PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
  • การรักษาใจให้อยู่ในธรรม
การรักษาใจให้อยู่ในธรรม รูปภาพ 1
  • Title
    การรักษาใจให้อยู่ในธรรม
  • เสียง
  • 6342 การรักษาใจให้อยู่ในธรรม /upasakas-ranjuan/2020-12-27-02-28-48.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันอาทิตย์, 27 ธันวาคม 2563
ชุด
โครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม 24
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  •             ธรรมะสวัสดีค่ะ วันนี้จะได้พูดกันถึงเรื่องการรักษาใจให้อยู่ในธรรม คือธรรมะนะคะ ในที่นี้ก็การรักษาใจให้อยู่ในธรรมะคืออะไร ก็หมายถึงว่าถ้าหากว่าผู้ใดสามารถรักษาใจให้อยู่ในแนวทางของพระธรรมได้ตลอด​ ก็หมายถึงการสามารถรักษาใจให้อยู่ในความสงบเย็นนั่นเอง ความสงบเย็นหรือในธรรมะก็คือหมายถึงความเป็นปกติ เมื่อพูดถึงความเป็นปกติก็อยากจะพูดว่าจะต้องทราบถึงสิ่งที่ตรงกันข้าม สิ่งที่ตรงกันข้ามก็คือความไม่ปกติ ความไม่ปกติของใจนั้นนะคะ​ ย่อมจะหมายถึงลักษณะของใจที่ขึ้นๆ ลงๆ ซัดส่ายไปมา เหวี่ยงโยนซ้ายขวาหรือบางทีก็วนเวียนหมุนอยู่นั่น นี่เป็นลักษณะที่ไม่ปกติ เพราะความปกติของใจที่เป็นไปตามธรรมชาตินั้น จะต้องเป็นจิตใจที่ราบเรียบ คือราบเรียบหมายถึงสม่ำเสมอ สม่ำเสมออย่างนี้นะคะอยู่ตลอดเวลา ในความสม่ำเสมอนี้ก็จะมีความเย็น​ ความนิ่ง ความมั่นคงไม่หวั่นไหว แล้วก็จะมีความรู้สึกชื่นบานเบิกบาน โปร่ง ว่าง เบาสบาย นี่คือความเป็นปกติของจิตอันเป็นธรรมชาติ แต่เมื่อใดจิตนี้เปลี่ยนอย่างนี้นะคะ เปลี่ยนขึ้นเปลี่ยนลง กระทบกระแทก ซ้ายขวาไปมา หรือวนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อย

                นี่คือเป็นลักษณะอาการที่ไม่ปกติแล้ว เมื่อไม่ปกติก็หมายความว่าขณะนั้นใจนั้นไม่ได้อยู่ในธรรมะหรือไม่ได้อยู่ในหนทางของพระธรรม​ แต่อยู่ในหนทางของกิเลส กิเลสตัณหาอุปาทานเกิดขึ้นจึงวนเวียนเปลี่ยนไป ฉะนั้นจิตที่นิ่งสงบเป็นปกติก็เป็นจิตที่ไม่หวั่นไหวหรือกระทบกระเทือนต่อสิ่งที่มากระทบ สิ่งที่มากระทบก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าผัสสะ​ ตามที่ได้ทราบแล้วนั้น ไม่ว่าจะมีผัสสะผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็ตาม ใจนั้นนิ่งสนิทปิดประตูไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นผัสสะ​ เพราะมองเห็นได้ชัดเจนในใจว่า มันเป็นสิ่งที่เพียงแต่เกิดขึ้น​ ตั้งอยู่​ ดับไปอยู่เช่นนั้นเองไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีอะไรที่จะทนอยู่ได้ เพราะทุกอย่างมันจะต้องดับสลายไปสู่ความเป็นอนัตตาคือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะฉะนั้นการที่จะพยายามรักษาจิตให้อยู่นิ่งในความสงบนี้ก็จำเป็นอย่างยิ่งทีเดียวที่จะต้องศึกษาและก็ฝึกฝนเพื่อรักษาความวิเวกเฉพาะตนให้เกิดขึ้น การรักษาความวิเวกเฉพาะตนก็คือหมายความว่ารักษาความเดี่ยว​ ​ ความรู้สึกเดี่ยว คำว่าความรู้สึกเดี่ยวในที่นี้​ ไม่ใช่เป็นความรู้สึกเดี่ยวข้างนอก ข้างนอกอาจจะต้องปะปนอยู่กับผู้คนที่จำเป็นจะต้องพบเห็น แต่แม้จะไปพบเห็นหรือจะไปคลุกคลีก็ตาม แต่ภายในนั้นมีความรู้สึกเดี่ยว​เหมือนกับรู้สึกอยู่คนเดียวในท่ามกลางฝูงชน

                นึกออกไหมคะ เหมือนกับต้นไม้นาฬิเกร์ที่ในสวนโมกข์นานาชาติ ที่ได้ไปเห็นแล้วที่เรียกว่าสระนาฬิเกร์ สระนาฬิเกร์ก็หมายถึงสระที่มีต้นมะพร้าว นาฬิเกร์คือต้นมะพร้าว แล้วก็ขึ้นอยู่ต้นเดียวโนเนกลางทะเลขี้ผึ้ง คือในสระนาฬิเกร์ที่เจ้าพระคุณท่านอาจารย์ได้สร้างขึ้นตามคำกล่อมเด็ก​ บทกล่อมเด็กของชาวภาคใต้ ท่านก็สร้างเป็นรูปสระใหญ่คือหมายความว่าขุดสระใหญ่ขึ้นแล้วก็ที่ตรงกลางของสระใหญ่นั้นก็มีเกาะเล็กๆ มีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่ต้นเดียว เรียกว่าโนเนโดดเดี่ยว นาฬิเกร์ก็คือต้นมะพร้าว มะพร้าวนาฬิเกร์ต้นเดียวโนเนกลางทะเลขี้ผึ้ง คืออยู่ในท่ามกลางโลกที่มีความวุ่นวายสับสน​ แต่มะพร้าวนาฬิเกร์ต้นนี้รู้สึกเหมือนกับว่าอยู่ต้นเดียว ฝนตกก็ไม่ต้อง ฝนตกก็ไม่เปียก ฟ้าร้องก็ไม่ถึง​ คือเสียงฟ้าร้องดังก็จริงแต่ไม่กระเทือนเข้าไปถึงข้างใน คงดังอยู่แต่ที่หู ฝนตกก็คงเปียก​ แต่ที่ตัวแต่ใจนั้นไม่เปียกคือไม่ถูกกระทบทั้งจากความดังหรือทั้งจากความเปียก ฝนตกก็ไม่ต้อง​ ฟ้าร้องก็ไม่ถึง​กลางทะเลขี้ผึ้ง​ ​อยู่ได้กลางทะเลขี้ผึ้ง ซึ่งจะอยู่ได้ในลักษณะนี้ที่ไม่ยอมรับฝนเปียก​  ไม่ยอมรับเสียงดังของฟ้า  ก็ต้องถึงแต่ได้ผู้พ้นบุญเอย ผู้พ้นบุญก็คือผู้ที่ไม่ติดทั้งในบุญและในบาป ไม่อยู่ในระหว่างท่ามกลางสิ่งคู่นะคะ เพราะฉะนั้นจิตเช่นนี้เป็นจิตที่คงมีแต่ความวิเวกความเดี่ยวอยู่ภายในตลอดเวลา ไม่ว่าภายนอกนั้นจะเกิดความสับสนอลหม่านกันเพียงใดก็ตาม จิตที่อยู่ในความวิเวกเป็นจิตเดี่ยว แต่จิตเดี่ยวเฉพาะตนนั้นจะมองเห็นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้อมรอบผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ใจมองเห็นแต่ว่าอ๋อมันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นธรรมดาอยู่เช่นนี้​ อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก​ ท่ามกลางโลกของผู้ที่อยู่ท่ามกลางความยึดมั่นถือมั่น

                อันนี้แหละค่ะหมายความว่าถ้าประสงค์ที่จะรักษาใจให้อยู่ในธรรมได้ตลอดไป​ ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาความวิเวกเฉพาะตนให้เกิดขึ้น ความวิเวกเฉพาะตนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ประการแรกก็คือเมื่อยังไม่ชำนาญ​ ไม่สามารถจะรักษาความวิเวกเฉพาะตนให้เกิดขึ้นภายในจิตได้​ ก็ต้องเริ่มจากการรักษาข้างนอก ข้างนอกก็คือรักษาความเงียบด้วยการหยุดพูดคุยสนทนาในสิ่งที่ไม่จำเป็น จะพูดก็แต่เฉพาะสิ่งที่จำเป็นจะต้องพูด​ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น แต่การพูดใดๆ ที่เป็นการพูดที่ไร้สาระแก่นสาร เพียงแต่ว่าเพื่อความสนุกสนานเบิกบานเพลิดเพลินแก่ตัวเอง หยุดพูดมันเกินความจำเป็นเพราะไม่ได้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์ แต่สำหรับในการที่มาอยู่ร่วมอบรมในโครงการฝึกอบรมตนนี้ก็ขอร้องแหละนะคะว่าจำเป็นจะต้องอยู่เงียบ คือรักษาความเงียบเฉพาะตนให้เกิดขึ้น​ จะไม่พูดคุยสนทนาด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้บังเกิดความวิเวกสงบสงัดขึ้นภายในทีละน้อย นอกจากหยุดพูดคุยแล้วก็พยายามหยุดการคิด คิดเรื่องข้างนอกอันเป็นการคิดที่ท่านบอกว่าปรุงแต่ง​  ปรุงแต่งก็คือคิดไปตามความนึกคิดที่ไม่รู้จบ​ โดยปราศจากแก่นสารสาระ ปราศจากเหตุผล ปราศจากรากฐานของการที่จะพูด แต่พูดไปตามความอยาก พูดไปตามความนึก พูดไปตามความจินตนาการที่คาดคิดว่าจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้​ ทั้งๆที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีความจริงเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คิดหรือจินตนาการนั้นเลย ซึ่งในทางธรรมท่านเรียกว่าเป็นความคิดปรุงแต่งคิดนอกจิต เหมือนอย่างเมื่อตอนที่มาอยู่ที่สวนโมกข์ในครั้งแรก ก็ได้ไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์ในวันแรกนะคะที่มา ก็กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่าท่านจะแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มใดบ้าง​ พร้อมกับทั้งมีรายชื่อหนังสือยาวเชียว แล้วก็อ่านรายชื่อหนังสือถวายให้ท่านฟัง​ เพื่อให้ท่านบอกว่าควรจะอ่านเรื่องใดตามลำดับก่อนหลัง​ แล้วจะได้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมะมากขึ้นตามลำดับ

                คำตอบของท่านอาจารย์ก็คือว่าหยุดอ่าน หยุดอ่านได้แล้ว​ ไม่ต้องอ่านอีกต่อไปเพราะอ่านมามากแล้ว ท่านว่าอย่างนั้นนะคะ แล้วท่านก็บอกว่า​ต่อไปนี้ขอให้อ่านหนังสือเล่มในแต่เล่มเดียว ได้ฟังท่านครั้งแรกก็มีความฉงนสงสัย ท่านบอกให้หยุดอ่านหนังสือ แล้วท่านก็บอกว่าให้อ่านหนังสือเล่มใน อะไรคือหนังสือเล่มใน ก็นั่งคิด คิดอยู่สักครู่ใหญ่ๆ เหมือนกัน แต่เมื่อนึกถึงสิ่งที่ได้เคยรู้ได้เคยฟังมาจากท่านครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะจากคุณแม่เขาสวนหลวง​ ที่ท่านเป็นผู้สร้างสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวงขึ้นหรือใครๆ รู้จักท่านในนามของคุณแม่ ก. เขาสวนหลวง สิ่งที่คุณแม่ท่านจะสอนแก่บรรดาลูกศิษย์​ ท่านจะไม่พูดเรื่องอื่นนอกจากเรื่องของจิตอย่างเดียว​ แล้วท่านก็มีคำพูดว่าในการศึกษาปฏิบัติธรรมนั้นต้องศึกษาจิต ดูจิต รู้จิตให้ติดต่อ​  เห็นไหมคะการศึกษาจิตนั้นไม่ใช่การคิดว่าจิตนี้จะเป็นยังไง​ แต่ต้องศึกษาจิตด้วยการดู ดูเข้าไปด้วยการเอาความรู้สึก​ ดูเข้าไปภายใน หรือกำหนดสติดูความรู้สึกที่มีอยู่ภายในอย่างจดจ่อเชียว เมื่อดูจิตก็คือดูจิตในขณะนั้นเป็นจิตที่เงียบคือเงียบสงบมีความวิเวก หรือเป็นจิตที่ดังอึกทึกด้วยความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ นาๆ ไม่มีหยุด เดี๋ยวไปอดีต​ เดี๋ยวไปอนาคต เดี๋ยวอยู่ในบ้าน​ เดี๋ยวออกนอกบ้าน เดี๋ยวก็ไปเที่ยวทั่วโลก นี่ก็คือจิตที่ดัง ดังอย่างไม่มีเสียง คือไม่มีเสียงดังออกมาข้างนอกแต่มันดังอึกทึกอยู่ภายใน เพราะฉะนั้นการดูจิตก็คือดูให้รู้อย่างนี้ค่ะว่าจิตนี้มันเงียบ​  เงียบสงบจากกิเลสตัณหาอุปาทานไม่เข้ามารบกวน​ หรือว่ามันดังอึกทึกเพราะกิเลสตัณหาอุปาทานรบกวน นิวรณ์ก็วุ่นวายเต็มไปหมดอยู่ภายในใจ ไม่มีเวลาสงบนิ่งเลย นี่ดูว่าจิตนี้มันอึกทึกหรือดูว่าจิตนี้มันเป็นจิตที่เงียบสงบ นอกจากนั้นก็ดูอีกว่าอะไรที่มันเข้ามารบกวนจิตมากที่สุด ถ้ามันทำให้จิตนี้ดังอึกทึกอะไรที่รบกวนมากที่สุด ถ้าสมมติว่าเป็นเรื่องของกิเลส กิเลสตัวไหนที่รบกวนมากที่สุด เป็นกิเลสตัวโลภะคือโลภ มันมีแต่ความอยากดิ้นรนเพราะความอยาก อยากได้นั่นอยากได้นี่มาเป็นของเรา​ คว้าจะเอามาหมดทุกอย่างหรือเปล่า หรือความโลภไม่ปรากฏมากนัก​ แต่ปรากฏแต่ความอึดอัดขัดใจ​ ความโมโหโทโส ความช่างโกรธเกรี้ยวโกรธาไม่ได้หยุด อะไรนิดขัดใจไม่ถูกใจ​ อะไรนิดโกรธ​อันนี้หรือเปล่า หรือบางที​โลภก็ไม่มาก​ โกรธก็ไม่มาก​ แต่มันมีแต่ความวนเวียนคิดอะไรคิดซ้ำคิดซากอยู่นั่นแหละ​ คิดไม่รู้แล้ว นี่นะคะคือการดูจิตดูเข้าไปแล้วจะค่อยๆ รู้จักมันว่าจิตนี้มันมีลักษณะอาการอย่างไร ถ้าสมมติว่ามันดังอึกทึกอยู่ตลอดเวลา​ มันถูกรบกวนด้วยกิเลสตัณหาอุปาทานอยู่ตลอดเวลา ดูแล้วก็จ้องให้รู้จักว่าตัวไหนแน่​ พร้อมกับกำหนดการแก้ไขที่จะกำจัดให้ออกไป​ ไม่ให้เข้ามารบกวนจิต ถ้าปล่อยให้มันมารบกวนจิต จิตนั้นจะไม่มีวันที่จะมีความวิเวก​ มีความสงบหรือความเงียบเกิดขึ้นเลย มันจะเป็นจิตที่ดังอึกทึก​ แล้วก็จะวุ่นวาย เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถรักษาจิตให้อยู่ในธรรมหรือในความสงบเย็นได้

                ถ้าหากว่าเป็นจิตที่สงบเย็นดีเงียบสงัดวิเวกก็ดูย้อนซ้ำลงไปอีกนะคะ เพ่งลงไปภายในความเงียบนั้นมันเงียบยังไง มันเงียบอย่างรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่หรือเปล่า และในความเงียบนั้นมันเงียบเฉยๆ เงียบทื่อๆ หรือมันมีความสว่างไสว มีความแหลมคมของปัญญานี่สอดแทรกอยู่​  ถ้ามีความแหลมคมของปัญญาสอดแทรกอยู่ ปัญญานั้นกำลังพิจารณาในเรื่องอะไร ก็ดูลงไปเช่นนี้นะคะ​ จนรู้จักแล้วก็จะได้แก้ไขปรับปรุงในส่วนที่มันไม่งามหรือขรุขระ แล้วก็จะได้เพิ่มพูนในส่วนที่งามที่น่าพึงปรารถนา​ ที่กำลังเจริญงอกงามให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นๆ นี่คือความหมายที่ท่านบอกว่าดูจิต​ และก็รู้จิตว่าจิตนี้กำลังมีลักษณะอาการอย่างไร แล้วก็ดูให้ติดต่อด้วยนะคะ คือจะไปดูบ้างแล้วก็หยุด​ แล้วก็นึกขึ้นได้​ มาดูใหม่จะไม่เกิดผล จะไม่มองเห็นสภาวะหรือความเป็นไปของจิตได้อย่างถี่ถ้วนต่อเนื่องและก็รอบด้าน เพราะฉะนั้นจึงต้องดู ดูจิตลงไปและก็รู้ลักษณะอาการและก็ดูให้ติดต่อ และท่านยังย้ำอีกด้วยว่าทุกกะพริบตา คือจะเว้นว่างไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังที่เจ้าพระคุณท่านอาจารย์ท่านบอกว่าให้อ่านหนังสือเล่มใน พอนึกถึงคำสอนของคุณแม่เขาสวนหลวงก็นึกได้ว่า ท่านคงหมายถึงว่าหยุดอ่านหนังสือเล่มข้างนอกคือหนังสือที่มีผู้อื่นเขียนขึ้นแต่งขึ้นให้อ่านต่างๆ นาๆน่ะ​ หยุดอ่านสักที​ แล้วก็มาอ่านหนังสือเล่มใน คือมาดูใจ ดูใจดูอาการความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน ให้รู้จักลักษณะภาวะของใจที่มักจะพูดอวดอยู่เสมอว่าเป็นใจของฉัน ฉันต้องรู้ใจของฉันสิ ดูซิว่ารู้จริงๆ หรือเปล่า เจ้าพระคุณท่านอาจารย์ท่านคงจะหมายอย่างนี้​ ก็พยายามนะคะ​ พอท่านบอกว่าให้อ่านหนังสือเล่มในก็พยายาม พยายามที่จะมองเข้าไปเพื่อจะอ่านหนังสือเล่มใน​ แต่มันอ่านยากใช่ไหมคะ เชื่อว่าหลายคนคงได้พยายามที่จะอ่านหนังสือเล่มใน​ เมื่อหันเข้ามาหาในทางธรรม แต่ว่าใจนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป​ ไม่มีสี​ ไม่มีกลิ่น พูดง่ายๆก็คือไม่มีตัวตนให้จับต้องได้เหมือนอย่างทางกาย

                ฉะนั้นการที่จะมาอ่านใจจึงไม่ใช่ของง่าย ยากยิ่งกว่าการอ่านหนังสือในวิชาหรือในศาสตร์ใดที่เขาว่ายากที่สุดซะอีก อันนี้มันยากมากกว่าเพราะมันไม่มีรูป​ มันเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้​ ต้องมองเข้าไปเฉยๆ เหมือนกับมองไปในความมืด​ เหมือนอย่างที่มองไปในความมืดนี่คะ มองแล้วก็ไม่เห็นอะไร อย่างตอนหกทุ่มตีหนึ่งลุกขึ้นมาในคืนเดือนมืดจะมองไม่เห็นอะไรเลย แต่ว่าพยายามจ้องออกไป​จ้องอยู่นั่นแหละ​ จ้องไปโดยไม่หลับตานะ ไม่ต้องหลับตา​ จ้องไปดูเฉยๆอย่างงั้นแหละ แล้วก็ไม่ถอยออกไปด้วย จ้องไปๆ เพ่งออกไปที่จุดๆเดียว​ จะเป็นจุดไหนก็แล้วแต่ที่อยู่ตรงหน้า​  ไม่ช้าไม่นานก็จะค่อยๆ มองเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้นชัดขึ้น มองเห็นเป็นรูปร่างลางๆ ก่อน แล้วก็จะมองเห็นเป็นรูปร่างที่ชัดขึ้น​ พอจะบอกได้ว่านี่เป็นต้นไม้หรือนี่เป็นแผ่นลูกกรงซี่ลูกกรง และเมื่อมันชัดขึ้น​ ถ้าหากว่าเป็นซี่ลูกกรงหรือเป็นขอบระเบียง​ ก็จะมองเห็นขอบของระเบียงชัดเจน มองเห็นซี่ลูกกรงแต่ละซี่ชัดเจนยิ่งขึ้นๆ แล้วก็จะมองเห็นพื้น​ เห็นภายนอกที่ปรากฏเป็นความว่างชัดทั้งๆ ที่ไม่มีแสงสว่างปรากฏเพิ่มขึ้นเลย ก็เปรียบเหมือนอย่างนี้ค่ะ​  เหมือนอย่างการดูใจก็ต้องมองเพ่งเข้าไปทั้งๆที่ไม่มีรูปร่างให้ดู ไม่มีแสงสว่างส่อง ไม่มีอะไรให้จับต้องได้ แต่เอาความรู้สึกสอดส่องเข้าไปในความรู้สึกก็จะค่อยชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือเล่มใน​ ที่ไม่มีอะไรให้ดู​ ก็คืออ่านใจ มันไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือเล่มนอก​ ที่มีตัวหนังสือเป็นบรรทัดบรรทัดบรรทัดทุกหน้า แต่ผู้ที่อ่านหนังสือเป็น​ ก็ย่อมจะทราบนะคะ​ว่าการอ่านหนังสือที่จะให้เข้าถึงหัวใจของหนังสือ​ ก็จะต้องอ่านสิ่งที่ซ่อนอยู่ในระหว่างบรรทัด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเมื่ออ่านตัวหนังสือที่เป็นบรรทัดบรรทัดแล้ว​ ต้องสามารถเข้าใจความหมายที่ผู้เขียนซ่อนเอาไว้ในระหว่างบรรทัด ในระหว่างบรรทัดก็คือที่ว่างๆ ใช่ไหมคะ ที่ว่างๆ ระหว่างบรรทัดนั่นแหละ​ อะไรที่ผู้เขียนซ่อนเอาไว้อันเป็นความหมายที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อให้ผู้อ่าน ถ้าสามารถเข้าถึงได้​ ก็จะจับหัวใจของเรื่องหรือจับใจความสำคัญของเรื่องได้​ เข้าถึงหัวใจของผู้เขียนได้ ฉะนั้นก็เมื่อท่านอาจารย์บอกว่า​ ต่อไปนี้ไม่ต้องอ่านแล้วหนังสือเล่มนอกนี่​ อ่านแต่หนังสือเล่มใน ก็ได้พยายามที่จะฝึกอ่าน​ แต่ว่าก็ไม่ใช่ของง่ายแล้วก็ไม่ได้ใช้เวลา​ ไม่สามารถจะใช้เวลาอ่านให้จบหรือให้รู้เรื่องได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าจะนึกว่าเวลาสักเท่าไหร่ก็ยิ่งตอบไม่ได้ใหญ่​  มันขึ้นอยู่กับความพากเพียร ความอุตสาหะพยายาม ความมุ่งมั่นบุกบั่นเอาจริงเอาจังในการที่จะจดจ่ออ่านหนังสือเล่มในด้วยการดูสอดส่องดูเข้าไปด้วยความรู้สึกเพ่งลงไปอยู่ที่เดียวอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานๆ ผู้ใดทำได้อย่างต่อเนื่องอย่างไม่ละลด​ ไม่ย่อท้อ​ ไม่มีความหวั่นไหวและก็ไม่ต้องตั้งความหวังด้วย ไม่ต้องตั้งความหวังว่าจะรู้เรื่องเมื่อไหร่ เพราะยิ่งหวังก็จะยิ่งห่างไกลความสำเร็จเพราะเมื่อมีความหวังเกิดขึ้น​ มันเกิดความกระวนกระวายแล้วเพราะอยากจะรู้ว่ามันจะเสร็จสิ้นได้เมื่อใด จะรู้เรื่องได้เมื่อใดนะคะ เพราะฉะนั้นอันนี้ไม่ต้องหวัง แต่ว่าพยายามหมั่นทำไป แต่กระนั้นก็ยังอดไม่ได้ที่ต้องมีอะไรไปกราบเรียนถามซักถามเจ้าพระคุณท่านอาจารย์อยู่เรื่อยๆ เรื่องนั้นบ้าง​ เรื่องนี้บ้าง

