แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
...แล้วก็ยังบิดพลิ้วหรือว่าทำให้คำสอนนั้นเพี้ยนไปอีกเสียด้วย ถ้าหากว่ากระทำอย่างนั้นก็จะมองไม่เห็นผล แต่ลองทำให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นท่านจึงอุปมาธรรมะว่าเหมือนกับแสงสว่างส่องทางเดิน ที่บอกว่าเป็นประทีปของชีวิต เป็นประทีปจริง ๆ นอกจากนี้บางทีท่านก็อุปมาธรรมะว่าเหมือนกับแผ่นดิน ธรรมะนั้นเหมือนแผ่นดิน คือมีความหนักแน่นมั่นคงเหมือนแผ่นดิน ท่านทั้งหลายก็รู้ เราเดินบนแผ่นดินทุกวันใช่ไหมคะ เขาสร้างถนนหนทางทั้งบนดินแล้วก็ทั้งเหนือดิน ทางด่วนทางอะไรต่ออะไรจนจะเรียกไม่ถูกนั่นน่ะ ที่ก่ายกันไปก่ายกันมามากมายจนเวียนหัว ถ้าขับรถเดี๋ยวนี้ก็ไปไม่ถูกหลงทาง นั่นน่ะมากมายก่ายกอง ช้าง ม้า วัว ควาย สัตว์ใหญ่ สัตว์น้อย ตลอดจนกระทั่งรถที่แล่นอยู่บนพื้นดิน รถเล็ก ๆ ก็มี รถใหญ่ก็มี จนถึงรถตีนตะขาบ รถใหญ่ ๆ โต ๆ แผ่นดินเคยร้องทุกข์ไหม แผ่นดินที่เราเหยียบย่ำ บางทีก็โกรธ พอกระทืบเคยร้องทุกข์ไหม เอาขี้หมามาโยนบนแผ่นดินร้องทุกข์ไหม เอากองขยะไปโยนลงแผ่นดินร้องทุกข์ไหม แผ่นดินไม่เคยร้องทุกข์เลย ไม่เคยบอกเลยว่าฉันหนัก ฉันเหนื่อย ฉันเจ็บปวด ฉันเหม็น ฉันโกรธ แผ่นดินไม่เคยพูดเลย นี่ท่านจึงเปรียบธรรมะเหมือนแผ่นดิน คือธรรมะมีความหนักแน่นอย่างนี้ มีความหนักแน่นที่จะยืนอยู่ได้ด้วยความถูกต้องนะ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย หนักแน่นด้วยการยืนอยู่ได้ด้วยความถูกต้อง และความถูกต้องนั้นก็เกิดจากการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง อย่างชนิดที่เรียกว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เห็นแก่ตัวเอง เช่นเดียวกันว่า ถ้าหากว่าผู้ใดจะเอาดอกกุหลาบมาโรยโปรยบนแผ่นดิน หรือว่าเอาทองคำ แม้แต่เอาทองคำมาโปรยโรยบนแผ่นดิน หรือจะเดิน เรานี่จะเดินบนแผ่นดินอย่างทะนุถนอม ค่อย ๆ ย่องกลัวแผ่นดินจะเจ็บ แผ่นดินก็ไม่แสดงความชื่นชม แผ่นดินไม่บอก แหมขอบใจนะ เดินอย่างเมตตากรุณา เดินอย่างผู้มีจิตใจที่เป็นธรรม แผ่นดินก็ไม่บอก ไม่ขอบใจ ไม่ตื่นเต้น ไม่ลิงโลด แผ่นดินคงมีความเป็นปกติอยู่ทุกขณะ นี่คือความหมายของธรรมะที่แท้จริง ที่จะรักษาจิตนั้นให้มีความเป็นปกติ ไม่ตื่นเต้นไปกับโลกธรรมฝ่ายที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือฝ่ายที่พอใจ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ไปจิตตกเศร้าหมองกับสิ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือไม่พอใจ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เพราะมองเห็นแล้วว่าคือสิ่งเดียวกัน คือสิ่งไม่มีการแยกเป็นฝ่ายบวกฝ่ายลบ คือสิ่ง ๆ เดียวกันเหมือนกันทั้งหมด คือที่เดียวกัน ใจชั่วก็ใจนี้ ใจดีก็ใจนี้ ที่สะอาดก็ที่นี้ ที่สกปรกก็ที่นี้ เหมือนกับหลังมือกับหน้ามือก็มือเดียวกัน ไม่มีอะไรแตกต่างจากนี้เลย
เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบธรรมะไว้หลายอย่าง นอกจากแสงสว่าง นอกจากแผ่นดิน บางทีท่านก็เปรียบเหมือนกับยานพาหนะที่จะพาไปสู่ที่หมายอย่างปลอดภัย แล้วก็สู่ที่หมายที่ถูกต้อง แล้วก็ยังมีอีกหลายอย่าง แต่รวมแล้วธรรมะก็คือเครื่องคุ้มครองชีวิตทุกแง่มุมที่จะช่วยให้ชีวิตนี้รอดพ้นได้จากปัญหาคือความทุกข์นั่นเอง จะช่วยให้มนุษย์บรรลุช่วงชีวิตสุดท้ายได้อย่างถูกต้อง นั่นคือความมีชีวิตเย็น เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้การเข้าใจธรรมะอย่างถูกต้องยังจะส่งเสริมให้มนุษย์เกิดศรัทธาที่ถูกต้อง ศรัทธาก็คือความเชื่อ ฉันศรัทธาในคนนั้น ฉันศรัทธาในสิ่งนี้ ฉันศรัทธาในหลักการอุดมการณ์อย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเข้าใจธรรมะถูกต้องก็จะช่วยให้เกิดศรัทธาที่ถูกต้อง ศรัทธานี่สำคัญ พละ 5 อินทรีย์ 5 ซึ่งถือว่าเป็นธรรมะที่จะส่งเสริมการปฏิบัติให้ไปสู่ที่หมายได้รวดเร็วขึ้น ก็เริ่มต้นด้วยธรรมะที่ชื่อว่าศรัทธา ต้องมีศรัทธาที่ถูกต้อง ศรัทธานั้นเราพูดได้ว่ามีสองอย่าง อย่างหนึ่งคือศรัทธาอย่างไสยศาสตร์ อีกอย่างหนึ่งก็คือศรัทธาอย่างพุทธศาสตร์ ถ้าหากว่าเข้าใจธรรมะไม่ถูกต้อง เข้าใจธรรมะเอาตามความคาดคะเนนึกคิดของตัวเอง ก็จะไปตกอยู่ในศรัทธาที่เป็นไสยศาสตร์ ไสยะก็คือหลับ ก็คือหมายถึงเขลา ศาสตร์ของคนหลับ ก็คือคนเขลา ไม่ใช้สติปัญญา ทำอะไรก็ด้วยความงมงาย ตามเขาไป เชื่อเขาไป ดายไป ใครจะจูงจมูกไปไหนก็ไปหมด ไสยศาสตร์ก็คือหมายถึงศรัทธาของพาลชนนั่นเอง คือของคนปัญญาอ่อนนั่นแหละ ของคนที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นสติปัญญาของตัวเอง ทำบุญอย่างไสยศาสตร์ก็คือทำบุญด้วยความยึดมั่นถือมั่น ด้วยความหวังว่าจะได้อะไรมาตอบแทน อย่างที่ว่าต้องทำเท่านี้จะเป็นจำนวนเงินพันหรือว่าเงินหมื่นหรือเงินแสน แล้วก็มีการบอกเอาไว้ว่าถ้าทำพันจะได้บ้านหลังเท่านั้น ถ้าทำแสนเป็นล้านจะได้เป็นปราสาท มีนางฟ้าเทพยดาคอยอยู่ จะมีเครื่องอำนวยสะดวกที่เป็นทิพย์ทุกอย่างคอยอยู่ บางทีก็มีการซื้อตั๋วผ่อนส่งเพื่อที่จะไปได้สวรรค์ นี่บรรดาผู้ที่ถือโอกาส ถือโอกาสที่จะเอาเปรียบคนที่เขลา ก็สั่งสอนด้วยคำสอนที่ไม่ถูกต้อง