แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ วันนี้อยากจะคุยเรื่องของชีวิตของการประพฤติพรหมจรรย์นะคะ ก็ตามที่ได้ทราบแล้วว่า พรหมจรรย์ก็คือแบบแห่งการมีชีวิตอันประเสริฐ ทำไมถึงว่าการประพฤติพรหมจรรย์เป็นแบบแห่งการมีชีวิตอันประเสริฐ ก็คงจะเป็นเพราะว่า ชีวิตพรหมจรรย์นั้นเป็นชีวิตเดียว เป็นชีวิตที่ต้องเสียสละ คือเสียสละความสุขความสบายส่วนตนที่ได้เคยมีเคยเป็นมาโดยตลอดนั้นนะคะ ตลอดชีวิต เช่น กินสบาย นอนสบาย เที่ยวสบาย เล่นสบาย ทำอะไรอย่างเป็นอิสระ อิสระในที่นี้ก็เป็นอิสระตามใจของตนที่ชอบ ตามอำนาจของกิเลสตัณหาอุปาทานนั้นแหละค่ะ เพราะฉะนั้นเมื่อสละสิ่งเหล่านั้นที่เคยยึดถือว่าเป็นความสุข แล้วก็กลับมาสู่ความมีชีวิตที่เหมือนกับไม่มีอะไรเลย เป็นชีวิตเดี่ยว เป็นชีวิตเดียว เป็นชีวิตที่หยุดการคลุกคลีเกี่ยวข้อง พูดจาเล่นหัวกับเพื่อนฝูงญาติมิตรอย่างที่เคยเป็น มันก็ต้องข่มขี่บังคับใจกันอยู่ไม่น้อยเลยใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นก็เลยอยากจะคุยกันถึงเรื่องชีวิตการประพฤติพรหมจรรย์สักเล็กน้อย เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่กันและกัน หรือเพื่อเป็นการเตือนใจแก่กันและกันว่า เราจะต้องระมัดระวังในเรื่องใดบ้าง และควรจะเพิ่มพูนในเรื่องใดบ้างให้มีมากขึ้น
ชีวิตของการประพฤติพรหมจรรย์นั้น ท่านก็เรียกว่าเป็นชีวิตของ “อนาคาริก” ทีนี้สำหรับผู้หญิงก็เรียกว่าเป็นชีวิตของ “อนาคาริกา” อนาคาริกาก็หมายความว่าเป็นชีวิตของผู้ที่ไม่มีบ้านไม่มีเรือนนั้นเอง ฉะนั้น เมื่อมามีชีวิตของอนาคาริกาย่อมจะแตกต่างจากชีวิตของอาคาริกาคือของผู้มีเรือนผู้ครองเรือนอย่างยิ่งทุกประการ เพราะเหตุว่าผู้ที่ครองเรือนนั้นก็ย่อมจะเป็นผู้จะอุทิศชีวิตเพื่อเรือน เพื่อเรือนก็คือเพื่อครอบครัวของตน เพื่อลูกหลาน ญาติมิตร เพื่อสามีภรรยา เพื่อผู้ที่อยู่เกี่ยวข้องใกล้ชิดนี้คือชีวิตของผู้ครองเรือน ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องผูกพันอยู่กับผู้คน ทรัพย์สมบัติสิ่งของ และอะไรอื่นๆ อันแท้ที่จริงมันก็หนัก แต่ว่าบางทีเพราะความรักความผูกพันที่มีอยู่ ก็เลยทำให้รู้สึกเหมือนกับมันไม่หนักนะคะ แต่ความเป็นจริงแล้วก็มันหนักอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าอยู่ไปบางทีก็ร้องไห้สลับหัวเราะไปเรื่อย ๆ บางทีก็ร้อนสลับเย็น ที่จะเป็นปกตินั้นก็ยาก นี้เป็นลักษณะของชีวิตผู้ครองเรือน
ที่นี้เมื่อมามีชีวิตของอนาคาริกา คือชีวิตของผู้ไม่มีเรือน ก็ย่อมจะตรงกันข้ามกับอาคาริกาอย่างสิ้นเชิง ไม่มีเหย้าเรือน ไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีบุตร ภรรยา สามี ไม่มีชื่อเสียงเกียรติยศ หน้าตา ไม่มีอะไร ๆ ทั้งนั้นอย่างที่ชาวโลกเขานิยมที่จะมีกัน ยิ่งกว่านั้นก็อาจจะบอกได้ว่าเป็นชีวิตที่ไม่มีถิ่น ไม่มีถิ่นฐานแน่นอน ถ้าจะถามว่าบ้านอยู่ไหนไม่มีบ้านที่จะบอกว่าตรงไหนเป็นบ้าน เพราะว่าชีวิตของอนาคาริกานั้นจะไม่มีสำนักหลักแหล่งเป็นประจำ เพราะถ้าหากว่าอยู่ประพฤติ ณ ที่ใดแล้วก็เกิดรู้สึกว่า มีความคุ้นเคยกับสถานที่นั้นจนกระทั่งเหมือนกับว่าเป็นของเรา ต้องรีบหนีเลยนะคะ ต้องรีบออกไปใหม่ เพราะว่าจะเกิดการติดยึดขึ้นมาแล้วโดยไม่รู้ตัว
เพราะฉะนั้นชีวิตของอนาคาริกาก็เหมือนกับชีวิตไม่มีถิ่น ไม่มีที่ ไม่มีสำนักหลักแหล่ง จะเรียกว่าเป็นชีวิตที่เร่ร่อนก็ว่าได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่เร่รอนอย่างไม่มีจุดหมาย เป็นชีวิตเร่ร่อนที่มีจุดหมาย เพราะรู้ว่าการเร่ร่อนนี้ไม่ใช่เร่ร่อนเพราะว่ากระเซอะกระเซิงหาที่พักพิงไม่ได้ แต่เร่ร่อนเพราะว่าไม่ต้องการจะปล่อยใจหรือปล่อยตัวนี่ให้ไปยึดติดอยู่กับที่หนึ่งที่ใดหรือกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพราะฉะนั้นจึงเร่ร่อนไปเพื่อฝึกหัดอบรมตนให้เป็นคนอิสระให้เป็นคนไม่มี ไม่ใช่เป็นคนมีนะคะแต่ฝึกเพื่อให้เป็นคนไม่มี ฉะนั้นจึงเหมือนกับเร่ร่อน เป็นชีวิตพักแรม คือไม่ได้พักอาศัยอยู่ชนิดอย่างจำเจหรือว่าเป็นการยืดยาวถาวร แต่เป็นชีวิตพักแรมที่ท่านเจ้าคุณพระอาจารย์สวนโมกข์ท่านบอกว่า เป็นเหมือนกับชีวิตกระเป๋าหิ้ว ก็ไม่ได้ใช้กระเป๋าหรอก กระเป๋าของผู้ที่เป็นบรรพชิตก็คือบาตรที่ท่านใช้ใส่สารพัด แล้วก็จะมีกลด แล้วก็จะมีกาน้ำ มีสิ่งของที่จำเป็น แต่นี่เมื่อพูดว่าเป็นชีวิตกระเป๋าหิ้วก็เป็นคำอุปมาที่เมื่อเวลาเดินทางก็จะมีกระเป๋า ถ้าจะเป็นกระเป๋าอย่างอุปมาของอนาคาริกาก็เป็นกระเป๋าใบเล็ก ๆ ไม่ใช่กระเป๋าใบใหญ่ ๆ นะคะ เพราะจริง ๆ แล้วในกระเป๋านั้นก็ไม่มีสมบัติอะไร
ฉะนั้น การมีชีวิตพรหมจรรย์ท่านจึงบอกว่าเป็นแบบแห่งการมีชีวิตอันประเสริฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ว่าสำคัญมากก็เพราะว่า เป็นชีวิตเดี่ยว เป็นชีวิตเดียว เป็นแบบของชีวิตที่มีทรัพย์สมบัติเหมือนกับนก นึกออกมั้ยคะ ทรัพย์สมบัติของนกคืออะไร ที่พานกไปได้ทั่วทุกหัวระแหงเรียกว่าไปในท้องฟ้านภากาศอย่างไม่มีขอบเขต สมบัติของนกนั้นก็คือ มีเพียงปีกสองข้าง มีเพียงปีกสองข้างเท่านั้นเอง แล้วก็บินไป ใช้ทรัพย์สมบัติที่ตนมี ก็คือปีกสองข้างแล้วก็บินไปเป็นชีวิตเดี่ยว ชีวิตเดียวไม่เกี่ยวเกาะ ฟังดูเหมือนกับใจหาย ว่าโอ้ไม่มีอะไรเลย แต่นี่เป็นเจตจำนง เป็นสัมมาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้วว่า เมื่อต้องการแสวงหาความมีชีวิตเย็นแห่งความเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ก็ต้องฝึกให้เป็นผู้มีชีวิตเดี่ยวชีวิตเดียวไม่เกี่ยวเกาะ เป็นชีวิตแห่งศรัทธา คือประกอบด้วยศรัทธา เริ่มต้นด้วยศรัทธาที่ถูกต้อง เพราะเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยสติและปัญญา อย่างพิจารณารอบคอบถี่ถ้วนแล้วก็มองเห็นว่าชีวิตพรหมจรรย์นี้เป็นชีวิตที่ควรดำเนิน เป็นชีวิตที่ควรถือ เป็นหลักใจของการปฏิบัติแห่งชีวิตตน จึงเป็นศรัทธาที่พร้อมจะบุกบั่นอย่างมุ่งมั่น เพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรียกว่า เป็นชีวิตพรหมจรรย์ แต่ทว่าจะเป็นชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามด้วย
