แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ข้อสุดท้ายก็คือวิจิกิจฉา ครุ่นอยู่ด้วยความรู้สึกทางโมหะอีกเหมือนกัน แต่เป็นอาการของความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ ลังเลสงสัยไม่แน่ใจ วิจิกิจฉามาเป็นข้อสุดท้าย แต่ท่าน ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าวิจิกิจฉานี่เป็นนิวรณ์ตัวที่ร้ายที่สุดในบรรดาห้าตัว วิจิกิจฉานี่ร้ายที่สุดเลย ทำไมถึงว่าร้ายที่สุด ก็ในขณะที่กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ อาจจะเกิดขึ้นในจิตเป็นครั้งคราว แต่วิจิกิจฉานี้เกิดอยู่ในจิตของมนุษย์ตลอดเวลา ตลอดเวลา ลังเลสงสัยตลอดเวลา ใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือไม่จริง ลองนึกดูสิคะ ในชีวิตประจำวันเรานี่ค่ะมันจะมีวิจิกิจฉาสอดแทรกเข้ามาเรื่อยแต่มนุษย์เรามักจะบอกว่า อุ๊ยใครๆเขาก็เป็น ของธรรมดา ใครๆเขาก็เป็น แล้วก็สะสมเอาไว้สะสมเอาไว้ มันก็เลยกลายเป็นอนุสัยไปโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน อย่างการผลัดวันประกันพรุ่งหรือว่าผลัดตัวเอง ที่ดิฉันนึกง่ายๆ พอตื่นเช้าลืมตา ระฆังเก๊งๆๆๆ บางแห่งตื่นแต่ตีสาม ระฆังแล้ว บางแห่งสามครึ่ง ระฆังแล้ว แหม อากาศเริ่มเย็น หนาว ลุกดียัง วิจิกิจฉาแล้วใช่ไหมฮะ แต่เรานึก อุ๊ยมันธรรมดา ของธรรมดา แต่มันวิจิกิจฉาแล้ว เพราะอะไร มันเกิดความลังเลไม่แน่ใจ และในความลังเลไม่แน่ใจนั้นมันเสียเวลาหรือเปล่า นี่ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ มันทำให้เสียเวลาหรือเปล่า ในขณะที่ เอาละอีกประเดี๋ยวเถอะ อีกสักนาที เอ้าห้านาที หรือบางทีก็เลยไปสิบนาที แล้วก็เป็นอย่างนี้ทุกวันๆ แล้วคนโลภน่ะ พอตื่นขึ้นอ้าวกว่าจะลุกก็วิจิกิจฉาแล้ว พอถึงเวลาเข้าห้องน้ำ วิจิกิจฉาอีก เอ๊ะนี่จะมีเวลานั่งห้องน้ำหรือเปล่า นี่เราจะต้องรีบไปทำงาน มีเวลาแค่สามนาที เอ้า อย่าเพิ่งเลย เอาไปที่ทำงานก็แล้วกัน นี่ก็วิจิกิจฉาทั้งนั้นนะคะ พอถึงเวลาจะแต่งตัว แหมหลายชุดเหลือเกิน ที่อยู่ในตู้นั่นน่ะ เอาชุดไหนดีถึงจะเหมาะกับตัวเองวันนี้ วันนี้วันอะไร วันนี้วันอังคาร สีชมพู เอ๊ะ แล้วตุ้มหูสีชมพูมีหรือเปล่า รองเท้าสีชมพูมีหรือเปล่า นี่ล้วนแต่วิจิกิจฉาทั้งนั้นซึ่งมันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่คนบอก โอ๊ยธรรมดาๆ ออกไปขึ้นรถเมล์ รถเมล์สายไหนมันถึงจะพาทางลัดไปเร็วที่สุด แล้วก็คนขับคนนี่จำหน้าได้ ไม่เอาเราไม่ขึ้น เอาคนไหนดีนะที่มันขับรถไม่พรวดพราดไม่ตะบึง นี่นะค่ะมันวิจิกิจฉาเพราะไม่มีการตัดสินใจโดยใช้เหตุผลที่ถูกต้องแล้วก็ให้มันเสร็จไปเสีย แล้วก็สะสมไว้ทีละน้อยๆๆ กินอะไรดีนะ นี่ผู้หญิงน่ะเป็น กินอะไร พรุ่งนี้เอาอะไรดี จะทำอะไรดี ถามอยู่นั่นน่ะ นี่คือวิจิกิจฉาใช่ไหม ก็บอกว่าธรรมดาอีกเหมือนกัน อ้าว ธรรมดาของคนจะทำกับข้าว มันก็ต้องปรึกษาหารือกันหน่อย นี่แก้ตัวให้ตัวเอง แต่แท้ที่จริงแล้วคือการ วิจิกิจฉานี้มันจะทำให้สะสมนิสัยของความเป็นคนลังเล ลังเลไม่แน่ใจ แล้วก็ทีนี้มันก็จะต่อไปจนกระทั่งถึงเรื่องสำคัญๆ เช่น เรื่องการเรียน เรื่องการคบเพื่อน เรื่องการเลือกอาชีพ เรื่องการทำงาน ถ้าหากว่าปล่อยให้วิจิกิจฉานี้เข้าอยู่ในจิตเรื่อยๆ ก็กลายเป็นคนที่ไม่เด็ดขาด คำว่าเด็ดขาดนี่ไม่ได้หมายความว่ามุทะลุนะคะ แต่หมายความว่าเป็นผู้ที่เด็ดขาดอย่างมีเหตุมีผล ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล แล้วก็รู้จักที่จะแก้ไขเหตุการณ์นั้นอย่างรวดเร็วทันใจด้วยสติปัญญาที่ถูกต้องที่เป็นสัมมาทิฐิ เพราะฉะนั้นวิจิกิจฉานี้ที่ท่านบอกว่าร้าย ก็เพราะว่ามันเข้ามาอยู่ในจิตใจของมนุษย์นี่ตลอดเวลา มันเข้ามาครุ่นอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่ระมัดระวังมันก็จะเป็นความเคยชินที่ก่อให้เป็นอนุสัยแล้วก็กลายเป็นคนที่ตัดสินใจไม่ได้ พอถึงปัญหาอะไรที่สำคัญๆของชีวิตก็จะมามัวมาลังเลสงสัยจนกระทั่งเกิดความกลัว เกิดความประหวั่นพรั่นใจ คิดว่าตนเองกำลังมีชีวิตอยู่ในอันตราย มองหาทางไปไม่ได้ ผลที่สุดก็เลยเป็นโรคประสาทอีกเหมือนกัน
ฉะนั้น วิจิกิจฉานี้จึงน่ากลัวมาก ท่านเปรียบวิจิกิจฉาเหมือนน้ำในที่มืด ในขณะที่กามฉันทะเหมือนน้ำเจือสี พยาบาทเหมือนน้ำเดือด ถีนมิทธะเหมือนน้ำมีสาหร่าย แล้วก็อุทธัจจะกุกกุจจะเหมือนน้ำมีคลื่น จะเห็นทั้งสี่อย่าง คือน้ำทั้งสี่อย่างชนิดนี้อยู่ในที่เปิดเผยใช่ไหมคะ มองเห็นได้ใช่ไหมคะ แต่ วิจิกิจฉาท่านเปรียบเหมือนน้ำในที่มืด ซึ่งน้ำที่อยู่ในที่มืดนี่ เราไม่รู้หรอกว่าเป็นน้ำชนิดไหน คือเป็นน้ำสะอาดหรือน้ำใส สกปรก หรือว่าน้ำโคลน น้ำขุ่น มีสัตว์ร้ายอะไรอยู่บ้างหรือเปล่า มีจระเข้ไหม มีงูไหม หรือมีซากศพอะไรลอยเหม็นอยู่ในนั้น หรือว่าจะเป็นน้ำใสก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะมันอยู่ในที่มืด ฉะนั้นวิจิกิจฉาที่ท่านบอกว่าร้ายก็เพราะมันซ่อนตัวได้ มันซ่อนตัวได้อย่างนี้จนคนทั่วไปคิดว่าเป็นธรรมดา แล้วก็ปล่อยปละละเลยไม่มองดูวิจิกิจฉาที่เข้ามาอยู่ในใจของเรา