แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีนะคะ
ก็จะขอต่อเรื่องของปฏิจจสมุปบาทที่ค้างอยู่เมื่อวานนี้นะคะ ตามที่ได้ขอให้ไปลองทบทวนเองว่า อะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์เกิด ทบทวนรอบแล้วรึยังคะ ตอบ ตอบตัวเราเองได้ทันทีไหม อะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์เกิด ทั้งจากเหตุไปหาผล ซึ่งท่านเรียกว่าพิจารณาโดยอนุโลมคือจากเหตุไปหาผล แล้วก็พิจารณาจากผลมาหาเหตุคือย้อนกลับขึ้นมา ท่านเรียกว่าปฏิโลม
พิจารณาอย่างปฏิโลม คือจะพิจารณาอย่างไหนก็ได้ ชัดเจนไหมคะ ว่าอะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์เกิด ลองดูนะคะ อะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์ดับ ชัดไหมคะ ชัด ชัดใจในการปฏิบัติของท่านเองหรือเปล่า แล้วตรงจุดของอาการใดเป็นจุดที่เราจะฝึกปฏิบัติ ตอบตัวเองได้ทันทีไหม ตรงไหน จุดอะไรผัสสะ ทีนี้เมื่อดูไปตลอด ที่เราก็รู้ว่าอะไรอาศัยอะไร ฉะนั้นเมื่อพิจารณาปฏิจจสมุปบาทจนจบแล้ว รู้สึกว่าจะสรุปได้ไหมว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งเกิดขึ้นและทั้งดับไป มันเป็นตัวตนหรือมันเป็นกระแส เป็นตัวตนหรือเป็นกระแส
กระแสเป็นเพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ท่านพยายามจะชี้ให้เห็นในลักษณะนี้ เพราะถ้าหากว่ายังมีตัวผู้กระทำอยู่ ที่จะสลัดความยึดมั่นถือมั่นไม่ให้เกิดขึ้นเลย ยากที่จะเป็นไปได้ ฉะนั้นจึงต้องพิจารณา แต่การที่ว่าต้องพิจารณาไม่ได้หมายความว่ามาบังคับหรือว่าสร้างขึ้น เพื่อจะได้ตัดความยึดมั่นถือมั่น แต่นี่เราพิจารณาจากความเป็นจริงของธรรมชาติดังที่ว่าแล้ว ฉะนั้นจากปฏิจจสมุปบาทนี้ ก็เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดทั้งสิ้นของสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มันเป็นเพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัยของกฎอิทัปปัจจยตา แล้วแต่ว่ามันจะเริ่มต้นด้วยอะไร
ถ้ามันเริ่มต้นด้วยอวิชชา ผลก็คือทุกข์ ถ้าเริ่มต้นด้วยวิชชา ผลก็คือสันติสุขที่จะเกิดขึ้นในจิตส่วนบุคคล แล้วก็สันติสุขภายในใจนั้นก็ยังจะเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลอีกด้วย
แล้วถ้าจะดูไปอีกที เราพูดว่าในพุทธศาสนานั้นจะมี 3 ขั้นตอนของการเรียนรู้และก็ศึกษาปฏิบัติ นั่นก็คือ มีปริยัติ มีปฏิบัติ มีปฏิเวธ มองเห็นไหมคะในปฏิจจสมุปบาท
ปริยัติก็คือการศึกษาเรื่องของความทุกข์ ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันมาจากอะไร แล้วก็ความทุกข์นี้เกิดได้อย่างไรแล้วก็จะดับไปได้อย่างไร ทราบไหมคะ คิดว่ามีความรู้เพียงพอรึยังคะ ความทุกข์เกิดนี้ได้อย่างไรแล้วก็ดับได้อย่างไร ถ้าหากว่ารู้เพียงพอเข้าใจแล้วนั่นคือปริยัติแล้ว
มีปริยัติแล้ว ทีนี้ปริยัติเฉยๆ ไม่พอ ต้องพิสูจน์ พิสูจน์ว่าปริยัติที่ได้เรียนรู้มาแล้วนั้นคืออะไรอย่างไร ฉะนั้นก็ต้องทดลองปฏิบัติ นำมาปฏิบัติดูให้เห็นจริงด้วยตัวเอง นั่นก็คือปฏิบัติที่จุดของผัสสะ เพื่อเสริมสร้างวิชชา คือ ช 2 ตัว ให้เกิดขึ้นมาก เพื่อประจักษ์อันเกิดจากการประจักษ์แจ้งในสัจธรรม และวิชชานั้นก็จะค่อยๆ ผลักอวิชชาให้ออกไปทีละน้อย ละน้อย ละน้อยโดยอัตโนมัติ เหมือนกับความสว่างที่สาดเข้าไปในความมืด ความมืดนั้นก็ต้องหายไป ความสว่างจะเพิ่มขึ้น
