แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้ก็ดูอาการของเวทนาที่เกิด ดูลงไปให้ชัดเพื่อจะได้รู้ให้แน่ว่ากิเลสตัวไหนกำลังรบกวนจิตข้างใน ดูลงไปให้ชัดนะคะ ในเรื่องของกิเลส ดูจากอาการอย่างที่เราพูดแล้ว ดึงเข้ามาหรือผลักออกไปหรือว่าวนเวียน จากนั้นก็ดูนิวรณ์ ดูมันเรื่อย พอลมหายใจมันสงบระงับ จิตพอมีสติสมาธิเหมือนอย่างเช่นกำลังนั่งรถ นั่งรถยนต์ไปทำงาน จะนั่งรถเมล์หรือจะขับรถเองก็ตาม ตอนนั้นเราควรดูจิตที่สุด เดี๋ยวก็จะมีคำถามว่า อ้าวก็รถชนกันนะสิ ชนไหมคะ ชนไหม ไม่ชน เพราะอะไรถึงไม่ชน เพราะขณะนั้นจิตพร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ไม่ชน แต่อย่างชนิดที่ว่า ขับรถเก่งปรูดปราด พอถึงคราวอับจนเข้า เข้าภาวะฉุกเฉิน เกียร์อยู่ตรงไหน เบรกอยู่ตรงไหนคลำไม่ถูก นั่นเพราะอะไร เพราะสติมันไม่อยู่ สติไม่อยู่เพราะใจมันวุ่นคิดอะไรก็ไม่รู้ คิดเรื่องงานคิดเรื่องลูกคิดเรื่องบ้าน คิดเรื่องเงินคิดเรื่องทอง คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้สารพัด พอถึงเวลาภาวะที่ฉุกเฉินเข้า มีอะไรมาตัดหน้ามีอะไรมาแซงก็ชนโครม ฉะนั้นขณะที่จิตเป็นสติ สมาธิ มันจะเตือนตัวเองเสมอนะคะ เพราะฉะนั้นไม่ชนดูได้ นั่งอยู่ในที่ทำงาน เบื่อ ขี้เกียจทำไม่อยากทำ ฟังหัวหน้าแกพูดเมื่อกี้แล้วทนไม่ได้ แทนที่จะมัวทนไม่ได้อยู่ทำไม ดูจิต ดีไหมคะ ดูจิตดูลมหายใจก่อน ให้จิตสงบเยือกเย็นผ่องใส ดูจิต เออจิตตอนนี้มันบ้าหรือเปล่า ไปเอาเรื่องกับหัวหน้าแล้วก็รู้ว่าหัวหน้าแกเช่นนั้นเอง เอาเช่นนั้นเองมาใช้กับแก คือยังไงยังไงแกก็ต้องบ้าอย่างนี้ พูดผิดบ้างพูดถูกบ้างเอาตามอำนาจใจของแกเรื่อยตลอดเวลา แล้วเราจะมาบ้าไปกับแกด้วยทำไม เราก็ได้ฝึกมาแล้ววิธีแก้ไขอย่างไร เห็นไหมคะ เราก็ดูลมหายใจของเรา พอจิตสงบเข้าเราก็ดูจิต แล้วเราก็จะแก้ไขจิตได้เอง แล้วก็ถ้าเราสามารถสงบได้ เย็นได้ เชื่อไหมคะ บางทีความเย็นความมีสติของเรานี่มันอาจจะแผ่ แผ่ไปถึงสื่อไปถึงหัวหน้าคนนั้นก็ได้ แล้วต่อไปอาจจะช่วยเขาให้ดุน้อยลง ให้ทำอะไรถูกต้องมากขึ้นทีละน้อยก็เป็นได้ เพราะในขณะที่จิตพร้อมด้วยสติสมาธิแล้วก็มีปัญญาด้วย มันมีเมตตาเกิดขึ้นในใจ เราน่าจะสงสารเขามากเลย แทนที่เราจะไปโกรธเกลียดและก็อยากจะโต้ตอบ เราจะสงสารมากเลย ในสถานะอย่างนั้นเราอยากเป็นอย่างเขาไหม นี่ถ้าเราดูจิต มันจะมีสติเตือน