แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
01:06 ธรรมะสวัสดีค่ะ วันนี้จะได้ลองคุยกันนะคะว่าทำไมจึงเข้ามาฝึกอบรมตนในโครงการนี้ ก็อยากจะขอให้ย้อนคิดไปถึงในตอนต้นหรือว่าหลายๆ ปีย้อนหลังไปตามที่จำความได้ อะไรเป็นสาเหตุที่เราหันหน้าเข้ามาสู่โครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ในความรู้สึกส่วนตัวนะคะอยากจะขอใช้คำว่าที่หันหลังให้โลกและก็หันหน้าเข้าสู่ธรรมในครั้งนี้ เพราะว่าถูกกัดมาอย่างโชกโชนจนชอกช้ำ หรือจะเรียกว่ายับเยินก็ได้ จริงหรือเปล่า จึงอยากจะใช้หัวข้อที่เราพูดคุยกันในวันนี้ว่า หันหลังให้โลกเพราะถูกกัด ตอนนี้ก็ลองคิดดูนะคะว่าหัวข้อนี้ให้ความรู้สึกตรงกับความจริง หรือเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างจะกล่าวหารุนแรงไปสักหน่อย ก็ลองฟังดูว่าจริงไหม เหตุที่ทำให้หันหลังให้โลกเพราะถูกกัดนั้นน่ะมีอะไรบ้าง ลองนึกดูว่าเมื่อเริ่มต้นตื่นขึ้นในตอนเช้าของทุกวันๆๆ พอลืมตาขึ้นมีความรู้สึกยิ้มแย้มแจ่มใส เบิกบาน สดชื่น พร้อมที่จะสูดอากาศวันใหม่ พร้อมที่จะลุกขึ้นยืนแล้วก็เดินไปด้วยความรื่นเริงเบิกบานหรือเปล่า ถ้าหากว่าเป็นอย่างนี้ ก็เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะหันหลังให้โลกแล้วก็หันหน้าเข้าสู่ธรรม เพราะว่าถ้ามีความรื่นเริงเบิกบานสดชื่นอยู่เป็นนิจแล้วล่ะก็ ก็ย่อมจะหลงโลก ตกอยู่ในโลก เพราะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ล้อมรอบตัวนั้น มันล้วนแล้วแต่ชวนให้เกิดความรื่นรมย์ทั้งนั้น ที่เรียกว่าความรื่นรมย์เพราะอะไร เพราะว่ามันได้อย่างใจ อะไรๆ มันก็ดูสมใจไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การนอน การอยู่ การทำงาน การคบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูงในวงการสังคม หรืออื่นๆ ล้วนแล้วแต่มันรื่นรมย์เพราะมันถูกใจ แล้วมันก็ได้อย่างใจ แต่ถึงกระนั้นก็ดี ถ้าหากว่าได้อย่างใจมากๆ เข้า เหมือนกับว่าชอบรับประทานอาหารที่ถูกปาก อย่างคนที่ชอบรับประทานอาหารแพง ชอบนักหูฉลามมันแพงมาก ราคาสูง แล้วก็ถ้าได้รับประทานทุกวันๆๆ หูฉลาม เอาสักหนึ่งเดือน เป็นยังไงคะ พอมีคนยกหูฉลามชามที่มองดูน่ากินส่งกลิ่นหอมหวน ยังจะเข้าไปจับช้อนตักใส่ปาก หรือว่าเบือนหน้าหนี หรือว่าลุกเดินหนีเลย เพราะมันซ้ำซาก มันจำเจ นี่พูดถึงว่า แม้ว่าจะได้เสพสิ่งที่ถูกอกถูกใจ แล้วก็ตรงตามความต้องการอยู่ตลอดเวลาก็ตาม
ทีนี้ในส่วนตรงกันข้าม บางคนพอลืมตาขึ้นในตอนเช้า อึดอัดแล้ว เหนื่อยแล้ว ทั้งๆ ที่นอนมาตลอดคืน ยังไม่ทันลุกจากที่นอนเลย มีความเหนื่อย มีความเพลีย มีความรำคาญ มีความเอือม ว่านี่ พอเราตื่นขึ้นนี่ เราจะต้องไปกินซ้ำซาก จะต้องไปพูดซ้ำซาก จะต้องไปทำงานซ้ำซาก จะต้องทำอะไรๆ ที่วนเวียนอยู่ในความซ้ำซากอีกแล้วรึ มันก็ไม่น่าเกลียดไม่น่ากลัวจนเกินไป แต่มันมีความเบื่อ เบื่อที่จะอยู่กับความซ้ำซากที่ได้พบ ได้เห็น ได้แวดล้อม บางครั้งก็เบื่อความวุ่นวายที่ตัวเองนี่แหละก็เป็นไปด้วยตามอำนาจของกิเลส เขาวุ่นกัน เราต้องวุ่นไปกับเขาด้วย ถ้าเราไม่วุ่นไปกับเขาด้วยดูเราเป็นคนแปลก เป็นคนเพี้ยน เป็นคนนอกกลุ่ม แล้วจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าเราเกิดเป็นคนนอกกลุ่มขึ้นมา ก็เหมือนกับว่าไม่ได้รับการยอมรับรับรองให้เป็นหนึ่งในกลุ่มนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็เป็นคนแปลก พอเป็นคนแปลก ความรู้สึกว่าเป็นคนแปลกเกิดขึ้น อะไรตามมา ความรู้สึกว่า เอ เราจะเป็นคนโดดเดี่ยว เป็นคนโดดเดี่ยวที่จะไม่มีเพื่อนมีฝูงไปเสียแล้วกระมัง ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นก็จำต้องวิ่งลงไปวุ่นวายกับเขาอีก กระโดดลงทะเลแห่งความวุ่นวาย สับสน ระส่ำระสาย ทั้งๆ ที่ภายในนั้นแสนเบื่อ แสนเหนื่อย แสนอ่อนเปลี้ยเพลียแรง อยากจะนอนอย่างเดียว แต่ก็ทำไม่ได้ นี่เรียกว่าในขณะที่กำลังวิ่งโลดเต้นไปตามบทบาทที่เขากำหนดให้ แล้วตนเองจะพอใจหรือไม่พอใจ แต่ก็โลดแล่นไปตามบทบาทนั้นแล้ว สนุกไหม เพลิดเพลินไหม หรือพยายามปฏิเสธตัวเองอยู่ข้างใน แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกอำนาจของกิเลส โลภ โกรธ หลง ผลักดันออกไป ถูกอำนาจของความอยากที่จะเป็นหนึ่งในบรรดาหมู่พวก เป็นหนึ่งในสังคม เป็นหนึ่งในสิ่งแวดล้อม แม้จะบอกว่าไม่ต้องการ แต่ภายในมันก็มีอยู่ มันจึงไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ ถ้าหากว่ามันปราศจากเสียซึ่งความรู้สึกอยากจะเป็นหนึ่งอยู่ในกลุ่มนั้น แม้จะไม่ใช่โดดเด่นที่สุดก็ตาม ก็จะสามารถหยุดยั้งตนเองได้ ให้หลุดรอดออกมาจากความวุ่นวายสับสนนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อถูกอำนาจของตัณหาความอยาก แล้วก็ถูกผลักดันด้วยอำนาจของอุปาทาน เรียกว่าซ้ำส่งเข้ามา มากเข้า ๆ จนกระทั่งถึงวันหนึ่งสุดที่จะทน เพราะว่าธรรมชาติได้สร้างชีวิตมาให้ มีองค์ประกอบกายและใจ ธรรมชาติได้สร้างมาให้อย่างสมบูรณ์ที่สุดใช่ไหมคะ อย่างที่เราเคยพูดกันมาแล้ว แล้วธรรมชาติก็หวังว่า ไม่ได้บอกหรอกแต่โดยอัตโนมัติ ธรรมชาติก็หวังว่าผู้เป็นเจ้าของชีวิตนั้นจะได้ทำการทะนุถนอมรักษาชีวิต บริหารชีวิตให้อยู่ในความถูกต้อง เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตนี้ดำเนินไปสู่ความงดงาม ความงอกงาม ความเจริญก้าวหน้า อันเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา อะไรคือสิ่งที่พึงปรารถนา ก็คือความสุขสงบเย็น ความเบิกบานใจในการที่ได้กระทำสิ่งนั้น เหมือนดั่งที่ได้ตั้งใจไว้ เป็นความสุขสงบเย็นที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในใจ แล้วก็จะไม่มีความเหน็ดเหนื่อยในการกระทำนั้น
แต่อย่างไรก็ตามผู้เป็นเจ้าของชีวิตนั้นย่อมจะต้องสำนึกอยู่เสมอว่า สิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตได้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง อย่างเจริญก้าวหน้า ย่อมจำเป็นที่จะต้องอาศัยกายคือร่างกายนี้ เป็นสำนักงาน หรือเป็นเครื่องมือที่จะกระทำตามคำบงการของใจ ให้ลงมือทำงาน ให้ลงมือคิด ให้ลงมือพูดในสิ่งที่ถูกต้องที่จะคล้อยตามกันไปในทำนองแนวเดียวกัน เพราะฉะนั้นเหตุที่หันหลังให้โลกนี้ก็เห็นจะเริ่มจากความรู้สึกเบื่อทุกสิ่งที่พบเห็น อันเป็นความซ้ำซากอยู่ทุกวี่ทุกวัน และเป็นความซ้ำซากที่มองเห็นว่าเป็นความย่ำเท้า ไม่ใช่ความก้าวหน้า จนกระทั่งบางทีพอนั่งนึกขึ้นมา มองเห็นตนเองนี้ตกจมอยู่ในวงแห่งความซ้ำซากนั้น อย่างไม่มีทางที่จะหลุดพ้นออกไปเลย เบื่อความวุ่นวายที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ประเดี๋ยวจะต้องพูด ประเดี๋ยวจะต้องหัวเราะ ประเดี๋ยวจะต้องกระทำออกไปโลดแล่นอยู่บนเวทีเหมือนอย่างใครๆ เขาทำกัน ใจก็ไม่ได้อยากทำ แต่มันจะต้องทำเพราะเหตุว่ามันอยู่ในวงการสมาคม หรืออยู่ในวงการสังคมที่มีการประพฤติปฏิบัติชีวิตดำเนินชีวิตอยู่อย่างนี้ ก็จะต้องเป็นไปตามเขา ไม่อยาก แต่ก็ไปทั้งๆ ที่ไม่อยาก ทำทั้งๆ ที่ไม่อยาก พอต้องทำหนักๆ เข้า ก็จะค่อยๆ เกิดความมองเห็น ว่าอะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้กระทำไป ก็จะค่อยๆ เห็นชัดในอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทานดังที่กล่าวแล้ว ที่มันผลักดัน ถ้าหากว่าจิตใจสามารถอยู่เหนือกิเลสตัณหาอุปาทานนี้ได้เท่านั้นเอง ก็จะไม่ต้องไปวุ่นวายสับสน หรือว่าระหกระเหินเหมือนอย่างที่เป็นไป เมื่อมองดูมากเข้าๆ ก็จะค่อยๆ เห็นความเป็นมายาของสิ่งที่เกี่ยวข้อง ว่าเสียงหัวเราะก็หาใช่สิ่งจริงไม่ เสียงแสดงความยินดีก็หาใช่สิ่งจริงไม่ มันมีแต่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป แล้วก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่อย่างนี้ ไม่เห็นมีอะไรอย่างอื่นแปลกใหม่มาอีกเลย ในวันหนึ่งๆ ที่ทำอยู่ หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง โกรธบ้าง รักบ้าง เกลียดบ้าง ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง บางทีก็หลงวนเวียนอยู่ในอย่างใดอย่างหนึ่งโดยตลอด ไม่มีอะไรเลยที่มันแปลกใหม่ไปจากนี้ พอถึงตอนเย็นเหนื่อยอ่อนเต็มที นอน หลับบ้าง ไม่หลับบ้าง หลับแล้วฝันร้ายบ้าง ฝันดีบ้าง ลืมตาตื่นขึ้นมาใหม่ก็อีกอย่างนั้นอีกเหมือนกัน ไม่เห็นมีอะไรที่มันแปลก มันใหม่ ที่มันจะเป็นความใหม่ของชีวิต แล้วก็เป็นความใหม่ที่จะนำความรื่นรมย์มาสู่ ไม่มีเลย ไม่มีเลยสักอย่างเดียว จะค่อยๆ เห็นความเป็นมายาของสิ่งที่เกี่ยวข้องชัดขึ้นๆๆ
แล้ววันหนึ่งก็จะเกิดคำถามตัวเองขึ้นมาว่า ตัวเรานี่คือใคร เคยถามบ้างไหมคะว่าตัวเรานี่คือใคร เป็นใครมาจากไหน ชื่อที่มีอยู่ นามสกุลที่มีอยู่ ตำแหน่งการงานที่มีอยู่ จริงหรือเปล่า มันเป็นสิ่งจริงหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นแต่เพียงสิ่งสมมติ สมมติเรียกกันชั่วครั้งชั่วคราว สมมติว่าให้เป็นไปอย่างนั้น ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วมันก็เปลี่ยนไปอีก ตอนนี้เกิดความสงสัย เคยบ้างไหมคะ สงสัยว่าตัวเรานี่คือใคร เรานี่เป็นใคร เรานี่ที่บอกว่าเป็นตัวฉันๆ นี่ รู้จักตัวเองจริงๆ แล้วหรือยัง ถ้ามาถึงคำถามๆ นี้นะคะ อยากจะบอกว่าเป็นคำถามที่ดีมาก เป็นคำถามที่จะสะกิดผู้ถามให้ตื่น ไม่ใช่ตื่นจากนอน แต่ตื่นจากความหลับหรือความหลงที่เคยยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนนั้นน่ะเอาจริงเอาจัง จะค่อยชัดขึ้น แล้วก็จะทำการศึกษาล่ะ ตอนนี้จะต้องหาเวลานั่งศึกษาว่าเราคือใคร ตัวของเราเองนี่คือใคร แล้วก็เกิดมาทำไม ชีวิตที่เกิดมานี่เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาเพื่อกิน เพื่อนอน เพื่อเล่น เพื่อพักผ่อน เพื่อทำงานให้มีรายได้มีอาชีพเท่านั้นรึ หรือชีวิตนี้จะมีอะไรที่มากกว่านั้น มีอะไรที่มากกว่านั้นที่ควรจะเรียนรู้ให้มากกว่านั้น ให้ยิ่งขึ้นไปอีก ตอนนี้ค่ะจะรู้จักถามตัวเอง จะรู้จักถามตัวเอง แล้วก็จะพยายามศึกษาให้รู้จักตัวเอง โดยไม่ไปยึดเอาว่าหน้าตาที่ส่องในกระจกหรือดูจากรูปถ่าย ชื่อเสียงที่ได้ยิน เขาเรียกมานมนานแล้วนี่คือตัวเรา เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นนี่คือสิ่งสมมติที่เกิดขึ้น ทำไมถึงว่าสมมติ เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงได้ มันไม่สามารถจะเป็นอยู่เช่นนั้นได้ตลอดไป โดยเฉพาะเรื่องของร่างกาย รูปร่าง สังขารนี้ มันจะเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา มันจะไม่เหมือนเดิมเลย แล้วอะไรล่ะจะเป็นจริง ตอนนี้นะคะจะค่อยๆ แสวงหา แล้วก็พยายามจะขุดคุ้ยลงไปให้ลึกยิ่งขึ้น เพื่อที่ต้องการรู้จักตัวเอง แต่ตราบใดที่ยังปล่อยให้ชีวิตนี้อยู่ท่ามกลางความวุ่นวายสับสน เรียกว่าระส่ำระสายนานาประการ ก็จะไม่สามารถรู้จักได้ว่าตัวเองนี้คือใคร แต่อย่างไรก็ตามขอได้โปรดรักษาคำถามอันนี้ไว้ อย่าปล่อยให้มันเลื่อนลอย แล้วก็หลุดไปนะคะ
ทีนี้เมื่อศึกษา ต้องการรู้จักตัวเองมากๆ ขึ้น ไม่ช้าไม่นานก็จะเกิดความรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องหาหนทางให้พ้นจากความวนเวียนที่มันปราศจากสาระแก่นสาร มันไม่มีสาระแก่นสารที่จะให้ยึดมั่นถือมั่นจริงๆ ได้เลยสักอย่างเดียว เพราะมันซ้ำซาก จำเจ วนเวียนอยู่อย่างนั้น ตื่นขึ้นกินอาหารก็กินอย่างนี้ ออกไปพูดเล่นกับเพื่อนฝูงก็พูดอย่างนี้ พูดซ้ำพูดซาก ไม่ได้พูดอะไรเป็นเรื่องใหม่ ทำไมถึงว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะเรื่องที่พูดนั้นก็วนเวียนอยู่กับเรื่องของความโลภอยากได้บ้าง ความโกรธขัดใจเพราะไม่ได้หรือไม่ถูกใจ ความหลงวนเวียนอยู่กับความไม่แน่นอนเพราะไม่รู้จักว่าอะไรคืออะไร ตัวเรานี้คืออะไร สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้คืออะไรและเพื่ออะไร เพราะฉะนั้นก็หลงวนเวียนซ้ำซากอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งบางครั้งก็ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ บางครั้งก็ห่อเหี่ยว สลด อึดอัด แน่น บางครั้งก็วนเวียนอยู่ด้วยความลังเลสงสัย เพราะฉะนั้นความวนเวียนอย่างนี้ที่อยู่ตามอำนาจของกิเลสบ้าง ของตัณหาความอยากที่ไม่รู้จบบ้าง ของความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ บ้าง วันหนึ่งเมื่อมีคำถามว่าตัวเราคือใคร แล้วก็อยากจะรู้จักตัวเองให้มากขึ้น ก็เห็นว่าจะอยู่ในความวนเวียนอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเมื่อวนเวียนมากๆ เข้า ไม่มีเวลาจะตั้งหลักเลยใช่ไหมคะ มีแต่ถูกผลักให้เซไปเซมา เรียกว่าเซไป หัวซุน ไปซ้าย ไปขวา ไปหมุน สลบไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นก็เริ่มมีความรู้สึกต้องการแล้ว อยากจะออกให้พ้นจากความวนเวียน แล้วก็อยากจะมีเวลาที่จะใคร่ครวญคิดสักขณะหนึ่งว่า เออ ในชีวิตที่ควรจะทำ สิ่งที่มีคุณค่าต่อตนเอง แล้วก็มีคุณค่าต่อผู้อื่นได้อย่างแท้จริงนั้น มีไหม ถ้ามีมันคืออะไร แล้วเราล่ะได้ทำสิ่งนั้นแล้วหรือยัง ทั้งๆ ที่ก็จัดว่าเป็นคนดีมีประโยชน์ ช่วยตัวเองได้ แล้วก็มีเวลาจะช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกบ้าง หรือบางทีก็ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างมากมายจนไม่มีเวลาตั้งตัวเลยก็มี เพราะฉะนั้นอันนี้ก็อาจจะเกิดคำถาม อะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าที่แท้จริงในชีวิตของมนุษย์ สิ่งนั้นคืออะไร และเรานี้ได้ทำแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ทำ เพราะอะไรจึงยังไม่ได้ทำ อะไรเป็นสาเหตุที่มาขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคที่มิได้ทำเช่นนั้น นอกจากนี้เมื่อวนเวียนอยู่กับสิ่งดังกล่าวแล้ว เพราะอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ชีวิตนี้หรือจิตใจภายในนั้นก็ไม่มีความสุขสงบเย็นเลย มันมีความรู้สึกโยนขึ้นโยนลง กระทบกระแทก ซัดซ้ายส่ายขวาไปตลอดเวลา หรือมิฉะนั้นก็ถูกผลักให้หมุนเวียนจนกระทั่งตั้งตัวไม่ได้ มีแต่จะหกล้มจนกระทั่งสลบไป เหนื่อย เปลี้ย เพลีย แล้วก็หมดแรง ทั้งๆ ที่ร่างกายก็ดูแข็งแรง ไม่มีอะไรที่แสดงถึงความโรคภัยไข้เจ็บ แต่ภายในนี่มันเป็นโรค มันเป็นโรคที่ถูกกัดอยู่ตลอดเวลา แล้วสิ่งที่ถูกกัดนั้นคืออะไร คือสิ่งที่มากัดนั้นคืออะไร ก็คือสิ่งที่คนทั้งหลายสมมติเรียกกันว่าความทุกข์นั่นเอง ความทุกข์ ก็ตามที่ได้ฟังมาแล้วจากเรื่องของอริยสัจสี่ ก็คือลักษณะอาการของความไม่ปกติในจิต ถ้าจิตที่ปกติก็จะต้องเป็นจิตที่ราบรื่น เรียบ สงบ มีความเยือกเย็น ผ่องใส มีความโปร่ง ว่าง เบาสบายนั่นคืออาการของจิตที่เรียกว่าปกติ ทีนี้พอหันมาดูจิตที่วุ่นวายสับสนอยู่ท่ามกลางสิ่งที่ชุลมุนเหล่านั้น มีความเป็นปกติดังกล่าวไหม ก็พอจะได้คำตอบว่ามันไม่ปกติ มันซัดส่ายเอาจนเหนื่อยจนเพลีย แล้วอย่างนี้แหละท่านบอกว่าเป็นอาการของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ฉะนั้นชีวิตที่หายใจอยู่ทุกวันนี้ก็กลายเป็นชีวิตที่ถูกกัด ถูกกัดด้วยสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ตลอดเวลา ความทุกข์เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายเกลียดกลัว ไม่อยากเข้าใกล้ อยากจะออกไปให้ไกลๆ อยากจะอยู่พ้นความทุกข์ แต่ถ้าตราบใดที่ปล่อยชีวิตให้หมุนเวียนชุลมุนอยู่กับความวุ่นวาย ตามอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ไม่มีวันที่จะพ้นทุกข์ได้ เหนือทุกข์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องมองไปมองมาใช่ไหมคะ ร่างกายสุขภาพก็พอเป็นไปได้ เงินทองทรัพย์สินก็พอมี ไม่ถึงกับขาดแคลน หน้าที่การงานก็เป็นที่น่าพอใจ พอใช้ได้ ไม่ได้ตกต่ำน้อยหน้าเพื่อนฝูงอะไร ครอบครัวก็มี มองดูก็อยู่กันได้ มีชีวิตร่วมกันได้ตามสมควร เมื่อออกไปในสังคมก็ได้รับการยกย่องนับถือพอสมควรอีกเหมือนกัน แต่ทำไมจิตใจมันจึงไม่เย็นสบาย มันไม่รู้สึกเป็นอิสระ สิ่งเหล่านี้ที่เขาบอกว่าเป็นเครื่องหมายของสิ่งที่สมมติเรียกกันว่าความสุข เราก็มิได้ขาดแคลน ใช่ไหมคะ เราก็มีหรือพอมีเหมือนคนอื่นๆ เขาเหมือนกัน แต่ทำไมมันถึงรู้สึกว่าถูกกัด ถูกกัด ถูกทิ่มแทงให้เลือดออก เป็นแผลตกอยู่ข้างในตลอดเวลา เพราะอะไร ก็คงจะต้องมองหาใช่ไหมคะ ว่าจะมีสิ่งใดบ้างนะที่จะช่วยให้หลุดพ้นออกไปจากวงวัฏจักร คือความหมุนเวียนที่ซ้ำซากด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ทุกวี่ทุกวันอย่างนี้ มีบ้างไหม คงจะพยายามดูอย่างนี้นะคะ ให้เรื่อยไป
แล้วผลที่สุดก็คงจะได้คำตอบว่า สิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่มีพร้อม ทั้งอุปโภคและบริโภคที่มีประจำอยู่ทุกวี่วันนี้ เห็นจะไม่มีอำนาจอิทธิพล ไม่มีหนทางที่จะช่วยให้ชีวิตนี้พ้นออกไปจากวงวัฏจักรได้ ตอนนี้ล่ะค่ะที่จะค่อยมองฝ่าออกไปจากสิ่งที่กำลังชุลมุนวุ่นวาย เพราะอยากจะรู้ว่าจริงๆ แล้วจะมีอะไรบ้างที่จะช่วยนำให้หลุดพ้นออกไปจากสิ่งที่ดึงชีวิตมิให้อยู่นิ่ง มิให้สามารถอยู่ในความเป็นปกติได้ ฉะนั้นถ้าจะกล่าวอย่างสรุปนะคะของเหตุที่หันหลังให้โลกเพราะถูกกัด นั่นก็คงต้องเนื่องจากความเอือมอย่างถึงที่สุด หรือจากความเอือมใช่ไหมคะ เอือมจนกระทั่งไม่อยากติด ไม่อยากแตะต้อง ไม่อยากเข้าใกล้ เป็นอาหารก็ไม่อยากกิน ต่อให้สีสันงดงามส่งกลิ่นหอมหวน แล้วก็รู้ด้วยว่ามันมีรสชาติเอร็ดอร่อย อย่างที่เคยลิ้มที่เคยติดเพียงใดก็ตาม แต่บัดนี้มันเอือม เอือมจนกระทั่ง ขอประทานโทษ เห็นจะต้องใช้คำว่าอยากจะอ้วก มันเอือมไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้พบได้ประสบ เพราะมันรู้แล้วว่ามันเป็นความซ้ำซาก มันไม่ใช่สิ่งใหม่ ซ้ำซาก ย่ำเท้า ซ้ำซาก ย่ำเท้า ในขณะที่กาลเวลาแห่งวัยของชีวิตก็ผ่านไปเรื่อยทุกวันๆๆ ถ้าพูดตามภาษาชาวโลก ก็ต้องบอกว่าแก่ไปทุกวัน แก่ไปทุกวัน เมื่อส่องกระจกก็มองเห็นสังขารร่างกายที่มันเปลี่ยนไปทุกวี่ทุกวัน วันเดือนปีที่ผ่านไป สังขารร่างกายก็ผ่านไป อันแสดงถึงความไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้ มันจะต้องเปลี่ยนแปลง แปร จนกระทั่งสลายไปอย่างนี้แหละ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เกิดความเอือมเพราะความซ้ำซาก แล้วก็จะค่อยๆ มองเห็นว่าสิ่งที่เคยชอบ เคยพอใจ เคยติดใจ แล้วก็เคยกอดรัดวนเวียนอยู่นั้น แท้จริงแล้วหาใช่สิ่งจริงไม่ มันเป็นมายาจริงๆ มันเป็นมายาจริงๆ มันหลอกลวง มันเกิดขึ้น แล้วมันก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ค่อยๆ ชัดในความเป็นมายาของมันใช่ไหมคะ เชื่อว่าทุกคนจะรู้สึกเอือมเพราะซ้ำซาก แล้วก็ชัดเจนในความเป็นมายายิ่งขึ้น แล้วก็เหน็ดเหนื่อยต่อการที่ต้องดิ้นรน เร่าร้อน ถูกเผาไหม้ แล้วก็ว่ายเวียนไปในวงวัฏจักรอย่างไม่รู้จบสิ้น นี่เองจึงเป็นสาเหตุที่ผลที่สุดแล้วก็กลายเป็นพลังผลักออกมา ผลักออกมาให้หันหลังจากโลก แล้วก็ลองหันหน้าเข้าสู่สิ่งที่ไม่เคยสนใจ แล้วก็อาจจะไม่เคยนึกอยากเข้าใกล้ด้วยก็ได้ นี่แหละค่ะคิดว่าเป็นเหตุที่ทำให้หันหลังให้โลก เพราะถูกกัด ถ้าจะดูให้ชัดลงไปอีกนิดหนึ่งเพื่อให้เจนใจ ว่าสาเหตุของการถูกกัดนี่มันเกิดจากเพราะอะไร ถ้าจะพูดก็อยากจะบอกว่าประการแรกทีเดียวเพราะความติดอยู่ในสิ่งคู่ สิ่งคู่ก็คงทราบแล้วนะคะ เคยพูดกันมาหลายครั้ง สิ่งที่มันมีการเปรียบเทียบกันเป็นลบแล้วก็เป็นบวก เช่น ดี-ชั่ว ได้-เสีย ขาดทุน-กำไร สมหวัง-ผิดหวัง ร้อน-เย็น จนกระทั่งสุข-ทุกข์ สรุปรวมในสิ่งคู่ของคำรวมก็คือบวกและลบ ถ้ามีติดในบวกคือสิ่งดีๆ ที่ถูกใจ ก็ไปติดในลบคือสิ่งที่ไม่ถูกใจ ในทัศนคติแห่งตนก็บอกมันไม่ดี มันไม่ถูกใจ เพราะมันไม่ตรงตามทิฏฐิของตน ฉะนั้นความติดอยู่ในสิ่งคู่นี่เองที่ทำให้ครั้งแรกเกิดความติด สลัดไม่ได้ เพราะอย่างไรๆ เสียยังรักดีอยู่ ยังอยากจะทำความดีอยู่ ไม่ทำหรอกสิ่งที่เขาว่าเป็นความผิดความชั่ว เกรงกลัว ไม่อยากทำ ถ้ายังทำในสิ่งดี ยังรักในสิ่งดี ยังสลัดความรู้สึกที่ติดในสิ่งดีไม่ได้ ติดในความเป็นคนดี กลัวเขาจะไม่ว่าดี จนวันหนึ่งก็ถูกสิ่งที่ดีที่ติดนี่มันกัดเอา มันกัดเอาเสียอย่างเจ็บปวดช้ำชอก ทำดีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ทำดีก็ยังถูกเรียกร้อง แล้ววันไหนเกิดพลาดเข้า ความดีทั้งหมดที่ทำมาเกือบทั้งชีวิต สลายไปชั่วพริบตาเดียว ทั้งๆ ที่ความดีที่ได้อุตส่าห์ทำมานี้ ได้พากเพียรทำ ด้วยความอุทิศเสียสละทั้งเวลา ทั้งกำลังกาย กำลังใจ สติปัญญา ความคิด แม้กระทั่งกำลังทรัพย์ เพื่อให้สิ่งที่ดีนั้นได้ดีถึงที่สุด ผลที่สุดมันก็ไม่ดี มันก็ไม่เป็นอย่างงั้นจริงๆ เลย ตอนนี้แหละเริ่มเอือมแล้วใช่ไหมคะ เอือมกับความดีที่ยกย่องบูชา เอือมกับความเป็นคนดีที่อยากจะรักษาไว้ให้ยั่งยืน เพราะแม้สิ่งที่เรียกว่าดี ความดี เป็นสิ่งที่ปรารถนาในสังคม ในหมู่มนุษย์ มันก็ยังเป็นมายา มันหาใช่สิ่งจริงไม่ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หนีไม่พ้นเลยจากกฎธรรมชาติที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ พอชัดก็จะค่อยเอือม เบื่อ เห็นความเป็นมายาของสิ่งคู่ ก็จะค่อยๆ ถอยห่าง ปล่อย สละ ละความยึดติดในสิ่งคู่
