แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เขามีอาวุธเครื่องมืออย่างนั้นอย่างนี้ หาอาวุธไม่ได้ก็ไปหาไม้เข้ามาสักเล่มนึงถือประจำมือ นี่เป็นดาบศักดิ์สิทธิ์จะต้องรบชนะ แล้วก็ทำท่ากร่างเหมือนตัวพระเอกในเรื่อง นี่คือความอยาก ตัณหาที่เกิดจากการดู พอดูเข้ามันถูกอกถูกใจตามสัญชาตญาณของมนุษย์ที่มันอยากเป็นคนเก่ง อยากเก่งกว่าคนอื่นเขา อยากให้คนเขายอมรับ เขายกย่องว่าเป็นพระเอก นี่พอดูไปๆ มันเกิดความอยาก มันซึมซาบ แล้วใจมันเต็มอยู่ด้วยอวิชชา แล้วเกิดความอยากเกิดความชอบ ก็อมความรู้สึกว่า “เราจะต้องเป็นพระเอก” “เราจะต้องเป็นคนเก่งอย่างนั้น” แล้วก็ทำท่าทำทางให้มันเหมือนกับเจ้าตัวพระเอก พ่อแม่ก็ “อู๊ย รักใคร่ น่าเอ็นดู แหม เด็กคนนี้มันฉลาด ดูสิ พอมันไปดูหนังเข้าเท่านั้น มันทำท่าทำทางเหมือน” นี่แหละ ภพอย่างนี้มันเกิดทุกข์เพราะใคร เพราะใคร เพราะคุณพ่อคุณแม่ผู้น่ารักทั้งหลายนี่แหละส่งเสริมลูกให้เป็นไปอย่างนั้นเองแล้วไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่านี่คือกำลังส่งเสริมให้ลูกหลานเป็นไปแล้ว เกิดภพขึ้นในใจแล้ว ก็ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นคนเก่ง หรือมีลูกสาวตัวเล็กๆ เห็นไหมคะ เขาประกวดนางงามจักรวาลรุ่นจิ๋วน่ะ ที่ดิฉันก็เห็นจากในหนังสือพิมพ์ นี่ส่งเสริมอะไร ส่งเสริมภพให้เกิดขึ้นในใจของลูกแล้วใช่ไหม ของลูกสาวตัวเล็กๆ ขอโทษเถอะ จะเดินจะเหินมันก็ไม่เหมาะกับวัยของเด็กๆ หน้าตาที่จะพูดจะทำก็ไม่เหมาะกับวัยของเด็กๆ เรียกว่าใส่จริตเข้าไปตั้งแต่วัยเดียงสา ยังไม่ทันจะมีจริตจะก้านเลย แล้วใครล่ะใส่จริตให้เด็กๆที่กำลังไร้เดียงสา ใครล่ะ ก็ผู้ใหญ่ที่มีอวิชชาอยู่เต็มหัวใจนั่นแหละ ใช่ไหมคะ ที่ทำให้เด็กเป็นอย่างนี้ ทำให้เด็กเกิดภพว่า “อุ๊ย โตขึ้นเราจะต้องเป็นนางงาม” แล้วเวลานี้นางงามกลายเป็นอุดมคติอย่างหนึ่งในชีวิตของผู้หญิงหลายๆคน เพราะมองดูเหมือนกับว่ามันมีบันไดที่จะทอดไปเป็นอะไรต่ออะไรตั้งหลายๆอย่าง สิ้นกำลังของพวกครูอาจารย์ที่จะป้องกันแก้ไข สิ้นกำลังของพ่อแม่บางคนที่ไม่ได้เต็มใจ แต่พ่อแม่ส่วนมากก็ส่งเสริมลูกของตัวโดยไม่รู้ตัว นี่คือการเกิดภพ เด็กก็เกิดภพคือความยึดมั่น อมความรู้สึกอันนี้ไว้ในใจว่า “เราต้องเป็นนางงาม เราต้องเป็นนางงาม” ก็กรีดกรายทำท่า แต่งเนื้อแต่งตัว พูดจาให้มันเหมือนนางงาม ถ้าเผอิญมีสติปัญญาอยู่บ้าง หรือพ่อแม่ไม่มีอวิชชาเต็มหัวใจเกินไป ก็จะรู้ว่าควรจะรีบดัดแปลงแก้ไขอย่างไรก่อนที่ลูกสาวเล็กๆจะลึกไปยิ่งกว่านี้ แทนที่จะทำอะไรให้มันถูกต้องยิ่งกว่านี้ นี่คือภพ ภพคือความรู้สึกเป็นนั่น เป็นนี่ เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น ตามความอยาก ตามความอยากที่เกิดขึ้น หรือถ้าแปลความหมายของคำว่า “ภพ” ก็แปลว่า ความรู้สึกมี ความรู้สึกเป็น “มีอะไร” ก็มีตัวฉัน ความรู้สึกเป็น “เป็นอะไร” ก็เป็นตัวฉัน ทีนี้มันไม่ใช่แค่ตัวฉันแค่นั้น มันตัวฉันเป็นคนสวย ตัวฉันเป็นคนเก่ง ตัวฉันเป็นนางงาม ตัวฉันเป็นพระเอก ตัวฉันเป็นคนวิเศษต่างๆ หรือในทางตรงกันข้าม ตัวฉันเป็นคนด้อย สู้คนอื่นเขาไม่ได้ จะไปที่ไหนก็คอยแอบหลบมุมเรื่อย
นี่มันก็มีทั้งในทางลบและในทางบวก ภพ นี้นะคะ อาจจะเป็นความมีความเป็นทั้งในทางบวก บวกก็คือเด่นดังไปในทางที่เขายกย่องกันในสังคม ในทางลบก็คือในทางที่รู้สึกตัวเองว่าด้อยกว่าเขา จะไปเข้าสมาคมกับใครก็ไม่กล้าเข้า เราด้อยกว่าเขา เรียนหนังสือน้อยกว่าเขา เดี๋ยวจะพูดไม่ถูก เดี๋ยวจะแต่งตัว จะเดินเหินไม่ถูก คนเขาจะหัวเราะเอา จะเปิ่น แอบเข้ามุม นี่เพราะภพ คือความรู้สึก ความมีความเป็นในใจว่าเราเป็นคนด้อยกว่าเขา ฉะนั้น ภพนี่มันเป็นได้ทั้งทางบวกและทางลบ เหมือนอย่างเรื่องสั้นของ ประภัสสร เสวิกุล เคยอ่านนานแล้ว ชื่อ “เด็กชายมะลิวัลย์” คือพออ่านเข้าแล้วมันก็สะดุดใจ เด็กชายมะลิวัลย์ก็เป็นเด็กดี๊ดี น่ารัก เพื่อนฝูงก็รัก ใครๆเห็นก็รัก เพราะเป็นเด็กที่อ่อนโยนนุ่มนวล แล้วก็มีน้ำจิตน้ำใจกับผู้ใหญ่กับเพื่อนกับฝูง แต่ว่าจุดอ่อนของเขาก็คือว่า เผอิญเขาเป็นคนขาเป๋มาแต่กำเนิด เพื่อนๆก็รัก แต่อดไม่ได้ที่จะเรียกว่า “ไอ้เป๋” เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ได้ยินเพื่อนเรียกว่า “ไอ้เป๋” มันก็กระทบใจของเด็กชายมะลิวัลย์คนนี้ แหม มันทุกข์ มันไม่ชอบ เพราะมันเป็นปมด้อยขึ้นมาทีเดียว วันหนึ่งเขาก็บอกเพื่อนสนิทเขาว่า “เราจะต้องย้ายล่ะ เราจะไม่อยู่โรงเรียนนี้ เราจะไปให้พ้นจากโรงเรียนนี้ หมู่บ้านนี้” เพื่อนเขาก็ถามว่า “ทำไม” “เราไม่ชอบให้ใครมาเรียกเราว่าไอ้เป๋ นี่เรียกเราว่า ไอ้เป๋ กันหมดเลย เพื่อนเด็กผู้ชายรุ่นๆเดียวกัน” ต้องชมว่าคนแต่งเขามีปัญญาดี เจ้าเพื่อนก็ย้อนถามมะลิวัลย์ว่า “แล้วเวลาแกไป แกเอาขาแกไปด้วยหรือเปล่า” ก็แน่ล่ะ ใช่ไหมคะ ขาของเรานี่ มันก็ต้องเอาไป มะลิวัลย์เขาก็บอก “อ้าว ขาของเรา เราก็ต้องเอาไปน่ะสิ ไม่ไปได้ไง” เพื่อนเขาก็บอกว่า “อ้าว แกเอาขาแกไป แล้วแกไปอยู่โรงเรียนโน้น แล้วแกไม่คิดเหรอว่าเขาจะเรียกแกว่าไอ้เป๋อีก เพราะขานี้มันก็ต้องเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไป” นี่คือ ภพ ของความเป็นเด็กขาเป๋ ภพของความรู้สึกว่าเราเป็นเด็กขาเป๋ มันเกิดขึ้นในใจ เพราะฉะนั้นก็อมความรู้สึกอันนี้เอาไว้ แล้วมันก็เลยไม่สง่าผ่าเผย มันเป็นทุกข์ มันไม่สบาย เราพบคนขาเป๋ตั้งเยอะ แต่เขาก็เป็นคนโก้ได้ มีชื่อมีหน้าได้ ถ้าใจมันไม่อมความรู้สึกอันนั้นเอาไว้ มันก็ไม่มีอะไรที่จะมายึดให้เราเป็นคนด้อยกว่าเขา ก็จะสามารถใช้สติปัญญาหรือความถนัดที่มีอยู่นั้นให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตอย่างเต็มที่ นี่คือความหมายของคำว่า ภพ ซึ่งจะได้พบอีกมากในปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้นถ้าฟังเรื่องของอวิชชา ของสังขาร ของภพ เข้าใจเอาไว้ พอเดี๋ยวเราไปพูดกันเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็จะเข้าใจได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น ฉะนั้น ตัณหาเกิดขึ้นเมื่อใด มันจะทำให้เกิดภพขึ้นในใจทันทีนะคะ
