แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เช้าวันนี้ ก็อยากจะสรุปเรื่องของอานาปานสตินะคะ ให้ฟังอีกสักนิดนึง เพราะว่าก็เท่ากับว่าเราพูดกันจบแล้ว แต่เพื่อเป็นการสรุปทบทวน เรื่องของอานาปานสติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ชัดเจนยิ่งขึ้น ในจุดที่อาจจะสงสัย ก่อนอื่น ก็ควรจะนึกถึงว่า อานาปานสติคืออะไร ในขณะที่ฟังไปก็ลองทบทวนนะคะ ลองทบทวนด้วยความเข้าใจ ของตนเองว่า อานาปานสติคืออะไร ตอบได้มั๊ย พอมีคำถามอย่างนี้นะคะ นึกตอบได้มั๊ยว่าอานาปานสติคืออะไร ถ้าตอบได้ทันทีนั่นคือความเข้าใจที่ เรียกว่าถ่องแท้ ชัดเจน ถ้ายังตอบไม่ได้ก็แสดงว่ายังไม่ชัดในใจ
อานาปานสติก็คือการปฏิบัติจิตตภาวนาอย่างหนึ่ง ที่ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด หรือใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ คือเครื่องมือในการที่จะผูกจิต ไม่ให้จิตดิ้นรนไปไหน ให้จิตอยู่นิ่ง ด้วยการกำหนดรู้อยู่กับลมหายใจทุกขณะ ที่หายใจเข้าและออก ซึ่งเป็นการปฏิบัติจิตตภาวนา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ มีอยู่หลายแบบ แต่ว่าแบบที่วิธีการปฏิบัติที่ทรงใช้ตลอดเวลาก็คืออานาปานสติภาวนา
จุดมุ่งหมายของการที่มาปฏิบัติอานาปานสติภาวนาก็ ถ้าพูดอย่างธรรมดานะคะ ก็คือเพื่อคลายความเครียด ถ้าให้สูงขึ้นไปอีกนิดนึง ก็เพื่อดับความทุกข์ การที่มาปฏิบัติด้วยใช้อานาปานสติภาวนา และการวิธีการเค้าโครงของการปฏิบัติอานาปานสติภาวนา ก็จะช่วย ตั้งแต่คลายเครียดธรรมดา ไปจนกระทั่งถึงดับเสียซึ่งความทุกข์ทั้งสิ้นทั้งปวง และในการปฏิบัติอานาปานสติภาวนานั้น ก็จะต้องมีทั้งสมถะภาวนา คือการกำหนดสร้างสรรค์ความสงบให้เกิดขึ้นภายในจิตก่อน ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่เห็นชัดในหมวดที่หนึ่ง โดยเฉพาะขั้นที่สี่ จากนั้นก็จะต้องประกอบไปด้วยวิปัสสนาภาวนา คือการใคร่ครวญธรรมเพื่อให้จิตนี้เกิดปัญญาที่แจ้ง ประจักษ์แจ้งในสิ่งที่เป็นสัจธรรม สัจธรรมก็คืออิทัปปัจจยตา ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นเองลอย ๆ มันต้องอาศัยซึ่งกันและกันแล้วเกิดขึ้น ประจักษ์ชัดในสัจธรรมในเรื่องของอนัตตา ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตน ไม่ยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียว นี่เป็นสัจธรรมที่ผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมพึงระลึกไว้เสมอ เพื่อให้จิตจะได้หลุดจากการยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งทั้งปวงอันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ โดยเฉพาะถ้ายึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน
ทำไมจึงต้องมีทั้งสมถะและทั้งวิปัสสนา ก็ดังที่เคยกล่าวแล้วว่า ผู้ปฏิบัติที่จะบรรลุความสำเร็จขั้นสูงสุดได้นั้น จะต้องประกอบด้วยทั้งสองอย่าง จะอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ถ้าหากว่าจะสนใจแต่เพียงจะพัฒนาปัญญา จะคิดแต่เพียงว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา ท่องเอา ท่องเอา แล้วก็ทุกอย่างต้องอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอย ๆ ก็อาจจะค่อย ๆ เข้าใจไปทีละน้อย แต่มันจะไม่ซึมซาบประจักษ์ชัดอยู่ในใจ มันจะไม่เห็นชัด เพราะถ้าหากว่าใจ ไม่สงบจริง ไม่เป็นสมาธิจริง แล้วก็จะท่องอะไรต่ออะไรไป มันก็จะเหมือนนกแก้วนกขุนทองมากกว่า จึงต้องอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐาน คือความสงบที่เรียกว่าสมถะภาวนา แต่ถ้าหากว่าอยู่แค่สมถะภาวนา ก็เหมือนกับหินทับหญ้า จึงจะเป็นการพักใจ หรือพักจิต ชั่วขณะ ขณะ ขณะ ก็มีแรง สบาย เบา ในขณะนั้น แต่มันจะไม่เดินทางไกล ไปถึงขั้นที่จะสามารถขุดรากถอนโคน ของความยึดมั่นถือมั่นได้ ฉะนั้นมันจึงต้องประกอบกันทั้งสองอย่าง เมื่อทั้งสติ สมาธิ กับปัญญาภายใน สมดุลกันเมื่อไร ตรงจิตนั้นแหละ คือหมายความว่าสมดุลกันอย่างเต็มที่นะฮะ อย่างถึงที่สุด พร้อมทั้งน้ำหนัก พร้อมทั้งความคม ตอนนั้นแหละ ที่จะตัดได้ทุกอย่างอย่างใจ แล้วก็ตัดได้อย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นจึงต้องมีพร้อมทั้งสองอย่าง
ทีนี้เคล็ดลับของการปฏิบัติ อานาปานสติภาวนา ก็มีสองวิธี คือวิธีการปฏิบัติดังที่ทราบแล้ว เริ่มต้นด้วยการวิ่งตาม หรือจะเรียกว่าตามดู คือการปฏิบัติในขั้นที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม เพื่อให้จิตมีงานทำมาก จะได้ไม่วิ่งวุ่นไปไหน เพื่อให้เกิดความชำนาญ ในการที่จะสามารถรู้จักลมหายใจได้อย่างทั่วถึง ถ้าสามขั้นนี้ไม่ผ่าน จะไม่มีวันที่จะสร้างสรรค์สมาธิให้เกิดขึ้นในใจจริง ๆ ได้เลย จะไม่มีวัน นอกจากวับ ๆ แวม ๆ แปลว่าไม่ได้อะไรเป็นเนื้อเป็นตัว หรือความสงบที่จะเห็นได้ชัด อย่างประจักษ์ใจ จะไม่เกิดขึ้น จะไม่เห็น ฉะนั้นการปฏิบัติในขั้นที่หนึ่ง สอง สาม โดยเฉพาะขั้นที่สาม ถ้าปฏิบัติจนช่ำชอง จนเป็นติดนิสัย พอถึงการที่จะควบคุมลมหายใจ ให้สงบระงับเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ จะรู้สึกว่าไม่ยากเลย แล้วจิตก็จะสามารถเข้าสู่เอกัคคตาได้ ภายในเวลาไม่ช้าเกินไป
