แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นี่ก็เพื่ออธิบายว่า ความหมายของคำว่าธรรมะนั้นกว้าง ครอบคลุมทุกสิ่งในจักรวาลนี้ ไม่มีสิ่งใดที่จะรอดออกไปจากคำว่า ธรรมะได้ ทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้น บางคนที่มาวัดใหม่ๆ จะไปวัดไหนก็ตามแล้วก็กลับออกไปด้วยความขัดเคืองใจ ไม่ถูกใจ บอกไม่เห็นมันจะเป็นวัดเลย นี่มันก็เป็นโลกนี่ มันก็เหมือนคนชาวบ้าน คนชาววัดมันก็เหมือนคนชาวโลก นั่นก็เพราะเขากำหนดความหมายของวัดตามความรู้สึกของเขาว่า คนที่เข้าวัดล่ะก็ ต้องเป็นคนที่บรรลุแล้ว พูดง่ายๆว่าถ้าใครอยู่วัดต้องบรรลุแล้ว ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นคนไม่มีอารมณ์ มีแต่ความเยือกเย็นผ่องใส ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด คนที่เข้าวัดคือ คนที่มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติ ทุ่มเทชีวิต อุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติให้มาก แต่ก็ยังกำลังปฏิบัติอยู่ ยังหาใช่ผู้บรรลุธรรมถึงที่สุดไม่ เพราะฉะนั้น การพูด การกระทำ บางทีก็อาจจะมีอะไรที่แสดงอารมณ์แบบคนบ้านบ้าง นี่ก็เพราะกำหนดว่าคนวัดต้องเป็นอย่างนี้ คนบ้านต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าคนบ้านมีสิทธิ์โกรธ มีสิทธิ์โลภ มีสิทธิ์หลง แต่คนไปอยู่วัดไม่มีสิทธิ์ นี่เป็นความเข้าใจผิด แล้วก็เลยออกไปจากวัดด้วยความโกรธ เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ธรรมะ เพราะอันที่จริงแล้ว โลกกับธรรม ก็คืออันเดียวกัน วัดกับบ้านก็คืออันเดียวกัน พูดอย่างนี้เข้าใจไหมคะ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านไม่ได้ทรงปรารถนาหรือไม่ได้หวังว่าคนทุกคนพอมาศึกษาธรรมะเข้าแล้วจะต้องบวชทั้งหมด เหมือนอย่างคำถามที่มีมาคำถามหนึ่งว่า ถ้าคนมาสนใจธรรมะมาบวชกันซะหมดจนไม่มีคนเหลือที่จะสืบพระพุทธศาสนา อันที่จริงแล้วเป็นไปไม่ได้ สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้แน่ๆ ท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ แล้วก็ชักชวนกันว่ามาบวชกันเถอะ จะมีซักกี่คนที่จะบวช และอันที่จริงก็ไม่ชักชวนให้บวช เพราะเหตุว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมาบวชจึงจะปฏิบัติธรรมได้ ทุกคนถ้าเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไร มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติที่บ้านก็ได้ อย่างที่ได้รับคำแนะนำว่า สร้างวัดขึ้นในใจ สร้างวัดขึ้นที่บ้าน นั่นก็คือ ถ้าสามารถควบคุมอารมณ์ ฝึกหัดอบรมขัดเกลาจิตให้เบาบางจากความโลภ โกรธ หลง เบาบางจากความอยาก ความยึดมั่น นั่นก็คือความเย็นที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งๆที่อยู่ที่บ้าน