แต่อย่างไรก็ตามที่มันอยู่มาพร้อมๆ กัน หรือมีพร้อมๆ กัน ก็คือความยึดมั่นในสิ่งที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านเรียกว่า 3 ก คงเคยได้ยินแล้วนะคะ คือในเรื่องกิน กาม เกียรติ ติดในเรื่องกิน 3 ก กินทั้งวัตถุ เช่น อาหาร จานข้าว เครื่องดื่มทั้งหลาย ถึงแม้จะใช้คำว่ากิน แต่ก็รวมการดื่มการเสพทั้งหลายไปไว้ด้วย ตลอดจนกระทั่งกินสิ่งที่เป็นนามธรรม กินความรัก กินความดี ความเด่น ความดัง ตกอยู่ในเรื่องของกิน ในเรื่องของกินนี่เป็นเรื่องที่ร้ายมาก บางทีอาจจะละอะไรอย่างอื่นได้ แต่เรื่องกินที่เคยมาแต่อ้อนแต่ออกละได้ยากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเรื่องกินนี่เป็นสิ่งที่ยึดมั่นติดเหนียวแน่น จะต้องกินสิ่งที่เคยชอบ จะต้องกินรสอย่างที่เคยถูกใจ จะต้องกินประเภทของอาหารอย่างนั้น บางคนก็ร้ายไปจนถึงกับว่าต้องกินอาหารที่คนๆ นี้ปรุงให้กิน แม้คนอื่นจะปรุงรสชาติสีสันก็ไม่ผิดแปลกไปเลย แต่ไม่ใช่คนๆ นั้น ต้องเป็นคนที่ต้องการให้ปรุงด้วยที่เคยปรุงให้กิน กินแล้วมันจะเพิ่มรสชาติของอาหารให้มากขึ้น ร้ายไหมคะในเรื่องการยึดมั่นถือมั่นในการกิน มันมีวงกว้างมาก ลองนั่งคิดดูเถอะ จะพบความร้ายกาจของเรื่องการกิน หรือกินแล้วก็กาม กามนี่ก็มีความหมายได้ทั้งสองอย่าง คือเรื่องของการเสพกามารมณ์ทางเพศ แล้วก็เรื่องของกามคุณห้า ติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี่ก็ติดกันอย่างเหนียวแน่น ที่อยากไปสวรรค์ก็เพราะติดในกามคุณห้า ด้วยความคิดเอาเองหรือจินตนาการไปเอง ตามที่เคยได้ยินได้ฟังที่เขาเล่ากันมา ว่าในสวรรค์นั้นมีแต่สิ่งที่เป็นทิพย์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเป็นทิพย์ ล้วนแล้วแต่ชูชีวิตให้อยู่ในความรื่นรมย์ โดยมองไม่เห็นว่าแท้จริงแล้วมันทำให้เกิดความโง่งม งมงาย จมอยู่ในกามคุณห้าจนโงหัวไม่ขึ้น นอกจากกิน กาม ก็เกียรติ ติดในชื่อเสียงเกียรติยศ ซึ่งก็อยู่ในเรื่องของสิ่งคู่ที่พูดเกี่ยวกับความดีหรือความเป็นคนดีมาเมื่อกี้นี้ล่ะค่ะ เพราะการที่ได้รับการยกย่องเชิดชูว่าเป็นคนดี ก็เป็นเกียรติในชีวิตอย่างหนึ่ง แล้วก็ยังอาจจะนำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียงอื่นๆ ความเคารพ ยกย่อง นับถือ รางวัล ตำแหน่ง เกียรติคุณที่จะประกาศ มันก็ทำให้หลงจมติดอยู่ในเกียรติ ถอนออกไม่ได้ ทั้งๆ ที่เหนื่อยสายตัวจะขาด หรือบางทีลงทุนจนสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ก็ต้องรักษาเกียรติเอาไว้ ทิ้งเกียรติไม่ได้ นี่ก็อีกเหมือนกัน ก็เรียกว่า บางทีสาเหตุที่ทำให้ถูกกัดก็เพราะความเคยชินที่ติดอยู่ใน 3 ก บ้าง ติดอยู่ในสิ่งคู่บ้าง แล้วก็หลงใหลในสิ่งสมมติ ตามสมมติสัจจะดังที่เคยพูดมาแล้ว ที่เห็นชัดที่สุดก็คือหลงใหลในความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน โดยถือเอาร่างกายที่มองเห็น ที่สัมผัสได้ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ว่านี่แหละคือตัวตน เป็นอัตตาตัวตนที่จะต้องรักษาไว้ ยึดไว้ให้มั่น ไม่ให้ผู้ใดมาทำลายเกียรติ หรือศักดิ์ศรี หรือลบหลู่ความเป็นตัวตน ความเป็นอัตตาแห่งตน ยอมไม่ได้ นี่แหละหลงใหลอันนี้เป็นความหลงใหลที่สำคัญ คำว่าสำคัญคือหมายถึงร้ายกาจ ร้ายกาจมากจริงๆ นะคะ เพราะมันทำให้ไม่สามารถที่จะหลุดออกไปได้เลย แล้วก็เป็นต้นเหตุแห่งการหลงติดอยู่ในสิ่งคู่ หรือใน 3 ก เพราะถ้าไม่มีตัวตน ไม่มีตัวฉัน แล้วอะไรล่ะจะไปติดอยู่ใน 3 ก หรือจะไปติดอยู่ในสิ่งคู่ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นความหลงใหลในสิ่งสมมติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือสิ่งสมมติว่าเป็นอัตตาตัวตน ซึ่งเป็นการตู่เอามาจากของธรรมชาติ ธรรมชาติได้สร้างให้ จัดไว้ให้ โดยไม่ได้หวังว่าจะให้เป็นตัวเป็นตน หรือจะให้เป็นต้นเหตุของความยึดมั่นถือมั่น มิได้เป็นอย่างนั้นเลย ธรรมชาติเพียงแต่ปรารถนาจะให้มนุษย์รู้จักใช้สังขารร่างกายนี้ เพื่อประโยชน์ในความสะดวกสบายแก่ชีวิตความเป็นอยู่เท่านั้นเอง ไม่ได้ปรารถนาที่จะให้เอามาใช้ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวฉัน แล้วก็เป็นของฉัน เหมือนอย่างที่ “ขา”ธรรมชาติให้มาก็เพื่อทำหน้าที่เดิน ยืน ก้าว “มือ”ธรรมชาติให้มาก็เพื่อใช้หยิบ ใช้จับตามที่ต้องการ นอกจากนี้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ธรรมชาติก็ให้มาเพื่อทำหน้าที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส แล้วก็รับทราบความสัมผัส ธรรมชาติมิได้ให้มาเพื่อประโยชน์แก่การยึดมั่นถือมั่น หรือเพื่อความยึดมั่นถือมั่น แต่มนุษย์ไม่เคยศึกษาเรื่องชีวิตอย่างหนึ่ง จึงไม่มีความฉลาดเพียงพอที่จะเข้าถึงความจริง ก็เลยติดอยู่ในสิ่งสมมติ แล้วก็พาให้ไปตกจมอยู่ในทาส อยู่ในความเป็นทาสของสิ่งที่เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ คือเกิดทิฏฐิความคิดเห็นที่เป็นมิจฉา คือไม่ถูก ไม่ถูกต้อง ไม่เห็นตามความเป็นจริง ตามที่ธรรมชาติได้ให้มา แต่เห็นตามความเขลาที่อวิชชาเข้ามาห่อหุ้มจิต ว่านี้เป็นเรา แล้วก็เป็นของเรา ทั้งหมดนี้คือสาเหตุใช่ไหมคะ เป็นสาเหตุที่สำคัญ จนทำให้เกิดความเอือม เอือมระอา เกิดความซ้ำซาก เกิดความเห็นชัดในความเป็นมายาของมัน เพราะมันมีแต่ดิ้นรน เร่าร้อน เผาไหม้ ว่ายเวียนอยู่อย่างไม่รู้จบ ตั้งแต่เกิดรู้ความจนบัดนี้
ถึงเวลาเสียทีที่จะต้องหาเวลาพัก เพื่อนั่งศึกษาใคร่ครวญว่าตัวเรานี้คือใคร ชีวิตนี้เกิดมาทำไม เพื่ออะไร อะไรที่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดของชีวิต สิ่งนั้นได้ทำแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้นก็เลยพยายามที่จะแหวกว่ายมองฝ่าออกไป อาจจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมิใช่สิ่งที่เคยมีมาแล้วที่จะพาชีวิตนี้ให้พ้นออกไปได้ และสิ่งที่ไม่ได้เคยเข้ามาคลุกคลีหรือว่าทำความคุ้นเคยให้รู้จัก สิ่งนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม หรือธรรมะใช่ไหมคะ หรือหนทางธรรม ตอนนี้ล่ะค่ะก็เลยมาลองฝึกดูว่า จะเป็นยังไง ธรรมะนี้จะเป็นยังไง จะคืออะไร แล้วก็จะมีความหมายและมีประโยชน์แก่ชีวิตอย่างไรบ้าง เมื่อเข้ามาฝึก เริ่มต้นด้วยการศึกษา ทำความเข้าใจ เพื่อหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของธรรมะ แล้วก็เพื่อฝึกการปฏิบัติสมาธิภาวนาให้จิตใจมีความมั่นคงมากขึ้น ก็พอจะวางเป็นแนวทางกำหนดให้แก่ตนเองได้ว่า การที่หันเข้ามาหาธรรมะนั้นก็เพื่อตั้งใจทีเดียวนะคะว่า ฝึกการละเลิกความเคยชินในการกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ก็คือการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งคู่ ยึดมั่นถือมั่นใน 3 ก ในเรื่องของกิน กาม เกียรติ แล้วก็ความยึดมั่นถือมั่นหลงติดในสิ่งสมมติอันเป็นมายาทั้งปวง จนกระทั่งตกเป็นทาสของมิจฉาทิฏฐิ ทำให้เห็นอะไรบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงทั้งสิ้น ก็เลยพาชีวิตนี้ให้ตกอยู่ภายใต้ของความร้อน ไม่สามารถจะมีความเป็นปกติสงบเย็นได้เลยใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเมื่อหันเข้ามาทางธรรมก็จะต้องตั้งจิตทีเดียวว่า