แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ วันนี้จะขอพูดถึงเรื่องที่มีความสำคัญมาก อยากจะพูดว่าสำคัญมากที่สุดในชีวิตของมนุษย์ทุกคน แล้วก็เป็นคำที่เราพูดถึงกันบ่อย ๆ แต่ทว่า เมื่อถามว่า พูดถึงบ่อย ๆ แล้วได้นำเอามาฝึกปฏิบัติในจิตเพื่อให้มีสิ่งนี้เป็น สิ่งประจำใจอยู่ทุกขณะหรือเปล่า คำตอบก็เห็นจะเป็นไปในทางที่ว่า พูดถึงแต่ทว่ามิได้ค่อยนำมาเพื่อใช้เป็นการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์กับชีวิตนะคะ
คำๆ นั้นก็คือ คำว่า สติ พอนึกถึงคำว่า สติ ก็นึกได้ทีเดียวใช่ไหมคะว่า มีความสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์ ถ้าหากชีวิตนั้นขาดเสียซึ่งสติแล้ว ชีวิตนั้นก็ไม่มีความหมาย เพราะจะล่องลอยไปเหมือนกับสวะ ที่ล่องลอยไปตามน้ำ ไปตามกระแสน้ำอย่างไม่มีจุดหมาย ไม่รู้ว่าจะไปพะเอาตรงที่ใด และก็ที่ๆจะเผอิญไปพะ ไปติดนั้นน่ะ จะเป็นที่ใด เป็นที่ที่จะนำความสุขความสำราญมาให้หรือจะเป็นที่ที่อันประกอบเต็มไปด้วยความเน่าเหม็นทั้งปวง ฉะนั้นจึงอยากจะพูดเรื่องของสติ ก่อนอื่นก็เห็นจะต้องกล่าวถึงความสำคัญและคุณค่าของสตินะคะ ถ้าดูในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ก็เชื่อว่าทุกคนคงจะมองเห็นว่า คำว่าสตินี้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมสำคัญ ๆ อันถือได้ว่าเป็นหลักในการปฏิบัติธรรม เช่น สติปัฏฐาน 4
สติปัฏฐาน 4 การที่จะประพฤติปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อที่จะให้จิตนี้เป็นจิตที่มีรากฐานหรือเป็นจิตที่มีฐานที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นจิตที่ล่องลอย ก็มีชื่อว่า สติปัฎฐาน อันเป็นสิ่งแสดงให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆว่า จิตที่จะมีรากฐานของจิตหรือเป็นจิตที่มีฐาน มิใช่จิตที่ล่องลอยแล้วละก็ จิตนั้นจะต้องประกอบด้วยสติ ใช่ไหมคะ แล้วก็มีการศึกษา ทำความเข้าใจ แล้วก็พิจารณาปฏิบัติไป ในเรื่องของกาย เวทนา จิตธรรมที่จะประกอบด้วยสติ ทุกขณะ ทุกระยะ หรืออีกชื่อหนึ่ง ก็อานาปานสติภาวนา อย่างที่เรามาใช้เป็นวิธีของการปฏิบัติสมาธิภาวนาในโครงการฝึกอบรมตนนี้ นี่ก็เป็นเครื่องยิ่งชี้ชัดลงไปอีกว่า ในการที่จะพัฒนาจิต เพื่อทำจิตให้เจริญนั้น ทุกขณะทีเดียว ทุกขณะของลมหายใจเข้า และลมหายใจออก จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องรู้ถึงสติ หรือมีสติกำกับจิตอยู่ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก อย่างนี้จึงจะเรียกว่า เป็นการทำจิตภาวนาที่เกิดผล เกิดประโยชน์แก่ชีวิตได้อย่างแท้จริง
นอกจากนั้น ในหัวข้อธรรมที่สำคัญๆ ที่อยู่ในข้อธรรมใหญ่ที่เรียกกันว่า โพธิปักขิยธรรม 37 อันเป็นข้อธรรมที่นำไปสู่การตรัสรู้ เริ่มต้นจาก สติปัฏฐาน 4, สัมมัปปธาน 4, อิทธิบาท 4, แล้วก็พอถึงข้อธรรมที่เป็น 5 อย่าง ก็มี พละ 5, อินทรีย์ 5 ซึ่งมีธรรมะที่ชื่อว่า สติประกอบอยู่ด้วย พละ 5 และ อินทรีย์ 5 ก็เริ่มต้นด้วย ศรัทธา แล้วก็วิริยะความพากเพียร เมื่อมีวิริยะความพากเพียรในการปฏิบัติ สติก็จะบังเกิดขึ้น หรือ สติจะต้องตามมา จากสติแล้วก็จะเป็นทางนำให้เกิดสมาธิที่หนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น และเป็นบาทฐานในการที่จะพัฒนาปัญญาต่อไป
ฉะนั้น ในพละ 5 ก็มีคำว่าสติกำกับอยู่ ในอินทรีย์ 5 ก็มีคำว่าสติเป็นข้อธรรมข้อที่ 3 เช่นเดียวกัน นี้ก็หมายความว่า พละ 5 และอินทรีย์ 5 นั้นมีข้อธรรมที่จะต้องฝึกปฏิบัติ มีชื่อที่เหมือนกัน คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แต่เมื่อไหร่จะเรียกว่า พละ 5 เมื่อไหร่จะเรียกว่า อินทรีย์ 5 ก็ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ ถ้าต้องการจะใช้ข้อธรรมทั้ง 5 นี้เป็นกำลังในการปฏิบัติ ก็จะเรียกว่า พละ 5 แต่ถ้าหากต้องการจะใช้ธรรมะนี้เป็นสิ่งนำ อินทรีย์ก็หมายความว่า ใหญ่ มีกำลังมาก เหมือนอย่างนกอินทรีย์ เพราะฉะนั้น อินทรีย์ในที่นี้ก็คือ เมื่อจะใช้เพื่อแสดงถึงความเป็นใหญ่ หรือจุดเน้นของการปฏิบัติก็จะใช้ชื่อว่า อินทรีย์ 5 แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งพละ 5 และอินทรีย์ 5 ซึ่งเป็นหัวข้อธรรมอยู่ในโพธิปักขิยธรรม อันเป็นธรรมที่นำไปสู่การตรัสรู้นั้นก็รวมคำว่า สติ ไว้ด้วยอีก หรือในโพชฌงค์ 7 อันเป็นตัวธรรมะที่เรียกว่า เป็นธรรมะเพื่อนำไปสู่การตรัสรู้โดยตรงทีเดียว ก็เริ่มต้นด้วยคำว่า สติ สติก็คือ สติระลึกรู้โดยครบถ้วน แล้วถ้ามีสติระลึกรู้โดยครบถ้วนก็จะทำให้สามารถมีธรรมวิจะยะ คือ การเลือกส่วน เลือกเฟ้น สิ่งที่เป็นธรรมะ เพื่อจะพิจารณาได้อย่างชัดเจน ในโพชฌงค์ 7 นั้น ถือว่า องค์ของสติเป็นองค์ที่มีความสำคัญมาก จึงเป็นองค์นำข้อธรรมอื่นอีก 6 ข้อตามมา หรือในอริยมรรคมีองค์ 8 คงจำได้ใช่ไหมคะ ในอริยมรรคมีองค์ 8 เริ่มต้นด้วย สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ที่ 1 ต่อด้วยองค์ที่ 2 สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ แล้วก็ตามด้วยสัมมาสติ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่า ถ้าหากว่าขาดเสียซึ่งสัมมาสติ ความระลึกรู้ได้ทันเวลาอย่างรวดเร็ว ระลึกรู้ในธรรมะอันเป็นข้อธรรมที่จะนำจิตนั้นให้สู่ ความสงบระงับให้ยิ่งขึ้น แล้วต่อจากนั้นก็ไปถึงองค์สุดท้ายคือ สัมมาสมาธิ ฉะนั้นก็จะเห็นว่า คำว่า สัมมาสตินี่นะคะ มีอยู่หรือปรากฏอยู่ในข้อธรรมที่สำคัญๆอันเป็นหลักในการปฏิบัติ ส่วนข้อธรรมที่เล็กลงมา ไม่ใช่สติปัฏฐานหรืออานาปานสติก็จะสอดแทรกอยู่ คำว่าใช้คำว่าสอดแทรกนี้หมายความว่า จะมี สติรวมอยู่ในข้อธรรมนั้นๆ เช่น พละ 5 อินทรีย์ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมี องค์ 8 ดังที่กล่าวแล้ว ในขณะที่ข้อธรรมอื่นๆอาจจะมีเฉพาะตัว แต่สำหรับสตินี้จะมีอยู่ในหลายหมวดธรรม
นอกจากนั้นนะคะถ้าเราจะนึกไปถึงการศึกษาและการฝึกปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยที่ยังมิได้ตรัสรู้ ยังคงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็เสด็จหนีออกมาจากพระราชวัง ออกไปสู่ป่า ในขณะที่พระองค์อยู่ในระยะที่ทรงแสวงหาหนทางเพื่อนำไปสู่การตรัสรู้ธรรมที่ดับทุกข์ได้ ก็คงจำได้ใช่ไหมคะว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในระยะนั้นได้พยายามเหลือเกินที่จะทรงแสวงหาหนทางด้วยประการต่าง ๆ จนกระทั่งถึงทรงทรมานพระวรกายอย่างแสนสาหัส เหลือแต่ พูดอย่างคำธรรมดา ก็ต้องบอกว่า เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก จากพระพุทธรูปปางทรมานนั้นน่ะ ก็จะเห็นซี่โครงนี่...โผล่ขึ้นมาเป็นซี่ๆ แล้วก็ตามที่กล่าวเอาไว้ในพุทธประวัติว่า เมื่อใดที่ทรงรู้สึกว่าเหนื่อย เพลีย จนไม่มีแรง แต่ทรงคิดว่า ถ้าหากจะใช้พระหัตถ์นี่ลูบไปที่แขนสักนิดนึง คงจะมีความสดชื่นขึ้น สบายขึ้น แต่เมื่อทรงลองทำอย่างนั้นก็ปรากฏว่า ได้ลูบเอาขนติดออกมาหมด ร่วงมาหมด นี่แสดงถึงความทรมานพระกายอย่างถึงที่สุด เรียกว่าอย่างแสนสาหัส แต่แล้วพระองค์ก็ทรงทราบได้ในพระทัย หลังจากที่ทรมานถึงที่สุดแล้วว่า นี้ไม่ใช่หนทาง การที่ทรงทรมานเพื่อให้เกิดความเจ็บปวดต่างๆแก่ร่างกาย เช่น บางครั้งก็กลั้นลมหายใจ ไม่ยอมที่จะหายใจ จนกระทั่งรู้สึกว่าปวดร้าวไปทั่วทั้งพระเศียรดังหนึ่งจะแตกทำลายไป ก็ไม่ยอมที่จะหยุด แต่เมื่อทรงทราบว่า ต่อให้พระเศียรแตกก็จะไม่สามารถตรัสรู้อะไรได้ อะไรเป็นสิ่งที่บอก ถ้าเราจะนึกว่า อะไรเป็นสิ่งที่เตือนพระองค์ให้รำลึกขึ้นมาว่านี้ไม่ใช่หนทาง ไม่ใช่หนทางของการปฏิบัติไปสู่การตรัสรู้ได้ ในขณะนั้นก็ไม่ทราบว่าจะมีคำว่า สติ บังเกิดขึ้นแล้วหรือยัง ที่ใช้คำว่าบังเกิดก็หมายความว่า เป็นคำที่ได้นำมาใช้พูดกันแล้วหรือยัง อันนี้ไม่สามารถจะทราบได้ แต่อย่างหนึ่งที่พอจะคาดคะเนและมองเห็นว่าเป็นการคาดคะเนที่ไม่ผิดไปจากความจริง นั่นก็คือ ความระลึกรู้ที่บังเกิดขึ้นมาในพระทัยว่าสิ่งนี้ หรือสิ่งที่กำลังทรงกระทำอยู่นี้มิใช่หนทาง