มีกลวิธีที่จะแก้ไขจิตเอง ที่ตกอยู่ในกิเลสให้หลุดออกมาจากกิเลสได้ นี่คือเฝ้าดูจิตนะ รู้ลมหายใจตามปกติคือไม่ต้องสั้นไม่ต้องยาว แต่ให้รู้เข้าเมื่อไรออกเมื่อไรเพื่อพัฒนาสติสมาธิให้เกิดขึ้นแล้วก็ดูข้างในคือดูจิต นอกจากดูจิตอย่างนี้แล้ว บางคราวก็เกิดเบื่อที่จะปฏิบัติอยู่อย่างเดียวก็ใคร่ครวญธรรม หยิบอนิจจังบ้าง ทุกขังอนัตตาบ้าง อิทัปปัจจยตาบ้างมาดู ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเราบ้างกับคนอื่นบ้างทำไมผลมันเป็นอย่างนี้ ลองศึกษาย้อนไปถึงปัจจัย อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นปัจจัย นี่ก็จะสนุก สนุกที่จะใคร่ครวญธรรมและใจก็จะชัดเจนในความหมายของกฎของธรรมชาติยิ่งขึ้น
เป้าหมายของการปฏิบัติที่เราทำอย่างนี้ นั่นก็ถ้าสูงสุดก็เพื่อจิตเย็นเป็นนิพพาน ถ้าเบื้องต้นก็เพื่อให้จิตคลายเครียด ดับความทุกข์ได้ชั่วขณะๆ จนถึงดับความทุกข์ได้ที่สุด นี่คือเป้าหมายของการที่มาปฏิบัติจิตตภาวนา ทีนี้อานิสงส์ของการปฏิบัติจิตตภาวนา เชื่อว่าทุกท่านคงได้ประสพด้วยตัวเองแล้ว ถ้าเป็นอานิสงส์อย่างธรรมดานะคะ ก็คือจิตเป็นยังไง สงบ นี่เป็นอานิสงส์ธรรมดา ถ้ารู้อยู่กับลมหายใจได้จิตก็สงบ เย็น นี่พบด้วยตัวเองแล้ว ปฏิบัติน้อยก็ได้น้อย ปฏิบัติมากก็ได้มาก จะได้เอง สงบเย็นเป็นสมาธิหนักแน่นมั่นคง สามารถจะอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ต้องทน ยิ้มได้เย็นได้ยอมได้ แต่ไม่ใช่ยอมแหย ยอมได้ด้วยสติสมาธิปัญญา
นอกจากนี้ก็พูดได้ว่าจะมีปัญญาเฉียบ นอกจากนี้ขอโทษนะถ้าเป็นอย่างพิเศษ ถ้าอย่างพิเศษมากกว่าธรรมดาขึ้นไปคือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในทุกโอกาสที่จะทำได้ บุคคลผู้นั้นก็จะมีสติ ดิฉันเรียกว่าเป็นเบรกของชีวิต เหมือนอย่างรถจะหยุดได้ตามต้องการ หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้ก็ต้องอาศัยเบรก เบรกที่ว่าแน่นัก ดิสเบรก แต่ถ้าใครขับรถมีดิสเบรก ปราศจากสติดิสเบรกช่วยได้ไหม ล้ออย่างวิเศษว่าหยุดทันทีพร้อมกัน 4 ล้อ มันก็ไม่หยุดเพราะมันไม่มีสติที่จะจับให้หยุดได้ว่าจะหยุดตรงไหน เห็นไหมคะ แต่ถ้าหากว่ามีสติเป็นเบรกชีวิตก็คือมีอริยทรัพย์อยู่ นึกออกไหมคะที่เราพูดถึงอริยทรัพย์ สติเป็นอริยทรัพย์ ฉะนั้นมีสติเป็นเบรกชีวิตนั่นก็คือจะเบรกปัญหา จะหยุดปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราได้ด้วยการใช้สติสมาธิแล้วก็ปัญญา
