แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ วันนี้เราจะได้พูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่านิพพานนะคะ เชื่อว่าคงจะได้เคยได้ยินคำนี้มาเสียนักต่อนักแล้ว แต่ความหมายของนิพพานคืออย่างไร ก็จะขอพูดแต่เพียงสั้นๆ พอให้เข้าใจได้ง่ายๆนะคะ นิพพานโดยพยัญชนะ ก็คือโดยตัวหนังสือ หมายถึงคือ ดับไม่เหลือ ดับไม่เหลือแห่งความร้อน คือเย็น เช่นแกงเย็น ก็เรียกว่า แกงนิพพานได้ ในสมัยโบราณคือสมัยพุทธกาลนั้น ได้ยินว่าในอินเดียใช้คำว่านิพพานนี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นเป็นต้นว่า แกงเย็น ก็แกงนิพพานแล้ว หรือกองไฟที่ดับแล้วก็เรียกว่ากองไฟที่นิพพานแล้ว น้ำต้มเดือดที่เย็น แล้วก็น้ำต้มเดือดที่นิพพานแล้ว ฉะนั้นความหมายของนิพพานที่ใช้กันในชีวิตประจำวันเมื่อเอาใช้ในความหมายทางธรรมะ ก็หมายถึงจิตที่เย็น เย็นที่ปราศจากความร้อนของกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นจิตที่เย็น ว่าง โปร่ง เบา สบาย นะคะ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงความหมายของนิพพาน ก็พูดได้ว่า หมายถึงการดับแห่งความร้อน คือดับ ของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ปรากฏขึ้นในใจ นั่นก็เรียกว่าใจในขณะนั้นเย็น คือมีนิพพานอยู่ในใจ หรือความเย็นที่เกิดจากความไม่มีไฟ ไม่มีไฟหรือไม่มีความร้อนก็มีความหมายอย่างเดียวกัน สิ่งที่จะก่อไฟให้เกิดขึ้นในใจก็ไม่มีอะไร นอกจากกิเลสนะคะ เพราะฉะนั้นจึงควรจะได้รู้จักเรื่องของกิเลส คือ โลภ โกรธ หลงให้ชัดเจน ถ้าปรากฏขึ้นเมื่อใดที่จิต ก็จะทำให้จิตนั้นมีความสกปรก เศร้าหมอง แล้วก็ร้อน นอกจากนี้ ความหมายของนิพพานก็จะมีความหมายอย่างน้อยสี่อย่าง อย่างหนึ่ง ก็เป็นเครื่องดับความร้อน เป็นแดนดับ ก็คือ แดนดับของความร้อน เป็นการดับก็คือการดับความร้อน และเป็นความเย็นที่เป็นผลของการดับแห่งความร้อนนั้น ฉะนั้นพูดง่ายๆว่าความหมายของนิพพานที่พูดมาสี่อย่างสรุปลงในคำว่าความเย็นนั่นเอง มีลักษณะของความเย็นนะคะ
ทีนี้ลักษณะของนิพพาน ถ้าเราจะแจกแจงออกไป แล้วก็แจกแจงอย่างชนิดที่ให้เข้าใจง่าย ก็จะมี ลักษณะของความสะอาด ความสว่าง ความสงบ เมื่อใดที่จิตมีภาวะของนิพพานเกิดขึ้นในจิต ในขณะนั้นภายในนั้นจะมีแต่ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ก็ให้เรามาขยายความของคำว่าความสะอาดสักหน่อยหนึ่งนะคะว่า ที่ว่านิพพานมีลักษณะของความสะอาดนั้น หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่ามีความสะอาดจากความสกปรกเศร้าหมองแห่งกิเลส มีความสะอาดจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง ก็คือไม่มีอุปาทานในสิ่งใด ขณะใดที่มี จิตยึดมั่นถือมั่น ขณะนั้นจิตมีความสกปรก มีความเศร้าหมอง มีความขุ่นมัว นิพพานก็เกิดขึ้นไม่ได้ ฉะนั้นจิตนั้นก็ ไม่สะอาดนะคะ เพราะฉะนั้นความสะอาดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพราะเป็นความสะอาดเนื่องจากสิ้นสุดแห่งการปรุงแต่ง เห็นมั้ยคะการปรุงแต่งคือสังขาร เมื่อใดจิตนี้มีสังขารคือความปรุงแต่งเกิดขึ้น ปรุงแต่ง เพ้อฝัน สร้างสรรค์ ไม่ใช่สร้างสรรค์ เรียกว่าเพ้อฝัน แล้วก็ฟุ้งซ่าน แล้วก็คิดไปเรื่อยๆ ฉะนั้นในขณะที่จิตมีการปรุงแต่ง จิตนั้นก็วุ่นวายสับสน ไม่มีความเย็น แต่มีความร้อนเจือปนอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นนิพพานที่เป็นลักษณะของความสะอาด ก็คือ ความสะอาดจากความสกปรก เศร้าหมองของกิเลส ความสะอาดจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง และความสะอาดเพราะสิ้นสุดแห่งการปรุงแต่ง
ทีนี้ความสว่างล่ะ เมื่อจิตนี้สะอาดก็แน่นอนจะต้องมีความสว่างเกิดขึ้น ความสว่างที่เกิดขึ้นภายในจิตที่มีภาวะของนิพพานนั้น เป็นความสว่างอยู่ด้วยความรู้แจ้งในสัจจธรรม หมาย ถึงว่าสามารถเห็นธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา โดยเฉพาะก็คือในเรื่องของขันธ์ห้า ขันธ์ห้าหรือเบญจขันธ์ เห็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เห็นเป็นอนัตตาทั้งสิ้น ไม่ใช่สิ่งที่จะยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตน นี่เรียกว่า เป็นความสว่างที่เกิดจากปัญญา จึงเห็นทุกสิ่งโดยเฉพาะเบญจขันธ์ตามความเป็นจริง เป็นความสว่างที่แจ้งประจักษ์จนเห็นชัดว่าไม่มีสิ่งใดคุ้มค่าแก่การมี การเป็น การเอา เลยสักอย่างเดียว เพราะเหตุว่า มันเป็นสิ่งที่เพียงแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จึงไม่มีสิ่งใดที่มีค่าควรแก่การเอา การเป็น การได้ การมี แล้วก็เอามายึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียว นอกจากนี้ก็เป็นความสว่างที่มีความชัดเจน จนเห็นว่าสิ่งที่เหลืออยู่ในชีวิตนี้ เมื่อมายึดมั่นถือมั่นในความมี ความเป็นหรือในความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนแล้ว ก็มีความสว่างจนเห็นชัดว่า สิ่งที่เหลืออยู่ในชีวิตก็คือการทำหน้าที่ ให้มีแต่การกระทำเท่านั้น ทีนี้การทำหน้าที่ในที่นี้หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าเป็นการทำหน้าที่ที่เกิดขึ้นด้วยสติปัญญาที่มองเห็นแล้วว่าไม่จำเป็นจะต้องกระทำสิ่งนั้นสิ่งนั้น อย่างยึดมั่นถือมั่นนะคะ แต่ทำเพราะว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ อันเนื่องจากที่จะเกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ แม้ว่า จะมีการกระทำอยู่ตลอดเวลา แต่ในการกระทำนั้นไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน อยากจะยกตัวอย่างเล่าให้ฟังถึง เรื่องของสุนัขกับแมวคู่หนึ่งนะคะ เป็นเรื่องจริง ที่ยกเอามาเช่นนี้ก็เป็นเพียงอุปมาให้เห็นว่าการทำหน้าที่นี้ มันเกิดขึ้นได้ในลักษณะนี้
นานมาแล้ว สมัยที่เป็นเพิ่งเป็นครูใหม่ๆ ก็ไปอยู่ที่โรงเรียนที่มีนักเรียนประจำ แล้วเวลาไปอยู่ที่เรือนประจำนั้นนี่ ก็จะมีสุนัขอยู่ตัวหนึ่ง แล้วก็มีแมวอยู่ตัวหนึ่ง สุนัขตัวนั้นนี่ก็เห็นจะมีเศษของอัลเซเชี่ยนอยู่นะคะ ตัวมันเล็กๆ ตัวไม่โตเหมือนอัลเซเชี่ยนทั้งหลาย มันอาจจะมีอยู่ประมาณสักห้าเปอร์เซ็นต์ละมัง ตัวเล็กแล้วก็ขนแข็ง ขนเป็นสีน้ำตาล แต่ว่าค่อนข้างแข็ง แล้วที่ตรงปากก็มีขนค่อนข้างยาวเหมือนกับเป็นเครา ความสูงของตัวของเจ้าสุนัขน้อยตัวนี้นี่จากหลังถึงพื้น ประมาณสักศอกเดียวค่ะ แล้วเราก็เรียกชื่อเจ้าตัวนี้ชื่อว่าเจ้ามงคล มงคลก็เป็นสุนัขที่เรียกว่ารู้ภาษา ฉลาด แล้วเข้าใจ สามารถที่จะติดตามคำแนะนำหรือคำสอนของเราได้โดยง่าย แล้วก็ที่เรือนพักในโรงเรียนประจำนั้น ก็มีแมวตัวหนึ่งชื่อว่าสามสี ก็เพราะว่ามันมีสามสีอย่างที่เคยรู้จักกันนะคะ สีขาว สีเหลือง สีดำปนนิดหน่อย สีน้ำตาลแก่ แล้วก็โดยปรกติแล้วก็สามสีกับมงคลไม่ค่อยจะกินเส้นกัน ก็ตามประสาหมากับแมว แต่ทว่าก็ไม่เบียดเบียนกัน คือไม่ทะเลาะวิวาทกัน แล้วก็ไม่สุงสิง ถ้าพูดง่ายๆก็เหมือนกับว่า ไม่ค่อยจะกินเส้น ถูกชะตากันนัก แล้วในเช้าวันหนึ่งนี่ค่ะก็ได้ยินเสียงสามสีร้องเสียงดัง แสดงความเจ็บปวดมาก แล้วก็ได้ยินเสียงมงคลเห่า ก็รีบวิ่งไปดูเพราะคิดว่ามงคลจะไปทำอะไรสามสี ก็ปรากฏว่าพอไปถึง ก็เห็นเจ้า มงคลยืนคร่อมสามสี ซึ่งนอนอยู่ที่ใต้ท้อง คือยืนอยู่ใต้ท้องของมงคล มงคลยืนคร่อม ลักษณะของสามสีนั้น แสดงว่ากำลังได้รับความเจ็บปวดมาก แล้วก็ต้องถูกกัดอย่างจังทีเดียว ข้างหน้าของมงคลก็มีสุนัขตัวใหญ่ตัวหนึ่ง โตกว่ามงคลอย่างน้อยก็สองเท่าครึ่งนะคะ ส่วนมงคลยืนคร่อมสามสี แล้วก็ตั้งท่าพร้อมที่จะสู้ เข้าผจญกับเจ้าหมาตัวใหญ่ ที่ใหญ่กว่าตัวตั้งอย่างน้อยสองเท่าครึ่ง ถ้าเราวิ่งไปไม่ทัน แน่นอนว่ามงคลก็จะต้องถูกหมาใหญ่นั่นฟัดเอาจนเจ็บปวดไปไม่น้อยอีกเหมือนกัน แต่เมื่อเราไปถึง เราก็ช่วยไล่เจ้าหมาใหญ่นั้นไป มงคลก็เดินกลับ หลังหันคือก็ถอนตัวออกมาจากสามสีที่เขายืนคร่อมอยู่ แล้วก็ไม่ไปใส่ใจอะไรกับสามสีอีก เราไปก็ดูสามสีก็ ปรากฏว่าสามสีถูกเจ้าหมาใหญ่นั่นกัดเอาถูกที่สำคัญเชียว เรียกว่ากระดูกสะโพกนี่หักไป ขาลากไปเลย อุ้มขึ้นมาแล้ว ก็มาดูแลรักษาบาดแผลแล้วก็ทำนุบำรุงเท่าที่จะสามารถจะทำได้ แต่ก็ปรากฏว่าสามสีไม่สามารถที่จะใช้ขาหลังสองขาได้อีกเลย ตลอดชีวิตของสามสีก็ใช้ได้แต่ขาหน้าสองขา ส่วนขาหลังก็ได้แต่ลากตัวไป เพราะว่า เรียกว่าหักเสียแล้วนะคะ ก็ทำให้มอง พอมองนึกดู ก็นึกว่าทำไมมงคลซึ่งธรรมดาก็ไม่ได้ชอบพอรักใคร่กับสามสี แต่ในวันนั้นนี่ มงคลกระโจนเข้าไปยืนคร่อมสามสี ในขณะที่เห็นว่าสามสีถูกเจ้าหมาใหญ่กัด เราไม่เห็น แต่ว่าเราคาดคะเนจากเหตุการณ์แล้วก็พฤติกรรมที่เราไปพบนะคะ ก็ต้องออกมาในลักษณะนี้ ทำไมมงคลถึงได้กระโจนเข้าไปยืนคร่อมสามสี ถ้ามงคลไม่กระโจนเข้าไปยืนคร่อมสามสี ก็เป็นของแน่ว่าสามสีคงต้องตายคาที่ เป็นแน่นอนทีเดียว แล้วถ้าเราออกไปไม่ทัน ไปไล่เจ้าหมาใหญ่ไม่ทัน มงคลก็จะต้องถูกกัดปางตาย เรียกว่าจะต้องเจ็บสาหัส แล้วมงคลทำไมถึงสละชีวิตของตัว ออกไปป้องกันสามสี ที่ไม่ได้เป็นที่รักของมงคลเลย เมื่อในตอนนั้นก็เห็นแต่ว่ามงคลนี่กล้าหาญนะ มงคลใจสปอร์ตดี แล้วก็รู้จักรัก เรียกว่ารักเพื่อนรักฝูงที่อยู่ในบ้านเดียวกัน แม้ธรรมดาจะไม่ค่อยถูกกันนักก็ตาม แต่เมื่อมาศึกษาในทางธรรม หันมานึกถึงเรื่องของมงคลกับสามสี ก็ได้ความคิดคือได้คำตอบมาว่า อ๋อนี่แหละ คือตัวอย่างของการทำหน้าที่ ทำหน้าที่ของเพื่อนร่วมโลก แม้มงคลจะไม่ใช่คน ไม่ใช่มนุษย์ แต่มงคลก็เป็นสิ่งมีชีวิต ที่เราเรียกว่าเป็นสัตว์โลกอย่างนึง สามสีก็เป็นสัตว์โลกอย่างนึง คนก็เป็นสัตว์โลกอย่างนึง แต่สำหรับมงคล ในกรณีนี้ก็ได้แสดงตนเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า นี่แหละการที่เราเป็นเพื่อนร่วมโลกกัน ก็จะต้องช่วยเหลือกันตามกำลัง สติปัญญา ความสามารถ สำหรับมงคลเองก็สามารถจะช่วยเหลือสามสีได้ตามสติปัญญากำลังของเขา โดยเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง ทั้งๆที่สามสีก็ไม่ได้ร้องขอ แต่มงคลเห็นเหตุการณ์แล้ว ก็ไม่สามารถจะทนอยู่ได้ และเขาคิดว่าในภาวะเช่นนั้น เขาก็คงพอจะทำอะไรได้บ้าง เขาจึงกระโจนเข้าไปคร่อมสามสี แล้วเมื่อมงคลได้ช่วยเหลือสามสีแล้ว เมื่อเราออกไปแล้ว มงคลก็ไม่ได้มาพะวักพะวน หรือมาเคล้าเคลีย เลียแข้งเลียขาเพื่อแสดงว่า ให้มองเห็นนะว่ามงคลทำความดี มงคลได้เสียสละชีวิตเพื่อช่วย สามสี เขาเสร็จแล้ว เขาก็ไปเลย เขาไม่ได้มาอ้อยอิ่งอยู่ที่เราเลย ก็เลยอยากจะเล่าว่าอย่างนี้ละค่ะ ที่เราพูดว่ามีแต่การกระทำเท่านั้น ตามหน้าที่ที่เห็นสมควรกระทำ ทำแล้วก็เกิดประโยชน์ แม้มงคลจะเป็นเพียงสุนัขตัวนึง แต่ก็ได้ทำตามหน้าที่ในฐานะเพื่อนร่วมโลก อย่างเต็มสติกำลังของเขาทีเดียว เมื่อทำแล้วก็ไม่ได้เรียกร้องคำขอบใจหรือว่าผลตอบแทนแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างนี้แหละที่พูดว่ามีความสว่างภายในใจเกิดขึ้น จนเห็นว่าสิ่งที่เหลืออยู่ในชีวิตนี้คือการทำหน้าที่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไม่ใช่การทำหน้าที่ว่าฉันทำ หรือเราทำ รู้แต่ว่านี่เป็นการกระทำที่สมควร เพราะเกิดประโยชน์
เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นนิพพาน ที่บอกว่ามี ลักษณะของความสะอาด ความสว่าง นั่นคือ สว่างจนชัดเจนเห็นว่า สิ่งที่เหลืออยู่คือการทำหน้าที่ แม้ชีวิตนี้จะได้ มีความเย็นเป็นปกติ ปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ แต่เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ก็ยังมีหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ นั่นก็คือหน้าที่ของมนุษย์ กระทำหน้าที่ของมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอยู่เสมอ เท่าที่สติกำลังความสามารถจะกระทำได้ กระทำหน้าที่เพื่อหน้าที่โดยไม่มีฉันเป็นผู้ทำ หรือมีเราเป็นผู้ทำ มีแต่การกระทำเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ก็เป็นความสว่างที่เกิดจากธรรมปัญญาภายใน ธรรมปัญญาภายในนั้นเป็นความสว่างที่เป็นแสงสว่าง อย่างหาที่เปรียบมิได้นะคะ เรียกว่าสว่างเสียยิ่งกว่าแสงอาทิตย์ สว่างเสียยิ่งกว่าแสงไฟฟ้าที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกี่ร้อยกี่พันแรงเทียนก็ตาม ซึ่งความสว่างเช่นนี้แม้คนตาบอดก็สามารถที่จะพัฒนาหรือปลูกฝังอบรมให้เกิดความสว่างเช่นนี้ขึ้นภายในได้ คงจะเข้าใจใช่มั้ยคะ เพราะความสว่างเช่นนี้ไม่ต้องอาศัยตาเนื้อมอง ตาเนื้อก็คือตาสองข้าง ตาสองข้างนี้จะมองอะไรก็จะเห็นตามที่เป็นสมมติสัจจะ ตามที่มนุษย์สมมติกัน เรียกว่านี่ดวงอาทิตย์ นี่ดวงจันทร์ นั่นดวงไฟ นี่ดวงโคม หรืออะไรต่ออะไรต่างๆ มากมายหลายพันสิ่งหรือว่าหลายล้านสิ่งตามที่สมมติเรียกกัน แต่ทว่าความสว่างอย่างนี้ แม้บุคคลที่ตาบอดขวนขวายในการที่จะศึกษาธรรม แล้วก็ฝึกอบรมจิต ประพฤติปฏิบัติธรรมให้เป็นไปตามแนวทางคำสั่งสอน ก็สามารถที่จะพัฒนาความสว่าง อันเป็นแสงสว่างอย่างยิ่ง เป็นแสงสว่างที่กระจ่างยิ่งกว่าแสงสว่างใดๆ ให้เกิดขึ้นภายในใจได้นะคะ
