แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้มาดูประเภทของตัณหา ถ้าเราจะแยกประเภทของตัณหา ข้อแรกก็คือ “กามตัณหา” กามตัณหาก็หมายความว่า อยากได้สิ่งที่ชอบนั่นแหละ พูดง่ายๆ กาม กามะ มันก็ไม่พ้นไปจากกามคุณห้า สิ่งที่เรียกว่ากามคุณห้า ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่พอใจ เหมือนดังที่เราได้พูดแล้วในกามฉันทะที่เป็นข้อหนึ่งของนิวรณ์ กามตัณหาก็คือความอยาก ความต้องการที่จะได้สิ่งที่ชอบ ที่ชอบที่พอใจ ก็คงเข้าใจแล้วนะคะ อะไรที่มันถูกใจ มองดูแล้วน่ารักน่าชมก็อยากได้มันเสียทั้งหมด ทั้งเป็นวัตถุสิ่งของหรือว่าสิ่งมีชีวิต ตลอดจนกระทั่งสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่มีที่สิ้นสุดนะคะ ไม่ใช่ว่าพออยากได้สิ่งนี้แล้วก็พอ พออยากได้สิ่งนี้แล้วมันก็อยากได้ต่อไป เหมือนคนไม่เคยมีบ้าน เอาเหอะ ขอหอพักเฉพาะตัวเราซักห้องนึง ก็เอาแล้ว พอไม่ต้องไปอาศัยคนอื่นเขาอยู่ พอได้หอพัก คือได้ห้องในหอพักอยู่ ก็มีความสุขความสบายไปซักระยะนึง แหม ถ้าเรามีบ้านเล็กๆ ซักหลังหนึ่ง ทาวน์เฮ้าส์ก็ยังดี ไม่ต้องใหญ่ไม่ต้องโต ไม่ต้องมีบริเวณมาก มันคงสบายเป็นอิสระ นี่แหม... ผู้คนมากมายถึงไม่ได้อยู่ห้องเดียวกัน ตะเกียกตะกายรวบรวมเงินจนได้ทาวน์เฮ้าส์มาหลังเล็กๆ พออยู่ไปๆ อู้ย…ทาวน์เฮ้าส์มันติดกัน มันไม่ไหวแล้ว มันต้องมีบริเวณอะไรให้หายใจบ้าง นี่มีที่จะไปหายใจที่อื่น ต้องคอยอยู่ในห้อง อยากจะสบายจะต้องทำแอร์ มันไม่ใช่อากาศบริสุทธิ์ ตะเกียกตะกาย เผอิญประกอบเหตุปัจจัยภายนอกมันเป็นไปได้ มีเงินเข้ามาก้อนนึง ไปซื้อที่ดินปลูกบ้านได้ ก็หลังพอสมควร พออยู่ได้ ก็สบาย ถูกใจ ไม่ช้าก็หลังเล็กไปเสียอีกแล้ว ต้องไปหาหลังใหญ่ เพราะฉะนั้น เราถึงได้ยินบ้านเดี๋ยวนี้ อู๊ย...เขาปลูกกันเป็นคฤหาสน์ ห้าสิบห้อง หกสิบห้อง เจ็ดสิบห้อง ตัวเอง คนเดียวน่ะ ใช้เนื้อที่ซักเท่าไหร่ ยาววาหนาคืบ แต่ยังมีบ้านตั้งห้าสิบหกสิบห้อง มีทำไม ก็เพื่อส่งเสริมอีโก้ ความใหญ่โตตามตัณหาของตนเองเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น กามตัณหานี้ไม่มีที่สิ้นสุด น่ากลัวมากเลยนะคะ และเจ้ากามตัณหานี่แหละที่ทำให้มนุษย์เราหลุดไปไม่ได้ หลุดไปจากความทุกข์ไม่ได้ เพราะเจ้ากามตัณหา แม้แต่จะเข้ามาปฏิบัติธรรมก็ไม่อยากปฏิบัติ เพราะอำนาจของกามตัณหามันยึดเหนี่ยวเอาไว้ ยังพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ถูกใจติดใจ มันยึดเหนี่ยวเอาไว้ ยังไม่สามารถ เพราะฉะนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องคิดให้มากๆ คิดให้มากๆ ว่าประเภทแรกก็คือกามตัณหา