แล้วคนเหล่านั้นก็หลงเชื่อจนหมดสิ้นเนื้อประดาตัว แล้วก็หวังสวรรค์ สวรรค์อยู่ที่ไหน มองขึ้นไปบนฟ้า บนฟ้ามีอะไร นักวิทยาศาสตร์เขาก็บอกได้ ไม่มีอะไรบนฟ้านั่น นอกจากสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นไสยศาสตร์ก็คือศาสตร์ของคนหลับหรือศาสตร์ของคนเขลา นั่นก็คือหมายถึงการเชื่อสิ่งที่อยู่ข้างนอก คอยแต่พึ่งสิ่งที่อยู่ข้างนอก เช่นพึ่งเครื่องรางของขลัง พึ่งคำทำนายทายทักของหมอดู หมอดูว่าอย่างนั้นจะต้องเป็นอย่างนั้น มองไม่เห็นอิทัปปัจยตาว่ามันต้องอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อย่างที่ว่าเขาดูว่าจะตาย คนนึงดูหมอดูว่าจะตายแล้วก็ไม่ตาย อีกคนนึงหมอดูว่าไม่ตายจะอายุยืนแล้วกลับตาย ขอได้โปรดกลับไปดูเหตุปัจจัย ว่าเหตุปัจจัยอะไรที่คนนั้นตาย เหตุปัจจัยอะไรที่คนนั้นยังไม่ตาย โปรดกลับไปดูเหตุปัจจัย
ดิฉันเคยประสบแล้วกับเรื่องของหมอดู ไม่ใช่กับตัวเอง กับเพื่อน ตอนที่เรียนมัธยมแปดนั่นน่ะ ก็มีเพื่อนหลายคน แต่มีอยู่สองคน คนหนึ่งขี้เกียจไม่อยากดูหนังสือเลยเอาแต่เป็นดารา อีกคนนึงขยันแต่ว่าเรียนหนังสือไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ เผอิญสองคนไปดูหมอด้วยกัน หมอก็บอกว่าคนขี้เกียจน่ะจะสอบได้ คนที่ขยันนี่จะสอบตก หมอก็ไม่รู้หรอกว่าคนไหนขี้เกียจ คนไหนขยัน แล้วก็สองคนก็กลับมาก็มาเล่าให้ฟัง แต่เผอิญคนที่หมอดูว่าจะตกนี่เขาไม่เสียกำลังใจ ยิ่งหมอดูบอกเขาจะตกเขายิ่งมุมานะ ท่องหนังสือ พยายามที่จะจดจำที่ครูสอนน่ะให้ได้ ส่วนอีกคนก็ทะนง หมอดูว่าฉันสอบได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องดูหรอกหนังสือ ผลก็คือตก แล้วคนที่หมอบอกว่าจะตกน่ะก็สอบได้ เห็นไหมคะ ตามอิทัปปัจจยตา ประกอบเหตุปัจจัยอย่างใด ผลอย่างนั้น เพราะฉะนั้นดิฉันก็เคยดูหมอเหมือนกันเมื่อก่อนโน้น แต่ว่าเมื่อดูหมอดูแล้วถ้าจะให้เกิดประโยชน์เราควรจะต้องนึกว่า ถ้าหมอดูดูว่าดีไม่ต้องไปหวังหรอก ไม่ต้องไปคอย ไม่ต้องไปตั้งตาคอย ว่าเมื่อไหร่ที่หมอบอกว่าดีจะเกิดขึ้น แต่ถ้าดีเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ชอบใจเมื่อนั้น เป็นสุขเมื่อนั้น พอใจเท่านั้น ไม่ต้องไปคอย ไม่ต้องไปหวัง แต่ถ้าหมอบอกว่าอะไรว่าไม่ดีนั่นแหละจงระมัดระวัง ถ้าดูอย่างนี้ละก็เรียกว่ายังใช้สติปัญญาในการดูหมอ เพราะเมื่อระมัดระวังที่เขาบอกว่าจะไม่ดี เราก็ระมัดระวังที่จะต้องทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง เพื่อว่าผลจะไม่เป็นอย่างที่หมอบอกว่าไม่ดี ใช่ไหมคะ นี่คือการใช้สติปัญญา เพราะฉะนั้นไสยศาสตร์นี่จึงยึดมั่นหมดแหละ อะไรข้างนอกเอาหมด เขาบอกว่าต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์นับถือ เครื่องรางของขลัง ต้นไม้ ภูเขา ตลอดจนกระทั่งบุคคล ครูบาอาจารย์องค์นั้นศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปนั่นศักดิ์สิทธิ์ ก็แม้แต่พระพุทธรูปที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ยังถูกขโมยใช่ไหมคะ ยังถูกตัดเศียรใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้อยู่ที่องค์พระ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันที่จริงนั้นพระพุทธรูปไม่ว่าองค์ใดทั้งสิ้นเคยสังเกตไหมคะ เมื่อเข้าไปกราบไปไหว้เคยสังเกตบ้างไหม ในขณะที่ไปกราบไปไหว้ด้วยใจที่เป็นทุกข์ บางคนนั่นนะคะน้ำตาไหลร้องห่มร้องไห้ไปกราบ หลวงพ่อช่วยลูกด้วย หลวงพ่อช่วยลูกด้วย ท่านเอ่ยปากไหมว่าจะช่วย แล้วก็พระพักตร์ของหลวงพ่อพระพุทธรูปนั่นน่ะ ท่านเคยอย่างไร ท่านเปลี่ยนแปลงไหม สลดไหม สงสารไหม เห็นใจไหม ก็ไม่เป็น เคยอย่างไรก็อย่างนั้น แล้วก็ถ้าหากว่าวันไหนโชคดีปรีดาซื้อพวงมาลัย หัวหมู เป็ด ไก่ไปถวาย แหมหลวงพ่อ ลูกถูกสามตัว เฮ้อ ไม่เคยถูกเลย ก็เลยซื้อของมาถวายหลวงพ่อ ท่านบอกไหม พระพักตร์ของท่านน่ะเปลี่ยนแปลงไหม แสดงความยินดีไหม ก็ไม่ เพราะฉะนั้นจะไปกราบไหว้ด้วยน้ำตา พระพักตร์ท่านก็แย้มยิ้มด้วยความเมตตากรุณา ด้วยธรรมะเสมอเหมือนกันหมด จะไปกราบไหว้ด้วยเสียงหัวเราะ ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส พระพักตร์ก็คงแย้มยิ้มอย่างธรรมดา ไม่มีเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไปกราบพระพุทธรูปอย่างยึดมั่นถือมั่น นั่นคือไสยศาสตร์ ไปอ้อนวอนร้องขอคือไสยศาสตร์ ถ้าไม่กระทำการให้ถูกต้องคือไม่ประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง ผลมันก็ย่อมไม่ถูกต้อง
ทีนี้มนุษย์เราส่วนมากก็มีสัญชาตญาณชอบพึ่งคนอื่น ชอบพึ่งสิ่งข้างนอก เพราะเหตุว่าความอ่อนแอเนี่ยเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์นะคะ ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะเป็นทหารแกร่งกล้าหรือเป็นคนกล้าหาญเพียงใดก็ตาม แต่ในจิตส่วนลึกนี่ยังอดไม่ได้ที่อยากจะได้กำลังใจจากข้างนอก เพราะฉะนั้นผู้ที่ฉลาดแกมโกงจึงถือโอกาส ถือโอกาสเก็บเกี่ยวเอาผู้ที่อ่อนแอมาเป็นเหยื่อ นี่ก็คือศรัทธาอย่างไสยศาสตร์ แล้วก็ทำให้ชีวิตนั้นเสียเวลา เสียเวลา เสียพลัง เสียทรัพย์สินเงินทอง เสียอะไรต่ออะไรไปอีกตั้งเยอะแยะเลย ไม่ต้องจาระไน นี่คือศรัทธาอย่างไสยศาสตร์ ซึ่งผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน หรือเป็นชาวพุทธ เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าที่แท้จริงจึงควรที่จะต้องแก้ไข ปรับเปลี่ยนศรัทธาให้เป็นศรัทธาอย่างพุทธศาสน์ คือเป็นศรัทธาที่ใช้สติปัญญาด้วยความเข้าใจธรรมะอย่างถูกต้อง ที่รู้แล้วว่าผลดีก็ตามเกิดจากการกระทำที่ถูกต้องแห่งการกระทำนั่นเอง ผลไม่ดีก็เกิดจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องแห่งการกระทำนั่นเอง ไม่มีอื่น
ฉะนั้นการรู้ธรรมะ การเข้าใจธรรมะที่ถูกต้อง จะทำให้เกิดศรัทธาที่ถูกต้อง และทางดำเนินของชีวิตในทางธรรมก็จะเป็นชีวิตที่ถูกต้องคือหมายความว่ารอดพ้นจากปัญหา รอดพ้นจากความทุกข์ ซึ่งศรัทธาที่เป็นพุทธศาสน์นี้ย่อมจะต้องมีกาลามสูตรเป็นหลัก เป็นหลักใจอยู่เสมอ เตือนใจอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นถ้าสงสัยก็โปรดกลับไปอ่านกาลามสูตรที่มีอยู่ในเอกสารนั่นอีก ใคร่ครวญให้ชัดเจนว่ากาลามสูตรนั้นคืออย่างไร คือเชื่อเมื่อได้ทดลองปฏิบัติด้วยใจของตนเองแล้ว จึงเชื่อ จึงตัดสินว่าถูกหรือผิด ใช้ได้หรือไม่ได้ ฉะนั้นนี่ก็เป็นสิ่งที่เราได้พูดกันถึงเรื่องของธรรมะนะคะ ว่ามีอยู่สองระดับ ว่ามีอยู่ช่วยส่งเสริมให้เกิดศรัทธาได้ด้วย แล้วก็ศรัทธาที่ถูกต้องได้ด้วย แล้วนอกจากนั้นธรรมะนี้เราก็ยังบอกได้อีกว่ามีอยู่สองระดับ ระดับหนึ่งที่เราประพฤติปฏิบัติกัน สอนกันอยู่ที่บ้านหรือว่าสอนกันอยู่ที่โรงเรียนในสถาบันการศึกษา ก็คือในระดับของศีลธรรม ที่เราเรียกว่ามีชั่วโมงศีลธรรม มีการสอนศีลธรรม นี่เป็นระดับเบื้องต้น ศีลธรรมแปลว่าภาวะแห่งความปกติหรือธรรมะที่ทำความปกติให้เกิดขึ้น ความปกตินี้คือความปกติที่เรามองเห็นกันได้ เป็นอาการภายนอก ก็คือความปกติของวาจา ความปกติของกาย นั่นก็คือมีวาจาที่ปกติ วาจาที่ไม่ก้าวร้าว วาจาที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น กล่าวโดยสรุปว่าวาจาที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนด้วยการก้าวร้าว การส่อเสียดยุยง หรือว่าผรุสวาจาหยาบคายไม่น่าฟัง หรือแม้แต่สรรเสริญเยินยออย่างผิดความจริงแบบสอพลอ ประจบประแจงนั่นก็เป็นวาจาที่เบียดเบียนอีกเหมือนกัน ฉะนั้นวาจาที่ปกติก็คือวาจาที่ไม่เบียดเบียนด้วยประการทั้งปวง การกระทำที่ปกติก็คือการกระทำที่ไม่กราดเกรี้ยว ไม่ตึงตัง ไม่กระทบกระทั่งผู้อื่น คือไม่เบียดเบียนผู้อื่น ถ้าหากว่าบุคคลใดมีความปกติเช่นนี้ทั้งกาย ทั้งวาจา นั่นก็คือผู้ที่มีศีลธรรม แล้วเราก็ยกย่องว่าเป็นคนดีใช่ไหมคะ นี่คือระดับศีลธรรมที่เราสอนกันอยู่ในบ้าน ในโรงเรียน ดิฉันเองก็ได้รับการสอนให้เป็นคนดี แล้วก็พยายามจะเป็นคนดี ยึดมั่นในความดี พยายามทำบุญทำทาน รับศีล ฟังเทศน์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตามกำลัง แต่ทว่าคนดียังร้องไห้ไหม ยังร้องไห้ ยังเสียใจ ยังเศร้าหมอง หดหู่ เป็นทุกข์ แล้วคนดีนี่แหละร้องไห้มากกว่าคนชั่ว จริงไหมคะ ถึงผู้ชายไม่ร้องออกมาเป็นน้ำตา แต่ก็ร้องไหลรินอยู่ข้างใน ร้องมากกว่าคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนชั่ว แล้วเวลาเจ็บปวดก็เจ็บปวดมากกว่าคนชั่ว เพราะอะไร เพราะคนดีก็มักจะกระทำสิ่งที่เรียกว่าดี แต่แล้วทำไมต้องร้องไห้ล่ะ ทำไมคนดีต้องร้องไห้ ทำไมคนดีต้องเจ็บปวด ในเมื่อทำความดีแล้วทำไมไม่เบิกบานกับความดีที่ได้ทำ เคยนึกไหมคะ เพราะอะไร นั่นก็คือคนดี ถึงแม้จะดีแค่ไหนเพียงใดก็ตาม แต่ยังกระทำความดีด้วยความหวัง ใช่หรือเปล่า ด้วยความหวัง ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าถ้าฉันทำดีแล้วก็ต้องได้รับความดีตอบแทนสิ แล้วความดีที่หวังจะได้รับนี้ อาจจะเป็นรูปธรรมบ้าง คือเป็นวัตถุบ้าง เป็นตำแหน่งการงานเลื่อนสองขั้นบ้าง หรือบางทีก็เป็นนามธรรม ได้ความรัก ได้ความนิยมยกย่อง ได้ความมีชื่อเสียงหน้าตาตามมาบ้าง เป็นต้น เพราะฉะนั้นคนดีก็ยังทำดีด้วยความหวัง ยังอยากได้อะไรตอบแทน เพราะฉะนั้นคนทำดีหรือคนดีไม่รู้หรอกว่าการกระทำอย่างนี้คือการดื่มยาพิษฆ่าตัวเอง เอายาพิษใส่ลงไปในใจตัวเอง ให้ใจเราต้องเจ็บปวด ให้ต้องเป็นทุกข์เพราะยึดมั่นถือมั่น เรียกว่าเป็นการทำความดีอย่างมีตัวมีตน ใช่ไหมคะ มีตัวผู้กระทำ ฉันเป็นคนทำ และคนอื่นมาย่ำเอาหน้าตาไปหมด สองขั้นนี้ควรจะเป็นของฉัน ดูสิ นั่นแหละนั่งอยู่เฉย ๆ มาเอาไปเลยเฉย ๆ เห็นไหมคะ เพราะยึดมั่นถือมั่น เมื่อใดที่เป็นคนดีเจ็บปวดมาก ร้องไห้หนัก เพราะไม่กล้าไปเอะอะตึงตัง กลัวเขาจะว่าไม่ดี เห็นไหมคะซ้อนไปอีก แอบร้องไห้คนเดียว เจ็บปวดคนเดียว ชอกช้ำคนเดียว แล้วก็ทับถมกันมากเข้า ๆ ๆ ผลที่สุดคนดีนี่แหละเลยเป็นบ้า เป็นคนบ้า เพราะไม่สามารถที่จะเก็บ เก็บกดเอาไว้ได้ วันหนึ่งก็ระเบิดออกมา เพราะขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ ขาดปัญญาที่จะแก้ไขควบคุมจิตของตนเอง ก็เลยกลายเป็นโรคประสาท เลยกลายเป็นคนบ้า
