แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฉะนั้น อริยสัจ 4 ก็คือ ความจริงที่รู้แล้วจะทำให้มีชีวิตอยู่อย่างปราศจากข้าศึก ข้าศึกในที่นี้ก็มิใช่อะไรอื่น นอกจากความทุกข์นั่นเอง จริงหรือไม่คะ ทุกวันนี้ที่มนุษย์มีความอึดอัด เศร้าหมอง เจ็บปวด วุ่นวาย ไม่ได้เป็นอันสงบเลย ก็เพราะเรื่องของความทุกข์ คือถูกเบียดเบียนด้วยความทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น พระองค์จึงพยายามชักจูงใจของมนุษย์ให้หันมาสนใจกับสิ่งที่เป็นสัจจะ คือสัจจะที่เป็นอริยะ ไม่ใช่สัจจะที่คนโลภสนใจกัน สัจจะที่คนโลภสนใจกันเราเรียกว่า สมมุติสัจจะ คือสัจจะที่เป็นไปตามสมมุติ ตามที่สมมุติกัน หรือถ้าจะว่ามันเป็นจริง มันก็จริงตามสมมุติ แต่มันไม่ใช่จริงๆ นี่คือ สมมุติสัจจะ
สมมุติสัจจะคืออย่างไร ก็อย่างเช่น ที่เราสมมุติเรียกกัน ที่นั่งอยู่นี่ เราเรียกว่า “คน” รวมทั้งดิฉันด้วยก็เป็นคน ตามที่เราสมมุติเรียกกัน แต่ว่าเมื่อเราพูดว่า “คน” จะเป็นที่รู้เรื่องกันทั่วโลกไหม เมื่อเราบอกว่า นี่เขาเรียกว่า “คน” ถ้าเราไปพูดกับคนจีน ไปพูดกับคนอัฟฟริกัน หรือไปพูดกับคนฝรั่ง เขาก็ไม่ได้เรียกว่า “คน” รูปร่างหน้าตาก็เหมือนกันอย่างนี้ ลักษณะอาการก็เหมือนกันอย่างนี้ แต่เขาใช้อีกภาษาหนึ่ง เขาไม่ได้เรียกว่า “คน” นี่ก็เห็นแล้วใช่ไหมคะ ที่เราเรียกกันว่า “คน” นี่มันเป็นไปตามสมมุติของสังคมนี้ ของชุมชนแห่งนี้ เราสมมุติเรียกกันว่า “คน” แต่มันก็หาได้เป็นจริงไปทั่วโลกหรือว่าทุกหนทุกแห่งที่จะใช้คำว่า “คน” อันนี้ไม่ นอกจากนั้นเรายังสมมุติกันอีก ว่าอย่างนี้เราเรียกว่า “คนผู้หญิง” คือเป็นผู้หญิง อย่างโน้นคนผู้ชาย ถ้ารูปร่างหน้าตาอย่างนี้เราก็แยกกันไปว่า นี่ผู้ชาย นั่นผู้หญิง นอกจากนั้นยังไม่พอ ก็ต้องมีชื่อ คนนี้ชื่อนี้ คนนั้นชื่อนั้น ชื่อสกุลนั้น ตามที่ตั้งกันมา อันที่จริงเมื่อเวลาเกิดจากท้องของมารดา เราก็รู้ว่าหาได้มีป้ายชื่อติดคอมาไม่ ไม่มี ใช่ไหมคะ เรามาตั้งขึ้นภายหลัง แล้วทำไมถึงต้องยึดมั่นถือมั่นในชื่อนั้นนักหนา ถ้าใครเขาเอ่ยถึงชื่อนี้ “นวลจันทร์” ไม่ทราบว่ามีชื่อนวลจันทร์หรือเปล่า ถ้าเขาเอ่ยชื่อ “นวลจันทร์” ขึ้นมาล่ะก็ ต้องพูดดีๆ ต้องยกย่องชมเชย “นวลจันทร์นี่เก่งนะ” นวลจันทร์ก็ยิ้ม “นวลจันทร์นี่สวยนะ” ก็ยิ่งยิ้มบาน “ใจดี หายาก” ก็เรียกว่าบานแปดกลีบ ประเดี๋ยวก็ได้ยินอีกคนหนึ่ง “โห อย่าไปเชื่อแกนะยัยนวลจันทร์ แกท่าดีทีเหลว ท่าข้างนอกแกทำท่าอย่างนั้นเอง แต่จริง ๆ ร้ายนัก” เท่านั้นแหละ บานแปดกลีบก็หุบทันที หุบ ขัดเคือง โกรธแค้น เก็บไว้ไม่ได้ก็ต้องต่อปากต่อคำกัน นี่ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนั้น ก็เพราะติดในความสมมุติ ใช่ไหมคะ สมมุติชื่อที่เขาเรียกกัน นี่ชื่อฉัน มันเริ่มสะสมขึ้นมาเป็นตัวฉัน นี่ชื่อฉัน เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงฉันก็ต้องพูดให้ดีๆ เพราะมันเป็นเรื่องของฉัน นี่คือเป็นเรื่องของสมมุติ สิ่งที่เราสมมุติเรียกทุกสิ่งทุกอย่าง จะเรียกว่า “ระฆัง” จะเรียกว่า “หญ้า” จะเรียกว่า “ดอกบัว” จะเรียกว่า “กุหลาบ” หรือว่า “ลั่นทม” หรือว่า “แมว” “หมา” “ไก่” “ปู” “ปลา” ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ตาม ก็มีชื่อ มีชื่อกันต่างๆนานา แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรม ที่เราเรียกว่า อาการของความรัก อาการของความดี อาการของความเกลียด ก็สมมุติกัน ถ้าทำท่าทางอย่างนี้ ยิ้มแย้มแจ่มใส เอื้อเฟื้ออาทร ไต่ถามทุกข์สุข เป็นห่วงเป็นใย กังวล เราก็บอกว่า “นี่เขารักฉัน เขามีความรักมีความเอื้ออาทรต่อฉัน” แล้วก็ต่อไปอีก “อย่างนี้เขาเป็นคนดี” โดยสมมุติกัน เพราะถ้าทำอย่างนี้เป็นคนดี แต่ถ้าวันไหนเปลี่ยน เกิดขัดข้องขุ่นใจ ไม่ชอบ ใช้คำพูดไม่เพราะว่าเอา “ไม่ดีละ นี่เขาเกลียด” เปลี่ยนจากอาการที่กระทำไปสมมุติเรียกอีกใหม่ว่า นี่เป็นความเกลียดทั้งๆที่เป็นการกระทำจากคนๆเดียว นี่เราเรียกว่า ความจริงตามสมมุติ และเราก็จะเห็นชัดขึ้นไปอีก ถ้าคนดีล่ะก็ มนุษย์เราก็กำหนดกันตามสมมุติว่า ต้องแต่งตัวอย่างนั้น อย่างไม่ใช่ปัจจุบันนี้ทีเดียว เราจะบอกคนดีนี่ล่ะก็ต้องแต่งตัวเรียบร้อย นุ่งผ้า ใส่เสื้อให้เรียบร้อย ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ถ้าผู้ชายสมัยก่อน คือหมายความว่า ก่อนนี้ไปสักนิดนึงก็นิยมว่า ต้องแต่งสากล สวมเสื้อนอก ผูกเนคไท ถ้าสวมเสื้อนอกผูกเนคไทมาก็ถือว่านี่เป็นคนดี เพราะฉะนั้นเจ้าคนร้ายที่หัวแหลม เดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นว่าแต่งตัวโก้ มาโก้ ขี่รถยนต์มาด้วย ที่จะเดินต๊อกๆ เอามีดแอบมาจี้อย่างเมื่อก่อนไม่ค่อยมี นี่ก็เพราะเชื่อตามสมมุติ หลอกลวงให้เชื่อกันได้ง่ายๆว่าลักษณะอย่างนี้เป็นคนดี อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นสมมุติสัจจะ คือสัจจะที่เป็นจริงตามสมมุติ มันหาได้เป็นจริงไม่ เช่นเดียวกับเงิน ที่เราเรียกกันว่าเป็นเงินบาท เป็นสตางค์ แล้วก็มีใบเป็นรูป ใบสิบบาท ยี่สิบบาท ห้าร้อย พันบาท นี่ก็เป็นไปตามสมมุติอีกเหมือนกัน แต่มันหาได้คงที่หรือว่าจริงจังไม่ หรือชื่อประเทศของเรา
