แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในระหว่างที่เราจะศึกษาจากเหตุมาหาผลกับจากผลมาหาเหตุ ก็คิดว่าถ้าเราศึกษาจากผลมาหาเหตุจะง่ายกว่า หรือจะเห็นชัดด้วยใจของเราเองจะมากกว่า ใช่ไหมคะ เพราะว่าผลของมันก็คือความทุกข์ ดูรูปนะคะ ถ้าดูรูปที่เขาเขียนก็คือ จากบนสุดซ้ายมือ บนสุดซ้ายมือ ซ้ายมือของท่านที่นั่งหันหน้าเข้าหารูปนะคะ รูปบนสุดซ้ายมือนั่นน่ะเป็นผล รูปบนสุดซ้ายมือนั่นก็เป็นรูปของตาแก่ถือไม้เท้าและก็เดินงกๆเงิ่นๆ ซึ่งแสดงถึงลักษณะของความชราสู่ความตาย และก็ความทุกข์ต่างๆ สรุปรวมความทุกข์ลงในรูปนั้น ทุกข์เพราะไม่ได้ ทุกข์เพราะพลัดพราก ทุกข์เพราะปรารถนาอะไรไม่ได้นั่นน่ะ รวมทั้งหมดเป็นความทุกข์ ซึ่งมนุษย์เรามักจะพูดเสมอ ทำไมฉันถึงต้องทุกข์ด้วย ใช่ไหมคะ ทำไมฉันต้องร้องไห้ ทำไมฉันต้องเจ็บช้ำอย่างนี้ ทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมฉันถึงต้องอึดอัด หงุดหงิด ไม่ถูกใจอยู่เรื่อยเลย ทุกคนเคยพูดไม่มากก็น้อย นี่แหละเป็นโอกาสที่เราจะสืบสาวไปดูว่า อะไรล่ะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องเป็นอย่างนี้ อึดอัด หงุดหงิด ขัดใจ เป็นทุกข์ เจ็บปวดทรมาน ร้องไห้ ขมขื่น ลิงโลด ตื่นเต้น ซึ่งทำให้จิตกระเพื่อม ผิดจากความเป็นปกติรวมอยู่ในอาการของความทุกข์ ก็ย้อนกลับมา ทำไม ความทุกข์มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะมันมีอะไร มีอะไรคะ เห็นหรือยังล่ะคะ เพราะว่าไปแล้วรอบนึง ลองว่าไปสิคะ เพราะมันมีชา-ติ คือมีชาติ เขาเขียนรูปชาติ ชา-ติ เป็นผู้หญิงกำลังคลอดลูก คือเขาเขียนเป็นอุปมาเพื่อให้มองเห็นได้ง่าย เขาก็เลยทำเป็นรูปคน ที่รูปผู้หญิงที่กำลังคลอดลูกเป็นชาติ แต่ก็อย่างที่พูดไปแล้วว่าชาติหรือชา-ติ อันนี้ที่ทำให้เป็นทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวนี้เป็นทุกข์ เพราะมันไม่ได้เป็นทุกข์ที่ปาก หรือที่แขน ที่ขา หรือที่หัวใจ ที่ปอด ที่ตับ มันเป็นทุกข์ที่ไหน เป็นทุกข์ที่สิ่งที่เรียกว่าอะไร ที่เรียกว่าจิตใช่ไหมคะ เป็นทุกข์เพราะสิ่งที่เรียกว่าจิต หรือเรียกว่าใจ ที่มันไม่มีรูปไม่มีร่างที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ มันเป็นทุกข์ที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่มี ไม่ได้ออกมาเป็นตัวตนนี้ แต่มันเป็นทุกข์เพราะมันมีความรู้สึกที่เกิดเป็นตัวเป็นตน ถ้าพูดถึงปัจจุบันขณะและให้ถูกต้อง มันเป็นทุกข์เพราะมันมีอัตตวาทุปาทาน มันมีชาติ มีชา-ติ ความรู้สึกเกิดเป็นตัวเป็นตนตามทิฐิที่ตั้งมั่นเอาไว้ ทีนี้ก็ย้อนต่อไปอีก และก็ชาติ ชา-ติ ความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนนี้มันมาจากไหน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะมันมีอะไรคะ มีภพหรือภวะ มันมีภพหรือภวะที่อมเอาไว้ยังไงล่ะ อมความความเป็นตัวฉัน อมความผู้เป็นอำนวยการ อมความเป็นประธาน เป็นรัฐมนตรี อมความเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นวิศวกร อมเอาไว้ในใจ พออะไรมาแตะ มาแตะความเป็นภพที่อมเอาไว้นี่ มันก็สะดุ้งทันที เหมือนอย่างกำลังนั่งสบายๆ อากาศดี มองดูดอกบัว แม้รู้สึกมันสบาย ขณะนั้นรู้สึกมีตัวตนไหม รู้สึกไม่มีน่ะ มันไม่มี ไม่มีความเป็นอะไรทั้งนั้น แต่ถ้าเผอิญคนเดินมาซุ่มซ่าม เตะเข้าตรงตะโพกนี่ ผาง เป็นไงคะความไม่มีตัวตนเมื่อกี้เป็นยังไงคะ โอ้โห ตัวโต สะดุ้งหันขวับ นี่ๆไม่รู้จักผู้อำนวยการ เมื่อกี้นี้มันก็อะไรอย่างนึง นั่งดูเฉยๆ มันก็เป็นสิ่งตามสมมุติ นั่งดูสบายๆ พอเเตะพับเข้าเท่านั้นแหละ ผู้อำนวยการก็ออกมา รัฐมนตรีออกมา หมอออกมา นี่หมอมีชื่อนะ ไม่รู้จักเหรอนี่ โธ่ นี่เค้าเรียกว่าเป็นหมอใจบุญด้วย แล้วดูซิทั้งๆที่หมอใจบุญก็ทำความดีนะ มีเมตตากรุณาแต่มันก็มีความเป็นตัวตน อัตตวาทุปาทานยึดเอาไว้ เห็นไหมผางออกมาเลย นี่คือภพที่อมเอาไว้ไงคะ และชา-ตินี่ มันมีชา-ติ มันมีความเกิดเป็นความรู้สึกที่เกิดเป็นตัวตน แล้วความรู้สึกที่เกิดเป็นตัวตนหรือชาตินี้มันมาจากอะไร มันก็มาจากภพ ที่อมเก็บเอาไว้เป็นนั่นเป็นนี่ และภพนี้มาจากไหนล่ะ เพราะอะไร เห็นไหมคะ เพราะมีอะไร อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น แล้วความยึดมั่นถือมั่นที่สำคัญนั้นคือยึดมั่นอะไร ยึดมั่นเป็นตัวตน ความยึดมั่นเป็นตัวตนเป็นอัตตวาทุปาทานที่ร้ายกาจที่สุด และมันก็มาจากทิฏฐุปาทานนั่นแหละ ที่มันสะสมมาจากอย่างอื่นๆ การยึดมั่นในความรู้ ในประสบการณ์ ในความเชี่ยวชาญ แล้วมันก็มารวมกันเป็นทิฏฐุปาทาน และมันก็ก่อให้เกิดอัตตวาทุปาทานโดยอัตโนมัติ ทีนี้อุปาทานนี้มาจากไหน มันเกิดขึ้นได้ยังไง เพราะมีอะไร เพราะมีตัณหา มีความอยาก อยากตามอำนาจของอะไรอยู่เสมอที่มันมาผลักดันอยู่ ตามอำนาจของกิเลส โลภ โกรธ หลง ตัวใดตัวหนึ่งเสมอ หรือบางทีก็พร้อมกัน 3 ตัวเลย ผลักดันให้รุนแรงยิ่งขึ้น และตัณหานี้มาจากไหน มันเกิดขึ้นได้ยังไง เพราะมีอะไร เพราะมีเวทนา เห็นไหมคะ เห็นไหมคะว่าเวทนานี่คือต้นเหตุของปัญหา มันมีอิทธิพลมากต่อชีวิตของมนุษย์เพียงใด เมื่อเช้าที่เราพูดถึงหมวดที่ 2 เวทนานุปัสสนาภาวนาที่ท่านให้เอาเวทนามาใคร่ครวญในการปฏิบัติธรรม
