แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้ที่เห็นอยู่ที่บนแผ่นป้ายที่ชื่อว่า 9 ตา ที่นำมาก็เพื่อที่จะช่วยอธิบายหรือว่าเป็นเครื่องช่วยในการใคร่ครวญการปฏิบัติในขั้นที่หนึ่งของหมวดที่ 4 ในขั้นที่ 1 ของหมวดที่ 4 ก็บอกเอาไว้ว่าเพื่อที่จะให้ผู้ปฏิบัติจ้องดูลงไปในเรื่องของอนิจจังความไม่เที่ยงทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออกจนกระทั่งจิตนั้นชัดในอนัตตาแต่ทีนี้เพื่อที่จะให้การใคร่ครวญนั้นชัดเจนยิ่งขึ้นแล้วก็เป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้นก็เลยเสนอแนะการพิจารณาไปตามลำดับเพราะจะช่วยให้การพิจารณานั้นมีความละเอียด ละเอียดในการพิจารณาไม่ก้าวข้ามไปรวดเร็วเพราะถ้าข้ามไปนี่แสดงว่าเราต้องละอะไรไว้โดยขาดการใคร่ครวญพิจารณา ฉะนั้น 9 ตานี้ถ้าท่านผู้ใดจำได้หรืออยากจะศึกษาก็ดีเกิดประโยชน์เพื่อช่วยให้การใคร่ครวญธรรมเป็นไปอย่างละเอียดประณีตยิ่งขึ้นแล้วก็จะประจักษ์แจ้งได้ชัดเจนดีขึ้น แต่ท่านผู้ใดรู้สึกว่ามากไปก็ไม่เป็นไรไม่ต้องไปสนใจ ถ้ารู้สึกว่ามากไปก็ไม่ต้องไปสนใจ แต่ถ้ารู้สึกว่าจะเป็นการช่วยก็ลองใคร่ครวญดู 9 ตาก็คืออันแรกอนิจจตาก็หมายถึงความไม่เที่ยง เรื่องของอนิจจังนั่นเองแต่ทำเป็นคำนามเมื่อเติมคำว่าตาเข้าไปหมายความว่าทำเป็นคำนาม สิ่งแรกก็คือพิจารณาความไม่เที่ยงอย่างที่เราพูดกันละเอียดพอสมควรแล้วนะคะ ทีนี้พอเห็นความไม่เที่ยง ทุกขตาคือความคงสภาพอยู่ไม่ได้ก็คือมันจะคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้เพราะมันคงทนไม่ได้เพราะมันต้องเปลี่ยนแปลงตามอิทัปปัจจยตาหรือตามเหตุตามปัจจัย ทุกขตาก็จะค่อย ๆ ผ่านเข้ามาคือจะค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นในขณะที่ผู้ปฏิบัติเห็นอนิจจตา ทุกขตาก็จะค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นตามมา จากนั้นตาตัวที่ 3 คือ อนัตตตา อนัตตตาอย่าลืมสังเกตว่า ต 2 ตัวนะคะ ต 3 ตัว อนัตตตาความเป็นของไม่ใช่ตน คือของที่เห็นอยู่นี้สิ่งที่เห็นอยู่นี้จะเป็นวัตถุสิ่งของจะเป็นสัตว์มีชีวิตจะเป็นผู้คนหรืออะไรก็ตามทีแม้แต่นามธรรม ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ก็เป็นของไม่ใช่ตน คือไม่มีตัวมีตนให้ยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่างเดียวเป็นของไม่ใช่ตน เสร็จแล้วเมื่อพิจารณาอนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ก็เห็นในระดับหนึ่ง ที่ดิฉันพูดว่าเห็นในระดับหนึ่งนั้นเราผู้เป็นมนุษย์ธรรมดานี่นะคะ ยากที่พอดูแล้วจะเห็นชัดลงไปเลยจนบรรลุประจักษ์แจ้งชัดมันก็เห็นอยู่ในระดับนึง ระดับพื้น ๆ ก็ได้ในตอนต้นแต่เมื่อเราดูซ้ำลงไปอีกให้เห็นธัมมัฏฐิตตา ธัมมัฏฐิตตาก็หมายความถึงว่าความตั้งอยู่ตามธรรมชาติของกฎธรรมดา
