แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หรือกฎของธรรมชาติหรือสัจธรรมที่บอกว่า ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย คือผลที่เราพบ ที่เราประสบ หรือคนทั้งหลายเนี่ย เมื่อประสบผลที่เกิดขึ้น จะพอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตาม จงรู้เถิดว่า มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้อยู่ดีๆเกิดขึ้นเอง แต่มันเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย คือมีการกระทำให้เกิดขึ้น ผลจึงเป็นเช่นนั้น การที่ได้ทรัพย์สินเงินทอง ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้ความสุข อยู่ดีๆ มันไม่ได้ได้ มันมีเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยคือกระทำเช่นนั้น มันจึงได้มา เช่นเดียวกับเมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ได้รับคำนินทา มีความทุกข์ มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นเองเหมือนกัน มันมีเหตุมีปัจจัย นี่เป็นกฎของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ แล้วก็เป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนาที่ท่านบอกว่า สิ่งใดมีแดนเกิด สิ่งนั้นก็มีแดนดับ นี่เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน
เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาของเหตุของผล ไม่ใช่เป็นศาสนาที่จะบอกว่าให้เชื่ออย่างงมงายไป เพราะว่าตัวกฎของธรรมชาติที่บอกว่า ผลอย่างใดเกิดจากเหตุอย่างนั้น ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆเลยสักอย่างเดียว กฎธรรมชาติกฎนี้ ท่านเรียกชื่อว่า “กฎอิทัปปัจจยตา” ซึ่งเราจะได้พูดกันต่อไปอีกเหมือนกัน กฎอิทัปปัจจยตา อ-อ่าง สระอิ ท-ทหาร ไม้หันอากาศ ป-ปลา ป-ปลา ไม้หันอากาศ จ-จาน แล้วก็ จ-จานอีกตัวหนึ่ง ย-ยักษ์ แล้วก็ ต สระอา
กฎอิทัปปัจจยตา คือหมายถึง กฎที่อธิบายว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็ต้องมี คือเมื่อกระทำสิ่งนี้ ผลมันก็เป็นอย่างนี้ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี เมื่อไม่กระทำอย่างนี้ ผลก็ไม่เป็นอย่างนี้ ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าการกระทำนั้น กระทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าผลจะต้องออกมาเป็นอย่างนี้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือเป็นทุกข์ เพราะมันจะไม่ได้ตามนั้น ถึงพอได้ตามนั้นแล้ว มันก็ยังไม่ถูกใจเพราะมันมีอะไรแทรกซ้อนขึ้นมา เช่น เกิดความโลภตามมา นี่ก็คือเมื่อมีสิ่งนี้ มีอุปาทานความยึดมั่น สิ่งนี้ก็มี คือความทุกข์ย่อมตามมา มากบ้าง น้อยบ้าง เวลานี้ยังมองไม่เห็นก็โปรดฟังไว้ก่อน แล้วลองใคร่ครวญดู ถ้าสิ่งนี้ไม่มี คือ กระทำการสิ่งใดโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ทำเพราะเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่ควรทำเพราะมันเกิดประโยชน์ สิ่งนี้ก็ไม่มี ความทุกข์ก็ไม่มี มันก็จะมีแต่ความอิ่มใจพอใจ ความเบิกบานที่ได้กระทำสิ่งที่เกิดประโยชน์
เพราะฉะนั้น กฎอิทัปปัจจยตาก็เป็นกฎที่จะบอกมนุษย์ทั้งหลายว่า อันที่จริงแล้ว การกระทำนั่นล่ะสำคัญที่สุด การกระทำที่ถูกต้องก็จะนำผลที่ถูกต้องมาให้ คือ ไม่มีความทุกข์ ไม่ต้องเป็นทุกข์ การกระทำที่ไม่ถูกต้องก็คือจะนำผลที่ไม่ถูกต้อง คือ เกิดความทุกข์ เกิดความไม่สบายใจด้วยประการต่างๆ นี่เมื่อเราพูดกันถึงในทางธรรมนะคะก็มีความหมายว่าอย่างนี้ ถ้าพูดให้ง่าย ๆ ความหมายของกฎอิทัปปัจจยตาที่ดิฉันชอบใช้คำพูดง่ายๆ ก็คือว่า ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ จำเอาไว้ง่ายๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ เพราะฉะนั้นใครที่นั่งนึก นั่งหวัง นั่งมองฟ้า อ้อนวอนเทวดา ขอให้ปล่อยปุ๊บลงมาเถิดสิ่งที่ต้องการ ไม่มี ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ หรือเพลงสมัยก่อนนี้ที่ได้ยินเพลงฝรั่งเขาร้องสมัยดิฉันยังเป็นสาวน่ะ ก็ชอบมาก Whatever will be, will be เดี๋ยวนี้ก็ยังมีคนร้องกันอยู่ใช่ไหม Whatever will be, will be อะไรมันจะเป็น มันก็จะเป็น แต่นี่มันค่อนข้างเป็นทางโลกไป แต่อันที่จริงแล้ว ถ้าหากว่า Whatever will be, will be แล้วก็ให้มันเกิดขึ้นตามยถากรรม คือถ้าใช้ตามคำชาวโลกนะคะ คือบอกว่าแล้วแต่มันเป็นไปตามยถากรรม อันนั้นไม่ใช่กฎอิทัปปัจจยตาอย่างถูกต้อง เพราะเหตุว่าปล่อยให้มันเกิดขึ้นตามบุญตามกรรมก็ไม่ได้ใช้สติปัญญา ไม่ได้ใช้จิตที่มีสติปัญญาควบคุมการกระทำให้ถูกต้อง อย่างนั้นมันเหมือนกับสวะปล่อยลอยไป เพราะฉะนั้น Whatever will be, will be อย่างถูกต้องจะต้องเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยสติปัญญา แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมันจึงจะนำผลที่ไม่เป็นความทุกข์ให้เกิดขึ้น
ฉะนั้น ความหมายของธรรมะข้อแรกก็คือตัวธรรมชาติ ข้อที่สอง กฎธรรมชาติ ตัวธรรมชาติ-สภาวธรรม กฎธรรมชาติ-สัจธรรม ทั้งสองอย่างนี้ ท่านทั้งหลายก็คงมองเห็นแล้วว่า เมื่อเราพูดว่าพุทธศาสนาแยกออกได้เป็นสามส่วน ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม ตัวธรรมชาติและกฎธรรมชาติจะอยู่ในส่วนไหนคะ ก็อยู่ในส่วนแรก คือ ปริยัติธรรม ใช่ไหมคะ เราต้องศึกษา เราต้องศึกษาเรื่องของธรรมชาติ ศึกษาจนกระทั่งค่อย ๆ รู้จักเรื่องของกฎของธรรมชาติ นี่คือทำความรู้เสียก่อนก็จะเข้าใจในเรื่องของธรรมะชัดเจนขึ้น
จากนั้นไปถึงข้อที่สาม ความหมายข้อที่สามก็คือ หน้าที่ เมื่อเรารู้แล้วว่าธรรมชาติบอกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ ผลอันใดเกิดขึ้นก็มาจากเหตุอันนั้นเสมอไป มันไม่มีเป็นอื่นไปได้ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของมนุษย์ก็จะต้องกระทำ คือจะต้องมีการกระทำหน้าที่ให้สอดคล้องหรือสมคล้อยกับกฎของธรรมชาติ คืออย่าฝ่าฝืน อย่าต่อต้าน ธรรมชาติแสดงตัวจริงคือสัจธรรมให้เห็นอยู่เสมอว่า ทุกสิ่ง ไม่มีสิ่งใดเที่ยงคงที่ มีแต่เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ แต่ความเกิดดับนี่มันรวดเร็วมากจนเราจับไม่ทัน เราก็เลยไปคิดว่ามันเกิดแล้วก็อยู่อย่างนั้นตามสัญญา ตามความจำที่ยึดมั่น แต่ความจริงแล้วมันเกิดดับ มันไม่เที่ยง