แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
และอันที่จริงแล้วสัจจะไม่ใช่สำคัญแต่เพียงในเรื่องของชีวิตคู่ มันสำคัญในการที่มนุษย์จะดำรงค์ชีวิตอยู่ต่อกัน ท่านที่สนใจในท่านมหาตมะคานธี ก็คงจะได้ยินคำขวัญต่าง ๆ ที่ท่านกล่าวไว้ที่เป็นอุดมคติประจำใจมีมากมาย แต่คำที่เกี่ยวกับสัจจะท่านได้พูดเอาไว้ว่า สัจจะนี่แหละคือพระเจ้าของข้าพเจ้า และก็มีประโยคต่อไปอีกว่าถ้าหากว่ามนุษย์ปราศจากพระเจ้าเช่นนี้แล้วมนุษย์ย่อมจะสูญพันธ์เป็นแน่นอน นี่ก็เนื่องมาจากประโยคที่แล้วที่ว่าสัจจะเป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า เพราะฉะนั้นแล้วถ้ามนุษย์ไม่มีพระเจ้าอยู่ในใจมนุษย์ย่อมสูญพันธ์ นั่นก็คือแสดงถึงว่าถ้าเป็นมนุษย์แล้วปราศจากสัจจะนั่นหาใช่มนุษย์ไม่ แล้วลองมองไปรอบ ๆ ในสังคมทุกวันนี้เป็นอย่างไร เขาทำกับสัจจะอย่างไร เขาดึงเอาสัจจะมาเล่นมาขยี้มาเตะมากระทืบจนกระทั่งสัจจะไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นคนหนุ่มคนสาวหรือเด็ก ๆ ของเรานี่น่าสงสารมาก เขาไม่รู้จะหันไปทางไหนที่จะหาว่าอะไรคือตัวอย่างที่เขาจะยึดถือเป็นตัวอย่างได้ อะไรคือสัจจะ อะไรคือสิ่งที่ไม่ใช่สัจจะ เพราะฉะนั้นสัจจะนี่จึงเป็นคุณธรรมอันประเสริฐสูงสุดของความเป็นมนุษย์ เป็นข้อแรกของฆราวาสธรรม 4 ฆราวาสก็คือผู้ครองเรือน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านก็เรียกว่าเป็นคุณธรรม 4 ประการที่ท่านได้กล่าวไว้ในพระบรมราโชวาสซึ่งพระราชทานเมื่อไหร่ดิฉันก็จำไม่ได้คือในโอกาสไหนจำไม่ได้แต่นานมาแล้วหลายปี
นี่คือคุณธรรม 4 ประการ ข้อแรกคือสัจจะที่ได้ให้ไว้ซึ่งแน่นอนมันต้องเป็นสิ่งที่ดีงามที่ให้ไว้ที่ควรรักษา แต่มันก็รักษายากรักษาไม่ค่อยได้ มันจึงต้องตามด้วยทมะ ทมะคือความข่มใจ ข่มใจที่จะบังคับใจให้สามารถรักษาสัจจะนั้นไว้ให้ได้ นั่นก็คือถ้าหากว่าจะมีอุปสรรคอันใดที่จะมาเป็นเครื่องบั่นทอนทำลายไม่ให้สามารถรักษาสัจจะนั้นไว้ได้ ก็จะพยายามฟันฝ่ากัดฟันไม่ยอมแพ้ไม่ยอมให้อุปสรรคนั้นมามีอิทธิพลมีอำนาจเหนือ นี่คือทมะ จะเจ็บปวดขมขื่นลำบากลำเค็ญเพียงใดไม่ยอมแพ้ ต้องข่มจนได้ต้องเอาชนะจนได้เพื่อรักษาสัจจะไว้ให้ได้ ต่อจากทมะก็คือขันติ ความอดทนอดกลั้น อดทนนั่นก็มักจะหมายถึงอดทนทางกาย อดทนต่อความลำบากเหนื่อยยากทุกอย่างทุกประการในภาระที่ต้องรับผิดชอบ อดกลั้นก็คืออดกลั้นต่ออารมณ์ต่อสิ่งที่มากระทบที่ยั่วยวน พูดง่าย ๆ ก็คืออดกลั้นต่อผัสสะนั่นเอง ไม่ว่าผัสสะใด ๆ ที่จะมากระทบมายั่วยวน พยายามที่จะอดกลั้นต่อผัสสะนั้นไม่หลงไหลไปตามมัน ไม่ยอมให้มันยื้อยุดเอาไปได้ จะทำด้วยวิธีไหนก็โดยการที่ปฏิบัติในทางจิตนั่นแหละ ให้มีสติสมาธิปัญญาเป็นพลังที่จะต่อต้านความยั่วยวนทั้งหลายที่จะมายื้อยุดให้เป็นไปตามนั้น และข้อสุดท้ายก็คือจาคะที่แปลว่าบริจาค จาคะก็คือการให้ซึ่งคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าการให้ก็คือหมายถึงการให้ทาน และก็เล็งไปถึงการให้ทานทางวัตถุเช่น ให้เงินทองสิ่งของเครื่องใช้อาหารการกินที่อยู่อะไรอย่างนี้ นั่นก็ไม่สำคัญ จาคะในฆราวาสธรรม 4 นี้ ท่านเล็งถึงจาคะข้างใน