เมื่อตามดูแล้วก็เฝ้าดู ในขั้นที่สี่ นี่คือวิธีการ แล้วก็การเฝ้าดูนี้ ก็คือ การพยายามจะจดจ่อจิต สัมผัส สัมผัสอาการที่ผ่านเข้า ผ่านออก ของลมหายใจ เพื่อรักษาสติเอาไว้ ถ้าไม่เฝ้าดูปล่อยเลยไป โดยเฉพาะยังไม่ชำนาญ ก็เลยจะไม่ได้อะไร จะไม่ได้อะไร ก็คือหมายความว่าก็เลยลอย ๆ เฉย ๆ การปฏิบัตินั้นก็ลอย ๆ เฉย ๆ แล้วผลที่สุดก็จะเคลิ้มหลับ แล้วก็อาจจะไปคิดว่านี่เป็นสมาธิ แต่ความจริงไม่ใช่ ฉะนั้นเฝ้าดูจึงต้องกำหนดจุดที่แน่ใจ ว่าลมหายใจจะต้องแตะ หรือกระทบ หรือสัมผัส เมื่อผ่านเข้าและผ่านออก เอาจุดนั้นน่ะเป็นจุดที่จะเรียกสติ ให้สติรู้ทัน รู้ทัน รู้ทัน ว่ามันเข้า มันออก
ทีนี้พอลมหายใจเกิดสงบระงับ ละเอียดประณีต จนกระทั่งไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน จะทำยังไง นั่นก็คือเพ่งอยู่ที่จิตนั่นนะคะ เพ่งอยู่ที่จิตนั้น เพ่งอยู่ที่จุดนั้นจุดเดียว จนจิตนี้มันนิ่งสนิทอยู่ตรงนั้น ไม่ว่อกแว่กไปไหนเลย แม้จะไม่รับรู้ถึงอาการที่ลมหายใจ ผ่านเข้าออก เพราะมันละเอียดประณีตมาก จนเหมือนกับไม่มีลมหายใจ จนเหมือนกับลมหายใจหาย ก็จงอย่าสงสัย ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องลังเล แน่ใจได้ ว่าลมหายใจยังอยู่ ไม่ไปไหนนะคะ คงกำหนดจิตเฝ้าดูอยู่อย่างนั้น
แล้วถ้าผู้ใด ซึ่งดิฉันไม่ค่อยอยากแนะนำ เพราะว่ากลัวว่าจะทำให้ว่อกแว่ก สำหรับยังไม่ปฏิบัตินาน แต่ถ้าหากว่าจะลองใช้ ต้องใช้อย่างเข้าใจนะคะ ทีนี้ถ้าสมมุติว่า ไม่สามารถจะจับลมหายใจได้ เพราะมันละเอียดนี่นะคะ ก็จะลองใช้จิตที่จดจ่ออยู่ที่จุดนั้น ลองเอาจุดนั้น เป็นจุดเหมือนกับเป็นเครื่องมือ จะเรียกว่านิมิตก็ได้ แต่เหมือนกับเป็นเครื่องมือ เป็นจุดที่ลองบังคับ แทนที่มันจะอยู่แถว ๆ ที่เรากำหนดนี่ แต่ลองทำให้มันเป็นจุดที่ลอยตัวขึ้นมาซิ บังคับได้มั๊ย ให้มันเป็นจุดที่ลอยตัวขึ้น แทนที่มันจะหยุดเฉย ๆ ให้มันลอยตัวขึ้น ในขณะที่จิตเริ่มสงบระงับ บ้างแล้ว เริ่มสงบระงับบ้างแล้ว แล้วเสร็จแล้วก็ ลองกำหนดจุดนั้นน่ะ บังคับมัน จะให้เป็นจุดที่ใหญ่ขึ้น ทำได้มั๊ย หรือจะเป็นจุดนิ่ง ลอยเข้ามาใกล้บ้าง ลอยออกไปใกล้บ้าง นี่เป็นวิธีฝึกว่า ถ้าจิตเริ่มมีความสงบ มีความสมาธิ มันจะมีกำลัง ในการบังคับ เล็กน้อยแล้ว นี่เป็นการฝึกดู ที่ท่านบอกว่าจะใช้เป็นจุดเพื่อลองฝึก ลองฝึก เพื่อทดลองให้เกิด ความหนักแน่น ความมั่นคงในการบังคับมากขึ้น
