แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ วันนี้จะพูดกันถึงเรื่องนกอินทรีเลี้ยงลูก จะว่าเป็นนิทานหรือว่าจะเป็นเรื่องธรรมะก็ลองฟังดูก็แล้วกันนะคะ แต่ในเรื่องของนกอินทรีเลี้ยงลูกนี้ ก็จะได้เปรียบเทียบกับเรื่องของวิธีการฝึกอบรมตน เพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ซึ่งก็ได้มีการฝึกอบรมมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร เชื่อว่าคงจะได้มีความเข้าใจแล้วก็ซาบซึ้ง ซึมซาบและก็ซาบซึ้งในความหมายของการมีชีวิตพรหมจรรย์อยู่แล้วนะคะ แต่ก็อยากจะขอทบทวนอีกสักหน่อย ก่อนที่จะได้จากไป เพื่อไปใช้ชีวิตพรหมจรรย์อยู่ที่บ้าน ว่าเราจะไปฝึกอบรมตนและประพฤติปฎิบัติอย่างไร และก็เพื่อเป็นกำลังใจให้เกิดการกระตุ้นเตือน ไม่ให้หยุดยั้ง ในการประพฤติปฏิบัติชีวิตเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ให้หมดจดงดงามให้ยิ่งขึ้นนะคะ ก็ขอทบทวนสักนิดนึงว่า ลักษณะของชีวิตพรหมจรรย์นั้นเป็นชีวิตเดียว โปรดอย่าลืมนะคะ เป็นชีวิตเดียว เป็นชีวิตอิสระ อยู่เหนือความข้องเกี่ยวผูกพันทั้งปวง ไม่ใช่ชีวิตของการคลุกคลีหรือคลุกเคล้าอยู่กับหมู่พวก แต่เป็นชีวิตเดี่ยว อิสระ อยู่เหนือความข้องเกี่ยวผูกพันทั้งปวง พูดอย่างนี้ก็..เมื่อตอนต้นสักครู่นี้เองก็บอกว่า จะไปใช้ชีวิตพรหมจรรย์ เมื่อกลับไปบ้านแล้วจะใช้อย่างไร
ทีนี้ตอนนี้มาบอกว่าเป็นชีวิตเดี่ยว อิสระอยู่เหนือความข้องเกี่ยวหมายความว่าอย่างไร ก็คงพอทราบหรอกว่า ข้างนอกนั้นก็คงยังจะต้องเกี่ยวอยู่ ถ้าหากว่ายังเป็นผู้ที่ต้องอยู่บ้านนะคะ ต้องอยู่บ้าน หรือต้องทำงาน หรือต้องมีการเกี่ยวข้องกับทางสังคมบ้าง ก็คงจะต้องมีการข้องเกี่ยวอยู่ แต่สิ่งที่จะต้องเป็นเดี่ยวและก็อิสระอยู่เป็นนิจก็จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่ตรงใจนั่นเอง ใจคือใจที่อยู่ภายในนั้น ให้เป็นใจที่เดี่ยวไม่เกี่ยวเกาะ เป็นใจที่เป็นอิสระ จะทำการสิ่งใดภายนอก จะพูดจะเกี่ยวข้องในทางภายนอก แต่ในทางภายในนั้นให้มีความรู้สึกมั่นคง หนักแน่น พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา ปัญญานั้นก็เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในธรรม สามารถเห็นทุกสิ่งตามที่เป็นจริงได้ไปตามลำดับ แม้จะยังไม่ถึงที่สุด แต่ให้เป็นหลักอยู่ในใจอยู่เสมอ ถ้ามีสิ่งนี้เป็นหลักอยู่ในใจตลอดเวลาแล้ว ก็จะสามารถมีชีวิตเดี่ยว มีชีวิตอิสระได้ แม้จะอยู่ในท่ามกลางครอบครัวหรือว่าญาติมิตร หรือในการงานหรือในสังคม แต่ก็แน่ล่ะที่มันจะต้องยากกว่า จะต้องขับเคี่ยวควบคุมใจอย่างเข้มข้น มันถึงจะทำได้นะคะ ถ้าปล่อยปละละเลยหรือว่าชะล่าใจ ยอมตามใจสะหน่อยเดียวเท่านั้น จะเดี่ยวไม่ได้ จะอิสระไม่ได้
นอกจากนี้ลักษณะของชีวิตพรหมจรรย์นั้นจะต้องเป็นชีวิตที่จืด จืดจากรสทั้งปวง ไม่ได้หมายความว่าการประพฤติพรหมจรรย์เป็นชีวิตที่จืดชืด ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ เป็นชีวิตที่มีรสอย่างยิ่ง การประพฤติพรหมจรรย์เป็นชีวิตที่มีรสอย่างยิ่ง เป็นรสที่เย็นสนิทอย่างเอมโอช ไม่สามารถจะพรรณนาได้ แต่ในทางข้างนอกแล้วล่ะก็ จะมีชีวิตพรหมจรรย์ได้ ก็เพราะเป็นชีวิตที่จืดจากรสทั้งปวง รสอะไรบ้าง ก็รสของกามคุณ5 รสของการติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จืดจากรสของกาม กามารมณ์ ที่เคยหลง เคยเห็นว่านำความชื่นบาน ความสุขมาสู่ชีวิต จืดจากสิ่งยั่วยุทั้งปวง จืดจากตัณหา จืดจากอุปาทาน เพราะจิตนั้นอวิชชาเข้าครอบงำไม่ได้เสียแล้ว เพราะฉะนั้นชีวิตพรหมจรรย์จึงต้องเป็นชีวิตที่จืด ถ้าหากว่าผู้ใดมีความรู้สึกว่า ในขณะใดชีวิตชักจะออกรสแล้วนะ รสที่ออก ที่ว่าออกรสเนี่ยมันเป็นรสข้างนอก ติดรสข้างนอก รสของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส รสของกาม กามารมณ์ ต้องรีบเร่งรัดชำระจิตใจใหม่ทันทีด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญาอย่างพร้อมหมู่ นั่นก็คือปฏิบัติตามอาปานสติภาวนา รูปแบบของอานาปานสติภาวนาให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ลักษณะของชีวิตพรหมจรรย์ จะต้องเป็นชีวิตของความไม่มี คือไม่มีที่แท้จริง ไม่ใช่ไม่มีอย่างหลอกๆ ไม่มีจริงๆคือไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีสิ่งของ ไม่มีอะไรๆ ที่เป็นของเรา ไม่มีจริงๆ ถึงแม้ว่าจะมีอยู่โดยสมมติ แต่ภายในนั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นสิ่งของของตนเพราะไม่มีตนที่จะยึด หรือฝึกการไม่มีตนที่จะยึด อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นชีวิตของความไม่มีที่แท้จริง ไม่ใช่ไม่มีแต่เพียงหลอกๆ
