แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ วันนี้เราจะพูดเหมือนกับเป็นการสนทนากันนะคะ เพราะจะเป็นไปในลักษณะของการตอบคำถาม เนื่องจากว่าได้มีผู้เขียนคำถามถามมาเกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์นะคะ ก็ขออ่านคำถามให้ฟังเสียก่อน คำถามนั้นบอกว่า เมื่ออาจารย์บอกว่าเราต้องพิจารณาให้เห็นโทษแห่งทุกข์ให้ได้ เราถึงจะดับทุกข์ได้ หนูเคยพิจารณาความรู้สึกที่เกิดขึ้นและเห็นโทษของทุกข์นั้น ในช่วงนั้นทุกข์ในใจก็คลายลง สบายใจขึ้น แต่ไม่นานทุกข์จากความรู้สึกเดิมก็กลับมาอีก กลับมาพิจารณาอีก แต่มันถึงทางตัน คือพอมาพิจารณาซ้ำมันไม่เห็นนะคะ ไม่เห็น ไม่ได้ผลเหมือนอย่างทีแรก ไม่สามารถพิจารณาให้ละเอียดลงไปได้อีก ขอเรียนถามถึงแนวทางที่จะพิจารณาความรู้สึกที่ละเอียดจนถึงรากและดึงออกจากใจให้ได้
01:10คำถาม: นอกจากนี้ก็คำถามต่ออีกอันก็บอกว่า การศึกษาที่ถูกต้องที่เป็นแนวทางในการลดความเป็นตัวกูคืออะไร เราควรให้การศึกษาเริ่มต้นแก่เด็ก เด็กในสถานศึกษานะคะ เพื่อลดการเป็นตัวกูได้อย่างไร
ตอบ: ก็ขออนุญาตตอบอย่างกันเองเหมือนกับคุยกันนะคะว่า การพิจารณาให้เห็นโทษแห่งทุกข์จนสิ้นทุกข์ หรือละเลิกทุกข์ได้นั้น ไม่ใช่ของง่ายค่ะ คือเราพูดได้นี่ เราพูดได้ง่ายๆ พูดได้สั้นๆ แต่เวลามาปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่ของง่าย ทำไมถึงไม่ใช่ของง่าย ก็เพราะเหตุว่าเราได้ปล่อยใจนี่ให้ตกเป็นทาสของความทุกข์ ก็คือตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาอุปาทานเพราะอวิชชาห่อหุ้มจิตมาเป็นเวลานาน นานเท่าที่อายุของเรามีนั่นแหละค่ะ อายุสามสิบปีก็ตกเป็นทาสของความทุกข์สามสิบปี ห้าสิบปีก็ตกมาห้าสิบปี โดยไม่เคยคิดที่จะขัดเกลาหรือหาหนทางกำจัดความทุกข์ที่มากัดกินออกไปเลย เพราะฉะนั้นพอมานึกอยากจะพิจารณาในเรื่องของความทุกข์เพื่อให้ดับทุกข์ได้ แล้วก็เคยได้ครั้งนึง เคยได้ครั้งนึงก็อาจจะพูดได้ว่าเหมือนได้แวบเดียว พอแวบเดียวแล้วมันก็หายไป แล้วมันก็กลับไปสู่จิตใจที่ตกจมอยู่ในความทุกข์อีก พอมาพิจารณาซ้ำไม่ได้อย่างเดิมเสียแล้ว เพราะอะไร เพราะมันเกิดความจืดค่ะ มันจืดจากการที่เคยพิจารณาได้ในตอนนั้น พอมาพิจารณาซ้ำด้วยวิธีเดิมอย่างเดิมมันก็จืด ก็ต้องพยายามที่จะมีศิลปะในการพิจารณาต่อไป ก็ขอตอบเป็นข้อๆ ตามลำดับนะคะว่า การพิจารณาให้สิ้นทุกข์ในครั้งเดียวยากที่จะทำได้ เพราะรากเหง้ามันฝังรากลึกสุดลึก ยากที่จะถอน แต่กระนั้นก็อย่าท้อถอย ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ มีสัมมาทิฏฐิ จ้องอยู่ที่จุดนั้นเพื่อจะเดินไปตลอดไป ก็ย่อมจะสามารถทำได้ เพิ่มเติมความอุตสาหะพากเพียรลงไปนะคะ อย่าท้อถอย ยิ่งยากมันยิ่งท้าทายใช่ไหมคะ คนที่เขาเป็นคนเก่งหรือเขามีชื่อเสียงนี่ เพราะว่าเขายอมรับการท้าทาย แล้วเขาก็สู้เพื่อจะเอาชนะการท้าทายนั้นให้ได้ ฉะนั้นก็อย่าเพิ่งสิ้นหวังหรืออย่าเพิ่งท้อถอย การพิจารณาให้เห็นโทษทุกข์ก็ต้องพิจารณาที่อาการของความทุกข์ อย่างที่เราเคยพูดกันแล้วในอริยสัจสี่ ในอริยสัจข้อแรกคือทุกขสัจ ความจริงเกี่ยวกับความทุกข์ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่อยากจะแนะนำก็คือ พิจารณาให้เห็นโทษทุกข์ของความทุกข์ ด้วยการเข้าถึงอาการของความทุกข์ คือรู้ว่าอาการของความทุกข์นั้นก็คือ มันมีลักษณะอาการของความเจ็บปวดบ้าง ทรมานบ้าง ความชอกช้ำขมขื่นบ้าง หรืออย่างเบาะๆ ก็ความขัดเคืองขุ่นแค้น ความอึดอัดรำคาญ จนถึงความแสบเผ็ดไหม้เกรียมเกิดขึ้นในจิต มีอาการของความหมองหม่นไหม้ระทมใจ ซึ่งส่วนมากเหตุปัจจัยของอาการของความทุกข์ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ก็คือเนื่องมาจากความสูญเสียบ้าง สูญเสียของรัก จะเป็นทรัพย์สมบัติสิ่งของวัตถุ หรือเป็นบุคคล หรือตำแหน่งการงานก็สุดแล้วแต่ หรือความถูกลบหลู่ศักดิ์ศรี ที่จริงศักดิ์ศรีนี่มันก็ไม่มีตัวตนนะคะ แต่ช่างยึดมั่นกันเหลือเกิน ศักดิ์ศรีของฉันนี่ใครอย่ามาลบหลู่ทีเดียว ยอมไม่ได้ ทนไม่ได้ ก็น่าจะคิดว่าศักดิ์ศรีนี่มันเกิดขึ้นที่ไหน มันอยู่ที่ไหน ถ้าหากว่าเรารู้จักมันจริงเราจะแก้ไขมันได้ แต่ถ้าหากว่าเราพูดตามๆ เขาไป ว่าอย่าลบหลู่ศักดิ์ศรีฉันนะ ฉันมีศักดิ์ศรีนะ เราก็จะต้องจมอยู่เป็นทาสของเจ้าศักดิ์ศรี ให้มันลากไปจนกระทั่งเกิดความทุกข์ทรมานเจ็บปวดอยู่เรื่อยๆ หรือบางทีก็มาจากเหตุปัจจัยของความถูกพรากจากสิ่งรัก ความต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก คือสิ่งที่ชังนั่นแหละค่ะ ความต้องทนเผชิญพบกับสิ่งอันไม่น่าพึงปรารถนา หรือคือไม่พึงพอใจทั้งปวง เหมือนอย่างที่สวดมนต์ในทำวัตรเช้า นี่แหละเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความทุกข์ แล้วก็ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาให้เห็นเหตุ มูลเหตุของความทุกข์ตามลำดับ จนกระทั่งถึงรากเหง้าของมัน ให้เห็นถึงรากเหง้าของมันให้จงได้ รากเหง้าของมันคืออะไร นึกออกไหมคะ เราพูดกันมานับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งบางคนอาจจะเกิดความเบื่อหน่ายที่จะฟัง แต่ถ้าผู้ใดไม่เบื่อหน่าย พอใจที่จะได้ฟังซ้ำซากๆ อยู่เรื่อยๆ ก็จะเกิดความซึมซาบ ความซึมซาบในสิ่งที่เป็นรากเหง้าของความทุกข์ จนมองเห็นโทษทุกข์ของมันที่ไปยึดมั่นถือมั่นในมัน แล้วก็จะค่อยๆ ขัดเกลาแก้ไขจนมันจางคลายลงไปได้ตามลำดับ เพราะฉะนั้นเมื่ออยากจะพิจารณาในเรื่องของความทุกข์ จนกระทั่งสามารถสิ้นทุกข์ได้ในแต่ละเรื่องๆ ไปนะคะ ยังไม่ถึงสิ้นทุกข์ชั่วนิรันดร์ เอาแต่เพียงว่าแต่ละเรื่องๆ ไป ก็ควรจะพิจารณาเริ่มต้นให้เห็นชัดว่าเพราะเนื่องจากความอยากใช่ไหมคะ เราต้องเดินตามอริยสัจสี่ เมื่อเราเห็นลักษณะของความทุกข์ อาการของความทุกข์แล้ว ก็ต้องดูที่สิ่งที่เป็นเหตุของความทุกข์ ก็คือความอยากหรือตัณหา นอกจากความอยากตัณหาแล้วก็คืออุปาทานความยึดมั่นถือมั่น อยากในอะไร ยึดในอะไร ก็ในเรื่องของความรู้ เป็นคนมีความรู้ จบปริญญาแขนงนั้นๆ มา เป็นคนอ่านมากฟังมากก็ยิ่งมีความรู้มาก ความคิดเห็นยึดถือในความคิดเห็น ยึดถือในความเก่ง ยึดถือในความฉลาด ยึดถือในประสบการณ์ แล้วก็ยึดถือในมาตรฐานหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เคยวางเอาไว้เพราะความคุ้นเคยมาแต่เล็กแต่น้อยเป็นต้น ยังมีอีกเยอะนะคะ ซึ่งทั้งหมดนี้ที่พูดมาเป็นตัวอย่างนี้นะคะ ก็มีรากเหง้ามาจากความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนนั่นเอง นี่แหละค่ะรากเหง้าหรือต้นเหตุของความทุกข์ตัวใหญ่เลย อยู่ลึกถอนยาก แต่ถ้าหากว่าสามารถอนมันขึ้นมาได้อย่างชนิดถอนรากถอนโคน ไม่เหลือเศษเลยไม่ว่ารากฝอยรากละเอียด ไม่เหลือเศษเลย ก็จะสามารถเข้าถึงความสิ้นทุกข์ได้ แต่ทีนี้ทำไมถึงถอนไม่ได้ ก็เพราะไม่เห็นและไม่เข้าถึงอนัตตานั่นเอง ทั้งๆ ที่ก็พูดกันถึงเรื่องของอนัตตามาเรื่อยๆ คือเรื่องของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาเรื่อยตามลำดับ แต่ทว่ามันไม่เห็น ไม่เห็นที่ใจ ได้แต่พูด ได้แต่เข้าใจ แต่ไม่สามารถจะนำมาประพฤติปฏิบัติที่ใจได้
ฉะนั้นก็จำเป็นนะคะที่จะต้องหมั่นพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องของไตรลักษณ์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องของโทษทุกข์ของความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ทำไมเราถึงต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็เปรียบเหมือนประหนึ่งการรักษาฝีที่มีหนองลึก ไม่ใช่เป็นแผลตื้นๆ เป็นหนองลึกนะคะ ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาให้ตลอดไป จะเพียงจะมาหยุดรักษาเพียงการชะล้าง ชะล้างแล้วก็ใส่ยาแล้วก็ปิดแผลไม่ได้ เพราะเพียงเห็นปากแผลเท่านั้น ปิดแผลยังไม่ได้ จะต้องดูแลชะล้างจนแน่ใจว่าน้ำเลือดน้ำหนองที่ฝังที่มันมีอยู่เต็มในแผลนั้นได้ถูกบีบรัดออกเกลี้ยงแล้ว แล้วถึงทำความสะอาดใส่ยารักษาต่อไปจนเนื้อแผลเต็มขึ้นมา แล้วก็สะอาดปราศจากหนองและเชื้อโรคอีกต่อไป ฉะนั้นก็นึกสมมติว่านี่เราเป็นฝี เป็นฝีร้ายแล้วก็มีหนองเต็มทั้งเลือดทั้งหนองเต็ม แล้วก็แผลลึกด้วย ฉะนั้นจะรักษาในวันเดียวไม่ได้ ต้องอดทนชำระล้าง คือชะแผลใส่ยาทำความสะอาดใส่ยาทั้งเช้าเย็น แล้วก็ทุกวันๆๆ จนแผลเต็มแล้วก็สนิท กดลงไปไม่มีเจ็บเลย เป็นเหมือนเนื้อดีเนื้อเต็ม เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่ได้ลองฝึกปฏิบัติพิจารณาความทุกข์จนกระทั่งความทุกข์นี้ค่อยจางคลายลงก็จงอย่าวางใจนะคะ อย่าวางใจว่าฉันชนะความทุกข์แล้ว ความทุกข์จะมากล้ำกรายอีกไม่ได้ ยังวางใจไม่ได้ เหมือนกับการที่จะไปปิดปากแผล ปิดปากแผลที่ยังมีหนองอยู่ภายใน เราเห็นว่าปากแผลปิดใช้ได้ไม่เป็นไร ยังไม่ได้ มันยังมีหนองอยู่ ต้องรีดหนองออกจนหมด แล้วก็ชำระล้างใส่ยาต่อไป เช่นเดียวกันพอรู้สึกทุกข์จางคลายอย่าเพิ่งวางใจ เมื่อใช้วิธีการพิจารณาในเรื่องของทุกข์นี่นะคะด้วยหลักธรรมข้อใด คือทำใจให้สงบด้วยลมหายใจ แล้วก็ทำวิปัสสนาด้วยหลักธรรมข้อใด ก็ต้องใคร่ครวญในธรรมข้อนั้นต่อไปอีกซ้ำๆๆ จนกระทั่งซึมซาบ เช่นมันเป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้นหนอ สักว่าธาตุเท่านั้นหนอ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรจริงสักอย่าง นี่ถ้าสมมติว่าเราใช้ธรรมะข้อนี้พิจารณาอยู่ในใจ มันเป็นตถตา เช่นนั้นเองๆๆ ตามธรรมดาธรรมชาติอย่างนี้ มันเป็นกฎของธรรมชาติไม่มีอะไรเปลี่ยนได้ มันจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ในขณะที่เราพิจารณาอย่างนี้ ก็เหมือนกับเรากล่อมเกลาตะล่อมจิตนี้ให้อยู่ในหนทางของทางธรรมยิ่งขึ้น ลึกซึ้งขึ้นๆ ก็จะแน่วแน่มั่นคงในเหตุและผลแห่งทางธรรมนั้นยิ่งขึ้นๆๆ แล้วก็คงทราบได้เองว่าขณะที่เราพิจารณาดังนี้นะคะทุกข์ก็ค่อยจางไปๆ เพราะจิตนี้ไม่ออกไปอื่น คงจดจ่ออยู่กับการพิจารณาใคร่ครวญที่ใจกำลังสัมผัส ใจนั้นก็เย็นลงๆ เพราะค่อยเห็นธรรมะตามความเป็นจริง มองเห็นความเป็นมายาของสิ่งที่ได้เคยยึดมั่นถือมั่น ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาจนกระทั่งเห็นโทษแห่งความทุกข์กระจ่างชัดขึ้นในใจ ว่าการที่มีความทุกข์ ปล่อยให้ความทุกข์กัดกินจิตใจ มันเป็นโทษอย่างนี้เชียวนะ ทำให้จิตนี้ขาดพลัง หมดกำลัง อ่อนเปลี้ย เคยฉลาดก็กลายเป็นคนเขลา เคยเข้มแข็งก็กลายเป็นอ่อนแอ เคยแกร่งกล้าก็กลายเป็นขลาดกลัว มันล้วนแล้วแต่ให้โทษ มีแต่สิ่งลบทั้งนั้นเกิดขึ้น สิ่งบวกดีๆ หายไปหมด เห็นโทษแห่งความทุกข์แจ่มกระจ่าง เห็นโทษแห่งความเขลาที่ได้หลงไปยึดมั่นถือมั่นในมัน ไม่รู้เป็นเวลานานสักเท่าใดนะคะ ดูไปๆ จนจิตนี้เกิดความสลดสังเวช ความสลดสังเวชนี้ดีนะคะ ความสลดสังเวชนี้เกิดขึ้นเพราะเห็นความจริง คือเห็นสิ่งที่เป็นสัจธรรม เห็นความเขลาในการที่ไปหลงยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นถ้าเห็นถ้าเกิดความสลดสังเวชนี้ ก็เท่ากับทำให้ได้เกิดเห็นสิ่งอันเป็นคุณงามความดี แล้วก็จะเป็นกำลังใจให้อยากจะกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดีนั้นให้ยิ่งขึ้นๆ ฉะนั้นเมื่อพิจารณาจนเห็นโทษแห่งทุกข์อย่างแจ่มกระจ่าง ความสลดสังเวชจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ พอความสลดสังเวชเกิดขึ้นมากเข้า ความจางคลายก็จะตามมา คือจางคลายในความยึดมั่นถือมั่นนะคะ ก็จะเกิดตามมาเองโดยอัตโนมัติเหมือนกัน จางคลายยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ ก็ค่อยๆ ปล่อยปละละวาง เพราะฉะนั้นก็ดูซ้ำอีกนะคะ พอเห็นแล้วละก็ พอเห็นปุ๊บอย่ารีบดีใจปั๊บ แล้วก็ปล่อยเลย ไม่ได้ พอเห็นแล้วจะต้องดูไปอีกให้ซ้ำๆๆ จนกระทั่งชัด ลึกซึ้ง อย่างสนิทแน่น อย่างไม่หลุดไปอีกนะคะ ดูซ้ำไปให้ลึกเข้าๆๆ จนที่สุดมีความประจักษ์ชัดขึ้นในใจว่า จริงๆ นะที่เราพูดมาว่าไม่มีสิ่งใดควรแก่การยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่าง เราพูดมานานแล้ว แต่พึ่งจะมาเห็นจริงๆ ตอนนี้เอง เห็นที่ใจ ไม่มีอะไรน่าอยากได้ น่าอยากเอา น่าอยากมี น่าอยากเป็นเลยสักอย่างเดียว ได้มา แล้วมันก็ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป มันไม่อยู่คงทน หรือเอามามีมาก็เช่นเดียวกัน มันก็อยู่ แล้วมันก็ไป ผ่านมา แล้วมันก็ผ่านไป มันแค่นั้น หรือได้เคยเป็นอะไรต่ออะไรมาก็นักต่อนัก แต่มันก็ไม่เคยอยู่ มันก็เปลี่ยนไป มันไม่มีอะไรให้ยึดมั่นได้เลยสักอย่างเดียวจริงๆ นะ แล้วผลที่สุดก็จะได้คำตอบเกิดขึ้นแก่ใจว่า ที่มันไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น ไม่น่าอยากได้ ไม่น่าอยากมี ก็เพราะรักษาไว้ไม่ได้นี่เองแหละ รักษาไว้ไม่ได้ ทำไมล่ะถึงรักษาไว้ไม่ได้ อย่าลืมนะคะการพิจารณาธรรม ใช้คำถามถามต่อไป ถามต่อไป จะทำให้เกิดความแจ่มกระจ่าง ประจักษ์ขึ้นในใจของตัวเอง ทำไมถึงรักษาไว้ไม่ได้ ก็เพราะมันไม่เที่ยงไงล่ะ มันทนอยู่ไม่ได้ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนจริงๆ เลยสักอย่างเดียว มันเป็นมายา มันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แล้วมันก็จะดับไปตามเหตุปัจจัย นี่แหละค่ะพิจารณาซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ความซ้ำซากอย่างนี้มีคุณค่ามีประโยชน์ แล้วก็ไม่ใช่ความวนเวียน เพราะมันจะทำให้เราชัดขึ้นในสิ่งที่เราต้องการความกระจ่าง
นอกจากนั้นก็ต้องพยายามศึกษาเรื่องของไตรลักษณ์ คืออนิจจังทุกขังอนัตตานี้ให้ทุกขณะ ศึกษาให้ทุกขณะ แต่ก่อนนี้ก็อาจจะศึกษาบ้างแล้วก็ปล่อยไปหยุดไป แต่ต่อไปนี้ถ้าเราอยากจะพิจารณาเรื่องทุกข์ให้สิ้นทุกข์จริงๆ ต้องศึกษาให้ทุกขณะ จนกระทั่งจิตใจนี้ซึมซาบแล้วก็ประจักษ์ชัด รู้ เห็น เข้าถึงสภาวะของความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ชัดเจน และในขณะเดียวกันก็จะเข้าถึงสภาวธรรมอันเป็นตัวธรรมชาติ ที่พูดถึงเรื่องของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่มันจะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่มีใครเปลี่ยนธรรมชาติได้ ธรรมชาตินี่ช่างยุติธรรมจริงๆ มีใจเที่ยงจริงๆ ไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง เราก็จะมองอะไรที่เป็นสิ่งที่ดีๆ งามๆ ที่มีคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในธรรมชาตินี่ได้ชัดขึ้นๆๆ ที่จริงธรรมชาติไม่ได้ตั้งใจซ่อนนะคะ ธรรมชาติให้เห็น เปิดตัวอยู่อย่างจะแจ้ง แต่ความเขลามันบัง ก็เลยเหมือนกับว่าถูกซ่อนอยู่ บัดนี้การพิจารณาเช่นนี้คือการกำจัดความเขลาที่มีอยู่ในใจให้แจ่มกระจ่างขึ้น ก็จะเห็นชัดขึ้นๆๆ ความจางคลายทวีมากขึ้น ผลที่สุดก็ถึงนิโรธคือความดับสนิท สิ้นความอยาก สิ้นความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง นี่ก็พูดถึงการพิจารณาว่าเราควรจะมีแนวทางของการพิจารณาอย่างนี้ หรือมีหลักของการพิจารณาอย่างนี้
ทีนี้วิธีการฝึกนะคะ เราจะฝึกอย่างไรเพื่อให้เกิดเป็นจิตนิสัยของการประพฤติปฏิบัติธรรม การฝึกก็ควรจะต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกสติ ให้สติบังเกิดมีในทุกอิริยาบถ ทุกลมหายใจ สติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อยากจะเรียกว่าเป็นอริยทรัพย์ ถ้าหากว่าผู้ใดมีสติประจำใจ ผู้นั้นก็มีทรัพย์อันประเสริฐประจำชีวิต ทรัพย์อันประเสริฐนี้ไม่มีวันใช้หมดนะคะ ใช้เท่าไหร่ไม่มีหมด ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มพูน ทำไมถึงว่ายิ่งใช้ยิ่งเพิ่มพูน ก็คือยิ่งฝึกสติให้มีมากเพียงใด อริยทรัพย์ก็ยิ่งเพิ่มพูน คือมีความหนักแน่นมั่นคงในเรื่องของการมีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจ แล้วปัญญาก็จะเกิดตามมา เพราะสตินั้นจะดึงเอาปัญญาเข้ามาใช้ได้อย่างรวดเร็ว แล้วก็ทันท่วงที จึงอยากจะเรียกว่าสตินี้เป็นอริยทรัพย์ ช่วยให้รอดพ้นจากปัญหาและความทุกข์ได้ในทุกกรณี มิได้หมายความว่าจะกวาดปัญหาทิ้ง แต่ปัญหาเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้น ก็สามารถใช้ปัญญาแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ถูกต้อง แล้วก็เรียบร้อย เกิดประโยชน์ เรียกว่าจะไม่มีผลหรือมีปัญหาตามมา เพราะฉะนั้นก็ควรฝึกสติให้บังเกิดมีในทุกอิริยาบถและทุกลมหายใจเข้าออก การฝึกสติก็คงทราบแล้ว ในการฝึกสมาธิภาวนาตามแนวทางของอานาปานสติ นั่นแหละคือการฝึกสติ เริ่มต้นด้วยการรู้ลมหายใจให้ทุกขณะ ลมหายใจยาวตามรู้ตลอด ลมหายใจสั้นตามให้รู้ตลอดทั้งเข้าและออก ใจจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจทุกขณะ ไม่ปล่อยให้หายใจไปตามบุญตามกรรมอย่างที่เคยหายใจ แล้วก็พูดผิดทำผิดอะไรไปเรื่อยๆ อย่างนี้ก็เรียกว่าขาดสติ หายใจอย่างขาดสติ หายใจอย่างไม่มีสติ ถ้าจะเป็นผู้หายใจอย่างมีสติ ก็คือหายใจอย่างรู้ รู้ทุกขณะที่ลมหายใจผ่านเข้าสัมผัสที่ช่องจมูก ผ่านออกก็สัมผัสที่ช่องจมูก คือรู้ถึงจุดสัมผัสของลมหายใจทุกขณะ ถ้าเรารู้ที่จุดสัมผัสของลมหายใจทุกขณะเช่นนี้ สติก็จะเกิดขึ้นทุกขณะเช่นเดียวกัน เพราะจิตใจนั้นไม่ได้กระจัดกระจายเพ่นพ่านไปที่อื่น จดจ่ออยู่ที่ลมหายใจอย่างเดียว เคยลองไหมคะ ถ้ายังไม่เคยลองก็โปรดลองดูนะคะ ลองดูเดี๋ยวนี้ก็ได้ แล้วก็จะรู้สึกว่า อ้อ ความรู้สึกตัวมันเกิดมี แล้วมันก็จะมีความยับยั้งชั่งคิดเกิดขึ้นเอง
