แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฉะนั้นตอนนี้อยากจะขอถือโอกาสอธิบายหรือว่าทำความเข้าใจในเรื่องของผัสสะให้ชัดขึ้นอีกสักนิด ก็กรุณาดูภาพต่อไปที่อธิบายว่าผัสสะเกิดขึ้นได้อย่างไร แม้เราจะพูดแล้วก็ตามว่าผัสสะต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่าง คือต้องมีอายตนะภายในซึ่งมันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มันพบกันหรือถึงกัน ถึงกันกับคู่ของมันที่เป็นอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสหรือโผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ พอคู่ของมันถึงกันเข้าแล้วก็วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เข้ามาทำหน้าที่ แล้วแต่ว่าคู่ไหนจะพบกัน ถ้าหู อายตนะภายในกระทบหรือถึงกันเข้ากับคู่ของมันก็คือเสียง แล้วโสตวิญญาณ วิญญาณทางหูก็เข้ามารับรู้ด้วยกัน นี่แหละ ตอนนี้เป็นสิ่งที่พอทั้งสามอย่างนี้อาศัยกันและกันก็จะเกิดเป็นผัสสะขึ้น
ฉะนั้น ลักษณะของผัสสะเกิดขึ้นเองด้วยตัวของมันสิ่งเดียวไม่ได้ ตาอย่างเดียวก็ทำไม่ได้ เหมือนอย่างถ้าโดยอุปมาก็ตบมือข้างเดียวไม่ดังที่เขาว่า แต่ถ้าในทางเซ็นเขาว่า เสียงตบมือข้างเดียวดังเสียยิ่งกว่าตบสองมือ แต่นั่นมันเป็นความหมายที่เป็นปริศนาธรรมที่ลึกซึ้ง แต่ที่เราเปรียบกันนี้ ก็บอกว่าตบมือข้างเดียวไม่ได้ ที่ผู้ใหญ่พอจะตัดสินคนทะเลาะกัน คนนั้นก็จะแก้ตัวว่าฉันไม่ได้ทำ ฉันไม่ได้พูด ฉันไม่ได้ว่า ก็มักจะบอกว่าตบมือข้างเดียวไม่ได้ คือทั้งสองคนมาทะเลาะกันมันถึงเป็นเรื่องเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ผัสสะจะเกิดขึ้นด้วยสิ่งเดียวไม่ได้ มันต้องอาศัยสามสิ่ง คือ หนึ่งอายตนะภายใน แล้วก็เป็นต้นเงื่อนของปฏิจจสมุปบาท เป็นต้นเงื่อนของปฏิจจสมุปบาทท่านก็หมายความว่า เป็นต้นเงื่อนของการที่จะทำให้เกิดเวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ แล้วมันก็ผลักไปเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ให้เกิดอุปาทาน ให้เกิดภพ ให้เกิดชาติ ชา-ติจนกระทั่งลงเอยจบลงด้วยความทุกข์ เป็นต้นเงื่อนที่จะทำให้วงล้อปฏิจจสมุปบาทนี้หมุนไปเรื่อยตามลำดับ
ฉะนั้นถ้าจะถามว่า ผัสสะมีกี่อย่าง ก็มีได้สองอย่าง อย่างหนึ่งก็คืออวิชชาสัมผัส ท่านเรียกว่าอวิชชาสัมผัสนั่นคือหมายความว่า เมื่ออวิชชาครอบงำจิต ผัสสะที่เกิดขึ้นมันก็จะเข้ากระทบจิตของที่ประกอบด้วยอวิชชานั้นแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา นี่คืออวิชชาสัมผัส มันมีความเขลา ความไม่รู้เรื่อง ไม่มีปัญญาอยู่ในนั้น พอกระทบกันเข้า มันก็เลยเกิดเป็นเวทนา อีกอย่างหนึ่งก็คือ วิชชาสัมผัส วิชชาสัมผัสก็คือว่า ถ้าหากว่าในจิตนั้นได้รับการฝึกฝนอบรมขัดเกลา อวิชชาค่อยๆ หมดไป พออวิชชาค่อยๆ หมดไป วิชชาที่เป็นปัญญา ที่เป็นความรู้ ที่เป็นแสงสว่างค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาสู่ใจๆนั้นก็สว่าง สะอาด บริสุทธิ์ หมดจดมากขึ้นตามลำดับ