นอกจากนั้นลักษณะของชีวิตพรหมจรรย์ จะต้องเป็นชีวิตที่อยู่เหนือโลกสมมติอย่างสิ้นเชิง สิ่งใดที่สมมติกันว่าดี ว่าชั่ว ว่าได้ ว่าเสีย ว่ากำไร ว่าขาดทุน ว่าสะอาด ว่าสกปรก คือเป็นสิ่งคู่ ก็อยู่เหนือโลกสมมติอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คืออยู่เหนือการติดในสิ่งคู่ เพราะว่าสิ่งคู่นั่นคือสิ่งสมมติ รู้จักสมมติสัจจะ รู้จักปรมัตสัจจะอย่างชัดเจน ไม่หลงติดสิ่งที่เป็นสมมติสัจจะโดยประการทั้งปวง เพราะรู้แล้วว่ามันไม่มี มันเป็นเพียงมายาที่เกิดขึ้นตามสมมติจึงไม่เอาจริงเอาจัง ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในมัน ทั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นชีวิตที่ได้เข้าถึง เข้าถึงนะคะ และประจักษ์แจ้งในสัจธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนและอบรม สัจธรรมคืออะไร ก็โปรดทบทวน เราได้พูดกันแล้วหลายครั้ง สัจธรรมก็คือสภาวะอันเป็นธรรมดาของธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนั่นเอง ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น จะเป็นความแก่ หรือเป็นความเจ็บ หรือเป็นความตาย มันก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของแต่ละชีวิตอันเป็นธรรมดา ธรรมชาติอย่างนั้นเอง เพราะฉะนั้นก็จักจำจะต้องศึกษาจนประจักษ์แจ้ง จึงจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายแต่ประการใดว่าเป็นตนหรือของตน นี่จึงจะเป็นชีวิตที่อยู่เหนือโลกสมมติโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ สัจธรรมนั้นก็คือหมายถึงกฏของธรรมชาติที่จะต้องเป็นอยู่อย่างนั้น ตั้งอยู่อย่างนั้นตามธรรมดาของธรรมชาติ ก็ซ้ำอีกนิดนะคะ ก็คือกฏไตรลักษณ์ กฏอิทัปปัจยตา กฏแห่งอริยสัจจ์4 และปฏิจสมุปบาทนั่นเอง โปรดทบทวนให้คล่องแคล่วชำนิชำนาญจนกระทั่งซึมซาบได้อย่างลึกซึ้ง แล้วก็จะถึงซึ่งความประจักษ์แจ้ง
ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด และชีวิตพรหมจรรย์นี้ก็จะมีความหมดจดงดงามยิ่งขึ้น ความด่างพร้อยจะไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้ บังเกิดขึ้นเมื่อใดเพราะความขาดสติก็ชำระล้างทันที ให้เป็นความสะอาดบังเกิดขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าอยากจะเปรียบชีวิตพรหมจรรย์เหมือนอย่างชีวิตของนก เพราะนกก็เป็นผู้ที่มีสมบัติเป็นปีกสองข้าง จะไปไหนก็ใช้ปีกสองข้างนั้นโบยบินไป เป็นชีวิตที่อิสระ ไม่ต้องมีห่วงไม่ต้องมีกังวล เพราะฉะนั้นถ้าจะเปรียบชีวิตพรหมจรรย์เหมือนอย่างกับนก ก็จำเป็นที่จะต้องรู้อยู่ในใจว่ามันต้องไม่ใช่ชีวิตอย่างนกกระจอกนะคะ ชีวิตพรหมจรรย์นี้ไม่ใช่ชีวิตอย่างนกกระจอกที่ชอบคลุกคลีกันอยู่เป็นฝูงและก็พูดคุยกันจ้อกแจ้กๆ และก็ปรุงแต่งไปโน่นไปนี่ เพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่านต่างๆนาๆ ประเดี๋ยวมีอะไรมากระทบก็แตกรังกันออกไป กระจัดกระจายอย่างขาดสติอย่างตื่นตระหนก อย่างที่เขาว่าเหมือนกับนกกระจอกแตกรัง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ชีวิตอย่างนก อย่างนกกระจอก ชีวิตการประพฤติพรหมจรรย์จะต้องเป็นชีวิตอย่างนกอินทรีนะคะ ซึ่งเป็นพญานก ใช่ไหมคะ นกอินทรีนี่เขายกย่องว่าเป็นพญานก เป็นชีวิตที่เดี่ยว อิสระ แข็งแกร่ง กล้าหาญ เด็ดเดี่ยวและก็เด็ดขาด นี่เป็นชีวิตอย่างนกอินทรี
ทีนี้คุณลักษณะแห่งความเป็นนกอินทรีนั้น มีได้อย่างไรหรือเป็นได้อย่างไร ก็แน่นอนทีเดียว ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆเกิดขึ้นได้เองเป็นเองมีเอง จะต้องเนื่องเพราะการฝึกสอนการอบรมของพ่อนกแม่นกอินทรีที่ประพฤติสืบเนื่องและก็สืบทอดกันมาโดยตลอดไม่ขาดสายนั่นเอง ก็ขอให้เรามาลองศึกษาชีวิตของนกอินทรีว่านกอินทรีนั้นเลี้ยงลูกอย่างไร ด้วยวิธีใด และวิธีการเลี้ยงการฝึกอบรมของพ่อนกแม่นกอินทรีนั้น ได้ยังชีวิตที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อชีวิตของลูกนกอย่างไร เท่าที่ได้ยินได้ฟังมานะคะ ก็ได้ยินเล่าว่าพอนกอินทรีจะออกลูก คือแม่นกอินทรีจะออกลูก ก็จะจัดแจงไปหาก้อนหินที่เหมาะจะเป็นรัง ก็เป็นก้อนหินก้อนที่พอเหมาะน่ะ ที่แม่นกพ่อนกมองเห็นว่าเป็นก้อนหินที่มีขนาดเหมาะเจาะพอสมควร และก็จะต้องอยู่ในที่ปลอดภัยพอสมควรสำหรับลูกนก พอได้หินที่เหมาะใจแล้วคือได้แผ่นหินที่เหมาะใจแล้ว ก็จะหากิ่งไม้ กิ่งไม้ใหญ่บ้างเล็กบ้าง พอขนาดกับแผ่นหินนั้น มาวางลงบนหินเพื่อให้เป็นฐานของรัง ของรังนก พอเอากิ่งไม้วางบนแผ่นหินแล้วก็จะไปหาหนาม หนามแหลมๆ หนามคมๆ หนามใหญ่ๆ เนี่ยนะคะ มาวางสับเอาไว้บนแผ่นไม้อีกทีนึง ลองนึกภาพตามไปทีละชั้น ทีละชั้นนะคะ พอได้หนามเอามาวางบนกิ่งไม้แล้ว ก็จะไปหาใบไม้มาวางปิดหนามอีกทีนึง ใบไม้นี้ก็คงจะต้องเป็นใบไม้ที่ค่อนข้างจะนุ่มสักหน่อยนึง นุ่มกว่าหนาม นุ่มกว่ากิ่งไม้ อ่อนนุ่มกว่า แล้วก็มาวางบน ปิดหนาม เสร็จแล้วสุดท้ายแม่นกก็จะสลัดขนของตัวเองเนี่ยปูลงไปบนใบไม้อีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อลูกนกออกมาเนี่ย ก็จะได้นอนอยู่บนขนของแม่นกซึ่งมีความอ่อนนุ่ม แล้วก็ลูกนกเมื่อออกมาทีแรกนั้นยังปวกเปียกอยู่ เนื้อตัวก็ยังอ่อนนุ่ม เพราะฉะนั้นเมื่อได้นอนบนขนของแม่นกที่อ่อนนุ่มก็พอสบายใช่ไหมคะ แล้วแม่นกก็จะปล่อยให้ลูกนกเนี่ยนอนอยู่บนขนอย่างนั้นจนกระทั่งลูกอ่อน ลูกนกอ่อนนั้นเริ่มแข็งแรง พอเริ่มแข็งแรง แม่นกก็จะจัดแจงเอาขนออก คือเอาขนที่สลัดปูไว้ข้างบนเนี่ยเก็บขนทิ้ง ทิ้งออกจากรัง แล้วก็ปล่อยให้ลูกนกนอนอยู่บนใบไม้ ใบไม้ก็คงจะต้องแข็งกว่าขนเป็นแน่ เพราะว่ามันคงจะต้องเป็นใบไม้แห้งแล้วในตอนนี้ ก็กรอบแกรบ กรอบแกรบไม่อ่อนเหมือนขนของแม่นก แม่นกก็จะปล่อยให้ลูกนกนอนอยู่บนใบไม้นั่นอีกสักระยะหนึ่ง จนกระทั่งเคยชินเกลือกกลิ้งไปได้ พอจะแข็งแรงตามสมควรแก่กาลเวลา แม่นกก็จะเอาใบไม้ออก พอดึงใบไม้ออกตอนนี้เป็นไงคะ ลูกนกอินทรีก็ต้องอยู่กับหนามแล้วใช่ไหมคะ หนามแข็งๆแหลมๆ ที่แม่นกไปหาเอามาสะเอาไว้ ก็ไม่ต้องสงสัย