                เมื่อมาคิดดูทีหลังก็รู้สึกว่าเรื่องที่ได้กราบเรียนถามท่านอาจารย์นั้น​ แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องที่มีความจำเป็นจะต้องไปกราบเรียนถามท่านเลย เพราะอะไร ก็เพราะว่าแม้จะได้รับคำตอบมา คำตอบนั้นก็หาได้ช่วยให้เพื่อเกิดความสว่างไสวหรือเป็นประโยชน์แก่ชีวิตในปัจจุบันขณะนี้ไม่ ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ถามในสิ่งที่เกินความจำเป็นที่จะต้องรู้ และก็ไม่ใช่สิ่งที่จะมาส่งเสริมการศึกษาหรือปฏิบัติธรรมในขณะแห่งปัจจุบันนั้น เจ้าพระคุณท่านอาจารย์ท่านจึงมักจะย้อนถามว่า คุณจะอยากรู้ไปทำไม​ ที่ถามๆมานี่​จะอยากรู้ไปทำไม พอมานึกดูก็จริงของท่านอาจารย์เพราะว่าเรามานี้เพื่อที่จะมาศึกษาฝึกอบรมธรรมะ การศึกษาอบรมธรรมที่จะได้ผลอย่างชะงักทีเดียวก็คือการเฝ้าดูจิต​ ดูลงไปด้วยสติ​ ด้วยความรู้สึกจดจ่อลงไป​ จนมองเห็นลักษณะอาการของจิตดังกล่าวแล้ว อันนี้สิเป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรม​ แล้วจะไปเฝ้าถามโน่นถามนี่เพื่อประโยชน์อะไรเสียเวลาเปล่าๆ เมื่อโดนท่านอาจารย์ห้ามอย่างนี้​ ก็หยุด​ แล้วก็พยายามที่จะฝึกดูภายในคือดูจิตดูใจของตนให้ยิ่งขึ้น แล้วในขณะใดที่มีความรู้สึกว่าค่อนข้างจะท้อถอยและหมดกำลังใจ ก็พยายามที่จะรำลึกถึงการเสียสละเพื่ออุทิศชีวิตในการปฏิบัติเพื่อแสวงหาธรรมะหรือเพื่อแสวงหาโมกขธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่สมัยที่พระองค์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จละจากวังหรือว่าเสด็จทิ้งพระราชปราสาทราชมณเฑียรทั้งหลายที่อุดมไปด้วยความสุข​ ซึ่งคนโลกไขว่คว้าหาและก็ยึดมั่นว่าสิ่งเหล่านี้แหละคือสิ่งที่อำนวยความสุข แต่พระองค์สลัด สลัดไปอย่างไม่ใยดี​ เสด็จมุ่งหน้าเข้าป่าเพื่อหาโมกขธรรม พระองค์เสด็จเข้าป่าทำไม

                คำตอบก็ทราบแล้วใช่ไหมคะ เพื่อไปแสวงหาสถานที่อันสงบสงัดอันเป็นธรรมชาติ ซึ่งคำตอบที่พระองค์ทรงประสงค์จะต้องการนั่นก็คือเรื่องของความทุกข์​ เรื่องของความดับทุกข์ พระองค์แสวงหาคำตอบเพื่อให้รู้จักเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง พระองค์ได้ทรงมีชีวิตอยู่ภายในเมือง​ ประทับอยู่ในพระราชวังเป็นเวลานานตั้ง 20 กว่าพรรษา แต่ตลอดเวลาเหล่านั้น​ พระองค์ไม่เคยทรงมองเห็นเลยว่า​ จะมีสิ่งใดคนใดจะมาอธิบายให้ทราบว่าสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นี่มันคืออย่างนี้ๆ หรือถ้าจะต้องการดับความทุกข์แล้วล่ะก็ต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆ ยังไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อทรงเห็นแล้วว่าสิ่งที่ทรงล้อมรอบพระองค์อยู่​ ตลอดจนบุคคลที่รายรอบอยู่นั้น​ หาผู้ใดมีคำตอบในเรื่องนี้ไม่ จึงได้เสด็จไปยังสถานที่ซึ่งมีบรรยากาศที่ตรงกันข้ามกับในเมือง​ โดยเฉพาะในพระราชวังนั่นก็คือในป่า ในป่าอันเป็นธรรมชาติที่ธรรมชาติสร้างมาเป็นป่าที่มิได้มีการตกแต่ง มีความสงบสงัด มีความชุ่มชื่นเบิกบาน​ มีความเขียวชอุ่มที่ชวนใจให้ไม่ห่อเหี่ยว แต่ทว่าจะบังเกิดความแจ่มใสความฉับไวในการคิด​ เพราะว่ามีความชุ่มชื่นเบิกบานซ่อนอยู่ในนั้น พระองค์จึงเสด็จไปป่า​ ไปประทับอยู่แต่พระองค์เดียว​ เพื่อแสวงหาความวิเวก​ ความสงบสงัด​  เพื่อช่วยล้อมรอบให้จิตใจของพระองค์นั้นเข้าสู่ความวิเวก​ ความสงบสงัดภายในให้ยิ่งขึ้นๆๆ พอนึกถึงตัวอย่างอย่างนี้ที่พระองค์ได้เสด็จไปแล้วก็ประทับอยู่ในป่าเป็นเวลาถึง 6 ปีด้วยความยากลำบาก เรียกว่ายากลำบากตรากตรำทั้งพระวรกาย​ ทั้งการที่ทรงขุดคุ้ยแสวงหาโมกขธรรมด้วยการประพฤติปฏิบัติที่ทรมานพระวรกายอย่างยิ่งอย่างที่เราทราบกันแล้ว อย่างที่ได้เคยเห็นพระพุทธรูปปางทรมานใช่ไหมคะ

                ดังนั้นเมื่อเรานึกถึงตัวอย่างเช่นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้แสวงหาโมกขธรรมในป่า​   เพื่อที่จะให้มีความวิเวกบังเกิดขึ้น​ เป็นปัจจัยที่จะเสริมการประพฤติปฏิบัติธรรมให้ดำเนินไปได้โดยง่าย​  หรือเมื่อสวดมนต์บทอานาปานสติ​ ก็จะได้มีคำพูดที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระพุทธสาวกว่า เมื่อได้รับฟังคำสอนแล้วก็จงออกไปป่า ไปหาโคนไม้​ ไปหาเรือนว่าง​ ไปอยู่ที่ในป่านั้นเพื่อฝึกปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการที่จะฝึกปฏิบัติธรรมหรือการที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมจนสามารถรักษาใจให้อยู่ในธรรมได้​  ไม่ใช่ปฏิบัติในเมือง หรือบางทีบางท่านอาจจะไม่มีโอกาสที่จะไปแสวงหาความวิเวกในทางกายเพราะยังมีภาระหน้าที่อยู่​  ก็ต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้นไปอีก​ ด้วยการที่จะแสวงหาความวิเวกให้บังเกิดขึ้นในใจ เมื่อนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างแห่งผู้ประพฤติปฏิบัติอย่างเข้มงวดกวดขันสูงสุด มีความประเสริฐสุดแห่งการปฏิบัติในชีวิตพรหมจรรย์​ เป็นแบบอย่างอันประเสริฐแก่บรรดาพระพุทธสาวกและแก่มนุษย์ทั้งหลายที่ประสงค์จะเจริญรอยตามพระยุคลบาทนั้น​  ก็ให้มีกำลังใจใช่ไหมคะ หรือเมื่อนึกถึงเจ้าพระคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์เมื่อครั้งก่อนที่ท่านจะมาสร้างสวนโมกข์ในปัจจุบันนี้ ท่านก็ได้สละเวลาของท่าน 2 ปีเต็มไปอยู่ในป่าในวัดร้างที่พุมเรียงอยู่แต่ลำพังองค์เดียว ไม่ยอมที่จะเปิดรับบรรดาพระภิกษุองค์อื่นให้มาอยู่ร่วม ฉันอาหารแต่มื้อเดียว ตอนเช้าที่จะพบผู้คนก็ตอนเวลาที่ออกไปบิณฑบาต พอบิณฑบาตเสร็จก็กลับเข้ามาอยู่ที่วัดร้าง​ ปิดประตูสนิทแน่นเพื่อที่จะรักษาความวิเวกเฉพาะองค์ท่าน​ แล้วก็เพิ่มพูนความสงัดความวิเวกให้บังเกิดขึ้นภายในให้ยิ่งขึ้นๆ แล้วเจ้าพระคุณท่านอาจารย์ก็ใช้เวลา 2 ปีเต็มนั้นศึกษาธรรมะ ให้มีความรู้ความเข้าใจในสัจธรรมในทางปริยัติให้ยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับนำปริยัตินั้นมาฝึกปฏิบัติได้พยายามที่จะทรมานสังขารร่างกายเพื่อการปฏิบัติธรรมให้เข้มงวดกวดขันให้ยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับ มิได้ใช้เวลาทั้ง 2 ปีนั้นเพื่อการพูดคุยหรือว่าเพื่อการคิดปรุงแต่งที่ไม่จำเป็น​

                ท่านพยายามตัดสิ่งเหล่านี้ออกไปให้หมด เพราะฉะนั้น 2 ปีแห่งการแสวงหาจึงเป็น 2 ปีที่มีคุณค่าที่ท่านสามารถนำมาสอนและอบรมแก่เพื่อนมนุษย์ได้มาก และเมื่อท่านมาสร้างสวนโมกขพลารามขึ้น​ ท่านก็ยังได้ใช้เวลาเหล่านั้นเพื่อการเพิ่มพูนความวิเวก​ ดังที่ท่านจัดสถานที่ให้เป็นความวิเวกสงบสงัดแก่ผู้สนใจจะไปปฏิบัติธรรม​ และในขณะเดียวกันก็ฝึกฝนอบรมองค์ท่านเองให้ยิ่งขึ้นๆ ท่านมิได้เคยไปเป็นพระเมือง​ แต่สนใจที่จะเป็นพระป่า​ หรือบางทีท่านก็เรียกว่าเป็นพระเถื่อน​ ถึงกับขอร้องว่าเขียนเป็นกลอนขอร้องว่าขอให้ปล่อยท่านไปเถอะ เป็นพระเถื่อนเหมือนวิหคคือเหมือนนกที่จะบินไปได้อย่างอิสระ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วล่ะก็หนทางแห่งการปฏิบัติธรรมก็จะเป็นไปได้โดยความราบรื่นยิ่งขึ้น​ หรือถ้าจะไปนึกถึงท่านครูบาอาจารย์อื่นๆนะคะ​ ที่ท่านได้เป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นที่เคารพยกย่องบูชาของลูกศิษย์ลูกหาในสมัยปัจจุบัน​     ไปเรียนถามท่านหรือศึกษาวิธีการใช้ชีวิตการปฏิบัติธรรมในระยะต้นๆของท่าน​ ก็จะพบว่าแต่ละองค์แต่ละองค์ล้วนแล้วแต่ได้ไปศึกษาหาความวิเวกที่ในป่ามาแล้วทั้งนั้น ประสงค์จะอยู่ด้วยองค์ท่านเองเพื่อที่จะคิดขุดคุ้ยหาธรรมะ​ พร้อมๆกับนำมาฝึกปฏิบัติเข้มงวดกวดขันข่มขี่บังคับใจได้อย่างสะดวกมากขึ้น​ มากกว่าการที่จะอยู่คลุกคลีกับหมู่พวก เมื่อนึกอย่างนี้นะคะ​ ว่าท่านอาจารย์ทั้งหลายนี่ท่านล้วนแล้วแต่ไปศึกษาหาธรรมเริ่มต้นด้วยการพาชีวิตให้อยู่ในความวิเวกด้วยกันทั้งนั้น​ ก็จะทำให้มีกำลังใจในการที่จะอ่านหนังสือเล่มในให้มากขึ้น​ แล้วก็พยายามที่จะมีธรรมชาติเป็นเพื่อนยิ่งขึ้น หรือถ้าจะดูต่อไปถึงท่านพระพุทธสาวก​ เชื่อว่าทุกคนก็คงจะเคยได้ยินชื่อท่านพระอัญญาโกณฑัญญะใช่ไหมคะ ที่เป็นผู้หนึ่งในปัญจวัคคีย์ที่ได้รับฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากการตรัสรู้แล้ว คือพระธรรมเทศนาที่มีชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นองค์แรกที่ได้บรรลุธรรม คือหมายความว่ามีดวงตาเห็นธรรม​ และนับตั้งแต่ท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดแล้ว​ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะมิได้เคยเข้ามาอยู่ร่วมกับพระพุทธสาวกอื่นๆ ในเมือง คงขอประทานพระพุทธานุญาตใช้ชีวิตอยู่ในป่ามาโดยตลอด ซึ่งเมื่อเวลาที่ท่านจะดับขันธปรินิพพาน โดยมากพระพุทธสาวกเมื่อเวลาจะดับขันธปรินิพพานก็จะต้องเข้ามากราบทูลลาว่าขออนุญาตที่จะปรินิพพานแล้ว​ ถึงเวลาที่จะนิพพานสักที

                ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะก็เดินทางจากป่าเข้ามาสู่เมืองเพื่อที่จะมากราบพระบาทขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า​ แล้วขอทูลลาไปนิพพาน เมื่อท่านเดินทางเข้ามาในเมืองนั้น​  พอมองเห็นรูปร่างของท่าน​ ก็จริงล่ะท่านก็ครองผ้าในลักษณะของการเป็นพระภิกษุ แต่บรรดาพระพุทธสาวกในปัจจุบันในขณะนั้นนะคะ ต่างมองดูรู้สึกแปลกเพราะท่านมีลักษณะอาการของความเป็นผู้อยู่ป่าปรากฏชัด บรรดาพระพุทธสาวกเหล่านั้นก็ไม่รู้จักว่านั่นคือใคร องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็จึงรับสั่งกับพระสาวกว่า​ นี่แหละพี่คนใหญ่ของเธอคือเป็นผู้ที่บรรลุธรรมเป็นองค์แรก​ แล้วก็ได้ใช้เวลาทั้งหมดนั้นอยู่ในป่าเพื่อการศึกษาควบคุมใจและการปฏิบัติธรรมทั้งๆที่บรรลุแล้วนี้​ให้คงอยู่อย่างสม่ำเสมอเหมือนอย่างเดิม​ เรียกว่าถ้าจะเปรียบเหมือนกับกระจก ใจที่บรรลุธรรมแล้วนี่นะคะ​ ถ้าจะเปรียบเหมือนกับกระจกที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้าหากว่าปล่อยเอาไว้ก็อาจจะมีลมพัดเอาธุลีฝุ่นละอองอะไรบ้างปะปนเข้ามาก็ต้องมีการเช็ดการถูกันอยู่บ้าง ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะหรือบรรดาพระอรหันตสาวกส่วนมากก็จะต้องหมั่นเช็ดถูปัดกวาด เพื่อให้กระจกนั้นมีความใส​ มีความสะอาดหมดจดไร้ฝ้าไร้มลทินอยู่ตลอดเวลา​ เรียกว่าท่านเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ตลอดเวลา นี่ก็เป็นกำลังใจอีกเหมือนกันนะคะว่า​ ทั้งๆที่ท่านบรรลุแล้ว ทำไมท่านไม่นอนให้สบาย​ น​ึ่ถ้านึกอย่างคนโลกท่านจะยังไปลำบากอยู่ทำไมอีกในป่า ก็เพราะท่านได้มองเห็นแล้วว่าการมีธรรมชาติเป็นเพื่อนจะสามารถรักษาความวิเวกความสงบแห่งใจไว้ได้อย่างดีที่สุดอย่างนี้เองนะคะ นอกจากนั้นถ้าจะอ่าน​ เมื่อได้อ่านศึกษาพระไตรปิฎกก็จะเห็นว่า​ พระพุทธสาวกทั้งหลายเมื่อเวลาที่ได้อยู่เฝ้าหรือว่าอยู่ล้อมรอบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในระยะหนึ่งแล้ว​  ก็มักจะมาทูลลาเพื่อจะออกไปแสวงหาความวิเวกในป่า​ โดยกราบทูลว่าจะขอประทานพระพุทธโอวาทแต่สั้นๆ หรือบางทีก็ขอประทานพระพุทธโอวาทเพื่อที่จะออกไปแสวงหาธรรม ไปอยู่ปฏิบัติวิเวกในป่าโดยมีจิตมุ่งพระนิพพานเป็นอารมณ์​    ที่พูดอย่างนี้ก็เป็นการแสดงว่าทุกอย่างทีเดียวในการปฏิบัตินั้น​ จะทิ้งเสียซึ่งความวิเวกไม่ได้​ และความวิเวกนั้นจะบังเกิดขึ้นได้ง่ายก็ต่อเมื่อผู้นั้นสามารถที่จะรักษาความวิเวกภายใน​ และความวิเวกภายในนั้น​ สภาวะของความเป็นเดี่ยวที่อยู่ในป่าอันอยู่กับธรรมชาติจะส่งเสริมให้สามารถสร้างความวิเวกนี้ได้อย่างรวดเร็วหรือว่าดีขึ้นง่ายขึ้น

                ในส่วนตนนั้นก็ได้เคยนึกเหมือนกันนะคะว่า ที่พูดอย่างนี้นี่มีความเป็นจริงในการปฏิบัติจริงๆสักเพียงใด ก็อยากจะขอเล่าสักเล็กน้อยว่า​ เมื่อตอนที่ยังเริ่มเรียกว่าเริ่มฝึกปฏิบัติใหม่ๆ ทั้งๆที่ยังอยู่บ้านอยู่ แต่ว่าก็มีความสนใจในเรื่องของการปฏิบัติธรรม​ ก็ได้ไปที่วัดที่ได้ชื่อว่าเป็นวัดป่ากรรมฐาน​ แล้วก็เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนริมฝั่งโขง​ มีบรรยากาศที่สวยงามสะอาดสะอ้านในสมัยเมื่อสาม-สี่สิบปีมาแล้วนะคะ สะอาดสะอ้านแล้วก็น่าอยู่มาก​ มีความวิเวกอยู่ในตัวเอง​ บรรยากาศของความวิเวกนี่ปรากฏทั่ว​ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนสภาพไปแล้วเพราะว่าอาจจะมีผู้นิยมไปมากขึ้น​ ความแออัดก็มากขึ้น เรือนไม้ที่เคยมีอยู่ตามริมฝั่งโขงก็เปลี่ยนสภาพไปเป็นเรือนซีเมนต์​ เรือนคอนกรีตอะไรทำนองนั้น​ แล้วก็มีมากจนกระทั่งติดๆ กัน​ ก็บังฝั่งโขงที่เคยมองเห็นสายนํ้าโขงกว้างไกล พาให้จิตนี้กว้างไกลไปด้วย​ ก็ค่อยๆคับแคบเข้านะคะ แต่อย่างไรก็ตาม​ ในสมัยที่ไปนั้น​ เป็นสมัยที่วัดหินหมากเป้งเป็นวัดที่ชวนส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติธรรมเป็นที่สุด แต่ก็เพราะบรรยากาศที่งดงาม​ มีทัศนียภาพให้ชมอย่างที่กล่าวแล้ว ก็มีผู้นิยมไปกันมาก​ แม้ในสมัยโน้นก็ยังมีมาก​ แล้วก็เมื่อมีมากก็อดไม่ได้​ ไปกันเป็นกลุ่มเป็นพวกที่จะพูดคุยสนทนากันและเพราะทัศนียภาพที่น่าชมอย่างนั้นน่ะ บางกลุ่มก็อาจจะถือว่าเป็นการไปเหมือนกับไปเป็นการพักผ่อนด้วย ก็อดไม่ได้ที่จะมีการพูดคุยสนุกสนานกัน ในส่วนตนนั้นน่ะก็เป็นผู้ฝึกปฏิบัติใหม่ แต่ก็มีจิตใจมุ่งมั่น ศรัทธาจะต้องฝึกปฏิบัติไม่อยากจะได้ยินเสียงอะไรที่เอะอะตึงตังเลยนะคะ ก็ต้องบอกว่าขณะนั้นเป็นจิตใจที่เต็มไปด้วยกิเลส มีกิเลสของความอยากที่จะเอาแต่ใจตัว ฉันอยากจะมาปฏิบัติธรรม​ ไม่อยากถูกรบกวน​ ลืมนึกไปว่าสถานที่วัดนั้นเป็นสถานที่กลางคือเป็นของกลาง​ ไม่ใช่ของใคร แต่ความเห็นแก่ตัวที่มีอยู่ตามสัญชาตญาณที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลาก็อุตส่าห์ไปผุดโผล่ขึ้นที่วัดอีก มีความไม่ถูกใจ​ ไม่ชอบใจ​เมื่อได้ยินเสียงคุยกันหนวกหู ก็ไปกราบเรียนท่านอาจารย์บอกว่าขออนุญาตไปอยู่ที่วัดสาขาของท่านอาจารย์ ที่ตอนนั้นมีชื่อว่าวังนํ้ามอก​ อยู่ห่างไกลออกไปอีกสัก 6-7 กิโล​     เป็นที่วิเวกมากทีเดียว​ อยากจะขอไปพักอยู่ที่นั่นเพราะว่าอยู่ที่นี่นี่เรียกว่าทนเสียงหนวกหูไม่ไหว ท่านก็ไม่ค่อยอยากจะอนุญาตให้ไปเพราะว่าที่วังนํ้ามอกนั้นเป็นป่าจริงๆ เป็นป่าเขาที่มองไม่เห็นสิ่งใดที่เป็นสัญลักษณ์ของบ้านเมืองสอดแทรกอยู่​ ยกเว้นกุฏิของพระ​ แล้วก็ศาลาไม้​ ซึ่งก็เป็นศาลาไม้พื้นๆธรรมดา​ อันเป็นสิ่งจำเป็นที่เป็นเสนาสนะที่จำเป็นที่จะต้องมีเพียงเท่านั้นเอง นอกนั้นก็เป็นป่าเป็นเขาเป็นลำธารโดยธรรมชาติ

                ท่านอาจารย์ก็ไม่อยากจะให้ไปเพราะว่าเห็นว่ายังใหม่อยู่​ แล้วก็ยังไม่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติ​ ไม่ทราบว่าจะสามารถช่วยเหลือตัวเองหรือควบคุมตัวเองในสถานที่อันเงียบสงัดขนาดนั้นได้เพียงใด แต่ก็ได้อ้อนวอนท่าน​ และก็อ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่า​ จนท่านก็ขัดไม่ได้ ท่านก็เขียนจดหมายฝากฝังไปยังอาจารย์ที่อยู่ดูแลที่วังนํ้ามอก ว่าขอให้ช่วยดูแลด้วย​ จัดที่พักอาศัยให้อยู่กับแม่ชี​ อย่าให้ไปอยู่คนเดียว ถึงเวลากลางคืนก็ต้องนอนที่กุฏิของแม่ชี​ แต่ส่วนกลางวันจะไปเดินเที่ยวป่าหรือจะไปนั่งภาวนาเจริญสมาธิที่ไหนก็ไม่ห้าม แต่ว่าตอนกลางคืนตอนค่ำจะต้องกลับมาที่พัก และท่านก็ให้พระช่วยนำไปส่ง​ พาไปส่ง​ ก็มีฆราวาสตามไปด้วยนะคะแต่ว่าไปพักอยู่คนเดียว เมื่อไปถึงก็คืนแรกก็ได้ไปพักอยู่ที่กุฏของแม่ชีตามที่ท่านอาจารย์ท่านสั่ง แต่พอถึงตอนเช้าก็พอรับประทานอาหารเช้าเสร็จมื้อเดียว​ ก็จะเดินออกไปตามราวป่า​ แล้วก็ไปถึงลำธาร​ ก็จะไปอาบนํ้าที่ลำธาร​ ตากผ้าตามยอดหญ้า​ แล้วก็เดินไปถึงถํ้าคูหาที่ไหน​ ก็ไปนั่งสมาธิ เรียกว่าพยายามที่จะนั่งหลับตา​ แล้วก็ควบคุมจิตให้เป็นสมาธิ ถ้าจะสารภาพตามความเป็นจริงก็ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วมันไม่เป็นสมาธิเลยนะคะ นั่งท่าทางในท่านั่งสมาธิตาก็หลับ​ มองดูข้างนอกก็สงบดี​ แต่จิตใจไม่ได้สงบเลย​ สถานที่ก็วิเวกคือสถานที่สิ่งแวดล้อมภายนอกก็วิเวก​ แต่ภายในนั้นมันดิ้นตึงตังอึกทึกวุ่นวายสับสนอลหม่านไปหมด​ ไม่สามารถจะบังคับได้ เพราะฉะนั้นพอวันหนึ่งนั่งอยู่นี่​ก็มีผู้ที่มาเยี่ยมคือก็มาเยี่ยมชมเพราะว่าธรรมดาของผู้สนใจปฏิบัติธรรม​ เมื่อรู้ว่ามีที่ใดเป็นที่ปฏิบัติธรรมดีๆ สงบสงัดก็ไปดูไปชมไปแสวงหาเอาไว้เผื่อโอกาสเหมาะก็จะได้ขออนุญาตมาปฏิบัติบ้าง ตอนนั้นก็มีผู้ไปชมคือไปเที่ยวชมสถานที่​ ก็เป็นท่านพระภิกษุองค์นึง​ ซึ่งก็ไม่รู้จักว่าท่านเป็นใคร​ มีฆราวาสพาไป​ ก็แน่นอนต้องมีการพูดการแนะนำอธิบายสถานที่บ้าง​ ก็เป็นธรรมดานะคะ แต่จิตกิเลสนี่​ จิตกิเลสที่เห็นแก่ตัวของตัวเองมีความขัดเคืองมาก​ ขัดเคืองใจเหลือเกินที่มีผู้มาทำลายความวิเวก​ แล้วก็คงจะแสดงอาการขัดเคืองออกมาทางสีหน้าหรือทางใบหน้า​   ซึ่งท่านพระภิกษุองค์นั้นท่านก็คงต้องมองเห็น ท่านก็ไม่ว่าอะไร​ ท่านก็ยืนหน้ายิ้มๆ พอท่านเสร็จแล้ว​ ท่านจะกลับไป​ ท่านก็บอกขอโทษด้วยนะที่มารบกวน​ ทำลายความสงบ​ ก็ยังไม่รู้สึก​ ก็ยังนึกแต่เพียงว่าก็ดีแล้วที่ท่านกลับไป เราจะได้สงบต่อไป ทั้งๆที่หลอกลวงตัวเองตลอดเวลาใช่ไหมคะ หลอกลวงว่าเราสงบเรานั่งสมาธิ​ แต่ภายในไม่ได้สงบเลย​ ถ้าสงบนิ่งเป็นจิตที่ว่างจากกิเลสได้สักขณะหนึ่งล่ะก็ เราจะไปขัดเคืองทำไม​ ขัดเคืองท่านอาคันตุกะที่มาเยี่ยมวัดทำไม​ แต่ก็ยังไม่รู้สึก แล้วตอนหลังถึงได้ทราบว่าท่านพระภิกษุองค์นั้นนี่ท่านเป็นพระอาจารย์ที่ควรแก่การเคารพบูชามากองค์หนึ่งทีเดียว