สิ่งนั้นเตือนพระทัยให้รู้ว่าควรจะหยุดเสีย ควรจะแสวงหาหนทางใหม่ หรือเมื่อทรงย้อนนึกไปถึงความพร้อมมูลแห่งเครื่องอำนวยความสุขสบายทั้งปวง ทั้งอุปโภค บริโภค สมัยที่ประทับอยู่ในพระราชวังกับพระราชบิดาแล้วก็พระชายา แล้วก็กับบรรดามหาดเล็ก ข้าหลวง บริวาร ข้าราชบริพารทั้งปวง ไม่มีสิ่งใดขาด ทรงมีพร้อมทุกอย่าง แต่ก็เมื่อทรงย้อนระลึกไปก็ทรงทราบขึ้นในพระทัยอีกเหมือนกันว่า หนทางอันอยู่บนความสุขสบายของสิ่งที่เป็นอุปโภค บริโภคทั้งปวงนั้น ก็หาใช่หนทางที่จะพาไปสู่การตรัสรู้ไม่ เพราะพระองค์ได้ประทับอยู่ท่ามกลางความสุขสบายอันมีอยู่อย่างเหลือเฟือเป็นเวลาถึง 20 กว่าพรรษา แต่ก็ไม่ได้ทรงตรัสรู้สิ่งใดนอกจากอาจจะทรงหลงใหลหรือมัวเมาไปในกามคุณ 5 โดยไม่ได้ตั้งพระทัยจะเป็นเช่นนั้น แต่เนื่องจากสิ่งแวดล้อมนั้นกระตุ้น เร่งเร้า แล้วก็อำนวยให้ พระองค์จึงทรงหลงไปบ้างบางครั้งบางคราว แต่กระนั้นอะไรล่ะที่เตือนพระทัยให้ได้สำนึกว่า นี้มิใช่ทาง มิใช่สิ่งสมควรที่จะตกจมอยู่ในท่ามกลางกามคุณ 5 เช่นนี้ ก็ไม่ทราบอีกเหมือนกันว่า จะใช้คำว่าสติหรือเปล่า แต่อย่างน้อยสิ่งนั้นแหละได้ทรงเตือนพระทัยให้ย้อนรำลึกนึกถึง แล้วก็ทรงหันเหออกมาสู่หนทางที่จะแสวงหาให้ยิ่งขึ้น ฉะนั้น ในขณะที่พระองค์ได้ทรงพยายามทั้งทางที่เรียกว่า ตึงเกินไป และก็ได้ทรงคุ้นเคยหรือเคยชินกับทางที่หย่อนมากเกินไป คือ เต็มไปด้วยความสุขสบาย แต่กระนั้น พระองค์ก็ทรงทราบในพระทัย ทั้ง 2 หนทางนี้ หาใช่หนทางที่ควรดำเนินต่อไปไม่ เพราะจะไม่นำไปสู่การตรัสรู้เป็นแน่นอนนะคะ ดังนั้น ในที่สุดพระองค์ก็ได้ทรงค้นพบด้วยการแสวงหาด้วยพระองค์เองว่า ผลที่สุดแล้ว หนทางที่จะไม่เป็นทุกข์ หรือหนทางที่สิ้นทุกข์นั้น ต้องไม่ตึงเกินไป แล้วก็ไม่หย่อนเกินไป ฉะนั้นหนทางที่พึงดำเนินก็คือหนทางที่ทรงเรียกว่า เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง ไม่ตึงและไม่หย่อนดังที่ได้ทรงนำมาแสดงพระธรรมเทศนาให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้ฟังหลังจากที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว
ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อที่จะแสดงหรืออยากจะชี้ให้เห็นว่า อันที่จริงแล้วคำว่า สตินี้จำเป็นจะต้องมีอยู่ในทุกระยะหรือทุกขณะของชีวิตไม่ว่าจะกระทำการ สิ่งใดทั้งสิ้น เหมือนดังตัวอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแล้ว ในขณะที่กำลังทรงอยู่ในระยะของการแสวงหา ถ้าจะพูดอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องบอกว่า สติที่มีอยู่โดยธรรมชาติในพระทัยของพระองค์ได้ค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามลำดับของการปฏิบัติ จนกระทั่งสามารถนำพระองค์เข้าสู่หนทางที่ถูกต้อง นั่นก็คือ หนทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ฉะนั้นในการแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกแก่ปัญจวัคคีย์นั้น จึงได้ทรงเน้นแล้วเน้นอีกว่า ทางตึงเกินไปก็ไม่ใช่สิ่งที่สมณะพึงเดิน สมณะก็คือ ผู้สงบ ผู้ประสงค์จะมีความสงบ ระงับ ฝึกอบรมตนให้มีความสงบ ระงับ ไม่พึงเดินในทางที่ตึงเกินไป หรือทางที่หย่อนเกินไป พูดง่ายๆว่า ทางที่แห้งแล้งเกินไป หรือทางที่เปียกแฉะเกินไปก็ไม่สมควรที่จะเดินทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงยิ่งมองเห็นความสำคัญของสติยิ่งขึ้น จะเอ่ยชื่อหรือไม่เอ่ยชื่อก็ตาม แต่สตินี้จะมีอยู่โดยธรรมชาติ เมื่อได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมจิตให้อยู่ในความสงบ ระงับอยู่ได้ตลอดไป แล้วก็กระทำได้แต่ในสิ่งที่ถูกต้อง
เมื่อเราได้พูดถึงความสำคัญและคุณค่าของสติแล้วนะคะ ก็มาลองดูถึงเรื่องของสติในแง่ที่ว่า ถ้าจะพูดถึงเรื่องของสติโดยพยัญชนะ โดยอรรถะ หรือว่าโดยสัจจะความเป็นจริงแห่งสติแล้วล่ะก็ จะมีการกล่าวถึง หรืออธิบายถึงสติว่าอย่างไรได้บ้างนะคะ ถ้าเราจะพูดถึงสติโดยพยัญชนะ คือความหมายตามตัวหนังสือ สติก็หมายความว่า แล่นไปเร็ว คำว่าสติคือ แล่นไปเร็ว เร็วอาจจะเปรียบได้เหมือนอย่างความเร็วของลูกปืน หรือความเร็วของลูกศรในสมัยโบราณ ถ้าหากว่าโดยอรรถะ คือโดยความหมาย ขยายความออกไปจากตัวหนังสือนะคะ ก็หมายได้ว่า เป็นความระลึกได้เร็ว คือนึกขึ้นมาได้เร็ว ระลึกถึงสิ่งที่ได้รู้ ได้ฝึกอบรม ได้มีประสบการณ์อันเป็นทางที่ถูกต้อง ระลึกได้เร็ว ทันท่วงทีเวลาในขณะที่กำลังจะเกิดปัญหา จุดที่เกิดปัญหาก็ทราบแล้วใช่ไหมคะว่า คือ จุดที่เกิดผัสสะ ในขณะที่เกิดผัสสะขึ้น นั่นคือจุดที่ต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะเป็นจุดที่จะนำมาซึ่งปัญหา ปัญหาก็คือจะเป็นอิทธิพลให้เกิดเวทนา เกิดความรู้สึกในทางบวกหรือในทางลบอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น สตินี้ ก็จะนำมาได้อย่างเร็วทีเดียวในการนำมาซึ่งปัญญา ปัญญาที่เฉียบแหลม ว่องไว แล้วก็ฉับไว คม พอที่จะตัดปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้นด้วยการรู้ทันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นหาใช่สิ่งที่ควรจะไปยึดถือเป็นจริงเป็นจังไม่ ฉะนั้นโดยอรรถะ สติก็คือความระลึกได้เร็วหรือทันท่วงทีในเวลาแห่งปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยสามารถนำปัญญามาแก้ปัญหานั้นได้อย่างทันท่วงที
ทีนี้ถ้าจะนึกว่า ในเมื่อเห็นความสำคัญของสติอย่างนี้แล้ว คุณค่าของสติที่มีต่อชีวิต แล้วทำไมมนุษย์จึงมักจะขาดสติ ลองนึกดูในแง่นี้ ทำไมจึงมักจะขาดสติ ก็คงจะเป็นเพราะว่า ขาดการสำรวมระวังเป็นประการแรกทีเดียว ใช่ไหมคะ สำรวมระวังในเรื่องอะไร สำรวมระวังในเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ใจ ขาดการสำรวมระวังใจ สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ใจ พอมีสิ่งใดผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ประตูใจก็เปิดอ้ารับทุกอย่าง รับอย่างไร้สติ อย่างไม่มีสติ ก็คือไม่สำรวมเลย ไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย พอเห็นอะไรก็เป็นจริงเป็นจัง ได้ยินอะไรก็เอาเป็นจริงเป็นจัง หรือได้กลิ่น หรือได้ลิ้มรสหรือได้รับสัมผัส เอาเป็นจริงเป็นจังทั้งนั้น แล้วใจที่ขาดสติควบคุมในขณะนั้น ก็เลยหลงใหล ยึดถือเป็นจริงเป็นจังไปด้วย มันจึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเวทนา คือความทุกข์ เกิดขึ้นเพราะขาดสติ และเหตุที่ขาดสติก็เพราะขาดการสำรวม ฉะนั้น การสำรวมอินทรีย์จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
นอกจากนี้เหตุที่ขาดสติก็เพราะความเผลอบ้าง ความมักง่ายบ้าง ความหลงบ้าง และก็ความประมาทที่ปล่อยให้มาครอบงำจิตอยู่เสมอ ก็เลยเกิดความเผลอไผล มักง่ายในการพูดบ้าง พูดโดยไม่คิด แล้วก็เกิดความเสียใจ เศร้าหมอง ในขณะที่ได้พูดไปเสร็จแล้ว ในขณะที่พูดนั้นลืมนึกไม่ออก แต่เมื่อพูดไปแล้ว ทำไปแล้ว มาเสียใจทีหลัง ไม่ควรเลย ไม่ควรเผลอพูดอย่างนั้น ไม่ควรทำอะไรอย่างมักง่าย เพราะมันทำให้เกิดความเสียหายตามมา ฉะนั้น ก็จึงต้องระมัดระวัง อย่ายอมให้ความเผลอ ความมักง่าย หรือความหลงใหล เข้ามาสู่ใจบ่อยๆ จะเป็นหนทางทำให้เกิดความประมาทนะคะ