นอกจากนี้ก็คือลักษณะของ ความสงบ เมื่อสะอาดแล้วก็สว่าง พอสว่างแล้วก็สงบ ความสงบนี้ก็เกิดจากเพราะจิตนั้นถึงซึ่งความสิ้นทุกข์แล้ว เพราะสะอาดเกลี้ยงเกลา ที่กิเลสรบกวนไม่ได้ สังขารการปรุงแต่งไม่มี สว่างเพราะเห็นสัจจธรรมตามที่เป็นจริง สว่างจนสามารถกระทำได้ซึ่งหน้าที่โดยไม่ข้องเกี่ยวกับความเป็นตัวตนแต่นิดเดียว เมื่อถึงเช่นนี้แล้ว ความสงบ ย่อมบังเกิดขึ้นตามลำดับ เพราะความทุกข์ที่เคยมีนั้นก็ค่อยๆจางคลายไป จนถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น ความสงบก็เกิดขึ้น เพราะถึงซึ่งความสิ้นทุกข์หรืออีกนัยหนึ่งก็เรียกว่าถึงความสงบ มันเกิดขึ้นเพราะสังสารวัฏได้สิ้นสุดแล้ว นึกออกใช่มั้ยคะ เมื่อเราพูดกันถึงสังสารวัฏในปฏิจจสมุปบาทในวงเล็ก ที่บอกว่าสังสารวัฏนั้นก็เกิด ขึ้นจากกิเลส กรรมวิบาก แล้วก็วนเวียนหมุนทำอยู่อย่างนี้เป็นวงกลมอยู่เรื่อยไป บัดนี้สิ้นซึ่งความร้อนของกิเลสแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีกิเลส ก็ไม่มีการการกระทำที่เป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่น วิบากที่จะเกิดจากการกระทำ อันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนั้นก็ไม่มี เพราะมีแต่การกระทำตามหน้าที่ เพื่อหน้าที่เท่านั้นเอง ก็เรียกได้ว่า สังสารวัฏนั้นสิ้นสุดแล้ว ตัดขาดจากสังสารวัฏ สามารถจะพาใจหรือชีวิตให้หลุดพ้นออกจากสังสารวัฏ ก็จึงมี ความสงบ สงบเย็น ความสงบอันนี้ ก็พูดซ้ำให้ชัดขึ้นอีกได้ว่า เพราะถึงซึ่งความเย็นสนิทอันไม่มีไฟแห่งกิเลส รบกวนเลย แม้แต่นิดเดียว และความสงบนี้เกิดขึ้นก็เพราะความต่อสู้ดิ้นรนทั้งปวงที่เคยมีมานั้นถึงที่สุด ความต่อสู้ดิ้นรนทั้งปวงอันเกิดจากความอยาก อันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนั้น ถึงที่สุด คือดับอย่างสิ้นเชิง เรียกว่า เป็นความสงบทั้งภายในและภายนอก จิตนั้นดำรงอยู่ด้วยความสุขเกษมอย่างแท้จริง อาจจะเปรียบเหมือนกับ เป็นความสงบ อันที่เต็มไปด้วยความสุขเกษมของบุคคลที่ขึ้นไปยืนอยู่บนยอดเขา บนยอดเขาตามลำพังผู้เดียว มองไปทางไหนมันก็เห็นทั่ว รู้รอบ ไม่มีตรงไหนที่จะไปปิดบังได้ เพราะมีความสว่างแห่งธรรมปัญญาเกิดขึ้นภายใน ซึ่งความสงบเช่นนี้นะคะ คนที่ยากจนเข็นใจเพราะขาดทรัพย์สินเงินทองจนถึงที่สุด ก็สามารถที่จะถึงความสงบเช่นนี้ได้ เพราะไม่ต้องอาศัยทรัพย์สินเงินทอง ไม่ต้องอาศัยวัตถุสิ่งของ มาเป็นอุปกรณ์ของการศึกษา อบรม หรือการฝึกปฏิบัติ เพราะฉะนั้นก็สามารถจะถึงซึ่งความสงบเช่นนี้ได้ นี่ก็เป็นลักษณะของจิตที่ท่านบอกว่ามี นิพพานบังเกิดขึ้นนะคะ
ทีนี้ถ้าจะพูดต่อไปว่าเมื่อกล่าวถึงนิพพานนี่ มนุษย์เราหรือคนเราจะถึงนิพพานได้หรือไม่ในชีวิตนี้ เราใช้คำว่าถึง แต่มิได้หมายความว่าจะต้องเดินไปนะคะ มีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่มักจะคิดว่า นิพพานนี้เป็นสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่เราจะต้องเดินไปจนถึง แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องเดินไปที่ไหนเลย สภาวะของนิพพานนั้นน่ะ อยู่ที่ภายในนี้เอง ถ้าหากว่าประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง ตามกฎอิทัปปัจจยตาอย่างที่ได้ฟังแล้วในปฏิจจสมุปบาท นิพพานก็เกิดขึ้นภายใน เพราะอะไร เพราะเหตุว่ามีความเย็น แต่ถ้าประกอบเหตุ ปัจจัยไม่ถูกต้อง ภายในตรงที่ที่เดียวกันนี้นะคะ ก็จะมีแต่ความร้อน จะเกิดความร้อนขึ้นภายในอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นคำว่านิพพานไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเดินไป แต่เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น หรือทำให้เกิดมี ให้เกิดมีขึ้นที่ภายใน คือที่ภายในจิตนี้ อย่างที่ท่านบอกว่า สังสารวัฏอยู่ที่ไหน สังสารวัฏซึ่งเป็นสิ่งร้อนอยู่ที่ไหน เกิดขึ้นที่ไหน นิพพานก็อยู่ที่นั่น คำว่านิพพานก็อยู่ที่นั่น ก็หมายความว่าในที่แห่งเดียวกันนั้นสามารถมีได้ทั้งนิพพานและทั้งสังสารวัฏ จะเป็นนิพพานหรือจะเป็นสังสารวัฏ ก็คงตอบได้ใช่มั้ยคะว่าเพราะเหตุปัจจัยที่ได้กระทำ ถ้าหากว่า พัฒนาจิตให้เต็มไปด้วยวิชชา ช ช้างสองตัว นิพพานย่อมปรากฏ นิพพานย่อมบังเกิดมีขึ้นภายใน แต่ถ้าประกอบเหตุ ปัจจัยด้วยการปล่อยใจให้เป็นทาสของอวิชชา เหตุปัจจัยนี้ก็ย่อมจะกระทำให้เกิดแต่ความร้อน มีแต่ความร้อน ความเผาไหม้เกรียมขึ้นภายในตลอดเวลา นิพพานก็ต้องซ่อนตัว ไม่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ แต่เมื่อเปลี่ยนเหตุปัจจัยให้ถูกต้องเสียเมื่อใด นิพพานก็บังเกิดมีขึ้นภายใน
