แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ วันนี้อยากจะคุยกันหรือสนทนากันในเรื่องของท่านอนาถบิณฑิกะซึ่งอยู่ในอนาถบิณฑิโกวาทสูตร (ในสฬายตนวรรค ซึ่งอยู่ในพระสุตันตปิฎกเล่มที่ 25) ในเรื่องนี้กล่าวถึงท่านพระสารีบุตรเถระ ที่ท่านได้ไปให้โอวาทแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี คงทราบแล้วนะคะว่า ท่านเศรษฐีผู้นี้มีชื่อว่า ท่านอนาถบิณฑิกะ ก็เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่มีเมตตากรุณาต่อคนยากจน หรือว่าคนขัดสนขาดแคลนทุกคน ฉะนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็คือท่านผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถา
คราวหนึ่งเป็นเวลาที่ท่านเจ็บหนัก และรู้สึกตัวว่า ครั้งนี้เจ็บหนักมากจริง ๆ ท่านใช้ให้ผู้รับใช้ไปกราบทูลองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกำลังเจ็บหนัก ขอกราบอภิวาทแทบพระบาทเพื่อทรงทราบ เมื่อเสร็จแล้ว ขอให้ผู้รับใช้นั้น ไปกราบนมัสการพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นอัครสาวก กราบเรียนให้ทราบว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกำลังเจ็บหนักและใคร่ขอเรียนกราบอาราธนาให้ท่านพระสารีบุตรเถระได้โปรดไปแสดงธรรมให้ท่านได้ฟังสักหน่อย ในขณะนั้น เป็นเวลาที่ท่านฉันภัตตาหาร ท่านก็รับโดยดุษณี แสดงว่า เมื่อท่านฉันภัตตาหารเสร็จท่านจะไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกะ ตามที่ท่านได้ส่งผู้มาเชิญ พอท่านฉันเสร็จเรียบร้อย ท่านก็เดินทางไปที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี โดยมีท่านพระอานนท์เป็นพระปัจฉาสมณะคือไปเป็นเพื่อน เมื่อไปถึงท่านก็กล่าวถามอาการเจ็บป่วยของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีอาการเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้พรรณนาถึงความเจ็บป่วย คือความเจ็บปวดทรมานอันเนื่องจากความเจ็บป่วยที่บังเกิดขึ้นแก่ร่างกายกายในขณะนั้นอย่างละเอียดยืดยาวเลยทีเดียว สรุปก็คือว่า มีความเจ็บปวดทั่วไปหมด ทั่วสรรพางค์กาย ไม่มีตรงแห่งใดเลยที่จะไม่มีความเจ็บปวดปรากฎอยู่ จะขยับเขยื้อนตัวสักนิดสักหน่อยก็ให้เจ็บปวดเหลือที่จะพรรณนา จนเกือบสุดกำลังที่จะทนแล้ว
เมื่อท่านพระสารีบุตรได้ฟังแล้ว ท่านก็กล่าวว่า ดูก่อนท่านคฤหบดี เพราะฉะนั้น คือ เพราะฉะนั้น นี้หมายความว่า เมื่อมีอาการเจ็บป่วย หรือเจ็บปวดขนาดนี้แล้ว ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า โปรดติดตามช้าๆนะคะ ประการแรก เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา ก็คงนึกออกนะคะ เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ คือเราจะไม่ยึดมั่นตาที่มีอยู่นี้ว่าเป็นตาของเรา และวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา วิญญาณก็คือการตามรู้ รู้ตามที่ตาเนื้อมองเห็น ด้วยความไม่ฉลาดนักนี่นะคะจักไม่มีแก่เรา เมื่อวิญญาณจักไม่มีแก่เรา ก็จะไม่มีความหมายใช่ไหมคะ สิ่งที่เห็นก็ไม่มีความหมาย แล้วท่านก็แสดงธรรมต่อไปถึงเมื่อจักษุแล้วก็ผ่านไปต่อยังโสต คือ หู ไม่ยึดมั่นในโสต และวิญญาณที่มีอยู่ในโสตก็จะไม่มีแก่เรา จักไม่ยึดมั่นในฆาน คือจมูก แล้ววิญญาณที่อาศัยจมูกคือฆานก็จักไม่มีแก่เรา จักไม่ยึดมั่นในชิวหา คือลิ้น และวิญญาณที่อาศัยชิวหาคือลิ้น ก็จะไม่มีแก่เรา จักไม่ยึดมั่นในกายและวิญญาณที่อาศัยกายก็จักไม่มีแก่เรา จะไม่ยึดมั่นในมโน คือใจ และวิญญาณที่อาศัยใจก็จักไม่มีแก่เรา นี่มีหมายความว่าอะไร เพราะว่าท่านพระสารีบุตร จะพูดเช่นนี้ต่อไปอีก 8-9 อย่าง โดยเน้นลงที่ว่าวิญญาณ วิญญาณที่ตามรับรู้ว่าสิ่งนั่นสิ่งนี้ ด้วยความไม่ฉลาดว่าเป็นเรา เป็นของเรานั้น เมื่อเราไม่ยึดมั่นเสียอย่างเดียว คือไม่ยึดมั่นในตา ในหู ในจมูก ในลิ้น ในกาย และก็ในใจ วิญญาณที่อาศัยอายตนะทั้งหกนี้ ก็จักไม่มี จักไม่ปรากฏขึ้น เมื่อไม่มี ไม่ปรากฏขึ้น ผลก็คืออะไร ก็คือจักมีแต่ความว่างใช่ไหมคะ
