แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ เราได้พูดกันถึงเรื่องของความทุกข์มาบ่อยๆ นะคะ บางทีก็อาจจะรู้สึกเบื่อ ที่จะฟังคำว่าความทุกข์ วันนี้ก็เลยอยากจะเปลี่ยนมาพูดถึงในความรู้สึกส่วนตัวนะคะ ก็จะมาพูดถึงเรื่องของความสุข แต่ก็อดไม่ได้ที่อยากจะใช้ชื่อให้เต็ม ในเรื่องหัวข้อของวันนี้ว่า อันตราย หรือความน่ากลัวของสิ่งที่เรียกว่าความสุข
ฟังแล้วรู้สึกว่าจะขัดใจไหมคะ เพราะจะพูดเรื่องความสุข แต่ก็ยังมาพูดว่าอันตราย หรือความน่ากลัวของสิ่งที่เรียกว่าความสุข นี่เป็นคำพูดของส่วนตัวเองนะคะที่อยากจะสะกิดเตือนให้รู้ว่า สิ่งที่เรียกว่าความสุขนั้น อย่าเพิ่งวางใจ หรืออย่าเพิ่งไว้ใจนะคะ
ข้อความนี้เก็บมาจาก ปุณโณวาท หรือ ปุณโณวาทสูตร มีอยู่ในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 25 นะคะ ในเรื่อง ปุณโณวาทสูตรนี้ กล่าวถึง พระปุณณเถระ ซึ่งเป็นพระพุทธสาวกผู้ใหญ่องค์นึงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็คงจะเป็นที่ทราบกันว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อพระพุทธสาวกองค์ใดตั้งใจที่จะออกไปปฏิบัติวิเวกแต่ลำพังผู้เดียว โดยมีจิตมุ่งพระนิพพาน ก่อนจะไปก็จะต้องไปกราบทูลลาองค์สมเด็จผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมกับกราบทูลขอพระพุทธองค์ว่า เพื่อจะเป็นหลักใจ หรือเป็นแนวทางของการปฏิบัติว่าขณะที่จะไปปฏิบัติเพื่อมุ่งพระนิพพานนั้น จะใคร่ครวญทำ อยู่ในจุดใดเป็นจุดสำคัญ
ท่านพระปุณณเถระ ในขณะที่ท่านพำนักอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร พระองค์สมเด็จผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงประทับอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ท่านพระปุณณเถระก็มีความดำริว่า ท่านประสงค์ที่จะออกไปปฏิบัติอยู่ในที่สงบสงัด ในที่วิเวก แต่ลำพัง แต่ลำพังคนเดียว ท่านองค์เดียว ก่อนจะไปท่านก็ไปกราบทูลองค์สมเด็จผู้มีพระภาคเจ้าว่า…
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี่เป็นคำพูดของท่านนะคะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้โปรดสั่งสอนข้าพระองค์ด้วยพระโอวาทอย่างย่อๆ ท่านพระปุณณะขอประทานพระโอวาทย่อๆ พอที่ข้าพระองค์ได้สดับธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จะปลีกตัวออกไปอยู่ตามลำพัง ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมุ่งพระนิพพานอยู่
นี่เป็นคำกราบทูลของ ท่านพระปุณณเถระ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระตรัสว่า ดูก่อน ปุณณะ โปรดฟังให้ติดตามหน่อยนะคะ แล้วก็ ช้าๆ นะคะ ก็จะบอกว่า
ดูก่อน ปุณณะ มีรูปที่รู้แจ้งได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก น่าหลงใหล เป็นที่ตั้งแห่งความรัญจวนใจแล ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ติดใจรูปนั้น ความยินดีย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ ผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ติดใจรูปนั้น เพราะความยินดีเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะปุณณะ นี่เป็นพระดำรัสย่อนะคะ
ประโยคสำคัญก็คือว่า เพราะความยินดีเกิด ทุกข์เกิด สังเกตไหมคะ ว่าองค์สมเด็จผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาที่จะตักเตือนพระพุทธสาวกของพระองค์ทุกขณะทีเดียว ไม่เว้นว่าเป็นใครทั้งนั้น ให้สำนึกว่า ความยินดีเกิด ทุกข์เกิด ความยินดีก็คืออะไร ก็คือสิ่งที่เรียกว่าสุขเวทนา พอสุขเวทนาเกิดขึ้นนี่มันชักติดใจใช่ไหมคะ ชอบ พอใจ รักใคร่ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าชอบ พอใจ รักใคร่ ติดใจ ในสุขเวทนา มันเกิดอะไรขึ้นล่ะคะ มันก็เกิดความรู้สึก อยากได้ ใช่ไหมคะ ตามปฏิจจสมุปบาท อยากได้ตามเวทนานั้น ยึดมั่นถือมั่นในเวทนานั้น และก็มีความกระวนกระวาย ครุ่นคิด จนกระทั่งปลงเป็นภพเป็นชาติ แล้วผลที่สุดก็ลงเอยด้วยความทุกข์เพราะอยากจะได้ให้สมใจอยาก
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัส เพื่อที่จะตักเตือนใน เรื่องของสุขเวทนา คือคนเรามักจะมีความระมัดระวังที่จะไม่เข้าใกล้ในความทุกข์ เกลียดกลัวความทุกข์ เพราะรู้ว่ามันทำความไม่สบายใจให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต มันทำความหมองหม่น มันตัดความเบิกบานสดชื่นทั้งหลาย ใช่ไหมคะ ก็เกลียดกลัวความทุกข์ ไม่อยากเข้าใกล้ แต่ทว่า พอสิ่งใดที่สมมติเรียกว่าความสุข ก็อดไม่ได้ที่จะผวาเข้าไปหา แล้วก็ตกเป็นทาสของมันอย่างง่ายดาย