สมัยที่ดิฉันยังรุ่นสาว ก็ชื่อว่าประเทศสยาม หลายคนอาจจะยังไม่เกิด แล้วก็พอถึงวันดีคืนดีผู้มีอำนาจในบ้านเมืองก็เห็นว่าควรจะเปลี่ยน มันถึงจะเหมาะสม ก็เปลี่ยนเป็นประเทศไทย เดี๋ยวนี้ก็เรียกว่าประเทศไทย มันทำไมถึงเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย แล้ววันหนึ่งก็อาจจะเปลี่ยนอีกก็ได้ เราก็ไม่รู้ นี่คือความสมมุติ ที่เรียกว่า สมมุติสัจจะ แต่มนุษย์เราติดกันอยู่ในสมมุติ ทีแรกๆนี่ผู้หญิงกับผู้ชายพบกันก็เหมือนคนแปลกหน้ากัน ใช่ไหมคะ ไม่ได้รู้สึกมีอะไรต่อกัน จะไปเป็นตายร้ายดีก็ไม่สนใจ แต่เผอิญเหตุปัจจัยอำนวยให้วันหนึ่งได้มาใกล้ชิดกัน สนิทสนมคุ้นเคย พูดจากันไป ถูกอัธยาศัย รสนิยมอย่างเดียวกัน ความแปลกหน้าก็กลายเป็นความสนิทสนม ความสนิทสนมมากๆเข้าก็เปลี่ยนเป็นความรัก แทนที่จะเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน ตอนนี้เปลี่ยนเรียกชื่อว่าอะไรแล้ว “คู่รักกัน” ใช่ไหมคะ พอ “คู่รักกัน” ก็ตกลงว่าวันหนึ่งเราก็ควรจะร่วมชีวิตกัน ก็แต่งงานกัน ผู้หญิงก็เรียกว่าอะไร “ภรรยา” ผู้ชายก็ “สามี” แล้ววันดีคืนดี ที่ว่า แหม อะไรๆก็รสนิยมอันเดียวกัน ทัศนะเดียวกัน เห็นอะไรเหมือนกัน มันจืดจางหมด พออยู่ไปสักห้าเดือนหกเดือนด้วยซ้ำ ไม่ทันนานสักเท่าไรเลย มันอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันมีแต่ทะเลาะวิวาทกันทุกวันๆ แยกกันอยู่ดีกว่า พอแยกกันไปคนละทาง เป็นอะไรกันแล้ว เป็นคนแปลกหน้าต่อกันแล้ว ใช่ไหมคะ ยิ่งกว่านั้น กลายเป็นศัตรูกันก็มี คอยจ้องทำลายล้างซึ่งกันและกันก็มี นี่ตามสมมุติใช่ไหม พออยู่ด้วยกันก็สมมุติว่าเป็นสามีภรรยา แต่พอแยกจากกัน กลายเป็นคนแปลกหน้า หรือพอมีลูกเข้า ก็คือมีเด็กเกิดขึ้นมา จากเหตุปัจจัยที่อยู่ด้วยกันตามธรรมชาติของผู้หญิงผู้ชาย ก็เรียกเด็กนั้นว่าเป็น “ลูก” แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นว่านี่ต้องเป็นลูกของเรา แต่ความที่จะเป็นลูกหรือเป็นพ่อเป็นแม่ที่แท้จริง มันอยู่ที่การทำหน้าที่ แต่ก็ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นลูกของเรา ถ้าอะไรๆก็ต้องลูกของเราก่อน แต่ถ้าวันหนึ่งลูกทำไม่ถูกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมมุติว่าแม่ตาย