แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้นิวรณ์ตัวที่ 2 ก็คือ พยาบาท ก็ทราบแล้ว พยาบาทก็คือ หงุดหงิด อาการของความหงุดหงิด อึดอัด รำคาญใจ มันไม่ถึงกับโกรธโกรธาออกมารุนแรงเหมือนอย่างกิเลส แต่มันหงุดหงิด มันอึดอัด หรือบางทีมันรู้สึกอึดอัด แน่น ไม่สบาย นั่นก็ไม่ถูกตา ไม่ถูกใจ อากาศแจ่มใสบริสุทธิ์สบาย และแต่ใจมันไม่บริสุทธิ์สบายอย่างนั้น นี่มันอึดอัดๆหงุดหงิดๆอยู่ในใจ เพราะอาการของความไม่ชอบ ฉะนั้นพยาบาทก็คือ อาการที่ครุ่นอยู่ด้วยความรู้สึกทางโทสะแต่เบาบางมาเป็นความหงุดหงิด รำคาญ ท่านก็เปรียบอาการของความพยาบาทเหมือนกับน้ำเดือดพล่าน มันเดือดอยู่ในอก อกนี้ไม่มีเย็น อกนี้ไม่มีสบาย มันเดือดพล่านอยู่อย่างนั้น นี่เป็นอาการของพยาบาท ซึ่งเป็นลูกน้องของโทสะ ของกิเลสตัวโทสะ เป็นลูกน้องกิเลสตัวนี้ มันก็ทำให้จิตใจหงุดหงิดๆ ไม่ถูกใจ รำคาญใจ แต่ไม่ถึงกับพลุ่งพล่านออกมา วิธีแก้ก็คงทราบแล้วนะคะว่าเมื่อเกิดอาการหงุดหงิดกับมัน ก็ไม่ถึงกับอยากจะตีมันให้ตายเพราะเราเป็นผู้บวชแล้วแต่เห็นมันทีไรมันหงุดหงิด แผ่เมตตาซะ ก็คงทราบแล้วนะคะ แผ่เมตตา หรือผู้คนก็ตามที่ทำให้รู้สึกพยาบาทก็แผ่เมตตา เห็นใจเสีย เพราะมันโง่ ถ้าไม่โง่ไม่ทำ นึกซะอย่างนี้ แหมเราก็ภูมิใจ เออเราไม่โง่อย่างนั้น ทำไมถึงว่าโง่ถึงทำ ก็เพราะคนเราไม่มีใครอยากให้ใครเกลียดใช่ไหมคะ อยากให้เขารักกันทั้งนั้นน่ะ ไม่อยากทำอะไรให้มีคนไม่ถูกใจ แต่ที่ไปทำเข้าก็เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นึกซะอย่างนี้ว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฉลาดไม่ทัน หรืออย่างน้อยก็นี่กิเลสเอาไปกินแล้วมันถึงทำอย่างนี้ น่าเวทนามันนัก ถูกกิเลสคาบไปไม่รู้ตัวเลย สงสาร ถ้าทางไหนจะช่วยดึงมันให้พ้นจากปากของกิเลส ก็ช่วยเสีย จะได้บุญได้กุศลต่อไปด้วย นี่นึกในทางปลอบประโลมใจของตัวเองและพร้อมๆกับเห็นใจเขา ที่ควรนึกหรือแก้ไขมากกว่านั้นก็คือ ลองหันมาดูตัวเราเอง เราเคยทำอย่างนั้นบ้างไหม ที่เขาทำให้เราโกรธน่ะ เราเคยทำอย่างนั้นบ้างไหมกับคนอื่น เราเคยพูดอย่างนั้นบ้างไหมกับคนอื่นที่ทำให้เขาโกรธ และก็บ่อยๆ ดิฉันหันมาดูตัวเองก็พบบ่อยๆเราก็ทำเหมือนกัน เราทำอย่างนั้นเลยหลายๆครั้ง แต่พอเวลาเราทำ เรามักจะมีข้อแก้ตัวให้ตัวเองใช่ไหมคะ โอ๊ยมัน แหม เหนื่อยจริงๆเธอตอนนั้น แหม เหนื่อย งานมันยุ่งจนไม่มีเวลาจะพัก มันเลยไม่ทันคิด นี่ข้อแก้ตัวให้ตนเอง แต่ถ้าคนอื่นทำ ทำไมไม่แก้ตัวให้เขาบ้างล่ะ กลับจะต้องเอาโทษเอาผิดในทันที นี่เห็นไหมคะ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ พอดูไปดูมาจะมาพบต้นขั้วของเหตุที่เป็นต้นทุกข์ของมนุษย์ คือ ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา นี่จะมาพบตัวนี้ทุกที อ๋อ เพราะเรามันเห็น มันยึดมั่นในตัวเราในอัตตาเรา เราก็ต้องดีไว้ก่อนแหละ แต่พอมาศึกษาตัวเอง เราเห็นว่าตัวเราก็เป็นอย่างนี้ ผลที่สุดมันค่อยๆเห็นใจ เออ มันเหมือนกัน มันอยู่ในเรือลำเดียวกัน มันก็พอจะให้อภัยกันได้ เพราะฉะนั้นถ้านิวรณ์ตัวพยาบาทเข้ามาสู่จิตนะคะ ต้องหาวิธีหลายๆทางเพื่อที่จะสามารถให้อภัยได้ ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จิตนี้ก็จะครุ่นอยู่แต่กับความรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ แล้วก็จะทำให้กลายเป็นกิเลสตัวโทสะออกมาอีกก็ได้ถ้าหากว่าไม่ระมัดระวัง ท่านจึงเปรียบว่าเหมือนน้ำเดือดที่มันจะเผาไหม้จิตใจ แม้จะไม่ไหม้เหมือนกับไฟในทันที แต่มันก็เผาไหม้ให้ลวกให้พองให้ร้อนได้เช่นเดียวกัน
ข้อที่ 3 คือ ถีนมิทธะ ก็คงทราบแล้วว่า ครุ่นอยู่ด้วยความรู้สึกทางโมหะ แต่โมหะที่เป็นตัวถีนมิทธะนั้น ท่านบอกว่าเป็นลักษณะของความหดหู่ มันมีแต่ความรู้สึกหดหู่ เหี่ยวแห้ง ย่อท้อ อ่อนเปลี้ย ถ้าพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ มีลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าจิตตก มันตกอยู่เรื่อย มันจะส่งยังไงมันก็ยกไม่ขึ้น มันตก มันจะตกไปอยู่ตาตุ่มอยู่ตลอดเวลา มันยกไม่ขึ้น มันเหี่ยว มันแห้ง มันไม่มีน้ำจิตน้ำใจ มันเหมือนกับต้นหญ้าที่ถูกไฟเผาอย่างนั้นก็ได้ มันไม่มีน้ำจะมารดอะไรให้ชุ่มชื่นเลยนะคะ เจ้าถีนมิทธะนี่ มันเป็นอย่างนี้ มันหดหู่ มันอ่อนเปลี้ย มันทำอะไรๆไม่ได้ ทำไม่ลง บางทีพอลืมตาตื่นขึ้น ก็ไม่อยากลุกทั้งๆ ที่แข็งแรงนะคะแต่ไม่อยากลุก มันรู้สึกมันหนักไปทั้งเนื้อทั้งตัว อยากจะนอนทอดแขนทอดขาอยู่อย่างนั้น นั่นแหละ นี่คืออาการของถีนมิทธะ ถ้ามีใจใจเข้มแข็งพอ ต้องแข็งใจกระโดดลุกขึ้นจากที่นอนเลยเชียว ให้กระปรี้กระเปร่า เข้าห้องน้ำเอาน้ำราดศีรษะซะ ราดให้มากๆ ราดให้โชก แล้วอยู่ในห้องน้ำกระโดดซอยเท้าเหมือนกับกระโดดเชือกอยู่คนเดียวเพื่อให้เลือดลมมันเดิน ให้เกิดความกระปรี้กระเปร่าขึ้นมา ก็จะช่วยได้มากนะคะ นี่ในเรื่องของทางกาย ลุกขึ้นออกกำลังนี่จะดีมากเป็นประการแรก เรียกว่าปลุกให้จิตที่มันกำลังตกเหมือนกับจิตหลับนี่ให้ตื่นขึ้น ให้มีแรงขึ้น นอกจากนี้เท่าที่สังเกตนะคะ ก็รู้สึกว่าอาการของถีนมิทธะที่เข้าไปครอบงำจิตของผู้ใดได้เพราะผู้นั้นมักจะหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องของตัวเอง ครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องของตัวเอง แหม เรานี่เคราะห์ร้ายจริงนะ คือคิดน่ะไม่ได้คิดอย่างอื่นนะ คิดแต่ทางไม่ดีของตัวเองน่ะ อันที่จริงสิ่งที่ดีๆของตัวเองมีตั้งเยอะแยะแต่ไม่คิด มาคิดแต่ว่าเราเคราะห์ร้าย เราไม่เก่ง เราปฏิบัติธรรมไม่ได้ นั่งสมาธิก็ไม่ได้ ร่างกายเราก็ไม่สมประกอบ คนนั้นเขาก็ดูถูก คนนี้เขาก็ว่า เงินทองก็ไม่ค่อยจะมี นี่คิดแต่ที่จะซ้ำเติมตัวเอง ให้ตัวเองหดหู่ไป ตกลงไปทุกทีๆ เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง เพราะฉะนั้นจิตมันเลยยิ่งหดหู่ ยิ่งเหี่ยวแห้ง ยิ่งไม่มีแรง ไม่มีกำลัง ไม่พยายามจะดูว่า เอ๊ะ ที่เราเติบโตมาได้ทุกวันนี้ มาเป็นผู้ใหญ่ได้ทุกวันนี้ จะอยู่ในอาชีพอะไรก็ตามที มันต้องมีดีบ้างสิน่ะ ใช่ไหมคะ ถ้าไม่มีดีเลยมันจะอยู่ได้จะช่วยตัวเองมาจนบัดนี้ได้ยังไง ไม่ยอมมองนี่เพราะอะไร นึกออกไหมคะ อะไรมันแทรกซ้อนอยู่ ลองดูให้ดีๆ อะไรมันแทรกซ้อนอยู่ในอาการอย่างนี้ โลภใช่ไหมคะ ใช่รึเปล่า ที่ดิฉันพูดโลภนี่ นึกออกไหม มันโลภใช่ไหม ก็มันอยากได้อะไรมากกว่าที่ตัวมี แต่อาการอยากได้นี่ อยากได้ยังไง อยากได้อย่างคนเห็นแก่ตัวถ้าดิฉันจะพูด คือ ไม่อยากทำไงคะ อยากได้ลอยๆ ให้มันหล่นปุ๊บมาจากสวรรค์จากท้องฟ้าแล้วก็จะได้คว้ามาเป็นของเราเลย นี่เป็นความโลภ เป็นความโลภที่แทรกอยู่ แทรกซ้อนอยู่โดยไม่รู้ตัว แล้วก็เป็นอาการของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่งด้วย ยังนึกถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว แล้วจิตมันก็ตกๆๆ เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง อันตรายมาก ฉะนั้น นอกจากว่าจะพยามทำตัวออกกำลังให้กระปรี้กระเปร่า ถ้าเป็นคนทางโลก ก็ต้องแนะนำให้เล่นกีฬา ไปเล่นกีฬา ไปว่ายน้ำ ไปออกกำลังกายช่วยเหลืองานสังคมสงเคราะห์เสียบ้างหรืออะไรอย่างนี้เป็นต้น นอกจากนั้น ก็พยายามดึงจิต ฝึกดึงจิตให้ออกจากความหมกมุ่นของตัวเอง ไปมองดูคนอื่นเขาบ้าง ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเคราะห์ร้ายนี่ หันไปมองรอบๆ ตัวจะพบคนที่เคราะห์ร้ายยิ่งกว่าเราอีกมากมายที่บ้านช่องก็ไม่มีจะอยู่ เงินทองก็ไม่พอเช้าไม่พอค่ำ ต้องตะเกียกตะกาย ต้องลำบากต่างๆ นั่นแหละ หันไปดูคนที่เขาลำบากยากเข็ญ ที่เขาขาดแคลนจริงๆ ที่เขาถูกเหตุปัจจัยซ้ำเติมซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งตัวไม่ติด ดูจะได้เกิดกำลังใจว่า อ๋อ ไม่ใช่เราคนเดียวนะ ยังมีคนที่เขาเคราะห์ร้ายยิ่งกว่าเรา แล้วก็ยื่นมือไปช่วยเขาบ้าง พยายามแข็งใจยื่นมือไปช่วยเขาซะหน่อย ก็จะเกิดความสนุกทีละน้อย