นอกจากนี้อานิสงส์อย่างพิเศษก็คือจะมีปัญญาเฉียบคมยิ่งขึ้นๆ จนสามารถแทงทะลุสิ่งสมมติ สมมติสัจจะทั้งหลายสู่ความเป็นวิมุติได้ วิมุติก็คือความหลุดรอดพ้นจากสิ่งที่เป็นปัญหาคือความทุกข์ทั้งปวง ที่เราพูดถึงสัมมัตตะ 10 คงยังจำสัมมาวิมุติได้นะคะ นั่นแหละถึงซึ่งสัมมาวิมุติ ที่วิเศษกว่านี้อีกก็คือจิตเป็นอิสระอยู่เหนือสภาวะของโลกียธรรมทั้งปวง โลกียธรรมทั้งฝ่ายพอใจและไม่พอใจ ไม่สามารถมากระทบจิตนี้ ที่จะทำให้จิตกระเทือนแม้แต่น้อย คงหนักแน่นมั่นคงอยู่ในอุเบกขาอยู่ตลอดเวลา ทีนี้หมายความว่าอย่างไร ก็ต้องขอเล่านิทานเซ็นอีกละสำหรับท่านที่ยังไม่ได้ฟังคือดิฉันอ่านนิทานเซ็นเรื่องนี้แล้วดิฉันมารู้สึกว่า อ้อนี่คือจิตที่อยู่เหนือโลกียธรรมไม่ยึดมั่น เขาก็พูดถึงอาจารย์เซ็นท่านนึงที่ได้รับความยกย่องนับถือจากชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นเป็นอันมากเพราะว่าเป็นบุคคลที่พร้อมอยู่ด้วยศีลพรตที่งดงาม จริยวัตรที่งดงาม ควรแก่การเคารพนับถือทุกประการ ชาวบ้านก็เคารพมาก แล้วก็วันหนึ่งก็มีลูกสาวของชาวบ้านในละแวกนั้นน่ะยังเป็นรุ่นสาวอยู่ก็เกิดท้องขึ้น โดยลูกสาวก็ไม่ยอมบอกว่าใครคือผู้ชายคนนั้นที่ทำให้ตนท้อง ที่เป็นพ่อของเด็กในท้อง พ่อแม่ทั้งปลอบทั้งขู่ทั้งตีลูกสาวก็ไม่ยอม ไม่ยอมบอก ด้วยความรักในผู้ชายคนนั้นเพราะรู้ว่าผู้ชายคนนั้นนี่ไม่เป็นที่รับรองของพ่อแม่ ขืนบอกพ่อแม่ก็ต้องโกรธหรือบางทีอาจไปทำอะไรกับผู้ชายที่ตัวรักก็ได้ก็ไม่ยอมบอก แต่พ่อแม่ก็ไม่ยอมหยุดเซ้าซี้ ทั้งดุทั้งด่าทั้งตีอะไร จนวันหนึ่งเด็กสาวคนนั้นทนไม่ได้ก็เลยเล่า ก็เลยบอกว่าก็อาจารย์เซ็นคนนั้นแหละไม่ใช่คนอื่นน่ะ ก็นึกในใจพ่อแม่จะรู้สึกยังไง พ่อแม่ก็ผิดคาด ผิดหวัง อาจจะตบอกผางๆ ทำไมเป็นไปได้ นี่คนที่เราเคารพนับถือว่าเป็นผู้มีศีลมีสัตย์ จนกระทั่งเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่แล้วทำไมถึงทำอย่างนี้ได้ ก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงแล้วก็พูดบอกเล่ากับเพื่อนบ้านต่อไปอีกว่านี่ดูสิอาจารย์เซ็นคนนั้นทำอย่างนี้กับลูกเราได้ ก็แน่นอนพวกเพื่อนบ้านก็พากันโกรธแค้นแทน ก็ยกขบวนกันไป ไปถึงวัดอาจารย์เซ็น เรียกอาจารย์เซ็นออกมา ทำอย่างนี้เหรอ ทำอย่างนี้ได้เหรอ แล้วก็ด่าว่าสารพัดด้วยอารมณ์โกรธตามแต่จะสรรหาคำมาได้ อาจารย์เซ็นก็ฟังๆ เขาว่า เขาว่าจบก็ถาม งั้นเหรอ แล้วก็ไม่มีต่อ แล้วอาจารย์เซ็นก็ก้มหน้าก้มตาทำงานทำการตามกิจวัตรประจำวันของอาจารย์เซ็นไปตามเรื่อง พ่อแม่กับพวกชาวบ้าน ไม่ตอบ ด่าก็ไม่ตอบว่าก็ไม่ตอบ จะทุบจะตีก็คงจะเหลือเกินเพราะว่าเคยเคารพนับถือกัน ก็เอาแต่ด่าว่าเท่าไหร่ก็ไม่ตอบ หมดปัญญาก็พากันกลับบ้าน อยู่ไปก็วันหนึ่งลูกสาวก็คลอดลูก ถึงกำหนดคลอดก็คลอดลูกออกมาเป็นลูกผู้ชาย พ่อแม่ก็คิดแค้นอีกคือตายายก็คิดแค้นอีก ก็อุ้มหลานชายนั่นน่ะไปที่วัด ส่งให้อาจารย์เซ็น เอาไป ลูกของแกแกก็เลี้ยง อาจารย์เซ็นก็ไม่ว่าอะไร งั้นเหรอ คำเดียว ก้มหน้าก้มตาเลี้ยงเด็กคนนั้นไปตามสติปัญญา ก็คงจะมีใครเขาสงสารหานมหาอะไรมาให้ก็เลี้ยงไป ทีนี้ลูกสาวเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่อาจารย์เซ็นนี่เลย เพราะฉะนั้นก็มีความรู้สึกบาปอยู่ในใจตลอดเวลา จนวันหนึ่งเหลือที่จะทนทานก็เลยบอกกับพ่อแม่ ไม่ใช่หรอกนะที่ว่าอาจารย์เซ็น นั่นละเป็นหนุ่มคนนั้นน่ะที่เขาทำงานอยู่ไม่ไกลจากเรา แต่ว่าไม่กล้าบอกพ่อแม่กลัวพ่อแม่จะโกรธแล้วก็จะไปทำอะไรเขา เพราะเขาไม่ใช่คนที่พ่อแม่ชอบ พอเป็นพ่อแม่เป็นไง ก็ตบอกผางๆ ตายๆ เรามิตกนรกกันหมดเหรอนี่ ไปด่าว่าอาจารย์เซ็นผู้บริสุทธิ์น่าเคารพต่างๆ นานาสารพัด ก็บอกกล่าวกันกับเพื่อนฝูงที่พากันไปด่าอาจารย์เซ็น ตอนนี้ก็พากันไปเป็นขบวนอีก ไปถึงก็ก้มลงกราบกับพื้นขอโทษอาจารย์เซ็น ขอได้โปรดอภัยให้ด้วยเถิดที่มาด่าอะไรต่ออะไรนั่นน่ะ อย่าถือโทษเลยจะเป็นบาปเป็นกรรม ก็พรรณนาไปต่างๆ นานา อาจารย์เซ็นก็ฟัง พอจบแล้ว งั้นเหรอ พวกนี้ก็งั้นเหรอก็กลับบ้านเรื่องนี้ก็จบ นี่ก็คือโลกียธรรม ใช่ไหม เขาด่านี่ ด่าไม่ใช่น้อยนะ คนเราเป็นอาจารย์ อาจารย์ที่สอน ผู้เคารพนับถือ ใครๆ เขาเคยกราบเคยไหว้ บัดนี้เขามาด่าเอาๆ ทั้งที่รู้แล้วว่าไม่ได้ทำอะไรเลย นี่ก็ตามเหตุปัจจัยอะไรหรือเปล่า เหตุปัจจัยไหม อาจารย์เซ็นไม่ได้ทำอะไรนี่ต้องมีคำถาม อาจารย์เซ็นไม่ได้ทำอะไรสักหน่อย แล้วทำไมอยู่ดีๆ ก็ถูกด่า อิทัปปัจจยตาอยู่ตรงไหนคะ อิทัปปัจจยตาอยู่ตรงไหน อาจารย์เซ็นอยู่ดีๆไม่ได้ทำอะไรไม่ได้รู้เหนือรู้ใต้ ด่าเอาๆ อิทัปปัจจยตาอยู่ตรงไหนคะ อยู่ที่ไหน อยู่ที่ชาวบ้าน จะบอกว่าอยู่ที่ลูกสาวก็ได้ เริ่มต้นจากลูกสาวนั่นแหละ ลูกสาวนั่นแหละเป็นตัวตนเหตุ ที่พูดเท็จเป็นจริง