เพราะฉะนั้นชีวิตของการประพฤติพรหมจรรย์ คือเมื่อผู้ใดที่ได้ตั้งใจมั่นหมายแล้วว่าจะสละชีวิต อุทิศชีวิตเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ก็คือ การปฏิบัติแบบของชีวิตอันประเสริฐ ที่ท่านผู้รู้โดยเฉพาะก็คือองค์พระสมเด็จพระสัมมาสั มพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงแบบอย่างแห่งการเป็นผู้มีชีวิตอันประเสริฐให้บรรดาชาวโลกทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือพุทธศาสนิกชน ได้รู้จัก ได้ติดตาม แล้วก็ได้ปฏิบัติตาม ฉะนั้นชีวิตของการประพฤติชีวิตพรหมจรรย์นี้ เมื่อผู้ใดมีศรัทธา มุ่งมั่น ที่จะเข้ามาสู่แห่งการประพฤติชีวิตในลักษณะนี้ ก็ย่อมจะต้องยอมใจ หรือว่าตั้งใจสละแล้วว่า ชีวิตนี้จะต้องเป็นชีวิตเดี่ยว ชีวิตเดียวไม่เกี่ยวเกาะ เพื่อการตัดความอาลัยอาวรณ์ การตัดความอาลัยอาวรณ์นี้จะต้องเป็นการตัดทั้งในฝ่ายความยินดีและก็ยินร้าย คือยินดีในสิ่งที่ได้ที่มี อันเป็นที่พึงปรารถนาของชาวโลก ก็ตัด ไม่อาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่ควรยินดี และสิ่งใดที่จะมากระทบกระแทก อันเรียกได้ว่าเป็นความยินร้าย คือจะทำให้เกิดความไม่ยินดีไม่พอใจจนกระทั่งเกิดเป็นปัญหาและความทุกข์ ก็ไม่อาลัยอาวรณ์ในสิ่งนั้นเหมือนกัน ทั้งความยินดีและทั้งความยินร้าย ผู้ประพฤติพรหมจรรย์จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า อ๋อ มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้นเอง มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ตั้งอยู่แล้วมันก็ดับไป มันไม่ได้อยู่ยั่งยืนอะไรนักหนา มันไม่ได้อยู่คงที่ เพราะฉะนั้นจะไปเกี่ยวเกาะกับมันด้วยเรื่องอะไรอันจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์หรือให้ทุกข์เกิด
เพราะฉะนั้น แม้ในขณะนี้ที่ได้มีโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ก็เรียกว่า เป็นเพียงการทดลองเข้าโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม เป็นเพียงการทดลอง ทดลองว่าการประพฤติปฏิบัติในลักษณะนี้จะเป็นไปได้เพียงใด แล้วก็เป็นชีวิตที่จะมีคุณค่ามีความหมายแก่ชีวิตจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นในระหว่างแห่งการฝึกอบรมนี้ จึงสมควรที่จะได้ทุ่มเทใจ แล้วก็ทุ่มเทความพยายามลงไปในการปฏิบัติทั้งกายและใจให้เต็มที่อย่างชนิดไม่ย่อหย่อน เพื่อจะได้พิสูจน์ได้ว่าผลที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นจริงไหม ถ้าหากว่ามีความย่อหย่อนในการกระทำ ผลที่เกิดขึ้นก็อาจจะเป็นที่รับรองไม่ได้ว่า ได้ผ่านการพิสูจน์ทดลองแล้วอย่างจริงจังและถูกต้อง เพราะมีความย่อหย่อนประกอบอยู่
ฉะนั้น ในการที่จะมีชีวิตประพฤติพรหมจรรย์ ประการแรกก็เห็นจะต้องลองฝึกใจ ลองฝึกใจเพื่อที่จะทดลองความมีชีวิตเดี่ยวไม่เกี่ยวเกาะ ซึ่งในการที่จะลองฝึกใจให้มีความมีชีวิตเดี่ยวไม่เกี่ยวเกาะนั้น ก็เริ่มด้วยการฝึกปฏิบัติที่ละเลิกการคลุกคลี การคลุกคลีกับหมู่พวก การอยู่ด้วยกันเล่นด้วยกัน การทำอะไรๆด้วยกัน โดยในการทำนั้นมีความเกี่ยวเกาะผูกพัน มีความสนุกสนานร่าเริงประกอบอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการที่หรือเป็นสัญญาณที่บอกว่า ต้องร่วมกันอย่างนี้ ต้องมีโอกาสพูดกันคุยกันจึงจะเป็นความเพลิดเพลิน อันนี้ก็ไม่ใช่ลักษณะของวิธีการประพฤติพรหมจรรย์
ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องฝึก ฝึกใจทดลองความมีชีวิตเดี่ยวไม่เกี่ยวเกาะด้วยการอยู่เงียบ คำว่าอยู่เงียบ ก็คือการสำรวมอินทรีย์ อินทรีย์ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ในความสงบ ในส่วนตาก็ไม่มองส่ายแส่ ในส่วนหูก็ดับหูเสีย จากเสียงที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ชวนให้เกิดยินดีหรือยินร้าย ในส่วนกลิ่นที่มากระทบจมูก จะเป็นกลิ่นหอมกลิ่นเหม็น ก็ให้มันเป็นเพียงสิ่งสักว่า เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเพียงแค่นั้นเอง รสที่มากระทบลิ้นของอาหารที่รับประทานเข้าไปจะเอร็ดอร่อย ก็เช่นนั้นเองอีกเหมือนกัน ถ้ามันเกิดแล้วก็ดับ เคี้ยวแล้วก็กลืน มันก็หายไปมันไม่ได้อยู่นาน หรือมันจะไม่เอร็ดอร่อย มันก็เช่นนั้นเองอีกเหมือนกัน เพราะมันก็หาอยู่คงที่ไม่ มันเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นแต่เพียงว่า อาหารก็สักแต่ว่าอาหาร มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อเลี้ยงร่างกาย หล่อเลี้ยงร่างกายนี้ให้แข็งแรงมั่นคง เพื่อจะได้เป็นเครื่องมือของการประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป ฉะนั้น ก็ฝึกด้วยการสำรวมอินทรีย์ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเฉพาะใจนั้น ต้องฝึกการปิดประตูใจให้แน่นหนา ให้แน่นหนาอยู่ด้วยอะไร คืออะไรจะมาเป็นเครื่องเป็นเสมือนกับกุญแจที่จะมาปิดประตูใจ นั้นก็คือต้องอาศัยสติที่ต้องการฝึกให้เกิดขึ้นทุกลมหายใจเข้าออก โดยใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ รู้อยู่กับลมหายใจที่ผ่านทั้งเข้าและออกจนสุดสายที่มันสัมผัส เมื่อผ่านตรงช่องจมูก เมื่อเวลาเข้าหรือออกให้ทุกขณะ นี่ก็จะเป็นสิ่งเป็นเครื่องมือในการปิดประตูใจได้อย่างหนึ่ง
จากนั้นก็คือการฝึกสมาธิภาวนา ดั่งที่ได้ลองฝึกในวิธีการของอานาปานสติ คือการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ แล้วก็ทุกเวลานาทีก็จดจ่ออยู่กับลมหายใจ จะในอิริยาบถนั่งก็ดี เดินก็ดี ยืนก็ดี หรือแม้แต่นอนก็ดี พยายามดึงใจที่มันมักจะกระเจิดกระเจิงออกไปทั่วสารทิศ ด้วยความคิดการปรุงแต่งนั้นดึงมันเข้ามาให้อยู่ในที่เดียวไม่ให้ออกไปที่อื่นนะคะ เพื่อที่ว่าจิตใจนี้จะได้มีความสงบนิ่ง มีความเย็น แล้วก็มีความมั่นคงอยู่ด้วยสมาธิมากขึ้นมากขึ้น แล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้นทีละน้อยทีละน้อยทีละน้อย ด้วยการมองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพียงสิ่งสักว่าธาตุตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง ไม่มีอะไรมากกว่านี้
