แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทิฏฐิมีความสำคัญอย่างไร ท่านที่สนใจในพระธรรมเทศนา คำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คงจะนึกได้ว่า พระองค์ทรงสอนถึงเรื่องของทิฏฐิ ในพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกที่ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงเป็นกัณฑ์แรกหลังจากที่ตรัสรู้ แก่พระปัญจวัคคีย์ห้าองค์นั้น และในพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรนั้น ก็ได้ทรงกล่าวถึงเรื่องของ มัชฌิมาปฏิปทาคือทางสายกลาง แล้วทางสายกลางนั้นก็ต้องอาศัยอริยมรรคมีองค์แปดเป็นหลัก แล้วอริยมรรคมีองค์แปดที่เรียกว่าทางดำเนินอันประเสริฐแปดประการนั้น ก็เริ่มต้นด้วยองค์แรกว่าสัมมาทิฏฐิ
ก่อนอื่นทีเดียวที่ชีวิตจะดำเนินหรือกระทำในสิ่งอันใด จะต้องเริ่มด้วยการมีสัมมาทิฏฐิ คือความคิดเห็นที่ถูกต้อง ความคิดเห็นที่ถูกต้องคืออย่างไร อธิบายง่ายที่สุด เข้าใจง่ายที่สุด ก็คือความคิดเห็นที่ไม่เกิดจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเห็นที่ไม่เกิดจากความเห็นแก่ตัวก็คือไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ฉันว่าอย่างนี้ถูก ฉันว่าอย่างนั้นใช้ไม่ได้ ฉันว่าต้องทำอย่างนี้ ไม่เอา"ฉัน"เป็นที่ตั้ง แต่เอาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นเป็นที่ตั้ง เพราะถ้าเอาทิฏฐิของฉัน ทิฏฐินี้มาจากไหนโปรดคิดดู แต่ละคนมีทิฏฐิ เมื่อฉันเห็นอย่างนี้ ฉันว่าอย่างนี้ ฉันเชื่ออย่างนี้ ฉันอะไรต่ออะไร ทิฏฐินั้นมาจากไหน ก็มาจากสิ่งที่เราเคยเรียนรู้มาแต่เล็กแต่น้อย ศึกษามาจากโรงเรียนมหาวิทยาลัย จากประสบการณ์ที่เราเคยทำมาเพราะได้รับการอบรมมาอย่างนั้นจนกระทั่งมันเคยชิน พอเห็นกับข้าวมาตั้งตรงหน้า ทิฏฐิจะบอกเลยว่านี่ไข่เจียวอันนี้ใช้ได้ เพราะว่ามองดูก็รู้เลยว่าเจียวไม่อมน้ำมัน เจียวหอม กลิ่นอร่อย แต่พออีกจานหนึ่งมา โอ๊ยนี่ เจียวไข่แค่นี้ก็ไม่เป็น เจียวมาอย่างนี้เหม็นคาวกินไม่รู้เรื่อง นี่ทิฏฐิมันมาจากไหน มาจากความเคยชิน เคยชินที่เกิดจากการอบรม สิ่งแวดล้อม การศึกษา ประสบการณ์ในชีวิต ทีนี้แต่ละคนมีสิ่งแวดล้อมเหมือนกันไหม ภูมิหลังเหมือนกันไหม การเล่าเรียนศึกษาเหมือนกันไหม ประสบการณ์ในชีวิตเหมือนกันไหม ก็แตกต่างกันไปใช่ไหมคะ คล้ายกันบ้าง แตกต่างกันมากบ้าง แตกต่างกันน้อยบ้าง แต่ยังไม่เคยเห็นเหมือนกันเลยแม้แต่ลูกแฝด พี่น้องลูกแฝดที่ออกต่างกันมาสักนาที ครึ่งนาที สามนาที ก็ยังไม่เหมือนกันเลย เมื่อเวลาที่เขาเติบโตขึ้นมาเขามีทิฏฐิของเขา ยังไม่เหมือนกันเลย