นอกจากนี้ท่านก็บอกว่า เหตุที่มนุษย์เราขาดสติ ก็เห็นจะเป็นเพราะมีความอ่อนแอเป็นประจำในนิสัย เมื่อมีความอ่อนแอก็ย่อมพ่ายแพ้ คือเป็นผู้พ่ายแพ้ต่อความยั่วยวน ยั่วยุของกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ พอตามองเห็นอะไร กิเลสเข้ามาก็อยากได้ตามกิเลสนั้น พอหูได้ยินเสียงอะไร กิเลสตัวโกรธ ตัวโกรธะเข้ามาครอบงำ มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ ไม่ชอบใจในสิ่งที่ได้ยินนั้น เพราะฉะนั้น ความอ่อนแอพ่ายแพ้ต่อความยั่วยวนของกิเลสที่สำคัญที่สุดและก็ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง ก็คือ ความอ่อนแอพ่ายแพ้ต่อความยั่วยุของวัตถุนิยมที่กำลังเพิ่มทวีมากขึ้นอย่างปริมาณมิได้ คือนับปริมาณไม่ได้ว่ามีมากสักเพียงใด แต่มันจะมีเพิ่มขึ้นทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน เพราะผู้มีหน้าที่ที่เขารู้สึกว่าเขาจะต้องมีหน้าที่ผลิตวัตถุนิยมใหม่ๆออกมาล่อตาล่อใจบรรดาผู้คนทั้งหลาย นั่นเป็นอาชีพของเขา ใช่ไหมคะ อาชีพที่เขาจะต้องทำ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจในด้านนั้น ให้มีรายได้เพิ่มพูน ร่ำรวย มั่งคั่งยิ่งขึ้น แต่แล้วทำไมผู้บริโภค หรือผู้ซื้อจึงตกเป็นเหยื่อของวัตถุนิยมเหล่านั้นอย่างง่ายๆ ก็เพราะขาดสติ ทั้งๆ ที่เมื่อดูแล้วมิได้มีความจำเป็นที่จะต้องไปเสาะแสวงหา หรือซื้อหาด้วยเงินจำนวนมากๆ หรือแม้แต่น้อย แต่มันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องจับจ่าย ใช้สอยเลย ทำไม ก็เพราะเหตุความอ่อนแอที่มักจะไหลตาม พอเห็นอะไรถูกใจเข้าก็จะไหลตามเพื่อจะดึงเอามาให้ได้ เพื่อจะตามอย่างเพื่อนฝูงเขามีกัน หรือเพื่อจะตามใจกิเลส ส่งเสริมศักดิ์ศรีของความยิ่งใหญ่แห่งความเป็นตัวตน ว่าเราเป็นผู้มี และก็มีมาก มีไม่น้อยหน้า แล้วก็มีก่อนคนอื่น ยิ่งกว่านั้นพอโดนคำโฆษณา คำประกาศประชาสัมพันธ์ที่บอกว่า นี่เป็นสิ่งพิเศษนะ พิเศษสำหรับคุณคนเดียว ผู้อื่นจะไม่ได้มีอย่างนี้ ก็ยิ่งมีความรู้สึกว่า ถ้าเราซื้อ ถ้าเรามี เรานี่เป็นคนพิเศษ พิเศษกว่าคนอื่น ทั้งๆที่รู้แล้วว่า คนพิเศษอื่นๆที่เขามีเงินจะซื้อเขาก็อยู่ในฐานะคนพิเศษเหมือนกัน แต่กระนั้นก็อุตส่าห์พ่ายแพ้ พ่ายแพ้ต่ออะไร ก็ต่ออำนาจของความอยาก อำนาจของความยึดมั่น ถือมั่น ในความรู้สึกเป็นตัวตน ศักดิ์ศรีของความรู้สึกเป็นตัวตนมันเบ่งเติบโตขึ้นมาทันทีเพื่อจะต้องเอาให้ได้ หรือมิฉะนั้นก็เป็นความอ่อนแอพ่ายแพ้ต่อความยั่วเย้าของกามคุณ 5 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ใช่ไหมคะ ตกจมอยู่ในนั้น อันนี้แหละเป็นเหตุให้ขาดสติ 1) ขาดการสำรวมระวัง 2) ความเผลอ ความมักง่าย ความหลง ความประมาท เข้าครอบงำจิต และข้อที่ 3) ก็คือ ความอ่อนแอ พ่ายแพ้ ซึ่งปล่อยให้มันเกิดขึ้นจนเป็นอนุสัย อนุสัยคือความเคยชินที่ดองอยู่ในสันดาน เพราะฉะนั้นพอมีอะไรมายั่วยุเข้า จะต้องการหรือไม่ต้องการจริงๆ ไม่คิด ไม่นึก แต่ว่าต้องเอาเอาไว้ก่อน เพราะความอ่อนแอมันประจำจิตว่า ต้องมี ต้องได้ ไม่มีความเข้มแข็งที่จะต่อสู้ นี่จึงเป็นเหตุให้ขาดสติ
ทีนี้ โทษทุกข์ของความขาดสติ ก็เชื่อว่าคนส่วนมากสำนึกได้ แต่มักจะสำนึกได้หลังจากที่ได้ขาดสติไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็ลองมาประมวลดูนะคะว่า โทษทุกข์ของความสตินี้ มันนำอะไรมาให้บ้าง ข้อแรกง่ายๆ ก็คือความทุกข์ ใช่ไหมคะ ความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นก่อให้จิตใจปั่นป่วนด้วยความเศร้าหมองเสียใจ ด้วยความรู้สึกว่านี่มันเป็นความเสื่อมเสียนะที่ขาดสติอย่างนี้ อย่างเช่น ได้เคยอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์นานแล้ว แต่ว่าเมื่ออ่านแล้วก็รู้สึกสงสาร แล้วก็รู้สึกนึกเห็นใจ ว่านี่ล่ะนะไม่ได้ตั้งใจทำเลย แต่เพราะความขาดสติแท้ๆจึงทำ อย่างนั้น ในข่าวนั้นก็บอกว่า ในถนนที่มีการจราจรค่อนข้างคับคั่ง ก็ทราบอยู่แล้วใช่ไหมคะ ผู้ขับรถทั้งหลายไม่สามารถจะขับรถไปได้ตามใจที่ต้องการ คือให้ไปให้เร็ว ให้ถึงจุดหมายตามใจที่ต้องการได้เพราะมันจะต้องแล่นตามกันไปตามลำดับ ถนนก็มีจำกัด แต่รถมันมีมากกว่าถนน ในข่าวนั้นก็กล่าวถึงสุภาพสตรีผู้หนึ่งซึ่งขับรถราคาแพง แล้วก็แต่งกายสวยงาม ทันสมัย แล้วก็ขับรถตามรถของสุภาพบุรุษท่านหนึ่งซึ่งขับไปข้างหน้า แต่เผอิญว่าในการขับรถคราวนั้นหรือครั้งนั้นวันนั้น พอขับไปก็ปรากฏว่าสุภาพบุรุษผู้นั้นต้องหยุด สุภาพสตรีผู้นี้ก็ต้องหยุดตาม แล้วก็ต้องหยุดอย่างนั้นหลายๆครั้ง แต่การที่ต้องหยุดอย่างนั้นไม่ได้หมายความว่าผู้ขับในคันหน้าอยากจะหยุด แต่เพราะปัญหาในการจราจรมันทำให้หยุด สุภาพสตรีท่านนั้นที่ขับรถตามหลังมา จะเป็นเพราะมีความอ่อนแอ พ่ายแพ้ต่ออะไรที่รบกวนจิตใจมาตลอดคืนตลอดวัน ตั้งแต่วันก่อนจะกระทั่งถึงเช้าวันนี้หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ รู้สึกว่าเมื่อต้องหยุดรถหลาย ๆ ครั้งนี่มันเกินความรู้สึกที่จะรับ ทนไม่ได้ ก็หยุดรถจริงๆ แล้วก็เปิดประตูออก พอไปถึงก็ร้องเรียกผู้ชายผู้นั้นออกมาจากรถ แล้วก็ไม่ต้องพูดอะไร
ก็ยกฝ่ามือขึ้นตบหน้า เรียกว่า ตบเอา ตบเอา คงจะสักที สองที หรือ สามทีก็ไม่ทราบ ผลที่สุดก็คือต้องไปขึ้น ต้องไปที่โรงพัก เพราะแน่ล่ะ ใครจะยอมให้ทำเช่นนั้นกลางที่สาธารณชน และผลที่เกิดขึ้นคืออะไร เมื่อรู้สึกตัว ได้สำนึก ก็แน่นอน เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ ทุกข์อย่างยิ่ง ทุกข์นั้นก็ตามมาด้วยความละอาย ความละอายที่เป็นผู้มีการศึกษา เป็นผู้มีตำแหน่งการงานดี มีฐานะความเป็นอยู่ก็แน่นอนล่ะต้องมั่งคั่งพอสมควร แล้วทำไมจึงมากระทำสิ่งซึ่งไม่น่าดู ไม่น่าชม เป็นสิ่งที่น่าเกลียดในท่ามกลางถนนหนทางอย่างนี้ มันนำความเสื่อมเสียมาสู่ชื่อเสียง ตำแหน่งการงานอย่างไม่ต้องสงสัยเลย ยิ่งนึกก็ยิ่งทุกข์ และนอกจากมันจะนำความเสื่อมเสียมาให้แล้ว มันยังจะนำความสูญเสียซึ่งความเคารพ ความรักนับถือต่างๆ อีกก็ได้ เพราะฉะนั้น โทษทุกข์ของความขาดสตินี้อาจนำความทุกข์ ไม่อาจนะคะ นำความทุกข์ทีเดียว ความทุกข์นี้ก็เกิดความเสื่อมเสีย เป็นความเสื่อมเสีย เป็นความสูญเสีย หรือเมื่อขาดสติในการที่จะดูแลทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ หรือขาดสติในขณะที่รับผิดชอบการงานอันเป็นงานสำคัญ สำคัญของสถานที่แห่งการทำงานนั้น หรือเป็นงานสำคัญของส่วนรวม แต่เมื่อขาดสติ ทำอย่างเผลอไผล อย่างมักง่าย แน่นอน จะนำความสูญเสียทั้งตำแหน่งการงาน สูญเสียอนาคตให้บังเกิดขึ้นอย่างแน่นอนทีเดียว เพราะฉะนั้นในความขาดสตินี้อย่างเราจะพบบ่อยๆ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจนกระทั่งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นถึงแก่ความตาย ถึงแก่ชีวิตตามลำพังแต่ผู้เดียวบ้าง เป็นหมู่เป็นกลุ่มบ้าง เพราะอะไร เพราะอาจจะโทษว่าเพราะเหตุนั้น เพราะเหตุนี้ แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องของสติเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ต้องมีการขาดสติของผู้ใดผู้หนึ่งที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นั้น จึงทำให้เกิดความสูญเสียจนกระทั่งถึงแก่ความตายก็มี ใช่ไหมคะ ทั้งๆที่ความตายไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนาเลย นอกจากนี้ ความขาดสติ หรือโทษทุกข์ของความขาดสติก็จะทำให้เป็นผู้หมดสมรรถนะ หรือศักยภาพในการควบคุม รักษาวัตถุ สิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนกระทั่งร่างกายและก็จิตใจ อย่างที่หมดสมรรถนะ เหมือนอย่างพูดง่ายๆ ถ้าหากว่า ผู้ที่เห็นแก่การกิน ผู้ที่ตกจมอยู่ในกามคุณ โดยเฉพาะในกามารมณ์ ก็ปรารถนาแต่จะเสพ ทั้งๆที่รู้ว่าการกินอาหารอย่างนี้หาได้เกิดประโยชน์แก่ร่างกายไม่ มีแต่จะนำความเสื่อม ความเสื่อมในเรื่องของสุขภาพให้บังเกิดขึ้นแก่ร่างกาย เพราะอาหารนั้นไม่ใช่อาหารบำรุง แต่เป็นอาหารที่กินเข้าไปเพื่อสนองความต้องการของใจที่บอกว่านี่มันอร่อย คือ มันอร่อยลิ้น แต่มันไม่ได้ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ตรงกันข้ามมันจะนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บ หรือจะนำมาซึ่งความอ้วน ความสมบูรณ์อันไม่เหมาะแก่ผู้ที่รักความงามเลยทั้งหญิงทั้งชาย แต่ก็กิน กินเข้าไป เพราะอะไร ก็เพราะขาดสติ จนหมดสมรรถนะ ก็คือความสามารถที่จะควบคุมจิตใจให้หยุดการกินอย่างนั้น ให้หยุดการเสพอย่างนั้น เช่น เสพเครื่องดอง ของเมา หรือหยุดการที่จะเสพกามคุณ หรือว่าตกอยู่ไปในอบาย จึงไม่สามารถจะควบคุมรักษา ทั้งร่างกายและจิตใจก็เสื่อมเสียไป เรียกว่า สูญเสียไป เสื่อมเสียไปก่อนวัยอันควร นี่เพราะสติทั้งนั้น เราเห็นตัวอย่างอยู่มากมาย