ทีนี้จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะพัฒนาจิตให้ถึงซึ่งความเย็น หรือถึงซึ่งภาวะแห่งนิพพาน ก็สรุปสั้นๆจากที่ได้เคยฟังมาแล้วในอริยสัจสี่ หรือในอริยมรรคมีองค์แปดนะคะว่า ข้อแรกก็จะต้องปฏิบัติหรือเจริญรอยตามอริยมรรคมีองค์แปด พูดง่ายๆว่าจงมีวิถีชีวิตด้วยการเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิตลอดไป จนกระทั่งถึงสัมมาสมาธิ อันเป็นอริยมรรคองค์ที่แปดหรือองค์สุดท้ายแห่งเหตุ เหตุปัจจัยที่กระทำ แล้วก็จะบังเกิดผลคือสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ นึกออกมั้ยคะ
เมื่อเราพูดกันถึงอริยมรรคแล้ว ก็ได้พูดถึง สัมมัตตะสิบ คือถูกต้องสิบประการ อันเริ่มต้นด้วยการเดินตามหนทางแห่งอริยมรรค จนถึงซึ่งความดับ สนิท ผลที่เกิดตามมาคือสัมมาญาณะ และก็สัมมาวิมุตติ ความหลุดพ้นอย่างถูกต้อง คือมีแต่ความสุขสงบเย็น ฉะนั้นถ้าหากบุคคลใดดำเนินชีวิตหรือมีวิถีชีวิตที่อยู่ในรอยของอริยมรรคมีองค์แปดอยู่ทุกขณะตลอดเวลา ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิตลอดไปจนกระทั่งถึงสัมมาสมาธิ ก็ไม่ต้องสงสัยว่าจิตนั้นจะมีความสงบเย็นอันเป็นสัญลักษณ์ ว่านิพพานได้บังเกิดมี ได้ปรากฏขึ้นแล้ว วิธีปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งก็คือ การปฏิบัติอานาปานสติภาวนาให้ครบสมบูรณ์ทั้ง 16 ขั้น ซึ่งผู้ที่ได้ศึกษาวิธีปฏิบัติสมาธิภาวนาในเรื่องของอานาปานสติ 16 ขั้น ก็คือเรื่องของกาย เรียกว่า กายานุปัสสนา ในธรรมหมวดแรกคือหมวดกายก็มี 4 ขั้น หมวดที่ 2 ก็คือหมวดเวทนา เวทนานุปัสสนา อีก 4 ขั้น หมวดที่ 3 ก็คือหมวดจิต จิตตานุปัสสนา อีก 4 ขั้น และหมวดที่ 4 ก็คือธรรม ธรรมานุปัสสนา อีก 4 ขั้น รวมทั้ง 16 ขั้น ปฏิบัติไปตามลำดับ ตั้งแต่การศึกษารู้เรื่องของลมหายใจ จนควบคุมลมหายใจได้ ก็สามารถบังคับจิตให้มั่นคงเป็นสมาธิได้ ไปถึงหมวดที่สอง เรื่องของเวทนา ก็ศึกษาฝึกปฏิบัติเวทนา จนรู้ว่าเวทนานี้ แท้จริงแล้วเป็นเพียงมายา หาใช่สิ่งจริงไม่ ยิ่งสิ่งที่เรียกว่าสุขเวทนาด้วยแล้ว อย่าได้ไปยึดมั่นถือมั่นเลย มันไม่มีตัว มีตน ให้ยึดมั่นได้เลย เพียงแต่ความหลงก็ไปคิดว่า สิ่งที่สมมติเรียกกันว่าความสุขก็เป็นจริงจัง สิ่งที่สมมติ เรียกกันว่าความทุกข์ก็เป็นจริงจัง เดี๋ยวก็รักสุข เดี๋ยวก็เกลียดทุกข์ ถ้าเมื่อใดยังมีความรู้สึกเช่นนี้ก็เรียกว่าตกเป็นทาสของเวทนา ก็ศึกษาปฏิบัติไป โดยเฉพาะปฏิบัติตามแนวทางของปฏิจจสมุปบาท ก็เห็นได้เองว่าเวทนาเป็น เพียงสักแต่ว่าเวทนาเท่านั้นหนอ มันหาใช่สิ่งจริงไม่ ก็สามารถควบคุมเวทนาได้ ก็เรียกว่าผัสสะที่เกิดขึ้นไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้เกิดเวทนาขึ้นในจิต ก็ต่อไปหมวดที่สาม จิตตานุปัสสนา ก็ทำการศึกษาจิต ให้รู้ลักษณะ ธรรมชาติของจิตที่เรียกว่าจิตของเรานี่นะคะ ว่าเป็นจิตที่สะอาดเกลี้ยงเกลาแล้ว หรือยังเป็นจิตที่ป่าเถื่อน เป็น จิตพยศร้าย คิดฟุ้งซ่านปรุงแต่งต่างๆนานา ประเดี๋ยวก็เอาอย่างโน้น ประเดี๋ยวก็จะเอาอย่างนี้ ไม่มีวันสงบเย็นได้ มีแต่ความวุ่นวายสับสน เป็นจิตที่คับแคบ เพราะเห็นแต่กะตัว นึกถึงแต่ตัวตนของตนเอง ไม่เป็นจิตที่กว้างใหญ่ คือเห็นแก่ผู้อื่น เป็นจิตที่ยังหยาบ ยังไม่ละเอียด เป็นจิตที่กระด้างยังไม่อ่อนโยน เรียกว่าศึกษาค้นคว้าจนกระทั่ง รู้จักลักษณะแห่งจิตของตน แล้วก็แก้ไข ขัดเกลาส่วนที่ยังขรุขระอยู่ แล้วก็รักษาเพิ่มพูนสิ่งที่เกลี้ยงเกลางดงาม แล้วให้ยิ่งขึ้นๆ จนผลที่สุดก็สามารถที่จะทดสอบกำลังของจิตว่าบังคับได้มั้ย เช่น บังคับให้มีความรื่นเริง ปราโมทย์ก็ทำได้ บังคับให้มันนิ่งขณะที่กำลังรื่นเริงปราโมทย์ ก็ควบคุมบังคับให้นิ่ง ให้สงบ ให้เป็นสมาธิก็ทำได้ หรือลองบังคับให้เป็นจิตที่เป็นอิสระ สลัดคืนปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เคยเกี่ยวข้องผูกพัน