ลูกนกก็จะต้องดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด จะดิ้นไปทางไหนก็ถูกหนาม ไปทางไหนก็ถูกหนาม ไปซ้ายไปขวาก็มีหนามเต็มหมดทั้งรัง ก็เป็นของแน่นอนอีกเหมือนกันที่จะต้องถูกหนามนั้นทิ่มแทงให้เจ็บปวดหรือเลือดไหลซิบๆ หรือไหลมากๆ ซึ่งแม่นกก็ ก็คงจะรู้ทั้งแม่นกพ่อนกต่างก็มองดูอยู่เฉยๆ มองดูลูกนกที่กระเสือกกระสนไปบนหนาม ฝึกอะไรตอนนี้ ก็คงจะตอบได้ ฝึกความอดทน ให้มีความอดทน ให้มีความแข็งแกร่ง ให้มีความเข้มแข็ง ไม่ใช่เป็นลูกนกที่เติบโตขึ้นมาแล้วก็เหมือนคนที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ อะไรๆก็ไม่ได้ หดไปหมดทุกอย่าง เพราะได้รับการทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงมากเกินไป แม่นกก็จะปล่อยให้ลูกนกเนี่ย ดิ้นกระเสือกกระสนอยู่บนหนามเพื่อให้รู้จักความเจ็บปวด รู้จักการถูกทิ่มแทง เพื่อให้รู้จักชีวิต
นี่เป็นการเรียนรู้เรื่องชีวิตแล้วนะคะว่า ชีวิตนั้นมันไม่ได้มีอ่อนนุ่มสุขสบายเหมือนขนนกเสมอไป บางครั้งมันก็มีชีวิตเป็นลักษณะของหนามที่จะทิ่มแทงให้เจ็บปวด แต่ในขณะเดียวกันโดยสัญชาตญาณใช่ไหมคะ ลูกนกก็จะได้เรียนรู้วิธีการหลบหลีก หลบหลีกหนามที่หลีกไม่ค่อยจะพ้นนั่นแหละ แต่อย่างน้อยก็คงจะรู้จักวิธีหลบหลีกเพื่อให้เจ็บปวดน้อยที่สุด จะเอนตัวทางไหนลงหนามถึงจะเจ็บปวดน้อยที่สุด ถ้าทำอย่างนี้จะถูกหนามแทงมาก ลูกนกก็จะได้เรียนรู้วิธีช่วยตัวเองที่จะหลบหลีกเอาตัวรอดให้ได้รับภัยน้อยที่สุด ทีนี้พอลูกนกคุ้นเคย คือรู้จักลักษณะของหนามและอาการที่ถูกหนามแทงนะคะว่าเป็นยังไง แม่นกก็จะเอาหนามออก พอเอาหนามออกตอนนี้ ลูกนกก็จะได้นอนอยู่บนกิ่งไม้ ซึ่งก็มีความแข็งกระด้างเพราะเป็นกิ่งไม้ใหญ่บ้างเล็กบ้างที่หักมาซ้อนๆกัน แต่มันก็จะไม่เจ็บปวดเหมือนกับอยู่ในหนาม เหมือนกับอยู่บนหนาม แล้วก็ปล่อยให้ลูกนกอยู่บนกิ่งไม้อย่างนี้นะคะอีกสักระยะหนึ่งจนเคยชินกับการที่จะเดินไประหกระเหิน เซซังบ้าง ยืนได้บ้าง อยู่บนกิ่งไม้นั้น พอเห็นว่าแข็งแรงดีพอสมควรแล้ว แม่นกก็จะดึงเอากิ่งไม้ออก ตอนนี้ก็จะปล่อยลูกนกให้อยู่บนแผ่นหินที่แข็งกระด้าง ร้อนเหมือนไหม้เมื่อถูกแสงอาทิตย์กลางแดดจ้า แล้วก็จะเย็นยะเยือกทีเดียวเมื่อถึงเวลาฝนตกหรือว่าลมพัดโชยมาอย่างแรงในตอนกลางคืน หรือเผอิญเป็นยามหนาว ฉะนั้นลูกนกก็จะได้เรียนรู้ชีวิตที่แข็งกระด้าง ชีวิตที่ร้อนเหมือนไหม้ ชีวิตที่เย็นยะเยือกจนสะท้านเข้าไปอย่างน่ากลัว และได้เรียนรู้ชีวิตหลายรูปหลายแบบอยู่บนหินที่กระด้างนั้น แม่นกก็จะดูแลลูกนกตามกำลังที่สมควรแก่การที่จะให้ ให้ความฝึกความอดทนให้เกิดขึ้นกับลูกนกเนี่ยนะคะ พอแม่นกเห็นลูกมีกำลังควรแก่การฝึกหัดแล้ว ตอนนี้แม่นกก็จะคาบลูกนกนั้นน่ะ บินขึ้นสูงสุดขึ้นไปบนอากาศ ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอขึ้นไปสู่ที่สูงแล้ว แม่นกก็จะปล่อยลูกนกหล่น ให้หล่นลงมา หล่นลงมาในกลางอากาศนั่นนะคะ แม่นกก็จับตาดูอยู่นะคะ ไม่ได้ปล่อยให้ลูกหล่นลงมาตามบุญตามกรรม ในขณะที่ลูกลอยเคว้งคว้างมาใกล้จะถึงดิน คือใกล้จะตกถึงดิน แม่นกก็จะโฉบลงมาโดยเร็ว แล้วก็คาบลูกขึ้นไปใหม่ ขึ้นไปบนอากาศอีก ให้สูงที่สุดอีก แล้วก็ปล่อยลงมาอีกอย่างนั้น หลายๆครั้ง พอลูกจะตก ก็โฉบลงมาคาบขึ้นไปใหม่ แล้วก็ปล่อยลงมาอีก พอลูกจะตกถึงดิน ก็โฉบลงมาคาบลูกกลับขึ้นไปใหม่ ทำไมถึงไม่ปล่อยให้ลูกตกถึงดินก็คงทราบ ถ้าตกถึงดินก็คงตาย เพราะลูกยังอ่อนอยู่ ยังบินไม่ได้ หล่นลงมาอย่างชนิดถูกทิ้งอย่างแรง และแม่นกก็จะสอนลูกโดยวิธีนี้ คาบลูกขึ้นสูง ปล่อยลงมา แล้วก็โฉบคาบขึ้นไปอีก จนกระทั่งลูกค่อยๆ บินได้ คือลูกก็จะค่อยๆรู้สึกการฝึกโดยสัญชาตญาณ เพราะในขณะที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางอากาศนั่นน่ะมันย่อมจะเป็นภาวะที่น่ากลัว น่าตกใจใช่ไหมคะ สำหรับลูกนก เคยอยู่กับแผ่นหิน เหมือนกับเป็นพื้นแผ่นดินที่สามารถจะยืนได้ รู้ว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งรองรับตัวเราอยู่ รองรับน้ำหนักเราอยู่ ไม่ให้ล้มไป แต่บัดนี้เนี่ยจะต้องลอยเคว้งคว้างอยู่กลางอากาศ ไม่รู้ว่าจะไปหล่นตกลงที่ไหนหรือว่าจะตายไป
ฉะนั้นลูกนนกย่อมจะต้องตะเกียกตะกายเป็นธรรมดาเหมือนอย่างกับเด็กหัดว่ายน้ำใหม่ๆ ใช่ไหมคะ ผู้ใหญ่พาออกไปกลางแม่น้ำ ทำท่าเหมือนจะจม ก็ไม่อยากจม ไม่อยากสำลักน้ำก็ต้องตะกุยตะกายด้วยมือด้วยเท้า ตะกุยตะกายไปมา ไม่ช้าไม่นานก็ว่ายน้ำได้ ลูกนกก็เช่นเดียวกัน เมื่อแม่นกปล่อยลงมาอย่างนี้เคว้งคว้างอยู่กลางอากาศ ก็ค่อยๆกระพือปีกน้อยๆของตัวทีละน้อย ละน้อย ละน้อย จนกระทั่งผลที่สุดก็เลยบินได้ แล้วก็ค่อยบินได้แข็งขึ้น แข็งขึ้น แข็งขึ้น เมื่อแม่นกเห็นลูกนกเนี่ยบินเลี้ยงตัวเองได้ แล้วแม่นกก็สอนให้รู้จักวิธีที่จะหาอาหารกิน หาเหยื่อเพื่อให้เป็นอาหารของตน เมื่อแม่นกเฝ้าฟูมฟักลูกนกอยู่สักระยะหนึ่ง จนมีความแน่ใจว่าลูกนกสามารถจะเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่แม่นกกับลูกนกจะจากกัน แม่นกก็จะบินไปลิบเลย ไม่เหลียวมาห่วงหาอาวรณ์ลูกนกอีกต่อไปเพราะหมดหน้าที่แล้ว หมดหน้าที่ของแม่นกที่จะมาดูแลเอาใจใส่ลูก ต่อไปนี้ก็เป็นหน้าที่ของลูกนก ที่จะต้องเลี้ยงตัวเองและก็เติบโตเป็นนกใหญ่ต่อไป แล้วก็คงจะไปสร้างรังมีครอบครัวของตัวต่อไป และก็เลี้ยงดูฝึกอบรมฟูมฟักลูกให้เติบโตแข็งแรงจนเลี้ยงตัวเองได้ต่อๆไป นี่ก็เป็นวิธีการเลี้ยงลูกของนกอินทรีที่ได้กระทำสืบทอดกันต่อๆ มาตามลำดับ