นอกจากนี้ โทษทุกข์ของความขาดสติก็จะทำให้ผู้นั้นไม่สามารถจะนำออกซึ่งอวิชชาและโทมนัส ความพอใจและความไม่พอใจ การที่เข้ามาฝึกปฏิบัติธรรมนั้นก็ทราบใช่ไหมคะว่า เพื่อที่จะละเสียซึ่งอวิชชาและโทมนัส ถ้าตราบใดไม่สามารถจะละเสียซึ่งอวิชชาและโทมนัสได้ ก็แสดงว่าจิตนั้นยังตกอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า สิ่งคู่ ตราบใดที่ตกอยู่ในสิ่งคู่ก็จะถูกซัดกระแทก ซ้ายบ้าง ขวาบ้างให้ชอกช้ำยับเยินอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นอันตั้งตัวได้ ผลที่สุดก็แตกทำลายไปอย่างไร้สาระแก่นสาร ฉะนั้น ถ้ามีสติอยู่ ย่อมจะต้องสามารถบังคับจิต ดึงจิตให้ออกเสียได้จากความพอใจและความไม่พอใจทั้งปวง นอกจากนั้นก็กล่าวได้ว่า ถ้าหากว่าปล่อยให้จิตนั้นขาดสติยิ่งขึ้นๆ โทษทุกข์ที่ร้ายกาจมาก ร้ายแรงอย่างน่าสะพรึงกลัวก็คือ จะหมดหวังความก้าวหน้าไปตามทางของพระนิพพาน ถ้าหากว่าได้มุ่งหน้าเข้ามาเพื่อจะมีชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรม หรือมีชีวิตของการประพฤติพรหมจรรย์ แต่ไม่พยายามที่จะเพิ่มพูนสติให้มากขึ้นๆ ก็ไม่มีหนทางเลย ไม่มีหนทางจริงๆที่จะก้าวไปสู่หนทางแห่งพระนิพพาน หรือตามทางแห่งพระนิพพาน เพราะอะไร ก็เพราะจิตที่ขาดสตินั้น มีแต่จะร้อน ร้อนยิ่งขึ้น ที่จะพบความเย็นนั้นยาก นิพพานคือเย็น การที่จะมุ่งหน้าไปสู่พระนิพพาน หรือหนทางของนิพพานนั้นก็คือการเพิ่มพูนความเย็นให้บังเกิดให้มากขึ้นๆภายในคือภายในใจ หรือภายในจิต ถ้าหากว่าความเย็นบังเกิดขึ้นภายในใจมากน้อยเพียงใดก็แสดงถึงว่า รสของพระนิพพานกำลังบังเกิดขึ้นภายในให้ได้ลิ้มแล้ว ถ้าหากว่าเพียงช่วงขณะสั้นๆ ก็ได้ลิ้มรสพระนิพพานน้อยๆ ถ้าเป็นขณะยาวก็จะได้ลิ้มรสของพระนิพพานในเวลาอันเนิ่นนานยิ่งขึ้น ถ้าสามารถรักษาความเย็นนั้นให้ยืนยาวเป็นการถาวร นั่นก็จะเป็นนิพพานถาวร พูดได้ว่าได้บังเกิดนิพพานขึ้นแล้ว หรือสามารถทำนิพพานให้บังเกิด แต่ถ้าหากว่าขาดสติแล้วล่ะก็ หมดหนทาง หมดหวังที่จะก้าวหน้าไปตามทางของพระนิพพาน แล้วก็คงจะต้องเติมว่า อย่างสิ้นเชิง ด้วยนะคะ
ทีนี้ ถ้าพูดคุณค่าหรือคุณประโยชน์ของสติล่ะ มีอะไรบ้าง เมื่อเราได้พูดถึงโทษทุกข์ของสติแล้ว ก็เชื่อว่า คงจะพอมองเห็นนะคะถึงคุณของความมีสติ ก็กล่าวได้ว่า ไม่มีการกระทำใดๆที่เป็นเหตุให้ต้องเสียใจหรือเป็นทุกข์ ถ้ามีสติกำกับใจอยู่ทุกขณะแล้วล่ะก็ จะไม่มีการกระทำใดๆที่เป็นเหตุให้เสียใจหรือเป็นทุกข์ จะมีแต่การกระทำที่นำความสุขสงบเย็นมาสู่ ไม่นำปัญหาให้เกิดขึ้น ก็จะมีแต่ความอิ่มใจ พอใจ สงบเย็นอยู่ได้ทุกขณะ นอกจากนั้น การมีสติท่านบอกว่า จะเป็นเครื่องคุ้มครองศรัทธา ทิฐิ และวิริยะไม่ให้ออกนอกทาง ทำไมท่านถึงมาเน้นว่า ถ้าหากว่ามีสติแล้วล่ะก็ จะคุ้มครองศรัทธา ทิฐิ และวิริยะไม่ให้ออกนอกทาง คืออยู่ในหนทางของความถูกต้องได้ตลอด ก็เป็นเพราะว่า การที่บุคคลจะกระทำสิ่งใด แล้วก็สนใจที่จะกระทำต่อไปจนกระทั่งอาจจะตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะต้องทำสิ่งนี้ โดยไม่ละเว้น ไม่ถอยหลังไม่ทอดทิ้ง ก็ต้องเริ่มด้วยศรัทธา ใช่ไหมคะ ศรัทธาก็คือความเลื่อมใส จนกระทั่งเกิดความเชื่อมั่น เพราะฉะนั้นความเลื่อมใสหรือความเชื่อมั่นที่จะทำให้บังเกิดการกระทำอันเป็นไปในทางสร้างสรรค์และก่อประโยชน์ต่อไปนั้น จะต้องเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยสติ คือมีสติคอยยับยั้ง เพราะถ้าหากมีสติคอยยับยั้ง คอยควบคุม สตินั้นก็จะนำปัญญาเข้ามาประกอบด้วย และปัญญานั้นก็จะเป็นปัญญาที่ประกอบด้วย สัมมาทิฐิ ไม่เป็นมิจฉาทิฐิ เมื่อเป็นสัมมาทิฐิก็จะใคร่ครวญดูว่า สิ่งที่กำลังมีศรัทธานั้นน่ะ เป็นสิ่งที่สมควรแก่การจะมีความศรัทธาหรือไม่ คือมีความเลื่อมใสศรัทธาหรือไม่ เป็นสิ่งที่จะนำชีวิตนี้ให้ไปสู่ความเจริญก้าวหน้า หรือถ้าเป็นในทางธรรมก็จะนำไปสู่ความสุข สงบเย็นยิ่งขึ้น จนกระทั่งบรรลุหรือบังเกิดมีซึ่งนิพพานเป็นที่สุด สติจะช่วยนำปัญญามา เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาก็จะเป็นศรัทธาที่แน่นแฟ้นแล้วก็แน่ใจในความถูกต้อง ใช่ไหมคะ
ฉะนั้นสติจึงสำคัญมากที่จะไม่ให้บังเกิดศรัทธาที่เป็นมิจฉาทิฐิ แล้วก็นำไปสู่หนทางที่ผิดพลาดของชีวิต ก็จะบังเกิดความน่ากลัวอย่างที่เราได้ยินได้ฟังอยู่ในวงสังคมปัจจุบัน จะเป็นในทางโลกก็ดี จะเป็นในทางธรรมก็ดี หรืออย่างเมื่ออ่านข่าวหนังสือพิมพ์ที่มีการบอกว่า มีผู้ที่ชวนกันฆ่าตัวตายหมู่ ด้วยการกินยาพิษบ้าง ด้วยการยิงตัวตายบ้าง ด้วยการแขวนคอตายบ้าง เพราะเชื่อคำสอนของผู้นำที่ตนมีความศรัทธาเพียงคนเดียวเท่านั้นเอง หลงใหลในคำสอน หลงใหลในอาจจะเป็นกิริยาท่าทางที่มีเสน่ห์ที่ชักชวนแล้วก็มีแรงบันดาลใจที่สามารถจะเข้าจูงใจผู้ฟังให้เลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นจนถอนใจไม่ขึ้น แล้วก็พากันฆ่าตัวตายหมู่ น่าเศร้าสลดไหมคะ น่าเศร้าสลดที่ปล่อยให้ชีวิตที่เกิดมาได้แต่ละครั้งนี่ การมีชีวิตเป็นมนุษย์ครั้งหนึ่งไม่ใช่ของง่ายเลย ยากเย็นเหลือเกิน ท่านบอกว่าการที่ได้มีโอกาสเป็นมนุษย์นี้เป็นสิ่งประเสริฐสุด แล้วก็ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นมนุษย์ ถ้าสิ้นลมไปแล้วจะเป็นอะไร เราไม่สามารถจะทราบได้เลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รับสั่งว่า จงใช้ปัจจุบันขณะนี้ให้เกิดประโยชน์ให้สูงสุด ก็คือ จงทำปัจจุบันขณะนี้ให้อยู่ในความถูกต้องจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตอย่างคุ้มค่าแก่การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พวกที่ฆ่าตัวตายหมู่ เพราะศรัทธาเลื่อมใส อย่าง ต้องบอกว่าก็อย่างผิดหนทาง เพราะเป็นศรัทธาที่ขาดปัญญา จึงหารู้ไม่ว่า การที่ยังมีลมหายใจอยู่นี่แหละ เป็นการให้โอกาสแก่ชีวิตอย่างวิเศษสุดแล้ว ให้โอกาสในการแก้ตัว ให้โอกาสในการที่จะพัฒนาต่อไป แล้วก็รักษาชีวิตนี้ไว้ให้สามารถทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างถูกต้อง อย่างคุ้มค่าแก่ความเป็นมนุษย์ แต่เมื่อมาทำให้ชีวิตนี้ ที่ธรรมชาติให้มาทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตไปสู่ประโยชน์แห่งตนและประโยชน์แห่งเพื่อนมนุษย์ให้หยุดการหายใจเสียแล้ว ก็เท่ากับว่าตัดโอกาส ไม่มีโอกาสอีกแล้ว แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ก็ยังสามารถที่จะถอนตัวออก ถอนใจออก แล้วก็หันกลับมาสู่หนทางที่ถูกต้องได้
เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า สติเป็นเครื่องคุ้มครองศรัทธา ให้เป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะมีสัมมาทิฐิ และวิริยะ ความพากเพียรที่จะทุ่มเทลงไปเพื่อการกระทำในสิ่งนั้น ก็จะเป็นวิริยะที่คุ้มค่า คุ้มค่าที่ได้ทุ่มเทลงไปด้วยความเด็ดเดี่ยวอาจหาญ หรือทุ่มเทลงไปอย่างชนิดที่มุ่งมั่นบากบั่น เอาจริงเอาจังอย่างไม่ท้อถอย ก็จะเป็นการคุ้มค่าเพราะจะอยู่ในหนทางของความถูกต้อง นอกจากนั้นแล้วเมื่อมีศรัทธา ทิฐิ วิริยะที่ถูกต้อง ก็จะเป็นปัจจัยที่เป็นเครื่องเรียกมาให้ทันเวลา ซึ่งสมาธิ ปัญญาที่ย่อมจะมาควบกันกับสติเสมอ สติ สมาธิ ปัญญา แล้วก็ยังจะนำมาซึ่งหิริโอตัปปะ คือ มีความละอาย มีความเกรงกลัวในการที่จะกระทำสิ่งที่ไม่งาม ไม่ถูกต้อง แม้จะไม่มีผู้ใดเห็น แล้วยังจะนำมาซึ่งขันติ ความอดทนอดกลั้น จาคะ การบริจาคที่ถูกต้อง และการบริจาคที่สูงสุด ก็คือการบริจาคกิเลส ตัณหา อุปาทาน ที่มีอยู่ในใจ ก็จะสามารถทำได้ด้วยวิริยะที่จะมุ่งมั่น บุกบั่นอย่างถึงที่สุด นี่ก็เรียกว่า เป็นคุณของสติ ถ้าหากว่าเป็นผู้ที่มุ่งเข้ามาในทางธรรม เมื่อมีสติกำกับใจ ก็ไม่ต้องสงสัยว่า ศรัทธาที่กำลังมีอยู่นี้เป็นศรัทธาที่ถูกต้อง น่าที่จะรีบเร่ง ด่วนเดินไปอย่างไม่รีรอ ไม่ชักช้า แล้วก็พัฒนาสมาธิ ปัญญา พร้อมด้วยขันติ จาคะให้มีพลังที่แข็งแรง เข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นๆ เพื่อการบรรลุถึงจุดหมาย อันเป็นเป้าหมายสำคัญที่ตั้งใจไว้แล้วนั้น
