แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ข้อที่ 4 ก็คือ มัตตัญญู คือความเป็นผู้รู้จักอัตรา อัตรานะคะ ไม่ใช่อัตตา ความเป็นผู้รู้จักอัตราที่ถูกต้องพอดีแห่งกรณีนั้นๆที่ตนจะต้องเกี่ยวข้อง ซึ่งคำว่าความพอดีมันก็เป็นปัญหาที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องหรือชัดเจนว่า พอดีนั้นคืออะไร ฉะนั้นเพื่อให้การตัดสินความพอดีนั้นเป็นรูปธรรมมากขึ้นก็หมายถึง ความพอเหมาะพอดีที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา กระทำไปแล้วมันไม่เกิดปัญหา มันเกิดประโยชน์ ปัญหาก็เช่น การโต้เถียงขัดแย้งโดยไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น การต่อต้านหรือความผิดพลาดสูญเสียที่ไม่จำเป็นจะต้องเกิดชึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นมันจะต้องเกินไปในทางใดทางหนึ่งหรือมิฉะนั้นก็ขาดไปทางใดทางหนึ่ง มันจีงมีปัญหาตามมา ซึ่งข้อนี้การที่บุคคลผู้ใดจะสามารถมีมัตตัญญูคือรู้จักความถูกต้องพอดีเรียกว่าพอประมาณได้นั้นยากมากเลยนะคะ ต้องอาศัยประสบการณ์อย่างหนึ่ง อาศัยความรอบคอบด้วยสติ สมาธิ ปัญญา จึงจะชวนให้เกิดความไม่ประมาท ระมัดระวัง ฉะนั้น มัตตัญญูก็หมายถึงความพอเหมาะพอดีที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา เมื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งนั้นย่อมอยู่ในหนทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง และมัชฌิมาปฏิปทานี้ย่อมมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ ทำไมจึงเน้นว่ามีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ ท่านทั้งหลายก็นึกออกนะคะว่า เมื่อใดมีมิจฉาทิฏฐิเป็นตัวนำ มันจะเอาอะไรเป็นที่ตั้งคะ เอาอะไรเป็นที่ตั้ง ตัวเอง อัตตา เอาอัตตาตัวเองเป็นที่ตั้ง เมื่อใดมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำนั่นก็คือเอาเรื่องของงานเหตุที่จะทำเป็นที่ตั้ง และก็เอาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเป็นที่ตั้ง ดึงตัวออกมาซะได้จากที่นั้นก็จะใช้แต่สติปัญญา สติปัญญามีเท่าใดก็ใส่ลงไปทุ่มเทลงไป การกระทำนั้นก็เชื่อว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา หรือถ้าเผอิญจะมีปัญหามันก็จะน้อยที่สุด ฉะนั้นที่ว่ามีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำก็เพื่อที่จะขจัดกิเลส ตัณหา อุปาทานที่มันมักจะมีอยู่ตามสัญชาตญาณของมนุษย์หรือธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่ให้มาเป็นสิ่งถ่วง ถ่วงอะไร ถ่วงความถูกต้องพอดี ไม่ให้สามารถจะทำอะไรให้ถูกต้องพอดีอย่างเป็นกลางเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นที่เราพูดเน้นกันหลายสิบครั้งเรื่องความสามารถหรือความพยายามที่จะกระทำการตามหน้าที่อย่างถูกต้องโดยธรรมก็เพื่อให้มันเกิดมัตตัญญูเนี่ยล่ะค่ะ ถ้าเราหมั่นกระทำโดยไม่มีตัวผู้กระทำได้มากเท่าใด ความเป็นมัตตัญญูก็จะค่อยๆเกิดมากขึ้นนเท่านั้น คือความรู้จักประมาณอย่างถูกต้องพอดีจะค่อยๆเกิดขึ้นมากเท่านั้น