ถ้าเราจะนึกว่าทำไมมันถึงต้องมีอนิจจตา ทำไมถึงต้องมีทุกขตา ทำไมถึงต้องมีอนัตตตา ไตรลักษณ์ 3 อย่างนี้ลักษณะอันเป็นธรรมดา 3 ประการ 3 อย่างนี้ ทำไมมันถึงจะต้องมีอย่างนี้ทำไมถึงจะต้องเป็นอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่บอกเอาไว้ในธรรมชาติก็คือสิ่งที่เรียกว่าธัมมัฏฐิตตา ธัมมัฏฐิตตาก็คือว่าความตั้งอยู่ตามธรรมชาติของกฎธรรมดาอย่างนั้น มันเป็นอยู่อย่างนั้น ความไม่เที่ยงมันเกิดขึ้นอย่างนี้เพราะมันอยู่ในธรรมชาติในน้ำในเนื้อของธรรมชาติของทุกสิ่งในจักรวาลแล้วจะไปถามหาอะไรจะไปหาเหตุผลอะไรเหตุผลก็มองเห็นอยู่ว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเพียงแต่ใจจะรับหรือไม่ ทุกขตาก็เช่นเดียวกันเมื่อมันเปลี่ยนแปลงมันก็ทนอยู่ไม่ได้มันคงสภาพเดิมไม่ได้ แล้วนี่แหละมันก็ชี้ให้เห็นถึงอนัตตตาคือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแล้วก็นี้แหละคือกฎธรรมดามันจะต้องตั้งอยู่อย่างนี้ตามธรรมชาติของกฎธรรมดา มันจะตั้งอยู่อย่างนี้ตามธรรมชาติของกฎธรรมดา นี่คือความหมายของธัมมัฏฐิตตาก็ย้ำลงไปในใจอีก ถ้าผู้ใดต้องการที่จะพิจารณาให้ละเอียดนะคะ ไปให้ละเอียด ละเอียด ละเอียด ก็จะดูไปทุกจะบอกว่าทุกขั้นตอนก็ยังหยาบไปเหมือนกับว่าทุกเส้นที่จะไม่ยอมละไม่ยอมผ่าน ตาที่ 5 ก็คือธัมมนิยามตา ธัมมนิยามตาก็คือความเป็นไปตามกฎธรรมดา มันจะเป็นอย่างนี้มันจะเป็นอยู่อย่างนี้เป็นไปตามกฎธรรมดามันจะเป็นไปอย่างนี้ ธรรมชาติ ธรรมะ ธรรมะก็คือธรรมชาติได้กำหนดไว้แล้วว่ามันจะเป็นไปตามกฎธรรมดาอยู่อย่างนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการย้ำ ย้ำความรู้สึกให้ประทับลงไปในอนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา มากขึ้น ทีนี้อาจจะเข้าใจยากสำหรับหลายท่านสำหรับ 2 ตาคือตาที่ 4 ตาที่ 5 เพราะเราไม่ค่อยได้เอ่ยถึงแต่มันอยู่ในนั้นมันอยู่ในนั้น ทีนี้ตาที่ 6 ก็คือ อิทัปปัจจยตาที่เราพูดกันบ่อย ๆ ความมีและความเป็นไปตามปัจจัย ปัจจัยเป็นอย่างใดเหตุเป็นอย่างใด ปัจจัยเป็นอย่างใดผลมันก็เป็นอย่างนั้นเหมือนอย่างปฏิจจสมุปบาทสิ่งซึ่งอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอย ๆ มันจะต้องมาจากเหตุเสมอ ผลอย่างใดเหตุอย่างนั้น เหตุอย่างใดผลอย่างนั้น และผลในทางธรรมนะคะ โปรดเข้าใจว่าหมายถึงทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ถ้าประกอบเหตุปัจจัยถูกต้องผลก็คือไม่เป็นทุกข์ ท่านจะใช้คำว่าไม่เป็นทุกข์ท่านไม่ใช่คำว่าสุขสังเกตไหมคะ ทำไมจึงไม่ใช้คำว่าสุขเพราะสุขนั้นไม่มี มันมีแต่เรื่องทุกข์และไม่เป็นทุกข์คือทุกข์เกิดกับทุกข์ดับเท่านั้นเองในความเป็นจริงของชีวิตทุกข์เกิดกับทุกข์ดับ พอทุกข์ดับมนุษย์ก็นึกว่าอ๋อนี่คือสุขตามที่เราสมมติเรียกกันแล้วก็ยึดมั่นในมันแต่ความเป็นจริงมันมีแต่ทุกข์เกิดกับทุกข์ดับ ถ้าเราหมั่นมองในลักษณะของทุกข์เกิดและทุกข์ดับเราได้ประโยชน์อะไรไหมคะ ได้ประโยชน์อะไรไหมคะ ประโยชน์ก็คือความไม่ประมาทใช่ไหมคะ เราจะไม่มีความประมาทเพราะเรารู้ว่าชีวิตที่เผชิญอยู่นี้ไม่มีอะไรนอกจากทุกข์ ทุกข์เกิดกับทุกข์ดับเท่านั้น เมื่อเป็นมนุษย์ที่ฉลาดก็พยายามที่จะให้ทุกข์ที่มันเกิดนี้ดับไป สิ่งที่เป็นปัญหาให้มันหมดปัญหาไปก็คือทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ทำให้มันดับไปไม่ให้มันมาฝังประทับอยู่จนกระทั่งสลัดไม่หลุดแล้วชีวิตนี้ก็ต้องร้อนอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น อิทัปปัจจยตาความมีและความเป็นไปตามปัจจัยก็เพื่อจะอธิบายว่าทุกข์เกิดหรือเป็นทุกข์มันก็เป็นไปตามปัจจัยอย่าไปโทษอะไรเลย ถ้าหากว่าทุกข์ดับทุกข์ไม่มีมันก็เป็นไปตามปัจจัยไม่ต้อง ไม่ต้องไปดีอกดีใจลิงโลดตื่นเต้นว่าแหมฉันโชคดีดวงชะตาขึ้นแล้วตอนนี้ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว เปล่าเลยมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยถ้ามัวไปดีใจอย่างนั้นนั่นคือการขาดสติทำให้ประมาทนะคะ
เพราะฉะนั้นในทางธรรมเราจะพูดกันแต่เพียงเรื่องทุกข์เกิดทุกข์ดับ ทุกข์มีทุกข์ไม่มีไม่ใช่เรื่องทุกข์สุข สุขนั่นเราสมมติกันตามสมมติสัจจะนี่ คือความเข้าใจที่ควรจะเข้าใจให้ถูกต้อง ทีนี้ก็ในเรื่องของกฎอิทัปปัจจยตานี่นะคะ ก็เชื่อว่ามีหลายท่านต้องมีคำถามอยู่ในใจว่า ฉันก็พยายามทำดีทำถูกเสียสละทุกอย่างแล้วผลทำไมมันถึงยังมีปัญหา ทำไมถึงยังมีทุกข์ใช่ไหมคะ นี่เรียกว่าอยู่ในใจของท่านทั้งหลายเกือบทุกคนเลย ทีนี้ก็โปรดเข้าใจว่าเรื่องของอิทัปปัจจยตานี้ถ้าหากว่าเป็นอิทัปปัจจยตาที่เกี่ยวกับเฉพาะตนคือหมายความว่าเฉพาะตนคนเดียวรับผิดชอบคนเดียวไม่ยากใช่ไหมคะ ไม่ยากที่จะประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้องแล้วผลก็ถูกต้องไม่ยากใช่ไหมคะ แต่ในชีวิตของเรานี้ท่านทั้งหลายก็เห็นแล้วว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวมันต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมายหลายเรื่องรวมทั้งเหตุปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ฉะนั้นอีตอนนี้ที่ทำให้ผู้ที่ศรัทธาในทางธรรมไม่มั่นไม่มั่นคงก็จะถอนใจจากทางธรรม ไม่เห็นจริงเลยประกอบความดีแล้วทำดีแล้วเสียสละแล้วไม่เห็นได้ดีก็เพราะว่ามันมีปัจจัยอะไรหลายอย่างประกอบเหมือนอย่างปฏิจจสมุปบาทมันก็ไม่ได้มีปัจจัยเดียว มันมีปัจจัยหลายปัจจัยที่ประกอบกัน ทีนี้อย่างสมมติว่าเราทำงานแล้วเราก็อุตสาห์ตั้งใจทำดีที่สุดทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่เต็มฝีมือความสามารถผลมันก็น่าที่จะต้องราบรื่นไม่มีปัญหาแต่ปัญหาเกิดขึ้นก็เพราะในการทำงานมีปัจจัยอื่นเช่นหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง
นอกจากนี้ปัจจัยอื่นก็เช่นงบประมาณ จังหวะ โอกาส แล้วก็ยังจะมีอย่างอื่นอีกเช่นสุขภาพอนามัยของผู้กระทำเองหรือของคนอื่นที่รับงานกันแล้วจังหวะโอกาสหลายอย่างเหลือเกิน เรากำหนดอย่างดีกำหนดแผนงานอย่างดีโปรเจ็กนี้ต้องลอยตัวต้องเรียบร้อยตามขั้นตอนขั้นที่ 1 ต้องทำอย่างนี้ถ้าสำเร็จตามนี้ผลอย่างนี้ขั้นที่ 2 อย่างนั้น ขั้นที่ 3 อย่างนั้นแต่ในระหว่างของการทำงานมันเกิดเป็นหัวหน้าที่สนับสนุนโปรเจ็กนี้อย่างดีที่สุดเข้มแข็งเกิดต้องย้ายนี่เพราะปัจจัยอันนี้ต้องย้ายไปมันเริ่มแล้วชักจะรวนเรไม่เป็นอย่างที่ต้องการ งบประมาณที่กะว่าจะต้องได้อย่างแน่นอน 5 ล้านตามลำดับแบ่งออกมาเป็นส่วน ๆ ไม่มาเพราะเกิดขาดขึ้นมาก็ไม่สามารถจะให้ได้เห็นไหมคะ การทุ่มเทฝีมือความสามารถความตั้งใจเต็มที่แต่มันไม่เป็นไปตามนั้นเพราะมันมีเหตุปัจจัยอื่นที่เข้ามาสอดแทรกที่มันต้องเกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นจึงดูอิทัปปัจจยตาให้ดี