แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถามยังมีอีกนะคะ แต่ว่าเวลาหมดเพราะว่านั่งนานแล้วก็ขอเชิญพัก อ้อ เดี๋ยวก่อนค่ะ เรื่องการเดินจงกรม เห็นเดินจงกรมกันแล้วก็เห็นใจแล้วก็สงสารเพราะแดดมันร้อนนะคะ ขอเรียนว่าในเวลากลางวัน ตอนบ่ายหลังจากรับประทานอาหารมาแล้ว เวลาเดินจงกรมอย่าไปเดินกลางแดดนะคะ เพราะว่าแดดมันจัดมาก เดี๋ยวจะทำให้เป็นไข้หรือว่ากลายเป็นแพ้แดดแล้วจะไม่สบาย เพราะฉะนั้นก็พยายามเดินจงกรมในที่ที่มีร่มเงาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (มีความเห็นว่าส่วนที่ไฮไลท์สีเทานี้สามารถตัดทิ้งได้คะ และเริ่มต้นด้วยย่อหน้าถัดมาตามข้างล่างนี้ได้เลย)
การเดินจงกรมที่ถูกต้องนั้น “จงกรม” สะกดด้วย รอ เรือ นะคะ ไม่ใช่ ลอ ลิง เพราะฉะนั้นจงกรมนี้ ไม่ใช่เดินวนไปวนมาเป็นวงกลม แต่หมายถึงการเดินตามทางยาวจะต้องมีที่ตั้งต้นเดิน คือเลือกเอาคะ ตรงไหนก็ตามที่เรารู้สึกพอใจ สมมุติว่าตรงก้อนหินก้อนนี้เป็นจุดเริ่มต้นแล้วก็มาถึงตรงพัดลมนี้เป็นจุดปลายทาง
พอเราจะเริ่มเดินก็ยืนตรงจุดตั้งต้นแล้วก็ยืนทำใจให้สงบ รู้ลมหายใจที่เราหายใจอยู่ธรรมดาทุกวัน ยังไม่ต้องไปปรับให้มันเป็นลมหายใจยาวหรือสั้น ลมหายใจธรรมดานี้ แล้วก็ยืนให้สงบ ให้รู้ลมหายใจเข้า-ออก เพื่อให้จิตมันแจ่มใส ให้มันเบิกบาน ให้มันมั่นคง แล้วก็มีความรู้สึกพอใจที่จะเดินจงกรม จึงค่อยๆ ก้าวขาเดิน จะขาซ้ายออกก่อนก็ได้ ขาขวาออกก่อนก็ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวนะคะ ซ้ายออกก่อนก็ได้ ขวาออกก่อนก็ได้ เดินช้า ๆ
มือนั้นถ้าหากว่าจะให้มีความสำรวม คือคล้ายๆ กับว่าถ้าเราสำรวมข้างนอกแล้วมันจะไปช่วยทำให้ใจนี้มีความสำรวมไปด้วย มือนี้ถ้าประสานกันเอาไว้ข้างหน้าอยู่สักประมาณระดับเอวหรือว่าใต้อก สำหรับตัวดิฉันนะคะ รู้สึกว่ามันมีความสมดุล มันมีความถ่วงกันสองข้างพอเหมาะพอดี แต่ไม่ต้องเกร็งนะคะ ไม่ต้องจับกันแน่นอย่างนี้ มันไม่หายไปไหน วางมันเอาไว้เฉยๆ อย่างนี้ ให้แขนสองข้างมีความสมดุล มีความถ่วงไปในตัวพอดีๆ แล้วก็หน้าตรงนะคะ สายตาลงต่ำอย่ากวาดไปมองดูเนินเขา ต้นไม้ ดอกบัว อะไรต่ออะไร เพราะมันจะทำให้สายตานี้เกิดอุปสรรค แล้วก็จะชวนให้คิดอะไร ๆ จิตก็ออกไปจากลมหายใจ เพราะฉะนั้นสายตาลงต่ำ ลงต่ำขนาดไหน ? ก็คือมองต่ำขนาดว่าห่างจากเท้าเราประมาณไม่เกิน 1 เมตร เพื่อหลบเลี่ยงที่จะไปปะทะกับรูปนั้น หรือว่าเหตุการณ์ หรือบุคคล จิตจะได้สงบ แล้วก็เดินไปเรื่อย ๆ จน กระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง
ทีนี้ในระหว่างเดินจากจุดเริ่มต้นจะไปจุดปลายทางนั้น พอเดินมาได้สัก 5-6 ก้าว มันเกิดวุ่นขึ้นมาในใจ ใจมันเกิดวุ่นเพราะอารมณ์เก่าๆมันเกิดมาครอบงำจิต แล้วก็ไม่รู้จะทำให้มันหยุดได้ยังไง ลมหายใจก็หลุดหายไป ให้ยื่นนิ่ง ๆ เรียก ว่ายืนสมาธิเสียในขณะนั้น แล้วก็เพ่งจิตจดจ่อลงไปที่ลมหายใจ ให้รู้ลมหายใจเข้าออกให้มากยิ่งขึ้น
ที่ดิฉันพูดว่ารู้นี้นะคะ รู้ด้วยการสัมผัส คือสัมผัสกับการเคลื่อนไหวของลมหายใจที่มันผ่านเข้าช่องจมูก แล้วมันก็ผ่านเข้าไปข้างใน จะไปถึงไหนช่างหัวมัน ไม่ต้องไปกำหนดว่าไปถึงไหน แต่ให้รู้ความรู้สึกนี้ ที่เราตั้งจิตจดจ่อรับ เมื่อลมหายใจผ่านเข้าช่องจมูก เห็นไหมคะ ลมหายใจนี้มันไม่มีรูปร่าง แต่ว่ามันมีความเคลื่อนไหวคือเรารู้สึกได้ เพราะฉะนั้นหายใจให้แรงหน่อยในตอนต้น แล้วเราก็กำหนดจิตตามลมหายใจ ให้สัมผัสกับความเคลื่อนไหวของลมหายใจไปเรื่อย ๆ ทีแรกมันก็หนักแล้วมันก็จะค่อยเบาลง พอมันหยุด เรารู้สึกความเคลื่อนไหวของลมหายใจหยุด หยุดตรงไหน จิตที่กำลังจดจ่อหยุดตรงนั้นด้วย แล้วก็ทีนี้ค่อยๆ ตามออกมา พอมันหยุดแล้วมันก็ต้องออก มันไม่ทะลุไปถึงไหน มันก็ต้องออกกลับมา เราก็กำหนดความรู้สึกตามลมหายใจนี้ออก เรียกว่ารับมันเข้า ควงแขนมันไป เกี่ยวก้อยมันไป แล้วก็เกี่ยวก้อยมันออกมา ลมหายใจหยุดตรงไหน มันหยุดตรงนี้ ก็จดจ่อหยุดตรงนี้ แล้วก็ตามเข้า ตามออก
เพราะฉะนั้นที่ว่ารู้ลมหายใจ โปรดเข้าใจให้ถูกต้องนะคะ รู้ด้วยสัมผัส...สัมผัสด้วยความรู้สึก ไม่ใช่รู้เพราะคิด “โธ่...หายใจมาตั้งแต่เกิด มันก็หายใจออกแล้วก็หายใจเข้า” ไม่ใช่อย่างนั้น เราหายใจอย่างไม่มีสติมาตั้งแต่เกิด ถึงได้คิดผิด พูดผิด ทำผิดอยู่เรื่อย ๆ แล้วก็เสียใจอยู่เรื่อย ๆ บัดนี้เราจะรู้ลมหายใจ เพื่อจะเรียนการที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือในการกำหนดนะคะ เพราะฉะนั้นนี่คือ การรู้ลมหายใจ