หรือจะลองทำจุดนั้นน่ะให้เป็นสี เช่นสีขาว ทำไมจึงแนะนำสีขาว ก็เพราะว่าสีขาวจะไม่กระตุ้น หรือไม่กระทบให้เกิดความรู้สึกอื่น ๆ ถ้าเป็นสีแดง สีดำ มันอาจจะชักจูงใจให้เกิดการปรุงแต่งเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่ถ้าเป็นสีขาว มันจะเป็นจุดที่ไม่กระทบให้เกิดความรู้สึกอะไร ก็จ้องอยู่ที่จุดสีขาว ที่เราสมมุติให้เกิดขึ้น คือกำหนด คำว่าสมมุติคือกำหนดให้มันเกิดขึ้นในใจ แล้วจิตก็จดจ่ออยู่ที่จุดนั้น เพื่อจิตจะได้ไม่หลุดไปจากสมาธิ จดจ่ออยู่ที่จุดนั้นจนมั่นคง แน่ใจว่า มันจะไม่หายไปไหน เสร็จแล้วก็ลองบังคับจุดนั้น ลองทำให้ใหญ่ขึ้นก็ได้ หรือจะทำให้มันไกลออกไป หรือทำให้มันใกล้เข้ามา เรียกว่าจะลองบังคับอย่างไรก็ได้ นั้นเป็นการแสดงว่า กำลังของการปฏิบัติมีมากมั๊ย
ทีนี้เมื่อแน่ใจ ว่าจิตนิ่ง ดิ่งไม่ไปไหน ก็กำหนดจุดนั้นให้เป็นจุดที่นิ่ง สงบ แล้วก็จดจ่อ ก็จะรู้เองนะคะ ผู้ปฏิบัติจะรู้เองว่า กำลังของการปฏิบัติภายในมันเริ่ม หนักแน่นขึ้น มากขึ้น ทวีขึ้น แล้วทีนี้จิตนั้นก็จะค่อย ๆ ดิ่งสู่ความเป็นสมาธิมากยิ่งขึ้น จนถึงเป็นฌานก็อาจทำได้ในขั้นที่สี่ แต่ไม่ค่อยอยากแนะนำสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ เพราะว่ามันเป็นสิ่ง พอพูดถึงฌานละก็ ส่วนมากตื่นเต้น พอใจ ถ้าปฏิบัติสมาธิ ต้องเข้าฌานได้นะ ก็ไม่อยากจะแนะนำ เพราะจะทำให้ใจไปติด ไปหวังอยู่กับฌาน แล้วสิ่งที่ควรจะเป็นไปตามลำดับ ที่ควรจะได้ ก็เลยไม่ไป เพราะไปติดอยู่ตรงนั้น แต่นี่อธิบายให้ฟังสำหรับผู้ปฏิบัติที่คิดว่า มีความชำนาญแล้ว มีความสามารถจะทำได้
แต่ถ้าหากว่า ผู้ใดคิดว่าจะเอาประโยชน์เฉพาะหน้า ก็เอาแต่เพียงว่าจดจ่ออยู่ที่จุดที่เรากำหนดแล้ว พอลมหายใจสงบนิ่งขึ้น จนเหมือนกับไม่มีลมหายใจ ก็เอาแต่เพียงว่า ย้อนจิตเข้าไปสัมผัสกับอาการของความสงบที่เกิดขึ้นภายใน แล้วก็จิตก็จดจ่ออยู่กับความสงบอย่างนั่นน่ะ เอาความรู้สึกสัมผัส หรือเรียกว่าลิ้มรส ลิ้มรสชาติของความสงบ ที่มันเกิดขึ้นภายใน ลิ้มรสชาติ ซึมซาบ ดื่มด่ำอยู่กับมัน ว่ามันเป็นยังไง แล้วใจก็จะรู้เองว่า มันไม่เหมือนเลยกับเวลาที่จิตนี้ วุ่นวาย สับสน วิตกกังวล ขึ้น ๆ ลง ๆ หรือว่าร้อน มันไม่เหมือนเลย แล้วก็จะค่อย ๆ เกิดความศรัทธา ความพอใจ ที่ได้ลิ้มรสชาติอย่างนี้ แล้วก็จะอยากให้มีขึ้นมาก ๆ บ่อย ๆ นี่จะเป็นกำลังเสริมศรัทธา แล้วก็ปล่อยให้จิตนั้นสงบลง สงบลง สงบลง จนกระทั่งจะดิ่งสักแค่ไหนก็สุดแท้แต่ความสามารถ ในการที่จะทำได้แต่ละครั้ง แต่สรุปแล้วก็คือว่า หมวดที่หนึ่ง ของอานาปานสตินั้น จุดมุ่งหมายก็ เพื่อที่จะให้สามารถพัฒนาจิต ให้เป็นจิตที่พร้อมอยู่ด้วยสมาธิที่หนักแน่นมั่นคง จนถึงเอกัคคตา และสติก็จะมีอยู่ตรงนั้น