จะต้องมาฝึกการละเลิกความเคยชินในการกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์เหล่านั้นให้จงได้ ข่มขี่บังคับใจฝืนใจที่จะทวนกระแสของความเคยชินที่ปฏิบัติตามใจชอบ ตามอำนาจของกิเลสตัณหาอุปาทาน นอกจากนั้นก็ตั้งใจที่จะฝึกอบรมการปรับเปลี่ยนทิฏฐิ เพราะทิฏฐิความเห็นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด เป็นแสงสว่างนะคะ ที่จะนำชีวิตเพื่อให้ดำเนินไปสู่วิถีทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากไม่มีการพัฒนาทิฏฐิ จากความคิดเห็นผิดที่เป็นมิจฉาไปสู่ความเป็นสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐินี้แทนที่จะเป็นแสงสว่าง มันก็เลยจะกลายเป็นความมืด พาไปตกเหว พาไปเข้าสู่พงหนาม พาไปสู่อบายได้ทุกทางเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นก็ต้องมาฝึกอบรมการปรับเปลี่ยนทิฏฐิ จากมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ จนกระทั่งสามารถคิดได้ถูกต้อง คือคิดสิ่งที่สร้างสรรค์ที่เกิดประโยชน์ พูดสิ่งที่สร้างสรรค์ที่เกิดประโยชน์ กระทำการที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์ ซึ่งจะมีคุณค่าทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น อันเป็นหนทางนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ คือพ้นจากการถูกกัดนั่นเอง เพราะฉะนั้นก็จึงเชื่อว่า มองเห็นอย่างนี้นะคะ ลองคิดอย่างนี้ ก็จึงได้ลอง จึงได้สละเวลา ไม่ได้ลองนะคะ สละเวลา เพื่อมาลองเข้าโครงการฝึกอบรมตนครั้งนี้ เพื่ออะไร ก็อยากจะลองแยกให้ฟังเป็นข้อๆ
40:45 ประการแรก ก็เพื่อให้ได้มีโอกาสสัมผัสกับอากาศธรรมชาติในยามเช้าตรู่ เพราะในขณะที่วนเวียนอยู่ในโลก โลกของความวุ่นวายนะคะ ไม่ค่อยจะมีโอกาสหรอกที่จะตื่นแต่มืดแต่เช้าตรู่ เช่นตีสี่หรือตีห้า เพื่อที่จะได้สัมผัสกับอากาศธรรมชาติในยามนั้นที่แสนจะสดชื่น สะอาด เคยบ้างไหมคะ อาจจะมีบ้างหรอกบางเวลาในชีวิตที่ผ่านมาที่จะได้ตื่นขึ้นแต่เช้ามืด เช่นยามที่ไปตากอากาศ หรือไปพักผ่อน ไปเที่ยวป่า พอตื่นขึ้นแต่เช้ามืดในขณะที่อากาศยังสลัวๆ อยู่ ลืมตาตื่นขึ้น สูดอากาศจะรู้สึกเต็มปอด อากาศที่บริสุทธิ์นั้นดูจะเข้าไปชำระล้างปอดที่สกปรกเพราะมลพิษต่างๆ ให้สะอาดสะอ้านขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะได้สัมผัส มาทดลองสัมผัสกับอากาศธรรมชาติในยามเช้า ซึ่งมีความสดชื่น มีความสะอาด แล้วก็มีความรู้สึกเป็นอิสระ ทำไมถึงอิสระ เพราะในยามนี้คนส่วนมากกำลังนอนอุตุกันอย่างสบาย ด้วยความมัวเมาในการนอน หรือจะลืมตาก็ลืมตาอย่างงัวเงีย เพราะฉะนั้นมันมีความรู้สึกเป็นอิสระที่จะไม่มีสิ่งใดรบกวน เป็นเวลาที่เหมือนกับว่าโลกยังไม่ตื่นทั้งหมด โลกยังหลับอยู่เป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่ตื่นขึ้นมาทั้งกายและใจจึงมีความรู้สึกเป็นอิสระ แล้วก็เป็นความอิสระที่นำความรู้สึกเป็นสุข แล้วก็เบิกบานให้เกิดขึ้นในใจด้วย นอกจากนั้นก็จะได้สัมผัสกับความวิเวก ความสงบ ความสงัด เป็นความสงัดที่ทะลุเข้าไปได้ถึงภายใน ไม่ใช่มีแต่เพียงภายนอก พอมีความสงบ สงัด วิเวก ก็จะพาให้สมองนี้มีความแจ่มใส แล้วก็ฉับไว เรียกว่าสมองโปร่ง แจ่มใส ฉับไว ใจนี้ก็สงบ แล้วบางทีอาจจะมีความรู้สึกผุดขึ้นมาในใจว่าโลกนี้เป็นของเรา นี่ก็เป็นคำพูดที่เป็นสมมตินะคะ แต่มันผุดขึ้นมาทำไม ก็เพราะว่าในชีวิตที่ผ่านมานี้ มันมีความรู้สึกเหมือนกับว่าเรานี้ถูกโลกดึงฉุดกระชากไปทิศโน้นทิศนี้บ้าง โดยที่บางครั้งใจไม่ได้อยากจะไป แต่มันถูกฉุดกระชาก แล้วเราก็ไปโทษว่าโลกฉุดกระชาก แต่ถ้านึกดูให้จริงๆ ให้ลึกๆ ก็จะเห็นว่าโลกก็คงเป็นโลกอยู่ตามสมมตินั่นเอง ไม่ได้มาฉุดกระชาก แต่เพราะใจที่ปล่อยให้ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ใช่ไหมคะที่ยอมให้สิ่งเหล่านี้ฉุดกระชาก แล้วก็ลากไถลตัวเองตามมันไป แต่ตอนนี้เป็นอิสระ ไม่ถูกฉุดกระชาก ก็เลยมีความรู้สึกเหมือนกับว่าโลกนี้เป็นของเรา ขณะนี้เรากำลังอยู่เหนือโลกเชียวนะ จะมองไปทางไหนมันมีแต่ความปลอดโปร่ง เพราะมีความสงบสงัด บางครั้งบางคราวในขณะนั้นนะคะ จะได้สัมผัสกับสิ่งลึกๆ ที่อยู่ภายใน สิ่งลึกๆ ที่อยู่ภายใน โดยมนุษย์ส่วนมากไม่เคยได้สังเกต ไม่เคยได้ขุดคุ้ย หรือว่าค้นคว้าแสวงหา แต่สิ่งนี้ สิ่งลึกๆ นี้นะคะ มันมีอยู่แล้วในภายในใจของมนุษย์ตามธรรมชาติ สิ่งลึกๆ นั้นก็คือการได้สัมผัสกับความรู้สึกว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรเลยนะ จริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรเลย มันมีแต่ความว่างอย่างเดียว ไม่ปรากฏสิ่งใดเป็นเราหรือเป็นของเรา อยากจะพูดว่าสิ่งลึกๆ อันนี้ คือสิ่งที่จะสมมติเรียกกันว่าเป็นเมล็ดพืชของโพธิ คือเป็นเมล็ดพืชแห่งปัญญาหรือจะเรียกว่าพุทธะก็ได้ ที่ได้แฝงตัวหรือว่าฝังตัวอยู่ในจิตของมนุษย์อย่างลึกๆ มานมนาน มานานแสนนาน คอยที่จะให้มนุษย์ได้ค้นพบ แต่เพราะความวุ่นวายเกี่ยวข้องชุลมุนกับสิ่งโน้นสิ่งนี้ตลอดเวลานั่นเองที่ทำให้ไม่สามารถจะค้นพบได้ บัดนี้พอมาอยู่กับความสงบสงัด ความสะอาดสะอ้านของบรรยากาศ ความวิเวก สมองฉับไวแจ่มใส ก็เลยได้สัมผัสกับสิ่งลึกๆ นั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่พอสัมผัสเข้าแล้วจะมีความรู้สึก ครั้งแรกอาจจะทึ่ง และอาจจะสงสัยนิดหน่อย จริงรึ ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาดสมองฉับไวจริงจะมองซ้ำลงไปทันที เพ่งลงไปอีก เพ่งลงไปให้ลึกอีก ไม่ยอมปล่อย ก็จะค่อยเห็นชัดขึ้นๆ ในความว่าง ในความไม่มีอะไร ไม่มีอะไรก็คือไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นจริงๆ ได้เลยสักอย่างเดียว มันมีแต่สิ่งสมมตินะคะ นี่ก็เรียกว่าอาจจะสัมผัสสิ่งลึกๆ ในทางบวกที่อยู่ในใจ หรือบางคนก็อาจจะสัมผัสสิ่งลึกๆ ในทางลบที่โผล่ขึ้นมาให้เห็น อันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ที่ไม่เป็นที่งดงาม ไม่เป็นที่น่านิยมชมชื่น แต่ก็ได้กระทำไปตามอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน แล้วก็พยายามกลบมันไป ทำเป็นไม่รู้ ทำเป็นไม่เห็น ปล่อยมันไป แต่พอจิตสงบขึ้นไม่มีอะไรมารบกวน สิ่งที่พยายามจะฝังเอาไว้ข้างใน มันจะโผล่มาให้เห็น เพื่อเตือนให้ได้สำนึก ให้เกิดความสำนึก เกิดความสลดสังเวชในการกระทำที่รู้สึกว่ามันชวนให้น่าละอาย น่ารังเกียจ จนถึงกับน่าขยะแขยง แล้วตอนนี้ความสำนึกอย่างนี้นะคะก็อยากจะพูดว่าเป็นความสำนึกที่ให้คุณประโยชน์แก่ชีวิต เพราะจะทำให้สำนึกถึงโทษทุกข์ของความตกเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน มองเห็นชัดในโทษทุกข์ของความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งคู่หรือว่ากิน กาม เกียรติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือสิ่งที่มีความรู้สึกยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน จะเกิดความรู้สึกรังเกียจ น่าละอาย น่าขยะแขยง ตอนนี้ที่ว่าเป็นคุณคือเป็นคุณประโยชน์ เพราะอะไร เพราะกำลังอยู่ในความสงบที่จะพิจารณาต่อไปว่าเห็นโทษทุกข์แล้ว