แล้วก็เป็นอุปสรรค ไม่สามารถที่จะทำให้ใช้เวลาทำกิจการงานใดได้อย่างรวดเร็วลุล่วงด้วยดีเพราะวิจิกิจฉา เหมือนอย่างเด็กบางคนที่เขาบอกว่า เขาขยันดูหนังสือ พอกลับจากโรงเรียนกินข้าวอาบน้ำแล้วจนห้าทุ่มถึงจะนอน ใช้เวลาดูหนังสือตลอด แล้วก็ถ้าลองถามให้เขาบรรยายว่า ที่เขาบอกว่าเขาดูหนังสือตั้งแต่อาบน้ำกินข้าวแล้วน่ะเขาทำอะไรบ้าง ก็จะเห็นว่าบางทีเขาก็เปลี่ยน จะนั่งโต๊ะตัวนี้หันหน้าทางไหนดีอากาศถึงจะปลอดโปร่ง แสงไฟถึงจะดี พอนั่งแล้ว พอลงมือจะทำ อ้าวดินสอนี่ยังไม่แหลม เอ๊ะดินสอแหลมของเราหายไปไหน ทำยังไงนะถึงจะเหลาดินสอให้ได้ดี นี่ทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็นล้วนแล้วแต่ทำให้เสียเวลา เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าจะนอนห้าทุ่มแต่จริงๆแล้วอาจจะได้ใช้เวลาดูหนังสือจริงๆสักชั่วโมงเดียว เสียเวลาไปกับความลังเลสงสัยที่ไม่ทำอะไรให้เรียบร้อยแน่นอน เพราะความไม่แน่ใจที่ปล่อยให้ทุกอย่างมันเป็นไปอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ
เมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นจะแก้ด้วยอะไร ท่านก็แนะนำว่าต้องแก้ด้วยวิปัสสนา คือ พยายามพัฒนาปัญญาภายในให้เกิดขึ้นด้วยการศึกษาใคร่ครวญในธรรมโดยเฉพาะก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นอย่างนึง ดูในเรื่องของพระไตรลักษณ์ แล้วก็ดูในเรื่องของสิ่งที่มันเกิดขึ้น ผลเป็นอย่างใดย่อมมาแต่เหตุ อย่าไปมัวครุ่นคิดว่าทำไม่ได้ๆ อยู่ อย่าไปมัวลังเลสงสัย แต่ให้ดูไปทันทีที่เหตุให้รู้ว่าเหตุนั้นเป็นยังไงแล้วแก้ไขเหตุให้ถูกต้องแล้วผลมันก็จะถูกต้อง อย่าไปมัวพะวงอยู่กับผล แล้วต่อไปก็เตือนใจตัวเองเมื่อจะลงมือทำอะไรประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง จะได้ไม่ต้องมาหวั่นวิตกกับผลที่จะเกิดขึ้น พูดง่ายๆว่าวิจิกิจฉาต้องแก้ด้วยปัญญา วิปัสสนาปัญญา ในขณะที่อุทธัจจะกุกกุจจะแก้ด้วยสมาธิ
ฉะนั้นกล่าวโดยสรุปเรื่องของนิวรณ์นะคะ ก็พูดได้ว่านิวรณ์จะมีลักษณะอาการที่ขุ่นมัวไม่แจ่มใส คือลักษณะของจิตน่ะคะที่ถูกครอบงำด้วยนิวรณ์จะเป็นตัวใดก็ตาม ขุ่นมัว ไม่แจ่มใส กระสับกระส่าย รำคาญ อึดอัด เป็นต้น ถ้าเมื่อใดจิตมันรู้สึกอย่างนี่ ทั้งที่กินก็ได้ นอนก็หลับ แต่ไม่สบาย โปรดทราบ นิวรณ์กำลังครอบงำ เพราะฉะนั้นพยายามทำจิตให้สงบแล้วก็ศึกษา ดูเข้าไปข้างในเชียวว่านิวรณ์ตัวไหน ดูยังไงล่ะคะ ดูที่อะไร ก็ดูเช่นเดียวกับดูอาการของกิเลส