หรือยึดมั่นถือมั่น ก็เรียกว่าผู้นั้นสามารถปฏิบัติอานาปานสติภาวนา จนควบคุมบังคับจิตได้ ให้เป็นไปตามที่ต้องการ จิตอยู่ในอำนาจของการบังคับอย่างถูกต้องแล้ว ทีนี้ก็ใช้จิตที่อยู่ในสภาพที่พร้อม ด้วยความมั่นคง บริสุทธิ์ สะอาด แล้วก็มีกำลัง แล้วก็ว่องไวที่จะทำการงานนี่นะคะ ใคร่ครวญทำต่อไป ก็ขึ้นไปสู่หมวดที่สี่ คือ ธรรมานุปัสสนา ใคร่ครวญทำก็คือใคร่ครวญกฎไตรลักษณ์นี่ละค่ะ มองให้เห็นถึงความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง แปรปรวนเปลี่ยนไป มองเห็นความทนอยู่ไม่ได้ ทุกขัง จนกระทั่งค่อยๆซึมซาบในสภาวะของอนัตตา เมื่อเข้าถึงสภาวะของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มากๆ จิตนี้ก็ค่อยๆเกิด นิพพิทา ความเบื่อหน่าย เอือมระอา ในสิ่งที่เคยมีเคยเป็น เคยยึดมั่นถือมั่น กอดรัด แล้วก็มีแต่ร้อน ร้อนเพราะมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกอดรัดในสิ่งที่เป็นตัวเป็นตน ก็จะค่่อยๆถึงซึ่งวิราคะ คือจางคลาย จางคลาย ค่อยๆวางลงไป ปล่อยไปวางไป ปล่อยไป ทีละน้อยๆ จนหมดเกลี้ยง เรียกว่ามีแต่ความสะอาดนะคะ สะอาดจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง โดยเฉพาะคือความรู้สึกเป็นตัวตน วาง ปล่อย เกลี้ยง มันก็มีแต่ความสว่างดังที่กล่าวมาแล้ว สว่างเพราะเห็นชัดทีเดียวว่า แท้จริงแล้วมันเป็นแต่เพียงกระแส ทั้งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเช่นนั้นเอง ไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นจริงๆเลยสักอย่าง นอกจากความหลงด้วยความเขลาตามอำนาจของอวิชชา ที่ทำให้หลงผิดไปยึดมั่นถือมั่น บัดนี้เห็นชัดเจน จิตนั้นก็ถึงซึ่งนิโรธดับสนิท ดับสนิท ตามความเย็นที่มันเกิดขึ้นตามลำดับ ดับสนิทเพราะว่าไม่มีสิ่งที่เกี่ยวข้องผูกพันเหลืออยู่อีกเลย เป็นจิตที่เป็น อิสระ แล้วก็เอาให้ชัดๆ คือพิสูจน์ให้ชัดๆว่า ดับจริงมั้ย ก็สลัดคืน มีอาการของความรู้สึกว่าสลัดคืน สลัดคืนสิ่งที่ เคยบอกว่าเป็นเรา เป็นของเราที่ยึดมั่นถือมั่นรักใคร่เหล่านี้ มีอาการสลัดคืนออกไป ไม่ได้หยิบด้วยมือนะคะ แล้วก็สลัดด้วยมือ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่มันเกิดอาการของความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นในใจ ไม่เอาแล้ว สลัดคืน ปล่อยหมด เป็นอิสระดีกว่า อยู่เหนือความอยากมีอยากได้อยากเป็น คืออยู่เหนือตัณหา อุปาทาน ทั้งสิ้นทั้งปวง ในจิต มีแต่วิชชา ปฏิบัติอานาปานสติ 16 ขั้น ไปตามลำดับช้าๆ จนสำเร็จสมบูรณ์ ก็จะเป็นทางให้นิพพานบังเกิดมีขึ้นได้ภายใน
นอกจากนี้จะมีวิธีการปฏิบัติ หรือจะมีศิลปะอันใดที่จะเป็นการทำลายอัตตวาทุปาทาน ก็คือความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนทุกรูปแบบ ทำลายไปเสีย เช่น ศึกษาปฏิจจสมุปบาท ศึกษากฎธรรมชาติ กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตาจนเห็นแจ้ง นี่แหละคือวิธีการทำลายอัตตวาทุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในจิตให้ ลดลงๆๆ จนสิ้นนะคะ
นอกจากนี้ก็คือการฝึกการควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทให้ได้ ที่พูดว่าการควบคุม กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทให้ได้ในที่นี้ก็หมายถึงกระแสของการเกิดซึ่งความทุกข์ หมายถึงทางฝ่ายสมุทยวาร ที่เคยพูดมาแล้วนี่นะคะ ควบคุมทางฝ่ายสมุทยวารให้ได้ อย่าให้อวิชชาเข้ามาครอบงำจิต อย่าให้มันมีอิทธิพล เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสังขาร และสังขารก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดวิญญาณที่เป็นไปในทางเขลา ในทางที่ไม่ถูก ทีละน้อยๆ ตามลำดับ จนกระทั้งผลที่สุดก็เกิดนิโรธวาร คือสามารถดับเสียซึ่งความทุกข์ได้ และโดยเฉพาะก็คือการปฏิบัติในเรื่องของไตรลักษณ์ จนกระทั่งเห็นอตัมมยตาคือเห็นแล้วว่าไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่น หรือเข้าเกี่ยวข้อง ผูกพันเลยสักอย่าง สลัดคืนกลับไปหาของเดิม เจ้าของเดิมคือกลับไปอยู่กับธรรมชาติไม่ยุ่ง ไม่เกี่ยวข้อง เป็นอิสระ สิ้นความผูกพันสิ้นเชิง นี่ก็เป็นวิธีการปฏิบัตินะคะ ที่เรียกว่าพัฒนาจิตให้ถึงซึ่งความเย็น หรือให้ถึงซึ่งภาวะแห่งนิพพาน ให้บังเกิดมีขึ้นภายใน