อ้อ นี่เราช่วยเขาแค่นี้ แหมเขาลุกขึ้นได้ เกิดความปิติยินดี ก็จะทำให้จิตใจตัวเองเกิดกำลังใจขึ้น พ้นจากภาวะของถีนมิทธะคือ ความหดหู่เหี่ยวแห้งนี้ได้ แต่ถีนมิทธะนี้ ถ้าพูดอย่างตื้นๆง่ายๆ ก็รวมไปถึงความง่วงเหงาหาวนอนเวลานั่งสมาธิ เวลาทำอย่างอื่น คุยกันนี่ไม่เคยง่วงเลย แต่พอนั่งสมาธิแล้วล่ะก็หาวหวอดๆ ตาจะหลับให้ได้ทุกที นี่ก็โรคขี้เกียจเหมือนกันนะคะ ถ้าจะว่าไปก็โรคขี้เกียจ โรคไม่เอาจริง โรคปากบอกว่าอยากปฏิบัติ แต่ใจไม่ปฏิบัติ ไม่อยากปฏิบัติ ไม่เอาจริง โรคขี้เกียจ เพราะฉะนั้นอันนี้ ถ้าหากว่ามันหาวๆ ก็ต้องสำรวจตัวให้ดีว่ามันหาวนอนเพราะอะไร เพราะนอนน้อย นอนไม่หลับ หาหมอรักษาเสียให้หาย ถ้านอนไม่หลับเพราะคิดมากก็ต้องแก้ไขแล้ว เอาลมหายใจเข้ามาช่วย แต่ก็มีเหมือนกัน เขามีโรคนอนหลับ เขาเรียก Sleeping Sickness คือโรคนอนหลับ อย่างนี้เขาก็มี ก็ต้องไปหาหมอให้รักษา แต่เมื่อใครง่วงนอนอย่าเพิ่งคิดว่าเราเป็นโรคนี้ไปซะหมดนะคะ จะเข้าข้างตัวเองเกินไป แต่ว่าเขาก็มีโรคอย่างนี้ เคยพบคนนึงเหมือนกัน แข็งแรงทุกอย่างแต่เป็นโรคจะนอนเอาท่าเดียว แต่ว่าน้อยคนที่จะเป็น ก็เชื่อว่าเพื่อนทั้งหลายที่นั่งอยู่นี่คงไม่มีใครเป็นโรคนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าพูดอย่างง่ายๆ นั่นก็คือ อาการง่วงเหงาหาวนอนก็รวมอยู่ในถีนมิทธะด้วยเหมือนกัน แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ความหดหู่ เหี่ยวแห้ง จนอ่อนเปลี้ย จนไม่มีแรงที่จะทำอะไร คนที่นอนกินแรงคนอื่นเขาตลอดเวลา ก็คือพวกที่ตกอยู่ในถีนมิทธะ ท่านจึงเปรียบถีนมิทธะเหมือนน้ำที่มีสาหร่าย น้ำที่มีสาหร่ายก็ไม่ค่อยจะร้ายแรงซักเท่าไหร่ใช่ไหมคะ ถ้าเราเอื้อมมือไปกวาดสาหร่ายมันออกซะเท่านั้นน่ะ เราก็จะเห็นว่า เบื้องใต้สาหร่ายนั้นน่ะ น้ำเป็นยังไง น้ำมันใสหรือว่าน้ำมันขุ่น แต่คนถีนมิทธะน่ะ เพียงแต่กระดิกนิ้วเอื้อมไปก็ไม่ค่อยอยากจะทำ อยากจะนั่งอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้าเป็นมากก็แทบจะอยากให้คนอื่นเขาป้อน ป้อนไม่พอนะ เคี้ยวแทนหน่อยเถอะ กลืนได้เลยยิ่งดีให้เข้ากระเพาะไปเลย มันถึงขนาดนั้นก็มีถ้าถึงที่สุดน่ะนะคะ มันไม่อยากจะทำอะไรเลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงเปรียบเหมือนน้ำมีสาหร่าย แต่มันไม่ได้ร้ายเกินไป เพราะสาหร่ายนี่มันกำจัดได้ เอื้อมมือไปกวาดซะน้ำมันก็ใส เพราะฉะนั้นต้องอาศัยกำลังใจ แล้วก็ต้องอาศัยปัญญาที่จะใคร่ครวญ ถ้าลองใคร่ครวญดูว่าแม้แต่อาการของความหดหู่เหี่ยวแห้งมันก็ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ คือ กฎข้อไหนคะ ทั้งไตรลักษณ์ อนิจจัง ไม่เที่ยง ความหดหู่ เหี่ยวแห้ง มันก็ไม่เที่ยง มันเกิดแล้ว มันก็ดับได้ ถ้าเอาอนิจจังเข้ามาดู มาใคร่ครวญให้เสมอ ก็จะค่อยๆมีกำลังใจขึ้น นิวรณ์ตัวต่อไป คือ อุทธัจจะกุกกุจจะ ก็ตรงกันข้าม