แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีความอยากตัณหากี่อย่าง ลองใคร่ครวญนึกดู ความรู้ที่ได้รู้เกี่ยวกับเรื่องของตัณหา กามตัณหา อยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส สิ่งที่พอใจ ตลอดจนกามารมณ์ ภวตัณหา อยากเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหาเดี๋ยวก็ไม่เอาแล้ว ไม่อยากเป็นแล้ว ที่เป็นอยู่ก็อยากจะหนี ไม่อยากเอา นี่แหละมันก็ดิ้นรนอยู่กับตัณหาสามอย่าง แล้วตัณหาสามอย่างนี่มีแรงอะไรมาผลักดัน นี่เวลาศึกษาธรรมนะ ศึกษาไปให้ตลอด ให้ตลอดสาย แล้วจะเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น อ๋อ.. เพราะมันมีกิเลส มันทำตามความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหานี่ กิเลสมันเข้ามาผลักดัน แล้วก่อนตัณหาจะเกิดน่ะ มันมีอะไรเป็นเหตุ ตัณหามันเกิดได้ยังไง มันมีได้ยังไง เพราะอะไร อ๋อ.. เพราะเวทนานี่เอง พอมีเวทนาเกิดขึ้นในจิต หยุดแค่นั้นไม่ได้ มันจะกระตุ้นเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อ๋อ.. เพราะเวทนา แล้วก็อยู่ดี ๆ เวทนาเกิดขึ้นได้ยังไง
เห็นไหมคะ พอย้อนมาก็จะมาพบ อ๋อ.. ตรงนี้เอง เป็นปัจจัยที่สำคัญ เวทนานี่เองเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ แล้วผัสสะนี่ล่ะ มันมาจากไหน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะมีอายตนะ อายตนะมันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ อย่าลืม มันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ มันไม่ได้บอกจะมาให้ใครยึดมั่นถือมั่นว่า มาตู่ว่าตาของฉัน หูของฉัน ปาก จมูกของฉัน กายใจของฉัน มันไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้น มันมีอยู่ตามธรรมชาติ เพียงเพื่อให้ทำหน้าที่สื่อสาร ให้ได้รับความสะดวกในการติดต่อ ในการดำรงชีวิต เพียงเท่านั้น ก็แล้วทำไมมันถึงมีอายตนะขึ้นมาดูเป็นตัวเป็นตน จนตู่ว่าเป็นของฉัน อ๋อ.. เพราะมันมีนามรูป กายใจที่เป็นชีวิต ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ เป็นเบญจขันธ์ตามธรรมชาติ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าขันธ์ตามธรรมชาติเท่านั้น แล้วมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร นามรูปเป็นตัวเป็นตน จนกระทั่งมีเงาของความยึดมั่นขึ้นมาราง ๆ นี่เป็นเพราะอะไร
