แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตาคู่กับรูป หรือรูปคู่กับตา เสียงคู่กับหู กลิ่นกับจมูก รสคู่กับลิ้น สัมผัสคู่กับกาย แล้วก็โผฐธัพพะหรือธรรมารมณ์คู่กับใจ มันมีเพื่อทำหน้าที่เพื่อสื่อสารเท่านั้น แต่วิญญาณจะเข้ามาสอดแทรกในอายตนะแต่ละอย่าง ก็จะทำให้เกิดการรับรู้ตามนั้นขึ้นมา ถ้าวิญญาณไม่ได้ทำหน้าที่ มันเฉยๆ มันก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่กระทบ นี่อย่างเรานั่งอยู่เฉยๆ ตาเราผ่านเรากระทบอะไรต่างๆเยอะแยะใช่ไหมคะ นั่งอยู่นี่เดี๋ยวก็กระทบต้นไม้ กระทบรูป กระทบพระพุทธรูป ดอกไม้ ก้อนหิน ผู้คน คนอื่น โต๊ะ กระทบสารพัด ใช่ไหม แต่เราไม่รู้สึก คือเราไม่รู้สึกเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กระทบ ใช่ไหมคะ เรามองผ่าน มองผ่าน มองผ่าน ไม่กระทบ เมื่อใดที่วิญญาณเข้ามาแทรกเมื่อใดมันทำให้สิ่งนั้นมีความหมายขึ้นมา มันจะเป็นรูปที่ปรากฏ แล้วมันก็ สัญญามันก็จะเกิดเลยทีเดียว รูปนั้นเป็นรูปอะไร เป็นคน ผู้ชายหรือผู้หญิง รู้จักรึเปล่า ถ้าเป็นคนรู้จัก มันก็มีความจำเกี่ยวกับคนนั้นต่อไปอีก ว่าความรู้จักกันนั้นในลักษณะอาการใด เป็นมิตร เป็นเพื่อน หรือว่าเป็นคนไม่ชอบหน้าจนถึงเป็นศัตรู หรือเป็นผู้มีบุญคุณ เป็นผู้มีน้ำใจ อะไรต่างๆเหล่านี้ พอวิญญาณทำหน้าที่ พอวิญญาณของตาทำหน้าที่ที่เรียกว่าจักษุวิญญานทำหน้าที่ พร้อมกับที่ตากระทบกับรูป วิญญาณทางตา คือ จักษุวิญญาณทำหน้าที่ มันก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ
ผัสสะก็คือสิ่งที่กระทบ ซึ่งมันจะต้องประกอบไปด้วย อายตนะภายในหนึ่ง อายตนะภายนอกหนึ่ง แล้วก็วิญญาณของอายตนะภายในมาทำหน้าที่ประกอบเป็น 3 อย่าง ก็จะเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ ฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า แม้แต่ผัสสะมันก็เกิดขึ้นเองไม่ได้ มันต้องอาศัยปัจจัย ปัจจัยของอายตนะภายในประกอบ คือ กระทบกับอายตนะภายนอก แล้ววิญญาณของอายตนะภายในเข้ามาทำหน้าที่ ก็เกิดเป็นผัสสะขึ้นมา ทีนี้พอผัสสะเกิดขึ้น สังขารที่มันคงคอยเข้ามาแทรกอยู่เรื่อยตลอด ถ้าอวิชชาครอบงำอยู่ข้างบน ผัสสะนี้ก็จะมีอำนาจอิทธิพล คือ มีเป็นปัจจัยที่มีอำนาจที่ทำให้เกิดเวทนา เวทนาก็คือความรู้สึกกระเพื่อมขึ้นในจิตด้วยความชอบไม่ชอบ พอใจไม่พอใจ อย่างที่เราพูดเรื่องเวทนาเมื่อเช้านี้ ก็จะมีเวทนาในลักษณะใดลักษณะหนึ่งในสามอย่างนั้น คือ สุขเวทนา หรือทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ส่วนมากมันจะอยู่ใน 2 อย่าง คือ อยู่ในสุขหรืออยู่ในทุกข์ คือชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ รักหรือเกลียด มันจะอยู่ในระหว่างสิ่งคู่มากกว่า