แต่ทำไมล่ะคนเป็นพ่อแม่เขาแล้วถึงไม่ใช้วิจารณญาณ เชื่อเอาง่ายๆ อะไรล่ะกำกับจิต ครอบงำจิต อวิชชา นี่แหละอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุบปาท พออวิชชาเข้าครอบงำจิต ลูกสาวเจตนาจงใจ ผิดศีลข้อที่เท่าไหร่คะ ข้อที่เท่าไหร่ ข้อที่ 4 เพราะว่าการที่จะถือว่าผิดศีล ละเมิดศีล ต้องประกอบด้วยองค์สาม หนึ่งเจตนาที่จะทำ สองกระทำ สามผลเกิดขึ้นตามเจตนานั้นด้วย ลูกสาวนะผิดศีลข้อที่ 4 เต็มประตูเลยเพราะมีเจตนาและก็ลงมือทำและผลก็เกิดขึ้นตามที่ตัวทำเพราะพ่อแม่เชื่อ เชื่อว่าอาจารย์เซ็นประพฤติผิดเช่นนั้นจริงๆ
แต่นี่นั้นก็อวิชชาเต็มอยู่หัวใจของลูกสาวนี่แน่นอนที่สุด ทีนี้ถ้าย้อนกลับมาดูอิทัปปัจจยตาของลูกสาว อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ลูกสาวกล่าวเท็จเช่นนั้น เป็นการกล่าวเท็จที่น่ากลัวมากเลย แต่ทำไมถึงกล่าวเท็จเช่นนั้น อิทัปปัจจยตาของลูกสาวนี่มาจากอะไร มาจากอะไรจึงทำให้กล่าวเท็จอย่างนั้น อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกสาวกล่าวเท็จ เพราะมีอะไร ลองย้อน ย้อนทวนไปหาอิทัปปัจจยตาของลูกสาวสิคะเพราะมีอะไร มีอะไรๆ มีความต้องการ ต้องการจะไม่ให้คู่รักของตัวน่ะถูกทำร้ายหรือว่าถูกดุถูกว่า เพราะทำไม ย้อนกลับไปอีก หาปัจจัยต่อไปอีก ทำไมลูกสาวถึงไม่ต้องการให้คู่รักของตัวต้องถูกดุถูกว่า เพราะมี มีอะไรคะ มีความรักใช่ไหม เพราะมีความรัก มีความรักในคู่รักของตัวอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงยอมขี้ปดพูดเท็จเพื่อป้องกันความรักของตัว แล้วยังจะมีอื่นอีก แต่สุดท้ายหรือว่ารากเหง้าจริงๆ คืออวิชชาที่เต็มอยู่ในหัวใจ เพราะอะไรความรักมันมืดมิดหมด เห็นว่าความรักคือความอบอุ่นคือความเป็นสุขที่จะได้รักได้ป้องกันคนที่รัก ก็เลยสามารถกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องถึงเช่นนั้นได้ แล้วก็เช่นเดียวกับพ่อแม่ อวิชชาก็ครอบงำจิตจึงเกิดสังขารปรุงแต่งไปว่าอาจารย์เซ็นคงต้องทำอย่างนั้นจริงๆ แล้วก็มีมันก็ไปตามรอบปฏิจจสมุปบาท เห็นไหมคะตามรอบปฏิจจสมุปบาท แต่อาจารย์เซ็นผู้นั้นเกิดความทุกข์ไหม ไม่มีความทุกข์ คำด่าของพ่อแม่ชาวบ้านเหล่านั้นน่ะเท่ากับเป็นอะไรต่ออาจารย์เซ็น เป็นผัสสะ แต่ผัสสะนั้นมีอำนาจอิทธิพลที่จะทำให้เกิดเวทนาหรือไม่ อาจารย์เซ็นมีเวทนาไหมคะ ไม่มีเลย อาจารย์เซ็นไม่มีเวทนา เพราะอะไร