                แล้วก็ปีต่อๆมาก็ได้เคยไปอาศัยพักที่วัดของท่าน แต่ในขณะที่จิตกำลังดิ้นรนอึกทึกด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน​ ด้วยความเห็นแก่ตัว​  เพราะยึดมั่นในอัตตาตัวตนว่าฉันกำลังทำสมาธิ ไม่รู้หรอกค่ะ​ แล้วก็ไม่สำนึก​ แล้วก็ไม่รู้จักละอายด้วย ต่อมาอีกนานกว่าจะรู้จักละอาย เห็นไหมคะจิตที่ขาดความวิเวก อุตส่าห์ไปอยู่ในที่วิเวกข้างนอก​ แต่ก็ยังจะต้องใช้เวลาและอาศัยเวลาเพื่อควบคุมจิตใจภายในให้เกิดความวิเวกขึ้น แล้วก็ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเวลานานสักเท่าใดเพราะจิตนั้นได้คุ้นเคยกับความอึกทึกความอลหม่านชุลมุนวุ่นวายเพราะกิเลสตัณหาอุปาทานมาเกือบตลอดชีวิต​ แล้วจะมาให้สงบเย็นได้ภายในเวลาไม่นานสักอาทิตย์สองอาทิตย์หรือเดือนนึงเป็นไปไม่ได้​ แต่ไม่รู้สึกตัวเพราะสติที่จะควบคุมจิตนั้นมันน้อยเต็มที​ ไม่ค่อยจะได้ฝึกอบรมสมาธิ​ อุตส่าห์ไปนั่งหลับตาก็ยังไม่บังเกิดขึ้น นี่ก็เป็นตัวอย่างที่เล่าให้ฟังเพื่อที่จะได้ทราบว่าการฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อรักษาใจให้อยู่ในธรรมไม่ใช่ของง่าย​  จะได้เกิดมานะพยายามนะคะ​ แล้วก็ไม่ตั้งความหวังว่าจะให้สำเร็จเร็วเกินไป​ เพื่อจะได้ไม่ผิดหวังไม่เสียหวัง​ แล้วก็ไม่เสียใจ​ แต่เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งถูกต้องปฏิบัติไปทำไปแล้ว​ วันหนึ่งก็จะบังเกิดผลขึ้นเอง​​โดยไม่คาดหวัง​ หรือเกิดผลตามมาโดยอัตโนมัติของเหตุปัจจัยที่ได้กระทำแล้ว ทีนี้ก็จะขอเล่าถึงการที่ได้ไปอยู่ที่วังนํ้ามอกต่อไป คืนแรกก็พักอยู่ที่กุฏแม่ชี พอคืนที่ 2 ก็รู้สึกอึดอัดไม่อยากอยู่​ เพราะว่าในใจนั้นมันยึดมั่นถือมั่นว่าเรามานี่มาปฏิบัติธรรมที่วัด​ แล้วก็มาอยู่ที่วังนํ้ามอกโดยเฉพาะนี่​ ต้องการความสงบสงัด เพราะเป็นที่สงัดมากจริงๆในสมัยโน้น เพราะฉะนั้นก็รู้สึกว่าการที่จะอยู่ในกุฏิเล็กๆ แล้วก็รู้ว่ามีใครอีกคนหนึ่งอยู่ด้วย​ ยังไม่สงบ​ ก็บอกแม่ชีว่าจะไม่ขอนอนที่กุฏแม่ชีล่ะ​  แต่จะขอไปนั่งที่ระเบียงของที่ศาลา แล้วก็จะไปอยู่คนเดียว​ จะไปนั่งอยู่ข้างบนนั่นแหละ แม่ชีก็เกรงใจไม่กล้าขัดใจก็ปล่อยให้ไป พอตอนค่ำก็ขึ้นไปขึ้นไปนั่งอยู่ที่บนศาลาโดยบอกตัวเองว่า​ จะไม่ยอมนอนเลย​ จะนั่งอยู่อย่างนี้ให้ตลอดคืน​ ไม่ใช่นั่งตลอดคืนเพื่อจะปฏิบัติเนสัชชิกคือเจริญสติสมาธิภาวนาตลอดคืนไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ แต่ต้องสารภาพว่าที่บอกว่าจะนั่งตลอดคืนนี่เพราะกลัว​  มีความกลัว พอมืดเข้าแล้วเป็นคืนเดือนมืดด้วย​ ไม่ใช่คืนเดือนหงาย​ จะมองไปทางไหนล้อมรอบตัวไม่เห็นอะไรเลย​ มีแต่ความมืดสนิท​ แล้วก็มีแต่สิ่งดำทะมึน​ ดำทะมึนนั่นก็คือร่มไม้ต้นไม้เงาไม้ต่างๆที่ล้อมรอบตัวอยู่เพราะเป็นป่าจริงๆ ก็บังเกิดความกลัว​ เป็นคนอยู่ในบ้านในเมือง​ มีผู้คนล้อมรอบมาตลอดชีวิต​ ไปอยู่อย่างนั้นแต่ลำพังคนเดียวก็กลัว​  กลัวมากทีเดียว

                ทีนี้แก้ความกลัวยังไง​ ก็อาศัยคำภาวนา​ ในสมัยโน้น​ก็ยังเมื่อเริ่มฝึกปฏิบัติใหม่ๆก็ใช้คำบริกรรมว่าพุทโธ หายใจเข้าพุท​ หายใจออกโธ​ ก็รู้ลมหายใจ แต่บริกรรมคำว่าพุทโธ​ พุทโธ​ พุทโธ​ พุทเข้า​ โธออก​ อยู่อย่างนี้ และเมื่อความกลัวบังเกิดจับใจมากยิ่งขึ้นก็จะพุทโธพุทโธพุทโธนี่ติดๆๆกันเหมือนกับท่องอย่างถี่ยิบเชียว ไม่ให้ขาดสายเพื่ออะไร ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือเพื่อเอาพระพุทโธเป็นเพื่อน​ ท่องพุทโธพุทโธพุทโธให้เกิดความเข้มแข็งหนักแน่นในใจ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นก็ความรู้ความเข้าใจในธรรมะน้อยเต็มที​ ถ้าหากว่าจะบริกรรมพุทโธอย่างชนิดให้เป็นปัญญาคือมีสัมมาทิฏฐิ​ ก็ต้องรำลึกถึงพระพุทธคุณใช่ไหมคะ​ ในฐานะเป็นพระผู้รู้​ ผู้ตื่น​ ผู้เบิกบานและจิตใจนี้ก็จะมีความแช่มช้าลง สงบเยือกเย็นผ่องใสขึ้นเพราะมีความซาบซึ้งศรัทธาในพระบริสุทธิคุณ​ พระเมตตากรุณาคุณ​ พระปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า​ จนกระทั่งพระองค์ทรงเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานและก็มาสอนมนุษย์ทั้งหลาย แต่ตอนนั้นเอาแต่เพียงท่องอย่างเดียว ก็ท่องอยู่อย่างนั้นละค่ะจนตลอดคืน คือตั้งแต่ค่ำจนเช้าก็ท่องท่อง แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คำว่าเกิดขึ้นนั้นน่ะหมายความว่า แม้แต่จะบังคับจิตให้อยู่ในความเป็นสมาธิสัก 1 ชั่วโมงจริงๆ ก็ยังทำไม่ได้เลย นอกจากจะเป็นสมาธิซักเรียกว่าวับๆ แวมๆ ในขณะขณิกสมาธินิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ที่ได้ก็คือความอดทน​ ได้ขันติ​ ความอดทนที่จะต้องกัดฟันอยู่ให้ตลอด จะไม่ยอมลุกออกไปจากที่​ นี่ก็คืนที่ 1 ผ่านไป แล้วคืนที่ 2 ก็เป็นอย่างนั้นอีก ถ้าเหน็ดเหนื่อยเพลียมากก็จะเพียงแต่เอนตัวลงพัก​ แต่จะไม่ยอมหลับ พอพักหายเหนื่อยคือหายเมื่อย​ ก็จะลุกขึ้นนั่งพุทโธพุทโธต่อไปอีกเช่นเคย ก็ไม่ปรากฏอะไรขึ้น​ ก็คงเป็นอย่างเดิมนั่นอีก คำว่าปรากฏนี่คือผลของการปฏิบัตินะคะ​ ที่จะเป็นผลของการปฏิบัติที่ชัดเจนไม่ปรากฏ คืนที่ 3 ก็ขึ้นไปนั่งอย่างนั้นอีก​ ตอนนี้ก็อาจจะมีความเคยชินมากขึ้นก็ได้นะคะ ค่อยๆ ชินกับความมืดมากขึ้น​ก็ได้​ แต่ความกลัวก็ยังไม่ได้ลดลงสักเท่าใด เพราะฉะนั้นก็คงนั่งในท่าของสมาธิพร้อมๆกับบริกรรมคำว่าพุทโธพุทโธพุทโธนี่ไปด้วย แต่ต่อมาการที่จะออกเสียงพุทโธก็ลดลงคือไม่เป็นเสียงดังค่อยๆเป็นการบริกรรมพุทโธอยู่แต่ภายในใจ พอประมาณซักตี 1 ตี 2 หรืออะไรประมาณนี้ค่ะ มีความรู้สึกว่าจิตนี้สงบนิ่ง คำว่าสงบนิ่งนี่คือสงบอย่างชนิดที่รวมเป็นสมาธิอย่างดิ่งแน่ว แต่ในขณะนั้นก็ยังไม่รู้อีกเหมือนกันว่า​ ที่เขาบอกว่าจิตดิ่งแน่วแน่รวมสนิทลึกเป็นเอกัคคตาคืออย่างไร ที่เรียกว่าชื่อเอกัคคตา​ ก็ยังไม่รู้จัก​ ไม่รู้จักชื่อเอกัคคตา​ แต่ในขณะนั้นนี่​ รู้แต่เพียงว่าจิตนี้รวมดิ่งแน่วแน่แล้ว​ พอมองไปในทางทิศทางใด​ จะมองซ้ายก็มีแสงสว่างออกไปทางซ้ายกระจายกว้างไปหมด​ มองขวาก็มีแสงสว่างออกไปทางขวา​ มองตรงแสงสว่างก็ออกไปทางด้านตรงกว้างกระจายไปหมด

                ก็มีความรู้สึกเหมือนกับแทรกขึ้นมาว่า​ เออเรานี่มีอะไรพิเศษพิเศษหรือจนกระทั่งจะเป็นผู้วิเศษคนหนึ่งเหมือนกันนะ เพราะมีแสงสว่างนี่พุ่งออกไปจากตัวอย่างกว้างขวางรอบด้านเลย​ ไม่ว่าจะหันหน้ามองไปทางไหน ในขณะนั้นก็มีคำพูดปรากฏขึ้นในใจ​ ไม่ได้พูดเป็นคำพูดดังๆนะคะว่านี่คือจักรวาล​ ก็ยังเกิดความรู้สึกว่าแหมเรานี่เป็นตัวจักรวาลแล้วนะ นี่เพราะไม่มีสติปัญญา มีแต่จิตมันรวมเพราะความที่เพ่งภาวนาอยู่ด้วยคำว่าพุทโธไม่ขาดสาย​ แล้วก็ต่อเนื่อง​ แล้วก็เป็นเวลา 2 คืนมาแล้ว นี่เป็นคืนที่ 3 ก็คงจะเป็นผลของเหตุปัจจัยที่ได้ภาวนาอยู่แต่พุทโธเรียกว่าเพ่งจดจ่ออยู่อย่างเดียวในอารมณ์เดียวไม่มีอารมณ์อื่นขึ้นมาแทรก แล้วก็ในขณะนั้นนี่นอกจากว่ามีความรู้สึกว่ามีแสงสว่างพุ่งออกไปกระจายออกไปอย่างทุกด้านแล้ว​ ก็ยังมีความรู้สึกที่อาจหาญเรียกว่ากล้าหาญมาก​ บังเกิดขึ้นในใจในขณะนั้นมีความรู้สึกเหมือนกับว่าอะไรที่น่ากลัวที่สุดในโลก​ ที่เขาว่าน่ากลัวที่สุดในโลกนี่ให้เข้ามาเถอะ​ตอนนั้นไม่มีความกลัวเลย ไม่มีความเกรงกลัวหรือว่ากริ่งเกรงประหวั่นพรั่นใจแม้แต่น้อย มันมีความกล้าอาจหาญอย่างบอกไม่ถูก ไม่เคยเป็นในชีวิต​ แต่ก็ไม่นาน คือลักษณะภาวะของจิตเป็นอยู่อย่างนั้นชั่วครู่เดียวครู่สั้นๆ แล้วก็หายไป แต่ทว่าหลังจากนั้นแล้วก็เกิดความชุ่มชื่นเบิกบาน​ แล้วก็ความกลัวที่มีอยู่มาตั้งแต่คืนแรกจนบัดนี้หายไป​ ไม่มีความกลัวอีกแล้ว​  ในขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกยึดมั่นขึ้นมาในความเป็นพิเศษของตัวเองว่าเรานี่มีอะไรเป็นพิเศษแล้วก็จะเหมือนกับเป็นคนที่เป็นจักรวาลซะด้วย​  แล้วก็ยึดมั่นเอาสิ่งนี้เป็นความภูมิใจในผลของการปฏิบัติสมาธิภาวนา​ แต่มิใช่เป็นสิ่งถูกต้องนะคะ​ เพราะตอนนั้นนี่เรียกว่าปฏิบัติหลงหล่มไป​ โดยยังไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร​ เพราะว่าเพิ่งเริ่มปฏิบัติเท่านั้น