วิธีการฝึกสติ จะฝึกอย่างไร ก็ได้ทราบมาบ้างแล้วนะคะ ในขณะที่เราได้มีการฝึกปฏิบัติกันมาตามลำดับ นั่นก็คือ ต้องฝึกอบรมด้วยความไม่ประมาทอยู่ทุกขณะ ไม่ประมาทอย่างทุกขณะเหมือนดังเช่น ท่านพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา หรือเป็นผู้ที่ได้รับสมญานามว่า เป็นพระธรรมเสนาบดีของพระพุทธศาสนา ที่ท่านได้ฝึกสติอยู่ทุกขณะที่ได้เคยเล่าให้ฟังแล้ว ฝึกสติด้วยการอบรมใจของท่านให้เหมือนกับเป็นแผ่นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม ที่พร้อมจะรับทุกสิ่งอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชังด้วยจิตที่เป็นปกติ จะมาดีก็ปกติ จะมาร้ายก็ปกติ จะมาหยาบก็ปกติ จะมาอย่างอ่อนโยน ละเอียด ประณีตก็ปกติ เพราะประจักษ์แจ้งว่า ทั้งดี ทั้งร้าย ทั้งอ่อนโยน ทั้งประณีต ทั้งแข็งกระด้าง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หรือท่านฝึกอบรมใจของท่านให้เหมือนกับผ้าขี้ริ้วที่ใคร ๆ ก็เช็ดได้ เช็ดเท้าที่สกปรกให้สะอาดได้โดยไม่เกี่ยงงอนเลย เพราะผู้ที่มาเช็ดเท้านั้นจะเป็นวรรณะพราหมณ์ หรือวรรณะกษัตริย์ หรือวรรณะแพศย์ หรือวรรณะสูตร หรือแม้แต่จะเป็นคนจัณฑาล เสมอเหมือนกันหมด ไม่มีอะไรแตกต่าง เพราะมันเป็นแต่เพียงสิ่งสักว่า สักว่าธาตุตามธรรมชาติ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเพียงเท่านั้นเอง ฉะนั้นก็หมั่นฝึกอบรมด้วยความไม่ประมาทอยู่ทุกขณะทุกลมหายใจเข้าออกนะคะ
นอกจากนั้นก็ฝึกอบรมใจให้มองเห็นภัยในวัฏสงสารอยู่เป็นประจำทีเดียว วัฏสงสารก็คือความว่ายเวียนที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ ชีวิตวันหนึ่งๆนี่มีอะไรบ้างที่ชีวิตตกอยู่ในวังวนหรือความว่ายเวียนนั้น ถ้าพูดอย่างง่ายๆตามหลักของ ปฏิจสมุปบาท อย่างสั้นๆ นึกออกใช่ไหมคะ ภาพของปฏิจจสมุปบาทที่วงกลมในสุด วงกลมเล็กในสุด นั่นก็คือ เป็นภาพแสดงถึง กิเลส กรรม วิบาก ชีวิตวันหนึ่งพอกิเลสเกิดขึ้น โลภ โกรธ หลง ไม่ฟังเสียงแล้ว ทำตามที่อำนาจของโลภ โกรธ หลง จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่ามันพัลวัน เกิดขึ้นมาติดๆ กันทั้ง 3 อย่างก็ตามที ทำตามทันที พอโลภก็ดึงเข้ามา เรียกว่าไขว่คว้าหา เอาเข้ามาให้ได้ แย่งชิง เบียดเบียนอย่างชนิดที่ปราศจากความละอายก็เอา พอโกรธ ผลักไส เข่นฆ่าจนถึงเอาชีวิตก็กระทำ พอหลง ก็วนเวียน อย่างชนิดถอนจิตออกไม่ขึ้น นอนก็คิด นั่งก็คิด กินก็คิด อยู่ในอิริยาบถใดก็คิด วนเวียนว่ายอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อกิเลสเกิดขึ้นแล้วก็ทำตามกิเลสที่เกิดขึ้นภายในใจ มันก็เป็นกรรมแล้วใช่ไหมคะ มีกรรมคือมีการกระทำเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคำว่า กรรม ก็คือ การกระทำ เมื่อมีการกระทำอันใดเกิดขึ้น เรียกว่าเป็นเหตุปัจจัยที่ได้กระทำแล้วมันย่อมจะต้องมีผล คือวิบากตามมาแน่นอน นี่เป็นกฎอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าหมั่น หมั่นเฝ้าดูจิต เฝ้าดูชีวิตที่ผ่านไปในวันหนึ่ง วันหนึ่ง หรือบังเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆตั้งแต่ลืมตาตอนเช้าจนกระทั่งหลับตาในตอนกลางคืน มีอะไรบ้างที่แตกต่างไป ถ้าพูดถึงในทางโลกิ โลกียะ มีอะไรบ้าง อ๋อ ก็หมุนเวียนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก กิเลส กรรม วิบาก น่ากลัวไหม น่าสลดใจไหมที่มัวเมาอยู่ภายใต้หรือว่ายเวียนอยู่ภายใต้วงกลมของวัฏสงสาร ของกิเลส กรรม วิบากอย่างหน้ามืดตามัว อย่างงมงาย แล้วก็อย่างซ้ำซาก แล้วมันก็ดึงฉุดจิตนี้ให้อ่อนเปลี้ยเพลียแรง หมดพลังลงไปทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน ชีวิตที่เคยมีศักยภาพก็กลายเป็นชีวิตที่ค่อยๆเสื่อมศักยภาพทีละน้อยอีกเหมือนกันโดยไม่รู้ตัว น่ากลัวเพียงใด ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นหมั่นฝึกดูเถอะค่ะ ว่าชีวิตวันหนึ่ง วันหนึ่งที่ได้ใช้ไป บอกตัวเองว่าใช้ไป แต่ที่จริงแล้วนี่ มันเหมือนกับปล่อยให้มันผ่านไปๆอย่างไร้แก่นสาร เพราะว่าเมื่อจบวันนี่ ได้อะไรเกิดขึ้น ได้อะไรตามมาจากชีวิตวันหนึ่งวันหนึ่งที่ผ่านไป ส่วนมากที่เป็นกันอยู่นั่นก็คือ ได้ความไม่สบายใจ ความอึดอัดรำคาญใจ ความหม่นหมอง เศร้าซึม จนกระทั่งถึงอ่อนเปลี้ยเพลียแรง หมดทอดอาลัยในชีวิต หมดอาลัยใยดีในชีวิต ศักยภาพก็ค่อยเสื่อม หรือบางวันอาจจะมีความตื่นเต้นยินดี โลดเต้น แต่ก็เป็นความตื่นเต้นยินดีที่ระคนอยู่ด้วยความไม่ปกติของจิตใจ ทำไมถึงว่าเป็นความไม่ปกติของจิตใจ ก็เพราะในขณะที่ตื่นเต้นยินดีด้วยความลิงโลดนั้นน่ะ มันมีอาการของกิเลสแทรกอยู่ไง นึกดูให้ดีมันก็มีใช่ไหมคะ มันมีอาการของความโลภ อยากได้มากขึ้น ความหลงคือความกลัว กลัวว่าสิ่งที่ได้อยู่แล้ว ที่กำลังปลาบปลื้มยินดีนี้จะหายไป จะหายไปเพราะถูกช่วงชิงเอาไปบ้าง หรือจะหายไปเพราะว่ารักษาเอาไว้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าเราจะรักษาไว้ได้นานแค่ไหน เพราะฉะนั้นในขณะนั้น จิตก็หาได้มีความสุข สงบ เย็น สมกับที่ได้มาอย่างที่อยากได้หรือไม่ อย่างที่อยากได้นั้นก็หาไม่ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นนี่มันอย่างไรเสีย มันก็เวียนว่ายอยู่ในวงวัฏสงสาร หรือ วัฏจักรที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงออกไปได้เลย ฉะนั้น การฝึกสติก็จะทำให้มองเห็นว่านี่เป็นภัยนะ เป็นภัยอันตราย เพราะชีวิตที่เกิดมาได้ชีวิตหนึ่งยากเหลือเกิน แต่กำลังปล่อยให้ชีวิตนั้นผ่านไปวันหนึ่งวันหนึ่งจนเป็นอาทิตย์ เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน แล้วก็เป็นปี หลายๆปีชีวิตผ่านมาจนบัดนี้ 30 ปีบ้าง 40 ปีบ้าง 50 บ้าง บ้างก็ไปจนถึง 70 80 บางทียังไม่ได้สำนึกเลย ยังไม่สำนึกทั้งๆที่ความแก่ ความเจ็บ กำลังครอบงำ ความตายกำลังคืบคลาน ก็ยังไม่สำนึกในภัยของวัฏสงสาร นี่ก็เพราะไม่ได้ฝึกสติ ไม่ได้อบรมสติให้เกิดขึ้น ฉะนั้น จึงควรหมั่นที่จะฝึกสติด้วยการมองให้เห็นกฎของธรรมชาติ คือ กฎไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง อนิจจัง ความทนอยู่ไม่ได้ ทุกขัง ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อนัตตา หมั่นเข้าใกล้สิ่งนี้ ศึกษาทำความเข้าใจ ใคร่ครวญให้ลึกซึ้ง ตลอดจนกระทั่งกฎอิทัปปัจจยตา ที่กล่าวถึงเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น ผลจะเป็นอย่างใดของชีวิตขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ได้กระทำ ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นลอยๆ ถ้าหมั่นศึกษาอยู่อย่างนี้ก็จะค่อยๆมองเห็นว่า การที่ปล่อยชีวิตให้ตกจมอยู่ในวงเวียนของวัฏสงสารเป็นภัยอันตรายที่บั่นทอนชีวิตนี้ให้หมดไปโดยปราศจากคุณค่า ไม่มีคุณค่าของชีวิตที่จะให้ภาคภูมิยินดีเมื่อหมดลมหายใจ ไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีความภาคภูมิยินดี ปล่อยให้ชีวิตว่ายเวียนอยู่ในวงของกิเลส ตัณหา อุปาทาน แล้วก็กระทำกรรมตามนั้น ผลคือความวิบาก ก็คือความทุกข์ที่เกิดขึ้น แล้วชีวิตนี้จะมีคุณค่าอะไร คุณค่าแก่การระลึกถึงของผู้อื่น ก็ไม่มี คุณค่าแก่การภาคภูมิใจของตนเองเมื่อจะสิ้นลมไปว่า โอนะ ชีวิตนี้ เกิดมาช่างคุ้มค่าเหลือเกินแก่ความเป็นมนุษย์
ก็ลองนึกดูนะคะว่า จะสามารถพูดได้อย่างนี้ไหม ถ้าสามารถพูดได้ก็แสดงว่า ในขณะที่ยังหายใจอยู่นั้นเป็นผู้เห็นภัยของวัฏสงสาร จึงได้พยายามดึงชีวิตให้ออกนอกวงเวียนของวัฏสงสาร เข้าสู่การฝึกปฏิบัติให้มีความสงบเย็นแก่ชีวิตอย่างคุ้มค่ามากขึ้น ฉะนั้นเมื่อเวลาจะสิ้นลม ก็สิ้นลมด้วยความสุขสงบเย็น พร้อมความอิ่มใจว่า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบกับพระพุทธศาสนา สามารถดึงชีวิตออกมาอยู่เหนือภัยแห่งวัฏสงสารได้ นอกจากนั้น ก็จำเป็นจะต้องฝึกให้มีความเป็นอยู่อย่างวิเวก ก็คือ สงบ สงัด ทั้งภายนอกและภายใน ฝึกให้มีชีวิตอย่างสันโดษ คือ ความพอใจในสิ่งที่ได้แล้ว มีแล้ว แต่สิ่งที่ได้แล้ว มีแล้วนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเองลอยๆนะคะ เป็นสิ่งที่ได้กระทำแล้วตามเหตุตามปัจจัย เต็มฝีมือความสามารถ แล้วก็ได้มา มีมา หรือได้เป็นอย่างที่ได้กระทำแล้ว ก็พึงพอใจอย่างนั้น อย่าปล่อยใจให้ตกอยู่ตามอำนาจของตัณหา ความอยาก นอกจากนั้น ก็ฝึกให้ชีวิตนี้มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย เรียบง่ายเหมือนสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล ที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านจะชี้แนะอยู่เสมอว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน แสดงพระธรรมเทศนาโปรดมนุษย์ก็กลางดิน และเมื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานก็กลางดินอีกเหมือนกัน เพราะเหตุที่พระองค์ทรงมีชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด มีแต่จะประทานให้ ประทานให้ โดยไม่เคยทรงเรียกร้องเอา หรือทรงทวงถามกลับคืน เพราะฉะนั้นพระองค์จึงไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งภายนอกและภายใน พละ กำลังทั้งหลายที่ทรงมีอยู่จึงทรงสามารถทุ่มเทลงไปเพื่อการสอน เพื่อการโปรดมนุษย์ทั้งหลายให้รู้จักเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ จนทรงนำมนุษย์ทั้งหลายนี้ออกพ้นจากบ่วงของมาร พ้นจากคอกที่มืดด้วยความเขลา เข้าสู่ความสว่าง มีชีวิตที่สงบเย็นนับเป็นจำนวนไม่ถ้วน ฉะนั้นอันนี้ความมีชีวิตที่เรียบง่าย ก็เป็นการตัดความติดในอำนาจของความโลภ โกรธ หลง หรือในอำนาจของความอยาก ในอำนาจของอุปาทาน ไปในตัวโดยอัตโนมัติ ใช่ไหมคะ
