แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฉะนั้น จิตนั้นจึงเขลา เขลาอยู่ด้วยความไม่รู้ ไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ รู้สารพัด แต่ไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ เพราะสิ่งที่ควรรู้นี้คือสิ่ญา แต่ไม่รู้จัก จะไปเรียนรู้สิ่งนี้ที่ไหน ในโรงเรียนไม่มีการสอน ในแผนการศึกษาไม่มีการใส่ ในหลักสูตรไม่มีการเขียน กระบวนการสอนก็ไม่มี ครูอาจารย์ผู้สอนก็เมินเฉยกับสิ่งนี้ เพราะครูอาจารย์ผู้สอนก็ไม่ได้สนใจจะศึกษานี้
รู้แต่วิชาไม่รู้วิชชาอีกเหมือนกัน ผลจึงตกทอดกันมา เรียกว่าเป็นเวลานานพอสมควรทีเดียว พอบุคคลที่ได้รับการศึกษาในลักษณะเช่นนั้น ไปทำหน้าที่เป็นพ่อเป็นแม่ หรือว่าเป็นครูบาอาจารย์ หมอ พยาบาลหรืออาชีพใดๆ ทั้งสิ้น ก็เดือดร้อนดิ้นรนเกี่ยวกับการทำหน้าที่นั้นๆ ไม่มีความเย็นได้ เพราะขาดวิชชาที่จะมาช่วยประกอบให้วิชานั้นเกิดประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือว่าสมบูรงที่มีคุณค่าแก่ชีวิตของมนุษย์อย่างสูงสุด และถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็พูดได้ว่า สิ่งนี้แหละคือเป้าหมายของชีวิตของมนุษย์ ที่ต้องการความสุข สงบเย็น ผ่องใส มั่นคง หนักแน่น อยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญณ์ หรือว่าเป็นชีวิตที่มีความสมดุลขึ้นได้ นี่คือความหมายของคำว่า อวิชชา
ทีนี้ถ้าถามว่า อวิชชานี่เป็นอะไร อยู่ดีๆ มันลอยมาจากไหน ก็ต้องบอกว่าในพุทธศาสนานั้น เมื่อถึงที่สุดแล้ว คือเมื่อศึกษาถึงที่สุดแล้ว จะต้องศึกษาถึงคำว่าธาตุ ธอ ธง สระอา ตอ เต่า สระ อุ ธาตุหรือ ธา-ตุ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์เมื่อกล่าวถึงธาตุ ท่านที่มีความรู้ในทางนี้ก็คงทราบดี ดิฉันไม่ใช่นักเรียนวิทยาศาสตร์ มีความรู้น้อยที่สุด แต่ก็ฟังไว้ว่า เมื่อเอ่ยถึงธาตุ นั่นคือสิ่งที่เล็กที่สุด ที่มันจะไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้อีกแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแตกแยกมาเป็นอื่นได้อีกแล้ว นั่นเป็นธาตุในวิทยาศาสตร์ เป็นธาตุที่เป็นรูปธรรม
ส่วนธาตุหรือ ธา-ตุ ที่เราพูดถึงนี้ ในทางธรรมนั้นก็ยังคงเรียกว่าธาตุ คือเป็นสิ่งที่มันเล็กที่สุด มันจะคงตัวทรงตัวของมันอยู่อย่างนั้น มันจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ทว่ามันเป็นธาตุในนามธรรม คือในทางนามธรรม เป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่วัตถุที่จะจับต้องได้ เราจะเรียกมันว่าเป็นธาตุ มีเหมือนกันบางอย่าง ขอโทษไม่ควรจะพูดว่า เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เพราะมีบางอย่างที่จะจับต้องได้ ที่จะมองเห็น แล้วแต่ว่าเห็นอันนี้ ก็เห็นกันตามสมมติ เช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ก็เห็นกันตามสมมติ แต่ธาตุที่จะเห็นได้ยาก นั่นคือธาตุที่เป็นนาม เช่น อวิชชา เป็นอะไรมาจากไหน