และจากการปฏิบัตินี้เอง ปฏิเวธคือผลของการปฏิบัติที่จะประจักษ์แจ้งเห็นด้วยใจตนก็จะเกิดตามมาโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นในปฏิจจสมุปบาทมีพร้อม ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ท่านจึงบอกว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เป็นหัวใจที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จากการทรงคิดค้นจากธรรมชาติที่พระองค์ประสบด้วยพระองค์เอง
นอกจากนี้มีอริยสัจ 4 อยู่ในปฏิจจสมุปบาทไหมคะ อริยสัจ 4 ก็คือเรื่องของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แล้วก็ความดับทุกข์ คือนิโรธที่จะต้องทำให้แจ้ง และก็ทางที่จะเดินเพื่อไปให้ถึงความดับทุกข์ มีไหมคะ มีพร้อมอยู่ในนี้ว่าทุกข์คืออะไร ทุกข์เกิดจากอะไร ความดับทุกข์เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้แจ้ง แล้วก็ทำให้แจ้ง ทำให้เกิดขึ้น ฉะนั้นบางทีจึงมีการเรียกปฏิจจสมุปบาทว่าอริยสัจใหญ่ การปฏิบัติอานาปานสติอย่างสม่ำเสมอ
พูดได้ว่าจะสามารถควบคุมกระแสของปฏิจจสมุปบาทได้ ควบคุมกระแสของปฏิจจสมุปบาทก็คือกระแสของความทุกข์ไม่ให้เกิดขึ้นจากที่ได้ทราบแล้วว่า ถ้าเราปฏิบัติจริงตามลำดับตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 16 ก็สามารถที่จะขับไล่ความทุกข์ให้หมดไป เพราะอวิชชาจะค่อยๆ จางหายไป วิชชาความฉลาดปัญญาจะค่อยๆ เกิดขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นลดลง จนผลที่สุดก็สลัดได้สิ้นเชิงโดยไม่ต้องสลัด มันออกไปเอง ออกไปเองเพราะความประจักษ์ชัดในสิ่งที่เป็นสัจธรรมของธรรมชาติ ฉะนั้นการศึกษาปฏิจจสมุปบาทจึงต้องรู้ทั้งฝ่ายสมุทยวารคือฝ่ายเกิดทุกข์ และฝ่ายนิโรธวารคือฝ่ายดับทุกข์ ให้ชัดเจนทั้ง 2 อย่าง
ทีนี้ก็มีคำบอกว่า คำขอบอกว่า ขอให้ช่วยอธิบายปฏิจจสมุปบาทเพิ่ม โดยเฉพาะรูปยักษ์ รูปเสือ วงกลมรอบนอกรอบใน หมายถึงอะไรนะคะ ก็ตั้งใจจะอธิบายอยู่เหมือนกัน ทีนี้ที่บอกว่า เป็นรูปเสือรูปอะไรนี่นะคะ ก่อนอื่นก็ลองมองดูเจ้าตัวยักษ์ตัวนั้น ที่ปากมันคาบ มือมันจับ เข่ามันหนีบ ข้อเท้ามันหนีบนี่ ถ้าเราจะตั้งชื่อเจ้าตัวนี้ เราจะบอกได้ไหมว่านี่คืออะไร จะเรียกมันว่าอะไร ก็ลองมองดู ดูส่วนต่างๆ ของร่างกายเท่าที่สามารถเห็นได้ ดูหางเป็นหางอะไร หางเสือ ดูขา ขาเท้าเป็นอะไร เหมือนอะไรคะ ภาพนี้อาจจะเห็นชัดกว่าเหมือนอะไร ขาเท้าเหมือนอะไร เป็นขาเสือใช่ไหมคะ ไม่ใช่ เหมือนอะไรคะ สิงโต เหมือนขาสิงห์ คือสิงโต ใช่ไหมคะ มองดูเล็บ เป็นเล็บเสือใช่ไหม แหลมๆ อย่างงั้นเล็บอะไรคะ สัตว์อย่างไหนคะ สัตว์อะไรที่มีเล็บอย่างนั้น เล็บหมีใช่ไหม คือมันอาจจะ ผู้เขียนอาจจะไม่เหมือนทีเดียว