นอกจากนี้ก็ฝึกการปฏิบัติสมาธิภาวนา อย่างที่เราฝึกปฏิบัติกันอยู่ เราก็ใช้ในรูปแบบของอานาปานสติ พยายามฝึกฝนอบรมใจ ฝึกปฏิบัติให้ได้มากขึ้น ทุกขณะ ให้มีลมหายใจเป็นเพื่อนอยู่ทุกขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ แล้วสติก็ย่อมจะกำกับใจ ไม่ไปไหนเสีย จะเป็นเพื่อนที่คุ้มครองชีวิตให้มีความปลอดภัย เพราะฉะนั้นสติที่ควรฝึกนี้นะคะ จึงควรจะฝึกทุกขณะ จนกระทั่งเป็นสติที่ประกอบด้วยปัญญา แล้วจะเป็นสติที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ คือรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะ ความเผลอ ความมักง่าย ความประมาท ความหลงก็ย่อมจะเข้ามาเยี่ยมกรายใจไม่ได้ ฝึกจนรู้ลมหายใจทุกขณะ จนเห็นตถตา คือ ความเป็นเช่นนั้นเอง จนกระทั่งไม่น่าอยากเอา ไม่น่าอยากเป็น มาให้รักก็ไม่รัก มาให้เกลียดก็ไม่เกลียดทันท่วงที เพราะรู้ว่าทั้งรักทั้งเกลียดจะต้องลงเอยด้วยความทุกข์ สู้ไม่รัก ไม่เกลียดดีกว่า แต่ว่าอยู่ด้วยความเมตตากรุณา ด้วยความปรานี เห็นอกเห็นใจกัน จะมิดีกว่าหรือ เพราะจะเป็นชีวิตที่เป็นทางสายกลาง นำแต่ความสุข ความสงบเย็นมาสู่ตนและเพื่อนมนุษย์ด้วย ฉะนั้นก็ฝึกไปจนกระทั่งให้มีสติกำกับใจจนถึงขนาดที่ว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกเป็นตัวตน หรืออย่างที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านใช้ให้จำง่ายๆว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวกูนั่นเอง
ทีนี้ในการฝึกสติอย่างนี้นะคะ ก็เรียกว่าเป็นสติที่เป็นข้อธรรมใหญ่ ที่จะต้องควรมีเพื่อการกำกับใจ ให้มีชีวิตที่สุขสงบเย็นอย่างคุ้มค่าแก่การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็อยากจะกล่าวต่อไปในสิ่งที่เนื่องกันกับเรื่องของสติ ในชื่อที่ท่านเรียกว่า อนุสติ คงเคยได้ยินแล้วนะคะ แต่เมื่อพูดถึงอนุสติ ไม่ได้หมายความว่า สติเล็กๆ หรือสติน้อยๆ ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้นนะคะ แต่หมายถึงว่า คำว่า อนุ นั้นน่ะ ในที่นี้แปลว่า ตามระลึก ตามระลึก หรืออารมณ์ที่ควรระลึกถึงอยู่เนืองๆ นั่นก็เท่ากับท่านครูบาอาจารย์ท่านอยากจะบอกว่า สติที่แปลว่าความระลึกนึกได้อย่างถูกต้อง หรือระลึกได้เร็วทันเวลานำปัญญามาแก้ไขปัญหาได้ทัน ทันท่วงทีแห่งขณะผัสสะที่เกิดขึ้นนั้น การที่จะมีสิ่งที่มาตามระลึกถึง คือ คอยตามระลึกถึงอยู่ในใจให้สม่ำเสมอ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนหรือฝึกอบรมให้มีสติมากขึ้นนั้น ควรจะเป็นอะไร หรือควรจะตามระลึกรู้ในอะไรบ้าง ท่านก็ได้แนะนำบอกกล่าวเอาไว้ เรียกว่า อนุสติ 10 คือ ท่านแนะนำสิ่งที่ควรระลึก หรือที่ควรนึกเอาไว้เสมอ 10 อย่างด้วยกัน เพราะท่านมองเห็นว่า เรื่องของสตินี้มันมีความสำคัญ มันเป็นอริยทรัพย์ ถ้าจะถามว่าเราควรจะมีอะไรเอาไว้ประจำใจ ก็แน่ล่ะ เราก็มีปัจจัยภายนอกตามสมควร แต่สมมติว่า ถ้ามีปัจจัยภายนอกมากเพียงใดก็ตาม อย่างผู้ที่มีมรดก 10 ล้าน 20 ล้าน 100 ล้าน หรือมากกว่านั้น อาจจะใช้เงินมรดกเหล่านั้นให้หมดไปได้ในพริบตา คำว่า พริบตา ก็เป็นคำอุปมาว่า ได้อย่างรวดเร็ว เพราะอะไร ก็เพราะขาดสติใช่ไหมคะ หรือใครอยากจะทำอะไรให้เก่งๆ เด่นๆ โก้ๆ แต่ถ้าขาดสติก็จะไม่สามารถทำได้ ฉะนั้นในความรู้สึกส่วนตัวจึงอยากจะพูดว่า สตินี้แหละเป็นอริยทรัพย์ แล้วถ้าหากว่าใครอยากจะคล้องพระที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อด้วยเงินแพงๆ เป็นจำนวนแสน ฝึกอบรมสติให้เกิดขึ้นในใจให้มากขึ้น แล้วก็คล้องพระสติไว้ที่ใจ นี่แหละศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น เพราะความมีสติจะช่วยให้รอดปลอดภัยจากภัยต่างๆ ดังที่เราได้พูดมาแล้วเมื่อครู่นี้ รอดพ้นจากภัยทั้งมวลไม่ว่าจะมาทางใด เพราะนั้นหมั่นคล้องพระสติเอาไว้ จะเป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐที่ไม่มีผู้ใดมาแย่งเอาไปได้ ถึงอยากจะแย่งก็แย่งไม่ได้ ปล้นไม่ได้ จี้ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ต่างคนต่างจะต้องทำเอาเอง ฝึกอบรมให้เกิดขึ้นที่ใจเอง
อย่างอยากจะลองเล่าถึงความสำคัญของสติสักหน่อย จากนิทานเซน ที่หลายท่านคงจะเคยได้ยินมาแล้ว ก็กล่าวถึงท่านอาจารย์เซน ท่านหนึ่งชื่อว่าท่านอาจารย์นานกิง เป็นอาจารย์เซนที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่เฉลียวฉลาด ท่านสอนเก่ง แล้วก็สอนให้น่าฟัง เพราะฉะนั้นจึงมีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในท่านเป็นอันมาก ลูกศิษย์ลูกหาก็เพิ่มพูนมากขึ้น อาจารย์บางองค์ก็เกิดความอิจฉา ไม่ชอบใจที่ผู้ที่เคยเป็นลูกศิษย์ของตนกลับวิ่งเข้าไปหาอาจารย์นานกิง ไปเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์นานกิงหมด วันหนึ่งก็มีอาจารย์คนหนึ่งเกิดความรู้สึกโกรธแค้นมากที่ลูกศิษย์ของตนวิ่งเข้ามาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์นานกิง ความเป็นจริงนั้นอาจารย์นานกิงท่านไม่ได้ไปเรียกร้องหรือชักชวน แต่เพราะความที่ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จนกระทั่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของบรรดาผู้คนทั้งหลาย ก็จึงมีผู้คนเข้ามาสมัครเป็นลูกศิษย์ของท่านเอง แต่อาจารย์ท่านนี้นี่ไม่มองดูตนเองว่า สอนลูกศิษย์อย่างไร ลูกศิษย์จึงพากันหนีไป ไปเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์นานกิงกันอย่างนั้น กลับมีแต่ความโกรธแค้น แล้ววันหนึ่งก็เดินมาที่สำนักของท่านอาจารย์นานกิง เป็นเวลาที่ท่านอาจารย์นานกิงกำลังสอนบรรดาลูกศิษย์อยู่ คงจะเคยได้ยินบ้างใช่ไหมคะ พอมาถึงก็ประกาศว่า นี่แน่ะ ท่านน่ะได้ชื่อว่าสอนเก่งนักรึ มีคนนับถือมากนักรึ ลองดูซิว่า จะมาสอนเรานี่ให้เรามีความนับถือแล้วก็เชื่อฟังท่านได้ไหม อาจารย์นานกิงท่านก็หันมาดู แล้วท่านก็บอกว่า อ้อ เชิญทางนี้สิ เชิญเข้ามาใกล้ๆทางนี้สิ อาจารย์ท่านนั้นก็เดินตามฉับๆมา พอเดินเข้ามาใกล้ อาจารย์นานกิงก็บอก เชิญมายืนทางนี้ มายืนทางด้านซ้ายนี่ จะได้ฟังใกล้ๆ อาจารย์องค์นั้นก็มายืนข้างซ้าย เดี๋ยวอาจารย์นานกิงก็บอกอีกว่า เชิญเปลี่ยนมายืนทางขวาเถอะ จะได้ยินชัดเจนดีกว่า อาจารย์องค์นั้นก็เดินมายืนข้างขวาอีก แล้วอาจารย์นานกิงก็กล่าวว่า เห็นไหม ท่านนี่เป็นผู้ว่าง่ายจริงๆ บอกให้เข้ามาก็เข้ามา บอกให้มายืนซ้ายก็มายืนทางซ้าย บอกให้มายืนทางขวาก็มายืนทางขวา เอาละ ทีนี้เชิญนั่งลง เราเห็นจะพอพูดกันได้ มองเห็นคำว่า สติ อยู่ในเรื่องนี้ไหมคะ ก็เชื่อว่าคงมองเห็นแล้วใช่ไหมคะ ท่านผู้ใดมีสติ ท่านผู้ใดขาดสติ ก็คงตอบได้อีกเหมือนกัน ผู้ที่พร้อมอยู่ด้วยสติทุกขณะ คือใคร ก็คือท่านอาจารย์นานกิงใช่ไหมคะ สมแก่การที่จะมีลูกศิษย์หรือผู้คนที่สมัครเข้ามาเป็นลูกศิษย์ เพราะมีสติอยู่ทุกอิริยาบถ มีสติกำกับควบคุมใจอยู่ทุกขณะ ไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่เผลอไผล ไม่ประมาท สังเกตได้อย่างไร ก็ถ้าเป็นทั่วๆไป กำลังสอนลูกศิษย์อยู่ แล้วก็มีลูกศิษย์อยู่เยอะแยะ ก็กลับมีใครคนหนึ่งมาถึงก็มาตะโกนว่าในเชิงสบประมาท ลองสิลองมาสอนเราว่าเราจะเชื่อฟังไหม แล้วก็ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปจะรู้สึกอย่างไร อันแรกก็โกรธแล้วใช่ไหมคะ เพราะนี่เป็นผัสสะ การที่มีผู้มาตะโกนอย่างนี้เป็นผัสสะ แล้วถ้าขาดสติก็ย่อมจะไม่สามารถนำปัญญามาได้ทันที่จะมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเช่นนั้นได้ทันท่วงที และก็แก้ไขได้อย่างงดงามด้วย
