แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฉะนั้น ผู้มีธรรมก็คือ ผู้ที่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง และก็ต้องขยายคำว่าถูกต้องว่า เพื่อประโยชน์ที่เกิดขึ้น ประโยชน์แก่งาน ประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และโดยเฉพาะผู้ที่กระทำหน้าที่นั้นเอง ไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหา เพราะเมื่อใดที่กระทำหน้าที่โดยเอาตัวออกมาเสียจากการกระทำนั้น ให้มีแต่การกระทำ มันไม่มีความทุกข์ ทำไมถึงไม่มีความทุกข์ เพราะมันไม่มีความอยาก ไม่มีความหวังปนอยู่ในนั้น (ใช่ไหมค่ะ) มันไม่นึกอยาก ไม่นึกหวัง แต่พอมีตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างคนดีที่สุดก็อยากให้มันดี (ใช่ไหมค่ะ) อยากให้มันดีอย่างที่ฉันเห็นว่ามันควรจะดี แต่ทีนี้มันก็ไม่มีอะไรดีอย่างที่เราคิด เพราะว่าในชีวิตของการดำรงชีวิตอยู่นี้มันมีเหตุปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง สอดแทรก ในการกระทำหน้าที่หลายเหตุ หลายเรื่อง หลายอย่าง มันจึงไม่เป็นไปตามใจ แล้วผลที่เกิดขึ้นก็คือทุกข์ ฉะนั้นท่านจึงสอนว่าให้มีแต่การกระทำ ไม่ต้องมีตัวผู้กระทำ พูดง่ายนะคะแต่ทำยาก เหมือนอย่างเวลาที่มีการอบรม คือมี Retreat(รีทรีท) มีการอบรมทั้งของฝรั่ง ของไทย แล้วก็ตอนเช้ามืดเวลาที่ท่านอาจารย์ยังแข็งแรงอยู่ ตอนตี 5 ท่านก็จะแสดงธรรมให้ฟัง ที่อบรมก็อยู่ทางอีกฟากหนึ่ง ท่านผู้ใดที่เคยไปสวนโมกข์ แล้วก็จะรู้ว่าที่อบรมอยู่อีกฟากถนนหนึ่งที่เราเรียกว่า “สวนโมกข์นานาชาติ” แล้วตอนเช้าตื่นตี 4 พอสัก 04:30 ก็จะเดินมาเป็นระยะทาง กิโลเมตรกว่าๆ ประมาณสัก 2 กิโล ก็เดินมา เดินอย่างลักษณะของการเดินจงกลม คือพยายามเดินด้วยความสงบ แถวเรียงหนึ่งมาแล้วก็ตี 5 จะมาถึงที่สวนโมกข์อีกด้านหนึ่งก่อนตี 5 สักเล็กน้อย นั่งกันเรียบร้อยฟังธรรม ท่านอาจารย์ท่านชอบแสดงธรรมตอนตี 5 เพราะท่านบอกว่าเป็นตอนที่อากาศแจ่มใส แล้วก็จิตใจของคนก็แจ่มใส แล้วก็มันทำให้ทุกอย่างโปร่ง ทั้งสมอง ทั้งจิตใจ แล้วพอถึงเวลากลับ ท่านก็จะบอกว่า “เดินกลับอย่างไม่มีตัวผู้เดิน” ถ้าเป็นฝรั่งท่านก็จะบอกว่า “walk without the walker (วอล์ค วิชเอ้าท์ เดอะ วอล์คเกอร์)” เดินโดยไม่ต้องมีตัวผู้เดิน เราก็จะมาแปลงได้ว่า “Do without the doer (ดู วิชเอ้าท์ เดอะ ดูเออะ)” “Do without the doer (ดู วิชเอ้าท์ เดอะ ดูเออะ)” โดยไม่ต้องมีผู้กระทำ ซึ่งทีแรกเราก็อาจจะท่อง หรือเข้าใจด้วยสติปัญญาอย่างที่เรียกว่าเข้าใจ อย่าง“Intellectually อินเท็ลเลคชัวลิ” ด้วยสติปัญญาก็รู้ว่ามันความหมายว่าอย่างนี้ แต่ยังทำไม่ได้ แต่ก็ฝึกไปทีละน้อย ละน้อย ละน้อย เตือนใจเสมอ ทำโดยไม่มีผู้กระทำ “Do without the doer (ดู วิชเอ้าท์ เดอะ ดูเออะ)” “eat without the eater (อีท วิชเอ้าท์ ดิ อีทเทอะ)” กินโดยไม่มีผู้กิน ก็จะไม่หงุดหงิดกับอาหารที่กิน ไม่อร่อย ไม่ถูกปาก ไม่ถูกใจ หรือไม่ไปติดอกติดใจในรสอาหาร ว่าแหม!!! นี่มันอร่อยแล้วก็ซู้ดซาด แล้วก็มั่นหมายเอาไว้ว่าต้องมากินอีกที่นี่ (เห็นไหมคะ) นั่นกินอย่างมีตัวผู้กิน