ทีนี้พอเวทนาเกิดขึ้น มันก็เฉยๆไม่ได้ พอมีความรู้สึกเกิดขึ้นว่าชอบหรือชัง มันเฉยไม่ได้ มันจะนำเอาสัญญาตามมาทันที มันจะเกิดสัญญาสำคัญมั่นหมายในเวทนานั้น ว่านี่ชอบ ถูกใจ น่ารัก ดี แล้วมันก็ไม่หยุดเพียงแค่นั้น มันก็จะนำพรรคพวกของมันเข้ามา สังขารซ้ำเข้ามาอีก เกิดความคิดเชียว มันดีอย่างนี้ มันน่ารักอย่างนี้ มันน่าชมอย่างนี้ ต้องเอา ก็พาตัณหาตามมา
เพราะฉะนั้น เมื่อมีเวทนาเกิดขึ้น มันจะไม่หยุดเฉย มันก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา คือ ความอยาก ความต้องการตามอำนาจของกิเลส เราก็ได้พูดถึงชนิดของตัณหาแล้วเมื่อตอนที่พูดถึงสมุทัยในอริยสัจว่ามันมี 3 อย่าง มันจะเป็นตัณหาอย่างไหน ก็สุดแล้วแต่ว่าเป็นเวทนาอย่างไหน ถ้าเวทนานั้นเป็นเวทนาในทางบวก คือ สุขเวทนา ชอบ ถูกใจ ก็จะเป็นตัณหาอย่างไหน อยากได้หรือไม่อยากได้ กามตัณหา เมื่อเป็นกามตัณหาเกิดขึ้น มันก็พ่วงเอากิเลสเข้ามา หรืออันที่จริงก็อำนาจของกิเลสที่ซ่อนอยู่นั่นจะแสดงตัวชัดขึ้นมา เป็นกิเลสพวกไหนล่ะคะ อยากได้ โลภ เห็นไหมคะ ถ้าเป็นสุขเวทนา มันกระตุ้นให้เกิดตัณหา และตัณหานั้นก็ผสมกับกิเลสแห่งความโลภ อยากจะกวาดเข้ามา อยากจะดึงเข้ามา อยากจะโกยเข้ามาเป็นของฉัน จะเป็นรูปธรรมก็ตาม เป็นนามธรรมก็ตามเพราะมันชอบ แต่ถ้าเวทนาเป็นทุกขเวทนา ตัณหาก็จะเป็นชนิดไหน วิภว ไม่ชอบ ไม่เอา ไม่เป็น ไม่ถูกใจ มากับกิเลสตัวไหน โทสะ ผลักออกไป ผลักออกไป นี่เป็นอาการที่เกิดขึ้น เราจะบอกว่ากิเลสตัวไหนอย่าลืมดูอาการที่เกิดขึ้นภายในนะคะ ผลักออกไป ไม่เอา ไม่เอา ไม่ชอบ
ในขณะนี้ จะสุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม ภายในเป็นยังไงคะ ปกติไหมคะ อย่าลืม ปกติไหมคะ ไม่ปกติ ซัดส่าย ซัดส่าย สั่นสะเทือน โยนขึ้นโยนลง กระโดดโลดเต้น ไม่เป็นอันนิ่งสงบได้เลย เพราะเวทนาเข้าไปรบกวน มันมีอิทธิพลมาก แล้วเมื่อตัณหาเกิดขึ้น ก็ไม่หยุดแค่นั้น สังขารมันก็มาปรุงอีก เมื่ออยากแล้วก็ต้องเอาสิ ต้องเอา ต้องเอา ต้องเอาให้ได้ เพราะฉะนั้น ตัณหาก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน คือ ยึดมั่น ถือมั่น ว่าจะต้องเอาให้ได้ ถ้าเป็นสุขเวทนา ถ้าเป็นทุกขเวทนา ก็ต้องผลักไส กำจัดออกไปให้ได้ ไม่เอา หาหนทางเอามันออกไปให้พ้น นี่อุปาทานคือความยึดมั่นในทิฏฐิที่เกิดขึ้น ตามสังขารที่ถูกกำกับด้วยอวิชชา มันเป็นมาตลอด แล้ววิญญาณนี่ก็ตามรู้ไปด้วย สอดแทรกเข้ามาด้วย ทั้งๆที่มันปรากฏครั้งเดียวในนี้
ทีนี้อุปาทานก็ควรจะทราบถึงลักษณะของอุปาทานไปด้วย ว่าอุปาทานที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นนั้นท่านแยกออกเป็น 4 อย่าง บางท่านอาจจะทราบแล้วนะคะ 4 อย่างก็มี กามุปาทาน กามุปาทานก็มาจากกามบวกกับอุปาทาน ก็เป็นกามุปาทาน ก็คือความยึดมั่นถือมั่นในกาม ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ถูกอกถูกใจ รวมทั้งกามารมณ์ได้ด้วย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ถูกอกถูกใจ ยึดมั่น ยึดมั่นว่าอะไร ยึดมั่นว่ามันดี ยึดมั่นว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนี้แหละมันเป็นอุปกรณ์ของชีวิตที่จะขาดเสียไม่ได้ ใช่ไหมคะ นี่ที่มีอยู่ในใจ มากหรือน้อยก็ตาม มันมีอยู่ในใจ ถ้าจะมีรูป มีคนสักคนมาอยู่ด้วยก็ต้องเอาสวยๆ เก๋ๆ หล่อๆ มีเสน่ห์ น่ารัก ต้องนึกถึงรูปที่สวย หรือจะไปเลือกซื้อเสื้อผ้า ก็ต้องเอาชุดที่มันเท่ห์ที่สุด ต้องเอาที่มันเก๋ มันสะดุดตาคนที่สุด จะสร้างบ้าน จะซื้อรถยนต์ หรือว่าจะทำอะไรที่เป็นวัตถุ ที่มันเป็นรูป ก็จะเลือกเอาในทางข้างบวก คือ ที่ดี ที่งาม ที่สวย ที่ถูกใจ นี่ยึดมั่น ยึดมั่นมาตั้งแต่เกิดตามสมมติสัจจะเพราะความเคยชิน เสียงก็อยากไพเราะ เพราะฉะนั้น นักดนตรีเดี๋ยวนี้ โอ้โห นับไม่ถ้วน แล้วก็หูคนโบราณคร่ำครึอย่างดิฉัน ฟังแล้วก็ไม่ค่อยรู้หรอกว่าร้องอะไร ได้ยินแต่เสียงที่ลากไปพร้อมกับดนตรีที่ออกมากลบ จนคำอะไร สำเนียงอะไรก็ฟังไม่ค่อยจะออก แล้วก็อดนึกไปถึงนักร้องโบราณไม่ได้ แหม พอร้องอะไรนี่มันจะแจ้ง ชัดเจน ซาบซึ้ง แล้วมันก็ออกมาจากความงามของเสียง ที่เค้าได้ฝึกปรือแล้วอย่างดี ไม่ต้องอาศัยดนตรีมากลบสักเท่าไหร่เลย เดี๋ยวนี้นักร้องมากมายเกิดขึ้นเป็นเห็ดเลย ตามคลับ ตามบาร์ ตามผับทั้งหลายก็ ถ้าไม่มีนักร้อง ไม่ครบองค์ เป็นผับไม่ได้ เป็นบาร์ไม่ได้ เป็นคลับไม่ได้ เห็นไหมคะ นี่คือความยึดมั่น ว่าต้องฟังเสียงเพราะๆ แล้วก็เพราะของคนหนึ่ง ก็อาจจะไม่เพราะของคนหนึ่ง อย่างเพราะของเดี๋ยวนี้ก็ไม่เพราะสำหรับดิฉัน แล้วที่เพราะสำหรับดิฉันก็อาจจะไม่เพราะสำหรับหลายๆคนเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า ที่เพราะนี่ จะมาตัดสินกันว่านี่เพราะ แล้วต้องเพราะไม่ได้ คือ ไพเราะ แล้วต้องไพเราะไม่ได้ใช่ไหมคะ เพราะมันเป็นสมมติสัจจะ มันเปลี่ยนได้ตามทิฏฐิ ตามทัศนคติ รสนิยมของแต่ละคน แล้วก็ยึดมั่น กลิ่นก็ต้องหอม เพราะฉะนั้น มันถึงแพง เครื่องสำอางทั้งหลาย ขึ้นราคาแพง ผู้หญิงคนไหนที่งดเว้นเครื่องสำอางได้ ก็นับว่าเป็นคนฉลาดมิใช่น้อย แล้วก็น่าเสียดายที่ผู้ชายเดี๋ยวนี้ก็เกิดมาหลงเครื่องสำอางเหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะแย่งผู้หญิงหรือยังไง ซึ่งสมัยก่อนไม่มี