ประเภทที่สองก็คือ “ภวตัณหา” ภวตัณหาก็คือความอยาก หรือความต้องการที่จะเป็นโน่นเป็นนี่ อย่างที่ใจต้องการน่ะ อย่างที่ใจอยาก อยากที่จะเป็นอย่างที่ใจต้องการ อยากจะเป็นคนสวย อยากจะเป็นคนรวย อยากจะเป็นคนมีอำนาจ หรือว่าอยากจะเป็นผู้อำนวยการ อยากจะเป็นประธานบริษัท อยากจะเป็นรัฐมนตรี หรือว่าอยากจะได้เป็นแม่ อยากจะได้เป็นพ่อ นี่ อยากสารพัด อยากจะเป็นโน่น อยากจะเป็นนี่ หรืออยากจะเป็นนักบวช อยากจะเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ถ้ามันมีความอยากขึ้นมาแล้วล่ะก็ มันก็ยังอยู่ในเรื่องของความต้องการที่จะเป็นอยู่นั่นเอง แล้วมันก็ดิ้นรนทุรนทุราย ทราบดีอยู่แก่ใจแล้วทุกคนนะคะว่า เมื่อความอยากจะเป็นโน่นเป็นนี่มันเกิดขึ้น มันดิ้นรนแค่ไหน เหมือนอย่างเวลาที่สอบโรงเรียนมัธยมเสร็จ จะไปสอบเอ็นทรานซ์ ต้องการที่จะเป็นนิสิต ต้องการเป็นนิสิตจุฬาฯ มันก็ดิ้นรน ดิ้นรนอยากจะเป็นนิสิตจุฬาฯ ถ้าสอบไม่ได้มันก็เป็นความทุกข์ ถ้าเป็นนิสิตอื่น ก็ดีเหมือนกัน แต่ยังไม่ดีเท่าจุฬาฯ เพราะความยึดมั่นถือมั่นในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ฉะนั้น ความที่อยากจะเป็นนี้ก็ไม่มีขอบเขตอีกเหมือนกัน กว้างขวางมากมายหลายอย่าง ทีนี้พอได้เป็นเข้า ประเดี๋ยวก็จะเกิดวิภวตัณหา
ตัณหาชนิดที่สาม “วิภวตัณหา” นั่นก็คืออยากที่จะไม่เป็นแล้ว ไม่ขอเป็นคนจน ไม่ขอเป็นครูน้อย จะต้องเป็นครูใหญ่ ไม่ขอเป็นพ่อเป็นแม่คน ภาระมากนักไม่เอา เป็นคนโสดดีกว่าจะได้ตะลอนไปได้รอบโลกตามใจของตน นี่คือความไม่อยากเป็น ให้มันตรงกันข้าม หรือว่าเคยเป็นแล้ว แล้วเสร็จแล้วพออยู่ในภาวะนั้นเข้า ดูมันไม่สุขดูมันไม่สบาย ไม่เป็นอย่างที่ต้องการ ก็อยากจะเปลี่ยน อยากจะไปให้พ้นจากสภาวะนั้น อย่างที่เราได้ยินอยู่เสมอ คนที่ทำงานน่ะ อู๊ย...ชั้นเบื่อ เบื่อจนจะอ้วก ชั้นต้องทำงานอยู่ที่นี่ พอก้าวเข้าไปเท่านั้นน่ะ แหมมันคลื่นไส้ ที่ทำงานนี่ ไม่อยากอยู่เลย แต่ก็อยู่ ไม่รู้กี่ปีๆ แล้วก็บ่นอยู่ได้เกือบทุกวัน ถ้าคนเขาจะย้อนถาม ก็ไม่อยากอยู่ ก็ออกซะสิ เลิกทำงานซะสิ ทำทำไมล่ะ ก็โกรธอีกว่าเขาไม่เห็นใจ มาถามอย่างงี้ ก็เราบอกว่าเราไม่ชอบ ว่าเขา ก็ถามให้ตามใจ ก็ไม่ชอบก็อย่าอยู่ หาหนทางอื่น ไม่ชอบใจอีกที่เขามาพูดอย่างงี้