แล้วมันก็ทนอยู่ไม่ได้ ทั้งสิ่งดีสิ่งชั่ว แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ฉะนั้นอย่าพยายามฝ่าฝืน อย่าพยายามต่อต้าน ถ้าต่อต้าน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ คืออะไรคะ ความทุกข์ เราก็เป็นทุกข์ ถ้าเราต่อต้าน เราจะยึดว่าสิ่งนี้ต้องจริง ต้องอยู่ ความรักที่รักแล้วนี้จะต้องอยู่ ลูกของฉันจะต้องดี ดีอย่างที่ฉันกำหนดแผนชีวิตของเขาว่าต้องดีอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องตั้งหลักฐานอย่างนี้ ต้องดำรงวงศ์ตระกูลเอาไว้ได้อย่างนี้ แต่ก็มีพ่อแม่ที่ร้องไห้คร่ำครวญช้ำชอกเพราะลูกนักหนา นั่นเพราะอะไร เพราะยึดมั่นถือมั่น ประกอบเหตุปัจจัยด้วยการยึดมั่นถือมั่น จะกำหนดว่าลูกจะต้องเป็นอย่างนี้ ก็นึกดูสิ ตัวพ่อแม่เองกำหนดตัวเองได้ไหม ให้เป็นพ่อที่ดี ให้เป็นแม่ที่ดี แล้วก็เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ของเรา ก็ยังกำหนดตัวเองไม่ได้ แล้วทำไมถึงจะมาอยากไปกำหนดชีวิตของคนอื่น แม้จะเป็นชีวิตของลูกที่ถือว่าเราเป็นผู้ให้กำเนิดเขามาก็ตาม นี่คือการต่อต้านฝืนกฎธรรมชาติ ผลที่เกิดขึ้นก็คือทุกข์ เจ็บใจ เสียใจ ชอกช้ำ ขมขื่นอยู่เรื่อยๆ มีความไม่สบายใจ ความวิตกกังวลด้วยประการต่างๆ อยู่ตลอดเวลา นี่คือฝืนกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ความหมายของธรรมะข้อที่สามซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งเลย นั่นก็คือ หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตที่จะต้องกระทำให้สมคล้อยสอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ นั่นก็คือ เรียนรู้ กระทำสิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วผลที่เกิดขึ้นก็คือ จะไม่ต้องเป็นทุกข์
ฉะนั้น ในข้อที่สามนี้ ในความหมายข้อที่สามของคำว่าธรรมะก็คงจะมองเห็นแล้วนะคะว่า นี่ล่ะ คือปฏิบัติธรรม เมื่อมีความรู้ในเรื่องของธรรมะ มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว เพียงแค่นั้นไม่มีผลอะไร ต้องนำมาปฏิบัติ นำมาปฏิบัติก็คือ ฝึกการกระทำหน้าที่ให้ถูกต้องด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วชีวิตนี้ก็จะมีความสุข มีความสงบ มีความเบิกบาน มีความเยือกเย็นผ่องใสยิ่งขึ้นๆ
ส่วนข้อสุดท้าย ความหมายสุดท้าย ความหมายที่สี่ ก็คือ ผลที่ได้จากการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ คือผลที่เกิดขึ้นหรือผลที่ได้จากการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั่นเอง นี่ก็คือ ปฏิเวธธรรม มันจะตามมาโดยอัตโนมัติ จะหวังหรือไม่หวัง มันก็จะเกิดอย่างนี้ เพราะทำอย่างนี้ ผลมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ มันจะไม่มีอื่นไปได้ ทำอย่างนี้ ผลจะต้องเป็นอย่างนี้ ทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น ผลจะต้องเป็นทุกข์ ทำเพราะจะเอาแต่ใจตัว ผลจะต้องเป็นทุกข์ ทำเพราะเห็นแก่ตัว ผลจะต้องเป็นทุกข์ แต่ถ้ากระทำโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ในความคิดความเห็นของตน ผลก็คือไม่ทุกข์ มีแต่ความสบายใจที่ได้กระทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ไม่เฉพาะแก่ตัวเอง แต่แก่เพื่อนมนุษย์ แก่ผู้อื่นได้ด้วย นี่คือปฏิเวธธรรมซึ่งมันจะตามมาเอง เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ฉะนั้น ในความหมายของธรรมชาติ คือในความหมายของธรรมะทั้งสี่ข้อนี้ก็จะมองเห็นอยู่เองแล้วนะคะว่า กฎธรรมชาตินั้นมันทำงานอยู่ในความหมายอันนี้ ชัดเจนด้วยตัวของมันเอง โดยจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่มันจะต้องเป็นอย่างนี้ นี่คือแสดงถึงความยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ นั่นก็คือในข้อที่สาม ความหมายข้อที่สามและความหมายข้อที่สี่ นี่แสดงถึงกฎของธรรมชาติ คือกฎอิทัปปัจจยตา ใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าทำหน้าที่ถูกต้อง สอดคล้องสมคล้อยกับธรรมชาติ ไม่ต่อต้าน ไม่ฝืน ผลก็คือไม่เป็นทุกข์ เหตุอย่างใด ผลอย่างนั้น แต่ถ้าหากว่าทำอย่างต่อต้าน อย่างฝืน จะเอาให้ได้อย่างใจของเรา ดั่งใจของเรา ให้ถูกใจไปตลอดเวลา ผลก็คือต้องทุกข์ ไม่สามารถจะทำได้ เพราะแม้แต่ใจตัวเองก็บังคับใจตัวเองไม่ได้ นี่คือกฎอิทัปปัจจยตา
ฉะนั้น ในความหมายของธรรม คือความหมายของคำว่าธรรมคำเดียวเนี่ยนะคะ มันประกอบทั้งปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม แล้วก็ปฏิเวธธรรม แต่ในสี่ข้อนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่มนุษย์จะละเลยไม่ได้ คือข้อไหน นึกออกไหมคะ ในสี่ข้อนี้ ข้อไหน ข้อหน้าที่ คือข้อที่สาม นี่เป็นข้อที่สำคัญที่สุด ที่จะเห็นผล ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองคือข้อที่สาม เมื่อรู้แล้วว่าธรรมชาติเป็นอย่างนี้ กฎของธรรมชาติเป็นอย่างนี้ก็ต้องกระทำ ถ้าหวังความสุขความเจริญที่แท้จริงให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตนะคะ
ฉะนั้น จากความหมายสี่ประการนี้นะคะ ของคำว่าธรรมะ ก็จะชี้ให้เห็นชัดโดยสรุปง่ายๆ ว่า ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ นี่คือสิ่งที่บุคคลทั้งหลายควรจะนำมาบอกใจตัวเอง ควรจะมาสอนใจตัวเอง ผู้ที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ก็สอนลูกสอนหลาน ปู่ย่าตายายก็สอนลูกสอนหลาน ถ้าอยากจะเป็นคนมีธรรมะ ไม่ต้องทำอะไรอื่นหรอก ทำหน้าที่นั่นล่ะให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่ใด ทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง เมื่อยังเป็นลูกก็ทำหน้าที่ของลูกให้ถูกต้อง คือเชื่อฟังพ่อแม่ ทำตามที่พ่อแม่สอนแนะนำอบรม ให้พ่อแม่ได้สบายใจ ได้มีสวรรค์ เป็นลูกศิษย์ก็ทำหน้าที่ของศิษย์ด้วยการเชื่อฟังครู เล่าเรียนวิชาความรู้ที่ครูสอนให้อย่างตั้งอกตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติด้วยการเป็นศิษย์ที่ดี รู้จักรับใช้พ่อแม่ รู้จักรับใช้ครู หน้าที่ของเพื่อนก็เป็นเพื่อนกันได้ทั้งในยามทุกข์ในยามสุข ทั้งในยามชีวิตมีปัญหาหรือไม่มีปัญหา คือเป็นผู้ที่อยู่ด้วยกันได้ด้วยความสบายใจตลอดเวลา หรือไปทำหน้าที่เป็นพ่อเป็นแม่ หรือไปทำการงานในตำแหน่งใดก็ทำหน้าที่นั้นให้ถูกต้องโดยไม่ฝืนกับกฎของธรรมชาติ