ในชีวิตของเราทุกวันนี้ ถ้าจะพิจารณาดู ก็จะเห็นว่า ตกอยู่ภายใต้ความเป็นทาสของสิ่งที่เรียกว่าความสุข หรือสุขเวทนานี้โดยไม่นึกว่า นี่ล่ะคือศัตรูล่ะ เป็นศัตรูที่น่ากลัว ที่อันตรายมาก มันเป็นมายา อย่างเห็นได้ชัดแจ้ง มายาที่ล่อลวง หลอกล่อให้หลง แล้วก็ให้ติด
ฉะนั้น เมื่อท่านพระปุณณะกราบทูลขอพระพุทธโอวาทโดยย่อ พระองค์จึงไม่ตรัสล่ะเรื่องทุกข์ แต่พระองค์ตรัสตรงเข้าไปที่จุดที่สำคัญมากที่จะต้องพิจารณาแล้วก็แก้ไขให้ละลายไปให้ได้ในความติดสิ่งที่เรียกว่าความสุข เพราะถ้าหากว่า ความยินดีเกิดขึ้น ทุกข์เกิดขึ้นนะ พระองค์รับสั่งอย่างนี้ เรียกว่า ถ้าติดสุขเมื่อไหร่ นั่นแหละทุกข์เกิดถ้าพูดอย่างคำธรรมดา นอกจากนั้น ความยินดีเกิดขึ้นในรูป รูปนี่คืออะไร รูปก็คืออายตนะภายนอก ที่เป็นคู่ของ อายตนะภายใน ก็คือสิ่งที่เรียกว่าตา ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงตา อายตนะภายใน แล้วต่อไปถึงเสียง แล้วก็จมูก ขอโทษ พูดถึงตา แล้วก็หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ใจ ที่เป็น อายตนะภายใน แล้วก็คู่ของมัน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็ธรรมารมณ์ซึ่งเป็น อายตนะภายนอก
เพราะฉะนั้น พระองค์ก็เรียงไปตามลำดับเลย เริ่มต้นด้วยรูป ถ้าเห็นรูปที่ถูกใจแล้วก็มีความยินดี เพลิดเพลิน พอใจ หลงใหล ติดใจในรูปนั้นนั่นแหละ ถ้าเกิดขึ้นแก่ผู้ใดในความยินดีความเพลิดเพลิน ยินดีเกิด ทุกข์เกิด เช่นเดียวกันกับ มีเสียง เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสต แล้วก็เกิดความเพลิดเพลิน ยินดี พอใจ ติดใจในเสียงที่น่าใคร่ น่าหลงใหล เป็นที่รักที่พอใจนั้น ยินดีในเสียง ก็ทุกข์เกิดเหมือนกันนะคะ หรือยินดีในกลิ่นที่เป็นที่เพลิดเพลินใจ จรุงใจ น่าใคร่น่าพอใจ น่าปรารถนา น่าหลงใหล ยินดีในกลิ่นก็ทุกข์เกิด หรือยินดีในรส รสที่เอร็ดอร่อยถูกใจ ถูกลิ้น ก็เพลิดเพลินในรสอร่อยนั้น ยินดี พอใจ หลงใหล ในรสอร่อยนั้น ยินดีในรส ทุกข์เกิดอีกเหมือนกัน เพราะอะไร เพราะอยากได้บ่อยๆ อยากกินบ่อยๆ รสอร่อยๆ อย่างนั้น ไปได้ให้ใครทำเมื่อไหร่ ก็ขอให้อร่อยอย่างนั้น เมื่อผิดเพี้ยนไปก็ทุกข์เกิด ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ยินดีในรสก็ทุกข์เกิด ก็เช่นเดียวกัน ยินดีในสัมผัส ได้รับสัมผัสที่อ่อนโยน นุ่มนวลถูกอกถูกใจ ทุกข์เกิดอีกเหมือนกัน เพราะจะเกิดความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจในสัมผัสอย่างนั้น เรียกร้องสัมผัสอย่างนั้น ฉะนั้นยินดีในสัมผัสอย่างนั้น ทุกข์ก็เกิดอีกเหมือนกัน เพราะมันไม่มีอะไรจะได้อย่างใจเลยสักอย่างเดียว เพราะความอยากได้นั้น มันเป็นทางให้เกิดความยึดมั่น อุปาทาน แล้วก็หมักดองเอาไว้เป็นภพ เป็นชาติ ก็ลงเอยด้วยความทุกข์
เช่นเดียวกันกับความรู้แจ้งทางใจ ถ้าเกิดความเพลิดเพลินในธรรมารมณ์ ที่กระทบเข้ามาที่ใจ เกิดความปรารถนา ความใคร่ ความพอใจ ความหลงใหล ยินดีในธรรมารมณ์ ก็ทุกข์เกิดอีกเหมือนกัน รวมความว่า พระองค์ทรงสอน หรือว่าทรงแนะท่านพระปุณณเถระว่าอย่างไร ก็คือจงอย่าประมาทนั่นเอง จงมีสติทุกขณะที่ความยินดีเกิด
ไม่ว่าจะเป็นความยินดีในรูป หรือในเสียง หรือในกลิ่น หรือในรส หรือในสัมผัส หรือในธรรมารมณ์ จงระมัดระวังนะ ว่าทุกข์เกิด และในทำนองเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่า มีรูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่าหลงใหล เป็นที่ตั้งแห่งความรัญจวนใจแล ถ้าภิกษุใดไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ติดใจรูปนั้น ความยินดีของเธอผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ติดใจรูป ย่อมดับไป เพราะความยินดีดับ เราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะคุณนะ
ฉะนั้นถ้าไม่อยากให้ทุกข์เกิด ก็ต้องอย่าให้ความยินดีเกิด คือ ให้ความยินดีดับให้ได้ พอเกิดความเพลิดเพลินยินดีในรูป อย่าติดใจ อย่าหลงใหล อย่าพูดถึง เห็นทันทีว่า มันมีแต่ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรทนอยู่ได้ ไม่มีอะไรเป็นตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียว จะต้องรีบบอกตัวเองอย่างนี้นะคะ แล้วทุกข์ก็จะดับ