ที่นำเรื่องของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีตอนใกล้มรณะและได้รับฟังธรรมจากท่านพระสารีบุตรเถระมาเล่าในวันนี้นะคะ ก็เพื่อว่าจะเป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องปฏิจจสมุปบาท เกี่ยวกับอายตนะให้ยิ่งขึ้น ๆ จนกระทั่งถึงผัสสะ ผัสสะจะไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลในการที่จะทำให้เกิดเวทนา ถ้าหากไม่มีการยึดมั่นถือมั่นในวิญญาณ วิญญาณในอายตนะนั้นก็จักไม่ทำอะไรได้ นึกออกไหมคะว่าผัสสะนั้นจะเกิดขึ้นได้และมีความหมายจนกระทั่งมีอิทธิพลทำให้เกิดเวทนาด้วยองค์ประกอบสามอย่าง อย่างที่หนึ่ง ก็คือ วิญญาณภายใน จะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ตาม และวิญญาณภายนอก จะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ก็ตาม แต่ทั้งสองอย่างนี้จะต้องตรงกับคู่ของมันนะคะ รูปก็ตรงกับตา เสียงก็ตรงกับหู เป็นต้น แล้วก็เพียงเท่านี้ที่กระทบกันไม่พอ จะต้องมีวิญญาณที่ตามรู้ ซึ่งอยู่ในตา หรืออยู่ในหู หรือในจมูก ในลิ้น ในกาย ในใจ เข้ามาทำหน้าที่ร่วม ร่วมกันเป็นสามองค์ประกอบ อายตนะภายในสมมุติว่าเป็นตา อายตนะภายนอกที่เป็นคู่ คือรูป แล้วก็จักษุวิญญาณ คือวิญญาณในนัยน์ตานั้นมาร่วมกันทำหน้าที่แล้วทำให้ผัสสะนั้นมีความหมายขึ้นมา แต่ความหมายอันนั้นจะสามารถมีอิทธิพลเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับจิตว่ามีสติปัญญามากน้อยเพียงใด ถ้ามีสติปัญญามองเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรยึดมั่นถือมั่น วิญญาณในจักษุนั้น ก็จะเป็นสักแต่ว่าวิญญาณนั้นก็จะเป็นแค่ หรือจักษุวิญญาณนั้น ก็จะเป็นแค่จักษุวิญญาณ ไม่ทำให้เกิดความหมาย ไม่นำเอาสัญญาเข้ามาประกอบจนกระทั่งทำให้เกิดเป็นปัจจัยทำให้เกิดเวทนา เกิดความรู้สึกซัดส่ายเป็นสองอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนะคะ เพราะฉะนั้นท่านก็แสดงธรรมในขั้นต้น ก็บอก เพราะฉะนั้นพึงสำเหนียกอย่างนื้ ในขณะที่จิตใกล้อาพาธมาก จนกระทั่งเรียกว่าใกล้มรณะก็ได้ ไม่ควรคิดอย่างอื่น ไม่ควรนึกถึงอย่างอื่น แต่ควรสำเหนียกหรือพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา ก็จะบังเกิดแต่ความว่าง ความว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน และพูดตลอดไปถึง โสต ฆาน ชิวหา กาย มโน คือ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครบ อายตนะภายใน
พอต่อไปท่านก็บอกอีกว่า เราจักไม่ยึดมั่นรูป และวิญญาณที่อาศัยรูปจักไม่มีแก่เรา รูปในที่นี้หมายถึงอายตนะภายนอก เป็นคู่กับอายตนะภายในคือตา ท่านพูดอย่างละเอียด แทนที่ท่านจะพูดรวมกันสามอย่างที่ทำให้เกิดผัสสะ ท่านแจกแจงเป็นรายละเอียดอายตนะภายในแล้วก็มาอายตนะภายนอก เราจักไม่ยึดมั่นรูป และวิญญาณที่อาศัยรูปจักไม่มีแก่เรา ต่อไปก็คือ เราจะไม่ยึดมั่น เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ และวิญญาณที่อาศัยเสียง อาศัยรส อาศัยกลิ่น อาศัยสัมผัส อาศัยธรรมารมณ์ ก็ไม่มีแก่เราอีกเหมือนกัน ก็เป็นความว่าง จิตก็จะว่างไม่เกี่ยวเกาะ
พอต่อไปท่านแสดงธรรมถึงว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยจักษุวิญญาณจักไม่มีแก่เรา ตอนนี้ก็หมายถึงวิญญาณหก วิญญาณหกในที่นี่ก็คือวิญญาณที่ตามรู้อยู่ในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เราเรียกว่าเป็นอายตนะภายใน อายตนะภายนอก ส่วนวิญญาณนี้ เป็นวิญญาณที่อาศัยอยู่ อาศัยจักษุ อาศัยโสต อาศัยฆาน อาศัยชิวหา อาศัยกาย อาศัยมโน ฉะนั้นวิญญาณทั้ง 6 ที่อาศัย ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดี หรืออาศัย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็ดี ตลอดถึงธรรมารมณ์ ก็จักไม่มีแก่เราอีกเหมือนกัน ว่างเปล่า จากความหมายแห่งความเป็นตัวตน