ฉะนั้นในทุกอิริยาบถถ้าหากว่าฝึกสติให้เกิดขึ้นได้ ก็จะมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ที่ท่านเรียกว่าสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนี้ จะพร้อมทั้งสติ สมาธิ และปัญญา พออะไรเกิดขึ้น สติยับยั้ง สมาธิเกิดความหนักแน่นมั่นคง ปัญญาก็จะพาเอาความรู้ประสบการณ์อะไรต่างๆ เข้ามาแก้ไขปัญหานั้นทันที นี่พูดถึงสติปัญญาทางโลก ในขณะเดียวกันสติปัญญาทางธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งก็จะเข้ามาแจ่มกระจ่างในใจว่า มันเป็นเพียงสิ่งสักว่า มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันไม่ใช่ตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่นได้ สิ่งที่มากระทบทำให้เกิดอารมณ์ก็จะค่อยๆ จางคลายไป เพราะเห็นแล้วว่ามันเป็นเพียงมายา มันไม่ใช่สิ่งจริง ฉะนั้นความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่เกิดจากการฝึกสติทุกอิริยาบถ ทุกลมหายใจ ก็จะให้เกิดผลอย่างนี้นะคะ แล้วเมื่อมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างนี้ ภายในก็จะมีความว่าง ความโล่ง ความโปร่ง ความเบาสบายอยู่ทุกขณะ จะสังเกตได้อย่างไรว่ามีความว่าง ความโปร่ง ความเบาสบายเกิดขึ้นภายใน ก็สังเกตได้อย่างง่ายๆ ก็เริ่มต้นจากความผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อในร่างกายนี่นะคะทุกส่วน ตั้งแต่กล้ามเนื้อของใบหน้าที่มีอาการเกร็ง เครียด ไปจนกระทั่งถึงคอถึงต้นแขนถึงลำตัวตลอดไปหมดทุกส่วนของร่างกาย ที่ดูมันเกร็งมันเครียดมันเขม็งไปหมดเลยเพราะอารมณ์ที่มากระทบภายใน ก็จะเกิดความผ่อนคลาย กลายไปเป็นความสบายตามธรรมชาติ พอมันเป็นความสบายตามธรรมชาตินี้ เราก็จะรู้สึกว่าความเบาสบายภายในเกิดขึ้น ในขณะที่เราไล่ดูนะคะ ไล่ดูความเกร็งความเครียดของกล้ามเนื้อทุกๆ ส่วน เริ่มต้นจากศีรษะใบหน้าไปจนตลอดลำคอ ลำแขนลำตัว แล้วก็ขา แล้วก็น่อง เท้า เรียกว่าไล่ไปหมดทุกส่วนของร่างกาย ก็ดูไปด้วยในขณะนั้น ถ้าตรงไหนยังเขม็งยังเกร็งอยู่ก็แสดงถึงว่าความเครียดยังมีอยู่ตรงนั้น ความเครียดก็คือความทุกข์ที่กังวลหมกมุ่นอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นนั่นล่ะค่ะ ก็พยายามผ่อนคลายด้วยลมหายใจแล้วก็ด้วยปัญญาอันเป็นธรรมะขั้นสูง ให้เห็นความเป็นเช่นนั้นเองของมัน เพื่อจะตัดใจที่กำลังจะยึดมั่นให้ผ่อนคลายลง ลดละลง จนกระทั่งเห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมัน ความเกร็งความเขม็งก็จะลดลงไปตามลำดับ ก็จะมีความว่างความเบาความโปร่งความเป็นปกติบังเกิดขึ้นตามลำดับเหมือนกัน นี่ก็เป็นการฝึกสติทุกอิริยาบถ จากนั้นก็กำหนดลมหายใจให้ชัด ให้ยิ่งขึ้นๆๆ ในขณะที่ฝึกสติทุกอิริยาบถ ก็แน่นอนก็มีลมหายใจกำกับอยู่ทุกอิริยาบถนะคะ ก็ฝึกให้แน่วแน่ ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ให้เป็นธรรมชาติให้มากขึ้น ความผ่อนคลายจะเริ่มปรากฏมากยิ่งขึ้นตามลำดับ จนสามารถยิ้มได้ มีความเบิกบานเกิดขึ้นได้ แทนที่ความเครียดที่เคยมี
นอกจากการฝึกสติให้บังเกิดมีในทุกอิริยาบถทุกลมหายใจแล้วนะคะ ก็อยากจะเสนอให้มีการฝึกความรู้สึกตัวยามเมื่อตื่นนอน เมื่อเริ่มตื่นนอน พอลืมตารู้ตัว ขอให้ลองสังเกตว่าพอลืมตาเท่านั้นแหละ มีเรื่องอะไรมากระทบจิตเป็นเรื่องแรก ลืมปุ๊บเจอ พอลืมตาเรื่องนั้นเข้ามาแล้ว เรื่องบ้าน เรื่องคนที่บ้าน หรือว่าเรื่องเงินฝากธนาคาร หรือว่าเรื่องปัญหาส่งเงินดอกเบี้ยไม่พอ หรือว่าเรื่องปัญหาการงาน เรื่องคำว่าของนายหรือว่าของเพื่อน หรืออะไรก็แล้วแต่นะคะ เรื่องอะไรมันมากระทบปุ๊บในเรื่องแรก นี่สำคัญมากนะคะ ถ้าหากว่าเรื่องใดปรากฏเป็นเรื่องแรกในตอนเช้าที่ลืมตาขึ้น ก็จงทราบเถิดว่า นี่แหละจิตของเรายึดมั่นถือมั่นอยู่ในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นพอลืมตาขึ้นรู้สึกตัวเท่านั้น