พอผัสสะเกิดขึ้นจิตที่ฉลาดด้วยปัญญาข้างในก็จะสามารถเห็นได้ทันทีว่า อ๋อผัสสะมันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่าผัสสะเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่านี้เลย ไม่ได้มีอะไรมากกว่านี้เลย มันเป็นเพียงสิ่งสักว่า เท่านั้นเอง ก็เห็นแต่ว่ามันไม่มากระทบ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา คือไม่ทำให้เกิดรู้สึกร้อน หนาว ชอบใจ ไม่ชอบใจ พอใจ ไม่พอใจ มันไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอย่างนั้น แต่ก็มีความรู้อยู่นะคะ ไม่ใช่ไม่รู้ รู้ว่าผัสสะนั้นคืออะไร แต่เห็นแต่เพียงว่ามันเป็นสักว่า สมมติว่ามันดี คือมันเป็นอาการของสิ่งที่ดี เป็นรูปที่น่ารัก ก็รู้ว่ามันน่ารัก ตามสมมติที่เรียกกัน แต่ก็เพียงแค่นั้น จิตนี้จะไม่เกิดเวทนาคือความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ไม่เกิดตัณหาที่จะไปอยากได้ ไม่เกิดอุปาทานที่จะยึดมั่น นี่เรียกว่า วิชชาสัมผัส คือผัสสะนั้นมันมีวิชชาเป็นต้นเงื่อนอยู่ที่หัวแถว มันก็เป็นวิชชาสัมผัส
ฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า ผัสสะเป็นต้นเงื่อนของปฏิจจสมุปบาท เป็นต้นเงื่อนที่จะให้กระทำกรรม ขึ้นอยู่กับว่าอะไรที่มันครอบงำอยู่ที่หัวแถว หรือขึ้นอยู่กับว่าเป็นสัมผัสชนิดไหน อวิชชาสัมผัสก่อให้เกิดกรรมแน่ ถ้าเป็นวิชชาสัมผัสมันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า เพราะฉะนั้น เมื่อผัสสะเกิดขึ้นครั้งแรก มันก็เป็นการกระทบกันครั้งแรกระหว่างอายตนะภายในอายตนะภายนอก แล้วก็วิญญาณของอายตนะภายใน ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นการกระทบกันเฉยๆ ถ้าจะใช้คำในทางธรรมท่านเรียกปฏิฆสัมผัส หมายความมันกระทบเข้า มันโขลกกันเข้าก็เกิดเป็นผัสสะคือสิ่งนั้นขึ้น สุดแต่ว่าจะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสัมผัส หรือเป็นธรรมารมณ์ มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้น นี่ก็ไม่เกิดอะไร ยังไม่เกิดเวทนา แต่เสร็จแล้วมันจะเกิดอาการกระทบถึงจิตและเวทนานั่นก็เกิดจากที่ว่าถ้าอวิชชาครอบงำอยู่มันก็จะทำให้เกิดการกระทบจนเป็นโทษ เป็นโทษคือเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ถ้าจิตนั้นครอบงำอยู่ด้วยสิ่งที่เรียกว่าเป็นความเขลา ถ้ารู้ไม่เท่าทันการกระทบที่ทำให้เกิดเวทนา ท่านเรียกว่าอธิวจน (อะ-ธิ-วะ-จะ-นะ) สัมผัส นั่นก็คือการกระทบระหว่างจิตกับเวทนาที่ทนอยู่ไม่ได้เมื่อเห็นผัสสะนั้น มันก็เลยเป็นผลให้เกิดเวทนาเต็มขึ้นมาในใจ กระทบระหว่างจิตกับผัสสะแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ท่านเรียกว่าอธิวจนผัสสะ
ฉะนั้น มนุษย์ทุกคนโดยเฉพาะผู้ปฏิบัติจึงต้องมีความระมัดระวังผัสสะคือตรงจุดของผัสสะให้มีความรู้สึกว่า พอผัสสะเกิดขึ้นให้รู้สึกว่ากำลังยืนอยู่ตรงทางสองแพร่งเหมือนอย่างภาพที่เขียนเอาไว้ในแผนภูมิของผัสสะ ยืนอยู่ตรงจุดของทางสองแพร่ง ยังมีหนทางเลือก จะไปซ้ายหรือจะไปขวา ทางหนึ่งก็คือทางที่ประกอบอยู่ด้วยสติและปัญญา ของจิตที่ได้ฝึกอบรมแล้วประกอบอยู่ด้วยสติและปัญญา เมื่อประกับด้วยสติและปัญญามันก็รู้เท่าทัน รู้เท่าทันผัสสะที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพียงสิ่งสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้นนะ มันไม่มีอะไรมากกว่านี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นธาตุ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็เป็นธาตุ วิญญาณทั้ง 6 วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นธาตุ มันเป็นเพียงแต่ธาตุมากระทบกัน แล้วมันก็สลายไป แปรเปลี่ยนไป มันไม่ได้อยู่คงทน ตามกฎของไตรลักษณ์ที่เราพูดกันแล้ว อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่หมายความว่า ถ้าฝึกฝนขัดเกลาจิตเพียงพอก็จะรู้จักไปในทางแพร่งแห่งสติและปัญญา พอเป็นทางที่ไปตามสติและปัญญา เวทนาก็เป็นเพียงสักว่าเวทนา แต่มีความรู้อยู่นะคะ มีความรู้อยู่ว่ามันดี มันชั่ว มันถูก มันผิด มันงาม มันขี้เหล่ มันใช้ได้ มันใช้ไม่ได้ รู้อยู่ แต่มันก็เป็นเพียงความรู้ คือมีความรู้สึก รู้อยู่ แต่ไม่ใช่รู้ที่ทำให้เกิดเวทนาที่เป็นผลที่ทำให้จิตเป็นทุกข์