นอกจากนี้ เราจักไม่ยึดมั่นจักษุสัมผัส จักษุสัมผัสก็คือ ต่อมาถึงเรื่องผัสสะคือสิ่งที่ตามองเห็นไปสัมผัสเข้า จะไม่ยึดมั่นจักษุสัมผัสและวิญญาณที่อาศัยจักษุสัมผัสจักไม่มีแก่เรา นี่ท่านแสดงอย่างละเอียด หรือละเอียดยิบก็ได้ ทีละตอน ละตอน ๆ เพื่อให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่กำลังอาพาธหนัก สามารถติดตามได้ไปช้า ๆ ด้วยความสามารถที่จะใคร่ครวญได้ จนกระทั่งเข้าใจและค่อยๆ ปล่อยวางไปตามลำดับ เข้าใจว่านี่คือจุดมุ่งหมายของท่านพระสารีบุตรเถระในการแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องของวิญญาณที่ตามรู้ในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นการที่พูดว่า เราจะไม่ยึดมั่นจักษุสัมผัส ก็คือผัสสะที่กระทบ และวิญญาณที่อาศัยจักษุสัมผัสจักไม่มีแก่เรา เพราะฉะนั้น เมื่อจักษุสัมผัส ต่อไปก็จะต้องเป็นโสตสัมผัส ใช่ไหมคะ ฆฆาสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส ครบทั้งหกประตู และวิญญาณที่อาศัยในเรื่องสัมผัสอันนี้ ทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จักไม่มีแก่เรา เป็นอันว่าผัสสะด้าน ด้านหมด ไม่ว่าจะผ่านเข้ามาประไหน คือประตู ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้านหมด ผ่านเข้ามาทางประตู รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ด้านหมด
ต่อไปท่านก็กล่าวว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาที่เกิดแต่จักษุสัมผัส นึกถึงรอบของปฏิจจสมุปบาทออกไหมคะ เป็นไปตามรอบ เราจะไม่ยึดมั่นเวทนาที่เกิดแต่จักษุสัมผัส เพราะผัสสะถ้ายึดมั่นก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ที่นี่ท่านก็แนะนำไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในจักษุสัมผัสเพราะฉะนั้นเราจะไม่ยึดมั่นเวทนาที่เกิดแต่จักษุสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่จักษุสัมผัสจักไม่มีแก่เรา เพราะฉะนั้นเวทนาที่ผ่านที่เกิดขึ้น โดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่เกิด เพราะวิญญาณที่อาศัยเวทนาที่ผ่านอายตนะภายในนี้ ไม่สามารถจะบังเกิดอิทธิพลที่จะทำให้เกิดเวทนาได้ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นเสียแล้ว ฉะนั้นเท่ากับท่านแนะนำว่า เวทนาที่จะเกิดขึ้นโดยผ่านทางใดก็ตาม ไม่ยึดมั่น วิญญาณที่อาศัยอยู่ ก็จะไม่เกิด ไม่เกิดเพราะว่าเหตุว่า จักไม่เกิด และจักไม่มี คือไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้จิตใจนี่กระทบกระเทือน
ต่อไปท่านก็บอกว่าเราจักไม่ยึดมั่นปฐวีธาตุ ปฐวีธาตุก็คือธาตุดิน และวิญญาณที่อาศัยปฐวีธาตุจักไม่มีแก่เรา หลังจากท่านพูดถึงเรื่องของอายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ และ เวทนา นี่ก็ตามแนวของปฏิบัติ ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ตรงจุดที่สำคัญคือจุดแห่งผัสสะที่จะทำให้เป็นปัจจัยเกิดเวทนา ท่านพูดอย่างละเอียดเพื่อให้ทำความรู้สึกในใจ ให้มองเห็นว่า ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น วิญญาณที่จะตามรู้ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จักไม่มี จิตนั้นจะมีความว่าง เบาสบาย แล้วก็สะอาดหมดจดยิ่งขึ้น เพราะเกิดจากความผ่อนคลายของความยึดมั่นถือมั่น พอผ่านจากอายตนะภายในท่านก็พูดมาถึงเรื่องของธาตุที่ท่านบอกว่า มนุษย์เรานี้ประกอบขึ้นด้วยธาตุหก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ หรือธาตุอากาศ และวิญญาณธาตุ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไม่ยึดมั่นใน หู ตา จมูก ลิ้น กายใจแล้ว อาจจะมีบางคนมายึดมั่นในความเป็นธาตุ ว่าร่างกายนี้หรือชีวิตนี้ประกอบด้วยธาตุ เพราะฉะนั้นท่านพระสารีบุตรเถระ จึงนำเรื่องของธาตุมาพูดว่า เราจักไม่ยึดมั่นปฐวีธาตุ และวิญญาณที่อาศัยปฐวีธาตุจักไม่มีแก่เรา ต่อไปก็ เราจักไม่ยึดมั่นธาตุดินแล้วก็ธาตุน้ำ วาโยธาตุ และวิญญาณที่อาศัยวาโยธาตุ คือธาตุน้ำ ก็จักไม่มีแก่เรา เราจักไม่ยึดมั่นในเตโชธาตุ คือธาตุไฟ และวิญญาณที่อาศัยเตโชธาตุจักไม่มีแก่เรา เพราะฉะนั้นก็พูดไปตามลำดับ ไม่ยึดมั่นในธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ตลอดจนอากาศธาตุ วิญญาณธาตุ แล้ววิญญาณที่อาศัย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ เอง ก็จักไม่มีแก่เรา คือจักไม่มีเพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว
ต่อไปท่านก็พูดถึงว่า เราจักไม่ยึดมั่นรูป และวิญญาณที่อาศัยรูปจักไม่มีแก่เรา รูปในตอนนี้ไม่ได้หมายถึง รูปที่เป็นอายตนะภายนอก แต่ท่านหมายถึงรูปที่อยู่ในเบญจขันธ์ ท่านจะพูดมาเป็นลำดับ ถึงเบญจขันธ์นี่แหละเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คนยึดมั่นถือมั่นเอาเบญจขันธ์ ซึ่งเป็นสักแต่ว่าขันธ์ตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ ว่าเป็นตัวเป็นตน คือเป็นตัวเรา แล้วก็เป็นของเรา แล้วก็ไม่สามารถจะสละ ละมันออกไปได้ ยึดมั่นจนรู้สึกเป็นอัตตาตัวตน แล้วก็เข้ามาข้องเกี่ยวกับทุกสิ่งที่ผ่านมา จนเกิดเป็นความทุกข์ขึ้น เมื่อท่านบอกว่าไม่ให้ยึดมั่น ไม่ยึดมั่นในทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว พอมาถึงในเรื่องของรูป คือเบญจขันธ์ ท่านก็บอกว่า เราจักไม่ยึดมั่นรูป และวิญญาณที่อาศัยรูปจักไม่มีแก่เรา ทีนี้จากรูปขันธ์ ต่อไปคือเวทนาขันธ์ ถ้าจักพูดให้เต็ม เราจักไม่ยึดมั่นเวทนา คือเวทนาขันธ์ และวิญญาณที่อาศัยเวทนา คือเวทนาขันธ์ จักไม่มีแก่เรา มันก็จะเป็นเพียงสักว่าเวทนาขันธ์เท่านั้นหนอ ต่อไป เราจักไม่ยึดมั่นสัญญา คือสัญญาขันธ์ และวิญญาณที่อาศัยสัญญาจักไม่มีแก่เรา เพราะไม่ยึดมั่นแล้ว ต่อไป เราจักไม่ยึดมั่นสังขาร คือสังขารขันธ์ และวิญญาณที่อาศัยสังขารจักไม่มีแก่เรา สังขารในที่นี่คือ ความคิดปรุงแต่งนะคะ สังขารขันธ์ ต่อไปสุดท้าย เราจักไม่ยึดมั่นวิญญาณ คือวิญญาณขันธ์ และวิญญาณที่อาศัยวิญญาณ คือวิญญาณขันธ์ จักไม่มีแก่เรา เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่า ขันธ์ทั้งห้า หรือเบญจขันธ์ ก็เป็นเพียงสักแต่ว่าขันธ์เท่านั้นหนอ หรือสักแต่ว่าเบญจขันธ์เท่านั้นหนอ ไม่ได้มีความหมายแห่งความเป็นตัวตน ท่านพูดตอนนี้ก็คงปรารถนาจะให้ท่านอนาถบิณฑิกะพิจารณา จนกระทั่งคลายจากความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ ซึ่งในทางธรรมท่านถือว่า การยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์นี่แหละ เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่หนักหน่วงที่สุด
ทีนี้ตอนสุดท้ายท่านก็บอกว่า เราจักไม่ยึดมั่นโลกนี้ที่อยู่นี่ ว่าไม่ได้เป็นโลกของเรา เป็นความจริง เป็นตัวเป็นตน และวิญญาณที่อาศัยโลกนี้ก็จะไม่มีแก่เรา มันจะไม่ค่อยมีอะไรเหลือไปเรื่อยๆ ตามลำดับ และตอนท้ายท่านก็บอกว่า เราจักไม่ยึดมั่นโลกหน้า คือโลกหลังจากที่หยุดหายใจแล้ว ความตายเกิดขึ้นแล้ว โดยส่วนตัวทั่วๆไป มนุษย์ก็มักจะนึกว่า คงจะต้องไปเกิดในโลกหน้า แล้วก็อาจจะมีความหวั่นวิตกไม่แน่ใจ ว่าโลกหน้าจะเป็นอย่างไร จะเป็นโลกที่เป็นสุขหรือโลกที่เป็นทุกข์ ฉะนั้นท่านพระสารีบุตรเถระท่านพูดตัดบทเสียเลยว่า เราจะไม่ยึดมั่นทั้งโลกนี้ที่กำลังจะจากไป ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเป็นเรา หรือของเรา ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือสิ่งอันเป็นที่รัก หรือว่าความรู้สึกรักชอบผูกพันในสิ่งใด ๆ ไม่ยึดมั่นในสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ในโลกนี้ แล้วก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นในโลกหน้า ที่จะไปอีกเหมือนกัน และวิญญาณที่อาศัยในโลกหน้าก็จักไม่มีแก่เรา พูดง่ายๆ ก็คือว่า ท่านพระสารีบุตรเถระ ได้พยายามปลดปล่อย ปลดปล่อยความรู้สึกของมนุษย์ที่เคยมีอยู่ในแต่ละสิ่งแต่ละอย่าง แล้วท่านก็ทราบดีว่า สิ่งที่มนุษย์ยึดติดมาก