แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
...ภพไม่มี ชาติ ของความรู้สึกเป็นตัวตนไม่มี เพราะฉะนั้นผลที่เกิดขึ้น ทุกข์ไหม ไม่ทุกข์ แต่มันก็จะเปลี่ยนเป็นอะไร เหมือนอย่างที่เราพูดถึงอานาปานสติผลสุดท้ายเมื่อเช้านี้ ในจิตนั้นก็จะมีแต่ความว่าง หรือที่เรียกว่า สุญญตาธรรม “สุญญตา” ก็คือความว่าง ความว่างจากความยึดมั่นถือมั่นตามตัณหา ตามกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ความยึดมั่นถือมั่นตามอำนาจของอวิชชาว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มีนั่นมีนี่ ได้นั่นได้นี่ เป็นฉัน ไม่เกิดขึ้นเลย มันก็มีแต่ความสะอาด ความสงบ ความสว่าง เกลี้ยงเกลาจากการรบกวนของกิเลสของตัณหาของอุปาทาน ก็มีแต่ความนิ่ง สงบ เยือกเย็นผ่องใส พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา และจิตอย่างนี้ค่ะจงทราบเถิดว่าเป็นจิตที่เต็มไปด้วยพลังอย่างยิ่ง พลังของความรู้ พลังของความฉลาดที่แท้จริง แล้วก็พลังที่พร้อมที่จะทำอะไรเพื่อให้เกิดความถูกต้อง เต็มไปด้วยความองอาจกล้าหาญ แล้วก็รู้จัก จะสามารถทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ให้ถูกต้องโดยเหมาะกับกาลเทศะ บุคคล แล้วก็เกิดประโยชน์
ฉะนั้นพอผัสสะเกิดขึ้นต้องรู้ว่ากำลังอยู่ที่ทางแพร่ง ถ้าไม่ไปทางนี้ ไม่ฝึกที่จะไปทางนี้คือทางที่เต็มไปด้วยสติปัญญา มันก็จะไปอีกทางคือทางที่ปราศจากสติและปัญญาที่ถูกต้อง ก็แน่นอนพอผัสสะเกิดขึ้น ผวาเข้าไปยึดมั่นในมันทันที เอาเรื่องกับมันทันที จิตนี่เริ่มกระเพื่อมๆๆ โยนไปโยนมา ซัดส่ายไปมาด้วยความชอบหรือความชัง ถูกใจหรือไม่ถูกใจ เป็นบวกหรือเป็นลบ ได้หรือเสีย ลองไปเขียนดูเถอะ คู่ๆ จะพบมากมาย มันจะรู้สึกอย่างนี้ นี่ก็คือเวทนา เป็นอาการที่ทำให้เกิดเวทนา ที่บอกว่าเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชีวิตของมนุษย์ ที่ชีวิตมนุษย์หมุนวน ดิ้นรน กระเสือกกระสนด้วยความรู้สึกขึ้นๆ ลงๆ ก็คือเพราะเวทนา ทำไมเวทนาจึงเกิด เพราะมันฉลาดไม่ทัน สติมาไม่ทัน ปัญญามาไม่ทัน เพราะไม่ฝึกฝนอบรมเลยเวทนาก็เกิด พอเวทนาเกิดมันก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ให้เกิดอุปาทาน ให้เกิดภพเกิดชาติ แล้วก็จบลงด้วยความทุกข์ ร้องไห้ คร่ำครวญ ดิ้นรน มีปัญหา พร่ำเพ้อไม่หยุดหย่อนก็เพราะทุกข์ที่สะสมเอาไว้ในใจจนเก็บเอาไว้ไม่ได้ก็ล้นออกมา พบใครก็พร่ำพรรณนาปรับทุกข์บรรยายระบาย จนใครๆ เขาเห็นหน้า หลบก่อนยายคนนี้แกมาแล้ว เราเองก็เต็มที่เหมือนกันฟังไม่ไหวตอนนี้ หลบก่อน นี่แหละลงเอยด้วยความทุกข์ เพราะไม่สามารถจะรู้จักจัดใจของตนเมื่อผัสสะเกิดขึ้นว่าจะเดินทางไหน ฉะนั้นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องรู้จักปฏิบัติต่อผัสสะให้ถูกต้องก็คือ มีสติมีปัญญา