นอกจากการอยู่ปฏิบัติเงียบแล้ว ก็คือการหยุดการคลุกคลีไม่ว่าจะเป็นด้วยการพูด การคุย หรือว่าการสัมผัสกันด้วยในทางกายทางใดทางหนึ่งก็ตาม แต่ในการที่จะทำงานร่วมกันนั้น ก็เป็นสิ่งที่ควรจะฝึกในการทำงานร่วมกัน โดยทำอย่างชนิดที่ใจไม่มีความรู้สึกเกี่ยวเกาะ หรือผูกพันหรือจะจำว่าจะต้องคลุกคลีในการนั้น แต่การที่จะกระทำกิจการงานข้างนอก เช่นงานภายนอกอาคารเพื่อให้สำเร็จลุล่วงไปตามความประสงค์ หรือตามจุดหมายที่ได้กำหนดเอาไว้ แต่มิใช่เป็นโอกาสที่จะเปิดให้เกิดการคลุกคลีขึ้น
ก็ลองฝึกนะคะ ลองฝึกให้เกิดความรู้สึกเดี่ยวเกิดขึ้นภายใน เกิดขึ้นภายในใจ แล้วก็สังเกตดูว่า ความรู้สึกเดี่ยวหรือเดียวที่เกิดขึ้นภายในใจนั้น มันเป็นยังไง มันเป็นความรู้สึกเดี่ยวหรือเดียวที่เป็นอิสระ แล้วก็มีกำลัง มีพลัง มีความเข้มแข็ง หรือความเป็นความรู้สึกเดี่ยวหรือความรู้สึกเดียวที่มีความเดียวดายประกอบไปด้วย ถ้าหากว่ามีความเดียวดายประกอบไปด้วยแล้วละก้อก็ มันก็ยังไม่ใช่ความเดี่ยวหรือความรู้สึกเดี่ยวที่เป็นธรรมะ ที่จะเป็นหนทางแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าหากว่าเกิดมีความแทรกซ้อนของความใจหาย ของความว้าเหว่หรือความวังเวง หรือความหมดแรง ก็ขอให้ย้อนนึกไปถึงเวลาที่มีความผูกพันเกี่ยวข้อง อยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มเป็นพวก ในสมัยที่อยู่ในบ้าน อยู่ในโลกนั้นเป็นอย่างไร มีความสุข มีความทุกข์ มีความร้อน มีความเย็น มีความหนักหน่วงในใจมากน้อยแค่ไหน เมื่อมาเปรียบกับชีวิตของการประพฤติพรหมจรรย์ที่กำลังทดลองอยู่นี้ ก็คงจะพอมองเห็นได้เองนะคะ ถ้าหากว่าจะฝึกมองความรู้สึกนั้นด้วยใจที่รู้สึกเป็นกลาง พอนึกได้อย่างนี้ พอเห็นความแตกต่างว่า ชีวิตเดี่ยวที่มีทรัพย์สมบัติเหมือนนกบินไปอย่างอิสระนี้ มันช่างเป็นชีวิตที่ให้ความเย็น ให้ความสงบ แล้วก็เพิ่มพูนความเด็ดเดี่ยวในการประพฤติปฏิบัติมากยิ่งขึ้น พอรู้สึกอย่างนี้ ศรัทธาปสาทะในการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะเมื่อมองดูท่านครูบาอาจารย์ ที่ท่านปฏิบัติธรรมแล้ว ด้วยความเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ก็จะมีเกิดศรัทธาปสาทะในการที่จะประพฤติปฏิบัติในส่วนแห่งตนนั้นให้ยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่าง ก็ลองดู ลองดูเจ้าพระคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์นะคะ ที่ท่านได้สร้างสถานที่ที่เรียกว่า “ธรรมะมาตา” ขึ้นมา เพื่อให้มีการฝึกปฏิบัติอบรมโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่ตั้งใจจะสละโลกเพื่อประพฤติธรรมนั้น ท่านกระทำได้อย่างไร ตลอดชีวิตในชีวิตพรหมจรรย์ของท่านเป็นเวลา 67 ปี จนกระทั่ง ท่านได้ล่วงลับไปแล้วนั้น ท่านได้มีเรี่ยวแรงในการประพฤติพรหมจรรย์มาได้โดยตลอดอย่างงดงามได้อย่างไร ท่านมีเรี่ยวแรงในการทำงานเพื่อพระศาสนาจนตลอดชีวิตของท่านได้อย่างไร ในตอนที่ท่านได้เข้ามามีเพศบรรพชิต พูดง่าย ๆ ก็คือเมื่อท่านได้ตัดสินใจยอมเข้ามาบวชอยู่ในเพศของบรรพชิตนั้น ในชั้นแรก ท่านก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นการบวชตลอดชีวิต แต่ว่าเป็นการบวชเพื่อที่จะอนุโลมตามใจของคุณโยมมารดา เพื่อให้มีการบวชตามธรรมเนียมประเพณีของไทย ที่ว่าเมื่อผู้ชายมีอายุครบ 20 ปี ก็ถึงคราวแก่การที่จะสมควรแก่การบวช ท่านก็บวช
แต่เมื่อท่านบวชไปบวชไปประพฤติปฏิบัติไปพร้อมกับศึกษาเล่าเรียนในพระธรรมมะ ก็ปรากฏว่าท่านยิ่งมีความเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ชีวิตใดนี่ คือการจะมีชีวิตอยู่ในรูปแบบใดในโลกนี้ ชีวิตใดที่จะสามารถทำประโยชน์ให้แก่โลกได้เท่ากับชีวิตพรหมจรรย์ เห็นจะไม่มี ท่านมีความรู้สึกอย่างนั้น จะไปทำงานทำการด้วยอาชีพอะไรก็ตามแต่ ก็เป็นประโยชน์ มีประโยชน์ทั้งนั้น จะไปทำการทำงานด้วยอาชีพอะไรก็ตามที ก็เป็นประโยชน์มีประโยชน์ทั้งนั้นตามสมควรแก่อาชีพ แต่ถ้าท่านมีความรู้สึกว่าการอยู่ในชีวิตของพรหมจรรย์นี่ มีโอกาสที่จะทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้อย่างกว้างขวางมากมายมหาศาล แล้วก็เป็นประโยชน์ที่จะนำความสุขสงบเย็น หรือความมีชีวิตเย็นมาสู่เพื่อนมนุษย์ได้อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อท่านได้พิจารณาใคร่ครวญมาถึงจุดนี้ ท่านก็ตกลงใจที่จะคงอยู่ในเพศของพรหมจรรย์นี้ตลอดไปจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน
และเมื่อไปดูชีวิตของท่านคือไปดูในที่ที่ท่านพักผ่อน สถานที่อันเป็นที่พักของเจ้าพระคุณท่านอาจารย์ แล้วเปรียบเทียบกับอาณาบริเวณของสวนโมกข์ ซึ่งกว้างขวางเป็นอันมาก สวนโมกข์พลารามบ้านเก่า ก็มีเนื้อที่บริเวณ 400 กว่าไร่ สวนโมกข์ในทางด้านสวนโมกข์นานาชาติ พื้นที่บริเวณก็ร่วม 300 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนตรงกลางก็เป็นที่ฝึกอบรม เรียกว่า ให้การอบรมสมาธิภาวนาในรูปแบบของอานาปาณสติภาวนา แก่ผู้ที่สนใจที่จะเข้ามารับการอบรมทั้งไทยและฝรั่ง ทุกๆเดือนเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว แล้วก็ผู้ที่มาเข้าอบรมนั้นโดยเฉพาะชาวต่างประเทศก็พูดได้ว่า ทุกชาติ ทุกภาษา และก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ๆ เป็นร้อย ๆกว่าทุกเดือน คนไทยก็มีมาทุกเดือน เมื่อมาก็มาด้วยความร้อน มาอย่างแสวงหาอยากจะรู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร อะไร คือจุดหมายที่แท้จริงและสูงสุดของชีวิต และเมื่อมาแล้วแต่ละคนต่างก็ได้รับคำตอบไปตามใจที่ตนปรารถนา บ้างก็มาหาค้นหาตัวเอง บ้างก็มาค้นหาวิธีที่จะหยุดความคิด คือความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในใจนี่ มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาไม่มีเวลาหยุด แล้วก็ทำให้ชีวิตนี้เต็มไปด้วยความสับสน เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ไม่สามารถจะมีการพักผ่อน ไม่สามารถที่จะกระทำชีวิตนี้ให้อยู่ในความเป็นปกติได้ เขาก็ค้นพบได้ว่าโทษทุกข์ของการปรุงแต่งคือการคิดปรุงแต่งที่คิดไม่หยุดอย่างที่คนฉลาดคิดว่าต้องคิด แท้จริงแล้ว มันก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสนซึ่งลงเอยด้วยคำว่าความทุกข์แก่ชีวิตตลอด บางครั้งก็ถึงกับทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ
เพราะฉะนั้นผู้ที่มาแสวงหาคำตอบในลักษณะนี้ก็ได้คำตอบไปว่า ต้องปฏิบัติสมาธิภาวนา ต้องรู้จักกฎของธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดเที่ยง ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนที่จะให้รักษาไว้ได้เป็นตัวเป็นตน ไม่มีเลยสักอย่างเดียว เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็จะมองเห็นเองว่า แล้วจะมามัวคิดปรุงแต่งไปทำไมเพื่ออะไรแล้วก็หยุด บ้างก็มาเพื่อที่จะดับความร้อนในใจที่มีอยู่ในชีวิตในทางโลก กลุ้มกลัดต่าง ๆ เพราะเรื่องของงานบ้าง เรื่องของลูกบ้างสามีบ้าง ภรรยาบ้าง เพราะเรื่องของสังคมบ้าง เพราะเรื่องของทรัพย์สินเงินทอง หรือเพราะเรื่องของความมีหน้ามีตาชื่อเสียงเกียรติยศ ยิ่งมีมากเท่าใด ก็นำภาระอันหนัก จนกระทั่งเหนื่อยอ่อนเปลี้ยไม่สามารถจะแบกได้มาสู่ชีวิตตนมากยิ่งขึ้น ๆ อยู่ตลอดไป เพราะฉะนั้นในสถานที่แห่งการอบรม ในส่วนที่เรียกว่าสวนโมกข์นานาชาติตรงกลางที่จัดไว้เป็นที่อบรมนี้ ก็ได้ช่วยนำความสงบเย็นมาสู่เพื่อนมนุษย์ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างประมาณมิได้ คือมิได้นับจำนวนว่าเป็นจำนวนกี่ร้อยกี่พันหรือหมื่นไปแล้ว หรือกว่าหมื่นไปแล้วหรือกว่าหมื่นไปแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะตอบได้
นี่ก็เป็นสิ่งที่เจ้าพระคุณท่านอาจารย์ได้มองเห็นว่า ในชีวิตของความเป็นเพศพรหมจรรย์ คืออยู่ในเพศพรหมจรรย์นี่แหละ ที่จะสามารถนำความสุขสงบเย็นมาสู่เพื่อนมนุษย์ได้มาก ได้นาน แล้วก็อาจเป็นการถาวร ซึ่งถ้าจะเรียกเป็นกุศล ก็เป็นกุศลมหาศาล ในทางด้านขวาของสวนโมกข์พลาราม ก็เป็นสถานที่ที่ท่านเจ้าพระคุณท่านอาจารย์ได้ตั้งใจเอาไว้ว่า จะให้เป็นสถานที่แห่งการอบรมพระที่จะเป็นธรรมทูตต่อไปข้างหน้า การที่จะเป็นธรรมทูตก็คงจะทราบแล้วว่าจะต้องมีการศึกษาฝึกอบรมกันอย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อให้สามารถที่จะเป็นพระธรรมทูตได้อย่างสมศักดิ์ศรีแก่ความเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ส่วนทางด้านซ้ายมือของสวนโมกข์นานาชาติส่วนกลางนั้น ท่านพระคุณเจ้าอาจารย์ก็ตั้งใจที่จะจัดให้เป็นธรรมะมาตา คือเป็นสถานที่แห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมของผู้หญิงที่มุ่งมั่นจะอุทิศชีวิตเพื่ออยู่ในเพศของพรหมจรรย์ อย่างที่ได้มีการเริ่มต้นโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามอย่างที่เริ่มเป็นรุ่นที่หนึ่งในขณะนี้นั้น
เพราะฉะนั้นท่านเจ้าพระคุณเจ้าอาจารย์ เมื่อท่านได้พิจารณาดูแล้วก็เห็นแล้วว่า ไม่เห็นจะมีอาชีพอื่นใดที่จะสามารถทำประโยชน์ให้แก่โลกได้เท่ากับชีวิตพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้นในด้านของสวนโมกข์พลาราม ท่านก็ได้คิดค้นที่จะสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ในการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมไว้มากมายหลายอย่าง โรงมหรสพทางวิญญาณที่จะช่วยเรียกว่า เรียกร้องหรือว่าชวน ชักชวนให้เพื่อนมนุษย์ตื่นขึ้นจากการหลงใหลในโรงมหรสพในทางโลก เช่น ภาพยนตร์ละคร หรือว่าสิ่งอำนวยความบันเทิงต่าง ๆ นานา ให้หันมาสนใจในความเพลิดเพลินที่จะพัฒนาสติปัญญาให้เกิดขึ้น เพราะว่ามหรสพทางวิญญาณก็คือโรงมหรสพที่มีความปรารถนาเพื่อให้ความเพลิดเพลินทางสติปัญญา ยิ่งดูภาพยิ่งอ่านถ้อยคำที่เขียนประกอบ ก็ยิ่งมีความลึกซึ้ง มีความกระจ่างแจ้งในสติปัญญาที่เคยคับแคบนั้นก็กว้างขวางขึ้น แล้วก็มีความสนุกสนานเพลิดเพลินที่จะคิดค้น เรียกว่าคุ้ยเขี่ยต่อไป จนกระทั่งเกิดความกระจ่างแจ้งชัดเจนในความหมายแห่งธรรมะ
ก็เรียกว่าจะสนใจนำไปสู่ความสนใจในความหมายแห่งชีวิตพรหมจรรย์ให้ยิ่งขึ้น หรือสระนาฬิเกร์ที่จะชี้ให้เห็นว่า นี่แหละชีวิตความมีพรหมจรรย์นั้นจะต้องเหมือนกับต้นมะพร้าวที่อยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางสระนาฬิเกร์ สระนาฬิเกร์ ก็เป็นสถานที่ที่ท่านสร้างขึ้นเพื่อที่จะเป็นสัญลักษณ์ชี้ให้เห็นว่า ความสุขสงบเย็นของมนุษย์นั้นจะบังเกิดขึ้นได้ ถ้าหยุดการคลุกคลีกับ
ข้างนอก แล้วก็มีการศึกษาข้างในดูข้างใน เปรียบเสมือนกับต้นมะพร้าวที่มีอยู่ต้นเดียวกลางเกาะน้อย ๆ แล้วก็เกาะน้อย ๆ นั้นก็ตั้งอยู่ในสระใหญ่มีน้ำล้อมรอบ แล้วก็ตามคำกล่อมของชาวภาคใต้ที่บอกว่า “มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย” หมายความว่าอะไร ก็หมายความว่า มะพร้าวนาฬิเกร์ก็คือต้นมะพร้าวนี่แหละ ต้นเดียวโนเนอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง อยู่ต้นเดียวเดี่ยวโดด แต่ไม่เดียวดาย คือไม่มีความเหงาหงอยว้าเหว่ ฝนตกก็ไม่ต้อง ฝนตกก็ไม่เปียก ฟ้าร้องก็ไม่ถึง คือไม่กระเทือนแก้วหู ฝนตกก็ไม่ต้อง ฟ้าร้องก็ไม่ถึง ก็อยู่ได้อยู่ท่ามกลางทะเลขี้ผึ้ง ทะเลขี้ผึ้งนั้นก็เปรียบเสมือนกับโลกเรานี้ บางทีมันก็กระด้าง แข็ง ร้อน ไหม้เกรียม แต่บางครั้งมันก็เย็น อ่อนโยน นุ่มนวล
เพราะฉะนั้นการมีชีวิตอยู่ในโลกย่อมจะต้องกระทบกับสิ่งอันเป็นคู่ แข็งบ้างอ่อนบ้างกระด้างบ้าง ประณีตบ้าง หรือว่าร้อนบ้าง เย็นบ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อได้ฝึกใจ ผู้ใดได้ฝึกใจหยุดการคลุกคลี แล้วก็ดูแต่ข้างในแต่ผู้เดียวเดี่ยวโดดเหมือนอย่างมะพร้าวนาฬิเกร์ แม้ฝนจะตกก็ไม่เปียก ฝนตกก็เปียกหรอก แต่เปียกแต่ข้างนอกแต่ไม่เปียกเข้าไปถึงข้างใน คือใจนั้นจะไม่มีการกระเทือน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอันเรียกว่า “ผัสสะ” หรือฟ้าร้องก็ไม่ถึง ก็ไม่ใช่ว่าหูหนวกก็ได้ยิน ได้ยินเสียง ฟ้าร้องแต่ไม่ทำให้เกิดอาการกระทบกระเทือนแก่จิตใจ