มันมากระทบปุ๊บก่อนเลย ก็ต้องระมัดระวัง เพ่งดูที่เรื่องนั้นให้มากๆ เพื่อที่จะได้หาทางผ่อนคลายความยึดมั่นถือมั่นที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้น ซึ่งสิ่งที่มากระทบเรื่องแรกนอกจากตัวอย่างที่กล่าวแล้ว ก็อาจจะเป็นเรื่องของความรัก ความชัง ความโกรธ ความเกลียด ความอิจฉา ความวิตกกังวลในเรื่องนั้นๆ อีกเหมือนกันตามมาตามลำดับ ซึ่งเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ก็มักจะต้องเกี่ยวพันกับบุคคล คือมีคนนั่นแหละเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการเกิดอารมณ์ ก็มองเห็นไหมคะว่าผลที่สุดมันก็ต้องมาเกี่ยวข้องกับเรื่องของอัตตาตัวตน ความรู้สึกมีอัตตาตัวตนของตัวเราเองบ้าง หรือบางทีก็เป็นความรู้สึกว่ามีอัตตาตัวตนของเขาบ้าง แล้วก็อัตตาตัวตนของเขาอัตตาตัวตนของเรานี่แหละมันก็มาชนกัน มาชนกันเข้ามันก็ขัดแย้งกัน โต้แย้งกัน ตีกัน เกิดเป็นปัญหาขึ้น พอดูลงไปให้ถึงที่สุดก็อีกนั่นแหละใช่ไหมคะ เพราะความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนนั่นเอง ทีนี้นอกจากดูว่าเรื่องอะไรมากระทบจิตปุ๊บเป็นเรื่องแรก ดูซ้ำลงไปอีก ดูให้เห็นว่ากิเลสตัวไหนมากระทบจิตเป็นเรื่องแรก โลภโลภะ หรือโกรธโทสะ หรือโมหะความหลง อะไรที่มากระทบเป็นเรื่องแรก ถ้าหากว่าพอนึกขึ้นมาพอลืมตาปุ๊บนึกอยากได้ อยากได้สิ่งนั้นๆ ที่กำหนดไว้ในใจว่าต้องเอาให้ได้มาสิ่งแรก โลภะแล้ว หรือพอลืมตาปุ๊บขัดใจ อึดอัด โกรธ โกรธเหตุการณ์ โกรธบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือพอลืมตาขึ้นวนเวียนคิดอยู่กับเรื่องที่ไม่สามารถจะตัดสินตกลงใจได้ มันเข้ามารบกวนอีก ทำให้เกิดความวิตกกังวล ลังเล สงสัย ตัดใจไม่ได้ จากกิเลสก็ไปนิวรณ์ เพราะฉะนั้นก็สมควรที่จะได้ศึกษาเรื่องของนิวรณ์ให้ชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยนะคะ ทีนี้พอรู้ตัวแล้วว่าอะไรมากระทบก็ต้องแก้ไขทันที วิธีแก้ไขทันทีก็คือต้องขับไล่ ใจแข็งนะคะ ใจแข็ง ขับไล่อารมณ์หรือสิ่งที่มากระทบนั้นออกไปทันที อย่าไปมัวอ้อยอิ่งหรืออาลัยอาวรณ์กับมันเลยเป็นอันขาดทีเดียว ขับไล่ด้วยอะไร สิ่งแรกที่ควรใช้เป็นอาวุธของการขับไล่ เดาได้ใช่ไหมคะ ก็ลมหายใจนั่นแหละค่ะ ลมหายใจยาวแรงลึกไล่มันออกไป ไม่เอาไว้ พอหายใจยาวแรงลึกออกไป ก็ค่อยๆ หายใจยาวช้าๆ เป็นธรรมชาติ เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ที่ตึงเครียดนั้นให้สู่ความเป็นปกติให้ยิ่งขึ้นตามลำดับ ทำอย่างนี้จนรู้สึกอารมณ์สงบ จิตใจเย็นลง ทีนี้ล่ะก็พอจิตใจเย็นลงก็เรียกว่าสติมาแล้ว สมาธิกำลังเริ่มมีน้อยๆ นี่เป็นนาทีทองนะคะ เป็นนาทีทอง อย่ามัวชักช้าอยู่ทีเดียว รีบนำเรื่องของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือตถตาเช่นนั้นเอง หรือสิ่งสักว่าเท่านั้นหนอเข้ามาพิจารณาทันที ใส่เข้ามาทันที อย่าปล่อยให้โอกาสให้กิเลสนิวรณ์มันกลับเข้ามาอีก เรารีบเอาปัญญาที่ได้ประจักษ์ ได้เคยประจักษ์แจ้งมาบ้างในเรื่องของกฎธรรมชาติเข้ามาทันที พิจารณาจนสามารถเห็นความเป็นธรรมดาได้อย่างชัดใจ ตอนนี้ใจชักจะเย็นนะ แล้วก็เย็นสนิทขึ้นด้วย สิ่งที่เป็นความทุกข์ เป็นปัญหา หรือสิ่งที่มากระทบนั้นก็ค่อยๆ เห็นมันเป็นธรรมดา มันก็ค่อยๆ จางคลายหายไป ก็จะไม่ทำร้ายเราได้อีก ทีนี้ถ้าหากว่าเช้าวันใดนะคะ พอลืมตาตื่นขึ้นเห็นธรรมะเป็นสิ่งแรก ก็คือพอลืมตาตื่นขึ้นเท่านั้นมันรู้สึกว่า มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้นหนอ มันบังเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นในใจ มันบอกขึ้นในใจเอง มันเป็นเพียงสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ มันมีแต่ความว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน สุญโญ สุญโญ ปรากฏขึ้นในใจ เหมือนอย่างที่เราพูดในปัจจเวกขณ์ สุญโญ สุญโญ เกิดขึ้นในใจ แหมต้องนับว่านี่แหละค่ะเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งเลย ไม่ต้องไปสวดมนต์ ไม่ต้องไปคอยรับการประพรมน้ำมนต์ที่ไหน ถ้าหากว่าธรรมะโผล่ปุ๊บขึ้นมาในใจพอลืมตาครั้งแรก ความมงคลเกิดขึ้นแล้วแก่ชีวิตในเช้าวันนั้น เพราะฉะนั้นจงรักษา จงรักษาความเป็นมงคลนั้นไว้ให้ต่อเนื่องให้นานที่สุด ถ้าหากว่ามองเห็นว่าสุญโญมันเป็นความว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน ก็เอาสิ่งนี้นะคะ ธรรมะข้อนี้รำลึกไว้ในใจให้ตลอดเวลาทุกขณะแห่งลมหายใจเข้าออก มันเป็นทองคำที่มีค่า มันเป็นเพชรเม็ดงามทีเดียว เพราะฉะนั้นไม่ปล่อย นี่อุปมานะคะ จริงๆ แล้วมันมีค่าสูงสุดยิ่งกว่านั้น เพราะมันสามารถรักษาใจนี้ให้มีความสงบเย็น ไม่ให้ความร้อนเข้ามารบกวนหรือกระทบกระเทือนได้ แล้วถ้าหากว่าเช้าใดลืมตาตื่นขึ้นด้วยเห็นธรรมะเป็นสิ่งแรก นี่เป็นการแสดงถึงความเจริญงอกงามในธรรมในจิตของเราแล้วค่ะ เป็นกำลังใจใช่ไหมคะ เป็นกำลังใจที่จะทำให้สามารถเจริญธรรมต่อไปให้ยิ่งขึ้นๆ เพราะประจักษ์ชัดแล้วนี่คะว่า วันนี้เราไม่ต้องไปวัดไหนหรอก ไม่ต้องไปขอความสิริมงคลจากท่านผู้ใด เพราะเราได้พิจารณาธรรมใคร่ครวญธรรมมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นธรรมะจึงมาให้ความเป็นมงคลแก่เรา พอลืมตาขึ้นก็มาแล้ว ฉะนั้นต้องรักษาความเป็นมงคลนี้ไว้ให้ตลอดวัน เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิตจะได้บังเกิดขึ้นตลอดไป ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่ออยากจะสะกิดค่ะ อยากจะสะกิดบอกว่าสิ่งแรกที่กระทบจิตเวลาลืมตาขึ้นสำคัญมาก สำคัญมากทีเดียว มันจะเป็นสิ่งบอกหรือสิ่งบ่งบอกให้รู้ว่าจิตนั้นเป็นอย่างไร สภาวะของจิตนั้นเป็นอย่างไร เป็นสภาวะของจิตที่ตกจมอยู่ในกิเลสตัณหาอุปาทาน เพราะอวิชชาห่อหุ้มจิต หรือเป็นจิตที่เป็นธรรมะ คือมีธรรมะครอบครองจิตอยู่ ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแรกที่มากระทบ ก็คงทราบแล้วใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าพอลืมตาขึ้นกิเลสนิวรณ์ค้างอยู่ แล้วก็มีเรื่องในทางลบมากระทบ ดังยกตัวอย่างแล้ว แล้วก็เอามาเป็นสังขารปรุงแต่งต่อไปไม่รู้จบ ก็อยากจะบอกว่าวันนั้นน่ะนะคะถ้าระงับไม่ทัน วันนั้นก็จะกลายเป็นวันแห่งความพินาศอย่างแท้จริง คือพินาศของจิตของชีวิต เป็นวันที่จะต้องตกนรกทั้งวัน เพราะมันจะมีแต่ความทุกข์ติดตามรบกวนกัดกินจิตใจอยู่เรื่อย มันก็เหมือนนรกทั้งๆ ที่ยังหายใจอยู่ มันสำคัญนะคะ จึงควรสังเกต หรือถ้าวันใดลืมตาขึ้นมาธรรมะโผล่มาก่อนเลย ครอบงำจิต ยังความชุ่มชื่นเบิกบานให้แก่จิต จนมีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป ก็ถือได้ว่าวันนั้นเป็นวันแห่งความดับสนิทเย็นจากความทุกข์ทั้งปวง หรือพูดอย่างทางโลกก็บอกว่า วันนี้เป็นสวรรค์ทั้งวันเลยนะ อยู่ในสวรรค์ทั้งวันเลยนะเพราะมันมีแต่ความเย็น หรือจะพูดให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ไม่เกินเลย วันนี้พอลืมตาขึ้นนิพพานมาก่อนแล้ว แล้วก็รักษาอารมณ์ที่เย็นดับสนิทไว้เช่นนี้ เราก็จะได้มีนิพพานบังเกิดขึ้นตลอดวัน แม้จะยังไม่ถาวร แต่ก็เป็นนิพพานที่เราได้ชิมลองรสของนิพพานแล้วว่า เป็นอย่างนี้เอง ก็จะเกิดความติดในรสอันเอมโอษฐ์นั้น แล้วก็อยากจะพัฒนาจิตให้ถึงซึ่งความบังเกิดมีแห่งนิพพานยิ่งขึ้น นี่ก็เป็นข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาว่าจะมีอะไรเป็นแนวทางนะคะ แล้วก็จะมีวิธีการฝึกอย่างไร ก็ขอได้ลองนำไปใคร่ครวญพิจารณาดูอาจจะเป็นประโยชน์บ้างนะคะ นี่คือพิจารณาเรื่องของการที่จะแก้ไขความทุกข์ให้มันสิ้นสุดลงไปตามลำดับ จากน้อยไปหามาก ถ้าทำได้อย่างนี้ล่ะก็ แล้วในขณะเดียวกันไม่หวังด้วยนะคะ แต่ตั้งหน้าตั้งใจทำให้ถูกต้อง ความทุกข์ก็จะจางคลายลงไปตามลำดับ แล้วถ้าเผื่อเผอิญมันเกิดผุดขึ้นมาอีกก็อย่าย่อท้อ ให้รู้ว่านี่เราคงจะต้องประมาทตรงช่วงไหนของชีวิตเป็นแน่ ในวันนี้เราคงต้องประมาทตรงไหน สติจึงขาดไป ปัญญาจึงมาไม่ทัน ก็เอาใหม่ ตั้งต้นใหม่ ยังมีโอกาสนะคะ
