แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เคล็ดลับของการปฏิบัติก็ตามดูสามขั้น แล้วก็เฝ้าดู และการเฝ้าดูนี้ก็ใช้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงขั้นที่ 16 ของการปฏิบัติอานาปานสติ เพียงแต่ว่าการเฝ้าดูนั้น ไม่ต้องเจาะจงว่า จะเป็นลมหายใจยาว หรือลมหายใจสั้น ใช้ลมหายใจที่รู้สึกสบายที่สุด ผู้ปฏิบัติรู้สึกสบาย รู้สึกว่าลมหายใจนี้ไม่ทำให้เกิดปัญหาข้างใน ปัญหาในที่นี้ก็คือ ไม่เกิดการสะดุดในการปฏิบัติ การปฏิบัติสามารถไปได้ราบรื่น เรื่อย ๆ แล้วก็สามารถจะทำยังไงก็ได้ ตามที่เราได้พูดกันไว้แล้ว ตามระดับขั้นนั้น ฉะนั้นการเฝ้าดูนี่ใช้ได้ตลอด และไม่ต้องเจาะจงแล้ว ว่าจะเป็นยาวหรือเป็นสั้น แต่ให้เป็นลมหายใจที่สบาย ปรุงแต่งกายให้ประณีต ผ่อนคลาย และใจก็สงบด้วย
ทีนี้เคล็ดลับของการปฏิบัติต่อไปอีกก็คือ ใช้วิธีจ้อง คำว่าจ้องดูไม่ได้ดูด้วยตาเนื้อ ตาเนื้อนี่เอาไปทิ้งได้ในขณะทำสมาธิ แต่มันเหมือนกับผู้ปฏิบัติสร้างตาในขึ้น ตาในนี้ก็คืออาการของความรู้สึก ที่จะไปสัมผัสกับสิ่งที่กำลังจ้องอยู่ จะเป็นลมหายใจ หรือจะเป็นอาการของความสงบ หรือจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าปัญญา คือความรู้สึกแจ้งประจักษ์ ที่มันค่อย ๆ ชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น ก็ใช้ตาในคือความรู้สึกนี่แหละสัมผัสเข้าไป สัมผัสในความสว่าง ในความแจ้ง ในสัจธรรมที่มันมี และกำลังค่อย ๆ เพิ่มทวีขึ้นในที่สุด นี่ถ้าเรียกว่าในภาษาธรรม เราก็เรียกว่าจ้องดู จ้องดูโดยไม่ต้องมอง ไม่ต้องใช้ตาเนื้อ แต่เราย้อนจิตเข้าไปข้างใน สัมผัส พอสัมผัสกับความสงบ สัมผัสกับลมหายใจที่มันอยู่มันเข้ามันออก พอมันอยู่ที่เท่านั้นแหละ ผู้ใดที่ได้ทำได้จะรู้ว่ามันมีความเบาสบาย อย่างบอกไม่ถูก ความหนักแน่นมั่นคง ความอิ่มเอิบมันเกิดขึ้น จ้องดูด้วยการสัมผัส บังคับผลักจิตมันเข้าไปข้างใน ผลักจิตก็คือผลักความรู้สึกที่มันอยากจะพลุ่งออกไปข้างนอก ไปเกาะเกี่ยวกับข้างนอก ผลักมัน ผลักมันด้วยกำลังข้างใน คือผลักความรู้สึกนั้น ไม่ยอมรับรู้กับสิ่งข้างนอกในขณะนั้น เพราะเรากำลังทำการศึกษาข้างใน ก็ขอให้ได้เข้าใจคำว่าจ้องดูให้ชัดเจนนะคะ คือดูไปเฉย ๆ โดยไม่คิด ไม่ใช้ความคิดเข้ามาผสมเลย ถ้าใช้ความคิดเข้ามาผสม มันจะกลายเป็นสังขาร ความปรุงแต่ง โดยไม่รู้ตัว และถ้าผู้ใดคิดว่า รู้แล้ว รู้แล้ว โดยสังขารเข้ามาสอดแทรก แล้วก็ไปเพลิดเพลินว่าตนรู้แล้ว นั่นจะเป็นการผิดหนทาง เราจึงต้องระมัดระวังไม่ใช้การคิด เพราะจะทำให้ผิดหนทาง คือเข้าใจผิด ว่าตนรู้แล้ว ได้แล้ว