แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ เราจะพูดกันถึงในปฏิจจสมุปบาทต่อนะคะ จากเมื่อวานนี้ ก่อนที่จะต่อก็อยากจะขอทบทวนเพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้นในใจของแต่ละท่านนะคะ ถึงอาการทั้ง 11 อาการที่เราได้พูดแล้วเมื่อวานนี้
ตอนนี้ลองดูจากภาพให้มากขึ้น อย่างเริ่มต้นจากอาการของอวิชชา ผู้เขียนภาพเป็นภาพแรกนะคะ อวิชชานี่ก็จากต้น ทางขวามือ ที่ท่านทั้งหลายหันหน้าเข้าภาพนะคะ แล้วก็ทางด้านสุดขวามือแล้วก็จะลงมาเรื่อยๆ เป็นภาพของคนพิการจูงคนตาบอด นั่นผู้เขียนตั้งใจจะแสดงลักษณะอาการของความรู้สึกภายในที่มันมีอวิชชาครอบงำจิต นั้นเป็นแต่เพียงอุปมาเท่านั้นนะคะ อุปมาให้เห็นว่าผู้ที่ตาบอดก็ย่อมไม่สามารถจะหาทางเดินได้ด้วยตัวเอง ตาบอดก็รู้สึกมืดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะแสงสว่างภายนอก สว่างเพียงใดก็ยังคงรู้สึกมืดเพราะมองไม่เห็น นั่นเป็นลักษณะของผู้ตาบอด ก็ต้องการผู้นำทางแต่เสร็จแล้วผู้นำทางเป็นผู้พิการที่ไม่อาจจะช่วยตนเองได้สักเท่าใด คือยังพอเดินได้ ผู้พิการในภาพที่เค้าเขียนนี้นะคะ ยังพอเดินได้แต่ก็อาจจะช่วยได้เพียงเฉพาะตัวเอง แต่การที่จะไปช่วยบุคคลที่ตาบอดมองไม่เห็นอะไรเลยย่อมเป็นการยาก ยากอย่างยิ่งที่จะพาผู้ที่จักษุพิการนั้นให้ไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัยและเรียบร้อย นี่คือสภาวะของจิตที่บอกว่าเมื่ออวิชชาเข้าครอบงำจิตมันเป็นอย่างนี้ ไม่ได้หมายถึงความพิการข้างนอก ผู้ที่พิการข้างนอกนี่จิตเขาอาจจะสว่างไสวภายใน ถ้าเขาได้ศึกษาฝึกฝนอบรมจิตของเขาไม่เห็นแก่ตัวเอง ไม่นึกถึงแต่ตัวเอง แต่มองดูสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยความเข้าใจ ด้วยความเข้าใจ แล้วก็ไม่มาเกาะกินอยู่กับใจของตัวเอง แล้วก็นึกถึงแต่สิ่งที่เป็นผลทางลบแต่ตัวเอง คือนึกถึงแต่ปัญหาของตนเอง นึกถึงแต่ความทุกข์ของตนเอง ถ้าหากว่าผู้ใดที่เป็นผู้พิการแต่ไม่นึกถึงอย่างนี้ ในใจของเขาก็สว่างไสว เพราะสว่างไสวด้วยความรู้สึกเห็นใจผู้อื่นและก็พยายามที่จะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ให้เกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ อย่างนี้ก็ไม่ได้มีอวิชชาครอบงำจิต แต่ที่นี้ผู้เขียนเขาอยากจะบอกให้รู้ว่า สภาวะของจิตที่มีอวิชชาครอบงำจิตนี้มันมึน มันมืดตื้อ มันมองอะไรไม่เห็น แม้ว่าจะเห็นอะไรบ้างลางๆ มีผู้มาชี้ทางบอกทาง ก็มักจะเดินไปอย่างผิดหนทาง ตกหล่ม ตกหลุม ตกบ่อ ตกเหว ล้มลุกคลุกคลาน เจ็บปวดเสียมากกว่า เขาจึงเขียนเป็นภาพคนขาเสียจูงคนตาบอด แสดงถึงภาวะของจิตที่เต็มไปด้วยอวิชชา ปราศจากความรู้ ปราศจากแสงสว่าง