เพราะฉะนั้นเช่นนี้แหละลักษณะชีวิตของพรหมจรรย์ ถ้าจะอุปมาก็ต้องพยายามที่จะฝึกอบรมให้เหมือนกับต้นมะพร้าวนาฬิเกที่อยู่ต้นเดียวโนเนกลางทะเลขี้ผึ้ง ไม่มีอะไรที่จะทำให้กระทบกระเทือนได้ ฝนตกก็ไม่ต้อง ฟ้าร้องก็ไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง อยู่กลางทะเลขี้ผึ้งอย่างนั้นแหละ ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย ถึงอะไร ก็ถึงความไม่สะดุ้งไม่สะเทือน ถึงความอยู่เหนือความบวกความลบ ความร้อนความเย็น ความทุกข์ความสุขความได้ความเสีย จะถึงจุดนี้ได้หรือจะถึงภาวะนี้ได้ก็ต้องเป็นผู้ที่พ้นบุญ ไม่ใช่ผู้ที่มีบุญนะคะ โปรดเข้าใจ แล้วก็ทำความเข้าใจในคำว่า “พ้นบุญ” กับ “มีบุญ” ให้ชัดเจน เพราะต่างกันอย่างยิ่ง เรามักจะพูดในทางโลกว่า แหม คนนั้นเขามีบุญจริง ๆ คนนี้เขามีบุญจริง ๆ และในความมีบุญที่กล่าวขวัญถึงกันนั้น ก็หมายถึงว่า เขามีทรัพย์สินสมบัติมากมาย มียศ มีทรัพย์ มีหน้ามีตา มีชื่อ มีเสียง มีครอบครัวที่อบอุ่น มีพี่มีน้อง มีมิตรสหายเพื่อนฝูงอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ที่ใคร ๆ ถือกันว่าเป็นสิ่งที่เป็นความสุขเป็นสิ่งที่ประดับชีวิตให้ดูโอ่อา แต่ความเป็นจริงแล้วมันหาใช่ไม่
แต่ถ้าหากว่าผู้ใดติดอยู่เพียงแค่นั้นคือติดอยู่กับสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของความสุขตามทางของโลกแล้ว ก็ยังคงไม่พ้นจากความทุกข์ยังจะคงอยู่คลุกคลีกับความทุกข์ ความร้อนบ้าง ความเย็นบ้าง แต่ผู้ที่พ้นบุญก็คือพ้นจากการยึดมั่นผูกพันในสิ่งคู่ บุญก็สักแต่ว่าบุญ บาปก็สักแต่ว่าบาป รู้ว่ามันเป็นเพียงสิ่งสักว่า เมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งสักว่าแล้วก็จะเว้นการกระทำเสียซึ่งบาป แล้วก็จะกระทำแต่สิ่งที่เป็นบุญอันเป็นกุศลให้ยิ่งขึ้น โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นบุญของฉัน หรือเป็นบุญของใคร แต่บุญนั้นก็คือความดีที่ทำแล้วทำให้เกิดความสบายใจ เพราะว่ามันเกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น หรืออีกนัยในหนึ่งก็คือแก่เพื่อนมนุษย์ ฉะนั้นถ้าหากว่าจิตใดนี่หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นขึ้นไปถึงจุดนั้นได้ ภาวะแห่งจุดนั้น พ้นจากการยึดมั่นในบุญในบาป พูดง่ายๆก็คือพ้นจากการยึดมั่นในสิ่งอันเป็นคู่ เมื่อนั้นแหละ จิตนั้นก็จะถึงซึ่งความสุขสงบอันแท้จริง ก็เกิดจากการประพฤติชีวิตพรหมจรรย์นั่นเอง
เพราะฉะนั้นเจ้าพระคุณท่านอาจารย์ท่านก็จึงมีความเห็นว่า ความสนุกของชีวิตมนุษย์นั้นไม่มีสิ่งใดจะสนุกไปยิ่งกว่าการทำงาน เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ยิ่งทำ ยิ่งสนุกยิ่งทำเหมือนกันงานก็ยิ่งกว้างขวาง สามารถจะคิดค้นอะไรๆได้อีกหลายๆอย่างเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งสิ้น ฉะนั้นตลอดชีวิตที่เราจะไปมองดู หรือจะไปสังเกตก็จะเห็นว่า ห้องที่พักส่วนองค์ของท่านนั้นเป็นห้องเล็ก ๆ สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ไม่เคยได้สร้างขึ้น มีผู้มาสร้างถวายเพื่อที่จะจัดเป็นห้องน้ำห้องส้วมทั้ง ๆ ที่มีตึกใหญ่มีอาคารใหญ่มีบริเวณหลายร้อยไร่ สำหรับเพื่อนมนุษย์ที่จะไปศึกษาและปฏิบัติธรรม ทั้งที่เพียงแวะไปหรือไปพักผ่อน แต่องค์ท่านอาจารย์เองก็คงอยู่ภายในห้องน้ำที่เป็นห้องน้ำห้องส้วมในตัวเล็ก ๆ ห้องนั้นตลอดเวลา สถานที่นั้นเป็นทั้งห้องนอน เป็นทั้งห้องทำงาน เป็นทั้งห้องพักผ่อน เป็นทั้งห้องทุกอย่าง นี่คือแสดงถึงว่าความมีชีวิตพรหมจรรย์นั้นจะต้องมีความเรียบง่ายอย่างนี้ เป็นชีวิตที่ไม่ปรารถนาไม่อยาก ไม่อยากไม่ต้องการสิ่งที่จะบำรุงบำเรอความสุขให้มากยิ่งไปกว่าสิ่งที่เป็นเพียงความจำเป็น คือเป็นปัจจัยที่เป็นความจำเป็นแก่ชีวิตเท่านั้น โดยจะมีคติว่า “เป็นอยู่อย่างต่ำแต่มุ่งกระทำอย่างสูง” คือเหมือนกับว่านอนกับดินกินกับหญ้าอยู่อย่างต่ำ การอยู่อย่างนี้ชีวิตอย่างนี้ไม่ค่อยจะเป็นที่ปรารถนาของผู้ที่ยังติดพันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าความสุขที่สมมุติเรียกกันว่าความสุข จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะอำนวยความสะดวกสบายให้ได้แม้กับทางกายอย่าว่าถึงทางใจเลย แต่ส่วนของผู้ประพฤติพรหมจรรย์นั้นยิ่งเรียบง่ายเพียงใดก็ยิ่งเป็นที่น่าปรารถนา เพราะเป็นโอกาสที่จะฝึกหัดเพื่อตัดหรือกำราบตัณหาความอยาก อุปทานความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็มิยอมให้กิเลสโลภโกรธหลงเข้ามารบกวนจิตใจได้ง่าย ๆ นะคะ
เพราะฉะนั้นเจ้าพระคุณท่านอาจารย์จึงได้พูดได้ว่า เป็นตัวอย่างตัวอย่างหนึ่งที่ได้แสดงให้เห็นว่า ชีวิตการประพฤติพรหมจรรย์นั้นควรจะดำเนินไปอย่างไร ในชีวิตส่วนตนมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายเป็นอยู่อย่างต่ำ แต่จะทุ่มเทพลังชีวิตทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา เวลา และอื่นๆ เพื่อการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ นี่ก็คือเป็นตัวอย่างที่เราจะมองเห็นได้จากคุณค่าของชีวิตพรหมจรรย์ ว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้นก็กล่าวได้ว่าชีวิตพรหมจรรย์นั้นเป็นชีวิตที่มีพลังที่จะทำงานได้อย่างไม่ต้องจำกัด คือไม่มีการจำกัดว่าสักเพียงใดและเท่าใด ไม่ต้องเสียเพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่าในชีวิตพรหมจรรย์ที่แท้จริง เมื่อประพฤติปฏิบัติมาแล้วนั้น จะไม่ต้องเสียพลังในการที่จะมาคร่ำครวญต่าง ๆ
ถ้าเราจะลองแจกแจงดูก็จะเห็นว่า บางทีวันหนึ่งใดในวันหนึ่งนั้น ได้เสียเวลาไปในการคร่ำครวญอย่างที่ไม่จำเป็นเลยนะคะ แล้วก็ไม่เกิดประโยชน์เลย เช่น คร่ำครวญในความเสียใจในความผิดพลาดที่ได้กระทำไปเป็นการล่วงล้ำเบียดเบียนผู้อื่น แล้วก็บางทีก็เบียดเบียนตัวเองให้เจ็บปวดทั้งทางกายและทางวาจา หรือบางทีก็ทำให้เกิดความเสียหาย โดยเจตนาบ้าง ไม่เจตนาบ้าง ตอนกระทำนั้นไม่ได้นึกถึง ว่าจะมีความผิดพลาดมีความเสียหายอย่างไร แต่พอกระทำไปแล้วนั่นแหละ จึงเกิดความรู้สึกสำนึกขึ้นมาภายหลัง แล้วก็อยากจะแก้ไข ไม่อยากเป็นอย่างนั้น แต่มันแก้ไขไม่ได้เพราะว่าได้ทำไปแล้ว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเอามาคร่ำครวญเสียใจ นี่ก็เพราะว่า ในขณะที่ทำนั้นบังเอิญสติมาไม่ทันหรือขาดสติไป
หรือบางทีก็มาคร่ำครวญ คือคร่ำครวญเกี่ยวเกาะอยู่กับความอิ่มใจความพอใจ ในความบริสุทธิ์ สุจริตใจ หรือในความดีของตน ที่ได้กระทำไปเพื่อเพื่อนมนุษย์ คือว่าทำอะไรไม่ดี คร่ำครวญด้วยความเสียใจ พอทำดีก็คร่ำครวญอีกเหมือนกัน คร่ำครวญด้วยความอิ่มใจ ด้วยความพอใจในความดีของตน เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ต้องเสียพลังในการคร่ำครวญแล้ว แต่ผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์นะคะ ที่ได้พยายามทุ่มเทพลังทั้งหมด ก็จะมีแต่ความอิ่มใจในความบริสุทธิ์ ในความสุจริตใจในการเสียสละพลังทั้งหมด เพื่อความหมดจดแห่งศีล แล้วก็เพื่อประโยชน์สร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้ ก็เรียกว่าไม่ต้องเสียพลัง หรือว่าเกิดพลังขึ้น เพราะมีความสงบเย็น เพราะไม่มีไฟกิเลสตัณหาอุปาทานเข้ามารบกวน นี่คุณประโยชน์ของทางชีวิตพรหมจรรย์ นอกจากนั้น ในชีวิตการประพฤติพรหมจรรย์ก็จะได้รับหรือประสบกับความสุขความสงบเย็นใจ ไม่มีความกระหิว หิวกระหายใด ๆ เข้ามารบกวน มีแต่ความอิ่มความพอในสิ่งที่มีแล้วก็ในสิ่งที่เป็น จึงกล่าวได้ว่ามีพลังที่จะทุ่มเทในการทำงานได้อย่างมหาศาลนี่ก็เป็นการที่จะชี้แจง หรือว่าลองแจกแจงกันดูว่าชีวิตพรหมจรรย์นั้นให้อะไร แล้วก็ไม่ต้องเสียอะไรจากการประพฤติชีวิตพรหมจรรย์
ถ้าจะพิจารณาว่า องค์ประกอบสำคัญของการมีชีวิตพรหมจรรย์คือหมดจดงดงามนั้นต้องการอะไรบ้างมาเป็นองค์ประกอบ ก็คงจะต้องกล่าวว่าสิ่งสำคัญก็คือจะต้องประกอบด้วยศรัทธา และศรัทธานั้นจะต้องเป็นศรัทธาประกอบด้วยสติและปัญญา นี่เป็นประการแรกทีเดียวถ้าจะมุ่งหน้าเข้ามาสู่ชีวิตพรหมจรรย์นั้น แต่ศรัทธานั้นยังไม่แก่กล้าเพียงพอ มันอาจจะหดหาย หรือว่าถดถอยออกไปจากความมีชีวิตพรหมจรรย์นั้นได้ง่าย ๆ ไม่ยากเลยนะคะ เพราะฉะนั้นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญานั้น ก็จึงจะต้องเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ก่อนที่จะหันเข้ามาหาสู่ชีวิตพรหมจรรย์ก็จะต้องได้ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ แล้วก็มองพิจารณาอย่างรอบคอบอย่างรอบด้าน ศึกษาค้นคว้าจนกระทั่งมองเห็นคุณค่าของชีวิตพรหมจรรย์แล้ว แล้วก็จึงเกิด สังมาสังกัปปะ คือความปรารถนาที่จะต้องตั้งปณิธาน เพื่อการมีชีวิตพรหมจรรย์ให้เจริญงอกงามให้ยิ่งขึ้น ๆ ตามลำดับ
ฉะนั้นศรัทธานี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าหากว่ามันเกิดจางคลายหรือว่าจืดหายไปเมื่อใด รีบย้อนกลับไปนึกถึงจุดเริ่มต้น ว่าอะไรที่เป็นแรงผลักดันให้หันเข้ามาสู่การประพฤติพรหมจรรย์ รำลึกถึงคุณค่าของแรงผลักดันที่เกิดขึ้น อันเป็นจุดแรกที่ผลักเข้ามาในการประพฤติพรหมจรรย์ในตอนนั้น ให้ยิ่งขึ้น ให้ชัดขึ้น จนเกิดความซาบซึ้งขึ้นมาใหม่ เหมือนกับเป็นการเริ่มต้นประพฤติใหม่ เกิดความซาบซึ้งแล้วก็จะเกิดมีพลังศรัทธา ที่มั่นคง เข้มแข็ง กล้าหาญ แล้วก็เด็ดเดี่ยว ที่จะเดินไปให้ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ องค์ประกอบที่สำคัญอีกก็คือ สติสัมปชัญญะ คือมีทั้งสติ มีความระมัดระวังยั้งคิด แล้วก็สัมปชัญญะความรู้รอบคือความรู้รอบพร้อมสติตัวรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ เมื่อจะเกิดการผิดพลาดหรือย่อหย่อนรู้ได้ทันท่วงที ว่านี่กำลังจะก้าวพลาดแล้วนะ แล้วก็มุ่งมั่น ยืดตัวตรง เดินไปใหม่ด้วยความมั่นคงเด็ดเดี่ยว
องค์ประกอบที่สำคัญอีกข้อนึงนะคะก็คือ ขันติโสรัจจะ ขันติก็คือความอดทนและความอดกลั้น โสรัจจะก็คือความเสงี่ยม ความอดทนเรามักจะนึกถึงอดทนทางกาย คืออดทนความลำบาก ความระกำทั้งปวงในทางร่างกาย เช่น การนอนหมอนไม้ การนอนกับดินกินกับหญ้า หรือว่าการอดทนในการที่จะต้องออกแรงกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การประพฤติปฏิบัติที่เข้มงวดกวดขัน จนกระทั่งถึงการอดนอนตลอดคืนเพื่อฝึกสมาธิภาวนาที่เรียกว่า"เนสัญชิก" ตอนนี้เราเรียกว่าการอดทน ส่วนอดกลั้นนั้นเรามักจะนึกถึง เป็นความอดกลั้นอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบโดยผ่านทางผัสสะ ฉะนั้น การที่จะมีขันติในเช่นนี้ได้ แล้วก็สามารถที่จะอดทนอดกลั้นได้เกือบจะว่าทุกกรณี ก็จะเป็นปัจจัยให้บังเกิด “โสรัจจะ” คือความเสงี่ยม ความเสงี่ยมนั้นมองดูแล้วมันน่าชมมันน่ารัก เพราะว่ามีความอดทนอดกลั้นอย่างคาดไม่ถึง อย่างหาที่เปรียบได้ยากนะคะ
ฉะนั้นแม้จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใด หรือจะต้องลำบากใจภายในเพียงใดก็ตาม ในการที่จะต้องอดทนอดกลั้นเช่นนั้น แต่ยังสามารถยิ้มได้ ยิ้มได้อย่างเบิกบาน อย่างแจ่มใส แล้วเมื่อได้ฝึกการอดทนอดกลั้นอย่างนี้ไปเรื่อย ก็จะค่อย ๆ เกิดเป็นความเคยชินต่อความอดทนอดกลั้น ที่บังเกิดขึ้นนั้นทีละน้อยละน้อย จนผลที่สุดจะรู้สึกว่ามันเป็นธรรมดา มันเป็นสิ่งธรรมดาที่มันเกิดขึ้น มันเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ ก็ทำตามที่เห็นสมควร โดยตอนนี้ก็จะไม่รู้สึกว่าอดทนหรืออดกลั้นแล้ว ฉะนั้น ความมีโสรัจจะ หรือความเสงี่ยมอันนี้ ก็จะยิ่งบังเกิดเพิ่มพูนทวีขึ้น จึงกล่าวได้ว่าปัจจัยทั้ง 3 ประการ ที่กล่าวแล้ว คือ ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา สติสัมปชัญญะ และขันติโสรัจจะนี้ จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีศีลที่หมดจด มีสมาธิที่แน่วแน่มั่นคง มีปัญญาที่เฉียบแหลม จนกระทั่งรู้แจ้งแทงทะลุสิ่งอันเป็นสัจธรรมได้มากขึ้น มากขึ้น ชัดเจนขึ้นตามลำดับ