ทีนี้ก็อยากจะพูดเพื่อเป็นการให้ระลึกไว้นะคะว่า นิพพานนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะถึงได้ ด้วยการไป หรือการมา หรือการติดอยู่กับที่ เคยได้ยินเจ้าประคุณหลวงพ่อท่านอาจารย์ชาท่านบอกว่า เดินไปก็ไม่ใช่ เดินมาก็ไม่ใช่ อยู่กับที่ก็ไม่ใช่ นี่เป็นคำพูดธรรมดา ฟังแล้วเข้าใจมั้ยคะว่าหมายความว่าอย่างไร ท่านก็หมายความถึงว่า ถ้าหากว่าจิตผู้ใดมีความรู้สึกว่ากำลังไป กำลังมา กำลังอยู่กับที่ จิตนั้นแสดงถึงความยังมีสิ่งข้องเกี่ยวอยู่ ยังมีการปรุงแต่งอยู่ จึงคิดว่าเป็นการไปและก็เป็นการมา หรือเป็นการอยู่กับที่ แต่จิตที่สิ้นซึ่งการปรุงแต่งแล้ว จะมองเห็นว่ามันเป็นจิตที่มีอยู่สภาวะเดียวคือความเย็น ความนิ่งความเย็น เย็นจนกระทั่งเป็นความดับสนิทเสียซึ่งความร้อนทั้งปวง เป็นจิตที่มีความเป็นปกติ คือ ราบเรียบอยู่เป็นนิจกาล แต่เมื่อราบเรียบอย่างนี้ โปรดอย่าเข้าใจว่าเป็นจิตที่เรียกว่าเหมือนหุ่น ไม่มีความรู้สึก เหมือนกับเครื่องจักร เปล่าเลยนะคะ จิตที่นิ่ง มั่นคง แล้วก็ดับเย็นสนิท โปร่งเบาสบายเช่นนี้ เป็นจิตที่ว่องไวอย่างยิ่งเลย แล้วก็เป็นจิตว่องไวที่พร้อมด้วยสติปัญญาด้วย เฉียบคมด้วย พร้อมที่จะทำการงานด้วย ฉะนั้นไม่ใช่จิตที่นิ่งอย่างซื่อบื้อ แล้วก็ไม่มีความคิด ไม่มีไหวพริบปฏิภาณ ไม่ใช่เลย จิตที่พร้อมจะทำการงานอันเกิดประโยชน์ทุกอย่างทุกประการ แต่ทว่าทำด้วยความนิ่ง คือข้างนอกนี่ทำทุกอย่างนะคะ จะต้องเดิน ทำอะไรจะต้องว่องไวอะไรใช้มือใช้สติปัญญาทำทุกอย่างข้างนอก แต่ข้างในนั้นนิ่งสนิท ทำอย่างชนิดไม่มีตัว อย่างที่พูดกันแล้ว คือ ไม่มีตัวผู้กระทำ เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงนิพพานจึงไม่ใช่สิ่งที่จะไปหรือจะมา หรือจะอยู่กับที่แต่เป็นสิ่งที่จะต้องฝึกฝนอบรม จนกระทั่งบังเกิดมี โปรดจำคำว่าบังเกิดมีนะคะ บังเกิดมีขึ้นภายในแห่งภาวะดังกล่าวแล้ว คือภาวะแห่งความเย็น ดับสนิท ถ้าจะใช้คำว่า ความสุข ตอนนี้แหละเป็นสุขที่แท้จริง เป็นสุขอันเกษม เพราะจะเป็นความสุขที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะคงเป็นอยู่ อย่างนี้ตลอดไป
ฉะนั้นนิพพาน จึงเป็นสิ่งที่จะถึง ถ้าอยากใช้คำว่าถึงก็ถึงได้ด้วยการกระทำให้ปรากฏเกิดขึ้นในจิต แต่ถ้าหากว่าเราพูดว่าเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำให้บังเกิดมี อาจจะเข้าใจชัดนะคะ คือ บังเกิดมีขึ้นภายใน เพราะฉะนั้นนิพพานก็คือการทำลายม่านแห่งอวิชชาที่หุ้มห่อจิตอยู่ จึงจำเป็นล่ะนะคะที่เราจะต้องศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้าศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ก็หมายถึงว่าอวิชชายังหุ้มห่อจิตอยู่ จะมากหรือจะน้อยก็จะไม่สามารถทำให้จิตนั้น เกลี้ยง สะอาด แล้วบังเกิดความสว่าง ความสงบ ขึ้นมาได้ ฉะนั้นจึงจะต้องศึกษาปฏิจจสมุปบาทฝั่งสมุทยวารให้ชัดเจน แจ่มแจ้งจนสามารถทำลายม่านแห่งอวิชชาที่ห่อหุ้มอยู่ วิชชาเข้าแทนที่ เพราะฉะนั้นตอนนี้แหละนิโรธวารมันเกิดขึ้น ก็คือนิพพานมันเกิดขึ้นแล้วในจิต เจ้าประคุณ ท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านจึงมักจะพูดว่า นิพพานนี้สามารถทำให้เกิดได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ หมายความว่าอย่างไร ที่นี่ก็คือที่ใจนั่นแหละค่ะ สิ่งที่สมมติเรียกกันว่าใจ ที่ภายใน เดี๋ยวนี้ก็คือในปัจจุบันขณะนี้ อย่าไปรอคอยว่าให้ตายเสียก่อนเถอะแล้วถึงจะไปนิพพาน อย่าคอยอย่างนั้นนะคะ เพราะเราไม่รู้เลย เมื่อความตายเกิดขึ้นแล้วนั้นเราจะไปไหน เพราะฉะนั้นขอจงได้รีบทำ รีบทำให้เกิดขึ้นที่นี่และเดี๋ยวนี้ ด้วยวิธีใดก็ตามที่พูดมาแล้วนะคะ เดี๋ยวพูดซ้ำอีกก็จะว่าพูดซ้ำซาก แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องศึกษาปฏิบัติในเรื่องของอริยสัจสี่ ปฏิจจสมุปบาท แล้วก็กฎไตรลักษณ์ แล้วก็กฎอิทัปปัจจยตา ให้ชัดเจนขึ้น แล้วนิพพานก็จะบังเกิดขึ้นอย่างถาวรได้เป็นแน่นอนทีเดียวนะคะ ท่านก็แนะนำพอเพื่อเป็นกำลังใจว่า ในการที่จะทำให้นิพพานเกิดขึ้นที่นี่และเดี๋ยวนี้นั้น ถ้าจะมาอธิบายเป็นคำพูดกัน ก็อาจจะอธิบายได้ว่าเกิดขึ้นเป็นสามอย่าง หรือสามระยะ