อ๋อ.. ก็เพราะมันมีวิญญาณ วิญญาณตามรับรู้ผิด ๆ มันไปรู้ผิด ๆ ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นตัวเป็นตน เป็นนามเป็นรูป มันไม่รู้ ว่าเป็นไปตามธรรมชาติ แล้ววิญญาณตัวรู้ผิด ๆ อันนี้ มันมาจากไหน มันมีขึ้นได้เพราะอะไร เห็นไหมคะ สังขาร นี่แหละตัวสำคัญที่สุดเลย สังขารหยุดคิดไม่ได้ หยุดนึกโน่นนี่ไม่ได้ พอคิดเข้า มันก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ แล้วก็เป็นปัจจัยต่อกันไปตลอดเลย ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ อะไรนะที่ทำให้มันเกิด ความต่อเนื่องกันอย่าง ทำให้ชีวิตนี้ร้อนนัก เป็นทุกข์นัก อะไรคือรากเหง้า อวิชชา อวิชชาคืออะไร ก็คือสภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ไม่ยอมเรียนรู้เรื่องอริยสัจ จะเรียนรู้แต่ความสุข ตามตะครุบความสุข แล้วก็เป็นทุกข์เพราะความสุข เพราะมันสุก ก.ไก่ ไม่ใช่สุข ข.ไข่ ดูไปเรื่อย ๆ แล้วผลที่สุดก็จะเข้าใจอวิชชามากยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ๆ ตามลำดับ นี่ก็คือการดูจากผลมาหาเหตุ
ทีนี้ ศึกษาอีกทาง จากเหตุไปหาผล ซึ่งท่านเรียกว่าศึกษาในแบบอนุโลม คือจากเหตุไปหาผลตามลำดับ ว่า.. ความทุกข์ของมนุษย์ หรืออะไรอาศัยอะไร แล้วทำให้ทุกข์เกิด อะไรอาศัยอะไร แล้วทำให้ทุกข์เกิด ขอจงดูแล้วก็ดูให้ถี่ถ้วนไป อ๋อ.. อวิชชานี่เองเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร นี่ดูอิทัปปัจจยตานะคะ ศึกษาอิทัปปัจจยตาที่มันมีอยู่ในนี้ด้วย ท่านจึงเรียกว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาทปาโท อวิชชาเป็นเหตุคือเป็นปัจจัย ทำให้เกิดสังขาร สังขารเป็นผลใช่ไหมคะ สังขารเป็นผลของอวิชชาใช่ไหม แล้วเสร็จแล้วสังขารที่เป็นผลนี่ มันก็มาเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดวิญญาณนี่ความต่อเนื่องนะคะ วิญญาณเป็นผลของสังขาร แล้ววิญญาณก็มาเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดนามรูป ให้มีนามรูปขึ้นมา นามรูปเป็นผล แล้วนามรูปก็มาเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอายตนะ อายตนะเป็นผลใช่ไหมคะ
นี่ดูปัจจัยที่บอกว่าต่อเนื่องกัน อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อายตนะเป็นผล แต่ตอนนี้ก็มาเป็นเหตุ เหตุปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นผลแล้วก็มาเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นผลแล้วก็มาเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นผลของเวทนา แล้วก็มาเป็นเหตุปัจจัยต่อไปให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นผลก็เป็นเหตุปัจจัยต่อไปอีกให้เกิดภพ ภพเป็นผลของอุปาทาน แล้วก็มาเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดชาติ หรือ ชา-ติ แล้วชาติ หรือ ชา-ติ การเกิดเบ่งบานของความรู้สึกเป็นตัวตนนี่เอง ที่ทำให้ทุกข์ทั้งหลายมารวมกันหมดเลย ที่ใจของตัวฉัน ตัวฉัน ตัวฉัน ตลอดเวลา นี่คือที่ท่านบอกว่า อะไรอาศัยอะไร หรือสิ่งอะไรอาศัยอะไร แล้วทำให้เกิดความทุกข์ มันอาศัยกันมาตามลำดับ ตามลำดับอย่างต่อเนื่องกัน ถึง 11 อาการ แล้วก็สุดท้าย อาการสุดท้ายคือผลที่เกิดขึ้น