                แต่ที่เล่าให้ฟังนี้ด้วยจุดมุ่งหมายเพียงแต่จะบอกว่า ถ้าสามารถรักษาความวิเวกเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องจดจ่อ​ แล้วก็ให้ติดต่ออยู่จุดเดียวไม่ไปอย่างอื่นเลยผลก็จะเกิดขึ้นได้ แต่จะสามารถใช้ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินั้นให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่องต่อไป​ หรือพัฒนาต่อไปให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอย่างไรนั้น​ ก็ต้องอาศัยการศึกษาที่จะให้เข้าใจในวิธีการของการปฏิบัติที่ถูกต้อง​  ก็จะสามารถใช้จังหวะของความมีสมาธิที่ดิ่งแน่วแน่ในขณะนั้นเป็นบาทฐานที่จะใคร่ครวญปัญญาต่อไป​  แต่ก็น่าเสียดายตอนนั้นไม่สามารถจะมีปัญญาหรือความรู้ในการปฏิบัติอย่างอื่นได้ก็ได้เพียงแค่นั้น​  แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ใจว่าความวิเวกนี้เป็นสิ่งสำคัญใช่ไหมคะ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในการปฏิบัติ ความวิเวกจากสิ่งแวดล้อมภายนอกจะช่วยตะล่อมใจ ตะล่อมใจที่อยู่ภายในนั้นให้ค่อยๆบังเกิดความรู้สึกวิเวก​ อันเป็นความสงบสงัดขึ้นทีละน้อยละน้อย เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนี้จึงจะทิ้งธรรมชาติไม่ได้​ ถ้าสามารถอยู่ใกล้ธรรมชาติได้มากเพียงใด​ ความวิเวกภายในจะค่อยๆสะสมแล้วก็เพิ่มพูนมากได้มากขึ้นได้เพียงนั้น และต่อมาก็ได้เคยมาเล่าความรู้สึกที่ว่าวิเศษของตัวเองนี่ที่ไปเล่าอวดมากับใครๆ มาหลายคนแล้ว พอเขาคุยกันเรื่องของผลการปฏิบัติสมาธิ​ ก็อดที่จะอวดของตัวเองบ้างไม่ได้​ ก็เรียกว่าอวดไปอย่างโง่ๆ นะคะ​ เพราะมันไม่ใช่ผลดีอะไรนักหนา แล้ววันหนึ่งก็มาเล่าให้เจ้าพระคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ฟัง ตอนแรกๆ นี่ที่มาเป็นลูกศิษย์ท่าน ท่านจะไม่พูดคุยด้วยในเรื่องการปฏิบัติสมาธิภาวนาอะไร​ เพราะท่านรู้ว่ามันยังไม่ไปถึงไหน​ แต่ในตอนนั้นท่านคงจะเห็นว่าอยู่มานานพอสมควรแล้ว​ ก็พอจะไม่ค่อยเตลิดเหมือนอย่างเมื่อก่อนแล้ว ท่านก็เลยพอฟังฟังบ้าง​ แล้วก็คุยด้วยบ้าง วันนั้นพอคุยเรื่องสมาธิ​ ก็เล่าให้ท่านฟังอันนี้ ท่านก็นั่งฟังเฉยๆ พอถึงตอนที่เรียนท่านว่ามีคำพูดปรากฏขึ้นมาในใจว่านี่คือจักรวาล ท่านก็ถามว่าจักรวาลอะไร พอได้ยินท่านถามอย่างนั้นด้วยเสียงเข้มๆ

                ก็รู้สึกสะดุดขึ้นมาทีเดียวว่า​ เอ.ที่เราพูดนี่มันคงจะไม่ค่อยถูกต้องแล้วนะ​  นี่แสดงถึงความอวดตัวอย่างเดียวละมั้ง ถามตัวเอง​ แล้วก็บอกตัวเอง​ แล้วก็นิ่งคิดสักครู่​ ก็กราบเรียนท่านว่าจักรวาลของความว่างเจ้าค่ะ​ ทำไมถึงพูดจักรวาลของความว่างเพราะตอนนั้นเจ้าพระคุณท่านอาจารย์ท่านกำลังสอนถึงเรื่องสุญญตา ท่านได้พูดเรื่องสุญญตามานานแล้วนะคะ แต่ในระยะนั้นท่านก็พูดอีก แล้วท่านก็พูดถึงเรื่องของสุญญตาความหมายตลอดจนกระทั่งคืออะไร​ อย่างไร​ ปฏิบัติอย่างไร สุญญตาวิหารจึงจะเกิดขึ้น​ ก็เลยกราบเรียนท่านว่า​ จักรวาลของความว่างเจ้าค่ะ พอพูดอย่างนั้น​ ท่านก็เลยนิ่ง นิ่งก็คือเจ้าพระคุณท่านอาจารย์ท่านจะมีวิธีว่า​ ถ้าหากว่าสิ่งใดที่พูดผิด​ ท่านก็จะช่วยแก้ให้หรือว่าชี้แจงให้ฟัง​ แต่ท่านไม่ค่อยชี้แจงตรงๆ​ ท่านมักจะพูดอ้อมๆ หรือบางทีก็เป็นปริศนาธรรมให้คิดเอาเอง แต่คราวนี้พอเรียนตอบว่าจักรวาลของความว่างเจ้าค่ะ ท่านก็นิ่ง​ ก็แสดงว่าที่พูดนี่ไม่ผิด เพราะว่าความเป็นจริงแล้ว​ ในการศึกษาปฏิบัติธรรมนั้น​ จากที่พยายามตะล่อมจิตให้อยู่ในความวิเวก​ จนเป็นจิตที่วิเวกเดี๋ยว​เพื่ออะไร​ ก็เพื่อผลที่สุดให้สามารถเป็นจิตที่ปรากฏหรือบังเกิดขึ้นแต่ความว่างคือสุญญตาธรรม​ เป็นความว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน​ เป็นความว่างเหนือความว่างอื่นใด​ เป็นความว่างที่เป็นโลกุตรธรรม ฉะนั้นที่เรียนตอบท่านไปก็ไม่ผิด​  เจ้าพระคุณท่านอาจารย์จึงเฉย ตั้งแต่นั้นมาน่ะค่ะก็เลยหยุด​ หยุดคุยเรื่องที่ว่าได้ไปมีแสงสว่างเกิดขึ้น​ มีอะไรเกิดขึ้นจากที่ปฏิบัติที่วังนํ้ามอก​ เพราะมองเห็นแล้วว่ามันไม่ใช่เป็นสิ่งสาระแก่นสารหรือไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการฝึกปฏิบัติ เมื่ออุตส่าห์ไปฝึกปฏิบัติใจจนกระทั่งค่อยมีความวิเวกขึ้น​  ก็น่าที่จะรู้จักวิธีใช้ความวิเวกที่บังเกิดขึ้นภายในนั้น​ ให้เป็นความวิเวกที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมต่อไป นี่ก็เป็นตัวอย่างที่อยากจะเล่าให้ฟัง​ ในเรื่องของการที่จะต้องรักษาความวิเวกด้วยการหยุดพูดคุย​ หยุดคิดเรื่องข้างนอกคือการปรุงแต่ง อีกตัวอย่างหนึ่งในส่วนตัวที่ได้พบก็จะกล่าวถึงคุณแม่เขาสวนหลวงนะคะ​ ที่ได้เคยไปฝึกปฏิบัติอยู่กับท่านระยะหนึ่ง​ ถึงแม้จะไม่นาน​ ก็เป็นระยะนานพอที่จะได้รับคำสอนจากท่าน​ และก็แนวของการปฏิบัติจากท่านมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไปได้พอสมควรทีเดียว ตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ที่บ้าน​ คือยังไม่ได้มาเป็นผู้ที่บวชอยู่ที่วัด​ ก็ได้ทราบข่าวว่าคุณแม่เขาสวนหลวงได้สิ้นชีวิตแล้ว​ แต่ท่านได้ไปสิ้นชีวิตในที่อื่นที่ไม่ใช่ที่เขาสวนหลวง ก็ต้องมีการนำศพท่านมาจากสถานที่นั้นมาทางนํ้า​ และก็พาท่านมาโดยเรือหางยาว เขาก็นำศพท่านมาถึงสถานที่ที่เป็นที่นัดกันว่าจะได้นำรถมารับท่าน​เพื่อนำไปส่งที่เขาสวนหลวง

                เมื่อได้รับข่าว​ ก็ได้เตรียมตัวไปคอยรับศพคุณแม่ที่ตรงท่านํ้าที่นัดแนะกันเอาไว้ พอไปถึงก็มองเห็นคุณแม่นอนอยู่ในเรือ​ เรียกว่านอนสงบอยู่ในเรือ​ แล้วก็มีลูกศิษย์ท่านหนึ่งนั่งเฝ้าอยู่ที่ปลายเท้าท่าน พอมองเห็นในขณะนั้น​ จิตนี้คือตั้งแต่ได้ข่าวตั้งแต่ตอนกลางวันนะคะ จิตนี้ก็มีความรำลึกถึงท่านและรำลึกถึงพระคุณ​ รำลึกถึงคำสอน​ แต่ว่ามิใช่ด้วยความฟูมฟายหรือว่าเศร้าหมองเสียใจร้องห่มร้องไห้​ ไม่มีอาการอย่างนั้น จิตนี้คงอยู่กับคำสอนที่ท่านสอนว่า​ ดูจิต​รู้จิตให้ติดต่อทุกกะพริบตา​ คำสอนอันนี้เป็นคำสอนที่ติดใจมาก​ ก็นึกอยู่แต่ในเรื่องนั้น พอมาเห็นท่านนอนอยู่ในเรือหางยาว​ จิตก็ไม่ออกเป็นอื่น​ มองดูแต่ความตาย​ คือศพที่ปรากฏสภาวะของความตายที่เกิดขึ้น แล้วก็นึกถึงแต่เรื่องของความตายอย่างเดียว​ มีความตายเป็นมรณสติในขณะนั้น​ ดูแต่ความตายที่เกิดขึ้น​ อันบังเกิดอยู่ที่ร่างของคุณแม่​ แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง​ ความคงทนอยู่ไม่ได้ของชีวิต ผลที่สุดแล้วก็ต้องแตกสลายไปสู่ความเป็นอนัตตา​ และความตายนี้ก็เป็นสภาวะธรรมที่เป็นไปตามธรรมดา​ ธรรมชาติ​ เกิด​ แก่ เจ็บ​ ตาย​ ไม่มีผู้ใดที่จะหลีกเลี่ยงได้ ขณะนั้นจิตไม่ออกข้างนอกเลย​ มุ่งจดจ่ออยู่แต่กับเรื่องความตายอย่างเดียว​ ถ้าจะพูดก็เมื่อจิตจดจ่ออยู่อย่างนี้​ แม้ข้างนอกจะมีเสียงผู้คนคือที่ผู้คนลูกศิษย์ที่พากันไปรับศพต่างก็พูดคุยซักถามกัน​ คุณแม่เป็นอะไร​ คุณแม่สิ้นที่ไหน​ สิ้นเพราะอะไร​ สิ้นอย่างไร​ อะไรเป็นสาเหตุ​ ก็อยากจะรู้ลักษณะอาการที่คุณแม่สิ้นในขณะนั้นอย่างไร​ ก็มีเสียงพูดคุยกันอยู่รอบนอกตัวนะคะดังพอสมควร แต่จิตข้างในไม่ออกไปเกี่ยวเกาะเลย ในขณะนั้นก็ยังไม่รู้ว่านี่คือความวิเวกนะคะ​ แต่พอมาทีหลัง​ บัดนี้ก็คิดว่า​ เล่าได้ว่ามันคือความวิเวกที่เกิดขึ้นในจิต เพราะอะไรจึงเป็นความวิเวก เพราะจิตนั้นจดจ่ออยู่สิ่งเดียวกับเรื่องของความตาย​ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นเลย​ อยู่กับเรื่องของความตายอย่างเดียว​ พิจารณาแต่ความตายจดจ่ออยู่อย่างนั้น​ จิตก็นิ่ง​ แล้วก็สงบ​ แล้วก็ไม่มีความรู้สึกเศร้าหมองเสียใจหรือร้องห่มร้องไห้​    นํ้าตาไม่ได้ไหลเลยสักหยดเดียว​ คงนิ่งมองดูเห็นความตายเป็นธรรมดา​ มองเห็นความตายเป็นธรรมดาอยู่อย่างนั้น​ พูดง่ายๆก็คือจิตนี้คงจะมีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความตาย​ เหมือนกับว่าความตายกับจิตนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียว​ ไม่แตกแยกจากกัน จิตจึงนิ่ง​ แล้วคงดูอยู่อย่างนั้นตลอดไม่หันเหไปพูดกับใคร​ หรือใจนี่ไม่เคยออกไปจากภาพที่จ่ออยู่ตรงหน้าเลย จริงแหละตาเนื้อมองเห็น แต่ตาในนั้นคลุกคลีกลมกลืนอยู่กับภาพศพของคุณแม่เขาสวนหลวง ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะจะเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องไปอีกนิดนึง​