เพราะมันสำคัญอย่างนี้ มันเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาของชีวิตมนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดความทุกข์ เราจึงต้องรู้จักเวทนาให้ดี แล้วเวทนามันเกิดขึ้นได้ยังไง อยู่ดีๆมันเกิดขึ้นหรือ มันเกิดขึ้นเพราะมีอะไร ผัสสะ ผัสสะนี้มันคืออะไร อย่าลืมนะคะ ต้องพยายามทำความรู้จักกับผัสสะให้ชัดเจน ผัสสะนี่คืออะไร คือสิ่งที่มากระทบ ที่มันกระทบกัน ผัสสะจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะต้องอาศัยปัจจัยกี่อย่าง 3 อย่างนะคะ โปรดจำไว้เสมอ ผัสสะต้องอาศัยปัจจัย 3 อย่าง อย่างที่ 1 คืออายตนะภายใน กระทบกับคู่ของมันคือ อายตนะภายนอก แล้วมีวิญญาณของอายตนะภายในมาทำหน้าที่ร่วม พอ 3 อย่างนี้ทำงานร่วมกันมันเกิดเป็นผัสสะ อาจจะเป็นรูป รูปอะไรก็แล้วแต่นะคะตามที่พูดมาแล้ว เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสัมผัส ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่มากระทบ ไปกระทบกับอะไร คือนั่ง สมมุติว่านั่ง นั่งเงียบๆ นั่งสมาธินี่ มันก็หลับ หูก็ปิดไม่อยากรับอะไร แต่ใจนี้มันไม่ปิด มันยังรับความคิด รับความรู้สึก รับความจำตามสัญญาเข้ามา นี่เป็นธรรมารมณ์ มันก็ทำให้ใจเกิดปัญหา เป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าผัสสะนี่มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วก็จะมองเห็นว่าผัสสะนี้มีความสำคัญอย่างไรที่จะต้องระมัดระวัง ผัสสะสำคัญอย่างไรจึงต้องระมัดระวัง เพราะมันเป็นจุดที่ก่อให้เกิด เกิดอะไรคะ เกิดเวทนา เห็นไหมคะ ถ้าเราสามารถมีสติปัญญาทันท่วงทีในขณะที่ผัสสะเกิด เวทนาจะเกิดไหมคะ จะก่อให้เกิดเวทนาไหม ก็ไม่เกิด มันจะมีแต่ความรู้อยู่เฉยๆ รู้อยู่เฉยๆว่านั่นเป็นอะไร แต่มันจะไม่เข้าไปรัก ไปชอบ ไปยึดมั่นถือมั่นในทางลบหรือทางบวก เพราะฉะนั้น จึงต้องระมัดระวังในเรื่องของผัสสะ แล้วก็รู้จักผัสสะให้ชัดเจน ผัสสะนี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะมันมาได้ตลอดเวลาใช่ไหมคะ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีถึง 6 ประตู ไม่ใช่ประตูเดียว มีถึง 6 ประตู แต่ใน 6 ประตูนี้ประตูที่สำคัญที่สุดคือประตูอะไร ประตูใจ ประตูใจสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น การที่มาฝึกจิตภาวนาก็เพื่อที่จะฝึกการอบรม รู้จักปิดประตูที่สำคัญที่สุดนั้นด้วยสติ สมาธิ และปัญญาเพื่อเป็นการปิดที่แจ่มใส ไม่ใช่เป็นการปิดที่กดทับ หรือว่าข่มบังคับ แต่เป็นการปิดที่แจ่มใส เบิกบานพร้อมที่จะรับมือเป็นอย่างนี้ เพราะไม่มีความยึดมั่น จึงไม่มีความเก็บกด ในการที่มาฝึกเพื่อปิดประตูใจในลักษณะนี้ ฉะนั้นต้องรู้จัก ผัสสะ ว่าอ๋อ ผัสสะ นี่เอง เป็นต้นเหตุให้เกิดเวทนา และผัสสะนี้ล่ะมันมาจากไหน มันเกิดขึ้นได้ยังไง ก็เพราะมันมีอายตนะหรือที่ท่านเรียกว่าสฬายตนะ คือ อายตนะภายใน 6 อย่าง อันที่จริงอายตนะภายในมันเจาะจงเพื่อจะเกิดมาเพื่อทำเหตุให้เป็นผัสสะใช่หรือเปล่าคะ มันตั้งใจอย่างนั้นหรือเปล่าคะ เปล่า มันไม่ได้ตั้งใจเลย มันเกิดมา มันมีมาตามธรรมชาติ มันเกิดมา มีมาตามธรรมชาติ ธรรมชาติให้เครื่องมืออันนี้มา คือให้อวัยวะนี้มาเพื่อประโยชน์ต่อการสื่อสาร ติดต่อกับภายนอกให้ได้รับความสะดวกสบาย ให้รู้เรื่องกันในชีวิตที่ต้องข้องเกี่ยวกัน
เพราะฉะนั้น ธรรมชาติให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมา เพื่อทำหน้าที่ เพื่อทำหน้าที่เท่านั้นเอง ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ตามีหน้าที่ที่จะเห็นจะดูก็ทำหน้าที่เห็น หูมีหน้าที่ที่จะฟัง ก็รับฟัง จมูกมีหน้าที่ดมกลิ่น ก็ดมกลิ่น ลิ้นมีหน้าที่ลิ้มรส ก็ลิ้มรสรู้รส กายมีหน้าที่รับสัมผัส ก็เพียงแต่รู้สัมผัสนั้น และใจนี้ก็มีหน้าที่รู้สึกได้ รู้จำได้ ตามเบญจขันธ์ไงคะ รู้สึกได้ เวทนาขันธ์ รู้จำได้ สัญญาขันธ์ รู้คิดได้สังขารขันธ์ รู้จักได้ วิญญาณขันธ์ นี่มันทำหน้าที่เท่านี้เอง มันไม่ได้มีหน้าที่อย่างอื่น แล้วเคยมีบ้างไหมคะที่เรารู้สึกว่า ลืมไปเลยว่าเรามีตา ลืมไปเลยว่าเรามีหู ลืมไปเลยว่าเรามีจมูกหรือมีกาย เคยมีบ้างไหม เคยมีบางขณะที่รู้สึกอย่างนี้บ้างไหม ไม่เคยมีเลย รู้สึกว่าตาของฉัน หูของฉัน จมูกของฉัน ปากของฉัน ลิ้นฉันตลอดเวลาเลย ถ้างั้นก็ลองฝึกไปก่อน ลองนึกดูสิคะเวลาที่เรานอนน่ะรู้สึกไหมว่ามีตา จริงล่ะ ตามสัญชาตญาณเรารู้ว่ามันมีตา แต่ในขณะที่เรานอนหลับสนิทนี่มีไหมว่ามีตา รู้สึกเหมือนไม่มี ทำไมจึงรู้สึกเหมือนไม่มี เพราะในขณะนั้นมันไม่ได้ทำหน้าที่เห็น ใช่ไหมค่ะ มันไม่ได้ทำหน้าที่เห็น เราก็รู้สึกเหมือนกับไม่มี ก็เหมือนอย่างคนที่ตาบอดนี่ เขามีโอกาสจะพูดไหมว่าฉันเห็น ไม่มี หูหนวก ไม่มีโอกาสจะพูดว่าฉันได้ยิน เพราะตาของเขาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หูของเขาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ มันทำหน้าที่ มันมีเมื่อมันทำหน้าที่ ทุกอย่างนี่ก็เหมือนกัน มันมีเมื่อมันทำหน้าที่ เท่านั้นเอง เราจะรู้สึกว่ามันมีเมื่อมันทำหน้าที่ แต่เมื่อมันไม่ได้ทำหน้าที่ มันมีแต่มันก็เหมือนไม่มี มันเป็นเพียงสิ่งสักว่า ขอให้ลองดูในแง่นี้ นี่มันก็มีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วอายตนะเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันมีมาได้อย่างไร เพราะมันมีนามรูป คือ มีกาย มีใจและก็มีเป็นเบญจขันธ์ 5 ขึ้นมา มันก็เลยมีตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจตามธรรมชาติที่มันอยู่ในนั้นอยู่แล้ว ที่ธรรมชาติสร้างมาอยู่แล้ว แล้วนามรูปนี้เกิดได้อย่างไร มีได้อย่างไร เพราะมีวิญญาณ วิญญาณที่ตามรู้ผิดๆ วิญญาณมีเพราะอะไร เพราะมีสังขาร สังขารที่คิดนึกผิดๆ เพราะอะไรเป็นต้น ต้นเหตุ อวิชชา อวิชชานี่เป็นต้นเหตุ มันก็เลยทำให้เกิด ทุกอย่างนี่มันเพี้ยน บิดเบี้ยว กลายเป็นมิจฉาทิฐิ นำความทุกข์ให้เกิดขึ้นในจิต มาหมด นี่คือเราดูจากผล เราก็จะเห็นว่า อ๋อมันเป็นอย่างนี้ ตามผลของมัน