ฉะนั้นถ้าจะกล่าวสรุปก็พูดได้ว่าองค์ประกอบสำคัญของการมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามนั้น จะต้องประกอบด้วยศีล ความหมายของศีลที่ท่านเจ้าพระคุณอาจารย์สวนโมกข์ท่านอธิบายไว้ ท่านก็บอกว่า คือหมายถึงความมีระเบียบวินัยที่ดีที่สุด คือศีลนี้นะคะ ที่เราพูดกันว่าศีลจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้บังเกิดความปกติ คือความปกติทางกายและความปกติทางวาจา ซึ่งก็แน่นอนล่ะ ข้างในคือใจนั้นปกติก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อใจปกติ ก็ย่อมจะมีวาจาที่ปกติ แล้วก็มีกาย คือมีการกระทำอากัปกิริยาที่ปกติ
ท่านเจ้าพระคุณท่านอาจารย์ท่านบอกว่า ถ้าพูดอย่างนี้แล้วก็อาจจะทำความเข้าใจยากสักหน่อยนึงที่ว่า ความปกตินั้นหมายความว่าอย่างไร ฉะนั้นท่านก็เลยบอกว่า ศีล ก็คือสิ่งที่จะช่วยให้มีระเบียบวินัยที่ดีที่สุด คือระเบียบวินัยแห่งการควบคุมตนเอง ไม่กระทำการสิ่งใดที่จะเป็นการประทุษร้าย หรือเบียดเบียนผู้อื่นนะคะ นอกจากนี้ ก็จะมีสมาธิ สมาธิ ก็คือการทำจิตให้อยู่ในอำนาจ คำว่าทำจิตให้อยู่ในอำนาจก็หมายความว่า อยู่ในอำนาจของความต้องการ ต้องการจะใช้พลังจิตเพื่อทำอะไรในขณะนี้ เช่น ต้องการจะให้มีจิตที่มั่นคง แน่วแน่ เพื่อทนทานต่อการกระทบ ให้บังเกิดขันติที่มั่นคง ไม่กระทบ ให้สามารถมี ทมะ ความข่มขี่บังคับใจ ก็สามารถจะทำได้ ไม่ให้ตกไปในความยั่วยวนหรือยั่วยุของกิเลสตัณหาอุปาทาน ก็เรียกว่าสามารถบังคับจิตให้เป็นเช่นนั้นได้ หรือต้องการจะบังคับจิตให้เป็นจิตที่ว่องไว กระฉับกระเฉง บริสุทธิ์สะอาดพร้อมที่จะทำการงานให้เกิดประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม ก็สามารถบังคับได้ ถ้าหาก ว่าผู้ใดทำได้เช่นนี้ก็เรียกว่า ผู้นั้นสามารถปฏิบัติสมาธิจนกระทั่งเกิดประโยชน์สูงสุดแห่งการใช้ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจที่จะบังคับได้ตามที่ใจต้องการนะคะ
นอกจากนี้ ก็พูดได้อีกว่าจะเป็นผู้ที่มีปัญญา ปัญญา ก็คือความรู้ที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะรู้หรือจะต้องรู้ อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะต้องรู้ เราก็ได้พูดกันมาหลายครั้งแล้วนะคะ ก็เชื่อว่าคงจะพอนึกออกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะต้องรู้นั้นก็คือเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ จนรู้แล้วก็นำมาฝึกปฏิบัติจนกระทั่งสามารถทำความทุกข์นั้นให้ถึงที่สุด คือถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ได้ หรือถึงซึ่งนิโรธนั่นเอง คือทำความทุกข์ให้ถึงซึ่งนิโรธ ฉะนั้นชีวิตพรหมจรรย์หรือการมีชีวิตพรหมจรรย์ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดตรงนี้ คือให้เป็นชีวิตที่มีพร้อม พร้อมศีล สมาธิ และปัญญา และศีล และสมาธิ และปัญญานี้จะเกิดขึ้นอยู่อย่างซึมซาบ ซึมซาบอยู่ที่ไหน ก็คือซึมซาบอยู่ที่เนื้อที่ตัว โดยไม่ต้องบอกว่า ฉันรับศีลนะ หรือว่าฉันกำลังปฏิบัติสมาธินะ หรือฉันกำลังฝึกอบรมปัญญาไม่ต้องพูดถ้อยคำเหล่านี้เอง แต่การฝึกปฏิบัตินั้นได้กระทำมาตามลำดับแล้วก็ทำอยู่อย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง จนมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น จึงปรากฏความมีศีล ความมีสมาธิ ความมีปัญญา ปรากฏขึ้นอยู่ที่เนื้อที่ตัว ก็คือหมายความว่า เมื่อผู้ใดมองไปแล้วก็จะเห็นความผ่องใสปรากฏขึ้น ความผ่องใสนั้นก็เรียกว่า “อินทรีย์” อินทรีย์ คือร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อในภายนอก มองเห็นแต่ความผ่องใส มองเห็นแต่ความสงบ มองเห็นแต่ความระงับ
เหมือนอย่างตัวอย่างที่ในหนังสือเรื่อง “สิทธารถะ” มีผู้แปลออกมาเป็นภาษาไทย เป็นหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนเยอรมันนะคะ เรื่องของสิทธารถะ ถ้าจะว่าไปก็เหมือนกับเป็นการจะว่าเป็นพุทธประวัติก็ไม่ใช่ เพราะเขาเขียนเป็นเชิงนวนิยาย แต่ก็อิงถึงประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่รู้สึกประทับใจมากในส่วนตัวเมื่ออ่าน เมื่อผู้เขียนได้กล่าวถึงความสงบระงับขององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ผู้มองเห็นนะคะ เมื่อมองเห็นพระองค์เสด็จออกไปบิณฑบาตในตอนเช้านั้น มองเห็นความสงบระงับ ที่ปรากฏอย่างชัดเจนทั่วพระองค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเขายังย้ำไปว่า ความสงบนั้นปรากฏขึ้นแม้แต่ที่ครอบพระหัตถ์ พูดง่าย ๆ ก็คือว่าที่นิ้ว ที่มือแล้วก็ที่นิ้วทุกข้อพระหัตถ์ปรากฏความสงบระงับทั่วไปหมด นี่ก็คือพูดถึงความที่ทรงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญาอย่างถึงที่สุด อย่างปราศจากความด่างพร้อยแม้แต่นิดเดียว และความบริสุทธิ์แห่งศีลสมาธิปัญญานั้นปรากฏอย่างต่อเนื่องโดยตลอด แล้วก็มีอยู่ทุกขณะที่พระองค์เอง
หรืออย่างท่านพระอัสสชิคงนึกออกนะคะ ที่เมื่อท่าน พระสารีบุตรที่เป็นพระสาวกสมัยที่ยังเป็นปริพาชกนะคะ แล้วก็ได้ไปศึกษาธรรมะกับท่านสัญชัย คืออาจารย์สัญชัยเพราะเป็นผู้ที่พยายามจะแสวงหาโมกธรรมกับท่านพระโมคคัลลานะ ที่เป็นเพื่อนกันสนิทกันนะคะ ทีนี้เมื่อในขณะที่ท่านได้ไปแสวงหาธรรมก็ฟังคำสอนคำอบรมของท่านอาจารย์สัญชัย ท่านเป็นผู้ฉลาดท่านพระสารีบุตรในขณะนั้น ท่านเป็นผู้ฉลาดท่านก็สามารถที่จะเรียนรู้ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติตามที่อาจารย์สัญชัยสอนได้ทุกอย่างทุกประการ จนกระทั่งอาจารย์สัญชัยหมด หมดความรู้ที่จะสอน แต่ท่านพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ทั้งสององค์นี้มีความรู้สึกว่า นี่ยังไม่ถึงที่สุดเพราะความสุขสงบเย็นที่บังเกิดขึ้นภายในนั้น ยังไม่ถึงที่สุด คือยังไม่มีความสงบ หรือปรากฏความสิ้นแห่งทุกข์ คือความกระวนกระวายอะไรอย่างนี้ มันยังไม่ถึงที่สุด มันยังมีอะไรปรากฏแปลบปลาบอยู่ในใจขึ้น