ระยะแรกท่านเรียกว่าตทังคนิพพาน สะกด ด้วยต เต่า ท ทหาร ไม้หันอากาศ ง งู ค ควาย ตทังคนิพพาน หรือ สามายิกนิพพาน ส เสือ สระอา ม ม้า สระอา ย ยักษ์ สระอิ ก สามายิกนิพพาน นี่เรียกว่าเป็นระยะแรกนะคะ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ท่านหมายความว่า ที่เรียกว่าตทังคนิพพานหรือสามายิกนิพพานนี้ ถ้าอธิบายก็คือลักษณะภาวะของจิตที่มันเกิดว่างจากกิเลสขึ้นมาชั่วขณะ บาง ทีอาจจจะชั่วขณะสั้นๆ ชั่วอึดใจใหญ่ๆ และบังเอิญเกิดความประจวบเหมาะขึ้น เช่น สถานที่ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ไปอยู่ในสถานที่ที่สงบเย็น สงัด แต่ลำพังผู้เดียว นั่งอยู่ข้างชายทะเล หรือว่าในป่าโปร่ง หรือได้เสวนา กับสัตตบุรุษ คือได้ฟังท่านบันฑิต ท่านพูดคุยสนทนาในเรื่องของธรรมะ ฟังแล้วก็รู้สึกรื่นรมย์ใจ เบิกบานใจ ในขณะนั้นจิตก็มีความสะอาด มีความเย็น มีความสว่าง มีความสงบขึ้นชั่วขณะในขณะนั้น แต่มันไม่อยู่นาน พอพ้น ช่วงนั้นไปแล้วมันก็กลับมาวุ่นวายยุ่งเหยิงสับสน เรียกว่ามาร้อนเร่าอีกเหมือนเดิม ท่านจึงเรียกภาวะที่เกิดขึ้นชั่วขณะของความว่างอย่างนี้ว่าตทังคนิพพาน หรือสามายิกนิพพาน เป็นนิพพานที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญนะคะ
ทีนี้ระยะที่สองท่านเรียกว่า วิกขัมภนนิพพาน ว แหวน สระอิ ก ข ไข่ ไม้หันอากาศ ม แล้วก็ ภ ภรรยา น หนู วิกขัมภน นิพพาน นั่นหมายความถึงภาวะของจิตที่ว่างจากกิเลส คือไม่มีกิเลสตัณหาอุปาทานเข้ามารบกวน โดยการ บังคับจิตไว้ การที่จะบังคับจิตให้ว่างได้ชั่วขณะอย่างนี้ ก็คือการทำจิตตภาวนาหรือสมาธิภาวนา ท่านที่คุ้นเคย กับการทำสมาธิภาวนาก็คงนึกได้ใชมั้ยคะ ขณะใดที่จิตของเราพร้อมในการที่จะทำสมาธิภาวนา นั่งสงบ กายก็ พร้อม จิตก็พร้อม เรียกว่าไม่เอาความวิตกกังวลใดๆเข้ามาเลย อยู่กับลมหายใจที่เป็นเครื่องกำหนดในการทำสมาธิ แล้วจิตนี้ก็ค่อยๆรวมจากที่หลวมๆ เหมือนกำมือหลวมๆนี่นะคะ ค่อยๆแน่นเข้าๆๆจนกระทั่งเป็นกำหมัด เป็นกำๆเดียวนี่นะคะ สนิท นิ่ง ดิ่งเดี่ยว ในขณะนั้นจิตบริสุทธิ์ สะอาด แล้วก็หนักแน่นแล้วก็มั่นคง ในขณะนั้นแหละ จิตก็มีความสงบเย็น แล้วก็นิ่ง แล้วก็ดับเสียซึ่งความร้อน ไม่มารบกวนเลย ท่านก็เรียกว่าเป็นนิพพานที่ บังคับเอาไว้ ด้วยการทำสมาธิภาวนา แต่มันก็อยูได้ชั่วขณะ พอออกจากสมาธิแล้ว จิตก็อาจจะกลับไป กลับไปสู่ความร้อน ความสับสนยุ่งเหยิงเหมือนเดิมอีก
เพราะฉะนั้นก็อย่าวางใจนะคะ เอาแต่เพียงว่า เมื่อเกิดตทังคนิพพาน คือนิพพานโดยบังเอิญ หรือวิกขัมภนนิพพาน นิพพานโดยบังคับเอาไว้ ก็ให้รู้แต่เพียงว่า อ๋อ รสชาติของนิพพาน คือความเย็นดับสนิทเป็นอย่างนี้ เราได้ลิ้มรสแล้ว แล้วก็ทำจิตใจให้ปิติยินดีชื่นชมซาบซ่านกับอารมณ์ของนิพพานหรือภาวะแห่งนิพพานที่เกิดขึ้น จะมีกำลังใจที่จะพัฒนาเพิ่มพูนความสงบเย็นดับสนิทที่มีลักษณะเช่นนั้นให้มากขึ้นๆๆ ก็ด้วยการปฏิบัติจิตตภาวนาพร้อมๆกับการทำวิปัสสนา ด้วยอะไรล่ะ ก็ด้วยการศึกษาปฏิจจสมุปบาทอย่างที่ว่าแล้วนี่ละค่ะ ศึกษาทบทวนไปมา ทบทวนไปมา จนสามารถขับไล่อวิชชาออกสิ้น เหลือแต่วิชชา ตอนนี้แหละ เป็นสมุจเฉทนิพพาน ส เสือ ม ม้า สระอุ จ จาน สระเอ ฉ ฉิ่ง ท ทหาร สมุจเฉทนิพพาน คือ หมายความถึงการที่ตัดกิเลส ตัณหา อุปาทานเด็ดขาด เป็นความดับกิเลส ตัณหา อุปาทานสิ้นเชิง อวิชชาก็ถูกตัดขาด ทำลายล้างเรียกว่ารากเหง้าไม่มีเหลือ วิชชาเข้าไปส่องสว่างในจิตเต็มที่ ก็มีแต่ภาวะแห่งนิโรธเกิดขึ้นภายใน ตอนนี้แหละท่านเรียกว่าเป็นการตัดรากเหง้าของกิเลสตัณหาอุปาทานด้วยอำนาจของวิปัสสนา คือด้วยอำนาจของปัญญาที่พัฒนาแล้ว จนมีความคมเฉียบ ตัดได้เด็ดขาด พร้อมกับมีน้ำหนักที่จะฟันลงไป คือด้วย อำนาจของสมาธิ จึงเป็นนิพพานที่เด็ดขาด แล้วก็เป็นนิพพานที่นิรันดร
นี่ก็เรียกว่าความหมายของนิพพานที่จะบังเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วบังเกิดขึ้นได้อย่างนิรันดรนั้น มีลักษณะอย่างไร และจะทำได้อย่างไร ก็หวังว่าจะลองดูนะคะ ว่านิพพานอยู่ที่นี่เอง สังสารวัฏอยู่ที่ไหน นิพพานก็อยู่ที่นั่น ดังนั้นเมื่อสังสารวัฏเกิดขึ้นได้ เราเป็นมนุษย์ผู้มีสติ ปัญญา ทำไมจึงจะทำนิพพานให้บังเกิดขึ้นไม่ได้ ก็หวังว่าคงจะได้พยายามทดลองเพื่อให้ถึงซึ่งความเย็น ดับสนิท และความมีชีวิตเย็นอยู่เป็นนิจนิรันดร ธรรมะสวัสดีค่ะ