เพราะฉะนั้น ทุกข์เพราะวิภวตัณหาก็มีเยอะ เพราะภวตัณหาก็มีเยอะ เพราะกามตัณหาก็เยอะ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือว่าทุกตัณหา ทั้งสามตัณหานั่นแหละ มันรุมล้อมอยู่ในใจของมนุษย์ มนุษย์จึงมีความทุกข์อย่างไม่สิ้นสุด นี่จงพยายามเข้าใจความหมายของตัณหาทั้งสาม ว่า กามตัณหามีไหม ใครไม่มีบ้างที่นั่งอยู่ในที่นี้ ไม่มีเลย กามตัณหาไม่เหลือแล้ว ภวตัณหาชั้นก็ไม่ได้อยากเป็นอะไรซักอย่าง ไม่อยากเป็นเลย วิภวตัณหาก็ไม่เคยที่จะไม่อยากเป็นโน่นเป็นนี่ ภวตัณหาอยากจะเป็นโน่นเป็นนี่ วิภวตัณหาไม่อยากเป็นโน่นเป็นนี่ มีไหม ก็ถามตัวเอง มันยังมี ยังมีอีกเยอะ เมื่อรู้ว่ายังมีอีกเยอะ ก็ดีนะถูกต้อง ที่เรารู้และเรารับ และเราจะได้แก้ไขมัน แต่ถ้าผู้ใดบอกว่าไม่มีแล้ว ยากที่จะแก้ แก้ไม่ได้ เพราะบอกว่าไม่มีแล้วจะเอาอะไรแก้ ใช่ไหม นั่นแหละ อวิชชาเต็มใจ เต็มอยู่ภายในเลย เพราะฉะนั้น มันจึงทำให้มองเห็นกงจักรเป็นดอกบัว มองเห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูก นี่คือฤทธิ์เดชของอวิชชา
ฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า ตัณหาที่เกิดจากอวิชชานั้นมันทำให้สติปัญญาหลงทาง ถ้าจะพูด ก็บอกว่า มันทำให้สติปัญญาหลงทาง สติปัญญาที่ควรจะดำเนินไปในหนทางที่ถูกต้อง เช่น บอกตัวเองว่า ทำไมไม่ทำหน้าที่ล่ะ หน้าที่ที่เรากำลังทำอยู่นี่ หน้าที่ของความเป็นครูก็ทำหน้าที่ของครูให้ดีที่สุด ด้วยความปรารถนาดีเพื่อลูกศิษย์ ความเจริญก้าวหน้าของลูกศิษย์ทั้งภายนอกและภายใน ทำให้ดีที่สุด ทำไมไม่สอนตัวเอง เป็นลูกก็ทำหน้าที่ของลูกให้ถูกต้อง เป็นนิสิตนักศึกษาก็ทำหน้าที่ของนิสิตนักศึกษาให้ถูกต้อง เป็นหมอเป็นพยาบาลก็ทำหน้าที่นั้นให้ถูกต้อง ถ้าทำหน้าที่นั้นถูกต้องแล้ว เราก็ย้อนถามตัวเองว่าเราทำเต็มที่แล้วหรือยัง ตอบอย่างสุจริตใจนะคะ เต็มที่แล้ว จะเคี่ยวเข็ญตัวเองให้ทำดีกว่านี้อีกได้ไหม ไม่ได้ มันเต็มที่แล้ว เต็มที่แค่นี้จริงๆอย่างซื่อสัตย์ มันก็เต็มที่ เราจะติตัวเองอีกไหม จะควรมาเสียใจอีกไหม ก็ไม่เห็นได้ควรจะต้องมาเสียใจ เพราะเราไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ทำมากกว่านี้ได้อีกแล้ว ถ้าผู้ใดสามารถสอนใจตัวเองและก็ฝึกอบรมใจตัวเองให้ทำหน้าที่ถูกต้องได้อย่างนี้ นั่นก็เรียกว่า มีสติปัญญาที่ถูกต้อง ไม่หลงไปอยู่ในทางของความทุกข์ หรือไม่หลงไปในป่าของชีวิต สติปัญญาหลงทางนั้นก็คือ มันทำให้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีหลงทางไปด้วย คือเห็นความชั่วเป็นความดี เห็นความผิดเป็นความถูก เห็นความโง่เป็นความฉลาด เหมือนอย่างมนุษย์เราทุกวันนี้ กำลังมองดูความเสื่อมที่เกิดขึ้นเป็นความเจริญ เห็นว่า อู๊ย! เจริญถนนหนทางสมัยนี้มากกว่าสมัยก่อนเปรียบเทียบกันไม่ได้ มหาวิทยาลัยก็มีมาก โรงเรียนก็มีมาก พลเมืองก็เยอะ เมื่อก่อนโน้นน่ะไม่กี่ล้านคนเมืองไทย เดี๋ยวนี้ตั้งห้าหกสิบล้านคน นี่แหละคือความเจริญ ผู้ใดคิดอย่างนี้ นี่คืออวิชชาครอบงำจิต กำลังมองดูความเสื่อมเป็นความเจริญ เพราะไม่หาความเจริญที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น ชีวิตมันจึงกำลังพบกับความถูกเบียดเบียนทั้งข้างนอกข้างในและรอบข้าง นี่คือ สติปัญญาหลงทาง เพราะความรู้สึกผิดชอบชั่วดีหลงทาง มันจึงเกิดตัณหา แล้วก็จึงเกิดความทุกข์ ฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า อย่าอยู่ด้วยตัณหา คืออย่ามีชีวิตอยู่ด้วยตัณหา ผู้ใดมีชีวิตอยู่ด้วยตัณหา ผู้นั้นต้องเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ด้วยตัณหา มันต้องมีอวิชชาอยู่เป็นพื้นฐานเสมอไป ให้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือ วิชชา ด้วยการศึกษา ฝึกฝน อบรม ปฏิบัติทางจิตจนเกิดวิชชาขึ้นในใจ อย่าอยู่ด้วยความหวัง การอยู่ด้วยความหวังก็คือการดื่มยาพิษทีละน้อยๆๆ ฆ่าตัวเองทุกเวลานาที แต่จงอยู่ด้วยสติปัญญา คือสติปัญญาที่สามารถจะกระทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ประโยชน์ที่เกิดแก่ตนเองก็คือ ไม่มีความทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ เท่านั้นล่ะวิเศษที่สุดแล้ว เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดแล้วในชีวิต เพราะว่าชีวิตที่สงบเยือกเย็นผ่องใสไม่เป็นทุกข์ มันไม่มีซื้อ ไม่มีขาย ไม่มีวางเร่ขายตลาดไหนเลย จะเดินไปในห้างสรรพสินค้าให้ใหญ่โตมโหฬารเท่าไร ก็ไม่มีสิ่งนี้ขาย ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าสามารถรักษาชีวิตของตนให้อยู่ได้ด้วยสติปัญญา ไม่อยู่ด้วยความหวัง นั่นก็คืออยู่ด้วยความสงบเยือกเย็นผ่องใส แต่มีชีวิตอันเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่หาได้ยาก แล้วมันลำบากก็ตรงที่ว่าต้องทำเอง ไม่มีใครเขาทำให้ แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาประทับอยู่ตรงนี้ ก็ไม่สามารถจะพาท่านทั้งหลายให้รอดพ้นจากความทุกข์ได้ ท่านแนะได้บอกได้ ว่าวิธีหนทางคืออย่างนี้ แต่ถ้าไม่ลงมือทำ มันก็แป๊กอยู่ตรงนี้ แป๊กอยู่ในกองของความทุกข์ นี่คือพระองค์ตรัสบอกเสมอว่า ต้องทำ ต้องทำด้วยตนเอง ไม่มีใครทำให้ได้