เดี๋ยวนี้ต้องมี ต้องทาอะไรให้มันแดงๆสักหน่อย ต้องทาอะไรให้มันดำๆสักหน่อย ยิ่งเวลาไปออกรายการก็ต้องแต่งตัวด้วย ก็น่าแปลก นี่เครื่องสำอางมันก็ออก มันก็ขายดีมีราคาเพราะรูป เสียง กลิ่น รสก็ต้องอร่อย อย่างที่ว่าแล้วว่า ร้านอาหารก็เพิ่มมากขึ้น แล้วส่วนมากไม่น้อยที่อร่อยตามโฆษณา แล้วคนก็ไปหลงซื้อ ก็เพราะติดยึดมั่นในความอร่อยของรส สัมผัสก็ต้องอ่อนโยน นิ่มนวล เพราะฉะนั้นจึงมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ประกาศขาย เพราะความเจริญทางเทคโนโลยีก็ผลิตอะไรต่ออะไรต่างๆ ขึ้นมาเยอะเพื่อให้เกิดการสัมผัสทางกายที่ติดอกติดใจยิ่งขึ้น ทีนี้ส่วนใจ นั่นเป็นเรื่องของธรรมารมณ์ ความรู้สึก แต่สิ่งที่จะกระตุ้นมากที่สุดนี่ ก็คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาม มาบวกกับอุปาทาน ก็คือ กามุปาทาน แล้วมันก็มากระตุ้น กระตุ้นใจที่ถูกอวิชชาครอบงำจิต ให้เกิดความลุ่มหลง แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าไปดูเถอะ ที่เค้าเบียดเบียน แก่งแย่ง ทุบตี ฆ่าฟันกันทุกวันนี้ ไปดูเถอะค่ะ อะไรเป็นเหตุ ตอบได้ไหมคะ อะไรเป็นเหตุ กามเป็นเหตุ เรื่องของกามทั้งนั้นเป็นเหตุ คือมัน กามนี่มันจะเป็นเบื้องต้น คือมันกระตุ้นให้เกิดความอยากความต้องการ แล้วก็กระทำเพื่อสิ่งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือสิ่งที่เรียกว่ากามารมณ์ ทีนี้ ทิฏฐิอย่างที่สองที่จะพูดถึงก็ สีลัพพตุปาทาน สีลัพพตุปาทาน สอเสือ สระอี ลอลิง ไม้หันอากาศ พอพาน พอพานอีกตัวนึง ตอเต่า สระอุ สีลัพพตุปาทาน ก็คือ สีลัพตะ บวกกับอุปาทาน สีลัพพตุปาทาน ก็หมายถึง ศีล และพรต ความเชื่อมั่นในศึลและพรต บางท่านก็อาจจะหมายถึงศีลที่รับ แต่ว่าความหมายที่กว้างก็จะหมายถึง ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เคยประพฤติปฏิบัติมา เคยประพฤติปฏิบัติมาตามขนบธรรมเนียมประเพณีบ้าง ตามวัฒนธรรม ตามความเคยชิน ตามสิ่งที่ได้รับการสั่งสอนอบรมมาบ้าง และก็รวมกับความเคยชิน ว่าต้องทำอย่างนี้ ตามสมมติสัจจะนั่นแหละค่ะ ตามสมมติสัจจะ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมมารยาทของไทยก็มีวิธีการที่ว่าควรจะต้องปฏิบัติอย่างนี้ถึงจะเป็นคนงาม คนดี คนน่ารัก คนมีมารยาท เรียกกันว่าเป็นผู้ดี ถ้าทำอีกอย่างหนึ่งก็ไม่ใช่ ถ้าใครไปทำอีกอย่างก็ต้องมีการว่ากัน ว่าอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ฉะนั้น สีลัพพตุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เคยทำมา เคยประพฤติ เคยปฏิบัติมาจนกระทั่งเป็นความเคยชิน แล้วมันก็ไม่เท่านั้นนะ มันยึดถือด้วยว่ามันถูกต้อง