เช่นเดียวกันว่า เมื่อมีเสียงที่ถูกอกถูกใจ ชวนให้เพลิดเพลิน ชวนให้รักใคร่ หลงใหล ติดใจ ก็ไม่ติดใจ ไม่พูดถึง เพราะเห็นทันท่วงทีด้วยสติและปัญญาว่า เป็นสิ่งที่เพียงสักว่าเท่านั้นหนอ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เพราะฉะนั้น เมื่อความยินดีในเสียงดับ ทุกข์นั้นก็ดับ
เช่นเดียวกับความยินดีในกลิ่น เมื่อเกิดขึ้น ตัดทันที เห็นว่าเป็นเพียงสิ่งสักว่า เห็นแต่เพียงเป็นกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ติดใจ ไม่พูดถึง ไม่หลงใหล ความยินดีในเสียงดับ ทุกข์ก็ดับอีกเหมือนกัน
เช่นเดียวกับเมื่อความยินดีในรสเกิดขึ้น แต่ไม่ยอมเพลิดเพลิน ไม่ยอมปรารถนา ไม่ยอมหลงใหลเพราะเห็นทันด้วยสติปัญญาว่า มันเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ปล่อยทันที ความยินดีในรสดับ ทุกข์ก็ดับ
เช่นเดียวกับความยินดีในสัมผัส จะมีสัมผัสที่อ่อนนุ่ม อ่อนโยน ชวนให้น่าปรารถนา น่าพอใจเพียงใด อ๋อ มันก็เป็นเพียงสักว่าเท่านั้นเอง เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่มีตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่น ความยินดีในสัมผัสนั้นก็ดับ ทุกข์ก็ดับ
เช่นเดียวกับธรรมารมณ์ ถ้ามีธรรมารมณ์ที่ผ่านมาทางใจ มากระทบ ไม่ยินดีๆในธรรมารมณ์นั้น เพราะเห็นทันท่วงทีว่าเป็นสิ่งสักว่า ตามธรรมชาติ ความยินดีในธรรมารมณ์ดับ ทุกข์ก็ดับ
นี่พระองค์ทรงสอนว่า ยินดีเกิด ทุกข์เกิด แต่ถ้าหากความยินดีดับ ทุกข์ดับ ในทุกกรณีของผัสสะที่เกิดขึ้น โดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางคู่ของมัน คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
เห็นไหมคะ นี่เป็นพระพุทธโอวาทที่ย่อมาก ฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะนำมาใช้เตือนใจตัวเองว่า ยินดีเกิด ทุกข์เกิดนะ ยินดีในรูป ทุกข์ก็เกิด ยินดีในเสียง ทุกข์เกิด ยินดีในกลิ่น ทุกข์เกิด ยินดีในรส ทุกข์เกิด ยินดีในสัมผัส ทุกข์เกิด ยินดีในธรรมารมณ์ ทุกข์ก็เกิด
แล้วจะดับได้อย่างไรล่ะ ก็ดับความยินดีซะสิ ความยินดีดับ ทุกข์ก็ดับ ยินดีในรูปดับ ทุกข์ดับ ยินดีในเสียงดับ ทุกข์ดับ ยินดีในกลิ่นดับ ทุกข์ดับ ยินดีในรสดับ ทุกข์ดับ ยินดีในสัมผัสดับ ทุกข์ดับ ยินดีในธรรมารมณ์ดับ ทุกข์ดับ สองอย่างนี้ค่ะ พิจารณาให้ตรงกันข้ามกันอยู่เสมอ เท่านี้เอง ทุกข์ดับได้ นะปุณณะ เหมือนดั่งที่พระองค์รับสั่งตอนสุดท้าย ว่าถ้าจะพูดตามคำรับสั่งขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านะคะ
ท่านก็รับสั่งว่า ดูก่อนปุณณะ มีธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งได้ด้วยมโน มโนก็คือใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ติดใจ ธรรมารมณ์นั้นย่อมดับไป เพราะความยินดีดับ เราจึงกล่าวว่าทุกข์ดับ นะปุณณะ
นี่ก็เป็นพระพุทธโอวาทที่ย่อที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าท่านผู้ใดรู้สึกว่า ไม่อยากทำความเข้าใจเรื่องอะไรมากๆ ยาวๆ ก็ลองดูสิคะ ลองฟังพระพุทธโอวาทโดยย่อที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานให้แก่ท่านพระปุณณะ แล้วก็นำมาใคร่ครวญที่ใจอยู่เสมอ ครั้งแรกๆ ก็ด้วยการภาวนา ก็คือด้วยการพูดน่ะนะคะ หรือว่าเป็นการท่องก็ได้ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ ซาบซึ้งมากเข้า จนเกิดขึ้นอยู่ในใจ ซาบซ่านอยู่ในใจ ไม่ต้องท่อง ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพูด มันก็พุ่ง ผุดขึ้นมาอยู่ในใจได้ตลอดเวลา
แล้วก็จะมีความรู้สึก ชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น จนผลที่สุด ความรู้สึกที่เคยติดอยู่ในสิ่งที่สมมติเรียกว่าสุข ที่ถือว่าเป็นที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ก็จะค่อยๆ หมดไป หมดไป ทีละน้อย แล้วความสุขสงบเย็นแท้จริง ก็ย่อมเกิดขึ้น โดยหนีไม่พ้น จริงไหมคะ
ทีนี้ พอท่านพระปุณณะ ได้รับพระพุทธโอวาทโดยย่อไว้ด้วยเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมน่ะนะคะ เหนือเศียรเกล้า ท่านองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รับสั่งถามว่า ดูก่อน ปุณณะ ก็เธออันเรากล่าวสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว จะไปอยู่ที่ถิ่นไหนล่ะ ต่อไปนี้ก็น่าสนใจเหมือนกันค่ะ จะเป็นเครื่องเตือนใจ ให้กำลังใจแก่เรา ผู้หวังจะประพฤติปฏิบัติพรมจรรย์