ให้รู้เท่าทันต่อผัสสะทุกครั้งทุกขณะที่มันเกิดแล้วก็ควบคุมมันให้ได้ เพราะกรรมทั้งหลายมีจุดตั้งต้นที่ผัสสะ ถ้าผู้ใดที่ปรารถนาจะสิ้นกรรม จะแก้กรรมแก้ตรงนี้ ไม่ต้องไปสะเดาะเคราะห์ ไม่ต้องไปทำอะไรที่ไหนแก้ตรงนี้ แก้ตรงจุดของผัสสะ รู้จักปฏิบัติต่อผัสสะให้ถูกต้องด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะวิชชามาทันมันก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดเวทนา
เมื่อมันไม่เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ก็ไม่กระทำอะไรที่จะต้องรู้สึกมาสำนึกบาป หรือว่ารู้สึกติดหนี้ในภายหลัง จะกระทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง ที่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ถ้าจะเรียกว่าเป็นกรรม มันก็เป็นกรรมที่ไม่ก่อกรรม ใช่ไหมคะ ถ้าจะเรียกว่าเป็นกรรม ก็เป็นกรรมที่ไม่ก่อกรรม หมายความว่าอะไร ก็เพราะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง มันมีแต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งแก่ตนเอง แก่เพื่อนมนุษย์ แก่คนอื่น ผู้กระทำก็เย็น คนที่อยู่รอบข้างก็เย็น ใครที่มาเกี่ยวข้องก็เย็น
ฉะนั้นถ้าหากว่าสามารถปฏิบัติต่อผัสสะได้อย่างถูกต้อง ถ้าจะเรียกว่าเป็นกรรม ก็เป็นกรรมที่ไม่ก่อกรรม ดิฉันขอใช้คำว่าอย่างนี้ ไม่มีการก่อกรรมต่อเนื่องอีกเพราะว่ามันจะมีแต่การกระทำที่นำความเย็นมาสู่กันและกัน และผู้ทำเองก็จะมีความชื่นชม ยินดี พอใจในการกระทำนั้น ถ้าอยากจะพูดตามสมมติทางโลก ก็เคารพตัวเองได้ ยกย่องนับถือตัวเองได้ ยกมือไหว้ตัวเองได้ เพราะคนที่ยกมือไหว้ตัวเองได้จะต้องมากังวลไหม ทำไมคนนั้นเขาไม่เคารพเรา ทำอย่างไรจะให้เขานับถือเรา ต้องกังวลไหม ไม่ต้องกังวล เพราะตเราเองไหว้ตัวเราเองได้อย่างสนิทใจ เพราะเราแน่ใจ แน่ใจในการกระทำที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากว่าพอผัสสะเกิดขึ้น จิตนั้นปราศจากสติปัญญาก็แน่นอนล่ะ ท่านถึงบอกเป็นจุดตั้งต้นของกรรม แต่เป็นกรรมที่ผู้กระทำจะรู้สึกเป็นหนี้อยู่ในใจเพราะมันจะเนื่องกรรมที่ผูกพันกันไม่รู้จบ ชดใช้กี่ชาติกี่ชาติก็ไม่รู้จบ สะเดาะเคราะห์สักร้อยแห่งก็ไม่หมด เพราะฉะนั้นถ้ารู้จักกระทำต่อผัสสะที่ถูกต้อง จะไม่ต้องไปเสียเวลา ไปเสียเงินทองเพื่อไปหาหมอที่ไหนมาช่วยสะเดาะเคราะห์ มาช่วยแก้กรรม
ในพุทธศาสนากรรมคืออะไร การกระทำ กรรมคือการกระทำ โปรดจำเอาไว้ให้แม่น นี่คือความหมายของกรรมในพระพุทธศาสนา และเมื่อแปลว่าการกระทำ ใครล่ะคะทำ ก็เราเองคือผู้กระทำ จะทำดีเราก็ทำ จะทำชั่วเราก็ทำ เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะสิ้นกรรม มีโอกาสสิ้นไหม สิ้นกรรมได้ไหมคะ เมื่อกรรมเกิดขึ้นในใจ ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับน้ำสกปรกที่อยู่ในแก้ว อย่างที่เคยพูดกันแล้ว