ถ้าคนอื่นทำผิดไปจากนี้ก็ไม่ถูกต้อง เหมือนอย่างประเพณีทางเหนือ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางใต้ หรือว่าทางภาคกลาง เราก็จะมีเห็นว่า มีความยึดมั่นในการประพฤติปฏิบัตินั้นไม่เหมือนกันเสียทุกอย่าง จะเป็นในเรื่องการกิน การนอน การแต่งตัว การพูดจา มารยาท รวมไปจนถึงการแต่งงาน ชีวิตในครอบครัวมันจะมีแตกต่างกันไป นี่เป็นสีลัพพตุปาทาน และก็ยึดมั่นถือมั่นมาถกเถียงกันว่าของใครดี ของใครใช้ได้ อย่างเวลานี้ก็มีสีลัพพตุปาทานเกี่ยวกับวัฒนธรรมตะวันตกที่คนตะวันออกหรือว่าคนไทยไม่น้อยกำลังยึดมั่นถือมั่นที่จะเลียนแบบ ตามวัฒนธรรมตะวันตกว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วละก็ดีงามถูกต้อง อย่างที่พูดมาแล้วนั่นน่ะนะคะ นี่คือความยึดมั่น
ทีนี้อุปาทานอีกอันหนึ่งซึ่งสำคัญทีเดียว ก็คือ ทิฏฐุปาทาน ก็คือ ทิฏฐุนี่แหละค่ะ แต่เปลี่ยนจากสระอิ เป็นสระอุ คือ ทิฏฐิบวกกับอุปาทาน เป็นทิฏฐุปาทาน นั่นก็คือความยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็นของตน เราได้พูดเรื่องทิฏฐิเมื่อวานนี้มากแล้วนะคะ แล้วก็อยากจะขอให้ช่วยใคร่ครวญดูว่า ที่คนเราทะเลาะกัน ยอมกันไม่ได้ เวลาประชุมสัมมนากัน อภิปรายกัน ในระหว่างนั้นก็หน้าดำหน้าแดงเข้าใส่กัน พอออกจากห้องประชุมสัมมนาแล้วก็ไปกันคนละทางเลย ต้องแยกกัน รวมกันไม่ได้ พูดกันไม่ได้ เพราะอะไร ตอบได้ไหมคะ เพราะอะไร เพราะอุปาทานตัวไหน เพราะทิฏฐิของตนนี่แหละใช่ไหมคะ เวลาที่พูดกันในที่ประชุม ผมว่าอย่างนี้ อีกคนนึงบอกว่า ผมว่าอย่างนี้ดีกว่า ถูกกว่า อีกคนก็ว่า ผมเรียนมาแล้ว ผมเรียนรู้มาแล้ว ทฤษฎีว่าอย่างนี้ ประสบการณ์ในการทำงานผมก็ยืนยันว่าต้องอย่างนี้ เห็นไหมคะ นี่คือความยึดมั่นในทิฏฐิ ทิฏฐิที่เกิดจากอะไร เกิดจากความรู้ที่ได้เล่าเรียนศึกษามา เกิดจากประสบการณ์ที่ได้กระทำมา เกิดจากความเคยชินที่ปฏิบัติอย่างนี้มา เกิดจากการอบรมที่เคยได้รับมาแต่เล็กแต่น้อย หรือจากวัฒนธรรม จากสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างที่เคยประสบมานี่ ทำมากเข้า มากเข้า มากเข้า ก็ค่อยๆหล่อหลอมขึ้นมาในความคิดว่า สิ่งนี้ถูกหรือสิ่งนี้ผิด คือตัดสินทันที เพราะความเคยชินมาก เคยชินมาก จนประกาศว่า อย่างนี้แหละถูก อย่างนี้แหละผิด ถ้าอย่างนี้ใช้ได้ ถ้าทำอย่างนี้ใช้ไม่ได้ พูดอย่างนี้ถูก พูดอย่างนี้ฟังไม่ได้ นี่เกิดจากทิฏฐิ ทิฏฐินี้เกิดมาจากไหน จริงไหมที่ว่า มาจากสิ่งที่เรารู้ ที่เราเคยคิด เราเคยทำ เราเคยมีประสบการณ์มา จริงไหมคะ ดูให้ดีๆ แล้วเห็นไหมคะตัวตนเกิดขึ้นจากตรงไหน ความเป็นตัวฉันนี่มาจากไหน เห็นไหมคะ ที่เราเอาไปเถียงกับเขา