เพราะฉะนั้นเมื่อเวทนามันเต็มไปด้วยความรู้ สักแต่ว่ารู้แต่ไม่มีอาการที่จะกระทบเพราะชอบหรือไม่ชอบ มันก็ไม่ไปกระตุ้นให้เกิดตัณหา มันก็ไม่มีความอยากเพราะมันรู้เท่าทันซะแล้ว เอามาก็เพียงเท่านั้นเอง ได้มาก็เพียงเท่านั้นเอง รักษาไว้ตลอดก็ไม่ได้เพราะมันไม่เที่ยง ใช่ไหมคะ ยังไงๆ มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นมันไม่คุ้มค่าแก่การจะไปยื้อแย่งเบียดเบียน หรือการไปทำลายเสียหรือจะไปว่าวุ้นวิ่งวนอยู่กับมันเรื่องเดียว ไม่คุ้มค่าแก่ชีวิต ไม่คุ้มค่าแก่เวลา เพียงแต่ว่าถ้าควรกระทำอย่างไรควรปฏิบัติต่อสิ่งนี้อย่างไรจึงจะถูกต้อง ถูกต้องก็คือว่าไม่ให้มันเกิดเป็นปัญหา แต่ว่ามันเกิดประโยชน์หรือถ้าเผอิญผัสสะที่เกิดขึ้นนี้มันอยู่นอกวิสัย เหนือวิสัย เหนืออำนาจความสามารถของเราที่จะกระทำก็ต้องอุเบกขารอไว้ก่อน รอไว้ด้วยอุเบกขาคือจิตใจที่วางเฉยแต่พร้อมด้วยเมตตากรุณา
ถ้าจังหวะให้โอกาสให้ที่จะกระทำสิ่งใดก็ทำทันทีเต็มฝีมือความสามารถ นี่ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ถ้าหากว่าจะมีความต้องการอยู่ ความต้องการนี้ก็เป็นมรรคองค์ไหนคะที่เราพูดกันเมื่อวันก่อน เป็นมรรคองค์ไหน สัมมาสังกัปปะ สัมมาสังกัปปะคือความต้องการที่ประกอบด้วยสติปัญญา ไม่ได้เป็นความต้องการที่จะดึงเอามาเพื่อเป็นของเราเอง แต่เป็นความต้องการที่ประกอบด้วยสติปัญญาคือจะทำให้มันถูกต้อง ไม่ให้มันเกิดปัญหาและผู้ทำก็ไม่เป็นความทุกข์ แล้วต่อจากนั้นตัณหามันเป็นสัมมาสังกัปปะซะแล้ว แน่นอนอุปาทานไม่มี เกิดไม่ได้ ภพหรือภวะไม่มี เกิดไม่ได้ ชาติหรือชา-ติ ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ที่อมเอาไว้เท่าไหร่ไม่มี เพราะมันเห็นแล้วว่ามันเปลี่ยนเป็นแต่เพียงสักว่าธาตุตามธรรมชาติที่มากระทบกันเข้าแล้วกระจายสลายไป กระทบกระจาย กระทบกระจายเท่านั้นเอง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่กระทบ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ใช่ไหมคะ ลองดูสิ ถามตัวเองสิคะ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า ใช่ไหม
ความจริงมันเป็นอย่างนั้นแต่เราไม่ยอมให้มันเป็นความจริง ก็เพราะอวิชชาที่มันครอบงำจิต มันจึงทำให้เกิดสัญญา จำได้หมายมั่นไม่ลืมเลยเชียว ที่เขาทำไว้อย่างนี้จะไม่มีวันลืม ถ้าทำดีผู้ที่มีใจกตัญญูก็ต้องหาหนทางตอบแทนซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ไม่ต้องยึดมั่น ถ้ายึดมั่นจะเดือดร้อน เราเป็นหนี้บุญคุณเขา ใช่ไหม พอเห็นหน้าทีไรก็อายว่าเราเป็นหนี้บุญคุณเขา ใช่ไหมคะ นี่คือฉัน แม้จะรู้สึกกตัญญูในทางที่ดี แต่ถ้ายึดมั่นใจมันก็ไม่สบาย รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ ยิ่งคนที่มีอีโก้มาก อุ้ย ไม่อยากเป็นหนี้บุญคุณใคร อยากเป็นอิสระ ถ้าไม่ดีก็คิดตอบแทน แก้แค้น เมื่อไหร่จะถึงทีเรามั่ง เมื่อไหร่จะถึงทีเรามั่ง เห็นไหมคะ เพราะฉะนั้นความยึดมั่นถือมั่นไม่มี...