เป็นแล้ว ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ จึงต้องใช้การดู จึงจะสัมผัสกับความจริง อย่างที่บอกว่าดูแล้วจะเห็น เห็นอะไร เห็นความสงบ เห็นอะไร เห็นสัจธรรมที่เกิดขึ้น เห็นความสงบก็คือมีสมาธิ จิตเป็นสมาธิ เห็นสัจธรรมก็คือจิตเกิดปัญญา ปัญญาข้างในเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นต้องดูโดยไม่คิด ดูแล้วจะเห็น ถ้ายิ่งคิดยิ่งเตลิด โปรดระมัดระวังนะคะ สิ่งนี้สำคัญมาก และในขณะเดียวกันก็ไม่หวัง ไม่เอา นี่เป็นเคล็ดลับของการปฏิบัติ ที่ฟังดูเหมือนจะไม่เห็นเป็นทฤษฏีวิชาการอะไรเลย แต่ว่ามันเป็นเคล็ดลับของการปฏิบัติ การปฏิบัติข้างในต้องใช้สิ่งนี้ ใช้วิธีนี้ มิฉะนั้นจะไม่มีวันได้สัมผัสกับสิ่งจริงนะคะ
ทีนี้อานาปานสติก็มีสี่หมวดดังกล่าวแล้ว เริ่มต้นด้วยหมวดกาย ว่ามันหยาบ และหมวดกายก็เน้นการศึกษาเรื่องของลมหายใจ พอทำความสงบได้ ก็เคลื่อนไปศึกษาเรื่องของเวทนา ที่เป็นอาการของจิต กึ่งหยาบ กึ่งละเอียด ไม่มีรูป แต่ว่าสัมผัสได้ ละเอียด เพราะมันมองไม่เห็น แต่มันเป็นสิ่งที่จะเป็นสื่อ เพื่อจะนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความรู้จักธรรมชาติของจิตของตน หรือการศึกษาจิตของตน จากนั้นก็เข้าไปศึกษาเรื่องของจิต ในหมวดที่สาม เพื่อจะรู้จักธรรมชาติของจิตโดยตรง นี่สำคัญมากนะคะ จะพัฒนาจิตต้องรู้จักจิตของตน ฉะนั้นผู้ปฏิบัตินั้นต้องการคุณสมบัติที่สำคัญอยู่อย่างนึงคือความซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง ในการปฏิบัติของตนเอง นี่สำคัญมากนะคะ ยิ่งคนฉลาดเท่าใด ยิ่งขาดความซื่อตรง นึกนะคะ ยิ่งฉลาดเท่าไหร่ ยิ่งขาดความซื่อตรง เพราะอะไร เพราะมักจะหลอกตัวเอง ความฉลาดนั่นแหละทำให้เกิดความหลอกตัวเอง นั่นก็รู้แล้ว นี่ก็เห็นแล้ว นั่นก็ทำได้แล้ว ฉะนั้นจึงต้องไม่ให้คิดนะคะ คนฉลาดที่ชอบคิด ต้องซื่อตรงต่อการปฏิบัติของตนเอง การที่จะดูจิตนี่ต้องซื่อตรง ยอมรับความจริง จิตที่มันจะหยาบ มันจะกระด้าง มันจะเถื่อน มันจะใช้ไม่ได้ แค่ไหน ดูลงไปให้เห็นชัด มันเถื่อน เพื่อจะได้ปรับปรุงมัน พัฒนามันให้เป็นเมืองซะที เหมือนอย่างนายเถื่อนเข้ากรุง แล้วค่อย ๆ พัฒนาตัวเองเป็นนายเมือง พร้อมด้วยกิริยามารยาทงดงาม เป็นคนสุภาพประณีตเรียบร้อยพร้อมทั้งความรู้ ค่อย ๆ พัฒนามัน ถ้ามันเป็นจิตหยาบ ก็ยอมรับว่ามันหยาบ มันหยาบด้วยอะไร ค้นหาให้เห็น แล้วค่อย ๆ ไปพัฒนาให้มันละเอียดเข้า ถ้ามันกระด้าง กระด้างเพราะความถือตัวถือตน ถือศักดิ์ถือศรี ถืออะไรก็แล้วแต่ ก็ค่อย ๆ พัฒนามัน ให้มันเป็นจิตที่อ่อนโยนนิ่มนวลยิ่งขึ้น