ทีนี้ถ้าจะเปรียบกับการที่นกอินทรีได้ใช้สิ่งต่างๆเนี่ยนะคะ เรียงลำดับในการที่จะสร้างรังดังที่กล่าวแล้วนั้นเพื่ออะไร ก็คงจะพอมองเห็นได้ว่าขนนกนั้นจากชั้นบนที่สุดแม่นกเอาสลัดขนลงไป ก็คงจะเปรียบได้ว่าขนนกก็คือให้ความชุ่มชื่น ชุ่มชื่นเบิกบานแล้วก็อ่อนนุ่มแก่ลูก แล้วต่อมาก็เข้มขึ้นอีกนิด เป็นใบไม้ เป็นหนาม เป็นกิ่งไม้ แล้วก็เป็นตัวหินเอง
ทีนี้ถ้าจะเปรียบวิธีการฝึกของแม่นกอินทรีที่ฝึกอบรมลูกอย่างนั้น กับเปรียบกับการฝึกอบรมชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม มีอะไรที่พอจะเปรียบกันได้บ้าง ก็อยากจะลองเปรียบดูว่า ประการแรกทีเดียว การที่มีชีวิตอย่างโลกๆ อย่างที่ได้ผ่านมาเป็นเวลานับ 20 30 40 ปีมาแล้วนั้น พูดได้ว่าเป็นชีวิตที่ตกอยู่ในท่ามกลางโลก หรือท่ามกลางทะเลของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ใช่ไหมคะ เป็นชีวิตที่ตกจมอยู่ใต้อำนาจของวัตถุนิยม ที่มีสิ่งยั่วยุที่ร้อนแรงหรือเป็นสิ่งยั่วยุที่ร้อนแรง ไม่ต้องพรรณนานะคะ เพราะเชื่อว่าทราบกันแล้วทุกท่าน แล้วก็วัตถุนิยมนี้มีอิทธิพลดึงดูดและกระตุ้นให้ชีวิตนั้นมีการบริโภค คือบริโภควัตถุนิยมที่ได้พบ ที่ได้ประสบ ที่อยู่แวดล้อม ที่มีผู้ผลิต ผู้สร้างขึ้นเพื่อล่อ เพื่อยั่วยุให้หลงบริโภคกันอย่างตะกละตะกลาม ตะกละตะกลามก็คือบริโภคอย่างไม่ได้คิดว่าสมควรหรือไม่ มีประโยชน์อะไร แสวงหามาอย่างชนิดที่ไม่ได้ใช้สติปัญญา จึงเรียกว่าเป็นการบริโภคอย่างตะกละตะกลาม อย่างมูมมาม อย่างไม่มีขอบเขต ด้วยความไม่รู้ที่เกิดจากความเขลา พอมองเห็นเป็นวัตถุนิยมมีมาใหม่ๆ ต้องรีบตะครุบดิ้นรนแสวงหา แม้ไม่มีเงินก็หยิบยืมก่อน เพื่อที่จะให้ได้มาชดเชยความต้องการที่เป็นความรู้สึกที่ดิ้นรนอยู่ภายใน ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะตกจมอยู่ในทะเลของกิเลสตัณหาอุปาทานใช่ไหมคะ ที่มีอวิชชาอยู่ที่ต้นเงื่อน ที่ห่อหุ้มจิตอยู่ ก็เลยมีความเขลา คิดไม่ออก ว่าควรไม่ควร ถูกไม่ถูก ยอมเป็นหนี้เขาดีกว่าที่จะไม่มีวัตถุนิยมที่โก้ๆ หรูๆ เหมือนอย่างคนอื่นเขามี เมื่อถูกเจ้าหนี้เร่งรัดเมื่อไหร่ หน้าดำคร่ำเครียดจึงจะได้สำนึก แต่ก็สำนึกอยู่ไม่นาน ทำใหม่อีก เพราะอำนาจของกิเลสตัณหาอุปาทาน อวิชชาครอบงำจิต คิดไม่ได้นาน กลับไปอย่างเดิมอีก ก็จึงตกอยู่ใต้อิทธพลของสิ่งอันเป็นมายาเหล่านั้น อย่างถอนใจไม่ขึ้น นอกจากนี้ก็ทำให้เกิดการติด คือติดตังในการเสพ เสพสิ่งที่สนองอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไปพร้อมๆกัน และอย่างในเรื่องของกาม ในเรื่องของกามารมณ์ ในเรื่องของกามคุณ5 ที่พูดว่าไปพร้อมๆกันนั้นเป็นอย่างไร ก็เหมือนอย่างเช่นการเสพเดี๋ยวนี้ จะต้องเสพพร้อมกันทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ยกตัวอย่างอย่างเช่นสมัยคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ถึงเวลารับประทานอาหารก็คือรับประทานอาหาร รับประทานอาหารเพื่อประโยชน์ในการดำรงร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง มีอาหารที่ถูกส่วน มีข้าวมีกับ กับนั้นก็มีปลามีผัก มีน้ำพริก มีแกง มีผลไม้ มีสิ่งที่จะช่วยหล่อหลอมให้ร่างกายนี้มีความแข็งแรงและก็อิ่ม ถ้าหากว่าจะมีสิ่งเจริญใจหรือว่าจรุงใจอะไรเกิดขึ้นในขณะกิน นั่นก็คือการได้อยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว พ่อ แม่ ลูก หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ยังอยู่ แล้วก็ได้พูดคุยสนทนากันแลกเปลี่ยนกัน ลูกหลานก็ได้ฟังคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือคุณพ่อ คุณแม่ เล่าเรื่องที่น่าสนใจในอดีตบ้าง หรือว่าเล่าเรื่องราวที่ควรจะเป็นคติแก่ใจแก่ชีวิตบ้าง ลูกหลานก็เล่าให้ฟังสิ่งที่ได้พบได้เห็นในวันนี้ ต่างก็มีความสนุกสนานเพลิดเพลินรักใคร่กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ครอบครัวก็มีความอบอุ่น นั่นเป็นสิ่งที่ถ้าจะเรียกเป็นความเจริญใจเป็นความสุขก็อยู่ตรงนั้น แต่สำหรับในสมัยปัจจุบันนี้พอถึงเวลาการกิน แทนที่จะกินที่บ้าน ในลักษณะที่ ปู่ ย่า ตา ยาย เคยกินร่วมวงกันมีน้อย มักจะต่างแยกกันไป ลูกก็ไปกินทาง คำว่าไปกินทางนึง ก็ไปกินกับเพื่อนกับฝูงไม่ค่อยจะมากินที่บ้าน ส่วนพ่อแม่ก็ออกไปกินข้าวนอกบ้าน จะมีปู่ ย่า ตา ยาย กินอยู่ที่บ้าน แยกกันไป การที่จะรวมกันมาได้สรวลเสเฮฮา ได้พบปะทักทายทุกข์สุข รู้จักกันให้ใกล้ชิดคือรู้จักถึงความรู้สึกความต้องการ ความทุกข์ ความโศก ความสุขของคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันอย่างเมื่อก่อนไม่มี แล้วก็ผู้ที่ออกไปกินที่แสดงถึงการกินพร้อมๆกัน ก็อย่างเหมือนเช่นที่ไปกินตามสถานที่เริงรมย์ต่างๆ ที่ว่าจะกินพร้อมทั้งทางกาย ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ปากก็กินอาหาร ลิ้นก็ลิ้มรสอาหาร แต่ยังไม่พอ ตาก็ต้องมีอะไรให้ดู มาเต้น มีคนมาเต้นให้ดู ต้องมีดนตรีให้ฟังให้เสนาะๆหู กายก็ต้องมีใครมาอยู่ใกล้ๆ คอยสัมผัสไปมา แล้วใจนี้ก็ได้แต่เป็นสุข แต่สุขอย่างมัวเมา ไม่ได้สุขอย่างเจริญใจเหมือนอย่างสมัยก่อนดังที่กล่าวแล้ว เพราะมันเป็นสุขร้อน ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งที่เป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นอารมณ์ที่ก่อให้เกิดกาม คือกิเลสกามแล้วก็อารมณ์ทางกาม เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นความสุขร้อน นี่แหละคือการติด ทำให้เกิดการติดทั้งการเสพ ทั้งทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจไปพร้อมๆกัน นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก แล้วก็เป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เองเมื่อเข้ามาสู่ชีวิตการประพฤติพรหมจรรย์ ก็จำเป็นจะต้องฝึกการหลีกเลี่ยงจากการกระทบกระเทือน หรือกระแทกกระทั้นของกิเลสตัณหาอุปาทานทั้งหลาย ด้วยการศึกษาและฝึกอบรมใจ ให้มีการปฏิบัติ ให้เข้าถึงแก่นของพระธรรม เพราะฉะนั้นถ้าจะเปรียบเทียบการประพฤติพรหมจรรย์กับการฝึกอบรมของพ่อของแม่นกอินทรีนับแต่ลูกเกิดจนเลี้ยงตัวเองได้ ก็อาจจะเปรียบกันได้ว่าขนนกก็เหมือนกับในการศึกษาธรรมะนั้น ได้พยายามที่จะให้ความชุ่มชื่น เบิกบาน หรือสร้างบรรยากาศที่ชุ่มชื่น เบิกบานสงบเย็น ในการสอน ในการฟัง ในการอบรมธรรม แต่เน้นให้เห็นถึงทาน ศีล ภาวนา อานิสงค์ของการทำทาน ทำศีล สมาทานศีล ภาวนาในเบื้องต้น พอให้เบิกบานใจ เสร็จแล้วต่อไป ใบไม้ก็เป็นการฝึกที่เข้มข้นขึ้นอีก เป็นการดึงจากการฝึกข้างนอกให้เข้าไปสู่ข้างใน เช่น จากการบริจาคทานข้างนอกไปสู่การบริจาคข้างใน บริจาคทางข้างในก็คือบริจาคความโลภ ความโกรธ ความหลง บริจาคตัณหาอุปาทานที่ยึดมั่นอยู่ บริจาคความเห็นแก่ตัว ซึ่งเกิดจากความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตน ให้มองเห็นทีละน้อย ละน้อยว่าแท้จริงแล้ว ตัวตนที่เห็นอยู่นี้มันเป็นแต่เพียงสมมติเท่านั้นนะ มันไม่ใช่ตัวตนจริงๆ นี่ก็เป็นการบริจาคทานภายในที่บริจาคได้ยาก ทั้งๆที่ไม่ต้องควักกระเป๋าเลยนะคะ แต่มันต้องข่มขี่บังคับใจ เป็นการฝืนทวนกระแส ก็จึงเปรียบได้เหมือนกับว่ามันค่อยเข้ม ต้องนอนลงบนใบไม้ที่มันกรอบแกรบ ที่มันไม่อ่อนนุ่ม เสร็จแล้วก็มาถึงหนาม หนามนี้ก็คือเวทนา เปรียบได้กับเวทนาที่มันเป็นจิตสังขาร มันจะทิ่มแทงจิตใจให้เจ็บปวด ให้กระหืดกระหอบ ให้ขมขื่น เป็นทุกข์อยู่เสมอ นั่นก็จะต้องมาศึกษาให้รู้จักถึงเรื่องของเวทนา ว่าเวทนานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ตามที่เราได้ศึกษากันแล้วในปฏิจจสมุปบาท ก็เกิดขึ้นจากตรงจุดของผัสสะที่ผ่านมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วใจนั้นยังไม่ฉลาดพอ ยังไม่มีสติปัญญาเพียงพอ เพราะฉะนั้นพอผัสสะเกิดขึ้น ก็ถลา เรียกว่าถลาไปฟัด กอดรัดฟัดเหวี่ยงกับมัน ถือเป็นจริงเป็นจัง แล้วก็จิตใจก็เกิดเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเวทนาที่เกิดขึ้นเนื่องจากผัสสะ โดยไม่รู้ว่าเวทนาต้นเหตุแห่งเวทนาจริงๆ นั้นมันก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนนั่นเอง เมื่อมีตัวตนมันก็ต้องมีตัวที่จะมีเวทนา คือเดี๋ยวก็เจ็บปวด เดี๋ยวก็ลิงโลดตื่นเต้น เดี๋ยวก็หลงใหลวนเวียนใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็จะเน้นการฝึกให้เข้าใจถึงเรื่องของอนัตตา คือความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนจนกระทั่งสามารถให้เห็นถึงความเป็นเพียงสิ่งสักว่า สักว่าแต่กระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทั้งนั้นนะ เห็นได้เมื่อใด ก็นี่แหละก็จะพ้นจากนรกอยู่ตรงนี้เอง
เพราะฉะนั้นการที่จะฝึกให้เข้าใจถึงเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามอันเป็นอยู่ตามธรรมดา ธรรมชาตินั้น ก็ให้รู้ให้ชัดถึงอำนาจที่มันทำให้เกิดผัสสะ จากอำนาจที่มันทำให้เกิดผัสสะ ให้มีความเฉลียวฉลาดพร้อมอยู่ด้วยความมีสติ สมาธิ ปัญญาทันท่วงทีที่เกิดผัสสะ จนสามารถเห็นว่าผัสสะนั้นเป็นสักแต่ว่าผัสสะเท่านั้นนะ แล้วนรกก็จะไม่เกิด ถ้าหากจะเกิด ก็จะมีสวรรค์ที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นที่ท่านพูดว่า แท้จริงสวรรค์นั้นมิได้อยู่เบื้องบน นรกก็ไม่ได้อยู่ใต้ดิน แท้จริงแล้วสวรรค์ก็อยู่ตรงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นรกก็อยู่ตรงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ารู้จักควบคุมอินทรีคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มีความเป็นปกติอยู่เสมอ โดยเฉพาะใจ ให้เป็นใจที่พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา นรกเกิดขึ้นไม่ได้นะคะ จะมีก็แต่สวรรค์ คือมีแต่ความสุข ความสบาย ความเย็น ความโล่ง ความโปร่ง ความว่าง อยู่ตลอดเวลา ว่างจากการเกี่ยวเกาะ ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน คำว่าสวรรค์ในทางธรรมแท้ๆ หมายถึงตรงนี้ คือการเกิดขึ้นของความว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน นรกเกิดขึ้นไม่ได้ก็เพราะความร้อนจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องศึกษาถึงเรื่องของอิทธิพลของเวทนาและโทษทุกข์ของเวทนาที่เกิดขึ้นแก่จิต จิตที่ตกเป็นทาสของเวทนาก็จะต้องเจ็บปวดรวดร้าวเพียงใด จนกระทั่งรู้สึกเข็ดหลาบ เพราะฉะนั้นเวทนานี้ก็เป็นเสมือนหนามที่แทงให้เจ็บปวดทั้งบวกและทั้งลบ จนกว่าจะอยู่เหนือความเป็นบวกและความเป็นลบ นั่นแหละเวทนาสิ้นฤทธิ์ ไม่สามารถจะมาเสียดแทงทิ่มแทงหรือมีอิทธิพลปรุงแต่งจิตได้อีกต่อไป ส่วนกิ่งไม้หรือหินก็เท่ากับว่าเป็นการฝึกอบรมให้เข้มแข็ง แกร่งกล้า ยิ่งขึ้นตามลำดับ ให้รู้จักความเป็นธรรมดาของโลก ให้รู้จักความเป็นอย่างนี้เอง ตถตา ความเป็นสักแต่ว่าธาตุตามธรรมดาอยู่เช่นนั้นเอง ให้รู้จักความร้อน อ่อน แข็ง ความเย็นของสิ่งที่จะต้องมากระทบกระแทกอยู่รอบตัว อันจะบังเกิดขึ้นเป็นความธรรมดา โดยเห็นความเป็นธรรมดาของมัน จนสิ้นความยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นจริงเป็นจัง และมันก็ไม่สามารถจะก่อให้เกิดเวทนาอีกต่อไป เข้าถึงกฏของไตรลักษณ์ กฏของอิทัปปจัยตา เห็นว่าทุกอย่างเป็นแต่เพียงสิ่งสักว่าตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้นนะ เห็นชัดอย่างนี้