ทีนี้ภาพต่อไปอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร พอสังขารที่เราแปลว่าการปรุงแต่ง เขาก็เขียนเป็นภาพของคนปั้นหม้อ กำลังปั้นหม้อใบแล้วใบเล่า แล้วก็เบื้องบนอย่างในภาพตัวจริงก็จะเห็นเป็นเมฆเป็นรูปที่เกิดขึ้น แล้วสังเกตดูหน้าของคนปั้นหม้อ มีความสุข มีความสุขเหลือเกินที่ปั้นหม้อใบแล้วใบเล่า ใบแล้วใบเล่า นั้นเขาอุปมาเท่ากับอาการของสังขาร คือความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิต ในขณะที่จิตมนุษย์คิดเพลิดเพลิน เพ้อเจ้อไปกับความรู้สึก ไปกับความจำไปกับอะไรต่ออะไรต่างๆ สนุกไหมคะ เพลินไหม คิดไปแล้วหยุดไม่ได้ นี่แหละคืออาการเหมือนกับคนปั้นหม้อ เขาทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ปั้นแล้วปั้นอีก ปั้นแล้วปั้นอีก ปั้นอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน นี่แหละ อุทธัจจะกุกกุจจะ มันอยู่ในใจ มันเป็นนิวรณ์อันนั้น แต่เขาไม่รู้ เขาก็คิดว่ามันดี หน้าตาจึงยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างมีความสุข นั่นเป็นภาพที่สองแสดงถึงลักษณะอาการของสังขารที่เกิดขึ้นในจิต
ภาพที่ 3 ก็สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณก็คือการตามรู้ ตามรู้จัก แต่เพราะอวิชชามันกำกับอยู่ที่ต้นขั้ว มันก็ทำให้การรู้นั้นรู้ผิด มิหนำซ้ำสังขารก็ยังคิดปรุงแต่งไปอย่างเพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน ไร้สาระ ไร้เหตุผล วิญญาณมันก็ตามรู้ตามความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้นโดยมีอวิชชาครอบงำจิต เขาจึงทำวิญญาณเป็นเหมือนกับรูปลิง ลิงกำลังมองเข้าไปในบ้านต่างๆ นั่นก็คือการแสดงพยายามอุปมาถึงลิง ซึ่งเป็นสัตว์ที่หลุกหลิก เล่ห์เหลี่ยม มันมีกลอุบายขี้โกงต่างๆนานาสารพัด และยิ่งเป็นลิงป่าที่ยังไม่เคยได้รับฝึกฝนอบรมเลย เพิ่งจับมาใหม่ๆจากป่า มันก็ดิ้นรน มันก็เดือดร้อน มันพยายามที่จะพยศ จะอาละวาด จะเอาแต่ใจตัว เขาจึงเล่าว่าผู้ที่ฝึกลิงอย่างทางใต้เขาฝึกลิงมาใช้การ ใช้ธุระหลายอย่าง เช่น ให้ขึ้นต้นมะพร้าวเก็บมะพร้าวมาให้ และก็ขึ้นต้นผลไม้อื่น ตลอดจนบางคนก็ฝึกลิงเพื่อมาเล่นละคร ซึ่งก่อนที่จะฝึกได้อย่างนั้นผู้ฝึกจะต้องมีความอดทน มีความใจเย็น ได้เคยดูการฝึกลิงที่เขามาฝึกให้ดู ต้องมีความอดทนมีความใจเย็นแล้วต้องมีคุณธรรมอยู่ในใจด้วยที่พร้อมจะรู้ลักษณะอาการของลิง เมื่อมันทำอาการอย่างนี้มันหมายความว่าอย่างไร ฉะนั้นผู้เขียนภาพคนนี้ที่เป็นชาวทิเบต เขาก็เขียนเป็นภาพลิงกำลังสอดส่าย เรียกว่าสู่รู้ แส่ อยากจะรู้โน่นรู้นี่ นี่คือตามอาการของสังขาร ที่บอกว่าวิญญาณเมื่อมันถูกกำกับด้วยอวิชชา มันก็ตามรู้โน่นรู้นี่ รู้อะไรต่ออะไรสารพัดซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปเสียเวลารู้ เสียเวลา เสียการงาน แล้วก็ทำให้เพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่านด้วย แต่อาการของวิญญาณในลักษณะนี้ที่มีอวิชชากำกับมันก็เป็นอย่างนี้
ที่นี้วิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเขาก็เขียนเป็นคนสองคนนั่งอยู่ในเรือลำเดียวกัน คนสองคนนี้ไม่ใช่ผู้หญิงกับผู้ชาย นามรูปก็คือกาย-จิต คนหนึ่งก็สมมติเป็นกาย อีกคนหนึ่งก็สมมติเป็นจิต นามรูปก็คือกาย-จิต แล้วก็สังเกตไหมคะว่า สองคนนี้ คนหนึ่งทำหน้าที่พายเรือ อีกคนหนึ่งนั่งเฉยๆ เพราะฉะนั้นคนที่นั่งเฉยๆก็เป็นที่สำคัญกันล่ะว่าเหมือนกับเป็นนาย ผู้ที่เป็นบ่าวก็ต้องทำหน้าที่พายเรือ ฉะนั้นก็คงจะนึกได้ว่า นายก็คือ นามรูป นายก็คือนาม