ยืนเฉย ๆ จนกระทั่งรู้สึกว่าจิตรู้อยู่กับลมหายใจ สัมผัสลมหายใจที่เคลื่อนไหวเข้าออกจนพอใจ...สงบ...แล้วก็เดินต่อจนถึงปลายทาง พอถึงปลายทางเราก็ต้องกลับตัว ก็จะมีคำถามว่า หันซ้ายหรือหันขวา คำตอบก็คือ ไม่สำคัญ ซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ตามถนัด แต่ขอให้จิตนั้นจดจ่ออยู่กับลมหายใจตลอดเวลา นี่คือจุดสำคัญ...จุดสำคัญคือต้องรับรู้สัมผัสกับลมหายใจตลอดเวลา เข้าใจใช่ไหมคะ
อานาปานสติคือ ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลกับเท้า ว่ามันจะก้าวซ้ายก่อนหรือขวาก่อน มันจะยกอย่างไร จะย่างอย่างไร จะเหยียบอย่างไร ไม่สำคัญ ขอให้จิตอยู่กับลมหายใจ ถ้าจิตอยู่กับลมหายใจ รู้ลมหายใจทั้งเข้าและออกตลอดเวลา จิตมันสงบนิ่ง
แล้วเราก็พูดแล้วใช่ไหมคะว่า ชีวิตประกอบด้วยกาย-จิต “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” แข็ง ก้าวขาไม่ค่อยออก หรือออกก็สั่นๆ หรือบางทีก็เซ เซซ้าย เซขวา เป็นธรรมดาคะ ไม่ใช่ความผิดอะไรเลย แล้วก็ไม่ใช่ความอ่อน ไม่ใช่เป็นสัญญาณว่านี่จะปฏิบัติไม่ได้ ไม่ใช่เลย เป็นของธรรมดา ทำต่อไป อย่าไปเอาใจใส่มัน มันจะเซก็ให้เซ ดึงตัวกลับมาใหม่ มันจะกระตุกก็ยืนเฉยซะ มีสติตรงยืน แล้วก็ค่อยเดินต่อไปใหม่
เพราะฉะนั้นจุดสำคัญก็คือ จงกำหนดรู้ที่ลมหายใจทุกขณะที่เดินไปเดินมา แล้วก็เดินเป็นทางตรง แล้วก็ไม่ใส่ใจกับใคร เผอิญอากาศมันร้อน ที่มันแคบไปหน่อย จะเดินไปใกล้กับเพื่อนฝูงก็ให้รู้สึกเหมือนกับเราเดินคนเดียว ไม่มีใคร ไม่ต้องไปหมั่นไส้ ไม่ต้องไปรำคาญ “ทำไมคนนี้จะต้องมาเดินใกล้ฉัน ที่มีตั้งเป็นก่ายเป็นกองไม่ไป มาเบียดอยู่ตรงนี้” ใจเราเบียดใจเราเองใช่ไหมคะ ใจเราเบียดใจเราเอง ไม่ใช่ใครมาเบียดเรา เพราะฉะนั้นไม่ต้องสนใจ นี่คือวิธีเดินจงกรม เดินง่ายๆอย่างนี้ แต่ต้องเลือกจุดนะคะ ระยะทางที่ท่านแนะนำเอาไว้นั้น ท่านบอกว่าควรจะเป็นระยะทางยาวไม่น้อยกว่า 25 ก้าว แต่ทีนี้เนื่องจากแดดมันมาก อากาศมันร้อน จะหาทาง 25 ก้าวหรือ 50 ก้าวก็คงยาก แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรน้อยกว่า 15 หรือ 20 ก้าว ถ้ามันน้อยเกินไป การที่จะต้องกลับตัวหันตัวมันเร็วเกินไป พอเร็วเกินไป บางทีความสงบในจิตมันยังควบคุมไม่ทัน ท่านจึงแนะนำว่า 50 ก้าวนี้สบายๆ จะทำให้จิตมีความสงบมากขึ้น ฉะนั้นถ้าท่านผู้ใดสามารถเลือกได้ถึง 50 ก้าวก็จะดีทีเดียว ก็ขออธิบายเรื่องการเดินจงกรมเพิ่มเติมนะคะ ต่อไปนี้เป็นการเดินจงกรม โปรดหาที่เดินตามที่รู้สึกสะดวก ขอบคุณค่ะ