ฉันว่าอย่างนี้ ผมว่าอย่างนี้ หนูว่าอย่างนี้ ตัวหนู ตัวผม ตัวฉัน ตัวข้าพเจ้า ตัวท่าน เออ มันมีตัวไหม ตัวที่ว่านี่มีไหมคะ ที่ว่าอย่างนี้เชื่ออย่างนี้ ตัวนั้นมีตัวตนไหม นึกให้ดีๆ นึกให้ดีๆ มีตัวตนไหมคะ ตัวที่ว่าอย่างนี้มีตัวตนไหม ไม่มี มันอาศัยปาก อาศัยปาก อาศัยรูปร่าง ตัวนี้ ชื่อนี้ เป็นเครื่องมือเท่านั้นเอง แล้วก็เอ่ยว่ามาตามทิฏฐิที่มันแฝงเอาไว้ ที่เป็นนามธรรมใช่ไหม
เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่ากายนี้เป็นเหมือนสำนักงานของจิต เป็นออฟฟิศของจิต เป็นเครื่องมือ เป็นคนใช้ เป็นบ่าวของจิต ตามแต่จิตนี้คิดยังไง ว่ายังไง เห็นยังไง ก็ใช้ตัวนี้ไปทำตามนั้น ฉะนั้น ถ้าชีวิตปราศจากกายนี้แล้ว จิตก็หมดอิทธิฤทธิ์ มันทำอะไรไม่ได้ มันไม่เป็นชีวิต แล้วถ้าชีวิตนี้ปราศจากจิตหรือใจ กายนั้นมันก็เหมือนท่อนไม้ท่อนซุง ที่สวดมนต์พิจารณาสังขาร เหมือนท่อนไม้ท่อนซุงนอนกลิ้งอยู่เหมือนก้อนหิน ใครจะเอาเท้าไปเตะก็เตะไปสิ สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ล่ะกำแหงนัก ใครเข้ามาใกล้ไม่ได้ แหลมเข้ามาไม่ได้ ต้องเอาเลย ตอนเป็นท่อนไม้ท่อนซุงใครจะเตะใครจะกระทืบสักเท่าไหร่ หมดปัญญา ลุกขึ้นมาไม่ได้แล้ว แล้วไหนล่ะตัวฉัน ตัวเก่งล่ะไปไหน ตัวเก่ง ตัวโก้ ตัววิเศษล่ะไปไหน หายไปไหน เห็นไหมคะ เยอะแยะแล้ว ตัวเก่งตัวโก้ ตัววิเศษที่นอนกลิ้งอยู่กลางดิน แล้วผลที่สุดก็ค่อยบวม ค่อยอืด ค่อยแตก ปริ ไหล ไปเป็นน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองซึมตามดิน เป็นอาหารของอีแร้ง อีกาไป แล้วก็สูญ เสื่อม เสื่อมสลายไป สูญหายไป ทั้งเนื้อ ทั้งกระดูก ทั้งเลือด ทั้งหนองไม่มีเหลือ ไหนตัวเก่งนั่นน่ะไปไหน ตัวอัตตา ตัวเก่งไปไหน เพราะฉะนั้น จงดูเถอะค่ะว่าความเป็นตัวตนที่มันออกมา เหมือนอย่างที่เป็นตุ๊กแกสองตัวมากัดกันนั่นน่ะ ไม่ใช่ตัวตุ๊กแก ตุ๊กแกมันเป็นสิ่งมีชีวิต มันก็มีทิฏฐิตามๆประสามัน แต่นี่ผู้เขียนเค้าไม่ได้หมายถึงตุ๊กแก เค้าเพียงแต่ใช้ตุ๊กแกเป็นสัญลักษณ์เท่านั้นเอง สัญลักษณ์แทนมนุษย์ที่มีอีโก้มากนัก มีอัตตาสูงนัก เค้าอยากจะบอกให้รู้ว่า อัตตาหรืออีโก้นั้นมาจากไหน มาจากทิฏฐิ ทิฏฐิที่ยึดมั่นเอาไว้ ทิฏฐุปาทานนี่แหละที่ทำให้คนยอมกันไม่ได้ ฉันจะต้องชนะ ฉันยอมแพ้ไม่ได้ ฉันยอมให้ไม่ได้ ฉันยอมถอยไม่ได้ เพราะทิฏฐุปาทาน แล้วก็ผสมไปด้วยอะไรต่ออะไรอีกเยอะแยะ แล้วก็เพิ่มกำลังด้วยกำลังของกิเลสของตัณหา อวิชชากำกับอยู่ เป็นหัวเรือมันก็ผลัก ผลัก ผลักออก เพราะฉะนั้นกำลังที่จะไปปะทะกัน ขัดแย้งกัน ตีกัน มันจึงรุนแรงยิ่งขึ้นทุกวันๆ ฉะนั้นจึงอยากจะขอชักชวนให้ทุกท่านนะคะ ศึกษาเกี่ยวกับทิฏฐุปาทานให้มากๆ นี่ดิฉันสังเกต คือว่า ใคร่ครวญดู สังเกตดู รู้ดูนี่จากความรู้สึกของตัวเอง ว่าอ๋อตัวตนนี่มันอยู่ตรงไหน มันไม่มีตัวตน มันไม่ใช่ตัวนี้ ไม่ใช่ชื่อนี้ นามสกุลนี้ ตำแหน่งนี้ คนนี้ บ้านอยู่ที่นี่ ทำงานตรงนี้ ไม่ใช่เลย นี่มันเป็นเพียงสิ่งสมมติเรียกกันเท่านั้น แต่ที่ทำให้คนออกมาตีกันนี่ คือ สิ่งที่อยู่ข้างใน ที่สะสมมาแต่เล็กแต่น้อย ทีละน้อย ละน้อย แล้วก็เกิดเป็นทิฏฐิ คือความคิดเห็น แล้วก็ยึดว่าเป็นความคิดเห็นของฉัน แล้วก็ยึดมั่นเอาว่าถูกหรือผิด ตามแต่ว่าจะมิจฉาน้อยหรือมาก แล้วก็เอานี่ออกไปชนกับเค้า ไปตีกับเค้า ก็พูดตามที่ท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านชอบพูด เพื่อให้มันเตะเข้าไปที่หัวใจที่เขลา ท่านจะใช้คำว่าไปกัดกับเค้า เหมือนอย่างที่ตุ๊กแกสองตัวนั้น ไม่ได้ไปกัดด้วยปากหรอก แต่มันกัดที่ใจ เพราะในขณะที่ไปกัดกับเค้า ไปเถียงเค้าด้วยทิฏฐิ ใจนี่มันก็ถูกกัด ถูกกัดด้วยความทุกข์ ด้วยความร้อน ด้วยความเคียดแค้น ด้วยความเจ็บปวด ขัดเคืองที่เค้าไม่ยอมเรา เค้าไม่เชื่อเรา เค้าไม่ตามเรา นี่คือทิฏฐุปาทาน มีอำนาจมาก แรงมาก แล้วก็ต้องพูดว่ามันเป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่น จนกระทั่งเกิดเป็นความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตา เป็นอีโก้ขึ้นมา
ทีนี้อุปาทานชนิดที่สี่ ก็คือ อัตตวาทุปาทาน อัตตวาก็อัตตานี่แหละบวกกับอุปาทาน เป็นอัตตวา ออ ไม้หันอากาศ ตอเต่า ตอเต่าอีกตัวแล้วก็วอแหวน สระอา อัตตวาทุ แล้วก็ ทอ ทหาร สระอุ ปาทาน อัตตวาทุปาทาน ก็พอจะเดาได้ไหมคะ ว่าความยึดมั่นถือมั่นในอะไร ในความเป็นตัวตน รวมกันทั้งหมดนี่มันใส่เข้ามาที่ตัวนี้ แต่แท้ที่จริงนั้นไม่ได้หมายความถึงตัวนี้โดยตรง แต่ความรู้สึกมีศักดิ์ศรีเป็นตัวตนอันเกิดจากทิฏฐิที่ได้ตั้งเอาไว้แล้วนั้น ทิฏฐิที่มันสร้างความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมา อันจริงๆแล้วไม่ได้หมายความถึงรูปนี้ ร่างกายนี้ ตัวตนนี้หรอก แต่ว่ามันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในแล้วก็ยึดมั่นถือมั่น มันมีความเป็นตัวเป็นตน มีความเป็นจริงเป็นจัง นี่คือ อัตตวาทุปาทาน คือยึดมั่นในความเป็นตัวตน โดยอาศัยรูปกายนี้เป็นโล่ หรือเป็นเพียงสัญลักษณ์ เป็นตัวแทน ให้พูดแทน ให้บอกกล่าวแทนตามความคิดของทิฏฐุปาทานที่มันมีอยู่ข้างใน แล้วมันก็เลยเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ทีนี้จะไปชี้ที่ไหนมันก็มองไม่เห็น ใช่ไหมคะ ตัวตนนี่ มันมองไม่เห็น แล้วยิ่งคนธรรมดาทั่วๆไปที่ไม่เคยศึกษาข้างใน ยิ่งมองไม่เห็น