จึงต้องรู้ธรรมชาติของจิต อย่างสำคัญ และวิธีการศึกษาจิต ไม่มีอะไรที่จะชัดเจนมากไปกว่าการดูลงไป ที่อาการของจิต อาการที่ไม่ใช่คิดแทนมัน ดึงเข้ามา หรือผลักออกไป หรือวนเวียนอยู่ ซึ่งแสดงถึงอาการของกิเลส ถ้ามันไม่รุนแรงอย่างกิเลส ก็มาเป็นนิวรณ์ที่ครุ่นอยู่ ศึกษาอันนี้เป็นหลักนะคะอย่าลืม ดูอันนี้เป็นหลัก แล้วเราจะค่อย ๆ เห็นเองว่า จิตนี้หยาบ ก็หยาบเพราะกิเลส จิตนี้กระด้าง ก็กระด้างเพราะกิเลส แล้วที่มันหยาบ หรือที่มันกระด้าง หรือมันเถื่อน มันมีเบื้องหลังของตัณหา เบื้องหลังของอุปาทาน ที่ซ้อนอยู่ที่นั่น เห็นอนิจจังบ้างมั๊ยคะ นี่ล่ะอนิจจังของธรรมชาติ ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ที่มันเกิดขึ้นเองตามเหตุตามปัจจัย ในขณะที่เราเห็นอนิจจัง เราก็จะเห็นอิทัปปัจจยตาไปด้วยในตัว เพราะว่าที่ฝนตกมันก็มีเหตุปัจจัย อาศัยกันจึงเกิดขึ้นเป็นฝนขึ้น ฉะนั้นทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทั้งรอบตัวข้างนอกทั้งภายใน เอามาดูเป็นการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมได้ทั้งนั้นนะคะ
ทีนี้เรากำลังพูดถึงหมวดที่สาม ว่าต้องเน้นการซื่อตรง ฉะนั้นคุณสมบัติที่ต้องการคือความซื่อตรง ซื่อตรงต่อการปฏิบัติของตนเอง อย่างชนิดไม่หลอกลวงตัวเอง และจะสามารถเห็นธรรมชาติของจิตได้อย่างชัดเจน จนสามารถปรับปรุงแก้ไขมันได้ ให้เป็นจิตที่ละเอียด ประณีต อ่อนโยน นุ่มนวล เป็นจิตที่เชื่อง แล้วก็พร้อมอยู่ด้วย สติ สมาธิ ปัญญา สิ่งอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ จะลดลงตามลำดับนะคะ แล้วก็จากนั้น ก็ทดสอบการควบคุมจิต พลังการควบคุมจิต ฉะนั้นหมวดที่สามนี่ล่ะค่ะเป็นหมวดที่เราทำงานเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาจิตโดยตรง รู้จักมัน แล้วก็ดูซิว่าควบคุมมันได้แค่ไหน จึงมีทั้ง มีทั้งสมถะภาวนา และวิปัสสนาภาวนาอยู่ในนี้ วิปัสสนาภาวนาเริ่มเล็กน้อยตั้งแต่ในหมวดที่สอง และก็เริ่มมากขึ้นในหมวดที่สาม แต่ในขณะที่ควบคุมบังคับจิตนั้น จะอาศัยกำลังของสมาธิเป็นอันมาก ถ้าเราปฏิบัติสมาธิให้ได้มาเรื่อยโดยตลอด ก็จะมาได้มองเห็นผลในการทดสอบเพื่อควบคุมจิต ทดลองว่าเราควบคุมจิตได้แค่ไหนในหมวดที่สาม จากนั้นก็เข้าสู่จุดมุ่งหมายที่เราต้องการ อันเป็นเป้าหมายปลายทางของการพัฒนาจิต หรือจิตภาวนา นั้นก็คือใคร่ครวญธรรม ถ้าเราไม่ใคร่ครวญธรรมจนถึงที่สุดจนประจักษ์แจ้ง จะไม่สามารถตัดรากถอนโคนของจิตที่เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นได้เลย ก็ใช้จิตอันนี้ใคร่ครวญธรรมดังที่เราพูดกันมาแล้วนะคะ