ฉะนั้น สิ่งนี้ก็คือเรื่องของสมุทัยที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ เมื่อเรารู้แล้วว่าต้นเหตุของความทุกข์คือตัณหาที่เกิดจากอวิชชา แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดสังขารปรุงแต่ง จนกระทั่งยึดมั่นถือมั่นในมันว่า เป็นจริงเป็นจัง เมื่อรู้แล้วก็จงเข้าใจว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องละ สมุทัยเป็นสิ่งที่ต้องละ แล้วก็พยายามศึกษาว่า วิธีที่จะละสมุทัย คือละตัณหา อุปาทาน สังขาร อวิชชา ดังกล่าวแล้วนี้อย่างไร เมื่อได้เรียนรู้ ได้ทราบ วิธีของการที่จะปฏิบัติเพื่อความละ ก็จงพากเพียรที่จะปฏิบัติ หมั่นขูดขัดเกลา ตัณหา อุปาทาน สังขาร อวิชชาที่อยู่ในจิตให้ลดลงๆๆ นี่คือการกระทำซึ่งเป็นอาการที่สอง อาการแรกคือสติปัญญาที่รู้ว่าต้องละ สิ่งนี้ต้องละ มันเป็นต้นเหตุของปัญหาของชีวิต คือต้นเหตุของความทุกข์ ต้องละ แล้วก็ลงมือทำ ลงมือกระทำการเพื่อการละนั้นอย่างเต็มที่ อย่างพากเพียร อย่างสม่ำเสมอ อย่างสุดปัญญา ทำไปเถอะนะคะ แล้วก็ไม่ต้องมาถามว่า เมื่อไหร่ล่ะถึงจะละได้ ต้องย้อนถามตัวเองว่าทำทุกขณะจิตรึเปล่า ทำอย่างเต็มกำลังความสามารถรึเปล่า รึว่าทำบ้างไม่ทำบ้าง เพราะฉะนั้น ตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่ละบุคคล ว่า ทำได้มากน้อย จริงจัง สม่ำเสมอเพียงใด จนกระทั่งละได้ในที่สุด ละได้อย่างไร ก็คือมองค้นหาดูแล้วในความรู้สึกจริงๆ อย่างชนิดไม่หลอกตัวเอง ไม่มีความอยาก ไม่มีความอยากๆ แต่อันนี้ระวัง มันหลอกกันได้ง่าย เพราะความอยากมันมีหลายชั้น มันซับซ้อนนัก ถ้าหากว่าบอกเออตอนนี้ไม่มี แล้ววันใดมันเกิดสะดุ้งขึ้นมา ในใจมันสะดุ้งในความหงุดหงิด มันอึดอัด มันไม่ถูกใจ อ๋อ... มันยังมีๆ รีบค้นต่อไป ตรงไหนที่มันซ่อนอยู่ มันมีปมมีเงื่อนอยู่ตรงไหน ค้นมันไป แล้วก็รีบขัดเกลาขูดมันออกไปซะอีก จนกระทั่งมันเกลี้ยงจริง ๆ เหมือนดั่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ทรงปฏิบัติ แล้วเมื่อท่านทรงพบว่าท่านสามารถละได้จริง ท่านก็ประกาศว่า เราละได้แล้ว สิ่งนี้เราละได้แล้ว ก็คือสิ่งที่เป็นสมุทัยของความทุกข์ อวิชชาไม่มีเหลือหลออยู่ในจิต นั่นคือไปถึงอวิชชาที่เป็นรากเหง้า เป็นสภาวะของความเขลาความโง่ที่มีอยู่ในจิต เกลี้ยง ทำไมถึงเกลี้ยง ก็เพราะทรงมองเห็นแล้วว่า ทุกสิ่งเป็นอนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่มีสิ่งใดเป็นจริงเป็นจังเลยซักอย่างเดียว ก็เลยถึงซึ่ง นิพพิทา นิราคะ แล้วก็นิโรธ ก็ประกาศว่า เราละได้แล้ว นี่เป็นสามอาการ สมุทัยเป็นสิ่งที่ต้องละ กระทำการละ แล้วผลที่สุดก็ละได้จริง ๆ นี่ก็เป็นอริยสัจข้อที่สอง คือเป็นความจริงอันประเสริฐที่เราจะต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสมุทัย เพราะว่ามันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ เมื่อเราไม่ต้องการจะมีทุกข์ เราก็ต้องละมัน