ๆ ถ้าเกี่ยวข้องกับตัวเราคนเดียวมันเห็นชัดทำได้แก้ง่าย แต่เมื่อเหตุปัจจัยนั้นเกี่ยวข้องกับคนอื่นเหมือนอย่างพ่อบ้านพยายาม พยายามที่จะสร้างครอบครัวให้เป็นหลักฐานทุ่มเทชีวิตจิตใจทำงานทำการเพื่อหาเงินทองมาเลี้ยงครอบครัวมีเงินฝากในธนาคารให้การศึกษาลูกให้อะไรต่ออะไรเต็มกำลัง เหน็ดเหนื่อยสายตัวจะขาดไม่เคยเสียดายแรงแต่เผอิญแม่บ้านเป็นคนชอบจั่วทั้งเช้าทั้งเย็น มิหนำซ้ำวันไหนเกิดเสียก็ต้องหาเช้าหาเย็นเทเข้ามาเพิ่ม พ่อบ้านก็ค่อย ๆ หมดกำลังใจที่เข้มแข็งที่จะทำให้เต็มที่นั้นเพราะรู้สึกว่าเราทำไปแล้วมันก็ไหลไปในหนทางที่มองไม่เห็นผลที่เกิดขึ้นเลย นี่เพราะเหตุปัจจัยที่เป็นส่วนประกอบมันไม่เผอิญลงตัวกันอย่างดี หรือนิสิตนักศึกษาตั้งใจเล่าเรียนอย่างดี ๆ แต่เสร็จแล้วก็ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ ลองดูซิ ถ้าเกี่ยวกับตัวเองโดยตรง เราขยันมากเกินไปหรือเปล่าหรือว่าเราขยันยังไม่พอเราทุ่มเทความอุตสาหะยังไม่พอถ้าเกี่ยวกับตัวเองก็แก้ไขใหม่แต่ถ้าบางทีจะไปเกี่ยวกับอาจารย์ที่เผอิญไม่สามารถจะรักษาความเป็นกลางเอาไว้ได้บางทีลูกศิษย์คนนี้อาจจะแสดงกิริยาท่าทางหรือพูดจาอะไรโดยไม่เจตนาไม่น่าฟังไม่น่าดู อาจารย์จำเอาไว้แล้วก็เมื่อกระดาษข้อสอบนี้มาไม่สามารถจะรักษาความเป็นกลางเที่ยงธรรม คุณธรรมของความเป็นอาจารย์ได้มันก็เริ่มเกิดมีการที่จะทำให้ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ นี่ก็แสดงว่าปัจจัยอื่นมันมีมา
ฉะนั้นพอเกิดพอเกิดผลไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็นนะคะ อย่าเพิ่งไปโทษธรรมะหลอกเราไม่เห็นจริงเลย ศึกษาเหตุปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ที่นี้ก็จะพูด บางคนก็อาจจะบอกว่าที่มันเป็นอย่างนี้คือคนจะนึกว่าที่มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร นี่แหละเป็นเครื่องแสดงว่าในสังคมทุกวันนี้คุณธรรมย่อหย่อนศีลธรรมลดลง ศีลธรรมไม่ได้ลดลงแต่ว่าใจของคนที่เคยมีศีลธรรมมันลดลงและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ไม่เคยศึกษาในเรื่องปรมัตถธรรม ธรรมอันเป็นธรรมสัจจะ เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถจะรักษาความมีคุณธรรมไว้ได้สม่ำเสมอยั่งยืนถึงได้เกิดการเบียดเบียนแล้วก็ทำให้เหตุปัจจัยที่น่าจะมีผลที่ถูกต้องมันเบี่ยงเบนไป แต่อย่างไรเสีย อิทัปปัจจยตาก็คงเป็นอิทัปปัจจยตาไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง พูดอย่างงี้สงสัยไหมคะ ถ้าสงสัยอนุญาตให้ถามเดี๋ยวนี้ได้เลย มีไหมคะ ถ้าไม่มีก็เมื่อเราดูตาทั้ง 5 ตัวมาแล้วจนถึงธัมมนิยามตาจะค่อย ๆ เห็นอิทัปปัจจยตาว่ามันจะต้องเป็นไปอย่างนี้ตามกฎของธรรมชาติตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเห็นอิทัปปัจจยตาจิตที่เคยยึดมั่นถือมั่นว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ตามใจฉันลดลงเพราะรู้แล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามอิทัปปัจจยตาคือตามเหตุตามปัจจัย