ถ้าเราหมั่นที่จะเติมน้ำฝน น้ำใสบริสุทธิ์ลงไปในแก้วที่มีน้ำสกปรก มันก็ค่อยๆ ไล่น้ำสกปรกจนหมดแก้ว แก้วนั้นก็ใสสะอาดได้วันหนึ่ง นั่นคือเมื่อมีการกระทำที่ผิดพลาด ที่ไม่ถูกต้อง ที่เรารู้สึกเป็นหนี้อยู่ในใจสำนึกบาปอยู่ในใจก็เปลี่ยนใจเสียใหม่ ฝึกฝนอบรมใจเสียใหม่รู้จักการกระทำที่ถูกต้อง มันก็จะค่อยลบล้างความไม่ถูกต้องนั้นไปเรื่อยๆ ทีละน้อยๆๆ แต่จะให้มันทันใจทีเดียวก็ต้องคอยก่อน ใจเย็น แล้วแต่ว่าสิ่งที่ได้กระทำผิดพลาดมานั้นมันมากหรือน้อย ก็ต้องอาศัยเวลา ต้องอาศัยการกระทำซ้ำจนกระทั่งแน่ใจว่ามันจะไม่หวนมาอีก แล้วเราก็จะมีความแน่ใจในการกระทำที่ถูกต้องยิ่งขึ้นๆๆ ใจที่เคยหมองหม่นเพราะรู้สึกว่าเราได้ทำกรรมชั่วไว้มาก เราได้ทำสิ่งที่ไม่ดีไว้มาก มันก็ค่อยๆ จางไป ใช่หรือเปล่าคะ เพราะจะมีความชื่นใจ พอใจ ภูมิใจกับสิ่งถูกต้องที่เรากำลังกระทำเดี๋ยวนี้ กรรมที่เคยเป็นหนี้เอาไว้ก็ละลายไปเองโดยอัตโนมัติ จริงไหม นี่คือสิ่งที่เราจะประจักษ์ได้ด้วยใจเอง
นี่คือคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาแห่งปัญญา ใช้ปัญญาของตน ปัญญาภายในใคร่ครวญดูว่านี่เป็นจริงไหม เป็นไปได้ไหม ลองนึกดู อันที่จริง ถ้าจะว่าไปถึงแม้จะบอกว่าเอ่ยชื่อว่าพุทธศาสนา แต่แท้ที่จริงแล้วเมื่อเราพูดถึงธรรมะเช่นนี้ ธรรมะนี้เป็นของธรรมชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงของการที่จะปฏิบัติเพื่อเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ ก็จากธรรมชาติที่มีอยู่นี่เอง ไม่ใช่อย่างอื่น ทรงค้นพบจากความเป็นจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติแล้วก็นำมาบอกมากล่าว ฉะนั้นผู้ที่อยู่ในศาสนาใดก็ตาม ถ้าสนใจในสิ่งที่เรียกว่าธรรมะและเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติอย่างแท้จริง ก็จะเข้าใจได้เองว่านี่เรื่องของธรรมะที่พูดกัน ไม่ใช่ของใครและก็ไม่ใช่ของผู้ใดทั้งสิ้น แต่เป็นของทุกคนที่เกิดมาแล้วก็เรียกตัวเองว่าเป็นคน เป็นมนุษย์ การที่จะสามารถพัฒนาจากความเป็นคนเป็นมนุษย์ก็คือพัฒนาข้างใน ขับไล่อวิชชาที่ครอบงำจิตไป ที่ทำให้ทำอะไรเหมือนคน แล้วบางทีเผลอมากๆ ก็ต่ำกว่าคน ดึงมันขึ้นมาให้มันสูงขึ้นสู่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นผู้มีใจสูง มีใจประเสริฐ เพื่อกระทำสิ่งที่ถูกต้อง
ดิฉันอยากจะพูดเรื่องของคำว่า “กรรม” ให้ชัดเจน เพราะมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องของกรรม ของคำว่า กรรม มาก กรรมคือการกระทำ สมมติว่าจะได้กระทำกรรมอะไรที่ติดมานานเหลือเกินในใจ แกะไม่ออกทำให้เศร้าหมอง ขุ่นมัวอยู่เสมอ ก็ต้องอาศัยพลัง เข้มแข็ง ปลุกใจตัวเองให้เข้มแข็งขึ้น มั่นคงขึ้น และกระทำสิ่งที่ถูกต้องขึ้น ก็จะยืนอยู่ด้วยความพอใจในการกระทำในปัจจุบันเพราะพูดแล้วว่าช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต แต่ปัจจุบันนี้ ปัจจุบันขณะเดี๋ยวนี้ ถ้าเราทำเดี๋ยวนี้ให้ถูกต้องนาทีต่อไปก็ถูกต้อง ทำนาทีต่อไปให้ถูกต้องซึ่งกลายเป็นปัจจุบัน นาทีต่อไปนั้นก็ถูกต้องอีก เห็นไหมคะ ทำต่อไปๆๆ ให้ถูกต้อง มันแจ่มใส เบิกบาน ภูมิใจได้ตรงนี้เอง ฉะนั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแก้กรรมของตัวเอง ไม่ต้องไปหาใครแก้ นี่ถึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง
ฉะนั้นจงระลึกถึงผัสสะเสมอ พอเกิดขึ้นละก็ให้รู้ว่านี่เป็นจุดที่เรากำลังจะถูกลวงแล้วนะ ถูกลวงแล้ว ถ้าเผลอนิดเดียวจะก้าวไปในทางที่ปราศจากสติและปัญญา ซึ่งตามกิเลสตามความเคยชินที่เคยทำมากันมาตั้งแต่เกิดตั้งแต่รู้ความ ใช่ไหมคะ พออะไรเกิดขึ้นจะเอาให้ได้อย่างใจ พร้อมที่จะเถียง ทะเลาะ ฟาดฟันเพื่อให้ชนะโดยทิฐิของตัว นี่เป็นขณะจิตที่ถูกลวง อะไรลวง ถ้าเป็นคนชาวบ้านที่พูดกันก็เรียกเป็นพญามารมาลวง เคยเห็นตัวพญามารไหมคะ ถ้าจะเห็นก็ตัวนี้ ตัวที่ปากคาบ มือจับ เข่าหนีบ ข้อเท้าก็หนีบ นี่แหละตัวพญามาร คือตัวอะไร ดิฉันอยากจะเรียกว่า นี่แหละตัวพญามาร คือตัวอะไร ตัวอัตตา คือความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน นี่แหละตัวพญามาร ใช่ไหมคะ ที่มันลวงล่อว่า ต้องมีตัวสิดี ต้องมีของเราของตัวสิดีเพราะมันทำให้เกิดความอบอุ่น ถ้าไม่มีตัวเสียแล้ว จะอยู่อย่างไร ชีวิตนี้จะอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่มีตัว ก็ไม่มีของตัว ของที่สะสมไว้ตั้งมากๆ มายๆ เอาไปทิ้งที่ไหน นี่เห็นไหมคะ จะเกิดความรู้สึกอย่างนี้
เพราะฉะนั้น อันนี้จงนึกเสมอว่าพอผัสสะเกิดขึ้น นี่คือจุดที่กำลังถูกลวงแล้วนะ ลวงด้วยตัวอัตตา แล้วก็ต้องขยายความทำความเข้าใจไว้ในใจเสมอว่า ตัวอัตตานี้คือความรู้สึก การเกิดของความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน เพราะเราจะได้ไม่ถูกลวงซ้ำ ถ้าไปนึกว่าเป็นตัวอัตตา ประเดี๋ยวถูกลวงซ้ำ เผลอไปว่าอัตตานี้มีจริง เห็นไหมคะ เรื่องของธรรมะการปฏิบัติทางจิตละเอียดมาก หยาบไม่ได้ ต้องดูให้ละเอียด ต้องถามซ้อนๆ ไปเสมอเป็นขณะที่ถูกลวง เพราะฉะนั้นการที่จะฝึกฝนอบรมสติปัญญาให้เกิดขึ้นมากๆ จนทันต่อขณะแห่งผัสสะไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่ของง่าย แต่เป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าผู้ใดประจักษ์ชัดแล้วว่าพอกันเสียที ความทุกข์ ความร้อน น้ำตา ความขมขื่นเจ็บปวด พอกันเสียที ถ้าผู้ใดมีความรู้สึกพอ อยากจะพบกับความเย็น ความชื่นบาน ความแจ่มใส ก็จะสามารถมีกำลังใจที่จะทำได้ ไม่ปล่อยใจให้ตกอยู่ภายใต้ของความทุกข์ หรือของเวทนาที่จะก่อให้เกิดทุกข์เป็นสายต่อไป