ก็คือดูอาการที่เกิดขึ้น ถ้าอาการมันดึงเข้ามา มันก็นิวรณ์ตัวไหน ถ้ามันดึงเข้ามานิวรณ์ตัวไหนคะ กามฉันทะ ถ้าหากว่ามันอาการผลักออกไป นิวรณ์ตัวไหน พยาบาท เมื่อเป็นนิวรณ์ก็ชื่อว่าพยาบาทนะคะ ถึงแม้ว่าจะผลักค่อยๆ ไม่ใช่ผลักแรงๆเหมือนอย่างกิเลส แต่มันก็ยังอยู่ในลักษณะเดียวกัน คือลูกน้องของกิเลสโทสะก็คือพยาบาท ทีนี้ถ้ามันไม่ดึงเข้ามาไม่ผลักออกไป มันวนเวียนอยู่มันก็อยู่ในอาการของโมหะ กิเลสโมหะ แต่ทีนี้เมื่อมันมาเป็นนิวรณ์ก็ต้องศึกษาเชียวว่า นิวรณ์นั้น โลภะมีลูกน้องตัวนึง กามฉันทะ โทสะมีลูกน้องตัวนึง พยาบาท แต่เจ้าโมหะนี่เห็นไหมคะ เห็นความร้ายของมันไหม มันมีลูกน้องถึงกี่ตัว สามตัว ลูกน้องถึงสามตัว คือถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา นี่คือลูกน้องของโมหะ เพราะฉะนั้นอีกนัยหนึ่งโดยทางกลับกัน ก็เท่ากับว่าทั้งสามตัวนี้แหละจะเป็นสิ่งอธิบายให้ผู้ที่บอกว่า ฉันไม่รู้ว่าโมหะมันเป็นยังไง โมหะนี่มีลักษณะเป็นยังไง นี่ล่ะคะศึกษาจากจากนิวรณ์สามตัว ว่าลักษณะของโมหะที่ว่ามันครุ่นวนเวียนเหมือนพายเรือในอ่างนี่ ก็คือ บางทีก็พายเรือในอ่างด้วยอาการของความหดหู่เหี่ยวแห้ง อ่อนเปลี้ย บางทีก็ฟุ้งซ่านเตลิดเปิดเปิง ไม่อยู่ที่ บางทีก็ลังเลสงสัยไม่แน่ใจไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่จุดไหนแน่ นี่คือลักษณะของโมหะ เพราะฉะนั้นเมื่อศึกษานิวรณ์นี่นะคะ จะสามารถศึกษาลักษณะอาการของโมหะได้อย่างละเอียดชัดเจนไปในตัวด้วย เพราะฉะนั้นถ้ารู้สึกว่าในใจมันมีอาการหมุนเวียน ครุ่นอยู่ด้วยความหมุนเวียนครุ่นคิด ก็ดูให้ชัดๆว่าคิดอะไร คิดอย่างหดหู่เหี่ยวแห้ง อ้อ ถีนมิทธะ ไม่ได้ ต้องออกกำลังกายซะหน่อย ผึ้งน้อยแสนขยันซะหน่อย มันคงจะดี แต่อย่านิทราสุขสันต์ ถ้านิทราสุขสันต์เดี๋ยวจะไม่ยอมลุกนะคะ งั้นเอาผึ้งน้อยแสนขยันซะหน่อยก็จะทำให้กระฉับกระเฉงขึ้น อย่างนี้เป็นต้น หรือ อ้อ ถ้ามันหมุนเวียนครุ่นคิดอย่างชนิดมันเตลิดเปิดเปิงมันดึงไม่อยู่มันจะเป็นว่าวขาดลมลอยไปซะแล้วด้วยความคิดด้วยอารมณ์ความรู้สึก ต้องหยุด พยายามฝืนตัวเองหายใจให้แรง ลึก แรง ลึก ยาว เพื่อไล่อารมณ์ที่มันกำลังกระเจิดกระเจิงนั้นออกไปเสีย ดึง พยายามดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจ เอาสมาธิเข้าช่วย ถ้าวิจิกิจฉามันวนเวียนอยู่ด้วยความไม่แน่ใจ ไม่แน่ใจ อ้อ แม้แต่ความไม่แน่มันก็ไม่เที่ยง ใช่ไหมคะ บอกตัวเองอย่างนี้ แม้แต่ไม่แน่มันก็ไม่เที่ยง พอนึกได้เท่านี่เป็นไง