                เมื่อถึงเวลาที่รถมารับศพคุณแม่​ เขาก็นำศพอุ้มคุณแม่ขึ้นสู่รถ​   แล้วก็ให้ผู้ที่ไปอยู่นี่​ ขึ้นไปกราบลาคุณแม่​ ก็ได้ขึ้นไปกราบลาคุณแม่เป็นคนแรก ก็ก้มลงกราบไปที่ร่างของท่าน พอในขณะที่ก้มลงกราบไปที่ร่างของท่านนั้นน่ะ ก็ได้กลิ่นกลิ่นแรงมากก็เรียกว่าเป็นกลิ่นปฏิกูลนะคะ จนกระทั่งตัวเองรู้สึกผงะออกมาทีเดียว ในใจก็บอกว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนี้เพราะว่าคุณแม่เป็นผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติคือไม่รับประทานเนื้อสัตว์เลยมาตลอดชีวิตของท่านที่อยู่ในหนทางธรรม แล้วก็เมื่อนำท่านมานี่ ก็นำท่านมาโดยเร็วเรียกว่าไม่ได้ทิ้งเอาไว้นาน​ ไม่ทันข้ามวันข้ามคืน​ แล้วก็เนื้อตัวของท่านก็ยังอ่อนนุ่มอยู่ เพราะฉะนั้นที่จะมีกลิ่นออกมาอย่างนี้​ ไม่น่าจะเป็นไปได้ ในขณะนั้นเองก็มีความคิดคือเหมือนกับเป็นคำบอกขึ้นมาในใจว่า นี่แหละเท่ากับจะบอกให้รู้ว่าร่างกายที่รักนักหวงนักทะนุถนอมนักนี่​ มันไม่ใช่แต่เพียงว่ามันจะหยุดเคลื่อนไหวเท่านั้นนะ คือหยุดลมหายใจแล้วก็หยุดการเคลื่อนไหวเท่านั้นนะ คือตายเท่านั้นนะ แท้จริงนี่ในร่างกายนี้ยังเป็นปฏิกูลอีกด้วย​ สิ่งใดที่เป็นปฏิกูล​ สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนาใช่ไหมคะ​ ไม่พึงปรารถนา​ ไม่อยากเข้าใกล้ แม้จะรักใคร่กันสักเพียงใด เหมือนอย่างสามีภรรยานอนอยู่ด้วยกันทุกคืน​ แต่พออีกฝ่ายหนึ่งทำกาละจากไป อีกฝ่ายหนึ่งไม่กล้าเข้าใกล้​ ไม่กล้าไปนอนเคียงข้างหรือว่าเอื้อมมือไปกอดอย่างที่เคยกระทำ​ ไม่กล้าแล้ว และนี่เป็นปฏิกูลที่ส่งกลิ่นด้วย​ ก็บอกให้รู้ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่สิ่งที่พึงน่ารักน่าชมน่าทะนุถนอมหวงแหนหรือยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา ในขณะนั้นนี่จิตก็บอก อ๋อนี่เป็นคำสอนสุดท้ายของคุณแม่​  ท่านสอนเพื่อจะบอกให้รู้ว่าร่างกายนี้นอกจากว่าจะต้องพบกับความตาย​ หนีความตายไม่ได้​ ก็ยังเป็นปฏิกูลอีกด้วยนะ และในขณะนั้นจิตก็อยู่แต่เรียกว่าอิงอยู่หรือว่ากลมกลืนอยู่แต่กับเรื่องของความตาย​ แล้วก็ร่างกายนี้เป็นปฏิกูลอยู่ตลอดไป เพราะฉะนั้นก็นำเอาความเป็นปฏิกูลนี่มาพิจารณาให้เป็นธรรมะต่อไป ฉะนั้นที่เล่าให้ฟังนี่นะคะ​ ก็เพื่อจะเน้นให้เห็นว่า​ ความวิเวกนี้เป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ ใช่ไหมคะ​ ที่ต้องเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องตะล่อมใจให้เข้าสู่ความวิเวกให้ได้​ เพื่อที่จะได้สามารถใช้จิตที่เดี่ยวนิ่งสงบนั้นใคร่ครวญพิจารณาธรรมตามที่ท่านเรียกว่าเป็นการวิปัสสนา​ หลังจากที่จิตนี้มีความสงบ​ ถ้าปราศจากความสงบย่อมไม่สามารถจะพิจารณาธรรมในรูปแบบของวิปัสสนาได้เลยเพราะจิตนั้นเมื่อยังวุ่นวายอยู่​

                ก็เหมือนกับสระนํ้าที่มีนํ้ากระเพื่อมตูมตาม​ ไม่สามารถจะมองเห็นภายใต้นํ้าว่ามีอะไรบ้าง ทั้งนี้ก็อยากจะพูดว่าล้วนแล้วเป็นผลที่เกิดขึ้นหรือได้รับจากการรักษาความวิเวกเท่าที่เหตุปัจจัยในขณะนั้นอำนวยให้ ก็อยากจะลองชวนให้ดูอีกสักหน่อยนะคะ​ ว่าในการที่เราจะปฏิบัติธรรมเพื่อสามารถรักษาใจให้อยู่ในธรรมให้ได้ตลอดนี่​ จะทำอย่างไรนะคะ​ ก็คือต้องกลมกลืนกับความสงบวิเวกที่มีอยู่ให้ตลอดเวลาที่สามารถทำได้​  นอกจากว่าจะกลมกลืนให้ตลอดเวลาแล้วก็​ อย่าอยากสงบ​ ทำแต่เพียงว่าให้จิตนั้นกลมกลืนอยู่กับความวิเวก​ ให้มีความสงบเป็นหนึ่งเดียวด้วยลมหายใจจนกระทั่งถึงจะสามารถวิปัสสนาได้ แต่ก่อนนั้นอย่าอยากสงบ​ ในขณะที่จะพยายามทำใจให้สงบนี้อย่าอยากสงบ​ ถ้าเกิดความอยากสงบขึ้นมมาแล้ว​ มันไม่สงบแล้ว ทำไมถึงไม่สงบ​เพราะว่าอยากคือตัณหาใช่ไหมคะ​ อย่าพามันเข้ามาเลย เจ้าตัณหานี้ถ้าไปสอดแทรกเข้าที่ไหน​ มันล้วนแล้วแต่ทำลายทำลายสิ่งที่กำลังจะดีงาม ให้มันแตกไป กำลังตะล่อมจิตจะให้อยู่ในความวิเวก​ เป็นการกระทำที่กำลังจะทำความดีงาม​ มันก็จะต้องแตกออกไปอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าอยาก แต่ทว่าพยายามขัดเกลาชำระล้างสิ่งที่เป็นตะกอนหรือเป็นสนิม​ เป็นสิ่งโสโครกที่หมักดองอยู่ภายในใจ​ ให้สะอาดเกลี้ยงเกลาจนกระทั่งสามารถเห็นเช่นนั้นเอง​ หรือสามารถอโหสิ​ แล้วก็ให้อภัยแก่กันได้  ฝึกอย่างนี้จะดีกว่า นอกจากนั้นก็ฝึกความเข้มแข็งหนักแน่นแห่งจิตให้อยู่ในความมั่นคงให้ยิ่งขึ้น เจ้าพระคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านมีบอกว่า มาให้รักก็ไม่รัก มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด นี่คำธรรมดาธรรมดานะคะ​ ท่านบอกให้ฝึกอย่างนี้ ฝึกว่า​ มาให้รักก็ไม่รักมาให้เกลียดก็ไม่เกลียด​ พอเข้าใจไหมคะว่าหมายความว่าอะไร เพราะว่าจิตที่วุ่นวายนี่มันก็ไม่หนีไม่พ้น 2 อย่างนี้​ ไม่รักก็เกลียด ไม่เกลียดก็รัก​ ใช่ไหมคะ​ เรียกว่าตกอยู่ในสิ่งคู่ พอรักก็ดีวุ่นแล้ว เกลียดก็ดีวุ่นแล้ว มันวุ่นทั้ง 2 อย่างเพราะฉะนั้นมาให้รัก คือจะทำอะไรอะไรให้น่ารักให้ถูกใจหรือว่ารูปร่างสวยสะสวยมีเสน่ห์น่าติดใจ​ ก็พยายามให้เห็นเช่นนั้นเอง​ เห็นความเป็นธรรมดาของมัน มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าธาตุตามธรรมชาติ มาให้รักก็อย่ารัก คือ อย่าไปหลงรัก​ อย่าไปปล่อยใจให้ตกเป็นทาสของความรัก มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด​ ถึงจะรูปร่างหน้าตาน่าเกลียด เหมือนอย่างเห็นคางคกนี่​ หรือเห็นผู้คนที่ได้เคยประสบอุบัติเหตุอย่างสมมติว่าไฟไหม้ถลอกปอกเปิกหน้าตาก็ดูไม่ได้กระด่างกระดำ มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด มองเห็นเป็นธรรมดา​ มันเป็นเช่นนั้นเอง หรือว่าจะแผ่เมตตาอีกก็ได้​ หรือจะทำอะไรๆให้น่าเกลียดด้วยกิริยาท่าทางก็ดี​ วาจาก็ดี​มันก็เช่นนั้นเองอีกเหมือนกัน วันนี้พูดไม่ดี​ วันหน้าพูดดีก็ได้หรือวันที่ผ่านมาก็เคยพูดจาน่าฟัง​ เห็นไหมคะ​ ไม่มีอะไรมันคงที่​ มาให้รักก็เป็นผัสสะ มาให้เกลียดก็เป็นผัสสะ ถ้าเห็นเท่าทันจะว่ามันคือผัสสะ​ ด้วยสติและปัญญา​ก็จะเห็น​ เป็นเช่นนั้นเอง เห็นแล้วมันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า​

                เพราะฉะนั้นลองพยายามฝึกใจ มาให้รักก็ไม่รัก มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด​ ในชั้นแรกจะท่องเอาไว้ก็ได้นะคะทำไมถึงไม่ควรรัก​ ทำไมถึงไม่ควรเกลียด​ ก็จริงๆแล้วมันไม่มีสิ่งใดที่น่าจะอยากรักหรือน่าจะอยากเกลียดใช่ไหมคะ​    ทำไมถึงไม่น่าจะอยากรักหรือไม่น่าจะอยากเกลียดเพราะรักก็เก็บไว้ไม่ได้​ เกลียดก็ผลักไปไม่ได้ มันจะไปก็ตามเหตุปัจจัย มันจะอยู่ก็ตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นจะต้องไปเหนื่อยด้วยการยึดมั่นถือมั่นทำไม เมื่อมีอยู่ก็ใช้ไป เมื่อไม่มีก็เห็นเป็นธรรมดา​  พยายามฝึกจิตให้มั่นคงอยู่อย่างนี้ รักมาให้รัก​ ​ก็ไม่รัก มาให้เกลียด​ ก็ไม่เกลียด จนเห็นเป็นเช่นนั้นเองเป็นธรรมดาก็เชื่อว่าจิตนี้จะค่อยๆ สามารถมีความมั่นคงเเข้มแข็ง​ แล้วก็เป็นจิตที่วิเวกเดี่ยวยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้การพิจารณาความตายให้ทุกขณะ ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยได้มากทีเดียวใช่ไหมคะ​ อย่างที่ได้พูดมาแล้วนะคะ หรือการสาธยายธรรมจากบทสวดมนต์ก็อีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน​ ที่จะช่วยให้จิตนี้อยู่ในความวิเวก​  แม้ว่าจะวุ่นวาย จะสับสนหรือบางทีอาจจะอึดอัดขัดเคือง​ แต่พอฝึกใจให้ใจน้อมไปในการสาธยายธรรม ยกตัวอย่างก็อย่างเช่นทำวัตรเช้า​ ทุกคนเคยสวดทำวัตรเช้า พอมาถึงบทสรรเสริญพระรัตนตรัย​ ตอนที่กล่าวถึงสังเวคปริกิตตนปาฐะ​ ก็คือการพิจารณาความให้เกิดความสลดสังเวชในลักษณะต่างๆ นึกออกไหมคะ​ ที่บอกว่า อิธะ ตะถาคะโต โลเก อุปปันโน พระตถาคตเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้​ สวดช้าๆ บทนี้เป็นบทที่ไพเราะมาก สวดช้าๆ เอาใจใคร่ครวญตามไปทุกคำพูด อะระหังสัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ในขณะที่พูดอย่างนี้​ ใจก็ย่อมจะซึมซาบ​ แล้วก็บังเกิดศรัทธาปสาทะ​ ด้วยความชื่นชมยกย่องบูชาเหนือเศียรไปในตัวเองโดยไม่รู้ตัวนะคะ ธัมโม จะ เทสิโต นิยานิโก และพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นธรรมเครื่องออกจากทุกข์ ถูกใจไหมคะ เพราะเราหันเข้ามาหาธรรมะ มาร่วมโครงการฝึกอบรมตน​ ก็เพื่อจะหาหนทางออกจากทุกข์ พระธรรมที่ทรงแสดงล้วนเป็นธรรมเครื่องออกจากทุกข์ อุปะสะมิโก ปะรินิพพานิโก เป็นเครื่องสงบกิเลสที่ทำให้วุ่นวายมานักหนาเป็นไปเพื่อปรินิพพานความเย็นสงบ สัมโพธะคามี สุคะตัปปะเวทิโต เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม​ เป็นธรรมที่พระสุคตประกาศรู้พร้อม​ พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ พร้อมด้วยความรู้อย่างจะแจ้งในพระธรรม มะยันตัง ธัมมัง สุตวา เอวัง ชานามะ พวกเราเมื่อได้ฟังธรรมนั้นแล้วจึงได้รู้อย่างนี้ว่า เมื่อก่อนไม่เคยรู้นะคะ บัดนี้รู้แล้วว่า ชาติปิ ทุกขา แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ ไม่มีใครนึกความเกิดก็เป็นทุกข์​ ส่วนมากมักจะเห็นว่าเมื่อมีความเกิดขึ้นในบ้านใด​ นั่นเป็นมงคลเพราะมีชีวิตใหม่เกิดขึ้นมา​ มีการทำบุญรับขวัญนำของขวัญไปอวยพรกันต่างๆ นาๆ หารู้ไม่ว่าเมื่อมีความเกิด​ มันก็ต้องมีความตายตามมาใช่ไหมคะ ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นออกไปจากความตายได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไม่อยากตาย​ อยากให้อยู่เหนือความตาย​ ก็ต้องพยายามให้อยู่เหนือความเกิด ความเกิดอะไรก็คือความเกิดของความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนยึดมั่นในตัว​ เป็นตัวเป็นตนนี่แหละที่มันทำให้เกิด​ แล้วก็เป็นทุกข์ ชะราปิ ทุกขา แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์​ อันนี้พอจะมองเห็น พอแก่เข้าก็งุ่มง่าม ผิวพรรณก็เหี่ยวย่น​ หน้าตาก็ไม่น่าดู ซุ่มเสียงก็ไม่กังวานเหมือนเดิม​ อะไรๆ มันก็ไม่น่าดู

