แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้ ถ้าจะดูว่า เมื่อกิเลสเข้าสู่จิตหรือจิตตกเป็นทาสของกิเลส จิตนั้นมีลักษณะอย่างไร? ก็แน่นอน ต้องมีลักษณะสกปรก เศร้าหมอง น่ารังเกียจ ตัวเองก็บางทีถ้ารู้สึกสำนึกได้นะคะ ก็รังเกียจตัวเอง ทำไมน้า..มันถึงช่างโลภอย่างนี้ แล้วก็แก้ไม่ได้ ทำไมถึงช่างโกรธ ทำไมถึงช่างหลง วนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่ดึงจิตไม่ออก น่ารังเกียจด้วยใจของตัวเองแล้วก็คนอื่นที่เข้าใกล้ ที่เขารู้ เขามองเห็น หรือเขาถูกกระทบกระทั่ง เพราะอำนาจของกิเลสที่เกิดขึ้นในจิต เขาก็รู้ว่า นี่สกปรก ถึงจะแต่งตัวสะอาด สวยงาม พรมน้ำหอมราคาขวดละกี่พันก็ตาม แต่เมื่อยังสกปรก อยู่นั่นเอง
ฉะนั้น อาการของกิเลส นอกจากสกปรก เศร้าหมอง น่ารังเกียจแล้ว ก็ให้ดูลักษณะของกิเลสแต่ละตัว ถ้าหากว่าเกิดโลภะหรือราคะ ความโลภ มันจะมีอาการดึงเข้ามาหาตัว ถ้าผู้ใดอยากจะทราบว่าจิตของตนตกเป็นทาสของกิเลสตัวไหน
หรือกิเลสตัวไหนกำลังเล่นงานอยู่ กิเลสมันไม่มีตัวตนให้มองเห็น จึงดูที่อาการของมัน ดูที่อาการที่เกิดขึ้นภายใน ถ้าอาการที่เกิดขึ้นภายใน มันมีอาการดึงเข้ามา อยากจะกวาดเข้ามาเป็นของเรา ทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นสิ่งของ ข้าวของ เงินทอง บุคคล ต้นหมากรากไม้ สิ่งมีชีวิต อะไรทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าเป็นอาการอยากจะดึงเข้ามาหาตัวอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละก็จะรู้ว่า นี่เป็นอาการของความโลภ หรืออยากจะดึงเอาความรักมาเป็นของเราให้มาก อยากจะดึงเอาความเก่ง ความมีหน้ามีตา มาเป็นของเราให้มาก เป็นของเราคนเดียว อยากจะดึงเอาอำนาจ รวบอำนาจมาเป็นของเราคนเดียว ดึงเข้ามา
ในจิตนี่มันมีอาการแต่อยากจะดึง อยากจะกวาด อยากจะกอบโกย นี่แหละคืออาการของโลภะหรือราคะ ฉะนั้นสังเกตที่อาการ
ทีนี้ ถ้าเป็นอาการ ถ้าเป็นลักษณะของโทสะ มันก็จะมีอาการตรงกันข้าม ใช่ไหมคะ?
