แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้ก็หันมาดูว่า ถ้าเราจะศึกษาปฏิจจสมุปบาท จะศึกษาอย่างไร ก็ศึกษาได้ทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ คือฝ่ายเกิด ท่านเรียกว่า “สมุทยวาร” สมุทยวารก็จากสมุทัย ส ม สระอุ ท ย วารก็วาระนั่นน่ะ สมุทยวารก็คือฝ่ายเกิด หมายความว่า ศึกษาว่าความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร และก็ศึกษาฝ่ายดับ ท่านเรียกว่า “นิโรธวาร” ก็คือนิโรธ นิโรธวาร ก็คือศึกษาว่าแล้วความทุกข์จะดับไปได้อย่างไร นี่เราศึกษาจากปฏิจจสมุปบาท เราจะมีความรู้ในเรื่องว่า ความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วความทุกข์นี้จะดับไปได้อย่างไร
ทีนี้ในการที่จะศึกษาเรื่องความทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร หรือศึกษาฝ่ายเกิด ก็ยังมีวิธีศึกษาได้ 2 อย่าง สองอย่างก็คือ จะศึกษาจากเหตุไปหาผล คือจากอวิชชาไปหาทุกข์ที่เป็นผลก็ได้ หรือจะศึกษาจากผล ย้อนสาวกลับไปหาเหตุก็ได้ ว่าทุกข์นี้มันเกิดขึ้นจากอะไร นี่เป็นวิธีของการศึกษาปฏิจจสมุปบาทนะคะ
รูปที่เห็นอยู่นี้ เป็นรูปที่เขียนโดยชาวทิเบต รูปที่เขาเขียนคืออย่างนี้ค่ะ ที่ถ่ายคัดลอกมาจากต้นฉบับเป็นรูปนี้ อันนั้นนั่นเป็นผู้อื่นที่คัดลอกจากต้นฉบับ ฉะนั้นก็ โดยส่วนรวมความหมายของแต่ละอาการก็อันเดียวกัน แต่ว่าอาจจะมีอะไรแตกต่างไปในภาพนั้นบ้าง แต่ความหมายก็คืออันเดียวกัน เป็นรูปเขียนของช่างเขียน ศิลปินชาวทิเบต ซึ่งก็แน่นอนล่ะ ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมะ จึงเขียนรูปให้มีความหมาย แทนความหมายของชื่ออาการของปฏิจจสมุปบาทแต่ละอาการ ถ้าหากว่าจะไปฟังการอธิบายเรื่องของปฏิจจสมุปบาทจากหลายๆ แห่งนะคะ ก็ขอบอกไว้ล่วงหน้าว่า อาจจะได้ฟังคำอธิบายที่แตกต่างกันไป แต่ทว่าที่เลือกอธิบายอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน ว่าช่วงระยะเวลาที่มนุษย์ควรจะศึกษา และก็บังคับจิตให้อยู่ให้ได้ตรงนั้นในระหว่างอดีต อนาคต ปัจจุบันนั้น ท่านสอนให้อยู่ที่ไหน ให้อยู่กับอะไร
ให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ท่านทรงสอนให้อยู่กับปัจจุบันขณะ อดีตก็ล่วงไปแล้ว อะไรเกิดขึ้นก็ผ่านไปแล้ว ดี ก็ดีแล้ว ชั่ว ก็ชั่วแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ อนาคตก็ยังไม่มาถึง จะวิตกกังวลสักเท่าใดก็ทำอะไรไม่ได้เพราะมันยังไม่มาถึง จะหวังอะไรสักเท่าไรก็ไม่ใช่ว่าจะได้เพราะมันยังไม่มาถึง ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้มนุษย์ทั้งหลาย “จงอยู่กับปัจจุบันขณะ”
จงอยู่กับปัจจุบันขณะ ปัจจุบันขณะนี้แหละเป็นขณะที่มีค่าที่สุดในชีวิตของเรา จริงไหมคะ เราร้องไห้ก็เดี๋ยวนี้ ใช่ไหมคะ ไม่ใช่ร้องไห้สำหรับอนาคต ฉันร้องเผื่อไว้ก่อน เผื่อว่าปีหน้าผู้ที่ฉันรักน่ะจะตาย ร้องเอาไว้ก่อน มันก็ร้องไม่ได้ หรือว่าสิ่งที่มันผ่านมาแล้ว มันเจ็บปวดขมขื่นเท่าไร ตอนนั้นก็ทุกข์ระทมแสนสาหัส บัดนี้อยากจะทุกข์ระทมอย่างนั้นอีก มันก็ยังไม่เหมือนเพราะมันผ่านไปแล้ว แล้วเพื่ออะไร ที่หยิบมันมาอีกน่ะเพื่ออะไร เพื่อลงโทษตัวเอง ทำโทษตัวเอง เจ็บคราวเดียวไม่พอ ต้องมาตีมันซ้ำ ให้เจ็บมากๆหลายๆครั้ง แล้วก็เสียแรงเสียเวลาแทนที่จะใช้เวลานั้นให้เกิดประโยชน์ ท่านจึงบอกว่า “จงอยู่กับปัจจุบันขณะ” แล้วก็รู้จักใช้ปัจจุบันขณะนี้ หรือกระทำปัจจุบันขณะนี้ด้วยความถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์ 8 คือด้วยสัมมาทิฏฐิที่เราพูดกันแล้วนั้น
ถ้าเราทำปัจจุบันขณะนี้ถูกต้อง ศึกษาใคร่ครวญให้ถูกต้อง และกระทำอย่างถูกต้อง ถูกต้องนั้นคือเพื่อเกิดประโยชน์ ไม่ใช่ประโยชน์เพื่อตัวเอง แต่เป็นประโยชน์เพื่อสิ่งที่เราทำหรือเพื่อการกระทำนั้นให้เกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และโดยเฉพาะตัวเราเองก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้น จงอยู่กับปัจจุบันขณะ และถ้าเราทำปัจจุบันขณะถูกต้อง ปัจจุบันขณะนี้กำลังคืบไปสู่อะไร นี่เรากำลังพูดอยู่เดี๋ยวนี้ เราพูดกันมาตั้งแต่เช้า ตั้งแต่เก้าโมงเช้า เดี๋ยวนี้อีกสิบนาทีจะหกโมง เห็นไหมคะ ปัจจุบันขณะนี้ก็คือการคืบไปสู่ ไปสู่ อนาคตอย่างรวดเร็วเลย แล้วมันก็ทิ้งปัจจุบันขณะนี้เอาไว้เบื้องหลัง กลายเป็นอดีต เห็นไหมคะ ปัจจุบันขณะก็คือมาจากอดีต แล้วก็จะไปสู่อนาคต มันเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกลาง ใช่ไหมคะ เป็นสิ่งที่มนุษย์จะรู้สึกร้อนรู้สึกหนาว ก็ที่ปัจจุบันนี้ เจ็บปวดขมขื่นก็ปัจจุบันนี้ ร่าเริงยินดีก็ปัจจุบันนี้ หัวเราะร้องไห้ก็ปัจจุบันนี้
แล้วทำไมจึงไม่รู้จักที่จะทำปัจจุบันนี้ให้ถูกต้อง ถูกต้องก็คือโดยธรรม กระทำทุกอย่างโดยไม่นึกถึงตัวเองเป็นที่ตั้ง ฝึกอันนี้ ฝึกทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะหน้าที่อะไรทั้งนั้น จะเล็กหรือจะใหญ่ทำให้ถูกต้อง โดยให้เกิดผลเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และเราผู้ทำก็มีความอิ่มใจ พอใจ เบิกบาน เป็นสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้นท่านจึงสอนเรื่องปัจจุบันขณะ เพื่อประโยชน์อะไร ก็เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตนี้ทันตาเห็น ใช่ไหมคะ ทันตาเห็น เพราะถ้าหากว่าเราทำถูกเดี๋ยวนี้ เราเองแหละเป็นยังไง พอใจ อิ่มใจ เบิกบาน แล้วก็รู้สึกนิยมนับถือตัวเองขึ้นมา เออ ไม่เสียทีนะ ไม่ต้องให้คนอื่นเขาชม คนอื่นเขาชม ยังไม่แน่ว่าเขาชมจริงหรือชมหลอก แต่ถ้าเรา ตัวเราเองเราสำนึกได้ เออ คุ้มค่านะแก่การที่เราเกิดมา ไม่เสียทีนะที่เราเกิดมา มันชื่นใจใช่ไหมคะ แล้วมันชื่นใจจริงๆ แล้วก็จะมีกำลังใจที่จะทำถูกต้องต่อไป
เพราะฉะนั้น ปัจจุบันขณะนี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญที่พึงกระทำ ฉะนั้นการที่เราจะพูดกันถึงปฏิจจสมุปบาท เราจึงจะไม่พูดถึงอดีต ไม่พูดถึงอนาคต จะพูดก็ได้ แต่มันช่วยไหม ช่วยปัจจุบันนี้ไหม มันไม่ได้ช่วยอะไรกับปัจจุบัน อาจจะไปทำให้เกิดความหลง หลงติดอยู่กับอดีต แล้วก็พะวักพะวนกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ก็เลยเป็นเหตุปัจจัยให้ไม่สามารถจะทำปัจจุบันให้ถูกต้องและเกิดประโยชน์อย่างที่สุด เพราะฉะนั้นก็โปรดเข้าใจว่า ตั้งใจพูดเฉพาะปัจจุบันขณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตในปัจจุบัน แล้วก็มองเห็นได้ในปัจจุบัน ใช่ไหมคะ ไม่ต้องไปถามว่า เขาว่าอย่างนี้จริงไหม ถ้าเขาว่าจริง ก็จริงของเขา แต่เราก็ไม่สามารถจะเห็นจริงได้ด้วย ถ้าตามหลักกาลามสูตรแล้ว การที่จะศึกษาปฏิจจสมุปบาทในปัจจุบันขณะนี้เป็นการถูกต้องตามพระพุทธประสงค์ โดยถือตามหลักกาลามสูตรเข้ามาสนับสนุนด้วย
ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อว่า ดิฉันจะได้ไม่ต้องตอบคำถาม ชาติก่อนมาจากไหน แล้วตายแล้วฉันจะไปเป็นอะไร ไม่รู้ ตอบไม่ได้ ไม่มีความรู้ แล้วเราก็จะไม่มีเวลาพูดกันอย่างนั้นด้วย เอาแต่ปัจจุบันนี่ก่อนเถอะ ให้เรารู้ปัจจุบันของเราขณะนี้ที่เรายังลืมตาอยู่ ยังรู้สึกร้อนรู้สึกหนาวได้ รู้สึกเจ็บปวดได้ ยังโง่ ยังฉลาดได้ เอาเดี๋ยวนี้ แล้วเราไม่ต้องไปถามใคร เพราะเราพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นก็ขอตัดปัญหาไว้ก่อน ไม่ต้องถาม ถามก็ไม่รู้ เพราะยังไม่เคยตาย ไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหน แต่รู้ว่าตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็ทำให้มันถูกต้อง แล้วความทุกข์มันจะได้ลดลง ปัญหามันลดลงมันก็เย็นขึ้น
ฉะนั้นก็หันมาดูปฏิจจสมุปบาทนะคะ เราจะลองศึกษาปฏิจจสมุปบาทซึ่งมีวิธีศึกษา 2 ทางในเรื่องของฝ่ายเกิด จะศึกษาจากเหตุไปหาผลก็ได้ หรือจะศึกษาจากผลไปหาเหตุก็ได้