อวิชชาก็คือธาตุ ธาตุเหล่านี้อยู่ที่ไหน อยู่ในจักรวาลนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่า ธาตุ อย่างเช่นสมมติว่า ธาตุรู้ วิญญาณเป็นธาตุอย่างหนึ่ง แล้วก็แปลว่าอะไร ก็คือเป็นธาตุรู้ เป็นธาตุที่มันตามรู้ได้ แล้วถ้าพัฒนาให้ถูกต้อง มันจะสามารถรู้แจ้งได้ วิญญาณนี้ก็เป็นธาตุรู้ แต่ธาตุรู้นี้อาจจะรู้ถูกก็ได้ อาจจะรู้ผิดก็ได้ ถ้ามันไปผสมกับอวิชชาธาตุ มันก็รู้ผิด กลายเป็นมิจฉาไป ถ้ามันไปผสมกับวิชชาธาตุ มันก็จะรู้ถูกต้อง แล้วก็เป็นสัมมา คือนำประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง
เรื่องของธาตุเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ในพุทธศาสนานั้นกล่าวได้ว่า ทุกอย่างสรุปลงในคำว่าธาตุ เหมือนอย่างในปัจจเวกนั่นนะคะ ทำไมถึงมีการปัจจเวกเรื่องอาหาร เรื่องเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นวัตถุ เป็นวัตถุที่เป็นปัจจัยให้มนุษย์ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตน อาหารของฉัน บ้านของฉัน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของฉัน ที่อยู่อาศัยของฉัน ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน แล้วก็ทำให้ความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนที่ยึดมั่น ในอัตตานี้พอกพูนทวีขึ้นเพราะมีตัวฉันแล้วก็มีของฉันเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ในการปัจจเวกจึงเป็นการที่ให้เพ่งพินิจพิจารณาใคร่ครวญ เพื่อจะได้ค่อยๆ เห็นว่า
สิ่งที่เราถือว่าเป็นของเรา แม้เราจะใช้จับต้องมันอยู่ทุกวี่ทุกวัน ความจริงแล้วมันเป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุเท่านั้นหนอ
ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพูดกันยืดยาวและก็มากมาย แต่ถ้าหากผู้ใดสามารถจะพิจารณาในเรื่องของธาตุไปได้ ผลที่สุดก็จะมองเห็นความอนัตตาที่มีอยู่ในนั้น ในตอนนี้ก็ขอแนะนำแต่เพียงว่า ลองไปอ่านบทที่ปัจจเวกต่างๆ ในหนังสือสวดมนต์ อ่านช้าๆ ทำความเข้าใจให้ซาบซึ้งแล้วจะค่อยๆ เห็นความหมายของคำว่าธาตุลางๆ
ฉะนั้น อวิชชาคืออะไร ก็คือธาตุ ธาตุอย่างหนึ่ง ทีนี้อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารก็คือปรุง ความหมายของสังขาร ปรุง มีความหมายใหญ่ 2 ความหมาย คือจะแปลว่า ร่างกายก็ได้ นั่นเป็นนามที่เราใช้กันมานาน หรือเข้าใจกันมานานแล้ว นั่นแปลว่าร่างกาย อีกอย่างหนึ่งก็คือแปลว่า ปรุง ซึ่งจะหมายถึงผู้ปรุง คือปัจจัยที่ปรุง แล้วก็สิ่งที่ถูกปรุงก็ได้ หรือจะหมายถึงการปรุงก็ได้ เพราะฉะนั้น สังขาร เราพูดอย่างที่จะช่วยให้เข้าใจง่าย เราก็จะพูดว่าปรุงแต่ง สังขารคือการปรุงแต่ง
แต่ว่าปรุงในที่นี้นั้น ท่านก็พูด อาจจะเปรียบให้เห็นได้ เหมือนอย่างแม่ครัวก็เอากุ้ง เอาผัก ผักมาหั่น กุ้งมาปอก ผ่ามันเข้า เอากระเทียมมาทุบ เอาน้ำมันใส่กระทะ เอากระเทียมใส่ลงไป เอากุ้งใส่ลงไป เอาผักตามลงไป ใส่น้ำปลา น้ำตาล โรยพริกไทยนิดหน่อย ชิมพอดี ตักใส่จาน ปรุงแล้วขึ้นมาเป็นผัดจานหนึ่ง นี่คืออาการของความหมายว่าปรุง หรือเหมือนอย่างหมอแพทย์ปรุงยา เภสัชกรปรุงยาก็มีความหมายของสังขารคือ ปรุงอย่างนี้
แต่ทีนี้ สังขาร ความหมายของสังขารที่แปลว่าปรุงในที่นี้ มันไม่ได้ปรุงออกมาอย่างเป็นวัตถุให้มองเห็น มันปรุงอยู่ภายใน คือปรุงด้วยความคิด คิดโน่นคิดนี่ ปรุงแต่งต่างๆนานา โดยมันไม่ได้มีเหตุผลหรือไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ที่มันไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงก็เพราะมันมีอวิชชาคอยกำกับอยู่ที่ต้นขั้ว เมื่ออวิชชามันไม่รู้จริง มันก็เลยทำให้สังขารนั้นปรุงไปผิดๆ ต่างๆ ผิดไปต่างๆ นานา และที่สังเกตว่าผิดไปต่างๆ นานาเพราะอะไร ก็เพราะว่าปรุงแล้วทำให้ใจนี้เกิดความทุกข์ ใจนี้มีปัญหาใจนี้มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจตลอดเวลา มันไม่เป็นอันสุขสงบได้เลย มันจึงเป็นการปรุงที่ผิด แล้วที่มันปรุงอย่างนี้ก็เพราะอวิชชามันครอบงำอยู่ มันกำกับอยู่ที่หัวแถว สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณก็แปลว่ารู้ เป็นธาตุรู้ ถ้าได้รับการฝึกฝนอบรมพัฒนาให้ถูกต้อง ก็จะสามารถรู้แจ้ง รู้แจ้งได้ รู้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าไม่ได้รับการพัฒนา มันก็รู้ สักแต่ว่าจะไปปนกับอะไร คือไปผสมกับอะไร ถ้าผสมกับอวิชชาก็รู้ผิด รู้แล้วทำให้เกิดทุกข์ ถ้าผสมกับวิชชาก็รู้ถูก คือรู้แล้วไม่เป็นทุกข์
ทีนี้ ต่อไป วิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปก็คือ กายจิต หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เบญจขันธ์ ขันธ์ห้า ทำไมวิญญาณจึงเป็นเหตุให้เกิดเบญจขันธ์ ก็อย่าลืมว่า อวิชชามันกำกับอยู่ที่หัวแถว แล้วมันก็ทำให้เกิดการคิดปรุงแต่งต่างๆ นานา ฉะนั้น การคิดปรุงแต่งนี้ มันก็ต้องปรุงแต่งไปตามทิฐิที่ตนมี คือทิฐิที่มันมีอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้น วิญญาณนี้ก็คิดเปะปะไปตามทิฐิ ก็มองเห็นนามรูป คือกายกับใจที่เกิดมาเป็นชีวิต ตั้งแต่ออกมา เรียกว่าลืมตามาในโลกก็มีชีวิตที่ประกอบด้วยกายจิตแต่ต้นแล้ว หรือว่านามรูป หรือว่าเบญจขันธ์นี้แต่ต้นแล้ว แต่ทว่า วิญญาณนี้ ธาตุรู้นี้ไม่ได้รับการพัฒนาไปในทางที่ถูก เพราะอวิชชามันครอบงำอยู่ และสังขารก็เข้ามาผสมปนด้วย
สังขารนี้มองดูในรอบทั้งสิบเอ็ดอาการ สังขารจะปรากฏตัวอย่างชัดเจนครั้งเดียวในสิบเอ็ดอาการนะคะ แต่ในพฤตินัยของมันนี่ มันจะเที่ยวสอดแทรกไปอยู่ในอาการนั้นๆ นั้นๆ เกือบทุกอาการไปเลย เพราะฉะนั้น มันก็เข้ามาสอดแทรกอยู่ในอาการของวิญญาณ การรู้ ทำให้เห็นไปว่า เบญจขันธ์ที่ประกอบไปด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คือประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร รูปก็คือร่างกายนี้ ซึ่งก็ธรรมชาติให้มา ไม่ได้เกิดขึ้นจากใคร มันมาจากธรรมชาติต่อๆ กัน อย่างที่ลองคิดดู อย่างพื้นๆ ที่สุด ที่ว่ามาจากคุณพ่อคุณแม่ก็ถูก ไม่ผิด แต่ถ้านึกดูว่าพ่อแม่มาจากไหน แล้วรูปร่าง ร่างกายส่วนประกอบนะคะ หมายถึงส่วนประกอบของความเป็นมนุษย์ ของความเป็นคนนี้ ของร่างกายนี้ มันก็เหมือนกันไม่มีผิด มีหัว มีขา มีคอ มีแขน มีไหล่ ภายในก็หัวใจ ตับ ไต ไส้ พุง กระเพาะ ม้าม ลำไส้ เหมือนกันหมด ย้อนขึ้นไปถึงปู่ย่าตาทวดอย่างที่พูดวันก่อน ก็ไม่ได้มีอะไรผิดแปลกกัน เหมือนกันหมดทุกอย่าง