เพราะฉะนั้นการฝึกสมาธิภาวนาก็เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐาน เป็นองค์ประกอบ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมตลอดจนกระทั่งถึงเป็นหลักที่จะให้มีการพัฒนาสติ สมาธิ และปัญญา หนักแน่น แน่วแน่ เข้มแข็ง แกร่งกล้ายิ่งขึ้นตามลำดับ การที่จะฝึกลูกให้บินเหมือนอย่างแม่นก ฝึกลูกนกอินทรีให้บินแล้วก็จะบินได้นั้นต้องมีความอิสระ อิสระจากสิ่งที่ผูกมัดใจให้เป็นทาส คือความยึดมั่นถือมั่น คืออุปาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน หรือความเป็นอัตตานั้น ฉะนั้นศิษย์ที่จะสามารถบินได้เอง ก็ต้องเป็นอิสระจากความยึดมั่นถือมั่นในครูบาอาจารย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเป็นอิสระจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอัตตาตัวตนแห่งตน รู้ว่ามันเป็นเพียงสิ่งสักว่าตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง ฉะนั้นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ให้อย่างหนักจนกระทั่งประจักษ์แจ้งนั่นก็คือเรื่องของอนัตตา ไม่ใช่รู้แต่ปากต้องนำมาฝึกภายในใจให้ได้สัมผัสอยู่ทุกขณะ ถึงความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ซึ่งเมื่อฝึกทีแรกอาจจะรู้สึกใจหาย รู้สึกน่ากลัวเกิดขึ้นในใจ ถ้าไม่มีตัว ไม่มีตนเสียแล้ว จะอยู่ได้อย่างไรเพราะเคยมีมาโดยตลอด ก็อาจจะเปรียบได้เหมือนความรู้สึกของลูกนกที่ถูกปล่อยให้เคว้งคว้างในอากาศ เมื่อแม่นกบินขึ้นไป พาบินจิกลูก คาบลูกบินขึ้นไปสูงสุด แล้วก็ปล่อยให้หล่นลงมาตามลำพัง ลอยเคว้งคว้างอยู่ในอากาศ ไม่รู้ว่าจะไปไหน จะตกดินตายหรือจะมีที่หมายตรงไหน ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเมื่อมาพิจารณา ฝึกพิจารณาให้เห็นความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ความว่างจากความหนาแห่งความเป็นตัวตน ความรู้สึกน่ากลัว ความรู้สึกใจหาย ก็คงเกิดขึ้นเป็นธรรมดานะคะ แต่เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ มากๆเข้า ความที่บอกว่ายอมไม่ได้ ยอมปล่อยตัวตนนี้ไม่ได้ สลัดไม่ได้ ก็จะค่อยเพิ่มขึ้น ถ้ายังขืนยึดมั่นอยู่ ก็จะต้องหวดกันแล้วหวดกันอีก ด้วยการขนาบแล้วขนาบอีก เพื่อให้มีความมั่นคง เด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง เด็ดขาดยิ่งขึ้น ถ้าศิษย์ผู้ใดฝึกได้ ข่มขี่บังคับใจของตนได้ ยอมสละความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนได้ ในที่สุดก็ย่อมจะได้รับอิสรภาพสูงสุด เป็นอิสรภาพอันประเสริฐ ไม่มีอิสรภาพใดจะเปรียบเทียบได้ และเมื่อนั้นแหละ จุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิตได้สัมฤทธิ์ผลแล้ว คือถึงซึ่งความเป็นอิสระ อยู่เหนือความทุกข์ความสุข อยู่เหนือโลก เรียกว่าเป็นชีวิตที่ความสุข สงบเย็นอยู่เป็นนิจกรรม พ้นจากการถูกกระทบกระแทกทั้งมวล เพราะถึงซึ่งความว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน ถ้าตอนนี้ก็พูดได้ว่าหมดหน้าที่ของครูแล้ว ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์กันอีก ต่างก็ทำหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์และสังคมต่อไป
ฉะนั้นคุณค่าของการสอนและการฝึกอบรมอย่างนกอินทรีสอนลูก ก็บางทีอาจจะมองดูเหมือนว่ากับเป็นการฝึกที่เข้มเข้มแข็ง ทรหด หรือโหดร้ายเหมือนไม่ปรานี แต่อย่างไรก็ตามในการฝึกของครูด้วยความมุ่งหมายปรารถนาดีต่อศิษย์นั้น มีจิตมุ่งหมายแน่วแน่ มั่นคงเหมือนหิน แม้จะสงสาร แม้จะเห็นใจ แต่ก็ต้องเข้มงวด เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นแก่ศิษย์ต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน ครูก็จะต้องมีความเอาใจใส่ ระแวดระวัง มิให้ศิษย์ผิดพลาดหลงทางจนเป็นอันตราย จะนำ จะพาการสอนหรือจะนำการสอน สื่อการสอนมาสู่ศิษย์ การอบรมมาสู่ศิษย์ ให้เป็นทางลัดตัดตรงและได้ผล ให้บังเกิดความรู้สึกที่แข็งแกร่งและก็เป็นอิสระอยู่บนหนทางอันประเสริฐตามสถานะแห่งตน สถานะแห่งตนก็คือสถานะแห่งจิตแต่ละคน ว่ามีความบากบั่นพากเพียร มีความมุ่งมั่นเพียงใด บากบั่นพากเพียรมุ่งมั่นเพียงใด ผลก็ย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยแห่งการปฏิบัตินั้นๆ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะประจักษ์แจ้งด้วยใจเอง เพราะฉะนั้นผู้เป็นครู ก็จะต้องมีใจเด็ดเหมือนกัน เหมือนแม่นกอินทรีที่จะทำเพียงหน้าที่ หน้าที่ให้สมบูรณ์ เมื่อเสร็จหน้าที่แล้วก็ต้องปล่อย ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่นเอาศิษย์นั้นมาเป็นของตน ถ้าหากว่าทำอย่างนั้น ครูก็ไม่อิสระ ไม่เป็นผู้อิสระ แสดงถึงความเป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน และก็แน่นอนที่สุด ศิษย์ก็ย่อมจะเลียนแบบแห่งความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนต่อไป มิใช่เป็นการสอนฝึกอบรมเพื่อสำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมายของชื่อที่บอกว่า การฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม เพราะฉะนั้นนี่ก็เท่ากับเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าเมื่อเราดูการฝึกอบรมของแม่นกแล้ว ก็รู้สึกว่าน่ากลัว ค่อนข้างจะโหดเหี้ยม ไม่มีเมตตาปรานี แต่ก็เพื่อประโยชน์อันสูงสุดให้ลูกสามารถเลี้ยงตัวเองได้