เพราะสามารถพัฒนาจิตให้เห็นได้ว่า ผัสสะนี้คือเสียงด่านี้มันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ นั่นคือเมื่อจุดผัสสะเกิดขึ้น จิตของอาจารย์เซ็นอยู่ที่ไหน ทางสองแพร่งนั่นนะ แพร่งไหน แพร่งที่เต็มอยู่ด้วยสติและปัญญาใช่ไหมคะ แพร่งที่เต็มอยู่ด้วยสติและปัญญา เวทนาจึงไม่เกิดขึ้น แต่ก็รู้อยู่ในใจว่าการกระทำอย่างนี้ถูกหรือผิดสมควรหรือไม่สมควรแต่ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นเวทนาก็ไม่เกิด ตัณหาอุปาทานก็ไม่มี มีแต่ความว่างความสงบเยือกเย็นผ่องใสเป็นสุข และคำด่านั้นเป็นเช่นนั้นเองจริงไหม เกิดดับจริงไหม นี่มันก็ชัดเจน ไม่นานเท่าไหร่เลยไม่กี่เดือนเลย ก็ยกขบวนมาขอลุแก่โทษขออภัย ยกย่องชมเชย ขอให้ยกโทษให้ต่างๆ นานา อาจารย์เซ็นกระทบไหม ไม่กระทบ เสียงชมเชยขอร้องยกโทษก็เป็นผัสสะอีกเหมือนกัน แต่ไม่กระทบเพราะจิตนั้นเต็มไปด้วยสติและปัญญา มองเห็นมันก็เช่นนั้นเอง วันนี้มันมาขอโทษวันหน้ามันก็มาด่าได้อีก แล้วมันด่าแล้วก็คงมาขอโทษได้อีก นี่คือโลกียธรรม คือโลกียธรรมที่ธรรมที่คนโลกพอใจหรือว่าติดอยู่ ติดอยู่กับสิ่งคู่ บวกลบๆ แล้วก็ถูกมันซัดเหวี่ยงโยนเอาเพราะความยึดมั่นในบวกลบ
ฉะนั้น ถ้าหากว่าปฏิบัติจริงๆ จนถึงที่สุดจิตนี้จะเป็นอิสระอย่างยิ่ง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดแม้แต่ความเป็นตัวตน และนี่แหละคือชีวิตที่อยู่ในหนทางของมัชฌิมาปฏิปทา แล้วก็จะสามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ นั่นคืออะไรคะ การปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์คืออะไร ทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างสมบูรณ์คืออะไรคะ อย่าลืมสิคะธรรมะสรุปแล้วคืออะไร หน้าที่ หน้าที่ นั่นแหละจะสามารถทำหน้าที่ของมนุษย์ได้อย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ก็คือทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างถูกต้องโดยธรรม ไม่หวังและตนเองก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นนี่ก็คือสิ่งที่จะต้องใคร่ครวญนะคะ และการปฏิบัติอานาปานสติถ้าปฏิบัติจริงก็จะได้เห็นผลได้ด้วยตนเอง นี่ก็เป็นวิธีการปฏิบัติทางลัด ฉะนั้นจะปฏิบัติสมบูรณ์ก็ได้ตามแต่ศรัทธาและเวลาที่จะมี จะปฏิบัติอย่างทางลัดก็ได้และก็สามารถจะทำได้ในชีวิตประจำวัน เชิญพักก่อนค่ะสัก 10 นาที