ข้อที่ 5 กาลัญญู ก็คือความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาที่เหมาะสมแก่กรณีนั้นๆ ตามที่ตนจะต้องเกี่ยวข้อง เหมือนอย่างจำเป็นจะตัองไปหาผู้ใหญ่จะเป็นใครก็แล้วแต่ก็ย่อมหลีกเลี่ยงที่จะไม่ไปในเวลาที่รู้ว่าเขาจะต้องรับประทานอาหาร เขาจะต้องพักผ่อน เขาเพิ่งจะกลับมาจากงานเหนื่อยๆ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าต้องไปเวลากินเนี่ยแหละดีเพราะหนีไปไหนไม่พ้น ยังไงก็ต้องนั่งกินเพราะงั้นไปเวลานี้แหละดี นั่นคือความไม่เป็นผู้มีกาลัญญู เพราะกำลังกินเขาไม่อยากต้อนรับไม่ใช่หวงกินหรอก แต่มันทำให้การกินเขาระส่ำระสาย เพราะฉะนั้นกาลัญญูคือความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาที่เหมาะสม หรือจะจัดการงานก็ต้องดูดินฟ้าอากาศให้มันเหมาะสม อย่างเช่นจะจัดงานกุศลอะไรอย่างนี้เป็นต้น ก็หมายถึงความเป็นผู้รู้จักกาลเทศะ ถ้าจะอธิบายกาลัญญูอีกก็คือ ความเป็นผู้รู้จักกาละ-เวลา เทศะ-สถานที่ รู้จักทั้งเวลาทั้งสถานที่อย่างถูกต้องพอดี รู้จักจังหวะ รู้จักโอกาสที่สมควร ถ้าการติดต่อทั้งหลายนั้นจับจังหวะโอกาสเวลาสถานที่อย่างพอเหมาะพอเจาะ การติดต่อนั้นก็ย่อมราบรื่นและก็ได้ผลสมประสงค์ เพราะอยู่ในความสบายด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ข้อที่ 6 ปริสัญญู คือ ความเป็นผู้รู้สิ่งที่ควรรู้ทุกแง่มุมของสังคมหรือชุมชน หรือประชุมชนที่ตนต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง พูดง่ายๆก็คือว่าเมื่อจะไปเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก คือต้องทำงานเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากก็ต้องรู้จักประชุมชนหรือว่าสังคมนั้นอย่างดีว่า มีกี่กลุ่ม มีกี่ชมรม หรือมีกี่แก๊งค์ในชุมชนนี้ในสังคมนี้ เป็นต้น และการที่จะรู้จักประชุมชนก็เลือกดูว่าแง่มุมใดบ้างที่เราควรจะศึกษาทำความรู้จัก เช่น ความสนใจ ชุมชนนี้ กลุ่มนึ้เขาสนใจอะไร มีสักห้ากลุ่มหรือห้าชมรม แต่ละชมรมมีความสนใจเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ท่าทีของแต่ละกลุ่มต่อเหตุการณ์คือต่อเรื่องที่เรากำลังจะต้องมาทำมาเกี่ยวข้อง เขามีท่าทีมีทัศนคติคือความรู้สึกคิดเห็นอย่างไร ต้องดูให้ละเอียด แต่ละกลุ่มแต่ละชมรมนั้นมีอุดมการณ์อย่างไร อุดมการณ์แต่ละกลุ่มแต่ละชมรม อุดมการณ์อย่างชนิดที่มีคุณธรรม หรืออุดมการณ์เอาอำนาจเข้าว่า เอากำลังเข้าว่า หรืออุดมการณ์ว่าถ้าพวกฉันเป็นต้องถูกเสมอ ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ก็ดูและศึกษา ตลอดจนปัญหาของชมรมนั้นของกลุ่มนั้นมีอะไรเป็นปัญหาหลัก มีอะไรเป็นปัญหารอง ตลอดไปถึงวิธีแก้ปัญหา พอปัญหาเกิดขึ้น เขาแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้นว่า เขาแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง หรือแก้ปัญหาด้วยความอะลุ่มอะล่วย หรือว่าแก้ปัญหาแบบถอย หรือว่าแบบตั้งรับ หรือว่าแบบเดินหน้าชน อย่างนี้เป็นต้น หรือแก้ปัญหาด้วยคุณธรรม เขาเอาอะไรเข้ามาแก้ปัญหา เอาคุณธรรมเข้ามาแก้ปัญหา หรือเอาเงินเข้ามาแก้ปัญหา หรือเอาอำนาจเข้ามาแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราได้รู้จักสังคมหรือชุมชนนั้นชัดเจนขึ้น และการที่จะเข้าไปติดต่อก็จะมีทางหนีทีไล่ที่เหมาะสมแก่สถานการณ์ และก็ควรจะรู้จักตลอดไปจนกระทั่งถึงอายุ กลุ่มอายุของคนในกลุ่มนี้เฉลี่ยเท่าไร เพศใดมาก ระดับการศึกษาระดับไหน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี พื้นฐานทางคุณธรรมหรือจริยธรรม แล้วก็ต้องดูซ้ำว่าความเป็นไปได้ในการที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ที่ชุมชนนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด หรือบางทีอะไรอย่างอื่นมันก็ดูดี แต่ความเป็นไปได้นี่มองหาทางยาก ก็แสดงว่ากาลัญญูก็ยังไม่พร้อม จำต้องรอไว้ก่อน นี่คือปริสัญญู
ข้อที่ 7 คือข้อสุดท้าย ปุคคลปโรปรัญญู นั่นก็คือความเป็นผู้รู้สิ่งควรรู้เกี่ยวกับบุคคลแต่ละคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ในข้อ 6 นั้น รู้ประชุมชนกลุ่มชนที่ต้องไปเกี่ยวข้อง ที่นี้เจาะลึกลงไปอีกถึงบุคคลแต่ละคนที่เป็นแกนนำ เป็นหัวหน้า เป็นตัวจักรสำคัญของชุมขนนั้น เป็นต้น หรือเป็นตัวถ่วงของชุมชนนั้น เป็นตัวปัญหาของชุมชนนั้น ศึกษาลงไป รู้จักให้ละเอียดละออในทุกแง่มุมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แง่มุมที่ควรต้องรู้จักก็ในลักษณะเดียวกับข้อ 6 คือการรู้จักประชุมชนอย่างไรก็เอามาศึกษาในแง่ของบุคคล แล้วก็อาจจะเพิ่มเติมเช่น คนนี้มีรสนิยมอะไรเป็นพิเศษ มีทัศนคติต่อชีวิตหรืออุดมคติต่อชีวิตอย่างไรบ้างเฉพาะตัวเขา มีอัธยาศัยยังไง หยาบหรือละเอียด หรือกระด้าง หรืออ่อนโยน หรืออหังการ มมังการนี้มาก และความเคยชินที่เป็นกิจวัตรของเขา เขามีความเคยชินเป็นกิจวัตรที่ทำเป็นประจำเช่นอะไร เพื่อว่าการเข้าไปติดต่อก็จะได้สอดคล้องเหมาะเจาะ แม้จะเป็นคนแปลกหน้าไม่เคยพบกัน แต่ถ้าศึกษาอย่างนี้พอเข้าไปติดต่อก็เหมือนกับว่าได้รับความสนิทสนม ความคุ้นเคยมาครึ่งหนึ่งแล้วเพราะจะสามารถประสานต่อสิ่งที่เขามีหรือเขาเป็นได้โดยง่ายขึ้น ฉะนั้นท่านบอกว่าบุคคลใดเมื่อจะประกอบการงานอันใดก็พยายามสร้างสมคุณธรรม คุณสมบัติเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ย่อมสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างปราศจากอุปสรรคทั้งในส่วนตัวและการงาน ทั้งในวิสัยโลกและวิสัยธรรม จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว นี่เป็นเรื่องของสัปปุริสธรรมซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่หรือเป็นคุณธรรมที่บุคคลย่อมจะใช้ทั้งเหตุผลแล้วก็ความมีน้ำใจ บางคนเขาชอบเรียกว่าเหตุผลกับอารมณ์ แต่เหตุผลกับความมีน้ำใจ ถ้าอารมณ์แล้วก็มันเนื่องด้วยกิเลส ถ้าความมีน้ำใจเป็นเรื่องของคุณธรรม แต่ส่วนเหตุผลมันเป็นเรื่องของการวินิจฉัยในด้านของทางโลกถึงปัจจัยอะไรๆต่างๆ ว่ามันสอดคล้องรับกันส่งเสริมแก่กันและกัน มันเป็นเหตุเป็นผลที่จะช่วยให้การดำเนินงานนั้นไปได้ แต่ในด้านน้ำใจนั้นก็หมายถึงในเรื่องของคุณธรรมที่มีอยู่ นี่ก็พูดถึงสัปปุริสธรรมอย่างชนิดที่เป็นธรรมะกลางๆนะคะ ว่ามันมีอย่างนี้ พอจะทำอะไรเราก็ต้องศึกษาเรื่องเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ประชุมชน บุคคล ท่องง่ายๆ ซึ่งบางท่านอาจจะทราบมาแล้ว ถ้ายังไม่ทราบก็ท่องเอาคำที่จะเป็นตัวคีย์ของมัน เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ประชุมชน บุคคล ส่วนคำที่เป็นบาลีนั้นก็จำเอาตามสมควร