อย่างที่เคยพูดแล้วคือจาคะอะไรคะ จำได้ไหม ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นแหละ ถ้าไม่จาคะความโลภจะรักษาสัจจะไว้ไม่ได้ โลภอยากได้ใหม่ นี่มันของเก่าเสียแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าไม่จาคะความโลภออกไปจะรักษาสัจจะไม่ได้ ถ้าไม่จาคะความโกรธออกไปมันก็ต้องปะทะกันเบียดเบียนกัน เรียกว่าส่อเสียด เสียดแทงซึ่งกันและกัน หาเรื่องที่จะกระแทกให้ชอกช้ำเจ็บใจซึ่งกันและกันไม่เว้นแต่ละวัน จาคะความโลภ จาคะความโกรธ จาคะความหลง ความหลงที่อยู่ในอารมณ์ของนิวรณ์ทั้ง 3 โดยเฉพาะวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย จาคะมันออกไปเพื่อจะให้สามารถรักษาสัจจะเอาไว้ได้ ในฆราวาสธรรม 4 นี้นะคะก็บอกได้ว่า 3 ข้อหลังนั้นมีมาไว้เพื่ออะไร เพื่อส่งเสริมให้จิตนั้นเกิดพลังที่จะสามารถรักษาสัจจะไว้ได้ ฉะนั้นถ้าผู้ใดค่อย ๆ ฝึกใจให้สามารถจาคะความโลภ ไม่โลภหรือลดความโลภลงทีละน้อย จาคะความโกรธ จาคะความหลง จิตนั้นก็เย็นลง ก็ทำให้เป็นผู้ที่สามารถจะมองเห็นอะไรว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่แก้ไขให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็นไม่ใช่ทอดทิ้งให้มันเป็น ฉะนั้นสำหรับคุณธรรมของผู้ที่ครองชีวิตคู่ก็จงระลึกถึงฆราวาสธรรม 4 ประการ หรือพระบรมราโชวาส 4 ประการ เอาไว้เป็นหลักประจำใจก็จะเป็นสิ่งเตือนสติเมื่อเวลาเกิดพลั้งพลาดหรือว่าไม่สามารถรักษาใจเอาไว้ได้ให้อยู่ตามปณิธานที่ได้เคยมีไว้ร่วมกัน นี่ก็เป็นแต่เพียงตัวอย่างของการที่จะนำสัปปุริสธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน และก็เลือกเอาเรื่องของคู่ครองมาเป็นตัวอย่าง ก็ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งแต่ว่าเชิญพักเสียก่อน สักสิบนาทีนะคะ
ต้องรู้ทั้ง 7 ข้อ แล้วก็เมื่อทั้ง 7 ข้อนี้มันพร้อมคือหมายความว่า เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ประชุมชน บุคคล มันพร้อมมันเหมาะเจาะมันประสานเข้ากันดี และลงมือทำตามนั้นผลย่อมจะดีเต็มที่ ไม่ใช่ว่าอันนั้นดีอันนี้ไม่ดีแล้วก็ลงมือทำ เราก็ต้องค่อย ๆ ดูว่า ถ้าเผอิญมีสิ่งใดมันหย่อนคือข้อใดข้อหนึ่งในหย่อนไป เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ประชุมชน บุคคล แต่ถ้าจะว่าแล้วจะเห็นว่าทั้ง 7 ข้อนี้ ไม่มีข้ออะไรที่เป็นข้อเล็ก ๆ ข้อปลีกย่อยที่ควรจะทอดทิ้งเลย มันเป็นข้อที่เป็นหลักสำคัญทั้งนั้น ท่านจึงบอกว่าเป็นคุณธรรมของบัณฑิตหรือของสัตบุรุษ คือสัปปุริสธรรมเป็นคุณธรรมของบัณฑิต ก็คือผู้ที่จะทำอะไรแล้วต้องการให้มันเรียบร้อยราบรื่นสัมฤทธิ์ผลจะดูทั้ง 7 ข้อนี้ จนกระทั่งมันสอดคล้องประสานกลมกลืนกัน ลงมือทำผลนั้นก็จะได้ผลอย่างเป็นที่พอใจนะคะ ทีนี้ถ้าหากว่าข้อใดข้อหนึ่งมันยังหย่อนอยู่ ถ้ารอได้ก็ควรจะพยายามรอไว้ก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทอดทิ้งที่พยายามกระทำข้ออื่น คือหมายความว่าทำงานเอาไว้เป็นการบ้านสำหรับข้ออื่น พอข้อนี้มันจังหวะเหมาะคือโอกาสมันให้พร้อมกันก็จะได้ทำรวมกันทีเดียว สัปปุริสธรรม 7 ต้องศึกษาทั้ง 7 ข้อ และพอมันสอดคล้องประสานกลมกลืนแล้วจึงลงมือทำ