ดูให้ดี ๆ ที่นี้ในขณะที่เราพูดนี่นะคะ ก็ไปช้า ๆ ทีละอาการ ทีละอาการ ทีละอาการ ลองย้อนกลับไปดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับเราซิ รู้สึกไหมคะว่ามันมาจากทีละอาการ ทีละอาการ จนกระทั่ง 11 อาการ จึงทุกข์ รู้ไหมคะ ไม่รู้ รู้แต่อะไรคะ ทุกข์แล้ว ทุกข์แล้ว รู้แต่ว่าทุกข์แล้ว ทุกข์แล้ว ร้อนแล้ว เจ็บแล้ว ปวดแล้ว ตื่นเต้น ลิงโลด เหนื่อยแล้ว อึดอัดขัดใจอย่างนี้ รู้แต่สิ่งนี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าอาการของปฏิจจสมุปบาท ที่เกิดขึ้นแต่ละรอบนั้น รวดเร็วเหลือประมาณปานสายฟ้าแลบ สายฟ้าแลบน่ะรู้ไหมคะมาจากไหน ผู้ที่เรียนวิทยาศาสตร์ทันนึกไหม นี่มาจากไหน จากไหน จากไหน ทันนึกไหม ไม่ทันนึก รู้แต่ว่ามันแลบแปร๊บแล้ว เข้าลูกนัยน์ตาแล้ว นั่นน่ะเช่นเดียวกัน กับอาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิต ไม่รู้ไม่ทันเลย ไม่รู้หรอกว่านี่กว่าทุกข์จะเกิดนะ มันมีถึง 11 อาการ กว่าความทุกข์จะเกิด ทุกข์เป็นอาการที่ 12 ไม่รู้ เพราะฉะนั้นซิคะ นี่แหละคือเหตุที่ว่า
มนุษย์ที่ปรารถนาจะล่วงพ้นจากความทุกข์ จะต้องฝึกฝนอบรมจิต พัฒนาจิต ให้พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น จนเกิดความมั่นคง หนักแน่น นิ่งสนิท แล้วปัญญาก็แหลมคม มีความว่องไว ทันต่อผัสสะที่เกิดขึ้น ถึงจะควบคุมความทุกข์นี้ ไม่ให้มันเกิดขึ้นได้
ฉะนั้นวิธีที่จะศึกษาจึงไม่มีอะไรอื่น นอกจากว่าจะต้องใคร่ครวญ อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิด ดูจากเหตุไปบ้าง ดูจากผลมาบ้าง ทวนไปทวนมา ทวนไปทวนมาในครั้งแรก อาจจะเข้าใจตามคำพูด จำได้ ก็ยังดีค่ะ ขอให้เริ่มด้วยคำพูดจำได้ ท่องเอา ถ้านึกอยากจะแก้ความง่วงนอน ทำยังไงก็ไม่หายง่วง อยู่กับลมหายใจไม่ได้ แทนที่จะปล่อยให้จิตมันลอยไปโน่น เร่ร่อนไปนี่ ท่องรอบปฏิจจสมุปบาท อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ท่องไปจนกระทั่งถึงทุกข์ แล้วก็ย้อนถามอีก ทำไมนะจึงทุกข์ ทำไมนะจึงทุกข์ อ๋อ.. เพราะมันมีชาติ แล้วชาติมันมาจากไหน ทำไมจึงมีชาติ ชาติคืออะไร ท่องซักไป จนกระทั่งถึง อ๋อ.. อวิชชานี่ ตัวร้ายกาจ มันมาทำให้จิตนี้เป็นทุกข์ เพราะนี่เอง
ท่องกลับไปกลับมา กลับไปกลับมา ใจที่กำลังทุกข์ กำลังวิตกกังวล กำลังหยุดนิ่งไม่ได้ นิ่งได้ไหม มันจะนิ่งได้เอง เพราะมันมัวจดจ่ออยากรู้ คิดค้นใคร่ครวญ มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นได้ยังไง เกิดขึ้นได้ยังไง คิดว่าทำได้ไหมคะ คิดว่าทำได้ไหม ท่อง ใคร่ครวญ ทำได้ไหม โอ้ยถ้าทำไม่ได้นะ ไม่รู้จะพูดว่าอะไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทรงใช้เวลาถึง 6 พรรษา นั่นเพราะท่านทรงปรีชาฉลาดล้ำแล้วน่ะ ท่านจึงใช้เวลา 6 ปี เท่ากับว่าท่านย่นย่อระยะทางที่เราจะต้องเดินรอบโลกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันรอบ กว่าเราจะพบทฤษฎีหรือสูตรของปฏิจจสมุปบาท ถ้าเราค้นเอง เรายังไม่พบหรอก เรายังไม่รู้หนทาง ว่าจะเดินยังไงถึงจะไปพ้น รอดพ้นจากความทุกข์ได้