ทีนี้ถ้าดูจากเหตุ ทำไมความทุกข์จึงเกิด คนเราเป็นทุกข์นี่มันเหตุมาจากเหตุอะไร ลองย้อนกลับอีกทีสิคะ คล่องไหม อะไรเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง อวิชชา และก็เข้าใจความหมายคำว่าอวิชชาด้วยนะคะ เมื่อมีอวิชชาเกิดขึ้น มันจะต้องเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารปรุงแต่งขึ้นมาทันทีเลย และการปรุงแต่งที่อวิชชากำกับอยู่นั้น มันมักจะปรุงแต่งไปในทางที่ผิด และความหมายของคำว่าผิดในทีนี้ก็คือว่า มันก่อให้เกิดปัญหา ก่อให้เกิดความทุกข์แก่ใจของตนเอง ความหมายคำว่าผิดนะคะ คืออย่างนี้ ไม่ได้หมายอย่างอื่น ผิดเพราะมันทำให้เกิดทุกข์ คิดแล้วนำความทุกข์มาสู่ตน และก็พูดไปตามความคิดนั้นก็เกิดปัญหา นำความทุกข์มาสู่ใจ ไปทำตามนั้นเข้าก็นำความทุกข์มาสู่ใจ ฉะนั้น ความหมายคำว่าผิดนี่หมายความว่าอย่างนี้นะคะ ไม่ได้หมายความในนัยอื่น เพราะอวิชชา ถ้าอวิชชาไปครอบงำที่ไหนมันทำให้เกิดความรู้คิดที่ผิดขึ้นมาทั้งนั้น คิดตามอะไร คิดตามทิฐิของตัว คิดตามความเคยชินของตัว คิดอย่างชนิดมีตัวตนเป็นที่ตั้ง แล้วสังขารนี้เป็นปัจจัยให้เกิดอะไรต่อไป วิญญาณ วิญญาณนั้นก็ตามรู้อย่างผิดๆ ตามสังขารที่คิดผิด เพราะอวิชชากำกับ และวิญญาณนี้ก็เลยไปคิดผิด ทึกทักเอาว่ามีอะไร มีนามรูป เป็นนามรูป เป็นเงาของความเป็นตัวเป็นตนเกิดขึ้นในความรู้สึก และนามรูปนี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะหรือสฬายตนะ คืออายตนะ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะนี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะคือสิ่งที่มากระทบ ที่เป็นเหตุ ที่จะทำให้เกิด เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา แล้วทีนี้ตั้งแต่เวทนาไปนะ ตั้งแต่ด้านซ้ายไปตลอด นี่เป็นเรื่องของวิบาก เป็นผลที่เกิดขึ้นทั้งนั้น เป็นผลจากอวิชชา ที่มันทำให้คิดผิด รู้ผิด เห็นผิดจนเกิดผัสสะ แล้วเสร็จแล้วก็เป็นผล ทางด้านตั้งแต่เวทนาขึ้นไป เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ พอเกิดชาติขึ้นมาความรู้สึกเป็นตัวตน เบ่งบานขึ้นมา ความทุกข์เกิดทันที เพราะฉะนั้น ทางด้านซ้ายครึ่งซ้ายจากเวทนาไปถือว่าเป็นวิบาก คือเป็นผล
ทีนี้ถ้าลองยกตัวอย่าง ยกตัวอย่างก็ลองยกตรงผัสสะ พอมีผัสสะมากระทบ แก่แล้ว ผัสสะมากระทบแก่แล้ว แล้วก็อวิชชา ความไม่รู้ ไม่รู้อะไร ไม่รู้เรื่องของอริยสัจ 4 ว่าความทุกข์คืออะไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ดับทุกข์อย่างไรทางจะเดินให้ถึงการดับทุกข์ทำอย่างไร ไม่เคยรู้ ไม่เคยศึกษาเลย เพราะฉะนั้นก็จะมีอวิชชาอยู่ในจิต โดยมีความรู้สึกขึ้นมาตามอัตโนมัติ เหมือนอย่างที่เคยเห็น