หรือใจ หรือจิต ที่เป็นผู้สั่ง ผู้บงการ ฉะนั้นจิตสำคัญ เพราะมันเป็นผู้บงการชีวิต ชีวิตจะดี จะชั่ว จะสุข จะทุกข์ จะสบาย ไม่สบาย มันอยู่ที่จิต คือที่ใจ ถ้าใจที่ขัดเกลา ฝึกฝนอบรมแล้ว มันก็จะพากายนี้ไปสู่ที่ถูกต้อง ถูกต้องก็คือ ไม่เป็นทุกข์ ไม่มีปัญหา มันจะมีแต่ความเยือกเย็นผ่องใส นั่นก็คือจิตที่ได้รับการฝึกฝนอบรมแล้ว แต่จิตในที่นี้มันมีอะไรกำกับอยู่ อย่าลืม อวิชชา มันยังไม่ได้เคยฝึกฝน ไม่เคยเรียนรู้เลยว่าจะดำรงชีวิตอย่างไรจึงจะเป็นสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์ มันไม่เคยเรียนรู้ เพราะมันรู้แต่เรื่องจะเอา จะเอา จะเอา ตามอำนาจของกิเลส ของตัณหา ของความโลภ ความโกรธ ความหลง ความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้น จิตอันนี้มันก็เป็นไปตามอวิชชาที่กำกับ แต่เผอิญมันมาเป็นนายของชีวิต มันเป็นสิ่งที่กำกับชีวิต จะนำชีวิต จะเดินไปทางไหนก็เพราะจิต มันก็จึงเป็นการสำคัญ แต่ในที่นี้ ในปฏิจจสมุปบาท ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ทั้งๆที่นามรูปมันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่เพราะอวิชชากำกับ วิญญาณที่แส่รู้โน่น แส่รู้นี้ ก็เลยรู้ผิดๆถูกๆ แล้วก็ผิดเสียมากกว่าถูก ก็เลยยึดเอากายจิต ซึ่งธรรมชาติให้มาว่าเป็นตัวเป็นตน ธรรมชาติให้มาเพื่อให้มาใช้ ตามความต้องการที่ใช้ ให้เกิดความสะดวกสบายในชีวิต แต่วิญญาณที่มันรู้ผิดมันก็ยึดมั่นเอาว่านี่เป็นตัวเป็นตน จากนั้นนามรูปก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะตาหูจมูกลิ้นกายใจ 6 อย่างเป็นอายตนะภายใน แล้วเขาก็เขียนภาพเป็นรูปตึก เป็นรูปตึกหลายตึก เพื่อจะเป็นตัวแทนว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เปรียบเหมือนกับสิ่งที่เป็นวัตถุ แต่นี่เขาก็เขียนเป็นวัตถุเป็นรูปตึก ก็เป็น 6 อย่าง ซึ่งอันที่จริงก็ธรรมชาติให้มา เพื่อจะได้ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสื่อ เพื่อจะติดต่อกับโลกภายนอก หรือกับบุคคลที่มาเกี่ยวข้องเท่านั้น จะได้รู้เรื่องว่า นี้รูปอะไร นั่นเสียงอะไร นี่กลิ่นอะไร รสอะไร สัมผัสอะไร ธรรมารมณ์ความรู้สึกที่จะเข้ามามันเพียงเท่านั้น
ธรรมชาติไม่ได้ต้องการให้มาใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อแส่ส่ายให้เกิดความยึดมั่น แล้วก็นำความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่จิต ไม่ได้ตั้งใจเลย แต่เพราะอวิชชากำกับจิต มันจึงทำให้คิดผิด คิดไปด้วยความเพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน แล้วก็ทำให้เห็นผิด รู้ผิด ตามวิญญาณแล้วก็เลยเกิดความรู้สึกตู่ ยึดเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของตน จากนั้นอายตนะก็เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะนี้เขาก็ทำเป็นรูป ผู้ชาย ผู้หญิงนั่งอยู่ด้วยกัน ก็เพื่อเป็นการอุปมาว่า เมื่อผู้ชายกับผู้หญิงอยู่ใกล้กันโดยพื้นๆที่มองเห็นกัน ก็จะว่าทั้งสอง สองเพศนี้เมื่อเข้ามาใกล้กันเมื่อไหร่มันจะมีอาการกระทบกันได้โดยง่าย แต่ผัสสะนี้จะเกิดขึ้นได้ก็โปรดอย่าลืม