เพราะฉะนั้นคนดีหรือความดีที่กระทำในระดับศีลธรรม ดี ไม่ใช่ไม่ดี สังคมต้องการศีลธรรม สังคมต้องการสมาชิกของสังคมที่เป็นคนดี แต่ถ้าเพียงแต่อยู่ในระดับศีลธรรม คนดีก็ยังต้องร้องระงมด้วยความทุกข์ มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อคนดีคนใดนี่นะคะ ได้ผจญกับความทุกข์ที่เกิดจากการทำความดีเพราะความหวังของตัวเอง จนเหลือที่จะทนทาน วันหนึ่งก็ตื่นขึ้นมาว่า เอ๊ะ จะมีอะไรดียิ่งกว่านี้อีกไหม จะมีอะไรดียิ่งกว่านี้อีกไหมที่จะช่วยเรา เมื่อทำดีแล้วให้มีความสุขในความดี เมื่อวันใดที่นึกขึ้นอย่างนี้นะคะ แทนที่จะเสียศรัทธา คือเสียศรัทธาว่าไม่เอาล่ะ ทำชั่วดีกว่า ก็ทำดีก็ไม่เห็นได้อะไร แทนที่จะเสียศรัทธา ถ้าเสียอย่างนั้นกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิทันที แต่ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วก็นึกว่า มีอะไรดีกว่านี้อีกไหม ที่ทำดีแล้วจะได้เป็นสุขกับความดี นั่นแหละจะแสวงหาสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะจะมีคุณค่าขึ้นมาในความรู้สึก ถ้ามิฉะนั้นก็เป็นคนดีอย่างโลก ๆ คือแค่เอื้อเฟื้อเจือจาน ทำบุญทำทานไปตามเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันคนดีก็ยังโลภจริงไหมคะ ยังโกรธ ยังหลง ยังอิจฉาริษยา มากบ้าง น้อยบ้าง แสดงออกมาบ้าง ไม่แสดงออกมาบ้าง เพราะฉะนั้นคนดีก็ถูกก่อกวนด้วยสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งวันหนึ่ง ไม่เอาแล้ว ความดีเพียงอย่างนี้ไม่ช่วยเลย ก็จะแสวงหาว่ามีอะไรยิ่งกว่านี้อีกไหม นั่นแหละ จะนึกถึงสิ่งที่ท่านเรียกว่าปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรมก็คือธรรมะอันสูง สูงยิ่ง สูงกว่าระดับของศีลธรรม กล่าวโดยสรุปก็คือ หมายถึงธรรมะที่สอนให้รู้จักเรื่องของอนัตตา สอนให้รู้จักเรื่องของอิทัปปัจจยตา คือการรู้จักทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างถูกต้อง โดยไม่มีตัวตนเข้าไปยึดมั่นถือมั่น อย่างที่เราพูดกันอยู่ แล้วเราก็จะพูดต่อไป เมื่อรู้จักทำอย่างนี้ขึ้น คนดีก็จะได้สำนึกว่า อ๋อ ไม่มีคนดีไม่มีคนชั่ว มีแต่การกระทำที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง คือตนเองไม่เป็นทุกข์ แก่เพื่อนมนุษย์ที่จะได้รับประโยชน์ มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันต่อไป นั่นแหละ เมื่อปรมัตถธรรมเข้ามาเป็นรากฐานในใจเมื่อใด ผู้ที่ทำความดีก็จะรู้จักว่าทำความดีเพื่อความดี แล้วก็ไม่ยึดมั่นในความดีนั้น และการกระทำที่อยากจะกระทำความดีเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ก็จะมั่นคงยิ่งขึ้น มีพลังที่จะกระทำให้ยิ่งขึ้น จะสามารถนำความรู้นำประสบการณ์ที่ได้เล่าเรียนศึกษามาให้เกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และตนเองยิ่งขึ้น ฉะนั้นถ้ารู้ธรรมะอย่างถูกต้องทั้งปริยัติธรรมก็จะนำมาปฏิบัติธรรม