แต่นี่เพราะว่า ท่านเป็นผู้ฝึกสติ อบรมสติให้มีอยู่ทุกขณะ จึงไม่มีอาการของความขัดเคือง โกรธแค้น แต่กลับพูดได้อย่างไพเราะ อย่างน่าฟัง และก็สามารถแก้ปัญหาให้เรียบร้อยไปด้วยในขณะเดียวกัน ส่วนอาจารย์อีกองค์เป็นอย่างไร เดินเข้ามาพร้อมด้วยสติหรือเปล่า พอจะมองเห็นไหมคะ ก็คงจะตอบได้ว่า เดินเข้ามาอย่างขาดสติ ขาดสติเสียตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว แรกเริ่มตั้งแต่มีความโกรธ แล้วเมื่อเดินมาถึงสำนักของอาจารย์นานกิงก็ยังโกรธอยู่ แสดงความโกรธออกนอกหน้า กิเลส ตัว โกรธะ โทสะ เต็มอยู่ในหัวใจ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจึงไม่มีสติที่ควบคุมใจ ปัญญาจึงไม่เกิดขึ้นในใจ เพียงแต่มาท้าด้วยความโกรธ เอาอัตตาคือความรู้สึกเป็นตัวตนออกมาท้า แต่เผอิญอาจารย์นานกิงไม่เอาตัวตนออกไปชนด้วย เพราะการฝึกสติอยู่เสมอก็คงจะมองเห็นแล้วว่า ความรู้สึกเป็นตัวตนนั้นเป็นสมมติ มันไม่มีตามอนัตตาในกฎไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อาจารย์นานกิงกำลังทำในขณะนั้นคือทำหน้าที่ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ว่ากำลังทำหน้าที่ของผู้ที่ได้สมมติเรียกกันว่าเป็นอาจารย์ แต่ส่วนอาจารย์องค์นั้นก็เรียกตัวเองว่าเป็นอาจารย์ แต่มาอย่างขาดสติ เพราะฉะนั้นเมื่อมาอย่างขาดสติ ปัญญาก็ไม่มี เมื่อได้ยินอาจารย์นานกิงพูดว่า เชิญมาใกล้ๆสิ เดินเข้ามาใกล้ๆ ก็เดินเข้ามา โดยลืมนึกไปว่า ได้ท้าเอาไว้ว่าอย่างไร ใช่ไหมคะ ก็ได้ท้าว่า ไหนลองบอกสิ คือลองบอก ลองพูดสิว่าเราจะทำตามไหม พออาจารย์นานกิงบอกว่า เดินเข้ามาใกล้ๆ ก็เดินเข้ามาใกล้ๆ พอบอกให้ยืนมาทางซ้ายก็เดินมายืนทางซ้าย พอบอกให้เปลี่ยนมายืนทางขวาก็มายืนทางขวา ในขณะที่ทำนั้นคิดว่า เอาล่ะ จะให้ยืนตรงไหนก็ยืนจะได้ต่อปากต่อคำกันให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าใครเก่งกว่าใคร แต่ผลที่สุดก็เท่ากับว่า เอาชื่อเสียง หรือว่าหน้าตา หรือว่าศักดิ์ศรีของความเป็นอาจารย์ของตนมาทิ้งเสียอยู่ที่ตรงนี้เองโดยที่ไม่มีใครไปคิดทำลายเลย พามาทิ้ง มาทำลายเองเพราะความขาดสติใช่ไหมคะ นี่แหละ เรียกว่า สตินี้เป็นอริยทรัพย์ บอกว่าไม่นับถือเขา แต่การกระทำนั้นแสดงความ นับถือเต็มประตู เพราะขาดสติ ปัญญาจึงไม่มี เพราะฉะนั้นเรื่องอย่างนี้จึงจัดได้ว่าเป็นตัวอย่างที่จะบอกให้เห็นได้ว่า สตินั้นเป็นอริยทรัพย์จริง ๆ ขอได้หมั่นอบรมฝึกฝนสติให้เกิดขึ้น และได้คล้องพระสติไว้ในใจ ถ้าคล้องพระสติไว้กับชีวิตเสมอแล้ว ความปลอดภัยจะเกิดขึ้นในทุกกรณีไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่
ทีนี้ถ้าจะดูว่า เหตุที่เกิดเพราะขาดสติ ก็เหมือนดังที่ได้กล่าวแล้วเมื่อครู่ใหญ่ แต่ถ้าจะดูต่อไปอีก ก็อยากจะยกตัวอย่างอีกสักตัวอย่างหนึ่ง จากนิทานอีสป ซึ่งบางคนคงจะได้เคยอ่านมาแล้ว เรื่องหมากับก้อนเนื้อ นึกออกไหมคะ เจ้าหมาตัวหนึ่งมันก็ไปพบก้อนเนื้อตกอยู่ หรือจะไปแย่งเขามาก็จำไม่ได้แล้วนะคะ แต่ว่าไปได้ก้อนเนื้อมาก้อนนึงก็คาบก้อนเนื้อไปเพื่อจะไปหาที่กินให้ปลอดภัย คือ ปลอดภัยจากการถูกแย่งของหมาตัวอื่น ในขณะที่เดินไปก็ผ่านบ่อน้ำ ก็มองลงไปในบ่อน้ำก็เห็นเจ้าหมาตัวที่อยู่ในบ่อน้ำนั่น มันคาบก้อนเนื้อเหมือนกัน แต่ก้อนเนื้อของเจ้าหมาตัวที่อยู่ในบ่อน้ำนั่นดูก้อนมันใหญ่ ใหญ่กว่าของเราอีก เกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมา เกิดความโลภ เห็นไหมคะ เกิดความโลภก็ตั้งใจว่า จะต้องแย่งก้อนเนื้อที่อยู่ในปากของเจ้าหมาตัวใหญ่ที่อยู่ในน้ำนั่น ที่มีก้อนเนื้อใหญ่กว่าที่อยู่ในน้ำให้จงได้ ก็เลยปล่อยก้อนเนื้อของตัวเองให้ตกน้ำไป แล้วก็จะกระโจนลงไป แต่พอจะกระโจนลงไปก็หามีไม่ เพราะว่านั่นมันเป็นเพียงเงา เงาของหมาอีกตัวหนึ่งก็คือเงาของหมาตัวเอง คือตัวเองนั่นเองแล้วก็คาบก้อนเนื้อ แต่เพราะว่ามันอยู่ในน้ำ เป็นเงาที่อยู่ในน้ำ มันก็เป็นภาพมายาทำให้มองเห็นเหมือนกับว่ามันใหญ่ มันใหญ่กว่า มีมากกว่า นี่ ที่เจ้าหมาตัวนี้ต้องเสียก้อนเนื้อไปเพราะอะไร ก็เพราะขาดสติอีกใช่ไหมคะ จึงไม่มีปัญญาที่จะมองเห็นว่า แท้จริงแล้วนั่นมันเป็นเพียงก้อนเนื้อในน้ำ ก้อนเนื้อจริงๆนั่นมันมีอยู่ในปากของตัวนี่เอง เพราะความโลภ ก็เลยทำให้ขาดสติ หรือเพราะความหลงอำนาจ หลงความรัก หลงวัตถุ หลงตัวเอง สารพัด ก็จะทำให้เกิดความสูญเสียต่างๆนานาจนกระทั่งฆ่าตัวตาย ฉะนั้น ความสำคัญของสติก็จึงเป็นความสำคัญที่จะรักษาชีวิตไว้
ทีนี้ก็มาดูถึงอนุสติ 10 นะคะ ที่ท่านบอกว่าควรจะระลึกถึงอยู่เนืองๆนั้นมีในเรื่องอะไรบ้าง ประการแรกท่านก็บอกว่า เมื่อจะขาดสติ หรือเมื่อจะเพิ่มพูนสติ ฝึกอบรมสติ ควรที่จะมีพุทธานุสติเอาไว้ประจำใจ คือระลึกถึงพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นพระผู้รู้อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการแล้วก็นำมาสอนมนุษย์ทั้งหลายให้รู้เรื่องของความทุกข์ และการดับทุกข์ ตลอดจนกระทั่งวิธีที่จะเดินไปถึงซึ่งความดับทุกข์ จนแจ้ง ประจักษ์แจ้งในความดับสนิทแห่งความทุกข์นั้น ก็คืออย่างนี้ เป็นพระผู้รู้ปฏิจจสมุปบาท คือตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท จนกระทั่งทรงนำมาบอกกล่าวให้รู้ว่า มันเป็นเพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าหากว่าผู้ใดมีพุทธานุสติเช่นนี้ประจำใจ ก็จะเป็นผู้ที่รู้ แล้วก็ตื่น แล้วก็เบิกบาน เจริญรอยตามพระยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้นการเจริญพุทธานุสติด้วยการทำวัตร สวดมนต์ จึงเป็นสิ่งที่สมควรกระทำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าสามารถกระทำได้มากกว่าตอนเช้าและตอนเย็น จะได้มากกว่า 1 ครั้ง 2 ครั้ง อย่างเจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านบอกว่า ในโครงการฝึกอบรมตนในธรรมมาตานี้ควรจะเจริญสติด้วยการนึกถึงพระพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสตินี้อย่างน้อยสักวันละ 5 ครั้ง ถ้าทำได้อย่างนี้พุทธานุสติก็ประจำใจ ธรรมานุสติก็ประจำใจ ธรรมานุสติก็คือระลึกรู้ถึงธรรมะข้อใดข้อหนึ่งที่ประทับอยู่ในใจ พูดง่ายๆก็คือติดใจ พอนึกถึงธรรมะข้อนี้ขึ้นแล้วจะรู้สึกชูจิตให้เบิกบานอยู่เหนือความทุกข์ หรือปรารถนาศรัทธาที่จะประพฤติหรือปฏิบัติให้อยู่เหนือความทุกข์ให้จงได้ ก็เช่นคำว่า ตถาตา เช่นนั้นเอง สักแต่ว่าเท่านั้นหนอ ใคร่ครวญในไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ศึกษาเรื่องกฎของอิทัปปัจจยตา ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพื่อเตือนตัวเอง อย่าหวังแต่จะอธิษฐานขอ อย่างอมืองอเท้าไม่ยอมทำอะไร หวังจะให้มันหล่นปุ๊บลงมาจากสวรรค์ ไม่มี เพราะสวรรค์จริงๆ เราก็มองไม่เห็น มีแต่สวรรค์ในอก นรกในใจ ถ้าประกอบเหตุปัจจัยถูกต้อง ภายในก็มีแต่สวรรค์ ถ้าประกอบเหตุ ปัจจัยภายในไม่ถูกต้อง หรือตามกิเลส ตัณหา อุปาทาน ภายในใจก็จะมีแต่นรก ใช่ไหมคะ หรือสวดมนต์บทที่ประทับใจ ที่ถูกใจ ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนักเน้อ ถ้ามีอุปาทานในขันธ์ทั้ง 5 เมื่อใด ขันธ์นั้นก็จะนำความหนักเข้ามาสู่ชีวิต นอกจากนี้ก็มีสังฆานุสติ คือระลึกรู้ถึงพระคุณของพระสงฆ์ที่ควรบูชาหรือที่มีความเคารพบูชาอยู่ในใจ