เห็นคนอื่นเขาเป็นกัน โอ๊ย แก่นี้ไม่ดี แก่นี่ไม่ดี เพราะฉะนั้น พออวิชชามันเข้ามาครอบงำจิต พอมีผัสสะขึ้นมา นี่จะพยายามชักชวนให้ลองนึกถึงในแง่ของการเกิดขึ้นจริงหรือการทำงานของมันจริงๆว่ามันจะทำงานอย่างไร ตรงไหน พอผัสสะเกิดขึ้นในใจ เช่น อุ๊ย แก่แล้ว ความแก่นี่เป็นผัสสะ มันก็ ถ้าไม่เคยฝึกฝนนะมันก็จะเกิดอวิชชา ไม่ดี น่ากลัว และก็เป็นทุกข์ในความรู้สึกอย่างนั้น มันก็จะทำให้เกิดการปรุงแต่งคือสังขาร ก็ปรุงแต่งไปในทางที่เกิด กลัวลำบาก ไม่มีใครเลี้ยงดู จะทำให้ต้องงกๆเงิ่นๆ แล้วจะทำยังไง จะอยู่คนเดียวอย่างไร จะตายคนเดียว เห็นไหมคะ ปรุงแต่งไปเรื่อย สังขาร ปรุงแต่งไปสารพัด และมันก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ตามรับรู้สังขารว่ายังไง คือปรุงแต่งว่ายังไง แหม มันจะลำบากนะ เอ้อลำบาก มันจะอยู่คนเดียว แย่เลย เออจริง นี่มันเหลือในลักษณะ มันจะเป็นอีทำนองนั้น นี่พูดถึงถ้ามันจะเป็นในลักษณะของการเกิดขึ้นจริง แล้วมันก็ปรุงแต่ง วิญญาณนี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ก็เกิดความยึดมั่น มองเห็นตัวตนนี้เป็นเงาขึ้นมาลางๆ เป็นเงา เป็นจริงเป็นจัง มีความเป็นตัวตนขึ้นมาที่จะต้องกลัว กลัวตัวตนอันนี้จะลำบาก เพราะไม่รู้ว่า มันไม่ใช่ที่ตัวตนนี้ มันที่ใจ ที่ข้างใน ที่ความรู้สึกที่คิดผิด แล้วเสร็จแล้ว นามรูปนี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยึดมั่นถือมั่น เอาเป็นจริงเป็นจัง เป็นตาของฉัน ตาจะเจ็บ ตาสั้น ตามองไม่เห็น ตาจะพิการ ก็เจ็บปวด ไม่สบาย มีความคิดยึดมั่นต่างๆนานาสารพัด แล้วอายตนะนี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะต่อขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง แล้วทีนี้มันก็ทำงานร่วมกันไปอีก
นี่ขอให้ลองไปคิดดู แล้ววันนี้ถ้าหากว่านั่งสมาธิไม่ได้ ตามลมหายใจไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ลองนึกรอบของปฏิจจสมุปบาทนะคะ แล้วก็ลองทวนฐานจากผลมาหาเหตุ ทำไมเราถึงทุกข์ เลือกเรื่องที่ติดอยู่ในใจ ที่ใจเราเป็นทุกข์หยิบมันมา และก็ลองค้นมันไปแต่ละอาการ แต่ละอาการ แต่ละอาการ จนไปพบต้นเหตุ และเสร็จแล้วก็ตั้งต้นจากเหตุใหม่ ค้นหาว่าอะไรเป็นเหตุ จากอวิชชาลงมา แล้วจะคล่องขึ้น คล่องด้วยความเข้าใจตามสติปัญญาก่อน และก็มาศึกษายิ่งขึ้น จะค่อยๆ มองเห็นชัดในอาการของปฏิจจสมุปบาทว่าแท้ที่จริงมันเป็นเพียงกระแสของการที่ปัจจัยอาศัยซึ่งกันและกันแล้วเกิดขึ้นเท่านั้นเอง เราจะยังพูดต่อไปอีกนะคะ ยังไม่จบ แต่วันนี้ก็ขอทำความเข้าใจเพียงเท่านี้ แล้วก็โปรดลองใคร่ครวญดูในใจ จะสามารถเข้าใจในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทชัดขึ้นด้วยการที่ใคร่ครวญข้างในด้วยตนเองเท่านั้น เชิญพักได้ค่ะ