นี่เท่ากับว่ามีผู้จัดแต่งมาให้เสร็จ ใส่สำรับมาเลย จะกินหรือไม่กิน ถามว่าจะกินหรือไม่กิน เอ้าไม่กินก็โง่ต่อไป ทุกข์ต่อไป เป็นอาหารของเต่าปูปลาต่อไป แล้วแต่จะเลือก ถ้ากิน ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย ไม่ต้องไปค้นหา ไม่ต้องมาหุงต้ม ไม่ต้องมาประกอบ มีสำรับอยู่แล้ว เหลือแต่จะกิน ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่า กินแทนกันไม่ได้ กินแทนกันไม่ได้ ก็ทางรูปทางวัตถุก็เห็นแล้วใช่ไหมคะ จะให้คนอื่นเอาน่าเคี้ยวแทนเราหน่อย เบื๊อเบื่อเราไม่อยากอ้าปาก ไม่อยากเคี้ยว ช่วยเคี้ยวแทนหน่อย เอ้อกลืนแทนด้วย เราจะได้คอยอิ่ม ได้ไหม ถ้าได้ มีอีกเยอะเลยคนที่ขี้เกียจกินน่ะ แล้วก็ผอม ไม่มีวันที่จะมีสุขภาพดีซักที ก็ไปจ้างคนเขามากินแทน นี่มันทำไม่ได้ ทำไม่ได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม เห็นไหมคะ ทำไม่ได้
เพราะฉะนั้น ก็จงต้องรู้จักกินเอง มีสำรับมาแล้ว วางไว้แล้ว ปฏิจจสมุปบาท ก็รู้จักกินเอง เพื่อที่เราจะได้ล่วงพ้นจากความทุกข์ เรารู้แล้วว่าอะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิด แล้วพอจะตอบตัวเองได้ไหมคะว่า แล้วอะไรอาศัยอะไรความทุกข์จึงจะดับ ตอบตัวเองได้ไหมคะ ตอนนี้ ตอบได้ไหม ว่าอะไรอาศัยอะไรความทุกข์จึงจะดับ ตอบไม่ได้อีกเหรอคะ เชิญนั่งใคร่ครวญสักสองนาที ใคร่ครวญดูด้วยตัวเองสักสองนาที มีหนทางบ้างไหม ทำยังไงถึงความทุกข์จึงจะดับ
อันแรกที่สุดจะทำไง ระมัดระวังที่ตรงไหน ให้จงหนักเชียว ทั้ง 11 อาการนี่ค่ะที่มันทำให้เกิดทุกข์ จะระมัดระวังที่จุดไหนให้ตรงหนัก ให้จงหนัก ผัสสะ ผัสสะ ผัสสะ ท่องเอาไว้ว่ามันสำคัญเพียงใด ดังที่เราพูดกันไว้แล้ว เพราะฉะนั้นข้อแรกก็ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับผัสสะซ้ำอีกให้แจ่มแจ้ง จนไม่ต้องดูตำรา ถึงแม้จะท่องจำก็ให้มันอยู่ในสมอง ไม่ต้องไปเปิดตำรา เผื่อเผอิญมันหล่นหาย ตกน้ำตกไฟเลยลืมหมด ไม่มี เพราะฉะนั้นเอาให้มันจำได้ อยู่ในสมอง เข้าใจเรื่องผัสสะ ฉะนั้นจุดแรกก็คือว่าจะต้องระมัดระวัง รู้จักว่าผัสสะคืออะไร แล้วก็ระมัดระวังทุกขณะที่ผัสสะเกิดขึ้นให้ทัน