ก็น่าคิดไหม ว่านี่มันมาจากไหน ใครสร้างมาให้ มันก็คือธรรมชาติ มันมีอยู่แล้วอย่างนี้ตามธรรมชาติ มันมีอยู่แล้วอย่างนี้ตามธรรมชาติ แต่ที่มันเป็นทารกออกมามันก็อาศัยปัจจัยผู้หญิงกับผู้ชายที่อยู่ด้วยกัน แล้วก็ประกอบกิจร่วมกันตามธรรมชาติ ประกอบกิจทางเพศร่วมกันตามธรรมชาติ ตามเหตุตามปัจจัยของสิ่งกระตุ้นทั้งหลาย ผลวันหนึ่งเมื่อเหตุปัจจัยนั้นมันมาผสมพร้อมกันพอดี มันก็มีผลเกิดขึ้นเป็นทารก นี่มันก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ความที่มีลักษณะของความเป็นตัวคน มันไม่ได้แตกต่างกันเลย ไม่ว่าคนสมัยหิน หรือสมัยไหนก็ตาม สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยสุโขทัย สมัยกรุงธนฯ สมัยกรุงเทพ ก็คงมีลักษณะอย่างเดียวกัน เมื่อขึ้นชื่อว่าคน แล้วเราก็มาเรียกกันตามสมมติกันว่า นี่ผู้หญิง นี่ผู้ชาย ในเรื่องของสมมติสัจจะดังที่พูดกันแล้ว
แต่เพราะวิญญาณนี้มันถูกกำกับด้วยอวิชชา สังขารที่มันชอบคิดตามอวิชชา มันก็มุ่งเจาะจงคิดไป นี่แหละนามรูปนี้ชีวิตนี้ มันเริ่มมีตัวตนขึ้นมา ที่ว่ามันคิดหรือมี มีนามรูปขึ้นมา เพราะมันคิดอย่างชนิดมีเป็นตัวตน แล้วมันก็เลยมองเห็นว่ามีเป็นตัวตนขึ้นมาลางๆ ของนามรูป มันไม่สามารถจะเห็นได้ว่า เบญจขันธ์นี้เป็นเพียงสักว่าธาตุเท่านั้น มันเป็นเพียงรูปธาตุ ร่างกายนี้คือรูปธาตุ เป็นธาตุที่จับต้องได้ มีตัวตน จับต้องได้ มีเนื้อมีหนัง แต่ในรูปธาตุนี้มันไม่ใช่เพียงเท่านี้ มันมองดูว่าเรียกว่าเป็นรูปธาตุ ดูมันมีตัวตน แต่ต้องดูให้ลึกซึ้งไปอีกว่า ที่มีคุณสมบัติเข็มแข็ง ต้องการเนื้อที่ประกอบไปด้วยธาตุน้ำ ซึ่งเป็นของเหลว แล้วก็มีคุณสมบัติที่ทำให้เกิดความเกาะตัวกันอยู่ได้ ดิน น้ำ ลม ลมก็มีคุณสมบัติที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ธาตุไฟ ก็มีคุณสมบัติที่ทำให้เกิดความร้อน เกิดการเผาไหม้ ธาตุอากาศ ก็มีคุณสมบัติของความเป็นที่ว่าง คือมีที่ว่างให้ แล้วส่วนธาตุวิญญาณ ก็คือเป็นเรื่องของจิต หรือของนาม ที่หมายถึงธาตุรู้ ที่ทำให้ตามรู้ รู้ได้
แต่ว่าวิญญาณที่มันรู้ตามอวิชชา มันก็ยึดเอารูปขันธ์เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา มันไม่สามารถจะยอมรับได้ว่า กายนี้ประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ แล้วธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟนี้ประกอบอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย ไม่ใช่ว่า พอสมมติว่า หยิบเล็บออกมาดู ถ้าพอมองดูเล็บ ธาตุที่เด่นที่สุดในเล็บ นี่คือธาตุอะไร ธาตุดิน ที่เด่นที่สุดนี่ก็คือธาตุดิน ส่วนมากเขาจะบอกว่าเล็บนี่เป็นธาตุดิน แต่ในทางแพทย์ย่อมจะบอกได้ว่า ไม่ได้มีแต่ธาตุดินเท่านั้น ยังมีธาตุน้ำประกอบอยู่ด้วย มันถึงได้รวมตัวเกาะกันอยู่ได้เป็นแผ่นเล็บ มันมีธาตุอากาศด้วย มันมีที่ว่าง เล็บมันจึงมีที่ว่างอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่มีที่ว่างตรงนี้ ก็จะไม่มีที่สำหรับเล็บ นอกจากนั้นมันยังต้องการออกซิเจน มันก็มีธาตุอากาศ แล้วมันก็มีธาตุลม ถ้าหากว่ามันขาดสิ่งเหล่านี้ประกอบกัน เล็บนี้ก็จะแห้ง เป็นเล็บที่มีดอก มีเส้นมีสาย ที่เรียกว่าเป็นเล็บตาย ถ้าธาตุเหล่านี้ไม่รวมกันอยู่ทั้งห้า เล็บนี้ก็อยู่ไม่ได้