หันหน้าเข้ามาหาธรรมะแล้ว ตอนนี้ก็จะเกิดความตั้งมั่น อาจจะเป็นสัจจะปฏิญาณเลยก็ได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งกล้าหาญ เราจะต้องเลิกละความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้จนได้ จากน้อยไปหามาก จนสละละจนถึงที่สุด เพื่อให้จิตนี้ได้สัมผัสกับความว่างอันเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมดาธรรมชาติ เพราะมองเห็นชัดในความไม่มีอะไรๆ ให้ยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่างเดียว นี่นะคะที่พูดว่าการที่มาเข้าโครงการฝึกอบรมตน ก็เพื่อที่จะได้ลองสัมผัสกับอากาศธรรมชาติในยามเช้า ซึ่งเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านจะพูดอยู่เสมอว่า ในเวลาตีสี่หรือในเวลาตีห้าเป็นเวลาที่ควรที่จะตื่นขึ้นมา เพื่อได้สัมผัสกับธรรมชาติ แล้วก็จะได้สัมผัสกับสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งนัก นั่นก็คือความเป็นจริงตามธรรมชาติ ที่ธรรมชาติจะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น
49:32นอกจากนี้การมาเข้าโครงการฝึกอบรมตน เพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ก็ยังจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าแทบพระบาทขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเมื่อเวลาที่อยู่ในโลกหรืออยู่ในบ้าน น้อยนักใช่ไหมคะที่จะมีโอกาสเข้าเฝ้าแทบพระบาท แม้แต่จะรำลึกนึกถึงพระนามของพระองค์ วันหนึ่งๆ ก็ยากเหลือเกิน หรือเดือนหนึ่งๆ ก็ไม่เคยแวบเข้ามาในใจเลย แต่บัดนี้ล่ะค่ะทุกวันๆ เราจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าแทบพระบาทขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อรับความเป็นสิริมงคลสูงสุด นี่เป็นสิริมงคลที่สูงสุด และเป็นสิริมงคลที่เราสามารถจะนำมาให้บังเกิดแก่ชีวิตได้เอง โดยไม่ต้องไปขอท่านผู้ใดให้ประทานความเป็นมงคลให้ เพราะการเข้าเฝ้าแทบพระบาทขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นสิริมงคลสูงสุด ยิ่งกว่าความเป็นมงคลใดๆ ด้วยวิธีใด ก็แน่นอนล่ะ ด้วยการสาธยายธรรม ที่จะกล่าวถึงองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งในพระกรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณของพระองค์ ด้วยความนอบน้อม ด้วยความเคารพบูชาเหนือเศียรเกล้า การสาธยายธรรมก็คือการสวดมนต์ทำวัตรนั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในทางแห่งวิมุตติ วิมุตติก็คือเป็นทางแห่งความหลุดพ้น ถ้าผู้ใดสาธยายธรรม คือสวดมนต์ทำวัตรด้วยใจ พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ ด้วยความนอบน้อมแทบพระบาทขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ย่อมจะบังเกิดความจางคลายในความยึดมั่นถือมั่น บังเกิดความประจักษ์แจ้งในสัจธรรมมากขึ้นๆ ทีละน้อยๆ โดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นการทำวัตรสวดมนต์จึงมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ทำการสาธยายธรรมนั้น คือด้วยการสวดมนต์ทำวัตรนั้น สามารถเจริญพุทธานุสติ คือรำลึกถึงพระพุทธ พระบารมีแห่งพระพุทธคุณ เพื่อเป็นสติกำกับใจ คือพระบริสุทธิคุณ พระเมตตากรุณาคุณ พระปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็มุ่งหมายเพื่อให้สามารถเจริญธรรมานุสติ ธรรมะทั้งหลายที่ได้สวดได้สาธยายไป อันล้วนแล้วแต่เป็นพระพุทธโอวาท เป็นพระดำรัสคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ให้ประจักษ์แจ้งในความจริง ให้รู้จักในเรื่องของความทุกข์ และให้รู้จักวิธีที่จะดับเสียซึ่งความทุกข์นั้น เมื่อสวดไป สาธยายไป นำมารำลึกในจิตอยู่เสมอ ก็จะเป็นธรรมานุสติ ช่วยให้จิตใจนี้อยู่ในหนทางที่ถูกต้อง รู้จักยับยั้ง ไม่กระทำสิ่งที่จะเป็นการผิดพลาด นอกจากนี้ก็เพื่อให้เจริญสังฆานุสติ คือคุณธรรม ความดีงามของบรรดาพระพุทธสาวกทั้งหลาย อันจะเป็นเครื่องก่อให้เกิดกำลังใจ เกิดศรัทธาปสาทะ ให้ดำเนินรอยตามพระพุทธสาวก ผู้เป็นองค์แห่งความงดงามทั้งหลายนั้น นอกจากนี้ก็จะได้ทำความรู้สึกเหมือนกับว่าได้เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ทั้งๆ ที่โดยพระวรกายนั้นได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว สองพันห้าร้อยกว่าปี แต่เราก็ยังได้เข้าเฝ้าเหมือนกับได้เข้าเฝ้าพระองค์จริง โดยพระคุณ ก็คือพระคุณของพระองค์ที่เราได้พรรณนามาแล้วทั้งหมดนั้น เป็นการเข้าเฝ้าที่พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ ทำไมถึงว่าพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ ก็เพราะว่าในคำกราบทูลที่สาธยายธรรมนั้น มีทั้งคำสรรเสริญสาธุการพระคุณของพระองค์ มีการมอบกายถวายชีวิตแด่พระองค์ จำได้ไหมคะในทำวัตรเย็น มีการกล่าวในทำนองขอร้องอะไรบางอย่างจากพระองค์ และในขณะที่กล่าวนั้นก็จะมีความรู้สึกชุ่มชื่นเบิกบาน เช่น นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง, พุทโธ เม สะระณัง วะรัง สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า ในขณะที่กล่าวถ้อยคำเหล่านี้ก็จะย้อมใจให้เกิดความชุ่มชื่น อบอุ่น มั่นคง เพราะรู้สึกว่าจิตนี้ได้มีที่พึ่งอันถาวร เช่นเดียวกันกับที่กล่าวถึงพระธรรม แล้วก็พระสงฆ์ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา ก็จะมีความรู้สึกว่าข้าพเจ้าผู้ว่าอยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ขวนขวายบุญใดในบัดนี้ ก็ขอให้อันตรายทั้งปวงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าด้วยเดชแห่งบุญนั้น นอกจากนั้นยังได้มีโอกาสกล่าวคำขอขมาโทษ หากจะได้มีการล่วงเกินใดๆ โดยไม่ได้เจตนาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการสวด กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา จำได้ใช่ไหมคะ
55:38 นอกจากนั้นก็ยังมีอีกอย่างหนึ่ง ในขณะที่ได้เข้ามาสู่โครงการฝึกอบรมตน ก็จะได้มีการทดลองฝึกกล่าวคำอธิษฐานจิตของตัวเอง คือตั้งความปรารถนาของตนเอง ซึ่งรวมใจความสำคัญก็คือ ขอให้สิ้นกิเลสอาสวะ ขอให้หลุดพ้นจากความทุกข์ จนสามารถอยู่เหนือทุกข์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะคะ คือจะไม่ลืมวัตถุประสงค์ที่มุ่งหมายที่หันหน้าเข้าหาธรรมะ แล้วก็จะยิ่งแน่วแน่ต่อจุดหมายปลายทางให้ยิ่งขึ้นทุกขณะอย่างถูกต้อง คือในขณะที่เข้ามาฝึกปฏิบัติอบรมอยู่ในแนวทางของพระธรรมนี้ จะไม่ใช่ด้วยความยึดมั่น ก็อยากจะลองยกตัวอย่างซึ่งก็คงจะได้เคยอ่านมาบ้างนะคะ จากหนังสือสวดมนต์ในภาคผนวกในบทที่ชื่อว่า ปัฏฐนฐปนคาถา พูดถึงการกล่าวจิตอธิษฐาน จะไม่อ่านคำบาลีนะคะ จะอ่านแต่คำไทยเพื่อความเข้าใจง่าย และก็เพื่อไม่ให้เสียเวลามากเกินไป ในบทอธิษฐานนี้ซึ่งก็จะเริ่มต้นด้วยคำบาลีสั้นๆ ว่า ยันทานิ เม กะตัง ปุญญัง แล้วก็ต่อไปอีกยาว แต่จะอ่านคำไทย ก็กล่าวเริ่มต้นว่า บุญใดที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้ เพราะบุญนั้นและการอุทิศแผ่ส่วนบุญนั้น