มันเกิดผลที่ทำให้เกิดความรู้สึก เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ขึ้นในใจได้รวดเร็วมาก สิ่งนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่า ผ่านทางสฬายตนะ คืออายตนะภายใน และอายตนะภายนอกที่กระทบกัน แล้วก็เกิดวิญญาณของอายตนะภายในนั้นๆเข้ามาผสมเป็นสามอย่าง พูดง่ายๆก็คือผัสสะนั่นแหละค่ะ ที่เราพูดว่า ถ้าเราจะฝึกที่จะในการพัฒนาปัญญาให้มากยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งความทุกข์ลดลง ๆ คือไม่มีเวทนาเกิดขึ้นได้ ก็ต้องฝึกที่จุดแห่งผัสสะใช่ไหมคะ ท่านพระสารีบุตรจึงเอาจุดที่สำคัญ ที่ก่อให้เกิดหรือกระตุ้นให้จิตของมนุษย์กระทบกระเทือนได้เร็วที่สุด แล้วก็ยากแก่การควบคุมเพราะความเคยชิน ก็จะเกิดเป็น โลภะ โทสะ โมหะ ตามมา และก็จะเกิดตัณหา ความอยาก ก็จะเกิดอุปาทาน ความยึดมั่น จนกระทั่งเป็นภพ เป็นชาติ เป็นตัวเป็นตน แล้วก็เกิดความทุกข์ ท่านเอาจุดนี้ มาเตือนมาสะกิดท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่กำลังเจ็บหนัก เพื่อให้ละจุดนี้เสียก่อน แล้วก็จากนี้ไปก็ค่อยละสิ่งที่เกี่ยวข้อง สิ่งอื่น เช่น เกี่ยวข้องกับความเป็นธาตุ คิดว่าร่างกายนี้ ชีวิตนี้ประกอบธาตุ 6 ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ก็ไม่ใช่อีกเหมือนกัน ถ้าไม่ยึดมั่นว่ามันเป็นธาตุ เป็นธาตุที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวเรา และวิญญาณที่อาศัยธาตุนั้น ๆ ก็ไม่มี มันก็จะเป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุ ต่อไปก็ไม่ยึดมั่นในเบญจขันธ์ เบญจขันธ์ ก็สักแต่ว่า เบญจขันธ์ ที่ธรรมชาติให้มา แล้วมันจะไม่มีเบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน ให้จิตนี้เกิดความหนักหน่วง ด้วยการกอดรัดยึดมั่นแล้วก็แบกเอาไว้ว่าเป็นตัวตนของเรา จนผลที่สุดท่านก็ให้ละ ความยึดมั่นถือมั่น แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า โลกนี้ โลกนี้ก็ไม่มี วิญญาณที่อาศัยโลกนี้ก็ไม่มี ถ้าไม่ยึดมั่นในโลกนี้ จนกระทั่งถึงโลกหน้า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ฟังด้วยจิตที่เปิด ที่อ่อนโยน ที่พร้อมจะใคร่ครวญธรรม และติดตามมาตามลำดับ
และในตอนสุดท้ายท่านพระสารีบุตรได้สรุปว่า ดูกร คฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า อารมณ์ใดที่เราได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้แสวงหา ได้พิจารณาด้วยใจแล้ว เราจักไม่ยึดมั่นอารมณ์แม้นั้น เรียกว่า ขูด ขัด ขัดเกลา กวาดออกให้เกลี้ยง ไม่ให้อะไรเหลืออยู่ในใจที่จักมาคิดยึดมั่นถือมั่นเลย ถ้าหากว่า สิ่งที่ได้ฟัง ได้เห็น ได้ทราบ คือผ่านตามอายตนะที่ท่านพูดมาตามลำดับแล้วนั้น ไม่ยึดมั่นอารมณ์แม้นนั้นที่เกิดขึ้น และวิญญาณที่อาศัยอารมณ์นั้นจักไม่มีแก่เรา ท่านพึ่งสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด
พอท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ฟังธรรมนี้จบลงน้ำตาไหล ท่านพระอานนท์ก็ถามว่า ท่านคฤหบดี ท่านยังมีความอาลัยอาวรณ์อยู่อีกหรือ จึงได้น้ำตาไหล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้กราบเรียนว่า หามิได้ขอรับ กระผมมิได้มีความอาลัยอาวรณ์เลย แต่มีความเสียดายว่า ได้นั่งใกล้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และท่านพระสงฆ์ผู้เจริญใจมาเป็นเวลาช้านาน แต่มิเคยได้ฟังธรรม คือ ฟังธรรมเทศนาเช่นนี้เลย คือธรรมเทศนาที่แสดงให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใด ทั้งสิ้นทั้งปวง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ที่ควรแก่การยึดมั่นถือมั่นสักอย่างเดียว ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นเอง วิญญาณที่เคยตามรู้ว่านั่นก็ควรยึด นี้ก็ควรยึดก็จะค่อยหมดไปหายไปเพราะฉะนั้นท่านจึงรู้สึกเสียดาย ที่นั่งอยู่ใกล้ ได้นั่งเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ได้นั่งใกล้ท่านพระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญใจ ก็คือน่าเคารพยกย่องบูชา งามกันทุกองค์ๆ แต่ไม่เคยฟังธรรมที่จะกล่อมเกลาจิต ให้เข้าถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ หรือความดับแห่งทุกข์ คือดับแห่งความยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ไม่เคยได้ยินเลย เพิ่งจะมาได้ยินเดี๋ยวนี้ ได้ยินในขณะที่ใกล้จะตายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น น้ำตาที่ไหลออกมานี้ไม่ใช่น้ำตาของความอาลัยอาวรณ์ชีวิตที่กำลังจะจากไป หรือสิ่งทั้งหลายที่กำลังจะจากไป แต่เป็นน้ำตาแห่งความเสียดายที่ทำไมถึงไม่ได้ฟังธรรมที่งดงามแจ่มแจ้ง แสดงถึงความที่ควรจะต้องตัด ลดละสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นทั้งสิ้นทั้งปวงออกไปให้เกลี้ยง เพื่อจะได้บรรลุถึงความสุขอันประเสริฐ หรือความสุขอันเป็นความสงบเย็นที่แท้จริง ก็เลยร้องไห้น้ำตาไหลด้วยความเสียดาย ท่านพระอานนท์ก็ตอบว่า ธรรมเทศนาเช่นนี้เป็นสิ่งที่จะแสดงแต่แก่ท่านที่เป็นบรรพชิต ท่านที่เป็นนักบวชเท่านั้น ไม่ใช่ธรรมะสำหรับฆราวาส ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็กราบเรียนว่า ถ้าเช่นนั้นละก็ ท่านขอกราบเรียนไว้ ท่านขออนุญาต แล้วก็เท่ากับว่า กราบเรียนขอร้องไว้ด้วยว่า
ขอได้โปรดกรุณาแสดงธรรมเทศนาที่อันเป็นปรมัตธรรม ที่แสดงถึงธรรมขั้นสูง ที่บอกว่าให้รู้ว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ ที่ควรแก่การยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียวแก่ฆราวาส หรือชาวบ้านเพื่อให้ได้ฟัง ได้ยินด้วยเถิด เพื่ออะไร เพราะว่าอาจจะมีฆราวาส หรือผู้ที่ไม่ได้บวช ที่มีธุลีไฝฝ้าในดวงตาน้อย อันนี้ก็หมายความว่าอาจจะมีจิตใจที่มิได้หนาแน่นด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน จนกระทั่งอวิชชาเข้าหุ้มห่อจิต แล้วก็เปิดม่านของหัวใจเพื่อรองรับธรรมเทศนา ที่งดงามแจ่มกระจ่างเช่นนี้ไม่ได้ นี่พูดถึงปุถุชนคนที่หนา แต่อาจจะมีบางคนที่มีไฝฝ้าธุลีน้อย คือมีกิเลส ตัณหา อุปาทาน อยู่ในใจเหลือน้อยแล้ว คือมีจิตใจอ่อนโยน มีจิตใจละเอียด มีจิตใจประณีต มีความสุขุม มีความว่าง เพียงพอที่จะรับฟังธรรมเทศนาในระดับนี้หรืออย่างนี้ แล้วก็สามารถที่จะใคร่ครวญธรรม จนกระทั่งเกิดความเข้าใจ แล้วก็นำมาประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่งช่วย ให้จิตใจของตนนั้นเข้าถึงซึ่งความหลุดพ้น จากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงได้ ยังมี ยังมีขอรับ เพราะฉะนั้นก็กราบเรียนไว้ ท่านพระสารีบุตร และท่านพระอานนท์รับฟัง แล้วก็ลาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกลับไป
กลับไปเฝ้าพระพุทธองค์ และได้กราบทูลให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่า ได้ไปแสดงธรรมแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีในเรื่องอะไรบ้าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับฟัง แล้วพระองค์ก็ทรงรับสั่งว่า บัดนี้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ละสังขารเสียแล้ว เพราะว่าท่านเจ็บหนักเต็มทีแล้ว แต่ก็ยังฝืนใจฟังธรรมเทศนาที่ท่านพระสารีบุตรเถระได้แสดงให้ฟัง ด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ ด้วยความอดทน อดกลั้น จากความเจ็บปวดของการอาพาธนั้น และใคร่ครวญธรรม จนกระทั่งกราบเรียนขอให้ช่วยแสดงธรรมแก่สาธุชนทั่วไปด้วยเถิด เผื่อเขามีดวงตาที่มีไฝฝ้าราคีน้อย จะได้สามารถเข้าใจได้ ไม่เสียโอกาส ท่านองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับสั่งว่า บัดนี้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้ละสังขารแล้ว