ต้องประกอบด้วยปัจจัยหรือองค์ประกอบสามอย่างจะต้องมีอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างใดอย่างหนึ่งที่ถึงกันเข้ากับคู่ของมัน คืออายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือว่า โผฏฐัพพะและก็ธรรมารมณ์ รูปก็คู่กับตา หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับสัมผัส และก็ใจคู่กับธรรมารมณ์ คืออารมณ์ที่จะมากระทบในลักษณะต่างๆ และผัสสะจะเกิดขึ้นก็ต้องมีวิญญาณเข้ามาทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง เป็นสามองค์ประกอบ หรือสามปัจจัยด้วยกัน ถ้าหากว่าตาจะเห็นรูปแล้วจะเป็นผัสสะขึ้นมา นั่นก็คือต้องมีจักษุวิญญาณ หรือวิญญาณทางตามาทำหน้าที่ร่วม มาทำหน้าที่ร่วมทำไม ก็เพราะวิญญาณมีหน้าที่รู้จัก รู้จักมันก็จะนำเอาสัญญาที่ได้เคยเรียนรู้ ที่ได้เคยได้ฟังมาว่านี่เป็นอะไรอย่างไร ก็จะเกิดเป็นผัสสะ รู้แจ้งรู้ชัดขึ้นมา ว่านี่คืออย่างนี้ แต่ไม่ใช่รู้แจ้งทางปัญญานะคะ โปรดเข้าใจ ไม่ใช่รู้แจ้งทางปัญญาแต่มันรู้ว่านี่คืออะไรและอย่างไร ผัสสะเกิดขึ้นได้อย่างนี้ ที่นี้เพราะอวิชชากำกับอยู่ที่ต้นแถว ผัสสะก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เพราะมันเป็นอวิชชาสัมผัส อวิชชาสัมผัสก็มีอวิชชากำกับอยู่ที่หัวแถว ฉะนั้นพอผัสสะเกิดขึ้น จิตที่ไปกระทบกับผัสสะ จิตที่มีอวิชชาครอบงำ มืดมัวอยู่ด้วยความเขลา ยึดมั่นถือมั่นเป็นไปตามอำนาจของตัณหา ตามอำนาจของกิเลส มันก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เพราะจิตนั้นมันจะไปผวายึดเอาผัสสะที่เกิดขึ้น จะเป็นรูป ไม่ว่ารูปคนสัตว์สิ่งของ วัตถุใด ก็ยึดมั่นเป็นจริงเป็นจังหรือเห็นอาการกริยาที่เขาแสดง จะเป็นเดินเป็นเหิน หรือว่าวางของกระแทกแรงไปหน่อย หรือเขาหน้าบึ้งด้วย ซึ่งบางทีเขาอาจจะหน้าบึ้งเพราะว่าเผอิญใจมันไม่สบายมาจากที่บ้าน แต่ว่าจิตที่เต็มไปด้วยอวิชชา ไปผวาเอาว่า ที่เขาทำอย่างนั้นจริง จริง จริง แล้วจริงก็กระทบมาถึงใจของตัว มันจึงเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ก็คือความรู้สึกชอบใจ ไม่ชอบใจ พอใจ ไม่พอใจ แล้วเขาก็เขียนรูปแสดงอาการของเวทนาเป็นลูกศรเสียบเข้าไปที่ตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ก็คือเสียบเข้าไปตามอายตนะ แล้วอายตนะภายนอกก็เป็นสื่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นสื่อ เป็นอายตนะภายในที่นำให้ใจที่เปิดอ้ารับด้วยอวิชชา ก็เกิดเป็นเวทนา คือเป็นความรู้สึกชอบไม่ชอบขึ้นมา แล้วเวทนาก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา เพราะพอเวทนาเกิดขึ้นมันจะนำเอาสัญญาความจำได้หมายมั่นว่าอาการกริยาแบบนี้ ถ้ายิ้มแย้มแจ่มใสอ่อนหวาน สมมติกันว่าดี น่ารัก เวทนาก็ชอบ มันก็นำเอาสัญญา สัญญาคือความรู้เกี่ยวกับเรื่องลักษณะอาการอย่างนี้ ว่าหมายความว่าอย่างนี้ แล้วสังขารก็ตามมา ปรุงแต่งต่อไปเลย อย่างนี้ดี น่ารัก อยากอยู่ใกล้ อยากฟัง จะต้องพยายามให้เกิดขึ้นบ่อยๆ มีบ่อยๆ อย่างนี้เป็นต้น แล้วเสร็จแล้วมันจึงทำให้เกิดตัณหา คือความอยาก ซึ่งความอยากจะเป็นไปในลักษณะใดก็แล้วแต่