ในขณะที่โลภะ ราคะ ดึงเข้ามา โทสะมันคือความไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ มันจึงเกิดเป็นความขัดใจ ความโกรธ
เพราะฉะนั้น อาการที่เราจะดูของโทสะ มันก็มีอาการผลักออกไป ผลักออกไป อย่างที่ออกมาเป็นคำพูดว่า ไปให้พ้น อย่ามาเข้าใกล้ ไม่ชอบ ไม่เอา อย่าเอามาให้นะ นั่นคืออาการผลักเข้าไป นี่เรียกว่าอย่างเบาะๆ ไม่มาก เพราะอย่างมากขึ้น ก็ถึงขั้นเบียดเบียน อยากทำลายล้าง อยากกำจัดเสีย จนกระทั่งถึงประหัตประหารกัน ฆ่ากันตายไปข้างหนึ่ง
นี่คืออาการที่เราจะดูว่า โทสะกำลังครอบงำจิตไหม ก็ดูอาการที่เกิดขึ้นในจิต เมื่อใดที่จิตอยากจะผลักอะไรออกไป จะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตาม นั่นคืออาการของโทสะกำลังเกิดขึ้นแล้ว จงต้องระมัดระวัง
ทีนี้ อาการของกิเลส ลักษณะของกิเลสตัวที่ 3 ดูยาก คือโมหะ
ในขณะที่โลภะดึงเข้ามา มันดูง่าย สังเกตง่าย โทสะก็ผลักออกไป มันตรงกันข้ามกัน มันรู้สึกง่าย แต่อาการของโมหะ ดูยาก รู้สึกยากที่สุด เพราะฉะนั้นจึงเป็นกิเลสตัวที่มนุษยส่วนมากบอกว่า อุ้ย..ฉันไม่มีหรอกโมหะ เพราะเข้าใจว่า โมหะนี่คือความลุ่มหลงในอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่โมหะนั้น มีลักษณะของความวิ่งวนอยู่รอบๆ อาการที่เกิดขึ้นในจิตนี่นะคะ มันวิ่งวนอยู่รอบๆ มันมีอาการเหมือนกับวนเวียน วนเวียนอยู่นั่นแล้ว สงสัย ติดตาม วนเวียน เหมือนกับพายเรือในอ่างหรือพายเรือในสระแคบ ๆ ไม่รู้จะออกทางไหน วนอยู่นั่น วนจนหัวหมุน เช่น วนด้วยความคิด วนอยู่กับความคิดที่ตัดออกไปไม่ได้ จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ นี่คืออาการของโมหะ หรือด้วยความรู้สึกที่มันครุ่นคิด ความจดจำตามสัญญา ที่ไม่สามารถจะกำจัดออกได้ พอล้มตัวลงนอน หัวถึงหมอน มันว่างจากกิจการงาน เรื่องนี้มันก็เข้ามาแล้ว พอลืมตาขึ้น เรื่องนี้ก็มาแล้ว นี่แหล่ะคืออาการของโมหะ แล้วก็วนเวียนอยู่อย่างนั้น ถ้าเราไม่ดู เราจะไม่รู้ แล้วก็มันน่ากลัวมากเลย ที่ว่าน่ากลัวมากนี่ ท่านเปรียบกิเลสเหมือนไฟ ถ้าหากว่าเป็นโลภะ ราคะ ท่านเปรียบเหมือนไฟเปียก คือขึ้นชื่อว่าไฟ มันร้อนทั้งนั้นนะคะ แต่ถ้าเป็นไฟเปียก โลภะ ราคะ เป็นไฟเปียก มันเป็นยังไง? เพราะมันมีอาการ บางทีมันยินดี ลิงโลด ที่มันจะให้ได้มา พอได้เข้ามาก็ชื่นชมยินดี มันจึงเป็นไฟเปียก เหมือนกับว่ามันไม่ไหม้ เหมือนกับว่ามันไม่ร้อน แต่อันที่จริงแล้ว ถ้ามีโลภะมากๆ ราคะมากๆ นั่นแหละ ไฟเปียกที่มันทับถมกันนี่ มันก็ร้อนอยู่ภายในตลอดเวลา แล้ววันหนึ่งเมื่อถึงโอกาส มันก็ระเบิดได้เหมือนกัน