ท่านพระปุณณะก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีชนบทชื่อสุนาปรันตะ เป็นชนบทที่ห่างไกล นี่แหละเป็นที่ที่ข้าพระองค์จักไปอยู่ พระพุทธองค์ก็รับสั่งว่า
ดูก่อน ปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท ได้ยินว่าดุร้าย หยาบช้านักหนา แล้วถ้าพวกมนุษย์สุนาปรันตชนบท จักด่า จักบริภาษเธอ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น
สังเกตนะคะ พระองค์ทรงใช้ว่า เธอจักมีความคิดอย่างไร พระองค์ทรงไม่ได้ใช้คำว่า เธอจักรู้สึกอย่างไร เธอจักมีความคิดอย่างไร ในมนุษย์พวกนั้น ถ้าเขาด่า เขาบริภาษเธอ ทั้งที่ไม่มีเหตุน่ะค่ะ
ท่านพระปุณณะเถระก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตะจักด่า จักบริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตะนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ใช้ฝ่ามือตบตีเรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ถ้าเขาด่า ก็ยังดีกว่าที่เขาไม่ใช้ฝ่ามือตบตี ที่
นี้พระองค์ก็รับสั่งถามต่อไปว่า ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตะ จักใช้ฝ่ามือตบตีเธอ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ท่านพระปุณณะเถระก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนี้ว่า ยังดีนักหนาที่เขาไม่ใช้ก้อนหินขว้างปาเรา พระเจ้าข้า พระองค์ก็รับสั่งถามต่อไปอีก ก็คงเดาได้นะคะ
พระองค์ก็ทรงรับสั่งถามว่า ก็ถ้าเขาใช้ก้อนหินขว้างปาเธอล่ะ เธอจักมีความคิดในมนุษย์พวกนี้อย่างไร ท่านพระปุณณะก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์ก็จะมีความคิดว่า มนุษย์ชาวสุนาปรันตะนี้ ก็ยังดีนะที่เขาไม่ใช้ท่อนไม้ทุบตีเรา พระเจ้าข้า
พระองค์ก็รับสั่งถามต่ออีกแล้วว่า ก็แล้วถ้าหากว่าเขาใช้ท่อนไม้ทุบตีเธอล่ะ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนี้ ท่านพระปุณณะก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์ก็จะมีความคิดในมนุษย์พวกนี้ว่า ยังดีนักหนาที่เขาไม่ได้ใช้ศาสตราประหัตประหารเรา พระเจ้าข้า
ก็ถ้าหากว่าเขาใช้ศาสตราประหัตประหารเธอล่ะ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนี้ข้าพระองค์ก็จะมีความคิดว่า ยังดีนักหนาที่มนุษย์ชาวสุนาปรันตะไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาสตราอันคม พระเจ้าข้า
ก็ทรงรับสั่งถามต่อไปอีกนะคะว่า ก็ถ้ามนุษย์พวกนี้จักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาสตราอันคมเล่า เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนี้ ท่านพระปุณณะเถระก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า มีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่อึดอัด เกลียดชังร่างกายและชีวิต พากันแสวงหาศาสตรามาทำลายชีวิตตัวเอง อยู่แล ส่วนเราเอง ไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาสตรามาทำลายชีวิตแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์เหล่านั้นดังนี้ พระเจ้าข้า
เป็นอย่างไรคะ พอฟังแล้ว รู้สึกซาบซึ้งใช่ไหมคะ
แล้วก็ย้อนกลับมานึกถึงตัวเรา เราจะทำอย่างนี้ได้ไหม ไม่ต้องถึงขนาดขั้นสุดท้ายหรอก เพียงแต่ว่า เขาด่าว่า จะทนได้ไหมที่จะคิดว่า ดีกว่าที่เขาจะมาใช้ฝ่ามือตบตีเรา เป็นสิ่งที่ชวนคิด พอพระพุทธองค์ได้ฟังท่านพระปุณณะเถระ กราบทูลดังนั้น พระองค์ก็รับสั่งว่า ดีละ ดีละ พระปุณณะ เธอมีธรรมะ คือความข่มใจ และความสงบระงับดั่งนี้แล้ว
ความข่มใจคืออะไร ก็คือความข่มใจทมะ เป็นทมะ ทอ ทหาร มอ ม้า สระอะ ทมะ ความข่มใจอย่างยิ่งยวด ที่จะไม่โกรธตอบ คือไม่มีโทสะจากการที่ถูกกระทบกระแทก เบียดเบียน ดังกล่าวแล้ว ด้วยวิธีการต่างๆ ตามลำดับ แต่ทว่า มีความสงบระงับ กลับรักษาความสงบระงับภายในไว้ได้อย่างเป็นปกติ
เธออาจจะอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้แล
เธอจงกำหนดเวลาที่ควรไปได้แล้วในบัดนี้เถิด
พูดง่ายๆ ก็คือว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงฟังคำอธิบายกราบทูลของท่านปุณณะเถระแล้ว ว่าท่านพระปุณณะเถระนี้สามารถข่มใจให้มีทั้งความอดทนอดกลั้น ในขณะเดียวกันก็อดทนอดกลั้นด้วยความสงบระงับ มีทั้งขันติ มีทั้งโสรัจ จะอยู่ภายใน อยู่ทุกขณะ
ตั้งแต่เขากล่าวว่าบริภาษ ก็คิดว่าดีละ ดีกว่าที่เขาจะตบตี
เขาตบตีก็ยังดีกว่าที่เขาจะใช้ก้อนหินขว้างปา
เขาใช้ก้อนหินขว้างปาก็ยังดีกว่าเขาใช้ท่อนไม้ทุบ คือมันยังอยู่ไกล ถ้าท่อนไม้ทุบก็เข้ามาใกล้
ถ้าเขาใช้ท่อนไม้ทุบ ก็ยังดีกว่าเขาใช้ศาสตราประหัตประหาร เพราะมันมีคม แล้วมันก็เจ็บปวดได้เร็ว
ถ้าเขาใช้ศาสตราประหัตประหาร ก็ยังดีว่าเขาไม่ฆ่าเสียให้ตาย
ถ้าเขาฆ่าให้ตาย ท่านก็ยังอุตส่าห์คิดในทางที่ดีต่อไปอีกว่า เออดีนะ เราไม่ต้องฆ่าตัวเราเองให้ตาย ในขณะที่บางคนเนี่ย มีความอึดอัด เบื่อหน่าย หรือว่าเกลียดชังชีวิตร่างกายของตัวเอง แล้วก็ต้องไปเที่ยวหาศาสตราอาวุธมาฆ่าตัวเอง
ท่านมองทุกอย่างในแง่ดีหมด แล้วก็เพื่อที่จะมองในแง่ดีอย่างนี้ จะสามารถทำได้อย่างไร ก็แน่นอนน่ะนะคะ ว่าท่านผู้นั้น นอกจากจะมีธรรมะมาข่มขี่บังคับใจอย่างยิ่งยวด มีขันติโสรัจจะ มีความสงบระงับ อย่างถึงที่สุด อย่างบริบูรณ์ ท่านผู้นั้นย่อมจะต้องพร้อมด้วยความเมตตา กรุณา อย่างหาประมาณมิได้ คือหาขอบเขตจำกัดไม่ได้ ใช่ไหมคะ
ถ้าเพราะว่าชาวสุนาปรันตะไม่ใช่พี่น้องพวกพ้อง เรียกว่าเป็นคนแปลกหน้า ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย แต่ท่านพระปุณณะเถระก็ยังอุตส่าห์มอง ในแง่ดีตลอดเวลาว่ายังดีกว่านะที่เขาไม่ทำอะไรที่รุนแรงกว่านี้ ยังดีกว่านะที่เขาไม่รุนแรงกว่านี้โดยตลอด
เพราะฉะนั้น ในขณะเดียวกัน จิตเช่นนี้ ย่อมจะต้องพรั่งพร้อมอยู่ด้วยความเมตตากรุณา ที่ท่านเรียกว่า เป็นอัปปมัญญา คือเป็นความกรุณาที่ไม่มีขอบเขต ไม่เลือกที่รัก ไม่มักที่ชัง ว่าเป็นใคร ว่าเป็นพี่น้อง หรือเป็นคนแปลกหน้า หรือเป็นคนอยู่ในฐานะอย่างไร แต่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สมควรแก่การที่จะได้รับความเมตตากรุณาเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เชื่อว่าพระองค์ทรงหมดห่วง ไม่ต้องประทานพระโอวาทอะไรอีกแล้ว เพราะว่า คำตอบ คำกราบทูลของท่านพระปุณณะเถระแสดงถึงความเป็นผู้พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา และสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะ คงจะไม่ไปพลาดพลั้งเสียที แก่กิเลส ตัณหา อุปาทาน หรือผัสสะ ที่เกิดขึ้นกระทบเป็นแน่นอน
จึงรับสั่งว่า ดีล่ะ เธอเตรียมตัวไปได้แล้ว กำหนดเวลาที่จะเดินทางได้แล้ว ทรงหมดห่วงทีเดียว ฝ่ายท่านพระปุณณะเถระ เมื่อได้ฟังรับสั่งอย่างนั้นนะคะ ก็เตรียมตัวเดินทาง แล้วก็ไปพำนักอยู่ที่สุนาปรันตชนบท ตามที่ได้กราบทูลไว้
แล้วก็ภายในพรรษานั้นเองนะคะ ท่านพระปุณณะเถระก็สามารถทำให้ชาวสุนาปรันตชนบทกลับใจ กลับใจจากที่เป็นคนดุร้าย แล้วก็ชอบเบียดเบียนผู้อื่น เป็นคนที่มีศีล มีธรรม เรียกว่า กลับใจยอมเป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา สมาทานศีล แล้วก็ประพฤติธรรมตามกำลังของเขา เป็นจำนวนพันในพรรษานั้น และตัวท่านเองก็สามารถปฏิบัติธรรมให้บรรลุขึ้นไปยิ่งขึ้น จนถึงขั้นสูงสุด ตามที่ท่านได้กราบทูลไว้ว่า การที่ประทานขออนุญาตออกไปครั้งนี้ เพื่อจะไปอยู่วิเวกก็ด้วยมีใจมุ่งพระนิพพาน เพราะฉะนั้น ท่านพระปุณณะเถระก็ได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุด คือได้บรรลุถึงอรหัตตผลในพรรษานั้นด้วย
สรุปแล้ว ก็พอจะมองเห็นใช่ไหมคะว่า สิ่งที่เป็นข้อสังเกต ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานพระพุทธโอวาทย่อในครั้งนี้ ก็คืออะไร
ก็คือพระองค์ทรงเน้นให้ระมัดระวังอย่างยิ่งทีเดียว ในเรื่องการยึดติดในสุขเวทนา เพราะว่าสุขเวทนานี้ เป็นสิ่งที่ล่อหลอก ยั่วเย้า ให้มนุษย์เราติดได้ง่ายที่สุด ทั้งในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็ธรรมารมณ์ ติดได้ง่ายที่สุดเหลือเกิน เพราะมันชวนให้เพลิดเพลิน มันชวนให้หลงใหล เคลิบเคลิ้ม โดยไม่รู้ตัว
ฉะนั้น ในอานาปานสติหมวดที่ 2 ที่ว่า สุขเวทนานุปัสสนาท่านจึงเน้นการฝึกปฏิบัติของผู้ปฏิบัติอานาปานสติในหมวดที่ 2 นี้ว่า ต้องฝึกการพิจารณาในเรื่องของสุขเวทนา ทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก พิจารณาอะไรในเรื่องสุขเวทนาทุกลมหายใจเข้าออก
ก็คือพิจารณาให้เห็นโทษทุกข์ ของสุขเวทนาว่า เมื่อยึดติดในสุขเวทนาแล้ว มันสามารถก่อโทษทุกข์ให้แก่จิตใจได้อย่างไรบ้าง ก็คือ ร้อนเร่า ดิ้นรน ทะยานอยาก ปรารถนา ไม่รู้อิ่ม ไม่รู้พอ เกิดความตะกละตะกลาม หิวกระหาย อยากจะได้ให้อีกเรื่อยๆ ให้มาก ให้พอ แต่ไม่เคยพอ ได้แล้วก็อยากได้อีก ได้แล้วก็อยากได้อีก อย่างถ้าจะเปรียบก็ว่า ได้ร้อยอยากได้พัน ได้พันอยากได้หมื่น ได้หมื่นอยากได้แสน ได้แสนอยากได้ล้าน ได้ล้านแล้วก็อยากได้หลายๆ ล้านจนเป็นพันล้านหมื่นล้านไม่รู้จบ นี่ก็คือโทษทุกข์ของสุขเวทนา ที่ก่อให้เกิดโลภะ กิเลศตัวโลภะ ขึ้นในจิต แล้วก็เมื่อไม่ได้อย่างใจ ก็นำให้เกิดโทสะต่อไป ขัดแค้น เคืองใจ ทำไมจึงไม่ได้ แล้วก็วนเวียนที่จะหาหนทาง เพื่อให้ได้ ก็ตกหลุมลงไปในหลุมของโมหะ คือกิเลสตัวที่สาม หลงใหล ใคร่ครวญ แต่ไม่ใช่ใคร่ครวญทำ ใคร่ครวญผูกรัดอยู่กับสิ่งที่ต้องการจะได้ ตามความโลภ นี่ทั้งกิเลส ทั้งตัณหา รุมเร้าให้ร้อนเร่า ทรมาน แต่เผอิญไม่รู้สึก เห็นไปเป็นว่าธรรมดา เห็นความไม่ธรรมดาว่าเป็นธรรมดา มันก็เลยหมดหนทาง แล้วก็เกิดอุปาทาน ยึดมั่น ถือมั่น เป็นตัวเป็นตน ว่านี่เป็นสุขของฉัน ฉันจะต้องหาให้ได้ ต้องเป็นให้ได้ ต้องมีให้ได้ ทุกข์ของสุขเวทนานี้ร้ายกาจนัก ร้ายกาจมาก
การยึดติด ถ้าไม่ยึดติดมันก็ไม่เป็นไรนะคะ มันก็อยู่ของมัน สุขเวทนามันก็อยู่ของมัน มันก็ไม่มาทำอะไรได้ แต่พอยึดติดเข้า มีความอยาก มีอุปาทานเข้าไปเท่านั้นล่ะ เป็นโอกาสทีเดียว ที่มันจะโหมเข้ามาคุกคาม แล้วก็กอดรัด ฟัดเหวี่ยง ไม่ยอมให้หลุดออกไปได้
เพราะฉะนั้น ในอานาปานสติหมวดที่ 2 สุขทุกข์ ในเรื่องของเวทนานุปัสสนา ท่านจึงเน้นเรื่องการพิจารณาในเรื่องของความสุข ให้ละเอียดถี่ถ้วน ให้รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าสุขนี้ มันคืออะไร มีลักษณะอาการอย่างไร แล้วมันมีสุขได้กี่อย่าง ถ้าเราลองใคร่ครวญพิจารณาในชีวิตของเราที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่ามีสุขได้เยอะ แล้วก็อาการของความสุขที่เกิดจากปัจจัยแต่ละอย่าง แต่ละอย่างนี่มันก็ไม่เหมือนกัน ใช่ไหมคะ
สุขเพราะความรักมันก็มีอาการอย่างนึง สุขเพราะความพอใจที่ได้อย่างใจ มันก็มีอาการอย่างนึง
สุขเพราะได้เงินทองก็ต่างจากสุขเพราะได้คนรัก สุขเพราะได้คนรัก ก็ต่างจากสุขเพราะได้การงาน
สุขเพราะได้การงาน ก็ต่างจากสุขเพราะมีชื่อเสียงเกียรติยศ ความมีหน้ามีตา
ลองคิดพิจารณาเอามาเรียงกันเถอะค่ะ จะเห็นว่าอาการของความสุขนี้ก็แตกต่างกันไป แล้วถ้าหากว่าเราพลาด ไม่ใคร่ครวญให้ถี่ถ้วน เราก็จะไม่รู้หรอกว่า อาการของความสุขแต่ละอาการที่เกิดขึ้นนี้ มันมีลักษณะอย่างไร รู้ไม่ทันมัน พอรู้ไม่ทันมัน มันก็จู่โจมได้ง่าย ใช่ไหมคะ จู่โจมเข้ามาเต็มที่เลย พอจู่โจมเข้ามาเต็มที่ หนักเข้า หนักเข้า ก็ตกเป็นทาสของมันอย่างโงหัวไม่ขึ้น
เพราะฉะนั้น ในหมวดที่ 2 ของอานาปานสติ คือเวทนานุปัสสนา ท่านจึงให้พิจารณาเรื่องของความสุขอย่างละเอียดถี่ถ้วน พิจารณาให้ละเอียดยิ่งกว่าเรื่องความทุกข์อีก เพราะทุกข์นี้ คนมักจะเกลียดกลัวอยู่แล้ว ไม่ค่อยอยากเข้าใกล้ แต่สุขนี้ถลาเข้าไปหา มันติดง่าย จึงต้องพิจารณาให้ละเอียด จนกระทั่งเห็นความเป็นมายาของความสุข เห็นว่าสุขนั้นมันเป็นมายา มันเหมือนกับ รุ้งกินน้ำที่มองดูสวย ด้วยแสงนานาชนิด สีเหลืองบ้าง สีฟ้า สีเขียว สีน้ำเงิน สีแดงอ่อนๆ มองดูแล้วสวยงาม น่าจับต้อง น่าคว้าเอามาไว้ใกล้ๆ ตัว จะได้ไว้เล่น แต่ มีใครสามารถจับรุ้งกินน้ำได้บ้าง ไม่มี ได้แต่มองด้วยตา แล้วไม่ช้าไม่นาน มันก็ลับหายไป มันก็เหมือนกันอย่างนี้ หรือจะเปรียบอะไรก็ได้ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละท่าน จะนึกลองเปรียบดูว่า ความสุข หรือสุขเวทนานี้ เราจะเปรียบกับอะไรดีนะ มันถึงยั่วเย้าใจให้ติดซะเหลือเกินจนกระทั่งเห็นชัดถึงความเป็นมายาของมัน ชัดเมื่อไหร่ นั่นล่ะความยินดี ในสุขเวทนาทั้งหลายที่เกิดผ่านทางตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี หรือใจก็ดี จึงจะหยุด หยุดยั้ง แล้วก็สงบระงับ ไม่ยึดติด และเมื่อนั้นแหละ เมื่อความยินดีดับ ทุกข์ก็ดับ
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงชี้ชัดทีเดียวนะคะว่า การติดในสุขเวทนานี้เป็นสิ่งน่ากลัว ต้องระมัดระวัง ระมัดระวังมาก ในสิ่งที่เรียกว่าความสุข มันเป็นไฟเย็น มันไม่ใช่เป็นของดีหรอก มันเป็นไฟเหมือนกัน แต่มันเป็นไฟเย็น หรือบางทีท่านก็เรียกว่า เป็นทุกข์ที่ซ่อนเร้น