พอเห็นอะไรไม่ถูกใจ ตาเห็นรูป ซึ่งอาจจะเป็นผู้คนสิ่งของวัตถุ หรือเป็นอาการกิริยาที่ทำ ให้ทันเอาไว้ น่ารักก็ไม่ต้องรัก รู้แต่ว่ามันน่ารักแต่ไม่ต้องรัก เพราะถ้ารักเข้ามันคืออะไรแล้ว คืออะไรที่มันต่อจากผัสสะ ที่มันเป็นผลของผัสสะ เวทนา เวทนา เห็นไหมคะ เวทนามันเกิดขึ้นแล้วในจิต โทษทุกข์เกิดขึ้นแล้ว เพราะเวทนามันมีอิทธิพลนักที่ทำให้ชีวิตนี้หมุนไปต่าง ๆ ฉะนั้น ไม่ ควบคุมเอาไว้ น่าเกลียดน่าชังดูไม่ได้ เกลียดไหม ฝืนใจหน่อย อมเอาไว้ ขัดใจ ไม่เกลียด ใจมันบอกเกลียด ก็ต้องเถียง ไม่เกลียด ไม่เกลียด เพราะถ้าเกลียดนั่นก็คือยอมใจให้เป็นทาสของเวทนาแล้ว เห็นไหมคะ ยอมใจให้เป็นทาสของเวทนา มันก็คือหมุนไปสู่ความทุกข์ เพราะฉะนั้นต้องที่จุดของผัสสะ สู้กับมัน สู้กับมันที่จุดของผัสสะ อย่าให้มันเกิดเวทนา ทีนี้วิธีที่จะทำให้สติปัญญาเกิดขึ้น จะทำยังไง ที่พูด ๆ มันสู้ด้วยคำพูด แต่ในการปฏิบัติจะต้องทำยังไงคะ
ข้อแรกที่สุด ก็ที่ปฏิบัติอานาปานสติมาตั้งหลายวันแล้วนี่ นี่ที่เราอุตส่าห์ทำ อุตส่าห์ทำ ดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจ รู้ลมหายใจเพื่ออะไร เหน็ดเหนื่อยทำนี่เพื่ออะไร ก็เพื่อพัฒนาสติให้เกิดขึ้นใช่ไหมคะ ให้จิตมันมั่นคงขึ้น จิตมันนิ่ง มันสงบ มันพร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญาน้อย ๆ ปัญญาก็เกิดขึ้นแล้วเมื่อเราได้ฟังเรื่องเวทนา มันเป็นเพียงมายาเกิดดับ มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นมายาจริง ๆ แต่จิตมันถูกลวง มันก็เลยไปยึดว่ามันเป็นจริง แล้วก็เราก็ได้ฟังเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องของเหตุปัจจัย แล้วก็ลองดูประสบการณ์ในชีวิต เราก็มองเห็นในเรื่องของความไม่เที่ยง ความทนได้ยาก ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนชัดอยู่แล้ว ทุกอย่างมันเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย
นี่เราต้องพอกพูนเพิ่มพูน สติ สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นในใจมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น มันก็จะมีความหนักแน่นมั่นคง พร้อมที่จะสู้กับผัสสะได้ คือจะทัน พอผัสสะเกิดขึ้น จิตนี้มันเหมือนกับจะมีกำแพงล้อมรอบ ถ้าเราปฏิบัติ สติ สมาธิ ปัญญา มากขึ้น มันเหมือนมีกำแพงล้อมรอบ ถ้าเราจะเปรียบผัสสะนี้เหมือนกับลูกฟุตบอลที่เขาขว้างมา ถ้าจิตที่พร้อมด้วยสติปัญญา ลูกบอลนี่ก็ต้องทำไม มันก็สะท้อนกลับ กระดอนกลับไป มันไม่สามารถจะมากระทบให้กำแพงนี้พังได้ จิตนี้ก็มั่นคงอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ไม่ตกเป็นทาสของเวทนา ซึ่งจะสามารถทันต่อผัสสะได้ ไม่มีวิธีอื่น นอกจากจะปฏิบัติจิตตภาวนา แล้วก็ที่นี่ ที่เราได้พูดกัน เราพูดกันเรื่องของอานาปานสติ จบไปแล้ว 4 หมวด 16 ขั้น ก็ไปใคร่ครวญใหม่ แล้วก็พยายามฝึกปฏิบัติอบรมให้มันหนักแน่นมากขึ้น ภายในพร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา มันก็จะทันต่อผัสสะยิ่งขึ้น นี่ก็คือเพิ่มเติมอะไรเข้าไปคะ เพิ่มเติมอะไรเข้าไปในใจ