเลย ไม่ใช่ นั่นคืออาการของคนสิ้นคิด สิ้นคิด หมดปัญญา โง่เต็มประดาถึงได้นอนทอดหุ่ย รามือราเท้ากระดิกกระเดี้ยไม่ไหว นั่นอาการของคนสิ้นคิด แต่จิตที่ถึงนิโรธ คือหยุดซึ่งตัณหา อุปาทานหรือว่าสังขาร อวิชชานั้น เป็นจิตที่มีความผ่องใส เมื่อดับอวิชชาเสียได้ วิชชาเข้ามาแทนที่ วิชชาเป็นแสงสว่าง เป็นปัญญา เป็นความรู้ที่นำความชุ่มชื่นเบิกบานมาให้จิต นำความประจักษ์แจ้งในสิ่งที่เป็นธรรมสัจจะอันแท้จริงให้เกิดขึ้นในจิต เพราะฉะนั้น มันมีแต่พลัง แทนที่จะอ่อนแอทอดหุ่ย ตรงกันข้าม มันเต็มไปด้วยพลัง พลังกายตามธรรมชาติ คือตามเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ พลังใจจะมีอยู่เสมอ พลังสติปัญญาที่ถูกต้องมีอยู่เสมอ พลังแห่งธรรมะอันถูกต้องจะเปี่ยมอยู่ในใจ เพราะฉะนั้น เป็นจิตใจที่พร้อมอยู่ด้วยความสุข สงบเย็น เยือกเย็นผ่องใส เป็นจิตใจของชีวิตที่พร้อมที่จะกระทำสิ่งที่ถูกต้องที่จะให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์
เพราะฉะนั้น จิตของผู้ที่ถึงซึ่งนิโรธะ คือความดับแห่งอวิชชาแล้ว เป็นจิตของชีวิตที่ประเสริฐ ที่ประเสริฐเพราะว่าสามารถทำประโยชน์แก่ตนเอง นำความเย็นมาสู่ตนเอง แล้วก็ยังสามารถนำความเย็นสู่เพื่อนมนุษย์ได้อีกด้วย นี่ก็เป็นพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น นิโรธคือความดับ ถ้าจะอธิบายลักษณะของนิโรธให้ชัดอีกซักนิดนึงก็คือว่า ลักษณะของนิโรธนั้น ถ้าพูดอย่างคร่าวๆก็คือดับอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ไม่มีเหลืออย่างที่พูดแล้วนะคะ ทีนี้ถ้าแจกแจงให้ชัดอีกก็คือ ดับไม่เหลือแห่งราคะ ราคะก็คือ ความรู้สึกกำหนัดย้อมใจที่ชอบเพลิดเพลิน ยึดเหนี่ยวกับสิ่งนั้นอย่างหนักเหนียวแน่น ไม่มี ที่พูดถึงลักษณะของตัณหาที่มันเพลิดเพลินไป ด้วยอำนาจของราคะ ไม่มี เพราะตัณหาดับไปแล้ว มันมีแต่ความสงบ เยือกเย็น ผ่องใส เบาสบาย เบาสบายปลอดโปร่ง และจิตนั้นก็มีแต่ความว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากกิเลส โลภ โกรธ หลง ว่างจากตัณหา ความอยาก ว่างจาก อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ว่างจากสังขาร ความคิดปรุงแต่ง ว่างจากอวิชชา คือสภาวะของจิตที่มันกลุ้มรุมมืดมัวอยู่ด้วยความเขลา มันมีแต่ความสว่างแจ่มใสด้วยสติและปัญญาที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นมันดับไม่มีเหลือ มันจึงเป็นจิตที่เต็มไปด้วยพลัง เหมือนอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จปรินิพพานไป 2,500 กว่าปี แต่พระธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบก็ยังๆความเย็นให้แก่มนุษย์ที่ปรารถนาธรรมหรือที่เห็นคุณค่าของพระธรรมพร้อมที่จะรับพระธรรมเข้ามานำจิต ก็จะได้รับประโยชน์เช่นนี้ ฉะนั้นลักษณะของนิโรธ หรือนิโรธะ ข้อแรกก็คือ ดับไม่เหลือแห่งราคะ ความรู้สึกแห่งราคะที่จะไปกำหนัดย้อมใจกับสิ่งใดไม่เหลือเลย นอกจากนี้ก็จะมีความรู้สึกสลัดคืน สลัดคืนก็คือ พร้อมที่จะคืนให้ สิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ในใจ นั่นก็ของฉัน นี่ก็ของฉัน ลูกของฉัน บ้านของฉัน สามีภรรยาของฉัน เก้าอี้ของฉัน ตำแหน่งการงานของฉัน ทรัพย์สินเงินทอง ทุกอย่างที่ชอบร้องตะโกนว่าของฉันๆ ต้นไม้ก็ของฉัน ต้นหญ้าก็ของฉัน แม้แต่ผ้าขี้ริ้วก็ของฉัน อย่ามาหยิบเชียวของฉันทั้งนั้น นี่ ความที่รู้สึกว่าของฉันแม้แต่ผ้าขี้ริ้ว มันก็หมดไป ไม่มีอะไรเหลือ หมดเกลี้ยง สลัดคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือตัวตนนี้ ร่างกายนี้ อัตตานี้ ที่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวฉัน มันไม่รู้สึกว่าจะต้องยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวฉันอีกต่อไป มันไม่ใช่ตัวฉัน มันไม่ใช่ของฉัน มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่เคยตู่มานักหนาว่าสิ่งนี้น่ะเป็นของฉัน มันก็ค่อยๆรู้ว่า อ๋อ มันเป็นธาตุตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง มันเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ
วิญญาณธาตุคือ ธาตุรู้ที่หมายถึงจิตหรือนาม อากาศธาตุก็คือธาตุว่างมีเนื้อที่ให้ แล้วก็เป็นธาตุดินที่มันก็แค่นแข็ง คุณสมบัติแค่นแข็ง ธาตุน้ำที่มันสามารถจะเชื่อมสิ่งต่างๆให้รวมตัวกันอยู่ได้ ธาตุไฟที่มีความร้อน มีการเผาไหม้ คุณสมบัติของมัน ธาตุลมที่มันมีการเคลื่อนไหว อ๋อ มันเป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุ ถ้าเห็นถึงที่สุดก็คือ การพิจารณากายนี้จนเห็นว่ามันไม่มีอะไร มันเป็นแต่เพียงสักว่าธาตุเท่านั้นหนอ เหมือนอย่างในหนังสือสวดมนต์ ที่สวดอยู่เมื่อเวลาทำปัจเวก ลองไปเปิดหนังสือสวดมนต์ดู นั่นคือการพิจารณาให้ถึงที่สุด นิโรธหรือนิโรธะมันเกิดขึ้นได้เพราะความสลาย สลายแห่งความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ตัวนี้ยังไม่ตายหรอกนะคะ ก็ยังอยู่ ยังเดินเหิน กิน นอน ทำงานทำการ อยู่ในธรรมดานี่ ยังไม่ตาย ไม่ใช่พอนึกพิจารณาเห็นว่า โอ้ มันเป็นแต่เพียงสักว่าธาตุแล้วมันก็สลายไป ตัวนี้ก็สลายไป ร้องกรี๊ด ตายแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ ไม่ใช่อย่างนั้น ตัวนี้ยังอยู่ มันก็ยังอยู่ มันยังเป็นเนื้อเป็นตัว มันยังมีเลือดมีเนื้ออยู่อย่างนี้ ถึงแม้มันจะเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ แต่ตราบใดที่ธาตุทั้งหลายยังรวมตัวกันอยู่ ยังคงทำหน้าที่ตามหน้าที่ของมัน ชีวิตนี้ร่างกายนี้ก็ยังคงอยู่ แต่ข้างในมันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มันเปลี่ยนไปแล้ว เป็นจิตที่สว่างไสวอยู่ด้วยวิชชา วิชชาคือ ความสามารถที่จะรู้เท่าทัน ความเป็นจริงตามธรรมชาติ มันก็สลัดคืน คือสลัดร่างกาย ชีวิตนี้ที่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา สลัดคืน คืนให้แก่ใคร ธรรมชาติ ไม่ต้องหยิบสลัดนะคะ เอาไปเอาไป ไม่ต้อง นั่นอาการของคนบ้า ที่พอไม่พอใจ เอาไป เอาไป เอาไปให้พ้น นั่นคนบ้าที่เต็มไปด้วยอวิชชา