คือความทุกข์นี้มาได้สองอย่าง อย่างหนึ่งมาอย่างเปิดเผย อย่างที่เราพูดกันแล้วในอริยสัจ 4 มาอย่างเปิดเผยก็คือมาในรูปของความทุกข์ ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ ต้องคร่ำครวญ หวนไห้ เกลือกกลิ้ง เรียกว่าขมขื่นทรมาน อยู่ด้วยความอัดอั้นตันใจ ยากที่จะพรรณนา นั่นมาในรูปของความเปิดเผย
แล้วเราก็เรียก สมมติเรียกว่าความทุกข์ แต่อีกอย่างหนึ่งที่คนมองไม่ค่อยเห็น แล้วก็อ้าแขนรับ ก็คือมาอย่างซ่อนเร้น มาในรูปของสิ่งที่สมมติเรียกว่าความสุข มันเป็นไฟเผาได้เท่าๆ กันนะคะ แล้วก็จะเป็นไฟเผาได้นานกว่า ทำไมถึงนานกว่า ก็เพราะมีความติดยึด ติดยึดแล้วก็กอดรัด ไม่อยากปล่อย ไม่ยอมให้ ไม่ยอมแบ่งปัน เพราะคิดว่ามันดี ก็เลยถูกมันไหม้เอา ไหม้เอา ไหม้เอา และมันเป็นไฟเย็น มันก็เลยไหม้ได้ลึกกว่า ได้ลึกกว่า ได้นานกว่า แล้วก็ไม่หยุดง่ายๆ
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบความจริงข้อนี้ จึงทรงประทานเป็นพระพุทธโอวาทแก่ท่านพระปุณณะเถระ ซึ่งเราเชื่อว่า ท่านต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความทุกข์ อาการของความทุกข์ในเรื่องของอริยสัจ 4 ชัดเจนมากทีเดียวอ เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระเจ้า จึงทรงเห็นว่า อีกนิดเดียวเท่านั้นน่ะที่ยังมีเป็นไฝฝ้าธุลีอยู่ ท่านจึงทรงเตือนจุดที่สำคัญที่สุด ก็คือจุดของการติดสุข
เชื่อไหมคะว่าการติดสุขนี้น่ากลัวมาก เพราะมันทำร้ายได้แรง ได้ลึก แล้วก็ คนถูกทำร้ายก็บาดเจ็บสาหัส ทรมานด้วย ขมขื่นด้วย แต่เพราะไม่รู้ ไม่เคยสังเกต ฉะนั้นจึงควรที่เราจะได้ฝึกสังเกต ในเรื่องโทษทุกข์ ของสุขเวทนาให้มากขึ้น จนเห็นความเป็นมายาของมัน พอเห็นความเป็นมายาเท่านั้นล่ะ มันประจักษ์ใจ ปล่อยเลย ไม่อยากเอาอีกแล้ว ปล่อย เพราะมันไม่มีประโยชน์ เท่ากับเอากองไฟเข้ามาสุมไว้ในอก ก็ปล่อย เพราะฉะนั้น ความยินดีเกิด ทุกข์เกิด พระองค์ตรัสเตือนเอาไว้
ความยินดีเกิด ทุกข์เกิด ยินดีในอะไรก็ตาม พอยินดีก็จะเกิดความเพลิดเพลิน เกิดความน่าใคร่ น่าพอใจ น่าปรารถนา พูดถึงอยู่นั่นแล้ว ไม่รู้จบ ทุกข์เกิด แต่เมื่อความยินดีดับ ไม่เพลิดเพลิน ไม่ติดใจ รู้หรอก ว่ามันดี มันงาม มันสวย มันน่าเพลิดเพลิน น่าติดใจ แต่เห็นโทษทุกข์ของมันแล้ว เห็นความเป็นมายาของมันแล้ว ไม่หลงใหลอีก ไม่พูดถึง ปล่อย ตัด ทันที
ความยินดีดับ ทุกข์ดับ โปรดระลึกไว้ด้วยนะคะ นิโรธวารจะเกิดขึ้น
ความยินดีดับได้ก็เพราะวิชชา ชอ 2 ตัว ปรากฎขึ้นอย่างชัดในจิต เมื่อวิชชาปรากฏขึ้นชัดในจิต ก็คือปัญญา ส่องแสงสว่าง ให้บังเกิดความสะอาด สว่าง สงบไม่มีอะไรหลงเหลือเป็นไฝฝ้า เห็นชัดเจนทุกซอกทุกมุม จึงเกิดวิราคะ ความจางคลาย แล้วก็เกิดนิโรธะ ความดับ แห่งความยึดมั่นถือมั่น ทั้งสิ้นทั้งปวงนั้น ได้จนถึงที่สุด
นี่ก็เป็นข้อสังเกตข้อที่หนึ่ง ที่อยากจะนำมา พูดคุยสนทนากัน เพื่อเป็นข้อเตือนใจที่สำคัญนะคะในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าจะเอาความสุขทางโลก ไม่มีอ่ะค่ะ
คือความสุขอย่างโลกๆ ให้เพลิดเพลิน ให้ติดใจ ไม่มี แต่ปฏิบัติไปเถิด ด้วยความทุกข์ ด้วยน้ำตา แล้วความทุกข์จะค่อยๆ สิ้น น้ำตาจะค่อยๆ แห้ง ความเย็น ความสงบ ความเป็นปกติ จะเกิดยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ตามลำดับ
ทีนี้ ข้อสังเกตข้อที่สอง ที่ควรจะได้พิจารณาก็คือ ธรรมะที่สำคัญ ที่ควรต้องมี ในการประพฤติปฏิบัติธรรม จากข้อสังเกต จากการประพฤติปฏิบัติของท่านพระปุณณะ ก็คือว่า ความข่มใจ หรือธรรมะ ต้องเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้ประพฤติพรมจรรย์ ถ้าขาดความข่มใจเสียแล้ว ก็ยอมแพ้ได้ง่ายๆ ไม่อยากจะฝืนกระแสของความอยาก ของความยึด หรือความต้องการนานาประการ ก็อยากจะตามใจ พอเกิดอยากก็รีบตามตระครุบเอา พอเกิดโกรธก็ทำตามอารมณ์ของความโกรธ พอเกิดหลงวนเวียน ไม่รู้แล้ว หาทางออกไม่ได้
เพราะฉะนั้น ต้องมีความข่มใจที่จะทวนกระแสของทางโลก เรียกว่า ว่ายน้ำทวนกระแสอยู่ตลอดเวลา ด้วยความหนักหน่วง ด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ต้องทำ เพราะรู้ว่า จุดหมายปลายทางนั้นคือความสุขสงบเย็น ก็ฝืนใจในระหว่างทาง ยอมลำบาก ทนทุกข์ทรมาน เหน็ดเหนื่อยทุกอย่าง เพื่อความสุขสงบเย็นอันเป็นเป้าหมายในสุดท้ายปลายทาง