เมื่อเราฟังแล้วก็รู้ว่า ยังเป็นโชคดีใช่ไหมคะ ยังเป็นโชคดีของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ก่อนที่จะสิ้นลมหายใจ ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมะอันประเสริฐที่งดงามแจ่มแจ้งชี้ทางให้เห็นว่า ความทุกข์เกิดขึ้น เพราะความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน หรือเบญจขันธ์นี้ ว่าเป็นเรา เมื่อยึดถือว่าเป็นเรามันก็มาออกรับทุกอย่างที่เกี่ยวข้องเข้ามาว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา หรือ สิ่งนั้นมากระทบเรา เพราะฉะนั้น เรานี่ก็ต้องถูกกระทบกระแทกให้เจ็บช้ำ มีบาดแผลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านมักจะบอกว่า ต้องถูกกัดอยู่ตลอดเวลา ถูกกัด ถูกทิ่มแทง ถูกเสียดแทงให้เจ็บปวด ไม่เป็นอันสุขสงบ เย็นได้ เพราะเมื่อถูกเสียดแทง ถูกกัด ถูกทิ่มแทง ก็ต้องมีควาทุรนทุทราย เร่าร้อน ไหม้เกรียม ทรมานด้วยความเจ็บปวด แล้วก็ธรรมะอันนี้เป็นธรรมะที่ชี้ทางให้รู้ว่า หนทางที่ทำให้เกิดทุกข์คืออย่างนี้ แล้วมีความยึดมั่นถือมั่นจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าหากว่า ไม่ต้องการมีความทุกข์ ก็ต้องสละละวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่เป็นเวทนา อันทำให้จิตใจนี้ทุรนทุราย เกิดเป็นความทุกข์ แล้วก็สิ่งที่เป็นธาตุ อันมีความเข้าใจว่า ชีวิตนี้ประกอบด้วยธาตุ ก็จะมายึดเอาที่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ว่าเป็นตัวตนอีกเหมือนกัน ทีนี้พอละจากความยึดมั่นในธาตุได้ ประเดี๋ยวก็จะมายึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าเบญจขันธ์ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ว่าเป็นตัวเป็นตน ซึ่งในทางธรรมท่านก็บอกแล้วว่า การที่จะยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์นั้นเป็นของหนักอย่างยิ่ง จำได้ไหมคะ ในบทสวดมนต์ ภาราหะเว ปัญจักขันธา ที่พูดถึงว่า การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า เป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะว่าขันธ์ห้า ก็สักแต่ว่าขันธ์ห้าที่ธรรมชาติได้ให้มา แต่ธรรมชาติไม่ได้บอกว่าให้ยึดมั่น ธรรมชาติให้มาเพื่อให้ใช้ประโยชน์ ให้ใช้ขันธ์ห้านี้เพื่อเกิดประโยชน์แก่ชีวิต เกิดประโยชน์อย่างไร ก็คือ จะได้เกิดความสะดวกสบายในการเคลื่อนไหว ในการดำเนินชีวิต ในการทำการงาน หรือในการที่จะทำอะไรก็ตาม เพื่อให้ชีวิตนี้ยังความเป็นไป และยังดำเนินอยู่ได้ ธรรมชาติประสงค์แต่เพียงว่าให้ขันธ์ห้า หรือเบญจขันธ์นี้มาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก แต่มิให้ยึดมั่น ว่าเป็นเรา เป็นของเรา แต่ด้วยความเขลาที่เพราะถูกอวิชชาห่อหุ้มจิตนั่นแหละค่ะ ก็เลยทำให้หลงไป หลงไปว่าอะไรๆ ก็เป็นเรา และเป็นของเรา ก็เลยแบกหนัก ท่านจึงบอกว่า ภาราหะเว ปัญจะขันธา มันเป็นแต่เพียงขันธ์ แต่ถ้าหากเกิดอุปทานในขันธ์ขึ้นมาเมื่อใด เมื่อนั้นเป็นความทุกข์ แต่ถ้าปล่อยวางขันธ์นี้เสีย ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อนั้นความทุกข์ก็ไม่อาจเกิด ก็จะมีแต่ความมองเห็นประจักษ์แจ้งว่า ทุกสิ่งนั้น เป็นเพืยง สักแต่ว่า ว่าง ความว่างแห่งความหมายที่ปราศจากตัวตน ไม่มีเลย ไม่มีตัวตนมันเกิดขึ้นเลย
ฉะนั้นถ้าจะพูดไปแล้ว ก็จะรู้สึกว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนี้เป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิตท่านหนึ่ง นอกจากท่านจะมีน้ำใจศรัทธาปสาทะในองค์สมเด็จพระบรมศาสดาในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งเสียสละอุทิศทรัพย์สมบัติเงินทองนับจำนวนไม่ถ้วน มากมายเหลือเกิน คงจะทราบแล้วนะคะ ที่ท่านได้สร้างพระเชตวันมหาวิหาร ถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นที่พักของบรรดาพระภิกษุสงฆ์ ที่ตามเสด็จพระองค์ด้วย เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ประจักษ์ในความศรัทธาปสาทะของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านจึงประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารนี้นานกว่าสถานที่แห่งอื่น