อย่างเช่น ท่านพระสารีบุตร ที่เคยกล่าวแล้ว หรือในปัจจุบันก็คงจะมีมากองค์นะคะ แต่อย่างเช่น ท่านเจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาสแห่งสวนโมกขพลาราม มีความประทับใจในท่านอย่างไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่ผู้ใดที่ได้ติดตามกิจวัตรที่ท่านอาจารย์ได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวันตลอดชั่วชีวิตของท่านก็จะเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่ท่านได้พยายามกระทำอย่างสุดกำลังความสามารถ หรือจะพูดว่าอย่างสุดชีวิตจิตใจของท่านก็ได้ นั่นก็คือ การที่จะพยายามกระทำทุกอย่างเพื่อสนองพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังจะเห็นได้จากการแสดงธรรมเทศนาหรือการบรรยายธรรม หรือแม้แต่ในการสนทนาธรรม เจ้าประคุณท่านอาจารย์จะไม่พูดอะไรเรื่องอื่น นอกจากเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ ถ้าผู้ใดต้องการจะสนทนาในเรื่องนี้เจ้าประคุณท่านอาจารย์จะคุยด้วยเป็นเวลานานทีเดียว ด้วยเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์ที่จะให้พระพุทธสาวก และพระภิกษุทั่วไปได้บอกกล่าวแก่มนุษย์ทั้งหลายในเรื่องนี้ เพราะถ้ารู้เรื่องนี้แล้ว นั่นแหละเป็นหนทางที่จะให้ชีวิตประสบกับความสุข สงบเย็น นอกจากนี้ อีกอย่างหนึ่งก็คือจะมองเห็นว่าเจ้าประคุณท่านอาจารย์นั้นจะไม่พูดเล่นเรื่องอะไรอื่นที่ไม่มีสาระแก่นสาร จะหลุดเสียงหัวเราะดังๆ จะแสดงถึงความสนุกสนาน เพลิดเพลินก็ไม่เคยได้ยิน จะมีอย่างมากก็แต่เพียงแย้มยิ้มเมื่อในความเหมาะสมแก่จังหวะเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นก็ สังฆานุสตินะคะ ก็ลองพยายามระลึก นึกดูในท่านพระเถระ หรือพระภิกษุสงฆ์ที่ได้เคยเคารพบูชาท่าน ว่ามีอะไรในองค์ท่านที่ทำให้เกิดความประทับใจ จนกระทั่งเมื่อนึกขึ้นมาทีใดก็จะมีสติเกิดขึ้นในใจที่อยากจะประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นให้เหมือนท่าน ให้ยิ่งขึ้น นอกจากนี้สิ่งที่ควรระลึกที่เป็นอนุสติที่ท่านบอกไว้เป็นข้อที่ 4 ก็คือ ศีลานุสติ ศีลานุสติก็คือการระลึกถึงศีลที่ได้สมาทาน ก็เอาศีล 5 นี่ล่ะค่ะเป็นหลักหรือเป็นพื้นฐาน เมื่อระลึกถึงศีลที่ได้สมาทานไว้ ว่าเราได้รักษาศีลนี้ด้วยความบริสุทธิ์ หมดจด สะอาด จิตใจมีความเบิกบานใช่ไหมคะ ชุ่มชื่น เพราะไม่ได้รักษาศีลนั้นด้วยอุปาทาน และเมื่อระลึกนึกถึงในเรื่องของการสมาทานศีลให้ละเอียดก็จะมองเห็นด้วยใจเองว่า ในขณะที่สมาทานศีลอย่างถูกต้อง งดงาม ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น มันแสดงถึงความเป็นผู้อยู่เหนือกิเลสอยู่ในตัว เหนือกิเลสอย่างไร ก็ลองไล่เรื่องศีลดู ถ้าหากว่าไม่มีการล่วงละเมิดในข้อที่ 1 เลย ปาณาติปาตา เว ก็แสดงว่า ล่วงพ้นจากกิเลสตัวโทสะ โกรธะ ใช่ไหมคะ ไม่อึดอัดขัดใจ ไม่โกรธเคือง จึงไม่มีการเบียดเบียน ประทุษร้ายผู้อื่นให้เจ็บป่วยทางร่างกายหรือจนกระทั่งถึงสิ้นชีวิต หรือศีลข้อที่ 2 อทินนาทาน ถ้าไม่หยิบข้าวของสิ่งใดของผู้อื่นมาจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามที นั่นก็แสดงว่า กิเลสตัวโลภะไม่สามารถจะกล้ำกรายจิตได้ ส่วนในอีก 3 ข้อ จะเป็นเรื่องของ กาเมสุมิจฉาจาร ไม่ล่วงละเมิดในของรักของผู้อื่นก็ดี หรือไม่พูดจาที่ไม่เป็นสัมมาวาจา คือจะพูดแต่สิ่งที่เป็นสัมมาวาจา เป็นวาจาที่เกิดประโยชน์ ไม่มีการเบียดเบียน ไม่ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ ไม่ส่อเสียด ไม่ผรุสวาท อะไรต่างๆเหล่านี้ จนกระทั่งถึงข้อที่ 5 คือ ไม่ตกไปอยู่ในอบายของการเสพทุกอย่างทุกชนิด ก็เรียกว่าทั้ง 3 ข้อนี้แสดงถึงว่าสามารถอยู่เหนือความหลงได้ ไม่ตกอยู่ในความหลง อันเป็นโมหะเป็นกิเลสข้อที่ 3 เมื่อระลึกได้อย่างนี้ เป็นศีลานุสติ ก็เกิดจิตใจชุ่มชื่นเบิกบานใช่ไหมคะ แล้วก็จะมีสติควบคุมจิตให้มั่นคง เข้มแข็งยิ่งขึ้น อนุสติที่ควรระลึกข้อที่ 5 ก็คือ จาคานุสติ จาคานุสติก็คือการระลึกรู้ถึง สิ่งที่ได้บริจาคไปแล้ว
ถ้าหากว่าเป็นในระดับศีลธรรมก็จะนึกถึงทานภายนอก เช่น วัตถุสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและอื่นๆที่ได้บริจาคให้ไป แบ่งปันไป แก่ผู้ที่ขาดแคลนกว่า ถ้าเป็นระดับของปรมัตถธรรม นั่นก็คือการบริจาคทานภายใน เมื่อรำลึกถึงว่าตลอดเวลานี่นะ เข้ามาหาธรรมะก็ได้อุตส่าห์พยายามที่จะบริจาคความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง ออกไปให้มากทุกทีทุกทีจนเหลือน้อยลง ความอยากก็ลดลง ความยึดมั่นถือมั่นก็ลดลง พอนึกขึ้นมาทีใดมันก็เกิดที่จะมีความชุ่มชื่น เบิกบานใจ แล้วก็เพ่งพยายาม เพียรพยายามที่จะกระทำให้มีสติเพิ่มมากขึ้น จาคะให้มากขึ้น จนกระทั่งเป็นสติที่พร้อมบริบูรณ์ ข้อที่ 6 ก็คือ เทวตานุสติ นั่นก็คือระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้คนเป็นเทวดา โดยสมมติ เราก็สมมติกันว่า ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเทวดานั้นน่ะมีอะไรที่เป็นพิเศษ หรือมีคุณงามความดีที่ชวนให้เคารพ ระลึกถึง ยกย่อง บูชา มากกว่าคนธรรมดาคือคนในโลกนี้ใช่ไหมคะ เราก็สมมติให้เป็นเทวดา แต่จริง ๆ แล้วนั้นไม่ใช่เทวดาที่อยู่บนฟ้านะคะ แต่เป็นเทวดาในโลกมนุษย์นี้แหละ ฉะนั้นคุณธรรมที่จะทำให้เป็นเทวดาก็คือ คุณธรรมที่ชื่อว่า หิริโอตัปปะ ถ้าหากว่าคนใดมีความละอายมีความเกรงกลัวต่อบาป ไม่กล้ากระทำสิ่งที่เป็นความชั่วหรือความผิด ทั้งๆที่ไม่มีผู้ใดเห็น ท่านก็ยกให้ว่า คนนั้นน่ะเป็นคนที่เหมือนกับเทวดา เพราะมนุษย์ทั่วไปนั้นมักจะไม่ทำสิ่งที่ชั่ว หรือสิ่งที่ผิดต่อหน้าคนอื่น กลัวเขาจะว่า กลัวเขาจะตำหนิ แต่ถ้าพอลับหลังอยู่เฉพาะคนเดียวแล้วล่ะก็อาจจะทำได้ทุกอย่างอย่างปราศจากความละอาย เพราะฉะนั้นคนที่ทำได้แค่นี้ก็เป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ผู้ใดสามารถทำได้ โดยไม่มีผู้ใดเห็น ให้มีความละอาย มีความกลัวประจำใจ นั่นก็เท่ากับว่า ได้เลื่อนชั้นจากความเป็นมนุษย์สู่ความเป็นเทวดาแล้วโดยสมมตินะคะ นั่นก็คือ มีคุณธรรมข้อที่ว่า หิริโอตัปปะประจำใจ ถ้ามีหิริโอตัปปะประจำใจก็คือมีสติประจำใจ ข้อที่ 7 ก็คือ มรณะนุสติ รำลึกถึงความตายให้ทุกขณะ การระลึกถึงความตายก็เท่ากับว่าได้ประโยชน์ 2 อย่าง อย่างหนึ่งก็คือไม่ประมาท จะไม่มีความประมาท เพราะรู้ว่าความตายอาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อความตายกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว ถ้าประมาทเสียก็เท่ากับตัดโอกาสกระทำสิ่งที่ถูกต้อง ที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นก็จะทุ่มเททุกอย่าง กระทำอย่างสุดกำลัง เพื่อให้ทุกเวลานาทีที่ผ่านไปก่อนที่ความตายจะมาถึงนั้นเป็นทุกเวลานาทีที่เกิดประโยชน์อย่างสูง นอกจากนี้การพิจารณาความตายก็จะทำให้จิตนี้เข้าถึงสภาวธรรม อันเป็นตัวธรรมชาติ ที่บอกให้รู้ว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดาอยู่เช่นนั้นเอง เป็นธรรมดาที่ทุกคนจะต้องพบ ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถผ่านออกไปจากจุดนี้ได้ ข้อที่ 8 ท่านก็บอกว่า กายคตาสติ นั่นก็คือหมายความว่า ให้มีความระลึกรู้ทั่วไปนะคะ ในเรื่องของทางกาย เรื่องของทางกาย รูปร่างที่เห็นว่า สวยงามเปล่งปลั่ง หรือว่านวลเนียนนี่นะคะ มองเห็นให้ชัด ถึงความเป็นปฏิกูลที่สอดแทรกอยู่ แม้แต่หญิงสาว หญิงสาวที่กำลังสวยงาม สิ้นชีวิตหรือสิ้นลมไป รอเวลาสัก 3 วัน เป็นยังไงคะ กลับไปดูใหม่ หญิงที่รักมาก แม้จะเป็นคนที่รักมากก็ไม่อยากเข้าใกล้แล้ว เพราะจะเห็นความเป็นปฏิกูลที่บังเกิดขึ้น ทั้งหนอง ทั้งเลือด ทั้งความแตกแยกสลายของร่างกาย ก็จะเห็นชัดยิ่งขึ้นของความเป็นสักแต่ว่าธาตุ และผลที่สุด สติก็จะเพิ่มมากขึ้นมากขึ้นอีกเหมือนกัน ข้อที่ 9 ก็คือ การฝึกอานาปานสติ ก็หมายความว่า ให้รู้จักลมหายใจ เข้าถึงสัมผัสกับลมหายใจอยู่ทุกขณะของลมหายใจเข้า-ออก เข้า-ออก เพราะฉะนั้น ลมหายใจมีอยู่แล้ว หายใจอยู่แล้ว ก็จงสัมผัสกับลมหายใจให้ทุกขณะ เพื่อให้บังเกิดมีความมีสติทุกขณะอีกเหมือนกัน ข้อที่ 10 ก็คือ อุปสมานุสสติ นั่นก็หมายความถึงว่า อุ-ปะ-สะ-มะ ก็คือความสงบ ถ้าหากว่ามีการฝึกระลึกสติทั้ง 9 ข้อดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมจะเกิดความสงบประจำใจอยู่เป็นนิจ แล้วธรรมอันเป็นความสงบนี้ก็ย่อมจะนำมาซึ่งความสงบระงับในกิเลส ตัณหา อุปาทาน และความทุกข์ก็สิ้นไปนั่นเอง
วันนี้เราก็ได้พูดถึงเรื่องของสติค่อนข้างยาวนะคะ และก็รวมไปถึงอนุสติซึ่งเป็นข้อเตือนหรือบอกแนะให้รู้ว่า ถ้าต้องการจะพัฒนาสติแล้ว ควรจะมีความรำลึกในสิ่งใด เพื่อเป็นอารมณ์แล้วก็สามารถรักษาสติไว้ได้ เพิ่มพูนสติไว้ได้ จนเป็นความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะ อันจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตนี้ประสบแต่ความสุข สงบเย็น และความปลอดภัยตลอดไป ธรรมะสวัสดีค่ะ