                เพราะฉะนั้นความแก่ก็เป็นทุกข์ พอจะมองเห็น มะระณัมปิ ทุกขัง แม้ความตายก็เป็นทุกข์​ ก็ยิ่งชัดเจนเพราะกลัวตายกันอยู่ทุกรูปทุกนาม ที่กลัวก็เพราะไม่รู้ว่าหรือไม่ยอมรับว่ามันเป็นสภาวะธรรมอันเป็นธรรมดานั่นเอง​ ตลอดจนกระทั่ง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา ความโศกความร่ำไรรำพัน​ ความไม่สบายกาย​ ความไม่สบายใจ​ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ แต่ส่วนมากมักจะพูดกันว่า​ มันก็เป็นธรรมดาใครๆ ก็เป็นกัน จริงหรือเปล่า ที่จริงมันไม่ธรรมดา เพราะความเป็นธรรมดานั่นคือความปกติ ความปกติสงบเย็นต่างหากที่เป็นธรรมดา แต่เราละเลยความเป็นธรรมดาอันเป็นธรรมดาจริงๆของธรรมชาติเสียนมนานจนเกือบจะลืมไม่รู้ก็เลยมาถือเอาความไม่เป็นธรรมดาคือความโศกความร่ำไรความร้องไห้คร่ำครวญหาว่าเป็นธรรมดา คนนั้นก็ร้องไห้คนนี้ก็ร้องไห้เพราะความไม่ปกติความวุ่นวายจึงทำให้ร้องไห้ อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ เห็นไหมคะจะเอาแต่ใจตัว จะเอาให้ได้อย่างใจ เพราะยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน พอไม่ได้อย่างใจ ไม่ถูกใจเป็นทุกข์แล้ว หรือ ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง มีความปรารถนาสิ่งใด​ ไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ ท่านก็บอกแล้วใช่ไหมคะในอริยสัจ 4 ความอยากหรือตัณหาเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ นี่เพราะอยากจะอะไรอะไรก็ได้ให้เป็นทิพย์ พออยากก็ขอให้หล่นลงมาเลย​ มันเป็นไปไม่ได้​ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ จำเป็นที่จะต้องกระทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้องแล้วก็จะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทา นักขันธา ทุกขา ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ ขันธ์ 5 ก็สักแต่ว่าขันธ์ 5 ตามธรรมดาธรรมชาติ

                แต่พอมีอุปาทานไปยึดมั่นถือมั่นมันเลยกลายเป็นทุกข์ เสยยะถีทัง ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ รูปูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือรูป คือยึดรูป​ รูปกายที่มองเห็นนี้ไปยึดมั่นว่าเป็นเราก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะหวงแหนระมัดระวังแล้วก็เห็นแก่ตัว เวทะนูปาทานักขันธา เวทะนูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือเวทนา รวมความก็คือว่ารูปก็เป็นทุกข์ เวทนาก็เป็นทุกข์ สัญญาคือความจำหมายมั่นก็เป็นทุกข์ สังขารความนึกคิดก็เป็นทุกข์ วิญญาณการตามรู้ก็เป็นทุกข์ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ได้บอกให้เป็นทุกข์แต่ความเขลาความโง่ไปยึดมั่นถือมั่นเลยกลายเป็นทุกข์​ ถ้าไม่ไปยึดมั่นถือมั่นมันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่ารูป สักว่าเวทนา สักว่าสัญญา สักว่าสังขาร แล้วก็สักว่าวิญญาณตามธรรมชาติ ก็ใช้ประโยชน์มันไป​ ต้องการใช้ขันธ์ 5 แบบไหน ใช้เวทนาก็ใช้ ใช้สัญญาก็ใช้ ใช่ไหมคะ แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นท่านก็ในบทสวดมนต์นี้ก็จึงบอกต่อไปอีกว่าในขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่นั้นย่อมทรงแนะนำสาวกทั้งหลายเป็นส่วนมากเพื่อให้รู้ว่า รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง​ กายนี้ไม่เที่ยงนะคะ ได้ทรงแนะนำไว้รูปไม่เที่ยง​ แต่ผู้ที่ไม่สนใจจะศึกษาก็จะคิดแต่ว่ารูปนี้เที่ยงรูปนี้เที่ยง พอมีการเปลี่ยนแปลงตามกฎธรรมชาติเศร้าหมองเสียใจทนไม่ได้ นี่ในขณะที่สวดสาธยายมนต์คือทำวัตรเช้า​ จิตที่เดี่ยวแล้วก็วิเวกย่อมจะซึมซาบคลุกเคล้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รูปไม่เที่ยง แล้วก็จะพูดด้วยเสียงที่เรียกว่าเย็นๆ อ่อนโยนแช่มช้า รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา อนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญานัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง รูปัง อนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน ท่านย้ำให้ฟังอีกรูปนี้ไม่ใช่ตัวตนนะ​ อย่าไปยึดถือเป็นตัวเป็นตนเป็นอัตตาไม่ใช่​   มันเป็นตัวตนก็แต่เพียงสมมติเท่านั้นเอง เวทนาก็อนัตตาความรู้สึกสุขทุกข์ดีชั่วอะไรที่เกิดขึ้น​ รักชังถูกใจไม่ถูกใจมันก็เกิดดับมันเป็นอนัตตามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน สัญญาอนัตตา ความจำได้หมายมั่น ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอีกเหมือนกัน สังขารา อนัตตา สังขารความนึกคิดต่างๆ ที่ว่าฉันนึกอย่างนั้นฉันคิดอย่างนี้แล้วก็ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ

                ไปอดีตบ้างอนาคตบ้างก็ไม่ใช่ตัวตนไปยึดมั่นเป็นตัวตนนี่หลงแท้ๆ นะหาเรื่องให้ตัวเป็นทุกข์แท้ๆ ในขณะที่สวดไปอย่างนี้ถ้าจิตสำนึกได้มีความรู้สึกแล้วใช่ไหมคะถึงความที่เข้าใจผิดแห่งตน วิญญานัง อนัตตา วิญญาณก็ไม่ใช่ตัวตน สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง​ ควรจะท่องเอาไว้ จนกระทั่งมันซึมซาบกลมกลืนอยู่ในใจ สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวตนเลยสักอย่างเดียว ตา มะยัง โอติณณามะหะ พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ถูกครอบงำแล้วถูกครอบงำด้วยอะไร อวิชชาความเขลา ความเขลาที่มันสิงอยู่โดยที่ไม่เปิดโอกาสให้ความสว่างเข้ามามันก็เลยครอบงำทำให้เห็นไปว่า ชาติยา โดยความเกิด ชะรามะระเณนะ โดยความแก่และความตาย โสเกหิ ปะริเทเวหิ ทุกเขหิ โทมะนัสเสหิ อุปายาเสหิ โดยความโศก​ ความร่ำไรรำพันความไม่สบายกาย​ ความไม่สบายใจ​ ความคับแค้นใจทั้งหลาย ทุกโขติณณา เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว ทุกขะปะเรตา เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว เห็นไหมคะ เพราะ ความเขลาแท้ๆ ทำให้ตกอยู่ในความทุกข์ ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะทุกข์ ธรรมชาติไม่ได้บอกให้เป็นทุกข์เลย​ ให้ทุกอย่างมา​ โดยไม่ได้บอกให้เป็นทุกข์ ให้ใช้ไปตามที่ควรจะใช้​ เพื่อความสะดวกสบายแก่ชีวิต แต่พอความเขลาอวิชชาเข้ามาครอบงำ​  ตกภายใต้กิเลสตัณหาอุปาทาน​ เลยมีแต่ความทุกข์​ มีความทุกข์หยั่งเอาแล้ว​ มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว จนวันหนึ่งนะคะ​ อย่างที่ได้เคยพูดว่า​ หันหลังให้โลกเพราะถูกกัด ถูกกัดมากเข้าจนยับเยิน เรียกว่าปรุไปหมดทั้งตัวเลือดไหลโทรมไปหมด สำนึกขึ้นมาได้​ ถึงจะมานึกว่าทำไฉน​ การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏชัดแก่เราได้ จะปรากฏชัดแล้วค่ะถ้าสามารถจะรักษาความวิเวกภายในจิต​ แล้วก็พยายามที่จะใคร่ครวญในธรรมให้อยู่ทุกขณะ ก็จะสามารถถึงซึ่งความสิ้นทุกข์หรือความดับทุกข์ได้ จะสังเกตได้อย่างไรว่าขณะนี้ความสงบหรือว่าความรักษาใจให้อยู่ในธรรมเริ่มบังเกิดขึ้นแล้ว​ ก็จะสังเกตได้จากโดยรูปธรรมนะคะ ก็จะสังเกตได้ว่ามีการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ​ กล้ามเนื้อเริ่มตั้งแต่ใบหน้าและลำคอ​ แล้วก็ต้นแขนลำตัวไปจนกระทั่งถึงแขนขามันมีความผ่อนคลาย​ ไม่มีความเกร็ง​ มันมีความสบาย​

                นั่นแหละค่ะนี่เป็นสัญญาณหรือสัญลักษณ์บอกแล้วว่าความสงบเย็นกำลังบังเกิดขึ้น​ ความเป็นธรรมกำลังเริ่มมีขึ้นในใจ นอกจากนั้นก็จะมีความช้าลง อิริยาบถต่างๆ เช่น อิริยาบถในการเดินที่เดินพรวดๆๆ ที่เรียกว่าจํ้าเอาจํ้าเอา​ ไม่ดูเหนือดูใต้เริ่มช้าลงๆ เดินอย่างสงบเย็นมีจังหวะ แต่มิใช่ช้านะคะ​  มีความเร็วอยู่ในนั้น  แต่เป็นความเร็วที่สงบเย็น​ แล้วก็มีความสง่าด้วย การกินที่เคยกินอย่างเร็วๆ ก็จะช้าลงช้าลงโดยอัตโนมัติ​ ไม่มีใครบังคับ การเคี้ยวเคยเคี้ยวรวดเร็วมากนับไม่ถ้วนในทันที ก็จะเคี้ยวช้าๆ การนอนที่เคยนอนอย่างที่เรียกว่าหัวไปทางเท้าไปทาง​  ก็จะเริ่มมีการนอนที่มีสติมากขึ้น ความวุ่นวายสับสนดังอึกทึกในจิตจะลดลงลดลงจนกระทั่งจางคลายหายไป​ ความสงบเย็นจะเกิดมากขึ้น นี่แหละค่ะจะเป็นสิ่งที่สังเกตได้ว่าในขณะนั้นเป็นจิตที่มองเห็นแต่ความเป็นเช่นนั้นเอง​ มองเห็นการเกิดขึ้น​ ตั้งอยู่​ ดับไป​ แล้วก็มองเห็นชีวิตที่มีอยู่นี้เป็นเพียงกระแสของการเกิดขึ้น​ ตั้งอยู่ดับไปตามธรรมดาของธรรมชาติเช่นนั้นเอง ถ้าสามารถรักษาจิตให้อยู่ในความวิเวก​ จนบรรลุถึงจุดนี้ได้​ ก็ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่สามารถรักษาใจให้อยู่ในธรรมและความสงบเย็นได้ตลอดไป ก็ขออนุโมทนาไว้ล่วงหน้านะคะว่าทุกท่านจะสามารถทำได้​ แล้วก็มีความสุขสงบในชีวิตการประพฤติพรหมจรรย์ให้ยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น ธรรมะสวัสดีค่ะ

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service