ทีนี้คนที่ทำไม่ได้ ต้องตกเป็นทาส ผัสสะเกิดทีไรเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาทุกที ก็เพราะการตามใจตัวเองที่ชอบลุแก่อำนาจของกิเลส คือเป็นเหยื่อของกิเลส เป็นทาสของกิเลส จงสังวร นึกดู ใช่ไหม ถ้าเราเคยทำตามกิเลสสักสิบครั้ง วันนี้ชนะให้ได้สักครั้งหนึ่ง ดิฉันถือว่าเป็นสิ่งที่ภูมิใจได้แล้ว เก็บสถิติเอาไว้ พรุ่งนี้เอาให้ได้สองครั้ง ชื่นใจได้ มะรืนนี้จะเอาให้ได้สามแต่เผอิญไม่ไหว กิเลสแรง ชนะได้ครั้งเดียวก็ยังดี ยังมีโอกาสแพ้โอกาสชนะและจะชนะมากขึ้นๆ ยังมีทางที่เป็นไปได้ ใช่ไหมคะ แต่ถ้ายอมแพ้มันตลอดกาลก็อยู่ก้นน้ำ ก้นทะเลไม่มีวันโผล่ สำลักอยู่นั่น สำลักอยู่นั่นจนกระทั่งจมตาย เป็นอาหารของเต่าของปลาที่อยู่ในน้ำต่อไป เป็นปทปรมะ ดึงไม่ขึ้น บัวเหล่าที่สี่ที่ดึงไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นก็เลือกเอาเองว่าจะอยู่ในลักษณะไหน อย่างไร ฉะนั้นที่ทำไม่ได้ ถลำเข้าไปเป็นทาสของมัน เกิดเวทนาแล้วก็ตามใจตัวเองจนลุแก่อำนาจของกิเลส ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น อวดดี อวดดีด้วยความประมาท ไม่เป็นไรๆ ธรรมดา แพ้ไปก่อน ไม่เป็นไร ก็ไม่เห็นเป็นไรเรายังอยู่ นี่แหละพูดด้วยความอวดดีพร้อมๆ กับความโง่เพราะอวิชชาครอบงำ ถูกลวกน้ำร้อนครั้งแล้วครั้งเล่า ไหม้พองตั้งเท่าไรไม่รู้จักจำ จนวันหนึ่งมันหลุดเกลี้ยงไปหมด ไม่เหลืออะไร นั่นจะเริ่มตะเกียกตะกายแต่ไม่มีแรงเสียแล้ว แรงหมดเสียแล้ว หมดไปกับการถูกเผาผลาญด้วยกิเลส นี่จงระวังความประมาท ความอวดดีมันจะปิดกั้นหนทางไม่ให้สามารถขัดเกลาจิตของตนได้ น่าเสียดายคนที่ฉลาดๆ มีปัญญาควรที่จะได้ใช้สติปัญญาให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น กลายเป็นอาหารของเต่า ปู ปลา น่าเสียดาย ไม่คุ้ม ฉะนั้นก็ต้องพยายามที่จะอยู่ด้วยการมีสติ มีปัญญาอยู่ทุกเมื่อ นี่ก็คือเรื่องของผัสสะ ขอจงได้อุตส่าห์ใช้เวลาใคร่ครวญศึกษาดูไปดูมาให้ชัดเจนว่า ผัสสะคืออะไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อเกิดขึ้นมีทางเลือกไหม เราจะเลือกไปไหน ถ้าจะเลือกไปหนทางที่ประกอบด้วยสติปัญญา เพื่อให้ล่วงพ้นจากความทุกข์แล้วก็อยู่กับความว่างอันวิเศษนั้นได้ เราจะทำอย่างไร ขอจงดู นี่คือจุดที่เราจะพยายามกระทำเพื่อให้รอดพ้นจากความทุกข์ได้ ทีนี้ก็ย้อนกลับมาใหม่ เมื่อเราเข้าใจผัสสะดีแล้วเราจะได้รู้ว่ามันคืออะไร มีจุดสำคัญที่ต้องระมัดระวังเพียงใด เมื่อกี้เราก็ได้พูดกันถึงว่าเราจะศึกษาว่าอะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์เกิด จากผล ทุกข์เกิดได้อย่างไรนะ เพราะมีชาติ ชา-ติ คือการเกิดของความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน แล้ว “ชาติ” นี่มาได้อย่างไร ก็เพราะมี ภพ อมความมีความเป็นต่างๆ เอาไว้ มันก็เลยทำให้เกิดชาติ แล้ว “ภพ” เกิดอย่างไร มาได้อย่างไร...