38:20ทีนี้คำถามที่ว่าจะให้การศึกษาแก่เด็กๆ เพื่อละลดตัวกูได้อย่างไร เป็นคำถามที่ดีมากนะคะ เพราะถ้าหากว่าเด็กๆ ได้รับการศึกษาอบรมให้รู้จักถึงโทษทุกข์ของตัวกู แล้วก็ให้รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวกูมันไม่มี แต่เราจะไปสอนเด็กๆ อย่างนี้ก็ค่อนข้างจะเกินความสามารถที่เด็กๆ จะทำความเข้าใจ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีศิลปะ ต้องมีศิลปะในการที่จะอธิบายให้เด็กๆ ได้เข้าใจในความหมายของความยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกเป็นตัวตนหรือเป็นตัวกูได้ โดยเด็กๆ ค่อยๆ ซึมซาบไปทีละน้อยๆๆ ที่อยากจะให้มีการศึกษาเพื่อลดละตัวกู ก็เชื่อว่าผู้ถามคงได้มองเห็นแล้วว่าความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน คือในอัตตา หรือที่เรียกให้ชัดๆ ว่าตัวกูนั้นเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกแห่งความเป็นตัวตนใช่ไหมคะ แล้วเมื่อความเป็นตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีใด มันก็จะมีตัวฉันนี่เข้ามาแทรกทันทีเลย เป็นฉันคิด ฉันพูด ฉันทำ ฉันเป็นเจ้าของ ฉันเห็น ฉันอะไรหมดทุกอย่าง อะไรๆ ก็ตัวฉัน ก็เข้ามาเป็นเจ้ากี้เจ้าการบงการอันโน้นอันนี้ แล้วสิ่งที่มันบงการนี่ไม่เคยนำความสุขสงบเย็นมา นำแต่ความร้อนมาสู่ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเด็กๆ ได้รับการฝึกฝนอบรมให้รู้ในเรื่องของความร้อนที่เกิดจากตัวกูขึ้นมาได้แต่เล็กๆ ก็เท่ากับว่าได้ทำบุญเชียวนะคะ ผู้ใหญ่ท่านใดที่อบรมเด็กในลักษณะนี้เท่ากับได้ทำบุญกุศลอย่างยิ่ง เพราะเด็กๆ นี่โดยเราพูดกันตามธรรมดาเขาก็จะมีชีวิตเจริญเติบโตไปอีกเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นชีวิตของเขาก็จะได้มีความสุขสงบเย็นไปตามลำดับ ไม่ต้องตกนรกเหมือนผู้ใหญ่ที่เคยตกมาแล้ว ตกนรกกับความทุกข์ การที่จะฝึกเด็กก็คือว่าน่าจะฝึกให้เด็กรู้จักทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นอยู่ในโรงเรียนทำหน้าที่การกวาดห้องเรียน หรือการทำกิจกรรม หรือการเรียน ก็ให้รู้เถอะว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ ให้มันถูกต้อง ให้เรียบร้อย โดยไม่ไปเน้นที่ตัวผู้กระทำ ไม่เน้นที่ตัวผู้กระทำนะคะ ให้รู้จักทำแต่หน้าที่ โดยเราอาจจะเอาตัวอย่างมาแสดงหรือมาพูด จากบทเรียนในเรื่องที่อ่านหรือจากหนังสือที่ได้อ่าน เช่นหนังสือพิมพ์ในวันนี้เราพบข่าวคราวอะไรที่เกี่ยวกับเด็กๆ เราก็เอามาเล่าในห้องเรียน แล้วเสร็จแล้วในขณะเดียวกันก็ให้เด็กออกความเห็นว่า ที่เขาทำอย่างที่เด็กคนนี้ทำอย่างนี้ทำไมถึงมีความทุกข์ ทำไมเขาทำดีแล้ว เขาทำอะไรก็สำเร็จดี แล้วทำไมเขาถึงมีความทุกข์อีก ถามไปถามมาหลายๆ คนก็คงจะได้คำตอบสักคนหนึ่ง หรือหลายคนรวมกัน ก็จะได้ความหมายว่าก็เพราะเขาหวังไงครับ เขาทำแล้วเขาหวัง เขาอยากได้ เขาก็เลยเป็นทุกข์ ก็อาจจะชวนคำถาม เบนคำถามให้เกิดการสรุปได้ว่า แล้วถ้าจะทำโดยไม่ทุกข์จะเป็นยังไง ก็เชื่อว่ามีเด็กฉลาดแหละนะคะที่พอจะตอบได้ว่า ก็ทำแล้วก็อย่าหวังสิครับ ทำอย่างไม่หวัง อะไรเป็นหน้าที่ก็ทำไป อะไรจะต้องรับภาระก็ทำไป แล้วเราก็ไม่ต้องทุกข์ นี่เราหาตัวอย่างอย่างนี้นะคะ มาเล่า มาพูด มาอภิปรายกัน แล้วก็ซักถามตอบกันไปตอบกันมา ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ไม่ช้าหรอกค่ะ เด็กๆ ก็จะได้ค่อยๆ ซึมซาบว่า ถ้าหากว่าเราทำนะ ทำตามหน้าที่ มีแต่การกระทำไม่ต้องมีตัวคนทำ ไม่ต้องบอกว่าฉันทำหรือว่าใครทำ ไม่ต้องเอ่ยชื่อใครทำ ช่วยกันทำ ทำให้เสร็จ ให้เรียบร้อย ให้ลุล่วง เป็นสุขด้วยกันทุกคน ฝึกไปทีละน้อยๆ นะคะ แล้วเขาก็จะได้มีความคิด แล้วก็ได้พิจารณาขึ้นมาเองว่า ทุกสิ่งนี่มันจะมีผลเกิดขึ้นอย่างไรก็แล้วแต่จะทำ ถ้าทำถูกต้องมันก็เป็นผลถูกต้อง ถ้าหากว่าทำไม่ถูกต้องเพราะว่าหวัง เพราะว่าอยาก เพราะมีตัวคนทำ มันก็ทุกข์ หัดพูด หัดคุย หัดเล่านิทาน หัดสร้างกิจกรรม หรือจะมีบทละครสั้นๆ เป็นกรณีศึกษา ก็เอาทำนองนี้แหละค่ะเป็นธีม คือเป็นหลัก จะปรากฏตัวผู้กระทำหรือไม่ก็ตามที แต่ถ้าหากว่าทำให้ถูกต้องแล้วล่ะก็ มันก็ไม่เป็นทุกข์ นี่ล่ะค่ะ เป็นการลดละตัวกูไปโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องพูดถึงอัตตาตัวตนก็ได้ จนกระทั่งเขาโตขึ้นไปอีก เจริญวัยไปอีก ก็จะค่อยเรียนรู้ไปเรื่อยตามลำดับสูงขึ้น จนกระทั่งเห็นโทษทุกข์ของตัวกูในที่สุด แล้วก็จะรู้จักหลีกเลี่ยง ละ ลดการกระทำที่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ก็ขอตอบเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ ถ้ามีคำถามก็ไต่ถามต่อมาได้ค่ะ ธรรมะสวัสดีค่ะ