ส่วนโทสะท่านเปรียบเหมือนไฟแห้ง ร้อนไหม? อาจจะดูเหมือนอย่างน้ำแข็งแห้ง นึกว่าน้ำแข็งแห้งไม่ร้อน แต่ถ้าผู้ใดได้ไปลองไปจับน้ำแข็งแห้งจะรู้ มันไหม้มือให้หนังนี่ถลอกติดออกมาได้เลยถ้าไปจับมันนานๆ ถึงน้ำแข็งเปียกที่อาจจะเปรียบเหมือนไฟเปียก ถ้าเราไปจับมันเข้านานๆ มันก็เย็น ชา ได้เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ท่านเปรียบโลภะ ราคะ ว่าไฟเปียก โทสะว่าไฟแห้ง แต่โมหะนั้น ท่านเปรียบเหมือนไฟมืด เห็นไหมคะ? ความร้ายของโมหะ ไฟนี่มันมีแสงสว่างทั้งนั้น จะเป็นไฟกองใหญ่หรือไฟกองเล็ก จะเป็นไฟฟ้า จะเป็นแสงเทียน มันมีแสงสว่างทั้งนั้น แล้วมันก็ให้ความร้อนทั้งนั้น แต่ท่านเปรียบเหมือนไฟมืด เห็นไหมคะ? ที่มันเป็นไฟมืดเพราะมันเห็นยาก มันเป็นไฟที่เผาไหม้กรุ่นอยู่ข้างในใจ แต่คนไม่รู้เพราะไม่สังเกต ที่ไม่สังเกตก็เพราะไม่เคยดูข้างใน ไม่เคยศึกษาข้างใน ศึกษาแต่ข้างนอก จึงไม่รู้ว่าถูกไฟกิเลสเผาผลาญตลอดเวลา ไฟเปียกบ้าง ไฟแห้งบ้าง ไฟมืดบ้าง แล้วไฟมืดนี่แหละ มันอยู่ๆในใจของมนุษย์โดยมนุษย์ไม่รู้ตัว มันเป็นพี่น้องหรือเป็นลูกหลานของอวิชชา เจ้าโมหะนี่ มันเป็นลูกหลานของอวิชชา มันน่ากลัวมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามศึกษาดูให้ดีนะคะ
นอกจากนี้กิเลสมันก็มีลักษณะที่จะก่อให้เกิดกรรม ถ้ากิเลสเกิดขึ้นไม่ว่าเป็นกิเลสตัวไหน มันจะก่อให้เกิดกรรมตามมาเสมอ โปรดเข้าใจความหมายของกรรมให้ถูกต้อง
กรรมคือการกระทำ กรรมในพระพุทธศาสนาคือการกระทำ
การกระทำที่ทำไปตามอำนาจของกิเลส ถ้าเกิดความโลภขึ้น หาวิธีที่จะเอาให้ได้ ลงมือกระทำเพื่อจะเอาให้ได้ พอได้มา มันก็เป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรม
ผลของกรรม ก็คือผลของการกระทำแล้วก็ติดใจ จะเป็นทางลบหรือทางบวกมันก็ติดใจ ถ้ามันได้อย่างใจ มันก็ฮึกเหิม..ทำอีก โลภต่อไปอีก..ทำอีก แล้วก็ได้มาอีก..ก็ทำไปอีก นี่ก็เรียกว่าทำให้เกิดวัฏฏะ เป็นการเวียนว่ายไปมาของความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ วงแห่งวัฏฏะ มันเกิดขึ้นอย่างนี้ พอเกิดกิเลส ก็ทำกรรม คือ เกิดการกระทำ เมื่อมีการกระทำตามกิเลสที่ให้ได้มา มันก็เป็นวิบาก ผลของกรรม แล้ววิบากนี่ มันก็กระตุ้นให้อยากทำต่อไปอีก สมมุติว่าไม่ได้ กิเลสเกิดขึ้นแล้วทำไม่ได้อย่างที่กิเลสต้องการ ผลมันเป็นไปในทางลบ วิบากนั้นมันเป็นทางลบ คือลงมือทำกรรมแล้วแต่มันเป็นวิบากที่ไม่เกิดผลอย่างที่ต้องการ มันก็ยังย่ามใจอยากจะทำอีก เพราะมันอยากจะทำให้ได้ ถ้ามันไม่ได้ มันก็อยากจะแก้แค้ อยากจะทำให้สมใจ