พ่อมีผู้หญิงใหม่ ลูกไม่สามารถจะรับผู้หญิงใหม่เป็นแม่ได้ ก็ทำอาการเกะกะเกเรให้เป็นที่เดือดร้อน จนพ่อเหลือจะทนทาน เพราะความรักผู้หญิงใหม่มีมากกว่า ก็ใช้วาจาที่อาจจะทำร้ายลูก ลูกออกไปจากบ้าน นั่นก็ไม่ใช่ลูกแล้ว ไปแล้วก็เป็นคนอื่น “ฉันไม่นับแกเป็นลูกอีกต่อไป” นี่คือความจริงตามสมมุติสัจจะ ที่มนุษย์เรายึดกันมาก และก็เชื่อกันมากว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น มันจะเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไม่ได้ แต่ในที่สุดเราก็มองเห็นว่า สิ่งที่เป็นสมมุติสัจจะนั้น มันสามารถจะเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ใช่ไหมคะ
นึกดูในชีวิตเรามีอะไรบ้าง เราเคยนั่งอยู่ในตำแหน่งครูใหญ่ ประเดี๋ยวก็ย้ายพ้นจากครูใหญ่กลายมาเป็นครูน้อยของโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง เคยเป็นผู้อำนวยการ อยู่ไปพอถึงอายุหกสิบ ก็พ้นจากเก้าอี้ผู้อำนวยการ กลายไปเป็นคนธรรมดาเสียแล้ว แม้จะหวนอาลัยเก้าอี้ผู้อำนวยการเพียงใด มันก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ทุกอย่างตามสมมุติสัจจะไม่มีคงที่ ไม่มีแน่ แต่ถ้ามนุษย์ใดยึดมั่นอยู่ในสมมุติสัจจะ มนุษย์นั้นจะต้องทุกข์ จะต้องอยู่กับข้าศึกตลอดเวลา เพราะไปหลงยึดสัจจะที่เป็นเพียงสมมุติ มันก็ต้องตกอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ คือมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทนอยู่ไม่ได้ คือทนได้ยาก นอกจากนั้น ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คือไม่ใช่สิ่งจริง
ฉะนั้นเมื่อจะพูดถึง “อริยสัจ” ก็อยากจะขอแนะนำให้รู้จักเรื่องของสัจจะโดยสมมุติที่มนุษย์เรามักจะยึดมั่นถือมั่นกัน ตราบใดที่ยึดมั่นถือมั่นสมมุติสัจจะ จะต้องตกอยู่ในความทุกข์ จนวันหนึ่งเรียนรู้ถึงสัจจะอีกอย่างหนึ่ง คือสัจจะที่ชื่อว่า “ปรมัตถสัจจะ” ปรมัตถสัจจะ ก็คือสัจจะอันสูงสุด สัจจะของธรรมชาติที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง อย่างที่เราเคยพูดกันแล้ว ความจริงของธรรมชาตินั่นก็คือ กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา อริยสัจ 4 นี่ก็เป็นความจริงของธรรมชาติ เมื่อใดที่เราหันมาศึกษาเรื่องของปรมัตถสัจจะจนประจักษ์แจ้ง ก็จะค่อยๆคลายจากความยึดมั่นถือมั่นในสมมุติสัจจะ แล้วจิตนั้นก็จะค่อยๆ ถอยห่างออกจากความทุกข์มากขึ้น