มีกำลังใจ มีกำลังใจ เพราะในขณะที่ไม่แน่ ลังเลสงสัยนี่ จิตใจมันมัวสลัว มันรู้สึกเหมือนกับไม่มีหนทาง เหมือนกับทางตัน เหมือนอย่างผู้ที่พบปัญหาของชีวิตนี่ ปัญหาใหญ่ๆนี่นะคะ ซึ่งที่มันทำให้เราลังเลสงสัยแก้ไม่ได้เดี๋ยวนี้มันก็ไม่เที่ยง พอเห็นความไม่เที่ยงเท่านั้นน่ะมันเกิดกำลังใจ เพราะเรารู้ว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าเดี๋ยวนี้มันไม่อยู่คงทนหรอก มันเกิดได้มันก็ดับได้ พอนึกได้เท่านั้นน่ะรีบเอาลมหายใจเข้ามาช่วยให้เกิดกำลังใจ แล้วเสร็จแล้วก็พยายามที่จะใช้สติปัญญาในขณะที่จิตมันว่างจากวิจิกิจฉานั้นว่า เออ เราจะแก้ไขอันนี้ยังไง ความรู้มีเท่าไหร่ เอาเข้ามาใช้ ประสบการณ์มีเท่าไหร่ เอาเข้ามาใช้ พร้อมด้วยสติและปัญญาก็จะค่อยๆแก้ปัญหาได้นะคะ เพราะฉะนั้นก็โปรดเห็นว่าโมหะนี่มันร้าย เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังให้ดี
ลักษณะอาการของนิวรณ์ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ ขุ่นมัว ไม่แจ่มใส กระสับกระส่าย รำคาญ อึดอัด เป็นต้น แล้วมันก็ปิดกั้นความแจ่มใสว่องไวของจิต จิตที่ประกอบด้วยนิวรณ์จะเป็นจิตที่ไม่พร้อมในการทำการงาน ไม่พร้อมในการทำการงาน มันทำได้อย่างอืดๆหนืดๆ ทำอย่างซังกะตาย เพราะว่าพลังทั้งหลายที่ควรจะทุ่มลงไป พลังกาย พลังใจ พลังสติปัญญา หรือพลังของพระธรรมที่เคยมี แทนที่จะทุ่มลงไป มันทุ่มไม่ได้ เพราะว่ามันมีนิวรณ์มาถ่วงมาดึง มันปิดกั้นความแจ่มใสว่องไวของจิต ท่านจึงเปรียบเหมือนกับการรบกวนจากการไต่ตอมของแมงหวี่แมงวันดังที่ว่าแล้ว ที่มันไม่ถึงกับตายแต่มันก็ไม่มีความสบายแจ่มใสเลย ถ้าจะเปรียบเหมือนกับคนใส่แว่น คนที่ต้องใช้แว่น ท่านก็เปรียบเหมือนกับฝ้าหรือฝุ่นธุลีที่มาทำให้แว่นนี่มัว ก็ต้องหมั่นเช็ดบ่อยๆ เช็ดด้วยสมาธิภาวนา มันเป็นอุปสรรคในการทำงานทุกชนิด และบุคคลใดที่สามารถกำจัดนิวรณ์ให้พ้นออกไปได้จากจิต ความสัมฤทธิ์ผลในการงานทั้งทางโลกและทางธรรมก็ย่อมอยู่แค่เอื้อมเท่านั้นเอง ฉะนั้นการที่จะทำการงาน แม้จะเป็นการงานในทางธรรม ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาในเรื่องของนิวรณ์ให้ชัดเจน ถ้าศึกษาเรื่องของนิวรณ์ชัดเจน พอจิตนั้นรู้สึกว่าไม่พร้อมไม่แจ่มใสในการที่จะปฏิบัติสมาธิภาวนาต่อไปก็จะได้ศึกษามันทันทีว่าเป็นนิวรณ์ตัวไหน แล้วก็แก้ไขเสียด้วยอุบายต่างๆดังกล่าวแล้ว หรือด้วยอุบายที่ท่านทั้งหลายจะคิดเพิ่มเติมเองจากประสบการณ์ที่เคยมา ก็จะช่วยได้มากนะคะ