ฉะนั้น ลักษณะของกิเลส พอเกิดขึ้นในใจเมื่อใด มันจะก่อให้เกิดกรรม แล้วก็กิเลสที่เกิดขึ้นในใจของมนุษย์เมื่อใด คือมันมีโอกาสเกิดขึ้นเมื่อใด ก็คือขณะนั้นเป็นขณะจิตที่ความเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนเข้ามาแทรก แล้วกิเลสนี้ ท่านบอกว่าเป็นได้ทั้งบวก เป็นได้ทั้งลบ เพราะฉะนั้น คนจึงมองไม่เห็น มองไม่เห็นว่านี่กำลังทำตามกิเลส บวกเป็นยังไง? ก็เหมือนอย่างคนบางคนอุตส่าห์หาเงินหาทอง จะด้วยวิธีใดก็ตาม ถูกต้องบ้าง ไม่ถูกต้องบ้าง หาเอาไว้เพื่อให้ลูกให้หลาน ให้ครอบครัวของเราเป็นปึกเป็นแผ่น มองดูก็ดูดี มองดูก็น่าชม พ่อแม่นี่ลงทุนก็เพื่อลูก เหน็ดเหนื่อยเพื่อลูก นี่ก็มองดูก็เหมือนเป็นไปในทางบวก ก็เลยคิดไปว่า อือมันดี มันใช้ได้ ส่วนในทางลบนั้น ก็เห็นชัด คือมันจะเป็นความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในใจ
ฉะนั้น การสังเกตว่ากิเลสเกิดขึ้นในใจเมื่อใด หรือ มีอยู่ภายในเมื่อใดก็คือดูที่อาการของมัน เมื่อมีอาการดึงเข้ามา เพราะอยากได้ นั่นคือโลภ หรือ ราคะ ถ้ามีอาการอยากทำลาย อยากผลักออกไป นั่นคืออาการของโทสะ เมื่อใดที่มีอาการของความสงสัย ติดตาม วนเวียน ครุ่นคิดอยู่อย่างนั้นไม่สามารถจะดึงจิตออกมาได้ นั่นคือโมหะ แล้วก็มีแต่ความเศร้าหมองอยู่เรื่อย
ทีนี้ถ้าจะดูว่า นอกจากโลภะ ราคะ โทสะ แล้วก็โมหะ มันมีกิเลสอะไรที่ละเอียดไปกว่านั้นอีกไหม? ก็อาจจะแบ่งประเภทของของกิเลสได้
อันแรกที่สุด ก็คือกิเลสที่ปรากฏตัวออกมาอย่างให้เห็นเฉพาะหน้า ที่อาจสังเกตได้ตามลักษณะและอาการของมัน ก็คือกิเลสที่เราพูดถึงเมื่อกี้นี้ก็คือ 3 ตัวนั้น โลภ โกรธ หลง หรือว่าโลภะ ราคะ โทสะ แล้วก็โมหะ นี่เราเรียกว่ากิเลสเฉยๆ
แต่ทีนี้ ยังมีกิเลสอีกอย่างหนึ่งซึ่งน่ากลัวมากนะคะ แล้วก็ควรจะศึกษาให้รู้จัก นั่นก็คือกิเลส ที่เกิดจากความเคยชิน คือเป็นความเคยชินที่ทำ ทำแล้วทำเล่า จนกระทั่งเคยชิน แล้วก็เก็บสะสมความเคยชินอันนี่ไว้ ท่านเรียกว่าเอาไว้ในสันดานคือเอาไว้ภายใน ไว้ในสันดาน แล้วก็มีชื่อเรียกว่าอนุสัย “อ อ่าง, น หนู, สระอุ, ส เสือ,หันอากาศ, ย ยักษ์” อนุสัย
ฉะนั้นถ้าถามว่าอนุสัยคืออะไร อนุสัยก็คือกิเลส ที่เป็นความเคยชินของกิเลส ที่เก็บสะสมเอาไว้ในสันดาน นั่นแหละเรียกว่าอนุสัย หมายความว่าอย่างไร? ก็หมายความว่า อนุสัยก็คืออาการเกิดขึ้นของกิเลส เช่น มีความโกรธในครั้งแรกก็รู้สึกโกรธ รู้สึกไม่ชอบใจ มีโทสะ ทีแรกๆก็ยังมีความสามารถข่มใจได้ มีสติ