นอกจากนี้ก็คือความสงบระงับที่จะต้องมีอยู่ให้เสมอ ความสงบระงับจะเกิดขึ้นได้อาศัยความเมตตากรุณานะคะ บางครั้งก็อาจจะเกิดความสิ้นสุดความอดทน พอจะสิ้นสุดความอดทน ถ้าได้ปลูกเพาะความเมตตากรุณา ให้เกิดเป็นธรรมะประจำใจอยู่ทุกขณะตั้งแต่น้อยๆ จนกระทั่งเป็นพื้นฐานของจิตใจแล้วล่ะก็ พอจะเกิดโทสะหรือความสงบระงับจะเกิดจางหายไป ก็จะกระตุ้นให้ความสงบระงับมีความมั่นคงหนักแน่นเพิ่มขึ้นอีก เพราะรู้แล้วว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะเป็นต้นทุน ให้ความข่มใจ บังคับใจนั้น สามารถเป็นไปได้อย่างไม่ขาดตอน เพราะมีความสงบระงับ มีความมั่นคง พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา
ข้อสังเกตข้อที่สาม ก็นึกถึงคำพูดของเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ ที่ท่านมักจะพูดทั่วไปให้พุทธบริษัทได้ยินว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือที่ผ่านมา ที่ได้ประสบพบเห็นนี้ ดูให้ดีเถิด มีแต่ได้ ไม่มีเสีย ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย ไม่มีอะไรเสียเลย ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต จะเชื่อไหมคะว่าไม่มีอะไรเสีย
บางท่านก็อาจจะบอกว่า ไม่เสียยังไง ฉันเสียเงินไปออกตั้งเยอะแยะ ไฟไหม้บ้าน หรือว่าฉันถูกเปลี่ยนงานโดยไม่มีความเป็นธรรม อะไรๆ อีกตั้งเยอะแยะ แล้วจะว่าๆ ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย ได้อย่างไร ถึงแม้ ในทางสมมติ หรือในทางโลก จะพูดว่าเสีย เสียตำแหน่งการงาน หรือว่าเสียทรัพย์สินเงินทอง หรือว่าเสียสิ่งที่ควรได้ หรือบางทีก็เสียชื่อเสียงเกียรติยศ มันไม่ใช่เสียอย่างเดียว มันมีความได้ซ่อนอยู่ในความเสีย
ทำไมถึงว่าความได้ซ่อนอยู่ในความเสีย ก็เพราะเหตุว่าในความเสียนั้นเนี่ย มันจะเกิดบทเรียนน่ะ มันให้บทเรียนแก่ชีวิต ให้เกิดความระมัดระวัง เกิดความไม่ประมาท เกิดความมีสติ ยับยั้ง เกิดความรอบคอบ และในขณะเดียวกัน ก็เกิดปัญญาด้วย เกิดปัญญาที่จะรู้ฉลาด แก้ไขเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ให้เกิดซ้ำรอยอีก
แต่เมื่อจะทำสิ่งใด ก็จะทำด้วยความรู้ ประสบการณ์ ความรอบคอบ พร้อมอยู่ด้วยสติปัญญา ความสามารถอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ผลที่เกิดขึ้นจากการทำครั้งนี้ จากบทเรียนที่ผ่านมาแล้ว ก็จะทำให้มีการได้ คือได้ผลที่ดีขึ้น ที่รอบคอบขึ้น ที่เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น ตรงตามจุดประสงค์ยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น คำธรรมดาๆ ของเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ คือท่านอาจารย์พุทธทาส “ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย” ก็เป็นคำเตือนใจที่น่าจะเอามาใคร่ครวญ อยู่ในใจเสมอ ใช่ไหมคะ เพราะจะช่วยให้เราเป็นผู้ที่ไม่เสียใจง่าย ไม่ร้องไห้ง่าย ไม่ท้อถอยง่าย ไม่วิ่งเข้าป่าง่ายๆ วิ่งเข้าป่าในที่นี้หมายความว่า วิ่งเข้าไปเพราะวิ่งหนี วิ่งหนีปัญหา วิ่งหนีสิ่งที่ต้องเผชิญ แต่จะหันหน้าเข้าเผชิญกับปัญหา อย่างพร้อมด้วยสติ สมาธิ และปัญญา เพราะมองเห็นแล้วว่า สิ่งที่มองดูเสียนี้มันมีความได้ซ่อนอยู่ในนั้น จริงหรือไม่จริงก็ขอให้ลองคิดดูค่ะ
เพราะฉะนั้น ที่ได้คุยกันในวันนี้ ที่พูดว่า ความน่ากลัวหรืออันตรายของสิ่งที่เรียกว่าความสุข นี่เป็นประโยคที่อยากจะขอฝากไว้ ให้ระมัดระวัง เมื่อได้รับสิ่งที่เรียกว่าเป็นความสุข สมดังความที่ใจปรารถนา อย่าเพิ่งผวาเข้าไปหา และเมื่อมีสิ่งใดที่มีความรู้สึกว่า มันเป็นความสูญเสีย ก็อย่าเพิ่งเสียใจ แต่ทว่า ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตให้ยิ่งๆ ขึ้น เป็นการพัฒนาในหนทางที่ถูกต้อง ในแนวทางแห่งสัมมาทิฏฐิ และข้อสำคัญก็คือ เท่ากับว่าเราได้พิจารณาในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมะที่ทำให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงทราบถึงเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์และเหตุที่ทำให้ทุกข์ดับ
เมื่อเราเป็นพุทธบริษัท เป็นชาวพุทธ ที่ตั้งใจจะเจริญรอยตามคำสอนของพระพุทธองค์ แล้วทำไมเราไม่ลองเริ่มปฏิบัติเสียแต่เดี๋ยวนี้ ด้วยการที่พยายามกระทำ ความรู้สึกยินดีเกิด ให้ดับเสีย แล้วทุกข์นั้นก็จะดับไปด้วย ธรรมะสวัสดีค่ะ