ฉะนั้นวันหนึ่งท่านพระสารีบุตรซึ่งยังเป็นปริพาชกอยู่นี่ ก็เดินเข้าไปในเมือง ก็เผอิญพบท่านพระอัสสชิที่กำลังออกบิณฑบาต คงจะจำได้ ท่านพระอัสสชิก็เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ที่ได้รับฟังธรรมพระเทศนากัณฑ์แรกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกระทั่งได้บรรลุอรหัตผลนะคะ ท่านก็ออกไป เดินออกไปบิณฑบาต ในขณะนั้นพอท่านพระสารีบุตร ในขณะนั้นที่ยังเป็นปริพาชกอยู่ พอตาประสบพบเห็นภาพของท่านพระอัสสชิเท่านั้น มีความรู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้งในทันที สิ่งที่ประทับใจก็คืออินทรีย์ที่ผ่องใส อินทรีย์ที่สงบระงับ มองดูแล้วชวนให้เลื่อมใส ชวนให้เคารพยกย่อง แล้วก็ท่านก็คิดว่า ท่านพระเถระองค์นี้จะต้องเป็นผู้ที่มีธรรมะอันน่าเคารพบูชาประจำใจทีเดียว ท่านจึงมีอินทรีย์ที่ผ่องใส แล้วก็อินทรีย์ที่สงบระงับถึงเช่นนี้ แล้วท่านพระสารีบุตรก็เดินตามท่านพระอัสสชิไป แต่ว่ายังไม่ได้เข้าไปกราบเรียนถามอะไรในขณะนั้น เพราะว่าท่านก็รู้การควรไม่ควร เห็นว่าเพียงเป็นระยะเวลาของการบิณฑบาต
จนกระทั่งพระอัสสชิเสร็จจากการบิณฑบาตเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงเข้าไปกราบเรียนถามว่า ธรรมะที่ท่านได้เรียนรู้นี้คืออะไร ท่านอยากจะขอฟังธรรมะนั้นบ้าง ท่านพระอัสสชิท่านเป็นผู้ถ่อมองค์ ท่านก็กล่าวว่า ท่านไม่รู้อะไรมากหรอก เพราะว่าท่านจะไม่สามารถที่จะพูดแสดงธรรมอะไรที่ละเอียดยืดยาวได้ ท่านพระสารีบุตรในขณะนั้นที่เป็นปริพาชกนี่ก็กราบเรียนว่า ไม่ต้องสอนอะไรมาก ไม่ต้องพูดให้มากก็ได้ แต่พูดสั้น ๆ ที่เป็นหัวใจของคำสอน ที่ท่านได้รับฟังมาจากท่านครูอาจารย์ของท่าน ท่านพระอัสสชิก็บอกว่า สิ่งใดที่มีการปรุงแต่งเป็นแรงเกิดสิ่งนั้นย่อมมีแรงดับ คือพูดง่าย ๆ ว่า สิ่งใดที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย สิ่งนั้นก็ย่อมจะมีความดับไปตามเหตุตามปัจจัย ท่านพระอัสสชิฟังเท่านั้นนะคะท่านก็มีดวงตาสว่าง กระจ่างแจ้งเห็นธรรมขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ได้บรรลุอรหัตผล ท่านก็เรียกว่าเป็นผู้ตกอยู่ในกระแส ตามที่ได้เรียนรู้ก็กล่าวว่า ท่านเป็นผู้ที่ได้ตกอยู่ในภาวะหรือในผลของการเป็นพระโสดาบัน แล้วท่านก็กราบเรียนถามท่านพระอัสสชิว่าท่านผู้ใดเป็นครูบาอาจารย์ของท่าน ท่านพระอัสสชิก็บอกว่า ท่านพระสมณโคดม แล้วก็ท่านพระสารีบุตรก็กราบเรียนถามว่า เวลานี้ท่านพระสมณโคดมท่านอยู่ที่ไหน หรือท่านพำนักอยู่ตรงไหน ท่านพระอัสสชิก็บอกกล่าวให้ทราบแล้วท่านพระสารีบุตรก็กราบเรียนว่า กลับไปชักชวนเพื่อนที่เป็นเสมือนกับเพื่อนร่วมตาย แล้วก็แสวงหาโมกขธรรมด้วยกันบัดนี้ท่านได้ค้นพบสิ่งที่เป็นธรรมะแล้ว คือธรรมะที่จะทำให้ท่านมีความผ่องใสขึ้นในระดับหนึ่ง ท่านก็อยากจะไปบอกเพื่อน อยากบอกเขาดีนี้กับเพื่อน แล้วก็ชวนเพื่อนให้มาประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยกัน แล้วท่านก็จะติดตามท่านพระอัสสชิไปยังสำนักขององค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วท่านก็กลับไป ไปเล่าให้ท่านพระโมคคัลลาฟัง ซึ่งอันที่จริงพระโมคคัลลาในขณะนั้นก็เป็นปริพาชกเหมือนกันนะคะ พอเห็นท่านพระสารีบุตรเท่านั้น ก็กล่าวทักว่า เอ๊ะ วันนี้ทำไมดูท่านมีความผ่องใสนัก ท่านจะได้ค้นพบธรรมะประเสริฐอะไรรึ ขอให้เล่าให้ฟังบ้าง ท่านพระสารีบุตรก็เล่าให้ฟัง แล้วก็ชักชวนกันที่จะไปยังสำนักขององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับชักชวนอาจารย์สัญชัยว่าควรจะไปด้วยกันเถอะ แต่อาจารย์สัญชัยก็บอกว่า เอ่อ เป็นอาจารย์แล้วมีลูกศิษย์มากมายแล้ว การที่จะต้องกลับไปเป็นลูกศิษย์ของผู้อื่นอีกนี่เป็นการยาก คงจะเป็นไปไม่ได้หรอก ท่านพระสารีบุตรกับท่านพระโมคคัลลานะก็พยายามชักชวน แต่ว่าอาจารย์สัญชัยก็ปฏิเสธไม่ยอมไป จนผลที่สุดเมื่อได้รับการชักชวนมาก ๆ เข้า อาจารย์สัญชัยก็ถามท่านพระสารีบุตรว่า คนในโลกนี้นี่มีคนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก พระสารีบุตรก็ตอบว่าก็แน่ล่ะ คนโง่มีมากกว่าคนฉลาด อาจารย์สัญชัยก็ตอบว่า ถ้าเช่นนั้นถ้าให้คนฉลาดไปหาท่านพระสมณโคดม แล้วคนโง่ก็จะมาหาเราเอง
นี่ก็ทิ้งเอาไว้ให้ลองนึกดูเองนะคะว่า ที่พูดอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุดก็คงเป็นเครื่องแสดงว่า เรื่องของพระพุทธศาสนานั้นต้องใช้ปัญญา ฉะนั้นการที่จะมีชีวิตพรหมจรรย์ หรือการประพฤติชีวิตพรหมจรรย์จะต้องประกอบด้วยปัญญาเสมอ จะเป็นศรัทธาก็ต้องเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา การที่จะมีสติก็ต้องมีสติที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้ามิฉะนั้นแล้วการที่จะมีชีวิตพรหมจรรย์ หรือประพฤติชีวิตพรหมจรรย์นั้นคงยากที่จะถึงที่สุดได้ เพราะมิใช่เป็นของง่าย จะต้องมีทั้งการประพฤติปฏิบัติ และก็ต้องมีทั้งการศึกษา ขุดคุ้ย ค้นคว้าให้ลึกซึ้ง ให้ผ่องใส จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งความมีชีวิตเย็น ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการมีชีวิตประพฤติพรหมจรรย์ ถึงซึ่งความผ่องใสพร้อมทั้งภายนอกและภายใน
วันนี้เราก็ได้พูดกันถึงเรื่องชีวิตการประพฤติพรหมจรรย์นะคะ ก็เป็นเสมือนกับการคุยกันหรือว่าการพูดกันว่า การประพฤติชีวิตพรหมจรรย์นั้นนี่มันคืออะไร เราจะประพฤติอย่างไร เราต้องมีความอดทนอดกลั้นเพียงใด เพราะไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่ของสนุก ไม่ใช่ของสบาย แต่ทำไมล่ะ เราถึงได้ยอมหันหลังให้ชีวิตที่เราเคยรู้สึกว่าเป็นชีวิตที่สุขสบาย เพราะได้กินสบาย นอนสบาย อยู่สบาย เล่นสบาย ทำอะไร ๆ ตามใจได้อย่างสบาย ๆ แล้วหันกลับมาสู่ชีวิตที่อยู่ในกรอบแห่งระเบียบวินัย จะต้องควบคุมใจ ควบคุมการกระทำ ควบคุมความประพฤติปฏิบัติของตนเองทุกอย่าง เพื่ออะไร ก็เพื่ออันนี้แหละค่ะ เพื่อความมีชีวิตเย็นจนกระทั่งถึงที่สุด เพราะฉะนั้นที่เราคุยกันวันนี้ก็เป็นเพียงเครื่องแลกเปลี่ยน จะเรียกได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นประสบการณ์หรือเป็นการที่จะเตือนกัน เตือนกันเอาไว้ เพื่อมิให้หลงลืมหรือว่าพลั้งพลาดในการประพฤติชีวิตพรหมจรรย์ ให้สามารถมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดและงดงาม สมความปรารถนา ธรรมะสวัสดีค่ะ