เป็นเวลาถึง 19 ปี คือ 19 พรรษา ฉะนั้นเมื่อท่านมีศรัทธาปสาทะในการที่จะบริจาคทานภายนอกถึงขนาดนั้นก็ย่อมแสดงเข้าไปถึงจิตใจ ที่อ่อนโยน ละเอียดและประณีต มีความซาบซึ้ง ในสิ่งที่เรียกว่าคุณงามความดี ความงดงามที่น่าบูชา ฉะนั้นท่านมีความใคร่ในธรรมมาก แต่กล่าวเล่ากันว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความเกรงใจเหลือเกิน คือมีความเกรงในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความในใจว่า องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเป็นสุขุมาลชาติ คือท่านประสูติมาแต่พระราชวงศ์ของพระมหากษัตริย์ แล้วยังได้ออกมาบวชเป็นพระ เป็นบรรพชิต เป็นผู้ถือเพศนักบวช และได้นำคำสอนอันสูงส่งอันประเสริฐมาสอนบรรดาพวกมนุษย์ แล้วพระราชภาระของท่านนั้นมากมายในการที่จะเผยแผ่พระศาสนา ท่านไม่ได้มีเวลาว่างเลย นี่เป็นความคิดของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เพราะฉะนั้นความคิดทุกเวลาของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มักจะนั่งอยู่ไม่ไกลนัก แต่ในขณะเดียวกันท่านก็จะนั่งอยู่อย่างสงบนิ่ง ไม่กล้าทูลถามอะไร เกรงว่าจะเป็นการรบกวนพระทัย แล้วก็จะทำให้พระองค์ต้องเหน็ดเหนื่อยเพราะว่าพระองค์มีพระราชภาระมากแล้ว ฉะนั้นก็มักจะเข้าไปกราบเรียนถามท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรเถระ เป็นพระเถระที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เคารพนับถือยกย่องมากที่สุด ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาที่ท่านอาพาธหนัก จนท่านรู้สึกว่าท่านจะไม่อยู่แล้วจะต้องล่วงลับแล้ว ก็ให้คนรับใช้ไปกราบเรียนเชิญ หรืออาราธนาท่านพระสารีบุตรเถระเพื่อมาแสดงธรรมให้ฟัง แล้วท่านพระสารีบุตรเถระท่านก็แสดงธรรมในขั้นสูงสุด ให้ละปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง แล้วท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เป็นบัณฑิตพอตัวของท่าน ท่านจึงมองเห็นว่า ธรรมะขั้นนี้ น่าที่จะแสดงให้แก่บรรดาสาธุชนทั้งถึงแม้จะเป็นฆราวาสได้ฟังบ้าง เพื่อจะได้มีโอกาสใคร่ครวญธรรม สละละวางอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น และวันหนึ่งจะได้ถึงซึ่งความดับทุกข์ด้วย
เมื่อเราฟังดังนี้แล้ว เราก็จะมองเห็นทีเดียวว่า เมื่อเราได้ฟังธรรม ณ ที่ใดก็ตาม ธรรมะที่ควรจะได้รับฟัง ก็น่าจะเป็นธรรมะที่ชี้ทางแห่งการดับทุกข์ เพื่อเป็นการสนองพระพุทธประสงค์ขององค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์หรือของสังฆะ เมื่อเราพูดถึงพระรัตนตรัย ว่ามีหน้าที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติสมควร และที่สำคัญก็คือว่าปฏิบัติสนองพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเที่ยงตรง ไม่ผิดเพี้ยนไปเป็นอื่น คือธรรมเทศนา หรือการสนทนาธรรมน่าจะเจาะจงลงที่เรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์เพื่อให้สาธุชนที่เข้าวัด อุบาสก อุบาสิกาได้ฟัง แล้วก็มีจิตใจที่เฉลียวฉลาด คือมีปัญญาขึ้น แล้วก็สามารถใคร่ครวญธรรมจนกระทั่งมีจิตใจเกลี้ยงเกลาสะอาดสะอ้านขึ้น
นี่ก็เป็นข้อเตือนใจให้เราสองอย่าง อย่างหนึ่งคือว่า ธรรมะที่ควรฟัง ที่ควรปฏิบัตินั้นคืออย่างนี้ และอีกอย่างหนึ่งก็ได้รู้ว่า สิ่งที่พระภิกษุสงฆ์ผู้สืบพระศาสนาควรจะแสดงแก่ทายกทายิกาก็คือเรื่องนี้ คือเรื่องที่ชี้ทางแห่งความดับทุกข์ อันจะเป็นทางลัดทางตรงสู่การปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้โดยเร็ว ทันตาเห็นในปัจจุบันขณะนี้
ก็ขอฝากไว้นะคะเพื่อลองใคร่ครวญต่อไป แล้วก็อย่าลืมนำปฏิจจสมุปบาทมาใคร่ครวญก่อนแล้วก็ตามด้วยสิ่งนี้ ด้วยธรรมะที่เราได้พูดกันในวันนี้ เพื่อขยายความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ธรรมะสวัสดีค่ะ