เช่นเดียวกับหยิบเม็ดโลหิตขึ้นมาที่พูดไปวันก่อนแล้ว เมื่อแยกออกไปก็จะเห็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศมีอยู่พร้อม เพราะแม้แต่เม็ดเลือดก็ต้องการเนื้อที่ ฉะนั้น ธาตุว่างเราไม่ค่อยมองเห็น เราไม่ค่อยมองเห็น เหมือนอย่างในกายเรานี้ ถ้าหากว่าในปากไม่มีธาตุว่าง ไม่มีความว่าง มันตันหมด กินทางไหน จมูกก็ตัน หายใจทางไหน นี่เห็นประโยชน์ของธาตุอากาศไหมคะ หรืออากาศธาตุ นี่คือ ธาตุว่าง ที่ธรรมชาติจัดสรรไว้ให้อย่างเหมาะเจาะงดงาม ถึงได้เมื่อดูแล้วไม่มีนายช่างใดที่จะมีฝีมือพิเศษและก็งดงามไปยิ่งกว่านายช่างธรรมชาติ สร้างสรรค์อะไรได้อย่างงดงามเหมาะเจาะเป็นที่สุด นี่คือคุณสมบัติของธาตุแต่ละธาตุ วิญญาณนี้ไม่สามารถจะมองเห็นได้ เพราะอวิชชามันครอบงำที่ต้นแถว มันก็เลยเห็นนามรูป ซึ่งเป็นเพียงสักนามรูป มันเกิดมาตามธรรมชาติ ก็ยึดเอาว่าเป็นนามรูป เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา
แล้วนามรูปนี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ อายตนะก็อายตนะภายในหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอายตนะภายในหกอย่าง เพราะว่าเมื่อมีชีวิต มีนามรูป มันก็ต้องมีการสื่อสารมีการติดต่อ การสื่อสารการติดต่อกับสิ่งภายนอก มันก็จึงต้องมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นไหมคะ ธรรมชาติสร้างมาไว้ให้เสร็จ แต่เจ้าอวิชชาที่มันกำกับอยู่ที่หัวแถว มันก็มาตู่บอก ทำให้ความคิดเห็นที่ควรจะตรงตามความเป็นจริงผิดไป ถือว่านี่ตาของฉัน หูของฉัน จมูกของฉัน ปากของฉัน กายของฉัน ใจของฉัน ทุกอย่างเป็นของฉันหมด มันยึดมาเป็นของฉัน มันไม่ยอมรับว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชีวิตนั้นจะรู้สึกว่ามี ก็ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ ตามันทำหน้าที่อะไร ทำหน้าที่ดู ทำหน้าที่ดูให้เห็น เห็นอะไร เห็นสิ่งที่เราเรียกว่ารูป คือโดยคำรวมเราเรียกว่ารูป แล้วรูปนั้นก็แจกแจงออกไปได้เป็นพันเป็นหมื่น เป็นรูปคน รูปสัตว์ คนก็ยังคนผู้หญิง คนผู้ชาย คนตำแหน่งต่างๆ สัตว์ก็สุนัข แมว ไก่ ปู ปลา เยอะแยะมากมาย ต้นไม้ ดอกไม้ นี่รูป ตามีหน้าที่เห็น หูมีหน้าที่ฟัง จมูกมีหน้าที่ได้กลิ่น ลิ้นมีหน้าที่ลิ้มรส กายมีหน้าที่รับสัมผัส ใจก็มีหน้าที่รับธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็คือ สิ่งที่เป็นความรู้สึกที่กระทบอารมณ์ที่เข้ามากระทบ ฉะนั้น อายตนะภายในที่ธรรมชาติจัดมาให้ เพื่อทำหน้าที่ให้เกิดความสะดวกในการสื่อสารติดต่อกับภายนอก แล้วมันก็มีคู่ของมัน อายตะภายในก็มีคู่ของมัน แล้วเราก็เรียกสิ่งที่เป็นคู่ของอายตนะภายในว่าอายตนะภายนอก