เพราะฉะนั้น โลกกับธรรมก็อันเดียวกัน วัดกับบ้านก็อันเดียวกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย เพียงแต่การประพฤติปฏิบัติที่มีกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้มันเหมาะสมกับสภาวะความเป็นอยู่เท่านั้นเอง ของแต่ละที่เท่านั้นเอง เพื่อที่จะให้เข้าใจความหมายของคำว่า ธรรมให้ชัดเจนขึ้น พูดคร่าวๆ ก็จะบอกว่า ธรรมะคือธรรมชาติ แล้วคำว่า ธรรมชาติคำเดียวก็คลุมความทั้งหมดเหมือนกัน คลุมความทุกอย่างรวมอยู่ในความหมายของคำว่า ธรรมชาติ ในความหมายของธรรมชาตินี้ ถ้าแยกความหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้น ก็จะแยกออกได้เป็น 4 อย่าง
ข้อแรกก็คือ ธรรมะ หมายถึง ตัวธรรมชาติ ตัวธรรมชาติในที่นี้ก็คือ สภาวะธรรม สภาวะธรรมก็หมายถึง สิ่งที่เป็นเองตามธรรมดา ตามเหตุ ตามปัจจัย สิ่งที่มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ สิ่งที่มันเกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย นี่คือตัวธรรมชาติ อย่างที่เรามองไปรอบๆตัว เราก็มองเห็น สระน้ำ พื้นหญ้า ต้นไม้ บ้านเรือน ถนน ภูเขา แม่น้ำ เหล่านี้เป็นสภาวะธรรม คือเป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ภูเขาเกิดจากอะไร แม่น้ำเกิดจากอะไร ทะเลเกิดจากอะไร ถ้าไปศึกษาในศาสตร์ต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ก็จะบอก แต่ก็รวมลงว่า มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นยามนั้น หรือธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้น สร้างเป็นอาคาร เป็นบ้านเรือน เป็นรีสอร์ท มันก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน เป็นธรรมชาติในอีกลักษณะหนึ่ง แต่ก็เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างนี้ ท่านก็บอกว่ามันเป็นสภาวะธรรมอีกอย่างนึงที่เกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย ตามเหตุ ตามปัจจัยก็คือ มีความต้องการ คนหนึ่งหรือว่าคนกลุ่มหนึ่งมีความต้องการ ต้องการว่าควรจะสร้างรีสอร์ทขึ้น ตรงทำเล ตรงนี้ เพราะมันเหมาะ มีบรรยากาศที่เหมาะสม มีภูมิภาพ มีทัศนียภาพที่รื่นรม น่าดู สวยงามและก็มีจุดหมายปลายทางว่า เมื่อสร้างรีสอร์ทขึ้นแล้ว ก็เป็นหนทางที่จะทำให้ได้เงินทองไหลมาตามที่ต้องการ นี่ก็คือ มีความต้องการเกิดขึ้นก่อน เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แล้วเสร็จแล้วก็ลงมือกระทำตามที่ได้กำหนดโครงการเอาไว้ แล้วผลที่เกิดขึ้นก็คือ มีอาคาร มีสถานที่ มีสิ่งแวดล้อมที่ถูกจัดอย่างสวยงาม แล้วผลที่ตามมาจากอันนั้นก็ตามที่บุคคลนั้นหรือคนกลุ่มนั้นต้องการ คือได้เงิน มีรายได้ มีสิ่งที่ตอบแทนกลับคืนมา นี่เป็นสภาวะธรรมที่มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ฉะนั้นตัวธรรมชาติก็รวมถึงทั้งตัวเราด้วย ตัวเราด้วยนี่คือตัวมนุษย์เราทุกคน ก็อยู่ในตัว อยู่ในความหมายของคำว่าตัวธรรมชาติ คือเป็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่เราจะบอกว่า คนก็เกิดจากพ่อแม่ ก็ลองย้อนไป แล้วพ่อแม่ล่ะเกิดมาจากไหน พ่อแม่ก็เกิดมาจากปู่ย่า หรือเกิดมาจากตายาย ก็ย้อนไปอีก แล้วปู่ย่าตายายเกิดมาจากไหน ก็เกิดมาจากทวด ทวดก็เกิดมากจากไหน ก็เกิดมาจาก ทวด ทวด ทวด ต่อกันขึ้นไปโน่น แต่ถ้าเราจะมาดูว่ารูปร่า ส่วนประกอบของชีวิต ของตั้งแต่ทวด ใหญ่ที่สุด ลงมาจนถึงทวดเล็ก จนถึงปู่ย่าตายาย จนถึงพ่อแม่ จนถึงตัวเราบัดนี้ มีอะไรแตกต่างกันไหม ตั้งแต่ศีรษะจดเท้า มีอะไรแตกต่างกันไหม ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย นี่แสดงถึงตัวธรรมชาติ สภาวะธรรมที่เป็นตามธรรมชาติ มันเป็นอยู่อย่างนี้ ถึงได้บอกว่ามาจากธรรมชาติ มันก็จะคืนไปสู่ธรรมชาติ ต่อให้เป็นมนุษย์สมัยโบราณกี่พันปีมาแล้วก็ตาม จับเขามา ผ่าออก แยกออกไป เหมือนกันทั้งนั้น มีหัวใจ มีตับ มีปอด มีม้าม มีกระเพาะ มีลำไล้ มีมดลูกถ้าเป็นผู้หญิง ซึ่งธรรมชาติได้จัดเอาไว้อย่างได้สัดส่วน อย่างเหมาะเจาะอยู่ในที่ของมัน ที่สามารถจะทำงานร่วมกันได้ ตามหน้าที่ของมันเพื่อให้ชีวิตนี้เคลื่อนไหวได้ ดำรงอยู่ได้ อย่างเหมาะเจาะ อย่างถูกต้อง นี่คือตัวสภาวะธรรม คือตัวธรรมชาติ
เพราะฉะนั้น ธรรมะข้อแรกก็คือหมายถึง ตัวธรรมชาติ ถ้าพูดกว้างๆก็คือ ธรรมชาติ แต่เมื่อแยกแยะออกมาข้อแรกก็คือ ตัวธรรมชาติที่เป็นสภาวะธรรมที่เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมัน ทีนี้เมื่อผู้ใดศึกษาตัวธรรมชาตินี่นะคะ จะธรรมชาตินอกตัวเราหรือธรรมชาติในตัวนี้ ศึกษามันไป ศึกษาด้วยการดูข้างใน คือหมายความว่าศึกษาด้วยจิต ไม่ศึกษาด้วยการคิด ดูจะนั่งดูต้นหมากรากไม้หรือจะจดจ่อลงไปที่ดอกบัวซักดอกนึง จะเริ่มต้นวันนี้ก็ได้ หมายตาเอาไว้ ดอกบัวที่เราพอใจ ที่เราอยากจะดูมัน วันนี้ดูกำหนด ดูธรรมชาติของดอกบัวดอกนี้ วันนี้มีลักษณะธรรมชาติเป็นอย่างไร พรุ่งนี้เป็นอย่างไร มะรืนนี้เป็นอย่างไร ดูไปทุกวันจนกระทั่งถึงวันสุดท้าย ดอกบัวดอกนั้นเป็นอย่างไร เหมือนเดิมไหม นี่คือสิ่งที่จะบอกให้รู้ถึงความหมายของธรรมชาติข้อต่อไป นั่นคือ กฎของธรรมชาติ หรือเฝ้าดูอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในของเราเอง ตั้งแต่วันแรกที่มาที่นี่ ที่มาที่เสถียรธรรมสถาน วันแรกที่เหยียบย่ำเข้ามา ความรู้สึกในใจเป็นอย่างไร ยังจำได้ไหมค่ะ วันที่สอง ไม่ต้องเอาวันที่สองล่ะคะ เหยียบย่างเข้ามาตอนเช้า ตอนบ่ายเป็นยังไง ตอนค่ำเป็นยังไง รุ่งขึ้นวันที่สองเป็นอย่างไร จนกระทั่งถึงวันนี้เป็นยังไง เหมือนกันไหมค่ะ ไม่เหมือน ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวชอบ แหม...ไม่นึกว่าจะเป็นที่ที่เป็นสวนสวยงาม ให้ความสบายตาสบายใจเหมือนอย่างนี้ ก้าวแรกเข้ามาชื่นอกชื่นใจ เพราะว่าหนีมาจากมลพิษข้างนอก แต่พออยู่ไป แหม...แน่นร้อน เหนื่อย เพราะฉะนั้นอารมณ์ความรู้สึกก็ไม่ค่อยจะชอบ ไม่ค่อยจะสบาย ยิ่งต้องมานั่งขดตัวอยู่อย่างนี้ ยิ่งเหน็ดเหนื่อย ยิ่งหนัก ยิ่งลำบาก มันก็เปลี่ยนไปเรื่อย แต่เมื่อใดที่มานั่งสมาธิ อยู่กับลมหายใจได้ จิตสงบ สบาย มันก็เปลี่ยนไปอีก เห็นไหมค่ะ นี่คะ เราศึกษาดู จะศึกษาจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมก็ได้ จะศึกษาจากสิ่งที่เป็นนามธรรมคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็ได้ ก็จะเห็นว่ามันไม่มีอะไรคงทนคงที่เลย มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา นี่คือกฎของธรรมชาติ ที่ธรรมชาติแสดงตัวให้มนุษย์ได้เห็นตลอดเวลา มันแสดงตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลาว่า ธรรมชาติเป็นอย่างนี้นะ สัจธรรมของธรรมชาติเป็นอย่างนี้นะ แต่มนุษย์ไม่เห็น เรียกว่าปิดหู ปิดตา ไม่ยอมศึกษาถึงตัวกฎของธรรมชาติ นั่นก็คือ อนิจจัง ความเปลี่ยนแปลงที่ธรรมชาติบอกอยู่ตลอดเวลา หรือกฎของไตรลักษณ์ สภาวะหรือลักษณะอันเป็นธรรมดาตามธรรมชาติสามประการ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความทนได้ยาก อนัตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ตัวตนอันนี้ที่ยึดมั่นถือมั่นนี้ ดูไป ดูไปเรื่อยๆ ดูไปทุกขณะ ก็จะยิ่งเห็นมากยิ่งขึ้น ถ้าหากว่าเป็นตัวตนที่แท้จริง อย่างชนิดที่ยึดมั่นมาเป็นของฉันได้ ก็คงจะควบคุมได้ ควบคุมไม่ให้โต ไม่ให้แก่ ควบคุมไม่ให้เจ็บ ไม่ให้เจ็บป่วย ควบคุมไม่ให้เป็นทุกข์ ให้มีแต่ความสุขรื่นรมย์ ถ้าควบคุมได้เราปรารถนาอย่างนั้น แต่ก็ควบคุมไม่ได้ เพราะว่ามันตกอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าศึกษาดูไปๆถึงสภาวะธรรมที่ล้อมรอบตัวเรา รวมทั้งตัวเราเองนี้ ทั้งภายนอกและภายใน ก็จะค่อยได้พบสิ่งที่เรียกว่าสัจธรรม สัจธรรม ก็คือสิ่งที่เป็นกฎของธรรมชาติ ตัวธรรมชาติ นั้นคือ สภาวะธรรม กฎของธรรมชาติคือ สัจธรรม คือ ความจริงของธรรมชาติที่จะคงเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่มีเปลี่ยนแปลง กฎของธรรมชาติเป็นกฎที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่มีกฎอันใดที่จะยิ่งใหญ่ หรือว่าศักดิ์สิทธิ์เท่า เรามีกฎกันเยอะแยะในชีวิตที่เราผ่านมา กฎระเบียบของโรงเรียน กฎหมายต่างๆ ที่กำหนดกันออกมาไม่รู้มีกี่ร้อยกี่พันกฎ ตลอดจนกฎหมายสูงสุดที่เรียกว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด แต่ก็หาได้อยู่คงที่ไม่ ใช่ไหมค่ะ กฎหมายรัฐธรรมนูญก็มีเปลี่ยนแปลงมาจนไม่ได้จำแล้วว่านี่ฉบับที่เท่าไหร่ แล้วก็อาจเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกไม่รู้กี่ฉบับ เพราะว่ากฎระเบียบหรือกฎหมายเหล่านี้มันสร้างขึ้นโดยใคร โดยคน โดยมนุษย์ ความรู้สึก หรือทิฐิของมนุษย์ เปลี่ยนไปได้เรื่อยตามประสบการณ์ ตามความรู้ที่ไปประสบมา หรือว่าได้ความรู้เพิ่มเติมมา เปลี่ยนไปเรื่อยตลอดเวลา เมื่อมนุษย์เองยังไม่เที่ยง ยังไม่มั่นคง แล้วก็มากำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆขึ้น สิ่งนั้นกฎหมายที่ทำโดยมนุษย์ หรือสร้างโดยมนุษย์ จึงเป็นกฎที่อาจจะเปลี่ยนแปลงเรื่อย แต่กฎของธรรมชาติมันจะทรงตัวอยู่อย่างนี้ มันจะคงตัวอยู่อย่างนี้ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง นั่นคือกฎของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดจนธรรมะที่เรียกว่าอริยสัจธรรม อริยสัจธรรม ก็หมายถึง อริยสัจ 4 เรื่องของความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ การดับทุกข์ ตลอดจนวิธีที่จะดับความทุกข์นั้น นี่ก็เป็นกฎของธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน