แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ข้อที่ 4 ก็คือ ท่านบอกว่า การศึกษาคือ การปลุกธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะที่มีอยู่แล้วในทุกคน คือ ในใจของทุกคนให้ตื่นขึ้นมา การศึกษาคือการปลุกธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะซึ่งมีอยู่แล้วในใจของทุกคนให้ตื่นขึ้นมา ก็ต้องดูว่า คำว่า ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะหมายความว่าอะไร
พุทธะ ก็คือ ปัญญา ความฉลาด อย่างชนิดที่เป็นแสงสว่าง เป็นความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งท่านบอกว่า โดยปกติแล้วมันมีอยู่ในใจของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพืชของพุทธะอยู่ในใจ แต่เมื่อเมินมองไม่ใส่ใจ เมล็ดพืชของพุทธะก็ซ่อนตัวเงียบอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่ง แล้วถ้าหากว่าหลงลืมมากๆ แล้วก็เอาสิ่งเน่าสิ่งเหม็นทับถมลงไปในมันมากๆ มันก็เลยตายเฉาไป ไม่มีโอกาสที่จะเบ่งบาน แต่ถ้ารู้จักที่จะให้ปุ๋ยพรวนดิน ให้น้ำให้ถูกต้อง เมล็ดพืชของพุทธะก็มีโอกาสที่จะเบ่งบานขึ้นมาได้
ถ้าจะอธิบายให้ชัดขึ้นอีกสักนิด ก็จะขออนุญาตเล่านิทานเซนซึ่งบางท่านก็อาจจะเคยได้ยินแล้ว ที่เล่าถึงท่านพระโพธิธรรม ที่เป็นท่านองค์แรก เป็นพระภิกษุองค์แรก ที่ได้นำพระพุทธศาสนาจากอินเดียมาประเทศจีน แล้วเสร็จแล้วก็มาสั่งสอน แต่ว่าเพราะว่าเป็นครั้งแรก ก็เป็นของใหม่ บรรดาพวกผู้คนที่ฟัง ก็ฟังแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดง่ายๆว่าเอาธรรมะมาให้ก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เปิดใจรับธรรมะไม่ได้ ท่านพระโพธิธรรมก็คงจะเหนื่อย อ่อนใจ ก็เลยหนีเข้าป่า แล้วก็ฝึกปฏิบัติด้วยตัวของท่าน คือท่านก็ฝึกปฏิบัติอยู่แล้วจนกระทั่งท่านก็บรรลุธรรมในระดับนึงแหละ แต่ว่าท่านก็เหนื่อยอ่อนใจ ท่านก็คงนึกว่า มาเสียเวลาทำไม เรามาฝึกปฏิบัติธรรมของเราให้ยิ่งขึ้นๆ หรือรักษาใจที่สะอาดอยู่แล้วให้สะอาดยิ่งขึ้นๆไม่ดีกว่าหรือ
ท่านก็เข้าป่า แล้วก็ไปหาถ้ำได้ถ้ำหนึ่ง ก็นั่งหันหน้าเข้าผนังหินตลอดเวลา ไม่ยอมหันหน้าออกมาพูดจากับมนุษย์คนไหนทั้งนั้น แล้วก็มีท่านองค์นึงซึ่งสนใจ เป็นพระภิกษุธรรมดา สนใจในการที่จะศึกษาธรรมะ ก็อยากจะหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริง แล้วก็สามารถสอนให้เข้าถึงธรรมะได้ ก็ได้ทราบเรื่องของท่านพระโพธิธรรม ก็อุตส่าห์ติดตามไป เที่ยวค้นหา แสวงหาจนพบ พอไปพบก็ขอร้องอ้อนวอน กราบมือกราบเท้าเท่าไหร่ว่า โปรดสอนให้สักทีนึงเถอะ ก็ไม่ยอม ไม่ยอมสอน ไม่ยอมพูดด้วย ไม่ยอมหันหน้ามามอง จนกระทั่งผลที่สุดพระภิกษุองค์นั้นก็ถึงกับเอามีดตัดแขนตัวเองแล้วก็ยื่นแขนให้ เพื่อจะให้เห็นว่า นี่ แสดงความอุตสาหะพยายาม ยอมอุทิศทุกอย่างเพื่อให้ได้ซึ่งพระธรรม ท่านโพธิธรรมก็คงจะเห็นใจ ก็เลยหันมาถามว่าจะให้ทำอะไร จะให้สอนอะไร ท่านก็บอกว่า ช่วยชำระจิตให้ผมด้วย
พระโพธิธรรมก็บอกว่า เอ้า จิตอยู่ไหน เอาจิตออกมาสิ ท่านภิกษุองค์นั้นก็นึกอยู่สักครู่แล้วก็ตอบว่า จิตไม่มี นี่เป็นวิธีเซน บรรลุแล้ว ซึ่งเมล็ดพืชของพุทธะ หรือโพธิที่อยู่ในใจ
“ไม่มี” หมายความว่าอะไร ต้องขยายความไหมคะ ก็คือ อย่างที่เราพูดกันทีแรก ว่าการจัดการศึกษานั้นต้องให้สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็นจริงของชีวิต ที่ประกอบด้วยกายและจิต และเราก็ให้การศึกษาเพื่อให้ทางรอดทางกายอย่างที่พูดกันแล้วนี่นะคะมาเรื่อยๆ แต่เราไม่เคยนึกถึงจิต เพราะจิตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เป็นนามธรรมอย่างยิ่งเลย ด้วยเหตุที่มองไม่เห็นตัวจิตนี่เอง มนุษย์จึงละเลยจิต แล้วก็มาพุ่งเอาที่กาย คือ ที่เนื้อที่ตัวนี้ เพราะเรามองเห็นหน้าเห็นตา และยังแถมชื่อเสียงนามสกุล แถมตำแหน่งการงานเข้าไปอีก มันก็เลยยิ่งทำให้ความเป็นตัวตนนี่ มันชัดขึ้นๆๆ ก็เลยยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน แล้วก็ทุกข์แต่ก็ไม่รู้ว่ามันทุกข์ที่ตรงไหน แต่ว่าพระภิกษุองค์นั้นนี่ก็รู้ว่า มันทุกข์ที่จิต คือคงจะพอได้ฝึกอบรมมาเองพอสมควร แต่ไม่รู้จะทำยังไงกับจิตที่มันเต็มไปด้วยปัญหา เต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยความร้อนรนกระวนกระวาย ไม่รู้จะชำระล้างมันอย่างไร
ถ้ากายสกปรก เดี๋ยวก็ไปอาบน้ำ ถูสบู่ ใส่น้ำหอมเข้าหน่อย ก็สะอาดหอมหวนไป ใช่ไหมคะ แต่จิตไม่รู้มันอยู่ตรงไหน ไม่รู้จะทำยังไง อยากจะชำระมันให้สะอาด เพราะมันสกปรกอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยตัณหา ก็มาหาท่าน เพราะฉะนั้นท่านพระโพธิธรรมแบบเซน ก็บอก เอ้า จะให้ชำระจิต ก็เอาจิตออกมาสิ ส่งจิตมา จะได้ชำระให้ นี่ก็นึกจะเอาตรงไหนล่ะให้ท่าน หัวใจเหรอ เอาหัวใจยื่นไปให้ ไม่ใช่นี่ หัวใจนี่เป็นอะไร เป็นวัตถุใช่ไหมคะ มีหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย หัวใจไม่ใช่ใจ หัวใจไม่ใช่จิต ตับ ปอด แขน ขา มือ ไม่ใช่สักอย่าง อ้อ จิตมันไม่มี ถ้ามนุษย์เราเห็นว่าจิตไม่มี มันมีสักแต่ความรู้สึกที่ถูกต้อง คือความรู้สึกที่เป็นสัมมาทิฐิเท่านั้นเอง หมดปัญหา เพราะฉะนั้นเมล็ดพืชของพุทธะของท่านพระภิกษุองค์นั้น ซึ่งเผอิญตอนนี้นึกชื่อไม่ออกนั่นแหละ ก็เบ่งบาน ตื่นขึ้นมาทันที อ๋อ จิตไม่มี
ที่มันมีจิต มันมีความทุกข์ เพราะเราไปยึดมั่นมันเอง เราไปยึดมั่นมันเองว่าเพราะชอบ อย่างนี้ใช่ ชอบเพราะเห็นว่าดี ใช่ อันนี้แหละดี ถึงจะเรียกว่าดี พอชั่ว โอ้อันนั้นชั่ว ชั่วชาติคบไม่ได้ นี่คือจิตที่เป็นไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นมิจฉาทิฐิ พอมองเห็นว่าจิตไม่มี ก็เลยมองเห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวง ทั้งดีทั้งชั่วนั้น ล้วนเป็นแต่เพียงมายา หาใช่ของจริงไม่ ของจริงมันก็คือ ไม่มีอะไรที่เป็นจริงเลยสักอย่างเดียว เพราะทุกอย่างนั้นเป็นอนัตตาตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน ซึ่งการศึกษาที่ถูกต้องเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการศึกษาข้างในจะช่วยปลุกธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะซึ่งมีอยู่แล้วในใจของมนุษย์ทุกคนให้ตื่นขึ้นมาได้ นี่คือความลับหรือความสำคัญของการศึกษา
ถ้าจะพูดถึงระดับของการศึกษาอย่างง่ายๆ ก็คงทราบแล้ว มันก็เริ่มต้นด้วยการจำ ฟัง หรือ อ่าน ได้ยิน แล้วก็เป็นความจำ จำแล้วก็ทำความเข้าใจ จนกระทั่งรู้เรื่อง เหมือนอย่างในการเรียนวิชาในโรงเรียน ในศาสตร์ต่างๆ ถ้าเราจำ จำแล้วก็ทำความเข้าใจ แล้วก็ประมวลเอาไว้เป็นความรู้ แล้วเมื่อถึงเวลาที่จะต้องสอบ ก็หยิบเอาสิ่งที่ ได้รู้ ได้จำ ได้เข้าใจนั้น มาเขียนตอบเป็นความรู้ จะด้วยการเขียนหรือด้วยปากก็แล้วแต่ จะทำมาหากิน ทำการทำงานก็ใช้สิ่งนี้ แต่ว่าอีกระดับหนึ่งซึ่งคนส่วนมากไม่ค่อยได้สนใจแล้วก็ละเลย นั่นก็คือระดับของความเห็นแจ้ง ความเห็นแจ้งในที่นี้หมายถึง ความประจักษ์ชัด ประจักษ์ชัดด้วยใจ ไม่ใช่การประจักษ์ชัดเพราะความคิด แต่ประจักษ์ชัดด้วยใจ อย่างที่ท่านพูดกันตามภาษาคนปฏิบัติว่า มันโพลงขึ้นมาที่ใจ มันโผล่ขึ้นมาที่ใจ หรือ อีกนัยหนึ่งคือมันอ๋อขึ้นมาเอง อ๋อ...มันเป็นอย่างนั้นเอง โดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องมีใครมาบอก อ๋อ มันเป็นอย่างนั้นเอง นี่คือความประจักษ์แจ้ง อย่างเช่นที่เราได้ฟังเรื่องของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็พูดได้คล่องแคล่วปากเลย เขียนก็ได้ แต่เราเคยเห็นแจ้งในความเป็นอนิจจังแล้วรึยัง เห็นแจ้งในความเป็นทุกขังแล้วรึยัง เห็นแจ้งในความเป็นอนัตตาแล้วรึยัง เห็นแจ้งรึยังคะ ก็ไม่ทราบจะมีท่านผู้เห็นแจ้งบ้างแล้วรึเปล่า แต่ถ้าเห็นแจ้งแล้วล่ะ ...อ๋อ อนิจจัง แล้วก็หยุดคิด หยุดนึก หยุดโกรธ หยุดอยาก หยุดจะวิเคราะห์วิจารณ์ มันหยุด เพราะมันเป็นอย่างนี้เอง มันไม่เที่ยง มันเกิดแล้วก็ดับ มันมาแล้วก็ไป มันเป็นอย่างนี้เอง มันหยุดทันที พอมันอ๋อแล้ว เพราะมันจริงแล้ว มันประจักษ์แจ้งแล้ว มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันก็จริงอย่างนี้อีกเหมือนกัน มันมองเห็นชัด
เพราะฉะนั้น การศึกษาก็มีระดับของความจำ ความเข้าใจ ความเห็นแจ้ง และวิธีการศึกษาที่คุ้นเคยกันมาที่เราได้รับคำสอนมาแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายก็ การศึกษาโดยสังเขป ก็ต้องมี สุ จิ ปุ ลิ ใช่ไหมคะ
สุ ก็สุตะ คือการฟัง ฟังซะก่อน ใช้หูให้ถูกต้อง ก็คือฟังอะไร ฟังให้ถูกต้อง ฟังแล้วเก็บใจความให้ได้ ฟังให้รู้เรื่อง อย่าฟังแล้วคิดอะไรให้มันเผลอไผลไปจากใจความที่ถูกต้อง ฟังแล้วก็เอามาจิ จินตนา คิด คิดให้อยู่ในวงของความถูกต้องจากการฟังนั้น อย่าคิดนอกเรื่องนอกราว อย่าเอาความคิดเห็นของตัวที่ไม่เข้าท่าไปผสมผสาน มันจะทำให้ผิดเพี้ยนไป คิดแล้วสงสัยก็ปุจฉา ไต่ถาม ถามผู้รู้ ถามครูบาอาจารย์ ถามผู้ใหญ่ที่แน่ใจว่าจะให้คำตอบที่ถูกต้อง แล้วก็ลิขิต จดจำเอาไว้ จดจำไว้ในสมุดไม่เพียงพอ จดจำไว้ในใจ จดจำไว้ในสมอง นี่คือการเรียน อย่างที่เราเรียนกันธรรมดา แต่การเรียนที่จะให้เราได้เรียนอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เกิดความรอดทั้งสามประการ คือรอดทางกาย ทางจิต และทางวิญญาณนั้น ท่านบอกว่าจะต้องเป็นการศึกษาแบบสิกขา ซึ่งเป็นคำบาลี ท่านบอกว่าความหมายของคำว่าสิกขาที่ภาษาไทยเรามาใช้เป็นคำว่าศึกษานั้น ให้วิธีการสอนแบบศึกษาที่ทำกันอยู่มันแคบไป เพราะความหมายของสิกขาดั้งเดิมนั้น มันมีความหมายกว้าง ละเอียดลออ ว่า นอกจาก สุ จิ ปุ ลิ แล้วนั้น มันจะต้องเป็นการศึกษาที่เริ่มด้วยการดู ดูตัวเอง ไม่ใช่ดูคนอื่น ดูตัวเองด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นเค้าดู เหมือนอย่างที่จะบอก ไหนเธอลองทายสิ เธอดูสิว่าฉันเป็นคนยังไง คนอื่นเขาบอกไม่ได้หรอก เพราะว่าเขาเกรงใจมั่ง หรือบางทีเขาเกลียด เขาแกล้งพูดเอามั่ง รึบางทีเขาก็ไม่อยากจะพูด ไม่มีใครดูใครได้ เพราะฉะนั้นต้องดูตัวเอง แล้วก็ด้วยตัวเอง เพราะเราเองนี่แหละจะสัมผัสความเป็นจริงข้างใน และดูตัวเองด้วยตัวเองที่ไหน ดูเข้าไปข้างใน ไม่ต้องดูข้างนอก ดูเข้าไปข้างใน ย้อนความรู้สึก เข้าไปในความรู้สึก
นี่ค่ะ ที่มีคำถามว่าดูจิตยังไง คือเอาความรู้สึกย้อนพุ่งเข้าไปข้างใน พุ่งเข้าไปที่ความรู้สึกที่เกิดขึ้น มันร้อนยังไง มันร้อนเพราะอะไร มันเย็นยังไง มันเย็นเพราะอะไร ทำไมมันถึงร้อน ทำไมมันถึงเย็น หาสาเหตุ เอาความรู้สึกย้อนเข้าไปในความรู้สึก จะหลับตาก็ได้ ไม่หลับตาก็ได้ นั่งเฉยๆมองดูดอกบัว มองดูต้นหญ้า มองดูทัศนียภาพรอบตัวก็ได้ แต่ใจนั้น มันไม่ได้อยู่กับสิ่งข้างนอก มันจะย้อนเข้าไปข้างใน สัมผัสกับความรู้สึกที่ข้างใน จนกระทั่งเห็นตัวเอง เห็นในความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นเหมือนกับเห็นด้วยตาเนื้อ คือตาเนื้อนี่ไม่ได้มองเห็น แต่ความรู้สึกนี้มันสัมผัสเหมือนกับเห็นด้วยตาเนื้อ มันเห็นเลยว่า อ๋อ ใจที่ร้อนมันเป็นอย่างนี้ ใจที่จะเอามันเป็นอย่างนี้ ใจที่มันดิ้นรนเพราะความหลงมันเป็นอย่างนี้ ใจที่เย็นสงบมันเป็นอย่างนี้ นี่มันเห็น เห็นชัดด้วยความรู้สึกที่สัมผัส แล้วก็เกิดความรู้จักตัวเองขึ้นมา รู้จักอย่างชัดเจนว่า เออ เรานี่มันเป็นคนชนิดไหนกันแน่ คนชนิดไหนคือใจชนิดไหนกันแน่ ใจนี่มันเป็นยังไงกันแน่ เป็นใจที่หยาบ ที่กระด้าง รึอ่อนโยน นิ่มนวล เมตตากรุณาแท้จริง อะไรต่างๆเหล่านี้ มันจะค่อยๆรู้จัก จนกระทั่งสามารถวิจัยวิจารณ์ตัวเองได้ และเมื่อทำได้อย่างนี้ การวิจัยวิจารณ์นั้นจะถูกต้อง เพราะว่าจิตเริ่มซื่อตรงต่อจิตเอง จิตเริ่มซื่อตรงต่อจิตเอง เมื่อมันเริ่มซื่อตรง การวิจัยวิจารณ์ก็ไม่เข้าข้างจิตของตน จะไม่งามไม่ดี ไม่อะไรก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า เพื่อจะได้รู้แล้วก็แก้ไขมันได้ ฉะนั้น การศึกษาโดยสมบูรณ์จะต้องรู้จักดูตัวเอง ด้วยตัวเอง ดูในตัวเองจนเห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง และก็วิจัยวิจารณ์ตัวเองได้ เมื่อวิจัยวิจารณ์ออกมาผลเป็นอย่างไร ก็แก้ไข ขัดเกลา ที่ยังขรุขระอยู่ ที่ยังใช้ไม่ได้ให้มันเกลี้ยงเกลางดงาม ส่วนใดที่งดงามแล้วดีแล้วรักษาไว้ แล้วกระทำเพิ่มพูนให้ยิ่งขึ้นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดแก่ตนเองและผู้อื่น
นี่ก็คือพูดถึงว่าการศึกษามีกี่ระดับและวิธีการศึกษานั้นโดยสังเขปและโดยสมบูรณ์อย่างไร ต้องขออภัยด้วยนะคะที่พูดถึงเรื่องของชีวิตแล้วก็เรื่องของการศึกษาค่อนข้างยาว เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญของชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม ยังไม่จบ ยังมีที่จะต้องพูดเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย ก็ขอเอาไว้ต่อตอนต่อไป