เพราะฉะนั้นการที่จะเข้ามาฝึกอบรมเพื่อการมีชีวิตพรหมจรรย์ จึงจะต้องเข้มงวดกวดขันต่อตัวเอง ไม่ยอมแพ้ต่อการกระทบใดๆ ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความทรมานที่จะเกิดจากการฝึกปฏิบัติมีมากเพียงใด น้ำตาจะไหลเป็นสายน้ำหรือจนกระทั่งเป็นสายเลือดต้องยอม เพื่อให้การฝึกอบรมนั้นสำเร็จประโยชน์สมตามความมุ่งหมายแห่งตน ที่ได้อุตส่าห์เสียสละเวลาเข้ามาเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างชนิดที่เป็นผู้ไม่มีบ้าน เป็นอนาคาริกา การปฏิบัติจึงจะต้องเป็นผู้ที่มีชีวิตเดียว ชีวิตเป็นอิสระและปฏิบัติอย่างจริงจังและเอาจริง จุดมุ่งหมายการฝึกของแม่นกเพื่ออะไร ก็เพื่อฝึกให้ลูกอดทน มีความอดทนมีความอดกลั้น มีความเด็ดเดี่ยว มีความกล้าหาญ มีความแข็งแกร่ง ไม่ใช่เป็นลูกนกกระจอก มีความเฉลียวฉลาด รู้เท่าทันชีวิตและสิ่งแวดล้อม จึงฝึกให้รู้ว่าชีวิตนี้มีทั้งร้อนทั้งแข็ง มีทั้งเย็น มีทั้งอ่อน มีทั้งแหลมคมทิ่มแทงให้เจ็บปวด แต่ก็บางครั้งก็มีความนุ่มนวลอ่อนโยนอยู่ในนั้นเหมือนกัน นี่แหละคือลักษณะของชีวิต ต้องรู้ให้เท่าทันแล้วก็รู้หลบหลีก ไม่ตกอยู่ภายใต้มารยาของมัน แล้วก็รู้หลบหลีกให้รอดจากภัยอันตรายที่เข้ามาถึงตัว แม่นกอินทรีจึงฝึกลูกให้เป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด นอกจากนั้นก็ให้มีปฏิภาณไหวพริบพร้อมด้วยสติปัญญาที่จะพาชีวิตให้รอดปลอดภัยจากภัยภายนอก คือสำหรับนกอินทรี แม่นกอินทรีนั้นก็ฝึกลูกให้รอดพ้นจากภัยภายนอก ภัยภายนอกที่จะมากระทบ
แต่สำหรับจุดมุ่งหมายของการฝึกอบรมชีวิตพรหมจรรย์นั้นมากกว่านั้น ไม่ใช่ให้เพียงรอดจากภัยภายนอกที่จะมากระทบทางกาย แต่มุ่งหมายที่จะให้มีความรอดปลอดภัยภายใน อันเป็นความรอดปลอดภัยสูงสุดแก่ชีวิต นั่นก็คือสามารถที่จะรักษาใจ ให้มั่นคงแนบแน่น พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา และมีสัมปชัญญะพร้อมอยู่ทุกขณะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ถ้าจะขอเน้นพร้อมต่ออะไร ก็คือพร้อมต่อผัสสะ พร้อมต่อผัสสะเมื่อผัสสะเกิดขึ้นขณะใด จะผ่านมาทางตาก็ดี ประตูใจปิดสนิทด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ผ่านมาทางหู ประตูใจปิดสนิทด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ผ่านมาทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ประตูใจปิดสนิทด้วยสติ สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้นผัสสะที่บังเกิดขึ้น ผ่านมาก็ย่อมจะผ่านไปเหมือนสายลม ไม่มีอำนาจที่จะทำให้เกิดการกระทบ จนเป็นเวทนามาปรุงแต่งจิตให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน ซึ่งการที่จะฝึกอบรมเพื่อให้ประพฤติชีวิตพรหมจรรย์ จนกระทั่งมีความรอดปลอดภัยเกิดขึ้นที่ใจ อันเป็นการรอดปลอดภัยภายในนี้มิใช่ของง่าย ดังที่ทราบแล้วไม่ใช่การปฏิบัติง่ายๆ แต่เป็นการปฏิบัติที่ต้องพร้อมอยู่ด้วยทมะ ต้องเริ่มด้วยสัจจะ ต้องพร้อมด้วยสัจจะตามที่ได้มีสัจจะปฏิญาณเอาไว้แต่แรกเริ่ม เมื่อเข้ามาอบรม รับการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ว่าจะต้องมีความจริงใจ รักษาวาจาสัจที่ได้ให้ไว้แล้ว ว่าจะปฏิบัติประพฤติพรหมจรรย์อย่างเต็มกำลังความสามารถไม่ท้อถอย แล้วก็ต้องมีทมะ คือความข่มใจ เมื่อเผอิญจะมีอะไรมากระทบ ทำให้ใจนี้เกิดความรู้สึกอยากจะท้อถอย อยากจะหลบหนี ไม่อยากจะยืนหยัดปฏิบัติต่อไป มันไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวเพราะทนกิเลสรบกวนไม่ไหว ทนตัณหา อุปาทานที่เคยยึดมั่นถือมั่นมากระแทกไม่ไหว อวิชชาเริ่มจะเข้ามาแทรกแซง พยายามจะมีอำนาจ มีกำลังเข้าห่อหุ้มจิต ยอมไม่ได้ ต้องมีทมะคือความข่มใจ ข่มใจบังคับใจเอาชนะให้ได้ เอาชนะให้ได้ เอาชนะให้ได้ด้วยอะไร ก็ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ที่ได้พัฒนาฝึกอบรมแล้ว ตามวิธีการฝึกอบรมใจด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนาในรูปแบบของอานาปาสติ ที่ปฏิบัติมาตั้งแต่กาย เวทนา จิตและก็ธรรม เมื่อปฏิบัติถึงหมวดธรรมะ ก็เป็นการปฏิบัติที่เพิ่มพูนให้เกิดพร้อมทั้งสติ สมาธิและปัญญาอย่างเต็มที่ เป็นจิตที่มีความคมเฉียบ พร้อมทั้งน้ำหนักที่จะตัดสิ่งที่เป็นกิเลสหรือตัณหาหรืออุปาทานที่เข้ามาแผ้วพานจิต ให้ขาดกระเด็น สลัดให้หลุด ไม่ให้มาเกี่ยวเกาะอีกต่อไป เพราะฉะนั้นก็ต้องมีสัจจะ ความจริงใจ ต้องมีทมะ ความข่มใจ ต้องมีขันติ ความอดทนอดกลั้น อดทนทางกาย เหน็ดเหนื่อยลำบากในการที่จะนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม หรือว่ายืนภาวนา หรือการประพฤติปฏิบัติสมาธิภาวนาทุกขณะ ทั้งๆที่ยังหายใจอยู่ ที่เราเรียกว่าเป็นการปฏิบัติสมาธิภาวนาขณะที่ลืมตาซึ่งมีความสำคัญมาก ก็ต้องพยายามที่จะข่มขี่บังคับใจ พร้อมกับมีความอดทน แล้วก็อดกลั้นต่อสิ่งที่จะมายั่วยุให้ถดถอย ให้ถอยหนีให้อ่อนเปลี้ย ให้ยอมแพ้ จะไม่ยอม จะเพิ่มพูนขันติ คือความอดทนอดกลั้น ให้ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น แล้วก็ที่สุดก็จะพยายามฝึกจาคะ จาคะก็คือการบริจาคดังที่กล่าวแล้ว แต่จาคะการบริจาคในที่นี้ เป็นการบริจาคที่ผู้บริจาคจะต้องมีความเสียสละอย่างสูงทีเดียว ทำไมถึงต้องเสียสละอย่างสูง เพราะเป็นการบริจาคภายใน บริจาคสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่น หลงใหลจำเจมาเกือบตลอดชีวิต คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความพึงพอใจ ความติดอยู่ในกาม จะต้องเสียสละมันออกไป ทั้งๆที่เคยเห็นดีเห็นงามกับมันอยู่เสมอ มีความพึงพอใจที่จะโลภ พึงพอใจที่จะโกรธ พึงพอใจที่จะหลง พึงพอใจที่จะสนุกบริโภคกาม บัดนี้จะต้องพยายามหันหลังให้แก่มันเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามต่อไป ฉะนั้นการบริจาคอย่างนี้ การบริจาคภายในอย่างนี้เป็นการบริจาคที่ยากอย่างยิ่ง ทั้งๆที่ไม่ต้องควักกระเป๋าเลยสักสตางค์แดงเดียว แต่นี่ก็เป็นเครื่องแสดงว่าพุทธศาสนานั้นมีความวิเศษ มีความวิเศษอย่างยิ่ง ทำไมถึงว่าวิเศษอย่างยิ่ง ก็เพราะว่าทุกคนที่สนใจที่จะประพฤติปฏิบัติในชีวิตพรหมจรรย์สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติได้เท่าเทียมกัน ไม่เลือกว่าเป็นเศรษฐีหรือขอทาน ผู้ที่มีการศึกษา มีปริญญา หรือไม่มีการศึกษาเลย ไม่สำคัญ ขอให้สนใจให้มีศรัทธาในคำสอนขององค์สมเด็จผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็หมั่นที่จะบริจาค โลภเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หันหลังให้ความโลภ แจกให้ แบ่งปันให้ ไม่มีเงินก็แบ่งปันน้ำใจ ค่อยช่วยเหลือด้วยแรง นี่ก็เรียกว่าเป็นการบริจาคความโลภ แล้วก็ในขณะเดียวกันก็เป็นการที่ฝึกความเมตตา กรุณา ความเสียสละ เสียสละความเห็นแก่ตัวที่เคยแต่จะเอา รู้จักให้
นี่จึงบอกว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีความวิเศษที่ไม่ว่าผู้ใดจะอยู่ในฐานะไหนหรือจะมีการศึกษาในระดับใดไม่เป็นปัญหาเลย เพียงแต่ขอให้มีความสนใจ ศรัทธาปสาทะในคำสอน ในพระธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นำมาสั่งสอนเท่านั้น ก็สามารถที่จะพัฒนาชีวิตของตนจากความขรุขระ เศร้าหมองสกปรก ไปสู่ความสะอาดเกลี้ยงเกลาปราณีตยิ่งขึ้นตามลำดับจนถึงที่สุด ถึงขนาดที่จะเป็นผู้มีศักยภาพสูงสุดในชีวิต อันเรียกได้ว่านี่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอันเป็นวิธีการพัฒนาที่น่าพึงปรารถนาและน่ากระทำตาม และข้อสำคัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าคอร์ส หรือเข้าอบรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตดังที่ปรากฏกันอยู่ ครั้งละหลายๆพัน หรือครั้งละหมื่น สรุปแล้วก็เป็นการพัฒนาแต่เพียงข้างนอก ยังไม่ตลอดรอดภัย ปลอดพ้นจากภัยทั้งชีวิต คือทั้งภายนอกและภายใน แต่เผอิญสมัยนี้เป็นสมัยของวัตถุนิยม อะไรที่ไม่ตีราคาลงไปเป็นเงินเป็นบาท เป็นสตางค์เป็นล้านก็ดูเหมือนจะไม่มีค่า เพราะฉะนั้นการให้ธรรมทานหรือการบริจาคทานจึงเลยดูเหมือนกับไม่มีค่าเพราะไม่ได้ตีราคา ทำไมจึงไม่ตีราคา เพราะเรื่องของธรรมะนี้เป็นเรื่องสูงส่งอย่างที่ประมาณค่าไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานพระธรรมแก่ชาวโลก แก่มนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ไม่เคยทรงตีราคา พระองค์ไม่เคยเรียกร้อง ไม่เคยมีการเอาแทรกอยู่ในการให้ ทรงปรารถนาแต่ประการเดียวที่จะให้มนุษย์ทั้งหลายสามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสุข ซึ่งจะต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนาชีวิตเย็น ชีวิตสงบ ชีวิตว่าง ชีวิตอิสระให้เกิดขึ้นแก่ตนเสียก่อน เมื่อนั้นแหละจึงจะปราศจากความเห็นแก่ตัว แล้วก็สามารถที่จะมีชีวิตเพื่อเห็นแก่ผู้อื่นคือมีความเกื้อกูลแก่เพื่อมนุษย์ได้
ถ้าหากว่าผู้ใดพัฒนาชีวิตของตนจนถึงซึ่งความสิ้นทุกข์เพราะบริจาคออกไปได้หมด ทั้งกิเลส ตัณหา อวิชชา มิสามารถครอบงำจิต ความทุกข์ก็เข้ามาเยี่ยมกรายไม่ได้ ชีวิตนั้นก็เป็นชีวิตที่สงบเย็นอยู่เป็นนิจดังที่เคยกล่าวแล้ว และนี่แหละจึงจะเป็นชีวิตที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว มีแต่ความเห็นแก่ผู้อื่น แล้วก็กล่าวได้ว่าเป็นชีวิตที่เกิดขึ้นจากการประพฤติพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นตามลำดับจนถึงที่สุด ถ้าหากว่าผู้ใดสามารถรักษาความประพฤติปฏิบัติเช่นนี้เอาไว้ได้อย่างตลอดรอดฝั่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ชีวิตนั้นก็ย่อมจะประสบแต่ความเป็นมงคลอันไม่ต้องรับพรแห่งความเป็นมงคลเลย เพราะอะไร ก็เพราะบุคคลนั้นกำลังได้ปฏิบัติสิ่งอันอำนวยพรซึ่งความเป็นมงคลแก่ชีวิตแห่งตนเอง จึงเป็นชีวิตและการประพฤติปฏิบัติที่ควรแก่การอนุโมทนา
จึงหวังว่าผู้ที่ประพฤติชีวิตพรหมจรรย์ เพื่อความหมดจดงดงาม จะสามารถพาการประพฤติปฏิบัติของตนให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้สมความปรารถนา ธรรมะสวัสดีค่ะ