เพราะฉะนั้นทิฏฐินี่แหละคือบ่อเกิดของปัญหา ท่านจึงบอกว่าชีวิตที่จะอยู่ในหนทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทานั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ คือความคิดเห็นที่ถูกต้อง ความคิดเห็นที่ถูกต้องคือความคิดเห็นที่ไม่เกิดจากความเห็นแก่ตัว ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งในการตัดสินสิ่งใดๆทั้งสิ้น หรือการตัดสินบุคคลเหตุการณ์ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้นไม่ตัดสินจากตัวเอง คือจากทิฏฐิของตัวเอง แต่ตัดสินจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง พร้อมกับที่สำคัญที่สุดก็คือดูประโยชน์ที่เกิดขึ้น ที่จะเกิดขึ้นจากการพูด จากการกระทำนั้น ถ้าประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ใช่ประโยชน์แก่ตัวฉันหรือว่าพวกของฉัน พี่น้องฉันแต่ฝ่ายเดียว นั่นเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ถ้าหากเป็นความคิด คำพูด การกระทำที่มันเกิดขึ้นเพื่อฉัน เพื่อพี่น้องลูกหลานฉัน เพื่อพรรคพวกของฉัน นั่นเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเป็นทิฏฐิที่เกิดจากความเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้เพื่อตัวเอง พวกพ้อง พี่น้อง เพื่อนฝูง พรรคพวก ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ แล้วมันก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทิฏฐิที่เกี่ยวกับค่านิยมผิดๆ เช่น นิยมว่าเกียรติยศอยู่ที่ คนมีเกียรติน่ะอยู่ที่ความมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง มีอำนาจมีบริวาร หรือมีเงินในธนาคารร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน นั่นคือเกียรติ จริงหรือเปล่าก็นึกดู ความเจริญ ก็อยู่ที่การมีสิ่งเหล่านี้อีกเหมือนกัน มีบ้านใหญ่ มีรถยนต์คันยาว มีเงินในธนาคารมาก บริวารล้อมหน้าล้อมหลังแล้วก็อื่นๆ สิ่งเหล่านี้มันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งลวงตามนุษย์ทั้งนั้น แต่เพราะค่านิยมที่เราหลงทำตามมันมา แล้วก็กลัวว่าถ้าไม่ทำตามจะไม่มีคนยอมรับเป็นสมาชิกของสังคม ก็ต้องทำตามเขาไป บางคนเหนื๊อยเหนื่อย เหนื่อยแสนเหนื่อยนะคะ ในขณะที่กลับมาบ้านเราก็ต้องแต่งตัวลกๆๆๆ เพื่อไปร่วมกิจกรรมโน้นกิจกรรมนี้ บางทีนึกแช่งด่าโชคชะตาวาสนา และคนที่ชวนที่บังคับให้ไป แต่แล้วก็ต้องก้มหน้าก้มตาไป พอไปถึงเขาก็ยิ้ม ปั้นยิ้ม ทั้งที่ข้างในมันแห้ง เคยไหมคะที่ประสบกับกิจการกิจกรรมอย่างนั้น แล้วทำไมต้องทำ ทำทำไม ทรมานตัวเองทำไม มันก็เพราะค่านิยมนี่แหละ กลัวเขาจะไม่ยอมรับว่าเราเป็นสมาชิก กลัวจะไม่มีเพื่อนมีพ้อง มีพวกผู้รับรองยอมรับ ก็เคี่ยวเข็ญตัวเองให้ทรมานไป เห็นไหมคะ เห็นความร้ายกาจของทิฏฐิที่มันเป็นมิจฉามั้ย มันพาตัวให้ต้องทรมานถึงเพียงนี้ ไม่ใช่คนอื่นทำให้เลย เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าการศึกษาเป็นบ่อเกิดแห่งทิฏฐิ เมื่อเราถือว่าการศึกษามีความสำคัญแก่ชีวิต ก็แน่นอนที่สุดเราต้องการจัดการศึกษาที่จะให้แก่เด็กๆและเยาวชน พัฒนาเขา ให้เป็นผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ ถ้ามีสัมมาทิฏฐิแล้วนั่นแหละชีวิตจึงจะรอด รอดทั้งทางกายทางจิตเพราะมีวิญญาณคือสติปัญญาที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ
ข้อที่สาม ท่านบอกว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือป้องกันและกำจัดสัญชาตญาณอย่างสัตว์ เราก็ทราบแล้วนะคะ ถ้าหากว่าใครถูกด่าว่าเป็นสัตว์ ก็หมายความว่าเขาทำอะไรที่มันต่ำกว่าคนทำ แล้วถ้าหากว่าคนไหนทำอะไรที่น่ายกย่องชมเชย เออค่อยสมเป็นมนุษย์หน่อย ขึ้นมาแล้ว สูงขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น อันนี้การศึกษาเป็นเครื่องมือป้องกันสัญชาตญาณอย่างสัตว์ ก็เพราะเรารู้ว่าสัตว์มันไม่มีการยับยั้งชั่งใจในการกระทำ จะทำไปตามสัญชาตญาณดิบ อยากกัดกัด อยากกินกิน อยากแย่งแย่ง อยากสมสู่ก็สมสู่ เมื่อไหร่ ที่ไหนไม่เลือก เป็นใคร เคยเป็นแม่กันมาก่อน เคยเป็นพ่อกันมาก่อน ไม่คิดทั้งนั้น นี่คือสัญชาตญาณอย่างสัตว์ หรือสัญชาตญาณที่ป่าเถื่อน แล้วเดี๋ยวนี้เป็นยังไงนี่สังคม เราพบบ้างไหมคะ การกระทำที่เป็นสัญชาตญาณอย่างสัตว์ หรือการกระทำอย่างป่าเถื่อน ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว จากสื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์ จากเหตุการณ์ที่ประสบด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการศึกษาที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันสัญชาตญาณอย่างสัตว์ แล้วเวลานี้มันก็กำลังเริ่มจะรุนแรง รุนแรงดุเดือดขึ้นทุกทีๆ จากกรณีต่างๆที่เราพบทั้งในเรื่องทางเพศ ในเรื่องการฆ่า ในเรื่องการเบียดเบียนทำร้ายกัน ทุกวงการ ไม่ว่าการเมือง การศึกษา การเศรษฐกิจ อีกเยอะแยะนะไม่ต้องพรรณนา น่าอ่อนใจ น่าเหนื่อยใจ ถ้าเราไม่นึกคิดที่จะช่วยแก้ไขกัน เราจะต้องมานั่งแก้ไขปัญหาปลายเหตุจนหมดแรง แล้วก็ตายอยู่กับมัน ถ้าเราไม่คิดที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุคือที่การศึกษาเสียแต่เดี๋ยวนี้ที่ค่อนข้างจะสายไปเสียแล้ว แต่ก็ยังไม่สายเกินไป เพราะฉะนั้นการศึกษาเป็นเครื่องมือป้องกันและกำจัดสัญชาตญาณอย่างสัตว์ที่จะเกิดขึ้นครอบงำมนุษย์ด้วยอะไร ก็ด้วยคุณธรรมที่ชื่อว่าหิริโอตัปปะ ด้วยการให้การศึกษาที่จะพัฒนาสติปัญญาของเขา ให้เป็นสติปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ และหิริโอตัปปะความละอายในการที่จะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความกลัวอย่างที่เรียกว่ากลัวบาปก็จะเกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่ว่าจะต้องกลัวกฎหมาย แต่เป็นความกลัวที่มันกลัวเอง กลัวว่าทำแล้วจะต้องละอายใจ จะต้องมาสำนึกบาปในภายหลัง แล้วความสำนึกบาปในภายหลังนี่แหละมันเป็นความเจ็บปวดขมขื่นในใจของมนุษย์เหลือเกินใช่ไหมคะ เพราะนึกขึ้นทีไรมันสะท้อน มันใจหาย เหมือนกับใจวูบลงเหว เพราะอะไรเพราะมันตามกลับไปแก้ไม่ได้ สัมมาทิฏฐิหรือทิฏฐิถูกต้องจะช่วยป้องกันใจในลักษณะนี้