แต่ถ้าเรามองก็จะเห็นว่ามันจะคล้ายเล็บหมีมากกว่าอย่างอื่น มองดูจมูกสิคะ จมูกเสือใช่ไหม จมูกสิงห์ใช่ไหม จมูกเหมือนอะไรคะ จมูกหมูก็ได้จมูกวัวก็ได้ แต่จะเป็นหมูหรือวัวก็ตาม แน่นอนไม่ใช่วัวบ้านไม่ใช่หมูบ้าน มันจะต้องเป็นวัวป่าเป็นหมูป่า มันถึงจะอยู่ปนกันกับพวกสิงสาราสัตว์อื่น และดูลูกในตาสิคะเหมือนอะไร ตาคนไหม ตาเสือไหม ไม่เป็น ถ้าพูดง่ายๆ เหมือนตายักษ์เพราะมันถลนโปน ทำท่าโปนออกมาอย่างนั้น สรุปแล้วก็พูดได้ว่าเจ้าตัวนี้เป็นเสือใช่ไหม เป็นสิงห์ใช่ไหม เป็นหมีใช่ไหม เป็นหมูใช่ไหม เป็นวัวเป็นยักษ์ใช่ไหม เราจะเรียกมันอย่างชัดเจนอย่างเดียวได้ไหมคะ ไม่ได้ มันอาจจะเป็นเสือก็ได้ อาจจะเป็นสิงโตก็ได้ อาจจะเป็นเป็นหมี เป็นวัวป่าหมูป่า เป็นยักษ์ก็ได้ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นสัตว์ที่เป็นยังไง ล้วนแล้วแต่ดุร้ายทั้งสิ้น เห็นไหมคะ ดุร้ายทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นการที่ผู้เขียนเขาเขียนให้เจ้าตัวนี้ซึ่งเขาหมายถึงอวิชชา แต่ดิฉันชอบเรียกเจ้าตัวอัตตา คือพอมันโผล่ออกมาแล้ว อัตตาที่โผล่ออกมานั้นมันน่าเกลียดน่ากลัวอย่างยิ่ง มันมีอันตรายที่จะเบียดเบียน แล้วก็นึกแต่ว่าจะเบียดเบียดคนอื่น แต่อันที่จริงก่อนที่จะเบียดเบียนคนอื่นเบียดเบียนตัวเองก่อนจริงไหมคะ เบียดเบียนตัวเองก่อนใช่ไหมคะ เพราะต้องคิด ครุ่นคิด จะหาวิธีจะเบียดเบียนคนอื่นเขาอย่างไร นั่นแหละคือการเบียดเบียนตัวเองก่อนแล้ว ก่อนที่จะไปทำคนอื่น มันมีความดุร้ายมันมีความน่ากลัว มันมีความน่าเกลียดมากสารพัน เขาจึงเขียนรูปมันเป็นในลักษณะของสัตว์ป่าที่ล้วนแล้วแต่น่ากลัวทั้งนั้น ฉะนั้นภาพอันนี้ก็มีบอกอย่างนั้นนะคะ ส่วนภาพเขา มันก็เหมือนกับเมื่อมีอัตตาเกิดขึ้น มันมีการที่เขาเรียกว่ายกหู ชูหาง เย่อหยิ่ง ทรนง และก็ยึดมั่นถือมั่นในศักดิ์ศรีในความเป็นตัวตน ลดไม่ได้ ยอมไม่ได้ มันสรุปแล้วรวมความว่า พออัตตาเกิดขึ้น มันพร้อมที่จะชน ชนกระแทกทุกรูปแบบ เพราะความหลงใหลในความเป็นตัวตน ถ้าไม่ยอมก็กลัวว่าจะเสียศักดิ์ศรี เพราะฉะนั้นจึงพร้อมที่จะชน ไม่ว่าชนผิดชนถูก ชนทั้งนั้น ทีนี้ดูภาพ ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรจะสังวรว่าทำไมเราจึงควรที่จะคิดลดละความยึดมั่นถือมันในอัตตา เพราะมันทำให้ความน่ารักเป็นน่าเกลียด ความสวยงามเป็นความน่าเกลียด ความดีก็กลายเป็นความไม่ดีทันที
ทำดีมามากมายแต่พออัตตาออกมาเท่านั้น มันทำลายความดีไปหมดเลย
เพราะคนเราอยู่กันด้วยปัจจุบัน ถือปัจจุบันที่เกิดขึ้น และก็มักจะไหลไปในการที่จะเห็นความดีของคนอื่นนั้นได้ยากกว่าที่จะเห็นความชั่วของเขา เพราะฉะนั้นพอทำอะไรไม่ดีเข้าหน่อยมันมักจะลบความดีที่คนอื่นไป แต่ถ้าเกี่ยวกับตัวเองละก็ มองเห็นความดีของตัวเองมากกว่าความชั่วของตัวเอง นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ผู้เขียนเขาจึงเขียนรูปให้ดูอย่างนั้น นี่ก็คือลักษณะของความเป็นไปในปฏิจจสมุปบาทนะคะ ที่เราจะต้องศึกษาเพื่อรู้ว่าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และถ้าจะดับทุกข์นั้นจะดับได้อย่างไร ทีนี้ภาพภายใน ภายในก็จะเห็นว่ามันมี 2 รอบ คือรอบที่เป็นอาการอยู่รอบนอกนะคะ และรอบภายในก็คือรอบที่ 2 ที่เป็นช่องใหญ่ๆ นั่นนะ ช่องใหญ่ๆ ก็จะเท่ากับว่าผู้เขียนตั้งใจจะแสดงภูมิ ภูมิทั้ง 4 คือ ภูมิเปรต ภูมินรก ภูมิสัตว์เดรัจฉาน ภูมิอสูรกาย แล้วก็มีภูมิของโลกมนุษย์ โลกมนุษย์อยู่ทางขวามือด้านบน แล้วก็สวรรค์อยู่ทางซ้ายมือด้านบน ทั้งหมดเขาเขียน 5 ช่องด้วยกัน ผู้เขียนเอาภูมิของอสูรกายกับสัตว์เดรัจฉานไปไว้ด้วยกัน