เพราะฉะนั้น เห็นไหมคะว่า มีตัวเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อไร มันล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดปัญหาทั้งนั้น เหมือนอย่างคำถามที่ถามมาเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ เกี่ยวกับการเดินจงกลม ทำไมมันถึงเครียด นั่งสมาธิแล้วมันก็ปวด มันก็เมื่อย มันก็อึดอัด มันอยู่กับลมหายใจได้ประเดี๋ยวเดียวมันก็ไปอีก ไม่เห็นมันสงบลงเลย คำตอบ ขอตอบรวมในที่นี้ก็คือว่า เพราะมีตัวผู้กระทำสมาธิ จึงมีความหวัง ก็พูดแล้วใช่ไหมคะ 2 วันนี้ก็พูดมาแล้วว่าให้ลืมตัวซะ แต่นี่ไม่ยอมลืม เอาตัวเข้ามาทำ คือเอาตัวเข้ามาปฏิบัติทุกที ฉันกำลังนั่งสมาธิ ฉันกำลังเดินจงกลม และก็ฉันจะต้องทำให้ได้ นี่ล่ะมันใหญ่ ใหญ่ตรงตัวฉันจะต้องทำให้ได้ เพราะฉันเดินจงกลมด้วยความหวังว่าฉันจะต้องเดินได้เรียบร้อย สงบ ฉันนั่งสมาธิด้วยความหวังว่าฉันจะต้องนั่งอย่างสบาย แล้วก็จิตก็สงบเยือกเย็น ผ่องใส ลมหายใจละเอียด มันไม่ได้หรอกค่ะ มันไม่ได้ ที่จะเอาให้ได้อย่างใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องลืมตัวเสีย เราทำแต่หน้าที่ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติจะพึ่งกระทำอย่างไร รู้วิธีปฏิบัติแล้วทำให้ถูกต้องโดยไม่ต้องมีตัวผู้กระทำ ปัญหาก็จะไม่เกิด
เพราะฉะนั้น ธรรมะคือหน้าที่ กล่าวโดยสรุป ที่ใดมีการปฏิบัติหน้าที่ ที่นั้นมีธรรมะ เหมือนอย่างในที่ทำงานบางแห่ง ยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าหากันในการทำงาน ทำงานไม่เหนื่อย รู้สึกสนุกในการทำงาน งานก็เสร็จรวดเร็ว ไม่รู้สึกว่าจะย่อท้อ มีปัญหาเข้ามาช่วยกันแก้ ปัญหานั้นก็เหมือนกับไม่มีปัญหา เคยพบบ้างไหมคะในบางครั้งบางคราว และก็นั่นแหละคือความมีธรรมะได้เกิดขึ้นแล้วในที่นั้น แล้วถ้ามีใครจะต้องจากไปก็มีความรู้สึกเสียใจ เสียดาย อาลัย เพราะว่าอยู่ด้วยกันสนุก ทำงานกันสนุกเหลือเกิน แต่ลืมนึกว่านั่นเพราะเราทำด้วยความมีธรรม ด้วยความไม่เอาแต่ใจตัว ด้วยความที่ไม่เห็นแก่ตัวเองเป็นที่ตั้ง เรามีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยอมเข้าใจซึ่งกันและกัน และก็ยอมให้อภัยซึ่งกันและกัน ร่วมแรงร่วมใจต่างคนต่างทำหน้าที่ ความสนุกในการทำงานจึงเกิดขึ้น นั่นคือธรรมะเกิดขึ้น ณ ที่นั้น จึงอยู่ทำงานด้วยกันด้วยความเป็นสุข ฉะนั้นจำง่ายๆ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่ที่มนุษย์พึ่งกระทำให้ถูกต้อง ถูกต้องโดยธรรมะ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ทำเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่จะเกี่ยวข้อง ถ้าหากว่าทำได้อย่างนี้ ท่านก็บอกว่าชีวิตมีความรอดแล้ว อย่างที่เราพูดถึงความหมายของการศึกษา เพราะมีปริยัติธรรมที่ถูกต้อง และก็มีการปฏิบัติธรรม อย่างถูกต้อง อย่างเต็มกำลังความสามารถ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่ขาดตอน ปฏิเวธธรรม ผลก็เกิดขึ้น คือความรอดจากความทุกข์ ไม่มีความทุกข์เข้ามากระทบกระทั่งให้ชีวิตนี้หม่นหมองหรือเศร้าหมอง ก็ขอย้ำว่า ธรรมะ หมายถึงทุกสิ่งทั้งที่เป็นตัวเหตุ ตัวผล สิ่งที่เป็นตัวเหตุปัจจัยก็ธรรมะ สิ่งที่เป็นตัวผลที่เกิดขึ้นก็ธรรมะ ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรมะ ทั้งปรากฏการณ์ที่เป็นธรรมชาติ เช่นฝนตก แดดออก ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว ก็เป็นธรรมะ ไฟไหม้ อุบัติเหตุรถชนกัน จี้ปล้น ก็เป็นธรรมะอีกเหมือนกัน คือมันเป็นทุกสิ่งที่อยู่ในความหมายของคำว่าธรรมะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ในลักษณะใด จะเป็นตัวคำสอนก็เป็นธรรมะ ตัวการปฏิบัติก็ธรรมะ ผลของการปฏิบัติก็ธรรมะ ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมก็ธรรมะ สิ่งที่เป็นนามธรรมก็ธรรมะ รวมความว่าไม่ว่าฝ่ายดี ฝ่ายชั่วหรือเหนือดีเหนือชั่วรวมลงในคำว่าธรรมะคำเดียว
ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจคำว่าธรรมะคำเดียวก็จะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี้ล้วนแล้วแต่เสมอกันหมด ไม่มีการแบ่งแยกเป็นส่วนดีส่วนชั่ว ที่เรียกว่าเป็นโลกธรรม 8 ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ แยกออกเป็น 2 ฝ่าย ก็คงสังเกตเรียกว่านี่เป็นโลกธรรม 8 เป็นธรรมอย่างโลกๆ ถ้าหากว่าเป็นธรรมอีกฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า เหนือโลก คือเป็นโลกุตตรธรรม ไม่มี ไม่มีสรรเสริญ ไม่มีนินทา เพราะสรรเสริญหรือนินทาก็คืออย่างเดียวกัน เคยประสบไหมคะ มีเพื่อน มีคนรู้จักไหมคะ วันนี้พูดดี๊ดีน่าฟัง สรรเสริญ เยินยอ อีกเดือนหนึ่งเปลี่ยนไปแล้ว เอาแต่นินทา ว่าอะไรก็จิกเอาๆ เคยพบบ้างไหม นั่นแหละมันไม่มี เพราะว่ามันมีอยู่แต่เพียงสิ่งเดียว คือคำว่าธรรมเท่านั้นเอง
ฉะนั้น ถ้าจะดูว่าลักษณะของธรรม ลักษณะของธรรมะ คืออย่างไร ก็ตามบทสวดมนต์ในทำวัตรเช้านะคะ ก็มีบอกอยู่แล้วว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นั่นคือลักษณะของธรรม ทุกสิ่งไม่มียกเว้น เป็นอนัตตาทั้งสิ้น แม้แต่นิพพานก็เป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ฉะนั้น ถ้าเรารำลึกอยู่ในใจเสมอว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ธรรมะแปลว่าสิ่ง ทุกสิ่งครอบในจักรวาลนี้ ไม่ว่าดี ไม่ว่าชั่ว ไม่ว่าได้ ไม่ว่าเสีย ไม่ว่าคน สัตว์ สิ่งของ วัตถุ ไม่ว่าความรัก ความโกรธ ความเกลียด ล้วนแล้วแต่เป็นอนัตตาทั้งสิ้น พออะไรเกิดขึ้นถูกใจ ก็ไม่ลิงโลดตื่นเต้น มันมีสติ สติเกิดขึ้นระวังใจได้ทัน ไม่ลิงโลด ตื่นเต้นไปกอดรัด ผวา เพื่อจะขอเอาไว้ให้มันอยู่นานๆ อะไรที่เป็นความสูญเสียเกิดขึ้นก็ไม่ทรุดจนกระทั่งหมดกำลังเพราะรู้แล้วว่ามันเป็นอนัตตา ตกอยู่ภายใต้ของความเป็นอนิจจัง เปลี่ยนได้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ฉะนั้นธรรมทั้งปวง มีลักษณะเป็นอนัตตาทั้งสิ้น ไม่ว่าโต๊ะ ไม่ว่าเก้าอี้ ไม่ว่าไมโครโฟน ไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าต้นไม้ ทุกอย่างเป็นอนัตตาทั้งสิ้น ฉะนั้นเป็นสิ่งที่พึ่งรำลึกเอาไว้เสมอนะคะ เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า ถ้าหากว่ามนุษย์เราอยากจะเคารพ เคารพสูงสุด ควรจะเคารพอะไรที่จะนำชีวิตนี้ให้รอดพ้นจากความทุกข์ได้ ที่จะนำมาเป็นหลักประจำใจ ก็คงมองเห็นแล้ว เคารพพระธรรม เพราะธรรมะคือธรรมชาติ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงรับว่า ธรรมชาตินี่แหละเป็นครู