ขอให้ข้าพเจ้าทำให้แจ้งโลกุตรธรรมเก้าในทันที โลกุตรธรรมเก้าคงจะเคยได้ยินเขาให้ศีลให้พรกัน ผู้ใหญ่ผู้เฒ่านะคะเขาให้ศีลให้พรกันแก่ผู้ปฏิบัติธรรม หรือไปทำบุญกันมาก็จะบอกว่า ขอให้ได้แจ้งในโลกุตรธรรมเก้า ก็คือมรรคสี่ ผลสี่ นิพพานหนึ่ง มรรคสี่ก็คือการปฏิบัติตามมรรคสี่ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค แล้วก็อรหัตมรรค แล้วก็เมื่อปฏิบัติไปเต็มที่อย่างถูกต้องด้วยความพากเพียรสูงสุด ก็จะบรรลุถึงผล โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล แล้วก็อรหัตผล แล้วผลที่สุดก็จะได้บรรลุถึงซึ่งนิพพาน แต่อันที่จริงในขณะที่ปฏิบัติไปตามลำดับนี้นะคะ ก็จะปรากฏผลแห่งนิพพาน คือความสงบเย็นปรากฏขึ้นภายใน บังเกิดมีขึ้นภายในตามลำดับ แต่คนโบราณก็ชอบที่จะให้พรกันในทำนองนี้ ทีนี้ที่บอกว่าขอให้ข้าพเจ้าทำให้แจ้งโลกุตรธรรมเก้าในทันที มันก็เป็นไปไม่ได้หรอกนะคะที่จะได้ในทันที แต่มันจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่กำลังกระทำทีละน้อยๆๆ เรื่อยๆ ไปตามลำดับ จะเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่อย่างน้อยเป็นการตั้งจิตอธิษฐานไว้ เพื่อเป็นจุดมุ่งหมายหรือเป็นเป้าหมายสูงสุดว่าเราจะเดินไปตามทางนี้นะคะ นอกจากนั้นก็จะมีการอธิษฐานจิตอีกว่า ข้าพเจ้าพึงเว้นจากเวรทั้งห้า พึงยินดีในการรักษาศีล ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้งห้า พึงเว้นจากเปลือกตมกล่าวคือกาม ให้พึงยินดีในการรักษาศีล ก็คือในการสมาทานศีล ให้เป็นผู้มีศีล ผู้มีศีลนั้นท่านว่าเป็นผู้มีความผ่องใส แล้วท่านก็มักจะพูดกันว่ากลิ่นของศีลนี่หอม หอมไกล หอมยิ่งกว่ากลิ่นใดๆ ก็หมายความว่าผู้ที่สมาทานศีลสามารถที่จะรักษาศีลไว้ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง อย่างเป็นสัมมาทิฏฐิ คืออย่างถูกต้อง มิใช่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ก็จะมีความผ่องใสทั้งใจและก็ทั้งกาย ความผ่องใสทั้งกายก็จะเห็นความผ่องใสทางอินทรีย์ คือร่างกายนั้นปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้นขอให้เป็นผู้มียินดี พึงยินดีในการรักษาศีล จะได้มีความเป็นปกติ แล้วก็สามารถเป็นบาทฐานในการปฏิบัติธรรมต่อไป ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณห้า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส รู้แล้วว่าเป็นสิ่งที่จะดึงจิตให้ตกจมลงไปอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ อยู่ในวัฏสงสาร หรือในบ่วงแห่งเวรทั้งหลาย เพราะฉะนั้นก็ขออย่าได้เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้งห้า เลิกละการยึดติดหลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และพึงเว้นจากเปลือกตมกล่าวคือกาม กามในที่นี้ก็เน้นเฉพาะในเรื่องของกามารมณ์ ที่เรียกว่าเป็นเปลือกตม เพราะถ้าตกจมลงไปในเรื่องของกามารมณ์ หมกมุ่นมัวเมาในเรื่องของการเสพทางเพศ จะไม่มีวันได้พบความแจ่มใสของชีวิตเลย จะหน้ามืดตามัวอยู่ตลอดเวลา สมองนี้ก็จะทึบไม่แจ่มใส ไม่มีโอกาสที่จะกระทำสิ่งที่เกิดคุณประโยชน์แก่ชีวิตได้ เพราะฉะนั้นก็กล่าวอธิษฐานจิตไว้ทีเดียวนะคะแต่ต้น นอกจากนี้ขอให้ข้าพเจ้าไม่พึงประกอบด้วยทิฏฐิชั่ว นี่ดีมากนะคะ ทิฏฐิชั่ว พึงประกอบด้วยทิฏฐิที่ดีงาม ไม่พึงคบมิตรชั่ว พึงคบแต่บัณฑิตทุกเมื่อ นี่เป็นคำอธิษฐานที่ดีมาก ไม่พึงประกอบด้วยทิฏฐิชั่ว ก็รู้แล้วว่าทิฏฐิชั่วจะดึงจิตไปให้ผิด เดินทางผิด เข้ารก เข้าพง เข้าฝ่ากอหนาม ตกเหว ตกนรก ว่างั้นเถอะ ตกนรกทั้งเป็น เพราะว่าเมื่อคิดผิด มีทิฏฐิชั่ว ก็ทำแต่ผิด คิดอะไร พูดอะไร มันผิด มันก็ให้ผลร้ายแก่กาย แก่ชีวิต มันจะทำให้เป็นชีวิตที่ถูกกัดตลอดเวลา แต่ให้สามารถประกอบด้วยทิฏฐิที่ดีงาม คือปรับทิฏฐิชั่วให้เป็นทิฏฐิที่ดี ก็คือจากมิจฉาทิฏฐิเป็นสัมมาทิฏฐินั่นเอง เพื่อจะได้เป็นสิ่งที่เป็นแสงสว่างแก่ชีวิต แล้วก็พาชีวิตนี้เข้าสู่ทางดำเนินที่งดงาม ที่ถูกต้อง ที่เป็นอิสระ ที่ว่าง ที่เบาสบาย ยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับ จนถึงความสงบเย็นถึงที่สุด ไม่พึงคบมิตรชั่ว นี่น่ากลัวเหลือเกิน มิตรชั่ว ก็คือคบคนพาล คนที่อ่อนสติปัญญา ก็ย่อมจะพาไปสู่ความหลงผิด ไปเสพอบาย ไปกระทำสิ่งชั่ว จะทำมาหากินก็เป็นมิจฉาชีพ ไม่ใช่เป็นสัมมาอาชีพ พึงคบแต่บัณฑิตทุกเมื่อ บัณฑิตก็คือผู้ฉลาด เมื่อได้บัณฑิตเป็นกัลยาณมิตร ก็ย่อมจะมีการตักเตือน การบอกกล่าว แต่ให้เข้าสู่หนทางแห่งการเดินที่งดงาม ที่เป็นสุขสงบเย็นให้ยิ่งขึ้นๆ สามารถประพฤติปฏิบัติธรรม อยู่ในแนวแห่งธรรมได้อย่างมั่นคง กล้า กล้าแข็ง อาจหาญ บึกบึน เด็ดเดี่ยว ยิ่งขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ขอให้ข้าพเจ้าเป็นบ่อที่เกิดแห่งคุณ นี่เป็นคำที่ไพเราะ เป็นบ่อที่เกิดแห่งคุณ คืออะไร คืออะไรบ้าง ก็คือศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ ความเพียร และขันติ พึงเป็นผู้ที่ศัตรูครอบงำไม่ได้ ไม่เป็นคนเขลา คนหลงงมงาย เป็นบ่อที่เกิดแห่งคุณ คุณที่ควรจะมีอยู่ในใจ ก็คือให้มีศรัทธาที่ถูกต้อง ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา ศรัทธาที่เห็นโทษทุกข์ของการยึดมั่นถือมั่น แล้วก็เห็นคุณอย่างยิ่งของพระธรรมที่ได้เป็นแสงสว่างแก่ชีวิต แล้วก็มีศรัทธาที่เป็นสัมมาทิฏฐินี้ยิ่งขึ้นๆ อย่างมั่นคง ไม่ถอยห่าง ไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากศรัทธาก็มีสติ คือความยับยั้งคิด ยับยั้งชั่งใจ เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้น ไม่ผลีผลามกระทำไปตามอำนาจของกิเลส มีหิริ ความละอายต่อการกระทำในสิ่งที่ผิด ที่ชั่ว ที่ไม่ดี แม้ไม่มีผู้ใดเห็น มีโอตตัปปะ คือความกลัวต่อการกระทำบาป ทำชั่ว ดังที่ทราบแล้วนะคะ แม้ไม่มีผู้ใดเห็น ขอให้มีความเพียร ความเพียรนี่ก็เป็นคุณแห่งหนึ่ง เป็นคุณอย่างหนึ่ง ซึ่งควรจะอยู่ในบ่อนี้ด้วย บ่อก็คือชีวิตนี้แหละค่ะ ในใจนี้ และขันติ ความอดทนอดกลั้น ถ้าหากว่าชีวิตนี้หรือใจนี้สามารถเป็นบ่อที่เกิดแห่งคุณดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมจะเป็นผู้มีความมั่นคงในหนทางธรรมยิ่งขึ้นนั่นเอง พึงเป็นผู้ที่ศัตรูครอบงำไม่ได้ นี่ก็เป็นคำอธิษฐานที่รอบคอบ ศัตรูของมนุษย์คืออะไร ถ้าจะพูดอย่างเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านว่า ศัตรูของมนุษย์ก็คือความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวเกิดจากอะไร ความเห็นแก่ตัวก็เกิดจากความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตน เพราะตกอยู่ในความหลง ก็เลยหลงยึดในสิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวตนจริงๆ นี่ถ้าพูดตามที่ท่านเจ้าประคุณอาจารย์ท่านบอก ท่านบอกว่าความเห็นแก่ตัวเป็นศัตรูสูงสุด พอความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นแล้ว จะสามารถผลักดันให้ทำความชั่วได้ทุกอย่าง ความเบียดเบียนผู้อื่นทำได้ทุกอย่าง อย่างปราศจากหิริโอตตัปปะ ไม่มีเลย เพราะว่าจะทำได้ทั้งต่อหน้าและลับหลังด้วยซ้ำไป