จนกระทั่งเกิดปฏิเวธธรรม เพราะรู้แล้วว่าธรรมะนั้นมีสองระดับ คือระดับของศีลธรรม ดีแต่ไม่เพียงพอ เมื่อถึงระดับของปรมัตถธรรมเมื่อใด เราจะอยู่ร่วมกันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ในสังคม ในชาติประเทศ ตลอดจนในโลกด้วย คงเคยได้ยิน เขามีอะไรนะ ที่ประชุมสันติภาพ Peace talks Summit talks เกี่ยวกับ Peace ไม่รู้กี่ครั้งใช่ไหมคะ ผู้นำประเทศมหาอำนาจไปปรึกษากัน ทำยังไงถึงจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกได้ แต่ก่อนนี้ก็มี UN United Nations เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ สันติภาพเกิดไหม ไม่เกิด เพราะคนที่ไปพูดสันติภาพน่ะ ในใจยังเต็มไปด้วยตัณหา เต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง เต็มไปด้วยอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น จะเอาให้ได้อย่างใจเราตัวเรา แล้วสันติภาพมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดขึ้นในใจของมนุษย์เสียก่อน แล้วจึงค่อยเผื่อแผ่สันติภาพนั้นต่อเพื่อนมนุษย์ แล้วโลกเราจึงจะอยู่ด้วยกันด้วยสันติภาพที่แท้จริง นี่คือคุณค่าของธรรมะอันสูงสุดประมาณมิได้และเป็นสิ่งที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา อยู่กับเราในเรานี้เอง ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปแสวงหาธรรมะที่ไหน ไม่ต้องไปหาที่ไหน หาที่ตัวเรา หาที่ธรรมชาติล้อมรอบตัวเรา แม้แต่ที่ทำงานที่แสนจะใช้ไม่ได้ ทุเรศ หรืออยู่กันได้ยังไง แต่เราก็อยู่กับเขา นั่นแหละดูธรรมะตรงนั้นให้มาก ๆ มองให้เห็นว่าเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย จะแก้ไขได้อย่างไร ถ้าเรามองชีวิตรอบตัวเราอย่างนี้ นั่นก็คือการซึมซาบในธรรมะ นำเอาธรรมะไหลหลั่งเข้ามาสู่ใจให้ยิ่งขึ้น ๆ ๆ แล้วจิตนี้ก็จะมีสันติสุข คือมีความสงบ แล้วก็สามารถนำสันติสุขนั้นออกสู่เพื่อนมนุษย์ และนี่คือพระประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงปรารถนาจะให้ทุกคนมาบวช ไม่ชักชวน ไม่เรียกร้องใคร แต่แนะนำ ถ้าอยากอยู่เป็นสุขสงบที่แท้จริง คือทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ทำให้ถูกต้อง ให้รู้ทั้งปริยัติธรรม นำมาปฏิบัติธรรม แล้วจะเห็นปฏิเวธธรรมด้วยใจของตนเอง ก็เผอิญไม่มีเวลาจะตอบคำถามแล้วนะคะ ต้องขอเป็นหนี้ไว้ก่อน แล้วก็จะพยายามรวบรวมตอบในวันพรุ่งนี้ อากาศก็กำลังเย็นสบายนะคะ ท่านผู้ใดจะไปทำกิจส่วนตัวหรือท่านผู้ใดจะลองปฏิบัติต่อไป ก็สุดแล้วแต่นะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