เพราะว่าสัจจะธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบและก็นำมาสั่งสอนจนกระทั่งคำสอนยังอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้ทรงค้นพบจากที่อื่น ทรงค้นพบจากธรรมชาติ 6 ปีที่ได้สละอุทิศพระองค์ ละทิ้งปราสาทราชมณเฑียรทั้งหลาย ราชสมบัติทั้งหลาย ออกมาเดินป่าอยู่ด้วยพระองค์เดียวเพื่อที่จะเสาะแสวงหาค้นพบซิว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นสัจธรรม อะไรคือสิ่งที่จะช่วยให้จิตใจมนุษย์เรารอดพ้นจากความทุกข์ มีไหม แล้วก็ทรงค้นพบจากธรรมชาติ จากธรรมชาตินี่เอง ที่มองเห็นแล้วว่า ธรรมชาติมันมีกฎอยู่ในตัวของมันเอง คือความไม่เที่ยง ยึดมั่นอะไรไม่ได้สักอย่างหนึ่ง ความทนอยู่ไม่ได้ ไม่มีอะไรทนอยู่ได้เลย ร่างกายตัวเรานี้ เราจะเห็น อายุยังน้อยๆอยู่ก็ยังไม่ค่อยจะเห็น อายุยัง 20, 30 ถ้ายังสุขภาพดีก็มองไม่ค่อยจะเห็น แต่พอ 40, 50, พอ 60, 70 ยิ่งมองเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกขัง คือทนได้ยากของร่างกายนี้อันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มองเห็นได้ชัดเลย มันมาจากธรรมชาติ มันทนอยู่ไม่ได้ มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย แล้วก็ค่อยๆซึมซาบในความเป็นอนัตตา ชัดขึ้นๆๆ ขาที่เคยแข็งแรง วิ่งได้ กระโดดได้ ยืดหยุ่นได้ จะนั่งแบบไหน จะให้เป็นยังไงมันได้ เดี๋ยวนี้ทำไมมันแข็ง บังคับมันไม่ค่อยจะได้ มันปวด มันเมื่อย นี่แหละเพราะมันเป็นอนัตตา เพราะมันไม่เที่ยง มันทนได้ยาก นี่แหละคะ พระองค์ทรงค้นพบจากธรรมชาติ ไม่ได้ค้นพบจากที่อื่น จากธรรมชาติที่เฝ้าใคร่ครวญ ไตร่ตรอง และก็กฎของธรรมชาติอันนี้ มันมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ มีอยู่อย่างนี้ ธรรมชาติมีบอกให้ดูอยู่อย่างนี้ แต่ไม่มีมนุษย์ใดที่จะมีความล้ำเลิศ ปรีชาญาณในพระสติปัญญาเท่ากับเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ได้บรรลุธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมองผ่านเลยธรรมชาติ ยิ่งมนุษย์ทุกวันนี้ยิ่งอกตัญญูต่อธรรมชาติยิ่งขึ้นๆ ทำลายล้างธรรมชาติ โค่นภูเขา ตัดต้นไม้ ทำลายป่า จนเราร้อนกันอย่างเหลือเกินทุกวันนี้เพราะอะไร เพราะความอกตัญญูของมนุษย์ต่อธรรมชาติ ลืมว่าตัวเกิดจากธรรมชาติที่มีชีวิตอยู่เย็นเป็นสุขมาแต่หลายพันปี ก็เพราะธรรมชาติได้ให้ความร่มเย็นเป็นสุข ให้สีเขียว ธรรมชาติให้สีเขียวแก่มนุษย์ ให้ความเยือกเย็น ผ่องใสแก่มนุษย์ แต่มนุษย์อกตัญญูนั่นแหละ ทำลายสีเขียว และก็ยังมาอวดไปสร้างสีเขียวที่อื่น คิดว่าทำบุญคุณกับธรรมชาติรึ แท้ที่จริงนั่นแหละคือการอกตัญญูกับธรรมชาติ ทำลายธรรมชาติจนผลที่เราได้รับอยู่ทุกวันนี้ ทำไมมันถึงร้อนเหลือประมาณ ปีนี้ร้อนเหลือเกิน และก็เชื่อเถอะมันจะร้อนยิ่งกว่านี้ๆ ยิ่งขึ้นทุกปีตราบใดที่มนุษย์ไม่มีความกตัญญูต่อธรรมชาติ ป่ากว่าจะปลูกขึ้นมาได้ใช้เวลากี่สิบปี เป็น 100 ตัดฉับเดียว ในอึดใจเดียวก็โค่นได้ แล้วเราจะมาปลูกป่าใหม่ สร้างป่าใหม่ ก็ลงมือทำดีกว่าไม่ทำ แต่มันก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไรเราจึงจะได้รับความเย็น ความเขียวชอุ่มของธรรมชาติกลับคืนมา