ฉะนั้นพึงเป็นผู้ที่ศัตรูครอบงำไม่ได้ ก็ต้องไม่ตกอยู่ในกิเลส ตัณหา อุปาทาน ไม่เป็นคนเขลา คนหลงงมงาย ถ้าหากว่าเป็นคนเขลา คนหลงงมงาย ตกอยู่ในวนเวียนของกิเลสตัณหาอุปาทานแล้ว แม้จะอธิษฐานว่า ขอให้เป็นผู้ที่ศัตรูครอบงำไม่ได้ ศัตรูก็ต้องครอบงำอยู่ดีใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็เท่ากับว่าการตั้งอธิษฐานจิตอันนี้ เป็นการตั้งอธิษฐานจิตด้วยความรอบคอบ ด้วยสติ แล้วก็ด้วยปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างยิ่งทีเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีการตั้งอธิษฐานจิตอีกว่า ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในอุบาย คือในอุบาย ในวิธีของการฝึกอบรมตนแห่งความเสื่อมและความเจริญ รู้ความเสื่อม รู้เหตุแห่งความเสื่อม แล้วก็รู้เหตุแห่งความเจริญ แล้วก็สามารถหลีกเลี่ยงความเสื่อม แล้วประพฤติแต่สิ่งที่เป็นความเจริญให้ยิ่งขึ้นๆ เป็นผู้เฉียบแหลมในอรรถและธรรม อรรถะก็คือความหมายแห่งธรรม และธรรมะแจ่มกระจ่างในสัจธรรม ขอให้ญาณของข้าพเจ้าเป็นไปไม่ขัดข้องในธรรมที่ควรรู้ ดุจลมพัดไปในอากาศฉะนั้น นี่ก็ไพเราะอีกเหมือนกันนะคะ ญาณก็คือความรู้ความเห็นของข้าพเจ้าที่ได้ฝึกประพฤติปฏิบัติแล้วนั้น ขอให้เป็นไปไม่ข้องขัด จะศึกษาธรรมะข้อใด ฝึกอบรมธรรมะข้อใด ขอให้รู้ ให้เห็น ให้ทำได้ เหมือนลมพัดไปในอากาศ ดุจลมพัดไปในอากาศ ลมพัดไปในอากาศนี่จับความเร็วของลมได้ไหมคะ เราไม่ได้มีเครื่องจับความเร็วโดยธรรมดา เราจะจับความเร็วของลมที่พัดในอากาศไม่ได้ แต่เปรียบแล้วล่ะก็ วิบเดียวๆ เจอวิบตาเดียวก็อาจจะช้าไปก็ได้ เพราะฉะนั้นขอให้ญาณคือขอให้ความสามารถในการรู้เห็นธรรมนั้นเป็นไปได้อย่างรวดเร็วอย่างยิ่ง จนเปรียบเหมือนกับลมพัดไปในอากาศ เพราะฉะนั้นก็ลองฟังคำกล่าวอธิษฐานจิตนี้ไว้นะคะ เพื่อที่จะได้ฝึกอธิษฐานจิตเป็นจุดมุ่งหมายแห่งการปฏิบัติเอาไว้ ไม่ล่องลอย นอกจากนี้ความปรารถนาใดๆ ของข้าพเจ้าที่เป็นกุศล ขอให้สำเร็จโดยง่ายทุกเมื่อ ถ้าเป็นกุศลนะคะ ขอให้สำเร็จโดยง่ายทุกเมื่อ นี่ก็เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา คือกฎแห่งเหตุปัจจัย คุณที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วทั้งปวงนี้ จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกๆ ภพ นอกจากนี้ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีการปฏิบัติโดยสะดวก ตรัสรู้ได้พลัน กระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผลอันเลิศ อันประดับด้วยธรรม ธรรมะ มีวิชชา ช สองตัว เป็นต้น วิชชาก็คือแสงสว่าง หรือความรู้ที่จะมาขับไล่อวิชชาที่ห่อหุ้มจิตออกไป ถ้าหากพระพุทธเจ้าไม่บังเกิดขึ้น นี่เป็นคำกล่าวสุดท้ายนะคะ ถ้าหากพระพุทธเจ้าไม่บังเกิดขึ้น แต่กุศลกรรมของข้าพเจ้าเต็มเปี่ยมแล้ว คือได้ประพฤติปฏิบัติมาอย่างเต็มที่ ประจักษ์แจ้งในธรรมอย่างเปี่ยม มีญาณอันรู้แจ้งแล้ว หมายความว่าอย่างนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้ญาณเป็นเครื่องรู้เฉพาะตนอันสูงสุดเทอญ ที่อ่านให้ฟังนี้ก็หมายความว่า ในขณะที่มาเข้าโครงการฝึกอบรมตน ก็เชื่อว่าแต่ละคนๆ คงมีความปรารถนาที่จะอธิษฐานจิต หรือกล่าวอธิษฐานปฏิญาณไว้ภายในใจ เพื่อให้จิตนี้รู้จุดมุ่งหมายที่จะเดินไป และในขณะเดียวกันก็ให้มีกำลังใจหล่อเลี้ยงที่จะเดินไปในหนทางที่ถูกต้อง แล้วก็ไม่ออกนอกทาง ซึ่งเรียกว่าเป็นสิ่งที่ดีนะคะ ก็เลยนำมาอ่านให้ฟัง
71:03 ฉะนั้นการที่จะเข้าเฝ้ากราบถวายแทบพระบาทขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการสาธยายการทำวัตรสวดมนต์นั้น จึงต้องพยายามนะคะ พยายามกระทำด้วยใจอย่างซึมซาบแล้วก็ลึกซึ้ง หลีกเลี่ยงการกระทำด้วยปากหรือสาธยายธรรมด้วยปาก อย่าทำเช่นนั้นเลย เพราะถ้าหากว่าทำได้ด้วยใจ กาย วาจา ใจ นอบน้อมพร้อมกันหมด อย่างซึมซาบและลึกซึ้ง ก็จะเป็นการเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทบพระบาทของพระองค์ได้จริงๆ เฝ้าที่ไหน ก็คือเฝ้าที่ใจ เสมือนพระองค์ยังทรงอยู่ แล้วก็จะมีความรู้สึกว่าจิตใจนั้นจะได้รับการชำระล้างให้สะอาดสะอ้านยิ่งขึ้นๆ แล้วจะมีลักษณะที่พร้อมอยู่ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา
นอกจากนี้การที่จะได้ฝึกปฏิบัติในโครงการนี้นะคะ ก็จะเป็นการที่จะย้ำใจของตนอยู่เสมอว่า จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องควบคุมบังคับใจให้หันหลังจากโลกให้จงได้ แล้วก็หันหน้าเข้าสู่ธรรมให้ยิ่งขึ้นๆๆ เพราะฉะนั้นในจิตนี้มีความสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าชีวิตพรหมจรรย์ได้ชัดเจน คำว่าพรหมจรรย์คือแบบอย่างของชีวิตอันประเสริฐ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงวางแบบอย่างไว้ด้วยการประพฤติปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ให้พระพุทธสาวกและให้มนุษย์ผู้ปรารถนาชีวิตอันประเสริฐได้เจริญรอยตาม เพราะฉะนั้นเมื่อพรหมจรรย์ชีวิตอันประเสริฐนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดในชีวิตของมนุษย์ ฉะนั้นจึงอย่าหวังว่าจะเป็นสิ่งที่กระทำได้ง่ายๆ มาเข้าฝึกอบรมในโครงการในชั่วระยะเวลาเดือนหนึ่ง หรือสองเดือน หรือสามเดือน จะเข้าถึงชีวิตพรหมจรรย์ได้แล้ว ยังไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเราได้เข้าสู่หนทางนะคะ เราได้เข้าสู่หนทาง เรากำลังบุกเบิกหนทางของชีวิตที่ได้อยู่ในความขรุขระ อยู่ในความวุ่นวายสับสน ยุ่งเหยิง หรือจะเรียกว่าระหกระเหินมาตลอดเวลาก็ได้ บัดนี้กำลังจะเข้ามาสู่หนทางแห่งความเป็นปกติสุข และความเป็นปกติสุขนี้ก็จะทวียิ่งขึ้นเรื่อยๆ มากขึ้นๆ ตามลำดับ ตามลำดับของอะไร ก็คือตามลำดับแห่งการปฏิบัติของแต่ละคนนั่นเอง ฉะนั้นเพื่อให้การหันหน้าเข้าสู่ธรรมในครั้งนี้เป็นการได้พบชีวิตอันประเสริฐสูงสุด อย่างคุ้มค่าแก่การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็จึงหวังว่าทุกๆ คนที่ได้หันเข้ามาในทางนี้แล้วจะได้พยายามอุทิศเวลาอันมีค่าที่ได้ตัด ตัดการเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกกับญาติมิตร กับผู้เป็นที่รักทั้งหลายเป็นเวลาสามเดือน หรือจะเป็นเวลาสี่เดือนต่อไปก็ตาม ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะมาทดลองเพื่อการมีชีวิตอันประเสริฐสักชั่วระยะหนึ่ง ก็ขอว่าจงพยายามฝึกปฏิบัติให้คุ้มค่านะคะ ให้คุ้มค่าแก่การที่ได้กระทำด้วยความอุตสาหะพยายาม ด้วยความเสียสละที่ได้ทำอันนี้แล้วจงทั่วกัน ฉะนั้นการหันหลังให้โลกเพราะถูกกัด ก็คงจะพอระลึกได้ว่าเราถูกกัดจากอะไร และบัดนี้ชีวิตต่อจากนี้ไปจะต้องตั้งความปรารถนาด้วยการกระทำให้จงได้ว่า จะต้องเป็นชีวิตที่พ้นจากการถูกกัด ก็หวังว่าทุกๆ ท่านจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในแบบแผนแห่งการเป็นพรหมจรรย์นี้ได้อย่างทั่วถึง แล้วก็ถ้วนหน้ากัน เพื่อที่จะได้เป็นผู้ที่มีชีวิตที่พ้นจากการถูกกัด ให้สมความปรารถนาให้ตลอดไปจนถึงที่สุดนะคะ ธรรมะสวัสดีค่ะ