ทีนี้นอกจากว่าจะเกิดภพ คือความรู้สึกมี รู้สึกเป็น มีตัวฉัน เป็นตัวฉัน อย่างนั้น อย่างนี้แล้ว ตัณหายังจะทำให้จิตนั้นประกอบไปด้วยราคะ ราคะในที่นี้แปลว่า ความกำหนัด ย้อมใจ ติดสนิทเลยอย่างดึงออกได้ยาก คือหมายถึงมันติดเหนียวแน่น ก็เหนียวแน่นในภพในตัณหานั้น มันติดเหนียวแน่น พอเหนียวแน่นแล้วมันเพลินด้วย เพลินที่จะเป็นอย่างนั้น ทั้งทางบวกและทางลบมันเพลินที่จะเป็นอย่างนั้น แม้แต่ว่าในเรื่องของความด้อย เราก็พอใจแล้ว ผู้ที่มีภพของคนด้อย คนเปิ่น ก็ไปนั่งแอบมุมห้องแล้วก็มองคนโน้นคนนี้เขาทำอะไรกันตามลำพัง ก็เพลินสนุก พอใครเขาโผล่มาทักเข้า “อ้าว ทำไมมานั่งตรงนี้ล่ะ ออกไปเต้นรำด้วยกันหน่อยสิ” เท่านั้นแหละสะดุ้ง เป็นทุกข์แล้ว เห็นไหมคะ เพราะฉะนั้น ความเพลินหรือประกอบด้วยราคะ ก็คือหมายความว่า ความเพลิน เพลินได้ทั้งในความบวกและในความลบ เพลินอย่างโด่งก็ได้ เพลินอย่างด้อยก็ได้ เพราะอวิชชามันครอบงำจิต มันจึงไม่มีโอกาสได้ศึกษาว่าในขณะนั้นมันเพราะอะไร นอกจากนี้ เมื่อตัณหาเกิดขึ้นมันจะทำให้จิตนั้นมันมีความเพลิดเพลินพอใจในทุกสิ่งทุกอย่าง แต่คำว่าเพลิดเพลินพอใจในทุกสิ่งทุกอย่างนี้ถ้าดูหรือพิจารณาไปให้ลึกซึ้ง ก็จะเห็นว่ามันมีอาการของสังขาร สังขารคือความรู้สึกปรุงแต่งซ่อนอยู่ในนั้น ยิ่งคิดยิ่งเพลิน ยิ่งคิดยิ่งเพลินยิ่งสนุก ใช่ไหมคะ ที่มันหยุดความคิดไม่ได้เพราะมันยิ่งคิดยิ่งเพลินยิ่งสนุก มันยิ่งแตกดอกออกกอไปต่างๆนานา แล้วพอลืมตาเข้า “โอ้ มันก็อยู่ตรงนี้เอง ยังไม่ไปไหนเลย” พอลืมตาพบความจริง ไม่ได้ไปไหนเลย แต่ในขณะที่นั่งคิดอย่างใจลอย หรือว่านั่งหลับตาคิด มันไปต่างๆนานา ทุกหนทุกแห่ง ที่โน่นที่นี่ มันก็มีแต่ความเพลิน
ฉะนั้น นี่คือลักษณะของตัณหา ทำให้เกิดภพ ทำให้ใจประกอบอยู่ด้วยราคะ คือเพลินในสิ่งที่เกิดขึ้นตามความอยาก แล้วก็มีความเที่ยวเพลิดเพลินพอใจไปในทุกสิ่งทุกอย่างอย่างไม่มีขีดจำกัด ก็คือเมื่อสังขาร ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วมันไม่จำกัด คือจะไปบอกว่าหยุดคิดแค่นี้ มันหยุดไม่ได้ เพราะอวิชชากำกับอยู่ มันก็เพ่นพ่านเร่ร่อนไปหมดทั่วทุกหนทุกแห่งในโลกนี้ อยู่กรุงเทพฯบ้าง อยู่ทางเหนือบ้าง อยู่ทางใต้บ้าง ออกไปโน่น ไปฮ่องกง ไปลังกา ไปอังกฤษ ไปญี่ปุ่น ไปเพ่นพ่านสารพัด แล้วผลที่สุดก็อยู่ในครัวนี่เอง ไม่ได้ไปที่อื่นเลย แต่ไอ้ความคิดที่ปรุงแต่งนี่มันไปได้ทุกหนทุกแห่งสารพัด ฉะนั้น จึงน่ากลัวนะคะ