แต่เมื่อวิชชาเข้าครอบงำจิต อาการสลัดคืนมันพร้อมที่จะปล่อยให้ ปล่อยให้ ปล่อยให้ เพราะมันมองเห็นแล้วไม่รู้จะยึดไว้ทำไม แม้จะเป็นลูก จะเป็นสามี จะเป็นคนที่รักที่สุด ก็ไม่จำเป็นต้องยึด แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องแยกกันอยู่หรือว่าตัดขาดกัน แกไปทางแกไม่ใช่ลูกชั้นอีกแล้ว ชั้นก็ไม่ใช่พ่อแม่ของแก นั่นก็อาการของคนวิปลาสอีกเหมือนกันนะคะ ลูกก็ยังเป็นลูกตามสมมติ พ่อแม่ก็ยังเป็นพ่อแม่กันตามสมมติ ครูบาอาจารย์ลูกศิษย์ก็ยังเป็นไปตามสมมติ แต่บัดนี้ความที่เคยทำอะไรต่อบุคคลเหล่านั้นอย่างยึดมั่นถือมั่นมันหมดไป แต่ยังคงทำหน้าที่อย่างถูกต้องอย่างที่สุด ยังเป็นแม่อยู่ ลูกยังต้องการๆดูแลแนะนำสั่งสอนอบรม ก็ทำหน้าที่ของแม่อย่างเต็มที่ ไม่ได้สลัดหน้าที่ของแม่ออกไป ยังคงทำอย่างเต็มที่ ยังไม่ทอดทิ้งลูกไปไหน ลูกก็เหมือนกัน ถ้าเกิดบรรลุธรรมขึ้นมา พ่อแม่แก่เฒ่า ไม่มีใครดูแล ลูกก็ยังดูแลพ่อแม่ รับใช้จนกระทั่งพ่อแม่จากไปตามธรรมชาติ นี่คือความสลัดคืน นั้นคือสลัดความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่น สลัดความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่นออกไป แต่สามารถทำทุกอย่างตามหน้าที่ ไม่ได้บกพร่องเลย ควรพูดอย่างไร ควรทำอย่างไร ยังคงทำอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่มึนตึงเฉยเมยด้วยนะคะ เต็มไปด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พรหมวิหาร 4 นั้นจะเกิดขึ้นอย่างเต็มเปี่ยมโดยไม่ต้องบอก อาจจะบอกว่าไม่ต้องเรียนรู้ก็ได้ มันเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้น นี่คือลักษณะอาการของนิโรธ ดับไม่เหลือแห่งราคะ และก็มีอาการแห่งความสลัดคืน คือมันสลัดคืนความรู้สึก มันปล่อย มันปล่อย มันยกให้ ไม่แย่งชิงอีกแล้ว ไม่ตู่อีกแล้ว ว่าเป็นของฉัน มองเห็นชัดว่ามันไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของใคร มันเป็นแต่เพียงสิ่งที่เค้าให้ยืมมา เราก็ใช้มัน ใช้มันให้เกิดประโยชน์ ใช้มันให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น สมมติว่าผู้ใดยังมีความรู้สึกว่า ตัวนี้เป็นของฉัน ฉันก็ชื่อนี้ นามสกุลนี้ ตำแหน่งการงานนี้ ใครๆก็รู้ว่าหน้าตารูปร่างอย่างนี้คือฉัน แล้วจะไม่ให้ว่าเป็นตัวตนได้ยังไง จับต้องมันก็ยังถูก ถ้าหากว่าสามารถจะทำใจได้เพียงแค่นี้ คือในระดับนี้ ก็ไม่เป็นไรนะคะ แต่จงรู้จักรักษาตัวตนนี้ให้อยู่ในหนทางที่ถูกต้อง อย่าไปหลงทางที่จะทำให้ตัวตนนี้เกิดความเสื่อมเสีย หรือว่าเกิดความเป็นทุกข์เจ็บปวดในชีวิต จงใช้มันกระทำต่อมันให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น นี่เรียกว่าเราใช้ตัวตนอย่างคนที่มีศีลธรรมอันดี ไม่ไปทำตัวตนนี้ให้เสียหาย ไม่ไปตกเป็นทาสของอบายมุขหรือความลุ่มหลงอื่นๆ นี่ก็ใช้มันไป แล้วค่อยศึกษาธรรมต่อไป จนวันหนึ่งประจักษ์ชัดในกฏของธรรมชาติ ชัดแล้วเห็นแล้วว่าทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย เห็นชัดจนกระทั่งว่าชีวิตนี้มันประกอบด้วยธาตุเท่านั้นเอง มันเป็นธาตุเท่านั้นเอง ชัดเมื่อไหร่ความที่ยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ในระดับนึงจางคลายลง มันก็ค่อยๆสลัดคืน ปล่อยไปเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมีใครปล่อย เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนี้ยังไม่เข้าใจหรือยังมองไม่เห็นก็ไม่เป็นไร คือยังมองไม่เห็นก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยก็ลองทำความเข้าใจ แล้วก็ลองคิดตาม ลองใคร่ครวญดูซะก่อน แล้วค่อยๆฝึกปฏิบัติไป ไม่ท้อถอย แล้ววันหนึ่งความยึดมั่นถือมั่นที่จะเอาอย่างใจตนก็จะค่อยๆลดลงไปเองทีละน้อย นี่ก็คือลักษณะสภาวะของนิโรธะ คือ นิโรธ ที่แปลว่าความดับ
เพราะฉะนั้น อริยสัจข้อนี้ท่านก็บอกว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้ง ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สมุทัย เป็นสิ่งที่ต้องละ นิโรธ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้ง คือให้แจ้งในความดับของสิ่งทั้งปวง นั่นก็คือศึกษาในเรื่องของอวิชชาให้ชัดเจน สังขารให้ชัดเจน ตัณหา อุปาทานให้ชัดเจน ทั้งหมดทั้งนี้ทั้งนั้นคือ อวิชชา ศึกษาให้มันชัดเจน จนเห็นชัด แล้วก็นิโรธเกิดขึ้น นั้นคือการสามารถทำให้แจ้ง ทำให้แจ้งว่าอวิชชาคืออะไร แล้วก็สามารถกำจัดขัดเกลาอวิชชาออกไปด้วยการพัฒนาวิชชา คือความประจักษ์แจ้งในอริยสัจ 4 ในกฏของธรรมชาติ กฏไตรลักษณ์ กฏอิทัปปัจจยตา จนชัดขึ้นๆๆ มันก็มีความแจ้งขึ้น แจ้งประจักษ์ในความเป็นจริงของธรรมชาติยิ่งขึ้นๆๆ ก็เกิดความดับซึ่งความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง
ฉะนั้น นิโรธเป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องทำให้แจ้ง เมื่อรู้แล้วว่าทุกข์คืออะไร สมุทัยคืออะไร แล้วก็พยายามกระทำมาตลอด เมื่อทำมาแล้วมันก็ต้องถึงซึ่งความดับ มันก็เกิดความแจ้งไปเองโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ฝึกปฏิบัติในเรื่องของสมุทัยโดยเฉพาะมันก็แจ้งขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ นี่ก็คืออาการของนิโรธที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น นิโรธเป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้ง และก็พยายามทำเพื่อให้แจ้ง อันที่จริง มันก็ทำในขณะที่ละสมุทัยนั่นแหละ นิโรธก็ค่อยๆเกิดขึ้นทีละน้อย ก็พยายามกระทำเพื่อให้ความแจ้งเกิดขึ้นจนกระทั่งเกิดความแจ้งอย่างถึงที่สุด ชัดเจน มองไปไม่มีอะไรที่เป็นความมืด ความมัว ความสลัวที่ยังไม่รู้เลย มันแจ้งหมดทั้งหมด มันแจ้งประจักษ์อยู่ข้างใน กระทำไป และเมื่อมันแจ้งประจักษ์ชัดเจน สว่างไสวทั่วถึงแล้ว ในอาการที่ 3 ท่านก็ทรงประกาศว่า เราทำให้แจ้งได้แล้ว นิโรธเป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้ง ลงมือทำให้แจ้ง แล้วก็เมื่อทำแจ้งได้อย่างทั่วถึง ท่านก็ทรงประกาศว่าเราทำให้แจ้งได้แล้ว นี่ก็เป็นอาการที่ 3 ของนิโรธ